กระทรวงพลังงาน ร่วมกับมูลนิธิอาคารเขียวไทย ประกาศ 7 โครงการที่เข้ารอบการคัดเลือกในขั้นตอนที่ 2 ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน รายละไม่เกิน 10 ล้านบาท

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากการที่ กระทรวงพลังงาน โดย กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ร่วมกับมูลนิธิอาคารเขียวไทย จัดโครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart cities – Clean Energy) เพื่อเป็นแนวทางหรือแบบรายละเอียดเบื้องต้น (Schematic Design) การพัฒนาเมืองของชุมชนสู่เมืองอัจฉริยะ โดยเชื่อมโยงกับการใช้พลังงานในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งสู่การเป็น Clean Energy และ Green City ให้สามารถเป็นต้นแบบลดการใช้พลังงาน และลดคาร์บอนไดออกไซด์ตามเจตนารมณ์ของรัฐ และยังเป็นการสร้างมิติใหม่ของการพัฒนาเมือง โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการถึง 36 โครงการ นับเป็นความสำเร็จในเบื้องต้นที่มีจำนวนโครงการให้ความสนใจมากขนาดนี้ จนกระทั่งผ่านการคัดเลือกในขั้นตอนที่1 ไปแล้ว 16 โครงการ ซึ่งแต่ละโครงการล้วนมีความตั้งใจในการสร้างสรรค์แนวคิดที่จะนำสู่การเป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะอย่างเป็นรูปธรรม และบัดนี้นับเป็นอีกก้าวหนึ่งที่คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะต้องทำงานอย่างถี่ถ้วนที่จะคัดเหลือเพียง 7 โครงการเท่านั้น เพื่อจัดทำโมเดลธุรกิจ ที่นำไปปฏิบัติได้จริงต่อไป

ผู้ผ่านการคัดเลือกได้จัดเตรียมโครงการในขั้นตอนที่ 2 คือ การจัดทำผังแม่บทการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City Development Master Plan) ที่มีรายละเอียดเบื้องต้นที่ครอบคลุม ผังการใช้พื้นที่ แผนผังโครงการการจัดวางอาคาร และแผนผังต่างๆ ได้แก่ อาคารภูมิสถาปัตย์ ระบบสาธารณูปโภค ระบบผลิต ส่ง และจ่ายพลังงาน ระบบเครื่องกล และไฟฟ้า ระบบสุขาภิบาล ระบบจัดการน้ำเสีย ระบบนำน้ำกลับมาใช้ ระบบระบายน้ำ ระบบกักเก็บน้ำฝน ระบบอัจฉริยะ เป็นต้น รวมทั้งขนาดของระบบต่างๆ เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบทำความเย็น ระบบทำความร้อน ระบบน้ำประปา ระบบน้ำเสีย ระบบนำน้ำกลับมาใช้ ปริมาณขยะ ปริมาณขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ ระบบพลังงานสะอาด พร้อมทั้งจัดทำรายงานเปรียบเทียบเพื่อแสดงการคำนวณตัวเลขของการประหยัดพลังงาน การประหยัดน้ำการลดปริมาณคาร์บอน การประหยัดค่าก่อสร้าง  เป็นต้น

สำหรับผู้ผ่านการคัดเลือกขั้นตอนที่ 1 ทั้ง 16 โครงการ คณะกรรมการได้ทำการคัดเลือกเหลือ 7 โครงการและทุกโครงการจะได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนฯ เพื่อใช้ในการดำเนินการขั้นต่อไป รายละไม่เกิน 10 ล้านบาท โดยมีโครงการที่เข้ารอบดังนี้

  1. นิด้า : มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ รู้รักษ์พลังงาน สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
  2. มช. (เมือง) มหาวิทยาลัยอัจฉริยะพลังงานสะอาด
  3. เมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ
  4. ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต : ต้นแบบเมืองมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ
  5. วิสซ์ดอม วัน-โอ-วัน
  6. ขอนแก่น Smart City (ระยะที่ 1) : ขนส่งสาธารณะเปลี่ยนแปลงเมือง
  7. เมืองใหม่อัจฉริยะบ้านฉาง

ผู้ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ ในขั้นตอนที่ 2 จะต้องดำเนินการจัดทำโมเดลธุรกิจ (Business model) อันประกอบด้วย รายละเอียดเบื้องต้น (Schematic design) ประเมินค่าก่อสร้างเบื้องต้น (Construction budget estimation) วิเคราะห์ค่าใช้จ่ายตลอดอายุโครงการ (Life cycle cost analysis) รายงานการวิเคราะห์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ (Financial feasibility study) เพื่อให้สามารถนำไปใช้เป็นโมเดลธุรกิจ (Business model) และนำไปสู่การจัดหาผู้ร่วมทุนและการพัฒนา “เมืองอัจฉริยะ” หรือ “Smart City” ให้เป็นรูปธรรมต่อไป

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันอาคารเขียวไทย E-mail : Smartcities.th@gmail.com หรือ www.thailandsmartcities.com

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้โอวาทฑูตพลังไทยในโครงการ “ไทยแลนด์ พาวิลเลียนแอมบาสเดอร์”

(15พ.ค.60 ทำเนียบรัฐบาล) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้โอวาทฑูตพลังไทยในโครงการ “ไทยแลนด์ พาวิลเลียนแอมบาสเดอร์” ก่อนไปปฏิบัติหน้าที่ตัวแทนประเทศไทย ในงาน Astana Expo 2017 ณ กรุงอัสตานา สาธารณรัฐคาซัคสถาน ระหว่างวันที่ 10 มิถุนายน ถึง 10 กันยายน 2560

โดยทูตพลังไทยทั้ง 10 คน เป็นเยาวชนที่มีความรู้ด้านภาษารัสเซีย คาซัค และภาษาอังกฤษ ที่ผ่านการคัดเลือกจากผู้สมัครกว่า 300 คน โดยก่อนหน้านี้ยังได้รับการติวเข้ม เพื่อเสริมความรู้เจาะลึกเรื่องพลังงานของประเทศไทย จากกูรูด้านพลังงานชั้นนำของเมืองไทยจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิ กระทรวงพลังงาน บมจ.การบินไทย กระทรวงพานิชย์ กระทรวงวัฒนธรรม กรมการพัฒนาชุมชน กฟผ. เป็นต้น พร้อมทั้งได้ศึกษาดูงานด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานชีวภาพต้นแบบ เพื่อนำความรู้ดังกล่าว ไปแสดงศัยภาพด้านพลังงานของไทยให้ทั่วโลกได้รับรู้

กระทรวงพลังงาน ร่วมกับ บริษัท เชลล์ แห่งประเทศไทย จำกัด จัดงานต้อนรับและแสดงความยินดีกับนักศึกษาไทย ฮีโร่รุ่นเยาว์ ผู้คว้าชัยชนะจากการแข่งขันเชลล์ อีโค-มาราธอน เอเชีย 2017

กระทรวงพลังงาน นำโดย พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมกับ บริษัท เชลล์ แห่งประเทศไทย จำกัด โดย นายอัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการ จัดงานต้อนรับและแสดงความยินดีกับนักศึกษาไทย ฮีโร่รุ่นเยาว์ ผู้คว้าชัยชนะจากการแข่งขันเชลล์ อีโค-มาราธอน เอเชีย 2017 ที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 16 – 19 มีนาคมที่ผ่านมา สนับสนุนเยาวชนด้านการพัฒนานวัตกรรมประหยัดพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า “ในฐานะตัวแทนของกระทรวงพลังงาน ผมมีความยินดีและภูมิใจเป็นอย่างยิ่งกับความสำเร็จของนักศึกษาไทยจากการแข่งขันเชลล์ อีโค มาราธอน เอเชีย ในปีนี้ “เชลล์ อีโค-มาราธอน เอเชีย” เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักศึกษาได้แสดงความสามารถด้านการพัฒนานวัตกรรมประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงพลังงาน ที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการแสวงหาพลังงานด้วยวิธีการที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กิจกรรมนี้ได้เปิดเวทีให้เยาวชนไทยคิดสร้างสรรค์ผลงานอย่างจริงจัง เกิดผลงานใหม่ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อวงการพลังงานและประเทศไทยในอนาคต ที่สำคัญเยาวชนของชาติยังมีโอกาสได้ออกไปเรียนรู้และหาประสบการณ์กับเพื่อนต่างชาติ นับว่าเป็นกิจกรรมที่ควรสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เราเชื่อมั่นว่าความร่วมมือนี้จะนำมาซึ่งความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานในประเทศ และพร้อมรับความท้าทายด้านพลังงานในปัจจุบันและอนาคตต่อไป”
นายอัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “ผมรู้สึกยินดีและภาคภูมิใจมากที่ทีมไทยสามารถคว้าชัยชนะมาจากการแข่งขันเชลล์ อีโค-มาราธอน เอเชียในปีนี้ ซึ่งเป็นสนามที่นักศึกษาไทย ได้พัฒนานวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ พร้อมทั้งใช้ทักษะในการค้นคว้าหาเทคโนโลยีเพื่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ทำให้ทีมไทยคว้าขัยขนะมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 แล้ว และจากความสามารถของนักเรียนนักศึกษานี้ จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้แก่วิศวกรรุ่นต่อไปในการตอบสนองต่อความต้องการด้านพลังงานในอนาคตอย่างแน่นอน เชลล์จะยังคงจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ที่ช่วยสนับสนุนเยาวชนของชาติในการพัฒนาต่อยอดความรู้ มาเป็นการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต่อไป”
การแข่งขันเชลล์ อีโค-มาราธอน เอเชีย ประจำปี 2017 จัดขึ้นวันที่ 16-19 มีนาคมที่ผ่านมา เป็นเวทีการแข่งขันระดับโลกที่เปิดโอกาสให้แก่เยาวชนที่มีอายุตั้งแต่ 16-28 ปี ได้พัฒนาความคิด สร้างสรรค์นวัตกรรมและส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยี พร้อมกับสนับสนุนให้นักเรียนนักศึกษาได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง เพื่อทำให้การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการแข่งขันจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ประเภท Prototype เป็นการออกแบบและสร้างสรรค์รถต้นแบบแห่งอนาคต มุ่งเน้นการใช้ความคิดสร้างสรรค์ทางด้านเทคนิค เพื่อให้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และ
ประเภท Urban concept มุ่งเน้นการออกแบบรถประหยัดเชื้อเพลิงโดยคำนึงการใช้งานจริงบนท้องถนน ตัวรถยนต์จะมีลักษณะใกล้เคียงกับรถยนต์ในปัจจุบัน

