banner

โครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซปิโตรเลียมเหลวของประเทศไทยกับมาเลเซีย

โครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซปิโตรเลียมเหลวของประเทศไทยกับมาเลเซีย

โครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ของประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย มีความแตกต่างกัน มีรายละเอียด ดังนี้

ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง

  • ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศไทยถูกกำหนดโดยกลไกการค้าเสรีที่เปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลก ซึ่งกระทรวงพลังงานมีการติดตามดูแลราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
  • ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยสูงกว่ามาเลเซียหรือบางประเทศในภูมิภาคอาเซียน คือ โครงสร้างราคาน้ำมัน ซึ่งมีความแตกต่างกันตามนโยบายและบริบทของแต่ละประเทศ โดยโครงสร้างราคาน้ำมันของประเทศไทย ประกอบด้วย (1) ราคาเนื้อน้ำมัน ได้แก่ ค่าการกลั่น และค่าเนื้อน้ำมันดิบ ที่อ้างอิงตามราคาตลาดกลางของภูมิภาค โดยประเทศในภูมิภาคอาเซียนอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาค (2) ภาษีต่างๆ ได้แก่ ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล และภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจัดเก็บเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศและท้องถิ่นด้านต่างๆ (3) กองทุนต่างๆ ได้แก่ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จัดเก็บเพื่อเป็นกลไกในการรักษาเสถียรภาพระดับราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศหากเกิดการผันผวนของราคาน้ำมัน
    ในตลาดโลก และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งจัดเก็บเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน การเพิ่มประสิทธิภาพ และลดใช้พลังงานของประเทศ (4) ค่าการตลาด ได้แก่ ส่วนที่เป็นต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันทั้งระบบ ซึ่งรวมถึงคลังน้ำมัน ระบบขนส่ง และสถานีบริการ
  • ปัจจัยตามโครงสร้างราคาน้ำมันที่ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยสูงกว่ามาเลเซีย สามารถอธิบายได้ดังนี้
  • ด้านต้นทุนเนื้อน้ำมัน
    • ราคาน้ำมันของประเทศไทย มาเลเซีย และประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอ้างอิงตลาดสิงคโปร์เช่นเดียวกัน แต่ต้นทุนค่าขนส่งจากตลาดสิงคโปร์มายังประเทศไทยสูงกว่ามาเลเซียเนื่องจากมีระยะทางมากกว่า ทำให้ต้นทุนเนื้อน้ำมันของไทยสูงกว่ามาเลเซีย
    • คุณภาพน้ำมันของไทย (ปัจจุบันใช้ ยูโร 4) สูงกว่าคุณภาพน้ำมันของประเทศเพื่อนบ้าน
      บางประเทศ ทำให้มีต้นทุนในการผลิตที่สูงกว่า
    • นโยบายสนับสนุนพลังงานทดแทนในประเทศไทยที่มีเชื้อเพลิงชีวภาพ (เอทานอล และไบโอดีเซล) เป็นส่วนผสมของน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 E10, E20, E85, 91 E10 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี7 บี10 และบี20 ซึ่งมีราคาสูงกว่าราคาน้ำมันปกติ ทำให้ต้นทุนเนื้อน้ำมันสูงกว่าน้ำมันของมาเลเซีย
  • ด้านภาษีและกองทุน
  • โครงสร้างราคาน้ำมันของประเทศไทยมีการเก็บภาษีและเงินกองทุน ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทยสูงขึ้นจากต้นทุนเนื้อน้ำมัน
  • ในภูมิภาคอาเซียนแต่ละประเทศมีนโยบายการจัดเก็บภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันบางประเทศ อาทิ มาเลเซีย ไม่มีการจัดเก็บภาษีและกองทุน เนื่องจากมีรายได้จากการผลิตและส่งออกน้ำมันดังกล่าวในการบริหารประเทศโดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณจากการจัดเก็บภาษีน้ำมัน ในขณะที่ประเทศไทย
    เป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิซึ่งจำเป็นต้องจัดเก็บภาษีน้ำมันเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ
  • อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยกับประเทศ
    ในภูมิภาคอาเซียน พบว่าราคาของประเทศไทยไม่ได้มีราคาสูงหรือต่ำไปกว่ามากตามที่มัมีการกล่าวอ้าง ดังเช่นข้อมูลราคาขายปลีกราคาน้ำมันเชื้อเพลิงดังภาพที่ 1 ต่อไปนี้

ภาพที่ 1 เปรียบเทียบราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินและดีเซลของประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคอาเซียน

 

ด้านก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)

