banner

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.นครศรีธรรมราช และชุมพร ติดตามการดำเนินงานโรงแยกก๊าซธรรมชาติขนอม-โรงไฟฟ้าขนอม เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืนในพื้นที่ภาคใต้

กระทรวงพลังงาน โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน ได้ให้การต้อนรับ พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ในการตรวจเยี่ยมโรงแยกก๊าซธรรมชาติขนอม และโรงไฟฟ้าขนอม จ.นครศรีธรรมราช ในวันที่ 20 สิงหาคม 2561 ซึ่งเป็นภารกิจส่วนหนึ่งของการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ โดยติดตามโครงการด้านพลังงาน เพื่อรับทราบผลการดำเนินงาน ความก้าวหน้าต่างๆ ของโครงการ และความเป็นอยู่ของชุมชนโดยรอบ

ทั้งนี้ โรงแยกก๊าซธรรมชาติขนอม เป็นโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 4 ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) สร้างขึ้นเพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ในเขตภาคใต้ และก๊าซโซลีนธรรมชาติ (NGL) ในประเทศที่มีปริมาณสูงขึ้น โดย ปตท. ได้ดำเนินการวางท่อส่งก๊าซฯ จากแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย มาขึ้นฝั่งที่บริเวณโรงแยกก๊าซธรรมชาติขนอมโดยตรง เพื่อขนส่งก๊าซธรรมชาติที่จะเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าขนอม

โดยปัจจุบันโรงแยกก๊าซธรรมชาติขนอม แยกก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 160 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ได้ผลิตภัณฑ์ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงหรือก๊าซหุงต้มประมาณ 203,000 ตันต่อปี ใช้ในภาคครัวเรือนและโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งจะขนส่งทางเรือไปยังคลังปิโตรเลียมสุราษฎร์ธานีและคลังปิโตรเลียมสงขลา เพื่อจำหน่ายให้กับประชาชนในภาคใต้ อีกทั้งยังได้ก๊าซโซลีนธรรมชาติ (NGL) ประมาณ 45,000 ตัน ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมตัวทำละลาย ใช้เป็นส่วนหนึ่งของ วัตถุดิบป้อนเข้าโรงกลั่นน้ำมัน รวมทั้งโรงแยกก๊าซธรรมชาติขนอม ยังสามารถอยู่ร่วมกับพื้นที่ และมีส่วนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยรอบอย่างต่อเนื่อง

ส่วนโรงไฟฟ้าขนอม ที่ดำเนินการโดยบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (EGCO)  มีกำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวม 930 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงประมาณ 150 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยโรงไฟฟ้าขนอมแห่งนี้ ถือเป็นโรงไฟฟ้าหลักที่เสริมสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคใต้สามารถรองรับความต้องการ ใช้ไฟฟ้าอย่างเพียงพอมีเสถียรภาพ รวมทั้งยังช่วยลดการสูญเสียพลังงานไฟฟ้าที่ส่งผ่านสายส่งจากภาคกลาง

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังได้ร่วมศึกษาและเยี่ยมชมพื้นที่ที่อาจมีความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง สถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซแบบลอยน้ำ (Floating Storage and Regasification Unit : FSRU) เพื่อสร้างความมั่นคงในการจัดหาก๊าซธรรมชาติระยะยาว จากปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่เริ่มลดลง โดยจะนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากต่างประเทศ ขนส่งมายังท่าเทียบเรือแล้วขนถ่ายเข้าสู่ FSRU ดังกล่าว เพื่อแปลงสภาพเป็นก๊าซก่อนเข้าสู่ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และขนส่งไปยังโรงไฟฟ้าและลูกค้าก๊าซธรรมชาติต่อไป