ในปีนี้ทีมจากประเทศไทย 2 ทีมได้รับรางวัลมาจากการแข่งขันประเภท Prototype คือ ทีม Virgin จาก วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร คว้ารางวัลชนะเลิศ จากประเภท Internal Combustion Engine หรือ เชื้อเพลิง เบนซิน ดีเซล ทำสถิติวิ่งได้ไกลทีสุดด้วยความเร็วที่ 2,288 กิโลเมตรต่อ 1 ลิตร และ ทีม NSTRU Eco-Racing จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช คว้าตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับ 2 จากเชื้อเพลิงประเภท Battery Electric ด้วยความเร็วที่ 391.2 กิโลเมตรต่อ 1 ลิตร

……………………………………………………………………………

เกี่ยวกับการแข่งขันเชลล์ อีโค-มาราธอน
เชลล์ อีโค-มาราธอนเป็นเวทีการแข่งขันระดับโลกที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ท้าทายให้นักเรียน นักศึกษา ก้าวข้ามขีดจำกัดของการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพบนท้องถนน การจัดการแข่งขันเชลล์ อีโค-มาราธอน มีขึ้นทั้งสิ้นสามเวทีตลอดทั้งปี คือ เอเชีย อเมริกา และยุโรป การแข่งขันเชลล์ อีโค-มาราธอนเป็นสนามทดลองให้นักเรียน นักศึกษา ทดสอบการใช้งานยานพาหนะที่พวกเขาออกแบบและสร้างขึ้นเอง โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่กลายเป็นนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรในอนาคต

การแข่งขันเชลล์ อีโค-มาราธอนเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2482 ที่ห้องปฏิบัติการด้านการวิจัยในสหรัฐอเมริกาโดยเป็นการแข่งขันระหว่างเพื่อนนักวิทยาศาสตร์ด้วยกัน เพื่อดูว่ารถของใครจะวิ่งไปได้ไกลที่สุดด้วยน้ำมันหนึ่งแกลลอน พ.ศ. 2528 การแข่งขันเชลล์ อีโค-มาราธอนที่เรารู้จักกันในวันนี้ได้ถือกำเนิดขึ้น ครั้งแรก ที่ประเทศฝรั่งเศส ต่อมาในเดือนเมษายนปี พ.ศ. 2550 ปฐมฤกษ์ของการแข่งขันเชลล์ อีโค-มาราธอน อเมริกา ได้เริ่มขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและในปี พ.ศ. 2553 การแข่งขันเชลล์ อีโค-มาราธอน เอเชียได้เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นเจ้าภาพการแข่งขันเชลล์ อีโค-มาราธอนจนถึงปี พ.ศ. 2556 และในปีพ.ศ. 2557 – 2559 การแข่งขันจัดขึ้นขึ้นที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ และจัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์เป็นครั้งแรกเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล Make the Future ในปี พ.ศ. 2560

กระทรวงพลังงาน MOU ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 5 รายใหญ่ ต้นแบบอาคาร-บ้านอนุรักษ์พลังงานสอดรับกฎหมายใหม่ปี’60

“กระทรวงพลังงาน” โดย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ลงนาม MOU กลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 5 แห่ง เพื่อส่งเสริมการออกแบบอาคาร-บ้านประหยัดพลังงาน เล็งคลอดกฎหมายนำร่องอาคารขนาดใหญ่มีผลบังคับใช้ภายในปี 2560

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในวันนี้ (7เม.ย.60) ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ “การส่งเสริมการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานตามกฏหมายและการส่งเสริมบ้านที่อยู่อาศัยเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน” เป็นความร่วมมือของกระทรวงพลังงาน โดย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) และภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) บริษัท เซ็นทรัล พัฒนา จำกัด (มหาชน) บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท นารายณ์พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการส่งเสริม ให้ภาคเอกชนมีการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานตามกฎหมาย และส่งเสริมบ้านที่อยู่อาศัยเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ก่อให้เกิดการประหยัดพลังงานในอาคารและบ้านที่อยู่อาศัยอย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับ แผนบูรณาการพลังงานของประเทศ (TIEB)

“ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นไปตามยุทธศาสตร์และถือเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ภายใต้แผนอนุรักษ์พลังงานของประเทศ ( EEP 2015 ) พ.ศ. 2558 -2579 ที่เห็นความสำคัญในการใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีการใช้พลังงานมาก ได้แก่ ภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม ภาคอาคารธุรกิจ และภาคบ้านอยู่อาศัย” พลเอก อนันตพร กล่าว

ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงาน โดย พพ. ได้ดำเนินการร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมายให้มีผลบังคับใช้ภายในปี 2560 โดยนำร่องใช้กับอาคารขนาดใหญ่พื้นที่ตั้งแต่ 10,000 ตร.ม.ขึ้นไปก่อน และทยอยบังคับใช้กับอาคารพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตร.ม. ภายในปี 2562

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าของการดำเนินงานตามแผนอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งพพ. มีแผนปฎิบัติการเชิงรุกใน 2 รูปแบบ ทั้งการจัดทำมาตรการบังคับใช้ในทางกฎหมาย และแผนการรณรงค์ส่งเสริมโดยเชิญชวนภาคเอกชนขนาดใหญ่เข้าร่วม เป็นเครือข่ายความร่วมมือ และขยายเครือข่ายไปยังผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายอื่นต่อไป โดยแนวทางที่ พพ. จะร่วมมือกับผู้ประกอบการ จะครอบคลุมในเรื่องการจัดกิจกรรมให้ความรู้การประชาสัมพันธ์เรื่องอาคารและบ้านประหยัดพลังงานสู่ผู้บริโภค การส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรในการออกแบบอาคารและบ้านประหยัดพลังงาน การผลักดันและกระตุ้นตลาดการก่อสร้างอาคาร และบ้านประหยัดพลังงานให้แพร่หลาย ซึ่งทั้งสองแนวทางจะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศ และสามารถเป็นไปตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ตามแผน EEP 2015 ที่จะต้องลดสัดส่วนการใช้พลังงานให้ได้ 30% ภายในปี 2579

แผนการดำเนินงานที่ผ่านมา พพ. ได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานให้กับหน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานปกครองท้องถิ่น 9 แห่ง อาทิ กรุงเทพมหานคร เทศบาลนครราชสีมา และเมืองพัทยา เป็นต้น ส่วนความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา 6 แห่ง เป็นเรื่องของการบรรจุองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานลงไปในหลักสูตรการศึกษา ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยรังสิต และมหาวิทยาลัยเทคโนดลยีราชมงคลธัญบุรี เป็นต้น และภาคเอกชน 1 แห่ง ได้แก่ บริษัท แอล.พี.เอ็น ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

ที่ผ่านมา พพ. ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว โดยอยู่ระหว่างการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และส่งเสริมในเรื่องการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน เตรียมความพร้อมบุคลากรผู้ออกแบบอาคาร สถาปนิก วิศวกร เจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่อนุญาตการก่อสร้าง รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ให้มีความรู้ความเข้าใจในนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของภาครัฐ ซึ่งได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2552




รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเพื่อให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัย พร้อมตรวจติดตามสถานการณ์พลังงานในกลุ่มภาคใต้

วันนี้ ( 10 มีนาคม 2560) พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน นำคณะผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงพลังงาน และสื่อมวลชน ลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมตรวจติดตามสถานการณ์พลังงาน 9 จังหวัดในกลุ่มภาคใต้ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง กระบี่ พังงา ระนอง ภูเก็ต และตรัง เพื่อสร้างความมั่นใจประชาชนผู้ใช้พลังงานครอบคลุมทุกกลุ่มพลังงาน ได้แก่ ไฟฟ้า น้ำมัน ก๊าชธรรมชาติ โดยมี นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช และพลังงานจังหวัดจาก 9 จังหวัดในกลุ่มภาคใต้ ให้การต้อนรับ ณ โรงแรมทวินโลตัส อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชในครั้ง เพื่อให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยในจังหวัดนครศรีธรรมราช จากสถานการณ์น้ำท่วมในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา พร้อมทั้งติดตามการบำรุงรักษาสถานที่ด้านพลังงานที่ได้รับความเสียหาย และตรวจสอบศักยภาพของการให้บริการเกี่ยวกับด้านพลังงานภายหลังสถานการณ์น้ำท่วม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน โดยได้มีการตรวจสอบคุณภาพน้ำมันและสถานีบริการน้ำมัน การตรวจสอบสภาพถังก๊าซหุงต้ม การสนับสนุนหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อให้บริการประชาชน รวมถึงการฟื้นฟูและมอบอุปกรณ์การเรียนการสอนให้กับโรงเรียนมัชฌิมภูผา ในพื้นที่อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช

นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือข้อราชการเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานของกลุ่มภาคใต้ 9 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง กระบี่ พังงา ระนอง ภูเก็ต และตรัง โดยได้มีการมอบหมายให้พลังงานจังหวัดและเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงานในพื้นที่ภาคใต้ มุ่งเน้นการทำงานอย่างบูรณาการติดตามดูแลสถานการณ์พลังงานอย่างใกล้ชิด ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งให้ดำเนินการช่วยเหลือ ฟื้นฟู ผู้ประสบภัยจากสถานการณ์น้ำท่วมทั้งในส่วนของโครงการพลังงานต่างๆ ที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงพลังงาน สถานที่ราชการ โรงเรียน วัด และที่อยู่อาศัยของชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเข้าสู่ภาวะปกติ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวต่อว่า สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย และฟื้นฟูสถานที่ประสบภัยหลังสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ กระทรวงพลังงาน ได้ร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และหน่วยงานเครือข่ายด้านพลังงานต่างๆ ให้ความช่วยเหลือกระจายไปยังทุกจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ โดยมุ่งเน้นพื้นที่ที่ความช่วยเหลือยังเข้าไม่ถึง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนทั่วทุกพื้นที่อย่างแท้จริง ได้แก่ การสนับสนุนรถน้ำทำความสะอาด จำนวน 8 คัน การช่วยทำความสะอาดที่อยู่อาศัยกว่า 100 ครัวเรือน การซ่อมแซมระบบไฟฟ้าที่อยู่อาศัย 17 หลังคาเรือน การสนับสนุนหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พร้อมจ่ายยา โดยการสนับสนุนทีมบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี และ
โรงพยาบาลกรุงเทพ หาดใหญ่ การสนับสนุนหน่วยซ่อมแซมจักรยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าร่วมกับวิทยาลัยสารพัดช่างสุราษฏร์ธานีและวิทยาลัยสารพัดช่างนครศรีธรรมราช การให้ความช่วยเหลือซ่อมแซมระบบไฟฟ้า อาคารเรียน และการมอบอุปกรณ์การเรียนการสอน อุปกรณ์กีฬา เพื่อทดแทนอุปกรณ์เดิมที่เสียหายไปกับสถานการณ์น้ำท่วมให้กับโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัด อาทิ ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สุราษฏรธานี ตรัง ชุมพร สงขลา พัทลุง กระบี่ ปัตตานี นราธิวาส เป็นต้น
“ในสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงาน ได้ติดตามผลกระทบในด้านพลังงานอย่างใกล้ชิด และได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดทั้งส่วนกลางและในพื้นที่ รวมถึงบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เฝ้าระวังสถานที่และบริการด้านพลังงานให้ครอบคลุมทั้งในเรื่องไฟฟ้า น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการ พร้อมทั้งดำเนินการให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ประสบภัยมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วม เช่น การมอบเงินช่วยเหลือผ่านโครงการ “ประชารัฐร่วมใจ ช่วยอุทกภัยใต้” กว่า 47 ล้านบาท การสนับสนุนเรือท้องแบน 3 ลำ มอบถุงยังชีพ 37,393 ถุง น้ำดื่มกว่า 5 แสนขวด หลอดไฟ LED 74 ชุด อาหารกล่องกว่า 2 หมื่นกล่อง ยาสามัญประจำบ้านกว่า 1 หมื่นชุด เครื่องนุ่งห่มกว่า 2 หมื่นชุด ตลอดจนการให้ความร่วมมือกับจังหวัดต่างๆ ในพื้นที่ประสบภัย เพื่อป้องกันอันตรายทั้งในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจากระบบไฟฟ้าในช่วงที่เกิดสถานการณ์น้ำท่วม” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว


“โครงการพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2560” SETA 2017

วันนี้ (8 มี.ค.60) พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “โครงการพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2560” (Sustainable Energy & Technology Asia 2017 (SETA 2017) ภายใต้ธีม “Towards A Low-Carbon Society” ใน 4 หัวข้อหลัก ได้แก่ นโยบายและการวางแผนด้านพลังงาน เทคโนโลยีระบบผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อปล่อยคาร์บอนต่ำ พลังงานเพื่อการคมนาคมขนส่งเพื่อปล่อยคาร์บอนต่ำและ เมืองอัจฉริยะและอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อผลักดันและพัฒนาองค์ความรู้ด้านพลังงาน และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้เน้นเทรนด์อุตสาหกรรมไฮบริด และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ ชั้น 2 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “รัฐบาลมีการดำเนินงานเพื่อให้พลังงานทีเสถียรภาพที่เหมาะสมโดยสร้างความมั่นคงในด้านพลังงานทุกรูปแบบของประเทศที่ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการผลิต ขนส่ง จำหน่าย และการกระจายให้ต้นทุนราคาพลังงานอยู่ในระดับที่เหมาะสม สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ประชาชนไม่แบกรับภาระมากเกินไป ไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมการประหยัดพลังงานเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน สำหรับงาน SETA 2017 นับเป็นปีที่ 2 แล้ว ที่ประเทศไทยจะได้แสดงถึงความก้าวหน้าในการพัฒนาภาคพลังงานของประเทศ และศักยภาพในการพัฒนาสู่ความเป็นศูนย์กลางพลังงานในภูมิภาคเอเชีย เชื่อมความร่วมมือของประเทศในเอเชีย โดยมีผู้นำประเทศและผู้นำทางความคิดจากทั่วโลกเข้าร่วมประชุม เปิดโอกาสให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศได้เรียนรู้แนวความคิด การพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยและนวัตกรรมใหม่ ๆ อีกด้วย” พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า “นโยบาย Energy 4.0 ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 เป็นนโยบายภาพใหญ่เพื่อยกระดับประชาชนให้มีความสามารถทางการแข่งขัน และมีรายได้สูงขึ้น ในส่วนของการบริหารจัดการพลังงานใน
ประเทศไทยนั้นมีปัจจัยที่เป็นตัวแปรหลายอย่าง กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการให้เกิดความสมดุลทั้งด้านความมั่นคง ความเป็นธรรมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน”


 

กระทรวงพลังงาน มอบสัญญา Charging Station 20 หน่วยงาน

กระทรวงพลังงาน เดินหน้านโยบาย Energy 4.0 เร่งขับเคลื่อนโครงการยานยนต์ไฟฟ้าเต็มกำลัง จัดพิธีมอบสัญญาแก่ผู้ได้รับการสนับสนุนในโครงการสนับสนุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ให้กับ 20 หน่วยงาน โดยในส่วนของรอบแรกนั้นคาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงต้นปี 2561 วันนี้ (23ก.พ.60) พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้เกียรติ เป็นประธานในพิธีมอบสัญญาแก่ผู้ได้รับการสนับสนุนในโครงการสนับสนุนการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ในรอบที่ 1 โดยมีหน่วยงานทั้งส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ที่สนใจเข้าร่วมงาน ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า “กระทรวงพลังงานให้ความสำคัญและสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าตามกรอบแผนบูรณาการพลังงานของประเทศ ในส่วนของการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1.2 ล้านคัน ทั้งแบบยานยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) และยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle) ภายในปี พ.ศ. 2579 โดยมีแผนการส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า และการจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน เพื่อเป็นสถานีนำร่องสำหรับรองรับยานยนต์ไฟฟ้าที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ซึ่งภาครัฐจะสนับสนุนเงินในโครงการสนับสนุนการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) โดยมีเป้าหมายอย่างน้อย 150 หัวจ่าย” ดร.ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า “สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยมีเป้าหมายในการส่งเสริมให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยได้รับมอบหมายจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ให้ดำเนินโครงการสนับสนุนการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ซึ่งได้เปิดรับสมัครระยะที่ 1 ระหว่างเดือนตุลาคม 2559 – เดือนกุมภาพันธ์ 2560 เป็นจำนวน 3 รอบ โดยมีหน่วยงานทั้งส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน สนใจเข้าร่วมสมัครเป็นจำนวนมาก โดยในวันนี้มีผู้ผ่านการคัดเลือกรอบที่ 1 และร่วมลงนามสัญญารวมทั้งสิ้น 20 หน่วยงาน เป็นหัวจ่ายประจุไฟฟ้าแบบธรรมดา (Normal Charge) 10 หัวจ่าย และหัวจ่ายประจุไฟฟ้าแบบเร่งด่วน (Quick Charge) 13 หัวจ่าย รวมหัวจ่ายทั้งหมด 23 หัวจ่าย และทางสมาคมอยู่ระหว่างการเตรียมการทำสัญญากับหน่วยงานผู้ผ่านการคัดเลือกในรอบที่ 2 จำนวนทั้งสิ้น 15 หน่วยงาน เป็นหัวจ่ายประจุไฟฟ้าแบบธรรมดา (Normal Charge) 10 หัวจ่าย และหัวจ่ายประจุไฟฟ้าแบบเร่งด่วน (Quick Charge) 7 หัวจ่าย รวมหัวจ่ายทั้งหมด 17 หัวจ่าย สำหรับในรอบที่ 3 อยู่ระหว่างการพิจารณาของโครงการฯ และจะเปิดรับสมัครในระยะที่ 2 เพื่อให้ได้ครบ 150 หัวจ่าย ซึ่งจะทำให้มีสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) สาธารณะนำรองเพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต”


กพช. เดินหน้าสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภาคใต้ ตามแผน PDP 2015 พร้อมหนุนพลังงานทดแทนผ่านโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐ

คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบแนวทางการสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าภาคใต้ตามแผน PDP 2015 รวมทั้งสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนผ่านโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้า
ที่เพิ่มสูงขึ้นในพื้นที่ภาคใต้

