banner

กระทรวงพลังงาน ย้ำทางเลือกเชื้อเพลิงถ่านหินสะอาด

วันจันทร์ที่ 5 กันยายน 2559 กระทรวงพลังงาน ย้ำทางเลือกเชื้อเพลิงถ่านหินสะอาด มีการใช้เทคโนโลยีทันสมัยช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เชื่อถือและไว้ใจได้ โดยค่าปลดปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ดีกว่าค่ามาตรฐานที่กรมควบคุมมลพิษกำหนด มากกว่า 3 เท่าตัว และค่าฝุ่นละออง ดีกว่าถึง 2 เท่าตัว ยันถ่านหินสะอาดยังเป็นทางเลือกผลิตไฟฟ้าที่ช่วยกระจายแหล่งเชื้อเพลิงและประเทศชั้นนำของโลกยังคงพัฒนาต่อเนื่อง
นายชวลิต พิชาลัย รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ PDP 2015 กระทรวงพลังงาน ได้เน้นในมิติการบริหารจัดการเพื่อรักษาความสมดุลย์ในการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้นและจริงจัง เพื่อดูแลชีวิตและสุขภาพของประชาชนควบคู่ไปกับการจัดหาพลังงานเพื่อความมั่นคงของประเทศ โดยจะเพิ่มสัดส่วนการใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดในการผลิตไฟฟ้าจาก 19% ในปัจจุบัน เป็น 20 – 25% ในปลายปี 2579 ซึ่งจากการติดตามเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดดังกล่าว พบว่า ปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาบริหารจัดการ และมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจึงสามารถลดปริมาณการปล่อยมลพิษ
ทั้งนี้ จากข้อมูลโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ในช่วงที่ผ่านมา ระบุว่าจะมีค่าปลดปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เพียง 50 ส่วนในล้านส่วน ซึ่งดีกว่าค่ามาตรฐานที่กรมควบคุมมลพิษกำหนดไว้ที่ 180 ส่วนในล้านส่วน หรือดีกว่าค่ามาตรฐานกำหนดมากกว่า 3 เท่าตัว รวมทั้งยังมีค่าการปลดปล่อยฝุ่นละอองเพียง 30 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งดีกว่าค่ามาตรฐานที่กรมควบคุมมลพิษกำหนดไว้ที่ 80 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือดีกว่าค่ามาตรฐานกำหนดมากกว่า 2 เท่าตัว เป็นต้น
นอกจากนี้ เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดตามแผนการสร้างโรงไฟฟ้า ที่กฟผ.จะได้เตรียมนำมาใช้ คือเทคโนโลยี ultra super critical ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงและทันสมัยที่สุด ทําให้ใช้เชื้อเพลิงน้อยลง จึงมีผลให้ลดการปลดปล่อยมลพิษทางอากาศลงได้มาก โดยกระทรวงพลังงานยืนยันได้ว่า การผลิตไฟฟ้าจากเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด จะสะอาดตั้งแต่ต้นน้ำคือ การนำเข้าถ่านหินสะอาดที่มีคุณภาพสูงมีปริมาณซัลเฟอร์ต่ำและค่าความร้อนสูง ซึ่งเบื้องต้นจะพิจารณานำเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลียหรือ แอฟริกาใต้ เป็นต้น รวมทั้งกลางน้ำ ด้วยเทคโนโลยีดังกล่าว จะช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และฝุ่นละอองในกระบวนการผลิตไฟฟ้าได้เกือบทั้งหมด 100% และปลายน้ำ คือ มีการตรวจสอบวัดมลพิษและกระบวนการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด มีการปลูกต้นไม้ เพื่อเป็นแนวป้องกันอีกด้วย
นายชวลิต กล่าวเพิ่มว่า ขณะนี้ประเทศชั้นนำของโลก อย่าง ประเทศญีปุ่น จีน และเกาหลีใต้ ยังคงมีแผนการพัฒนาเชื้อเพลิงจากถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า เพื่อเป็นทางเลือกในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทย ตามแผน PDP 2015 จะมีการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดใหม่เพิ่มเติม จำนวน 2 โรง เพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคใต้ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนแล้ว 3 ครั้ง และได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอแล้ว โดยอยู่ระหว่างประชุมและหาข้อยุติของคณะกรรมการไตรภาคี และโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กำลังผลิต 2,000 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้ได้รับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่เรียบร้อยแล้ว และเตรียมเสนอรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ อีไอเอต่อไป

นายชวลิต พิชาลัย รองปลัดกระทรวงพลังงาน