banner

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมประชุมสมัชชาทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ ครั้งที่ 7 ณ กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

เมื่อระหว่างวันที่ 14-15 มกราคม 2560 พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และคณะผู้บริหารกระทรวงพลังงาน ประกอบด้วย พลเอก สุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสมนึก บำรุงสาลี รองปลัดกระทรวงพลังงาน นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน พร้อมด้วย เรือโท โกเมศ กมลนาวิน เอกอัครราชทูตไทย ประจำสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์     ได้เข้าร่วมประชุมสมัชชาทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ ครั้งที่ 7 (The Seventh Session of the Assembly of the International Renewable Energy Agency: IRENA) ณ กรุงอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในการประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการหารือแลกเปลี่ยนความรู้และวิสัยทัศน์ ทางด้านการพัฒนาพลังงานทดแทน โดยมีผู้นำระดับรัฐมนตรีพลังงาน และเจ้าหน้าที่อาวุโส ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และองค์การระหว่างประเทศเข้าร่วมประชุมกว่า 150 ประเทศ โดยมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 2,000 คน

ที่ประชุมได้มุ่งเน้นให้มีการพัฒนาพลังงานทดแทนให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ที่มุ่งส่งเสริมการขจัดความยากจน และการแก้ไขปัญหาภาวะเรือนกระจก การลดคาร์บอนไดออกไซด์และรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งอุปสรรคของการพัฒนาพลังงานทดแทน ที่ประชุมทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้พูดถึงมากที่สุดคือ เรื่องของราคาต้นทุนการผลิต การลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรมด้านไฟฟ้า Market Design และในช่วงเปลี่ยนผ่าน พลังงานฟอสซิลยังคงต้อง Back Up อยู่ เพื่อที่จะทำให้พลังงานทดแทนมีความเสถียร และมาแทนพลังงานแบบดั้งเดิมได้อย่างแท้จริง

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้กล่าวในที่ประชุมว่าประเทศไทยมุ่งเน้นในการส่งเสริมความมั่นคงทางด้านพลังงานและการพึ่งพาตนเองมากขึ้น โดยพยายามพัฒนาการใช้พลังงานทดแทน ทั้งนี้ได้กำหนดให้มีสัดส่วนการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายให้ได้ที่ร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2036 โดยกำหนดให้มีสัดส่วนการใช้พลังงานไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 20 ภายในปี ค.ศ. 2036 และในปัจจุบันประเทศไทยได้ส่งเสริมพลังงานทดแทนในภาคไฟฟ้ามากขึ้นเพื่อชดเชยในช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้ามาก (Peak demand) โดยได้ส่งเสริมในรูปแบบ RE hybrid และมีระบบที่ Firm มากขึ้น และมีการบริหารจัดการที่ยืดหยุ่นได้ ส่งเสริมให้พลังงานทดแทนจ่ายเข้าไปในระบบเชื่อมไฟฟ้า (power grid) และส่งเสริมด้านการพัฒนา Smart Grid และ energy storage และการพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานใหม่ๆ นอกจากนี้ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยมีการมุ่งส่งเสริมพลังงานทดแทนที่ได้จากเชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น ชีวมวล ชีวแก๊ส และน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและชุมชนในการเพิ่มรายได้และสร้างงานในชุมชน เพื่อให้ประชาชนกินดีอยู่ดี ซึ่งจะสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของยูเอ็น นอกจากนี้ ยังได้แจ้งว่าไทยได้เป็นสมาชิก IRENA โดยสมบูรณ์แล้ว เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2559 โดยปัจจุบัน กระทรวงพลังงานของไทยและ IRENA ได้ร่วมมือในโครงการประเมินศักยภาพพลังงานทดแทนของไทย (Renewables Readiness Assessment: RRA) เพื่อเป็นแผนที่นำทาง (Remaps) ในการพัฒนาพลังงานทดแทนของไทย และไทยจะร่วมมือกับ IRENA ในการพัฒนากิจกรรมด้านพลังงานทดแทนให้มากขึ้นต่อไป

2739

2738

2744

2735

2741