วันนี้ (17 กุมภาพันธ์ 2560) ที่ทำเนียบรัฐบาล การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมี
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้พิจารณาแนวทางการสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันกำลังผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ อยู่ที่ 3,089.5 เมกะวัตต์ ขณะที่ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของระบบการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อยู่ที่ 2,713 เมกะวัตต์ และหากเกิดกรณีวิกฤติหรือเหตุสุดวิสัยที่ทำให้โรงไฟฟ้าหลักในพื้นที่หยุดกะทันหัน จะส่งผลให้ภาคใต้มีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองไม่เพียงพอ ดังนั้น เพื่อเพิ่มความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าของภาคใต้ สนองความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579 (PDP 2015) จึงได้บรรจุโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กำลังผลิตไฟฟ้า 800 เมกะวัตต์ มีกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี 2562 และโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กำลังผลิตไฟฟ้า 2,000 เมกะวัตต์ มีกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่ปี 2564 แต่เนื่องจากมีประชาชนบางส่วนยังไม่เห็นด้วย ทำให้ กฟผ. ไม่สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ได้ตามแผน จึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการไตรภาคีฯ เพื่อศึกษาและเสนอแนะแนวทางการดำเนินโครงการให้สอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่ โดยมีข้อเสนอแนะให้มีตัวแทนภาคประชาชนเข้าร่วมเป็นกรรมการติดตามตรวจสอบการทำงานของโรงไฟฟ้า ขยายเขตกองทุนพัฒนาพื้นที่โดยรอบโรงไฟฟ้าเกินกว่ารัศมี 5 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้า ให้ครอบคลุมพื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการขนส่งถ่านหิน และให้ กฟผ. ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในพื้นที่ รวมทั้งบริหารจัดการพื้นที่โครงการตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้มี
ข้อสั่งการ ให้ กฟผ. ไปดำเนินการให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ สร้างความเข้าใจและการยอมรับก่อนเริ่มดำเนินโครงการ ซึ่ง กฟผ. ได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการไตรภาคีฯ และข้อสั่งการดังกล่าวแล้ว ดังนั้น ที่ประชุม กพช. จึงเห็นชอบให้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ตามแผน PDP 2015 เพื่อเพิ่มความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าภาคใต้

พร้อมกันนี้ ที่ประชุม กพช. ยังได้เห็นชอบโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐ สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการผลิตไฟฟ้าชีวมวล และก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) โดยรับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าชีวมวล ไม่เกิน 12 เมกะวัตต์ และจากการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) ไม่เกิน 30 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนดอัตราราคารับซื้อไฟฟ้า เสนอต่อ กบง. พิจารณา โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและเป็นธรรม พร้อมให้ กฟผ. บริหารต้นทุนการผลิตไฟฟ้า เพื่อให้สามารถรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐฯ โดยให้มีผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าน้อยที่สุด สำหรับการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐฯ ดังกล่าว สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยเพิ่มการสร้างงาน สร้างรายได้ ส่งเสริมระบบป้องกันตนเองของประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าในรูปแบบกระจายศูนย์ ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงในชุมชนอย่างยั่งยืน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีมอบฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง

วันนี้ (16 ก.พ. 60 ) พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีมอบฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น โดยในปีนี้มีผู้ประกอบการได้รับฉลากฯ จากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) รวม 77 ราย จาก 11 ผลิตภัณฑ์ คาดช่วยชาติประหยัดพลังงาน 167.8ktoe หรือคิดเป็นเงินกว่า 5,100 ล้านบาท

พลเอกอนันตพร กล่าวว่า “การที่ พพ.ได้ติดฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง ในผลิตภัณท์ต่างๆนี้ นับว่าเป็นมาตรการที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ในการเลือกซื้ออุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงาน ซึ่งสามารถดูค่าตัวเลขได้ในฉลาก เพื่อพิจารณาเปรียบเที่ยบค่าประสิทธิภาพพลังงาน และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ได้อย่างถูกต้อง ทำให้ประชาชนมีความมั่นใจ ผู้ประกอบการก็ได้รับการยืนยันว่าอุปกรณ์ที่ผลิตมานี้ประหยัดพลังงานได้จริง”

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า “ในปี 2559 พพ.ได้ออกฉลากรวมทั้งสิ้น 6.7 ล้านใบ ให้กับผลิตภัณฑ์จำนวน 149 ยี่ห้อ 1,802 รุ่น ซึ่งในครั้งนี้มีผู้ประกอบการที่ได้รับฉลากรวม 77 ราย ส่งผลให้สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าของประเทศลงได้ 1,430 ล้านหน่วยต่อปี ก๊าซปิโตรเลียมเหลว 32.5 ล้านกิโลกรัมต่อปี และน้ำมันเชื้อเพลิง 6.5 ล้านลิตรต่อปี คิดเป็นพลังงาน 164.8 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ หรือคิดเป็นเงิน 5,100 ล้านบาทต่อปี และยังสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 0.8 ล้านตันต่อปี”

“ที่ผ่านมา พพ. ได้ริเริ่มมาตรการติดฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูงครั้งแรกในปี พ.ศ.2550 ได้มอบฉลากฯ รวมกว่า 17 ล้านใบ สามารถลดการใช้พลังงานกว่า 423 พันล้านตัน เทียบเท่าน้ำมันดิบ โดยในปีแรกนั้นได้นำร่องการติดฉลากบนเตาหุงต้มในครัวเรือนใช้กับก๊าซปิโตรเลียมเหลว เป็นผลิตภัณฑ์แรก และดำเนินการต่อเนื่องโดยเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ มาโดยลำดับจนถึงปัจจุบันได้ดำเนินงานติดฉลากไปแล้วทั้งหมด 11 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เตาหุงต้มในครัวเรือนใช้กับก๊าซปิโตรเลียมเหลว อุปกรณ์ปรับความเร็วรอบมอเตอร์ กระจก ฉนวนใยแก้ว มอเตอร์เหนี่ยวนำสามเฟส เครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็กระบายความร้อนด้วยน้ำ เครื่องยนต์แก๊ซโซลีนขนาดเล็กระบายความร้อนด้วยอากาศ เตาก๊าซความดังสูง สีทาผนังอาคาร ปั๊มความร้อน และเครื่องอัดอากาศขนาดเล็กแบบลูกสูบ” อธิบดี พพ. กล่าว


รมว.พน. ร่วมงานผนึกพลังประชารัฐ เดินหน้า “เศรษฐกิจชีวภาพ” ขับเคลื่อนการลงทุนและนวัตกรรม สร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชาติ

ภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาและการวิจัย ประกาศเจตนารมณ์พร้อมสร้าง “เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy)” เศรษฐกิจคลื่นลูกใหม่ตามนโยบายประชารัฐ สู่การพัฒนา คลัสเตอร์อุตสาหกรรม New S-Curve เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 โดยใช้พืชเศรษฐกิจที่ไทยมีความพร้อม     อยู่แล้ว อาทิ มันสำปะหลังและอ้อยเป็นพืชนำร่อง พร้อมบริหารจัดการในรูปแบบเกษตรสมัยใหม่ (Modern Farming) เพื่อให้เกษตรกร สามารถปลูกพืชเกษตรที่มีคุณภาพและผลผลิตสูงด้วยต้นทุนต่ำลง อีกทั้งยังสามารถเปลี่ยนวัตถุดิบทางการเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง (Biorefinery) และสร้างเมืองใหม่บนเศรษฐกิจชีวภาพและนวัตกรรมครบวงจร (Biopolis) ที่มีระบบคมนาคมทันสมัย ระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการครบวงจร และสถาบันวิจัยขั้นสูง พร้อมประกาศแผนการลงทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพในระยะเวลา 10 ปี มูลค่าประมาณ      4 แสนล้านบาท ทั้งนี้ในเฟสที่ 1 ระหว่างปี 2560-2561 มีเม็ดเงินลงทุนจำนวน 51,000 ล้านบาท สามารถเริ่มต้นได้ทันทีที่จังหวัดระยอง  พร้อมขยายสู่เขตอีสานตอนกลาง ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง

วันจันทร์ที่ 23 มกราคม 2560 ณ โรงแรมเซนทารา แกรนด์ เซ็นทรัล ลาดพร้าว คณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ซึ่งมี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หัวหน้าทีมภาครัฐ และ นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หัวหน้าทีมภาคเอกชน ได้จัดให้มีพิธี    ลงนามบันทึกความเข้าใจ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาและวิจัย รวมทั้งสิ้น 23 หน่วยงาน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนการลงทุนด้านเศรษฐกิจชีวภาพของประเทศไทย โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าทีมคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ เป็นประธานในพิธี  โดยมี พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน      นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ นายอิสระ                   ว่องกุศลกิจ หัวหน้าทีมภาคเอกชนสานพลังประชารัฐ ให้เกียรติเข้าร่วมในการลงนามครั้งนี้ด้วย

Bioeconomy เป็นการนำ 2 ตัวแปรสำคัญ ได้แก่ เกษตรกรรมสมัยใหม่ และ Biorefinery  มาบริหารจัดการ ด้วย Technology และ Research and Development เพื่อให้เกิดคุณค่าและสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนจากเศรษฐกิจฐานเกษตรกรรมไปเป็นเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม โดย Bioeconomy จะใช้สินค้าเกษตรจากมันสำปะหลังและอ้อย ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรไทยที่ส่งออกเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก เป็นตัวนำร่อง ซึ่งจะก่อให้เกิดอุตสาหกรรมในลักษณะห่วงโซ่ที่เพิ่มมูลค่า (Value Chain)

ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาพลังงานชีวภาพ เช่น เอทานอล พลังงานไฟฟ้าชีวมวล เพื่อเป็นพลังงานทางเลือกที่มั่นคงและแข่งขันได้ อุตสาหกรรมชีวเคมี ได้แก่ พลาสติกชีวภาพ อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต ที่จะเข้ามาเป็น Ingredient ผสมในอาหารแทนการใช้สารเคมี หรือแม้แต่ผสมในอาหารสัตว์ เพื่อให้สัตว์ได้รับโปรตีนจากธรรมชาติที่ดีมีความสมบูรณ์ ตลอดจนอุตสาหกรรมทางชีวเภสัชภัณฑ์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหม่และ มีอนาคต และต้องมีการลงทุนทางด้าน Research and Development สูง

ทั้งนี้ ภายใน 10 ปีจะมีมูลค่าการลงทุนตลอด Value Chain กว่า 4 แสนล้านบาท และในปีที่ 10 จะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับอ้อยได้มากกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี มันสำปะหลังกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี โดยเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มเป็น 75,000 บาท ต่อคนต่อปี มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นทั้งในโรงงานผลิตและ    การวิจัยที่เกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 20,000 ตำแหน่ง และที่สำคัญ ยังเป็นการลดคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการใช้ฟอสซิลได้มากถึง 70 ล้านตัน เป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่มีต่อประชาคมโลกที่นายกรัฐมนตรีสนับสนุนให้ความร่วมมือเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ ณ ประเทศฝรั่งเศส