  • การจัดหาก๊าซ LPG ที่สำคัญของประเทศไทยมาจาก 3 แหล่ง ได้แก่ การผลิตจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ สัดส่วนร้อยละ 57 ของการจัดหาก๊าซทั้งหมด การผลิตจากโรงกลั่นน้ำมัน สัดส่วนร้อยละ 34และการนำเข้าก๊าซ LPG จากต่างประเทศ สัดส่วนร้อยละ 9
  • ในอดีตก่อนปี 2558 ราคาก๊าซ LPG ณ โรงกลั่น (ราคาเนื้อก๊าซ LPG ก่อนรวมภาษี กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอื่นๆ) ถูกกำหนดไว้ที่ 333 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน โดยกำหนดให้โรงแยกก๊าซธรรมชาติขายก๊าซ LPG ในราคาดังกล่าวซึ่งต่ำกว่าราคาตลาดโลก (ช่วงปี 2549 -2557 ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลกอยู่ที่ประมาณ 400-1,000 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน) ในส่วนการนำเข้าก๊าซ LPG รัฐต้องชดเชยส่วนต่างระหว่างราคานำเข้าจริงเทียบกับราคา 333 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ซึ่งการกำหนดราคาดังกล่าวเป็นการกำหนดราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตจริง แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนในภาคครัวเรือนซึ่งเป็นผู้ใช้ก๊าซส่วนใหญ่ของประเทศ
  • อย่างไรก็ดี การตรึงราคาก๊าซ LPG ไว้ในระดับที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตและจัดหาต่อเนื่องเป็นเวลานาน ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการใช้ก๊าซ LPG ในภาคส่วนต่างๆ เกิดการบิดเบือนโครงสร้างตลาดจากความเป็นจริง จนนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น ภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรมเปลี่ยนมาใช้ก๊าซ LPG แทนน้ำมันเบนซินและน้ำมันเตา เนื่องจากราคาขายปลีกก๊าซ LPG อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงประเภทอื่น เกิดปัญหาการลักลอบส่งออก LPG ตามแนวชายแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องด้วยการกำหนดราคาขายปลีกก๊าซ LPG ในประเทศที่ต่ำกว่ามาก นอกจากนี้ การตรึงราคาผ่านการอุดหนุนก่อให้เกิดภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และความต้องการที่เพิ่มขึ้นทำให้ประเทศไทยจากเดิมที่ผลิตก๊าซ LPG เหลือจนส่งออกเปลี่ยนเป็นต้องนำเข้าตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา
  • ปัจจุบันรัฐจึงพยายามปรับโครงสร้างราคาให้ราคาสะท้อนต้นทุนการผลิตและจัดหามากยิ่งขึ้น ลดการบิดเบือนโครงสร้างตลาดที่นำไปสู่ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในอดีต แต่ยังคงมีการใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกก๊าซ LPG ในประเทศให้อยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและภาคเศรษฐกิจน้อยที่สุด ที่ราคา 363 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม
  • ทั้งนี้ หากพิจารณราคาขายปลีกก๊าซ LPG ในภูมิภาคอาเซียน พบว่ามีเพียงประเทศมาเลเซีย และกัมพูชา ที่มีราคาขายปลีกก๊าซ LPG ภาคครัวเรือนต่ำกว่าประเทศไทย เนื่องจากมีการอุดหนุนราคาโดยภาครัฐมากกว่า ในขณะที่ประเทศอื่นๆ มีราคาสูงกว่าประเทศไทย ดังแสดงในภาพที่ 2

ภาพที่ 2 เปรียบเทียบราคาขายปลีกก๊าซ LPG ภาคครัวเรือนของประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคอาเซียน

ทั้งนี้ ข้อร้องเรียนให้พิจารณาปรับโครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซ LPG ให้เท่ากับประเทศมาเลเซีย และราคา ณ ปี พ.ศ. 2520 ดังกล่าวข้างต้น จึงต้องพิจารณาถึงบริบทสถานการณ์ตลาดน้ำมันและก๊าซ LPG
ในปัจจุบันซึ่งเป็นการค้าเสรีที่ราคาเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามตลาดโลก ตลอดจนคำนึงถึงความจำเป็นของการจัดเก็บภาษีและกองทุนต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศและท้องถิ่น รวมทั้งความจำเป็นในการรักษาเสถียรภาพระดับราคาขายปลีกน้ำมันและก๊าซ LPG ในประเทศกรณีเกิดภาวะวิกฤติ ทั้งนี้ ด้วยบริบทของ ปัจจัยในอดีตที่แตกต่างจากปัจจุบัน โดยในปี พ.ศ. 2520 ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับประมาณ 25 -27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ต่ำกว่าราคาน้ำมันดิบในปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ระดับ 60 – 65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ถึง 2 – 3 เท่า ประกอบกับปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยนที่ส่งผลต่อต้นทุนสินค้าและบริการ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 30.59 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ สูงกว่าปี 2520 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 20.34 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ถึงร้อยละ 50 ตลอดจนปัจจัยด้านภาวะเงินเฟ้อที่ทำให้มูลค่าเงินในปัจจุบันถูกกว่าเมื่อปี 2520 โดยในปี 2520 ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลอยู่ที่ประมาณ 2.50 – 2.60 บาทต่อลิตร ขณะที่ราคาก๋วยเตี๋ยวอยู่ที่ประมาณชามละ 5 บาท เปรียบเทียบได้กับปัจจุบันปี 2562 ซึ่งราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลอยู่ที่ประมาณ 22 – 25 บาทต่อลิตร และราคาก๋วยเตี๋ยวอยู่ที่ประมาณชามละ 40 – 50 บาท เช่นกัน สถานการณ์ราคาน้ำมันในประเทศของปี 2520 และปัจจุบัน จึงอยู่ในภาวะใกล้เคียงกัน ดังนั้น ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันและก๊าซ LPG ในปัจจุบันปรับตัวเพิ่มขึ้นตามปัจจัยพื้นฐานที่เปลี่ยนแปลงไป

อย่างไรก็ดี กระทรวงพลังงานได้มีการติดตามดูแลราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ LPG ให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยตระหนักถึงผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนเป็นสำคัญยิ่ง

—————————————————-