 

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม  หัวหน้าทีมภาครัฐคณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต กล่าวว่า  ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา Bioeconomy เป็นกระแสโลกที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุด เนื่องจากภาวะโลกร้อน ความต้องการอาหารและพลังงานสะอาดที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่พื้นที่เพาะปลูกลดลง หลายประเทศจึงเร่งจัดทำ Bioeconomy Blueprint ของประเทศอย่างจริงจังและนำเทคโนโลยีในด้านเกษตรกรรม เทคโนโลยีชีวภาพและสหเวชศาสตร์ (Health science) มาใช้สร้างผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูงและหลากหลายเพื่อผลักดันเศรษฐกิจชีวภาพให้กับประเทศ นอกจากนี้  World Economic Forum ยังได้ประมาณการศักยภาพของห่วงโซ่คุณค่าของเศรษฐกิจชีวภาพของโลกว่า จะมีมูลค่าสูงกว่า 2 แสนล้านยูโร หรือ 7.5 ล้านล้านบาท ภายในปี 2563 ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ที่มีมูลค่าสูง ได้แก่ พลาสติกย่อยสลายได้ ที่ผลิตจากวัตถุดิบชีวภาพ อาหารแห่งอนาคตที่ผลิตพิเศษตรงตามความต้องการเฉพาะบุคคล ยารักษาโรคที่ผลิตขึ้นสอดคล้องกับ DNA ของคนไข้แต่ละราย (Personalized medicines) และพลังงานไฮโดรเจน (พลังงานแห่งอนาคต) ที่ผลิตจากกลูโคส เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยนั้น มีความได้เปรียบในการแข่งขันจากความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) เรามีกลุ่มเกษตรกรที่มีความสามารถสร้างผลิตผลการเกษตรที่มีคุณภาพ มีความเข้มแข็ง ในอุตสาหกรรมอาหารและพลังงานชีวภาพที่มีความพร้อมเพื่อพัฒนาไปสู่กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ที่เรียกว่า Bioeconomy ซึ่งกลุ่มประชารัฐกำลังจัดทำ Roadmap สำหรับ Bioeconomy ทั้งนี้ การขับเคลื่อน Bioeconomy จะเริ่มต้นในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC: Eastern Economic Corridor)   ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนการลงทุนขนาดใหญ่ ที่เชื่อมโยงการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ระบบการขนส่ง การพัฒนาการพื้นที่ ในบูรณาการ Bioeconomy ถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายใน EEC ที่มีฐานอยู่เดิม ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ และยังรวมถึงอุตสาหกรรมใหม่ ได้แก่ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร หุ่นยนต์ และอากาศยาน  การเริ่มต้นของ Bioeconomy สามารถเริ่มต้นได้ทันทีที่จังหวัดระยอง และจาก Roadmap ที่วางไว้จะสามารถขยายไปยังภาคอีสาน อีกด้วย

การลงนามความร่วมมือนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของอีกหนึ่งพลังใหม่ ในการขับเคลื่อนสู่การมีส่วนร่วมและการสร้างผลประโยชน์ให้เกิดแก่ทุกภาคส่วน (Inclusive Growth)  การสร้างความแข็งแกร่งจากภายในประเทศและจากความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว (Productive Growth) รวมความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Growth) ที่จะเกื้อหนุนประเทศไทยให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

 

พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า โครงการ Bioeconomy ประกอบด้วยภาคเกษตรกรรม และ 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ (1) พลังงานชีวภาพ  (2) ชีวเคมีภัณฑ์ (3) อาหารแห่งอนาคต (4) อาหารสัตว์แห่งอนาคต และ (5) ชีวเภสัชภัณฑ์  โดยกระทรวงพลังงานได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพที่จะสามารถพัฒนาต่อยอดได้ก่อน เนื่องจากได้มีการดำเนินการพัฒนามาได้ในระดับหนึ่งแล้ว ภายใต้แผนพัฒนาพลังงานทดแทน พ.ศ. 2558-2579 (Alternative Energy Development Plan 2015) ที่มีเป้าหมายที่จะลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน การกำหนดให้มีการใช้พลังงานทดแทนในอัตราร้อยละ 30 ของการใช้พลังงานของประเทศ และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 70 ล้านตัน

ทั้งนี้ พลังงานชีวภาพจากโครงการประชารัฐ นับเป็นการพัฒนาต่อยอดจากการใช้พลังงานทดแทนที่มีการใช้อยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้จะเริ่มต้นจากพืชเกษตรเป้าหมายที่ทางคณะกรรมการประชารัฐ D5 เห็นว่ามีความเหมาะสมในการนำไปพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าได้ก่อน ได้แก่ มันสำปะหลังและอ้อย ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรต้นน้ำที่ส่งออกเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก ซึ่งพืชเกษตรทั้งสองชนิดนี้ทางกระทรวงพลังงานได้นำมาใช้เป็นวัตถุดิบเชื้อเพลิงชีวภาพอยู่แล้วคือเอทานอลที่นำไปผสมกับน้ำมันเบนซินเป็นน้ำมัน    แก๊สโซฮอล E10 E20 และ E85 แต่ภายใต้โครงการนี้ กระทรวงพลังงานเห็นว่าพืชเกษตรทั้งสองชนิดนี้  ยังสามารถพัฒนาต่อยอดขึ้นไปได้อีก อาทิ การนำเอทานอลไปผสมกับน้ำมันดีเซลหรือที่เรียกว่าดีโซฮอล โดยเป็นการผสมน้ำมันไบโอดีเซล B7 ร้อยละ 90 กับเอทานอลในอัตราส่วนร้อยละ 10 การพัฒนาก๊าซมีเทนชีวภาพอัด (Compressed Bio-Methane Gas หรือ CBG) ทั้งจากน้ำเสียและวัตถุดิบที่มาจากอุตสาหกรรมอ้อยและมันสำปะหลังเพื่อนำมาใช้แทนก๊าซ NGV ในภาคขนส่ง รวมถึงการเข้าไปปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าในโรงงานน้ำตาลเพี่อให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้น

 

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า หลักการของเศรษฐกิจชีวภาพมุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับความยั่งยืน เศรษฐกิจชีวภาพจึงเป็นรูปแบบการพัฒนาที่สอดคล้องตามกระบวนทัศน์ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs “เศรษฐกิจชีวภาพ” จึงเป็นทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งอนาคตของทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ที่นำไปสู่การเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบชีวภาพและทรัพยากรชีวภาพที่มีอยู่มากของแต่ละประเทศ

กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พร้อมให้การสนับสนุนในทุกๆด้าน ทั้งในส่วนของการร่วมวิจัยพัฒนา และการให้เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย มีเมืองอุตสาหกรรมอาหาร (Food Innopolis)  มีศูนย์นวัตกรรมอาหารและอาหารสัตว์ (Food Feed Innovation Center) ที่เป็น   One-Stop Service ส่งเสริมให้ SMEs ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน  ศูนย์ชีววัสดุแห่งประเทศไทยที่ให้บริการจุลินทรีย์ที่ได้มาตรฐานสากล มีจุลินทรีย์ที่พร้อมให้บริการมากกว่า 70,000 สายพันธุ์ นอกจากนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้พัฒนาระบบการให้บริการเทคนิคด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบเบ็ดเสร็จ (MOST One Stop Service) ที่เชื่อมโยงและบูรณาการเครื่องมือและปัจจัยเอื้อต่างๆ ที่มีอยู่ภายใน

 

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC หัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต  กล่าวถึงความคืบหน้าการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ว่า คณะทำงานกลุ่ม Bioeconomy ที่มีนายอนนต์ สิริแสงทักษิณ เป็นหัวหน้าทีมทำงานของภาคเอกชนที่เกิดจากการรวมตัวกันของภาคเอกชนจากหลายภาคอุตสาหกรรม ต่างเล็งเห็นถึงความจำเป็น ความเร่งด่วนในการร่วมกันแก้ไขปัญหา และมุ่งมั่นที่จะนำประเทศไทยก้าวข้ามผ่านความท้าทายเหล่านี้ไปให้ได้

แผนการดำเนินงานเพื่อพัฒนา Bioeconomy ในระยะเวลา 10 ปี มีกรอบการลงทุนคิดเป็นมูลค่าประมาณ 4 แสนล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ปี 2560-2561 เงินลงทุนประมาณ 51,000 ล้านบาท เพื่อต่อยอดการพัฒนาพลังงานชีวภาพ เคมีชีวภาพ อาหาร และชีวเภสัชภัณฑ์ ผลักดันการสร้างอุปสงค์และตลาด ระยะที่ 2 ปี 2562-2564 เงินลงทุนประมาณ 182,000 ล้านบาท เพื่อสร้าง Biorefinery Complexes ที่ครบวงจร และเมืองใหม่บนเศรษฐกิจชีวภาพและนวัตกรรมอย่างครบวงจร Biopolis และระยะที่ 3 ปี 2565-2569 เม็ดเงินลงทุนประมาณ 132,000 ล้านบาท เพื่อยกระดับสู่ Regional Hub เป็นต้นแบบอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาและ วิจัย ในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือของทั้ง 3 ภาคส่วน ทำหน้าที่ร่วมกันสร้าง เศรษฐกิจชีวภาพ ซึ่งเป็น เศรษฐกิจคลื่นลูกใหม่ ตามนโยบายประชารัฐ ซึ่งทั้ง 3 ภาคส่วน จะร่วมมือกันทำให้เกิดความเชื่อมโยง   ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะเข้าใจความต้องการของกันและกันมากขึ้น ภาคการศึกษาและวิจัย จะมีโจทย์ที่ชัดเจนขึ้น  ในการพัฒนา เทคโนโลยีที่สำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนา  Bioeconomy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ  ตั้งแต่ Lab-scale ไปจนถึงโรงงานต้นแบบ ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน อย่างแท้จริง และส่งผลให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็น    Bio Hub ของโลก ซึ่งหมายความว่า เมื่อนั้น ประเทศไทยจะเป็นผู้นำทั้งการเป็นผู้ผลิตอาหารแห่งอนาคตของโลก เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมด้าน Bioeconomy ของโลก รวมทั้งพัฒนาอุตสาหกรรมชีวการแพทย์ และเป็นส่วนหนึ่งของ Global Supply Chain ได้ในที่สุด

กระทรวงพลังงานจัดพิธีทำบุญตักบาตรเนื่องในวันพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสตมวาร (100 วัน)

วันนี้ (20 ม.ค. 60) พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน นำผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงพลังงาน ร่วมทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 89 รูป เนื่องในวันพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสตมวาร (100 วัน) เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ บริเวณลานพระพรหม ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมพิธีบำเพ็ญกุศลสตมวาร (100 วัน) เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

วันนี้ (20 ม.ค.60) พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมพิธีบำเพ็ญกุศลสตมวาร (100 วัน) เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมคณะรัฐมนตรี โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ณ ทำเนียบรัฐบาล

 

กระทรวงพลังงานเพิ่มทางเลือกใหม่แก่ผู้บริโภค กับแบบบ้านที่ได้รับรางวัล“บ้านจัดสรรอนุรักษ์พลังงานดีเด่น” พร้อมเปิดตัว “บ้านต้นแบบดีดี (DEDE) รักษ์พลังงาน” หวังกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาใส่ใจการเลือกบ้านอยู่อาศัยแบบประหยัดพลังงานมากขึ้น

 

 

วันที่ 19 มกราคม 2559 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้จัดให้มีการมอบโล่รางวัลเกียตรติยศให้กับผู้ได้รับรางวัลจำนวน 22 รางวัลจากการประกวดบ้านจัดสรรอนุรักษ์พลังงานดีเด่น ปี 2559 โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นประธาน ณ ห้องวายุภักษ์ 6 อาคารศูนย์ประชุม โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ ซึ่งวัตถุประสงค์ของการจัดประกวด บ้านจัดสรรอนุรักษ์พลังงานดีเด่นนั้นก็เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการบ้านจัดสรรและธุรกิจรับสร้างบ้าน ให้ความสำคัญกับการออกแบบบ้านประหยัดพลังงาน และเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนในการเลือกซื้อบ้าน ตลอดจนการเลือกใช้วัสดุและอุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงานในบ้านอยู่อาศัยโดยในงานมีผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของโครงการบ้านจัดสรรธุรกิจรับสร้างบ้าน และสมาคม องค์กรที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวว่า เรื่องพลังงานถือเป็นภาระหน้าที่ของกระทรวงพลังงานในการจัดหาและส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อพัฒนาประเทศและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนที่ผ่านมา พพ. ให้ความสำคัญเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องบ้านประหยัดพลังงาน และการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจสู่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ผู้ประกอบการด้านที่อยู่อาศัย  ทั้งที่เป็นผู้ประกอบการบ้านจัดสรร  และบริษัทรับสร้างบ้าน  เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนกิจกรรมและภารกิจในเรื่องการอนุรักษ์พลังงานในบ้านอยู่อาศัย ในการมุ่งมั่นพัฒนาบ้านประหยัดพลังงานสู่ประชาชนผู้บริโภค และหวังว่าจะได้ร่วมกันส่งเสริมและให้ความรู้แก่ประชาชน
ว่าการสร้างบ้านประหยัดพลังงานไม่ได้ยากหรือมีราคาแพงอย่างที่หลายคนเข้าใจ การออกแบบที่ดีการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่เหมาะสมตั้งแต่
การก่อสร้างนั้นจะช่วยให้ผู้อยู่อาศัยมีความอยู่สบายและลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไปพร้อมกันด้วย

นายประพนธ์  วงษ์ท่าเรือ  อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานและอนุรักษ์พลังงาน  ได้กล่าวใจความสำคัญไว้ดังนี้  “บ้านที่ได้รับรางวัลสามารถประหยัดพลังงานได้เฉลี่ยร้อยละ 30 เมื่อเปรียบเทียบกับบ้านทั่วไปที่ไม่ได้คำนึงถึงการอนุรักษ์พลังงาน  บ้านอนุรักษ์พลังงานอาจมีต้นทุนสูงขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 10 ถึง 15 แต่สามารถคืนทุนได้ในระยะเวลาเพียง 4 ถึง 5 ปี  จากค่าไฟฟ้าที่ลดลง”

นอกจากการมอบรางวัลบ้านจัดสรรอนุรักษ์พลังงานดีเด่นแล้ว ทาง พพ. ได้มีการเปิดตัวแบบบ้านประหยัดพลังงาน จำนวน 12 แบบ กับการแจกแบบบ้านดีดี (DEDE) รักษ์พลังงาน ที่มีการออกแบบสวยงาม ทันสมัย และประหยัดพลังงาน โดยทีมอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ
จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ในส่วนของบ้านต้นแบบประหยัดพลังงานภายใต้ชื่อ“บ้านดีดี(DEDE)รักษ์พลังงาน” นายประพนธ์วงษ์ท่าเรืออธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (DEDE)ได้กล่าวว่า ประเทศไทยในปัจจุบันมีจำนวนครัวเรือนประมาณ 20 ล้านครัวเรือน มีการใช้พลังงาน
คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15 ของการใช้พลังงานทั้งหมดของประเทศ  กระทรวงพลังงานมีเป้าหมายลดการใช้พลังงานภาคบ้านพักอาศัยในปี พ.ศ. 2579 ลดลง 13,633 GWh ตามแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558–2579  ดังนั้นเพื่อให้บรรลุแผนนโยบายการอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี การกำหนดเกณฑ์มาตรฐานการใช้พลังงานสำหรับบ้านอยู่อาศัยและการสร้างต้นแบบบ้านประหยัดพลังงานนับเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการส่งเสริมเรื่องบ้านประหยัดพลังงานต่อไปในอนาคต

                   ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รุ่งโรจน์ วงศ์มหาศิริ สาขาวิชาสถาปัตยกรรมและการวางแผน  คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยี
พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หัวหน้าทีมศึกษาและออกแบบบ้านต้นแบบดีดี(DEDE) รักษ์พลังงาน ได้กล่าวว่า ทางโครงการได้นำผลจากการศึกษาและการสำรวจอาคารที่อยู่อาศัยจำนวน 1,800 หลังทั่วประเทศมากำหนดเกณฑ์มาตรฐานการใช้พลังงานสำหรับบ้านอยู่อาศัย
และออกแบบบ้านต้นแบบดีดี(DEDE) รักษ์พลังงาน โดยคำนึงถึงความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับเทคนิคการก่อสร้างโดยช่างก่อสร้างพื้นฐาน และการเลือกใช้วัสดุที่มีความแพร่หลายสามารถจัดหาได้ง่ายในทุกพื้นที่ของประเทศ นอกจากปัจจัยเรื่องความสวยงามแล้ว ยังต้องเหมาะสมกับภูมิอากาศของประเทศไทยไม่ว่าจะถูกสร้างที่ไหนบ้านนั้นต้องอยู่สบายและประหยัดพลังงานในเวลาเดียวกันทั้งในระดับครัวเรือนและช่วยประหยัดพลังงานในระดับประเทศ โดยคาดว่า ด้วยแนวคิดและวิธีการออกแบบจะทำให้บ้านต้นแบบดีดี (DEDE) รักษ์พลังงาน สามารถประหยัดค่าไฟได้ถึง 20-50%  “แบบบ้านดีดี(DEDE)รักษ์พลังงาน ทั้ง 12 แบบ มีที่มาจาก 4 แนวคิด ได้แก่ 1. การลดปริมาณรังสีจากแสงอาทิตย์เข้าสู่ตัวบ้าน
2. การแบ่งโซนพื้นที่ใช้พลังงานและช่วงเวลาการใช้พลังงานที่แตกต่างกันออกจากกัน 3. การเลือกใช้วัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ไฟฟ้าแสงสว่างประสิทธิภาพสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีฉลากประหยัดพลังงานรับรอง 4. การสร้างทางเลือกในการติดตั้งแผงพลังงานทดแทนบนหลังคาที่ได้รับการออกแบบให้มีมุมเอียง 20 องศาเป็นมุมที่สามารถติดตั้งแผงโซล่าเซลส์ได้ทุกทิศทางภูมิประเทศ ทำให้โซลาเซลส์สามารถผลิตพลังงาน
ได้มีประสิทธิภาพสูงไม่ว่าจะหันหน้าบ้านไปทิศทางใด”

ภายในงานยังจัดให้มีการแสดง 20 แม่ไม้สำคัญในการเลือกซื้อบ้านประหยัดพลังงานนิทรรศการ 22 ผลงานที่ได้รับรางวัลบ้านจัดสรรอนุรักษ์พลังงานดีเด่นการเสวนาในหัวข้อ “บ้านอนุรักษ์พลังงาน” รวมถึงบ้านต้นแบบดีดี (DEDE) รักษ์พลังงาน12 แบบ ถือเป็นทางเลือกใหม่ให้กับประชาชนที่สามารถเลือกซื้อบ้านจากโครงการบ้านจัดสรร หรือเลือกผู้ประกอบการรับสร้างบ้านที่ได้รับรางวัล หรือดาวน์โหลดแบบบ้านต้นแบบดีดี (DEDE) รักษ์พลังงานได้ที่เว็บไซต์ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานกระทรวงพลังงานwww.dede.go.th

 

กระทรวงพลังงาน เตรียมโชว์ “Bioenergy” ศักยภาพพลังงานชีวภาพไทย ในงาน “Astana Expo 2017”

 

กระทรวงพลังงาน เตรียมโชว์ศักยภาพพลังงานชีวภาพของไทย บนเวทีเวิลด์เอ็กซ์โป ในงาน “อัสตานา เอ็กซ์โป 2017”(Astana Expo 2017) ณ กรุงอัสตานา สาธารณรัฐคาซัคสถาน พร้อมเนรมิตอาคารศาลาไทย ภายใต้แนวคิด “Bioenergy for All” ดึงนานาชาติ พัฒนาพลังงานชีวภาพ เพื่อมนุษยชาติ

(18 ม.ค.60: กระทรวงพลังงาน) พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า “กระทรวงพลังงานได้รับเกียรติให้เป็นตัวแทนประเทศไทยในการเข้าร่วมงาน International Recognized Exhibition Expo 2017 Astana หรือ Astana Expo 2017 ณ กรุงอัสตานา สาธารณ รัฐคาซัคสถาน ระหว่างวันที่ 10 มิถุนายนถึง 10 กันยายน 2560 เพื่อแสดงศักยภาพด้านพลังงานประเทศไทยให้ทั่วโลกได้รับรู้”

“ประเทศไทยเรามีศักยภาพในด้านพลังงานชีวภาพอย่างมาก เพราะเราเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ทางด้านเกษตรกรรม การไปโชว์ศักยภาพในงานระดับโลกครั้งนี้ ทางกระทรวงพลังงานจึงได้นำข้อมูล ความรู้ ความเข้าใจด้านพลังงานชีวภาพของไทย รวมทั้งข้อมูลด้านการเกษตรที่เชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาพลังงาน ซึ่งประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากในการพัฒนาพลังงานชีวภาพ (Bioenergy) จากการน้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย มาเป็นแนวทางในการพัฒนาโครงการด้านพลังงาน และปัจจุบันกระทรวงพลังงานก็มีนโยบายในการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมด้านพลังงานใหม่ๆ การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับด้านพลังงาน เพื่อต่อยอดธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานของประเทศให้เติบโตและก้าวหน้า สอดรับการขับเคลื่อนแนวนโยบาย Energy 4.0”

สำหรับงาน Astana Expo 2017 จัดขึ้นภายใต้หัวข้อหลัก “พลังงานแห่งอนาคต (Future Energy)” มีประเทศเข้าร่วมงานกว่า100 ประเทศ และองค์กรระดับโลกกว่า 10 หน่วยงาน รวมมากกว่า110 พาวิลเลียน บนพื้นที่การจัดงานทั้งหมด 1,740,000 ตร.ม. (1,087.5ไร่) และในส่วนของพื้นที่จัดงานนิทรรศการ 250,000 ตร.ม. (156.25ไร่) ซึ่งประเทศไทยได้รับการจัดสรรพื้นที่จำนวน 934.05 ตารางเมตรถือเป็นการร่วมงานใหญ่ระดับโลกอีกครั้งของประเทศไทย เนื่องจากงานเวิลด์เอ็กซ์โปถือเป็น 1 ใน 3 งานใหญ่ของโลก เช่นเดียวกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค และฟุตบอลโลก โดยประเทศเจ้าภาพคาดว่า จะมีผู้ร่วมเข้าชมงานมากกว่า 5 ล้านคน

“การเข้าร่วมงาน Astana Expo 2017 ครั้งนี้ ถือเป็นการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ประเทศไทยเกี่ยวกับโยบายการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน การสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ของประเทศให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทย นอกจากนั้นยังเป็นประโยชน์กับประเทศไทย ทั้งในเรื่องของการวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานของไทย โดยเฉพาะเทคโนโลยีพลังงานชีวภาพ การท่องเที่ยว การส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ และยังกระชับความสัมพันธ์กับหลากหลายประเทศ โดยเฉพาะกับสาธารณรัฐคาซัคสถาน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว

ด้านนายธรรมยศ ศรีช่วย รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า “กระทรวงพลังงานได้สร้างสรรค์อาคารศาลาไทย (Thailand Pavilion) ภายในอาคารที่ประเทศเจ้าภาพจัดไว้ให้บนพื้นที่ 934.05 ตารางเมตร ประกอบด้วยส่วนแสดงนิทรรศการ ชั้น 1 ขนาด 734.05 ตารางเมตร และพื้นที่เชิงพาณิชย์ ชั้น 2 ขนาด 200 เมตรโดยในส่วนของอาคารนิทรรศการไทย ชั้น 1 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด“การพัฒนาด้านพลังงานชีวภาพเพื่อมนุษยชาติ (Bioenergy for All)” ที่ต้องการสื่อถึงพลังงานเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน เพื่อแสดงศักยภาพของประเทศไทยในด้านการพัฒนาพลังงานทดแทน และความก้าวหน้าในการพัฒนาพลังงานชีวภาพ (Bioenergy) จากการน้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดชที่ทรงเป็นพระบิดาแห่งพลังงานไทย และเป็นต้นแบบในเรื่องปรัชญา“ความพอเพียง”มาใช้เป็นแนวทางในการใช้ทรัพยากรในประเทศที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า โดยมุ่งหวังให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนในอนาคต โดยนำเสนอในรูปแบบ “EDUTAINMENT” หรือ การเรียนรู้ควบคู่ความสนุกประกอบ ด้วย 3 ห้องนิทรรศการหลัก ได้แก่

นิทรรศการห้องที่ 1: นำเสนอเรื่องราวและภาพของประเทศไทยโดยรวมผ่าน Live Exhibition หรือนิทรรศการสร้างประสบการณ์เสมือนจริง ภายใต้เนื้อหา Our Ways, Our Thai หรือ วิถีเรา วิถีไทย เพื่อนำเสนอเรื่องราววิถีของประเทศไทย ภาพรวมของประเทศให้ผู้เยี่ยมชมได้ทำความรู้จักประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ความเป็นอยู่ ลักษณะบ้านเมือง สิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ทรัพยากรธรรมชาติที่งดงาม รวมไปถึงแสดงศักยภาพด้านการเกษตร และการท่องเที่ยวที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ของประเทศ ควบคู่กับการพัฒนาด้านพลังงาน เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ได้คุ้มค่ามีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งการพัฒนาด้านพลังงานนี้เป็นอีกหนึ่งหัวใจหลักสำคัญในการดำรงชีวิต และผลักดันวิถีไทย ให้ยั่งยืน

นิทรรศการห้องที่ 2 : นำเสนอในรูปแบบของห้องฉายหนังภาพยนตร์ (Theater) แบบ 3D พร้อมด้วยหุ่นยนต์มาสคอต “พลัง” เป็นตัวเล่าเรื่องภายใต้เนื้อหา Farming the Future Energy หรือ ปลูกพลังงาน ปลูกอนาคต นำเสนอเรื่องรางผ่านการเล่าเรื่องแบบสนุกสนาน เกี่ยวกับพลังงานแห่งอนาคตที่ถูกพัฒนาจากทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ในประเทศไทยการน้อมนำแนวคิดของพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการพัฒนาเป็นโครงการด้านพลังงาน อาทิ มาตรการสนับสนุนการ

พัฒนาพลังงานชีวภาพ การพัฒนาพลังงานในชุมชนโครงการสถานีผลิตพลังงานสีเขียว (Distributed Green Generation) การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities Clean Energy) การพัฒนาโครงข่าย การใช้ก๊าซชีวภาพ (Biogas Network) เป็นต้น

นิทรรศการห้องที่ 3 : นำเสนอในรูปแบบนิทรรศการที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ หรือ Interactive Exhibition ภายใต้แนวคิด “Energy Creation Lab” สร้างพลังงาน สร้างพลังไทย ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับพลังงานชีวมวล และชีวภาพทั้งหมด 9 ชนิด ได้แก่ อ้อย ยูคาลิปตัส ยางพารา หญ้าโตเร็ว ข้าว ข้าวโพด มูลสัตว์ หรือของเสีย มันสำปะหลัง และปาล์ม รวมถึงเรื่องของการส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนา ด้านพลังงานทดแทน พลังงานชีวมวล พลังงานก๊าซชีวภาพ และพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biomass, Biogas, Biofuel) เพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทย และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

“นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ในการเข้าร่วมการ จัดงาน อาทิ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมพัฒนาชุมชน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) โดยกระทรวงพลังงาน มั่นใจว่าอาคารศาลาไทยในครั้งนี้ จะได้รับการตอบรับอย่างดี และคาดว่าจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมศาลาไทย คิดเป็น 10% จากจำนวนผู้เข้าชมทั้งหมดที่ทางประเทศเจ้าภาพคาดการณ์ โดยประมาณ 5 แสนคน ตลอดระยะการจัดงาน ตั้งเป้าว่าจะเป็น 1 ใน 10 พาวิลเลียนที่มีผู้สนใจเข้าชมมากที่สุด” รองปลัดกระทรวงพลังงานกล่าว

สรรหาตัวแทนคนไทย แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมคาซัคสถาน

นายธรรมยศ กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้สร้างการมีส่วนร่วมของเยาวชนไทยและคนไทย โดยได้สรรหา “ไทยแลนด์ พาวิลเลียน แอมบาสเดอร์” เพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยไปทำหน้าที่ ทูตวัฒนธรรม โดยเปิดรับสมัครบุคคลทั่วไป นิสิต นักศึกษา อายุ 18-30 ปี มีความรู้ความสามารถ ทางด้านภาษารัสเซีย หรือ คาซัค หรือ ภาษาอังกฤษ รวมทั้งมีใจรักและภูมิใจในการนำเสนอประเทศไทยผ่านการทำงานในบทบาทของเจ้าหน้าที่ส่วนนิทรรศการประจำอาคารศาลาไทย ในงาน Astana Expo 2017 ณ กรุงอัสตานา สาธารณรัฐคาซัคสถาน ถือเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทยกับคาซัคสถาน และนับเป็นประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่ รวมทั้งส่งเสริมเยาวชนไทยให้เกิดความตระหนักรู้คุณค่าการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อโลกอย่างยั่งยืน และวัฒนธรรมไทยที่เป็นสมบัติที่ล้ำค่าของประเทศ

ทั้งนี้การสรรหา “ไทยแลนด์ พาวิลเลียน แอมบาสเดอร์” เปิดรับสมัครตั้งแต่นี้ ไปจนถึงวันอังคารที่ 14กุมภาพันธ์ 2560ผู้ที่สนใจสามารถตรวจสอบคุณสมบัติและดาวน์โหลดใบสมัคร ได้ที่ http://www.thailandpavilion2017.com หรือ โทร 02-725-9333 ต่อ 439, 342

 

ปลัดกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมเปิดงานการประชุมคณะกรรมการพลังงาน (First Session of Committee on Energy) ครั้งที่ 1 และการเสวนาระดับสูงด้านพลังงาน ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ เอสแคป  

 

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2560 นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้รับเชิญไปกล่าวเปิดการประชุมคณะกรรมการพลังงาน ครั้งที่ 1 (First Session of Committee on Energy) และเข้าร่วมการประชุมเสวนาระดับสูงด้านพลังงาน ในหัวข้อ “โอกาสและความท้าทายของการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาคพลังงานในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก: ภูมิภาคจะสามารถก้าวไปได้ไกลและเร็วเพียงใด” ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ เอสแคป ในการประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการหารือแลกเปลี่ยนความรู้และวิสัยทัศน์ด้านแนวทางการดำเนินงานในภาคพลังงานที่สอดคล้องกับการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านพลังงานขององค์การสหประชาชาติ (เอสแคป) โดยมีผู้นำระดับรัฐมนตรีพลังงาน เจ้าหน้าที่อาวุโสจากองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ องค์การระหว่างประเทศ และผู้มีบทบาทในการกำหนดแนวทางนโยบายด้านพลังงานในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เข้าร่วมการประชุมกว่า 53 ประเทศ

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมประชุมสมัชชาทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ ครั้งที่ 7 ณ กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

เมื่อระหว่างวันที่ 14-15 มกราคม 2560 พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และคณะผู้บริหารกระทรวงพลังงาน ประกอบด้วย พลเอก สุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสมนึก บำรุงสาลี รองปลัดกระทรวงพลังงาน นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน พร้อมด้วย เรือโท โกเมศ กมลนาวิน เอกอัครราชทูตไทย ประจำสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์     ได้เข้าร่วมประชุมสมัชชาทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ ครั้งที่ 7 (The Seventh Session of the Assembly of the International Renewable Energy Agency: IRENA) ณ กรุงอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในการประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการหารือแลกเปลี่ยนความรู้และวิสัยทัศน์ ทางด้านการพัฒนาพลังงานทดแทน โดยมีผู้นำระดับรัฐมนตรีพลังงาน และเจ้าหน้าที่อาวุโส ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และองค์การระหว่างประเทศเข้าร่วมประชุมกว่า 150 ประเทศ โดยมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 2,000 คน

ที่ประชุมได้มุ่งเน้นให้มีการพัฒนาพลังงานทดแทนให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ที่มุ่งส่งเสริมการขจัดความยากจน และการแก้ไขปัญหาภาวะเรือนกระจก การลดคาร์บอนไดออกไซด์และรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งอุปสรรคของการพัฒนาพลังงานทดแทน ที่ประชุมทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้พูดถึงมากที่สุดคือ เรื่องของราคาต้นทุนการผลิต การลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรมด้านไฟฟ้า Market Design และในช่วงเปลี่ยนผ่าน พลังงานฟอสซิลยังคงต้อง Back Up อยู่ เพื่อที่จะทำให้พลังงานทดแทนมีความเสถียร และมาแทนพลังงานแบบดั้งเดิมได้อย่างแท้จริง

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้กล่าวในที่ประชุมว่าประเทศไทยมุ่งเน้นในการส่งเสริมความมั่นคงทางด้านพลังงานและการพึ่งพาตนเองมากขึ้น โดยพยายามพัฒนาการใช้พลังงานทดแทน ทั้งนี้ได้กำหนดให้มีสัดส่วนการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายให้ได้ที่ร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2036 โดยกำหนดให้มีสัดส่วนการใช้พลังงานไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 20 ภายในปี ค.ศ. 2036 และในปัจจุบันประเทศไทยได้ส่งเสริมพลังงานทดแทนในภาคไฟฟ้ามากขึ้นเพื่อชดเชยในช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้ามาก (Peak demand) โดยได้ส่งเสริมในรูปแบบ RE hybrid และมีระบบที่ Firm มากขึ้น และมีการบริหารจัดการที่ยืดหยุ่นได้ ส่งเสริมให้พลังงานทดแทนจ่ายเข้าไปในระบบเชื่อมไฟฟ้า (power grid) และส่งเสริมด้านการพัฒนา Smart Grid และ energy storage และการพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานใหม่ๆ นอกจากนี้ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยมีการมุ่งส่งเสริมพลังงานทดแทนที่ได้จากเชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น ชีวมวล ชีวแก๊ส และน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและชุมชนในการเพิ่มรายได้และสร้างงานในชุมชน เพื่อให้ประชาชนกินดีอยู่ดี ซึ่งจะสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของยูเอ็น นอกจากนี้ ยังได้แจ้งว่าไทยได้เป็นสมาชิก IRENA โดยสมบูรณ์แล้ว เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2559 โดยปัจจุบัน กระทรวงพลังงานของไทยและ IRENA ได้ร่วมมือในโครงการประเมินศักยภาพพลังงานทดแทนของไทย (Renewables Readiness Assessment: RRA) เพื่อเป็นแผนที่นำทาง (Remaps) ในการพัฒนาพลังงานทดแทนของไทย และไทยจะร่วมมือกับ IRENA ในการพัฒนากิจกรรมด้านพลังงานทดแทนให้มากขึ้นต่อไป

กระทรวงพลังงาน จัดนิทรรศการ “น้อมใจรักและภักดี” เพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดงานนิทรรศการ “น้อมใจรักและภักดี” พร้อมผู้บริหารกระทรวงพลังงาน เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ บริเวณหน้าอาคารบี ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์

พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานจัดนิทรรศการ “น้อมใจรักและภักดี” ขึ้นเพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยตลอดระยะเวลา 70 ปี พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่พรั่งพร้อมด้วยทศพิธราชธรรม ทรงตรากตรำพระวรกาย เพื่อประชาชนคนไทย ทรงพระราชทานความช่วยเหลือบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ราษฎรด้วยพระอัจฉริยภาพเปี่ยมด้วยพระปรีชาในทุกๆ ด้าน รวมถึงด้านพลังงาน ทรงค้นคว้า วิจัย และพัฒนาโครงการพระราชดำริต่างๆ ผสมผสานหลักวิชาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของประชาชน จนสัมฤทธิ์ผลในทางปฏิบัติ ทั้งในด้านที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงาน อาทิ โครงการไบโอดีเซล โครงการแก๊สโซฮอล์ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ นำมาซึ่งการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทย

สำหรับกิจกรรม “น้อมใจรักและภักดี” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-18 มกราคม 2560 ณ อาคารซี ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ ภายในงานประกอบด้วยนิทรรศการส่วนต่างๆ อาทิ นิทรรศการ ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์ ซึ่งเป็นการประมวลภาพเหตุการณ์ในช่วงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 เป็นต้นมา นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการพระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย การให้ความรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน ในรูปแบบ Interactive การจัดแสดงภาพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นต้น


งานแถลงผลการดำเนินงานของกระทรวงพลังงานในปี 2559 และการขับเคลื่อนนโยบาย Energy 4.0 ประจำปี 2560

กระทรวงพลังงาน แถลงผลการดำเนินงานในรอบปี 2559 ย้ำ มุ่งเน้นการบริหารเพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เป็นหลัก ยึดกรอบประโยชน์ประเทศชาติ ทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคม และประชาชน ชี้ ปี 2560 เดินหน้าขับเคลื่อน Energy 4.0 ควบคู่โครงการประชารัฐ สอดรับนโยบายรัฐ Thailand 4.0
พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของกระทรวงพลังงานในรอบปี 2559 ว่า ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานมุ่งเน้นการทำงานเพื่อเป้าหมายในการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ให้กับภาคพลังงานของประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และประชาชน อย่างรอบด้าน สำหรับภาพรวมผลงานในรอบปี 2559 ของกระทรวงพลังงานแบ่งตามผลงานทั้งด้านความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน รายละเอียด ดังนี้
ผลงานด้านความมั่นคง ได้ดำเนินการการสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้า และการพัฒนาความมั่นคง ด้านปิโตรเลียม โดยในส่วนการสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้า ได้มีการบูรณาการตั้งแต่ระบบผลิตด้วยการเร่งรัด ผลักดัน การพัฒนาโรงไฟฟ้าให้เป็นไปตามแผน PDP 2015 พร้อมทั้งพัฒนาระบบสายส่งให้สามารถรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นและรองรับพลังงานทดแทนได้ รวมถึงมีการสร้างความร่วมมือด้านพลังงานกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ดำเนินขยายกรอบการรับซื้อไฟฟ้าจาก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จากเดิม 7,000 เมกะวัตต์เพิ่มเป็น 9,000 เมกะวัตต์ ขณะที่การพัฒนาความมั่นคงด้านปิโตรเลียม ได้ดำเนินการต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียม จำนวน 2 แปลง ได้แก่ แปลง B8/32 ในพื้นที่อ่าวไทย และแปลง SW1 ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ นอกจากนี้ ยังได้มีการพัฒนาระบบขนส่งน้ำมันทางท่อ สายเหนือ เส้นทาง อยุธยา-กำแพงเพชร-ลำปาง และสายอีสาน เส้นทาง สระบุรี-ขอนแก่น
ผลงานด้านความมั่งคั่ง ได้ดำเนินมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชน โดยได้มีการปรับลดค่า Ft ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม 2558 – ธันวาคม 2559 ลงจำนวน 52.68 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ประเทศประหยัดค่าไฟฟ้าได้จำนวน 92,103 ล้านบาท/ปี สนับสนุนให้เกิดการแข่งขันในกิจการ ก๊าซเสรี อาทิ เปิดให้มีการนำเข้า LPG เสรี โดยแบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านก่อนเปิดเสรีทั้งระบบ และระยะที่ 2 เปิดเสรีทั้งระบบ ซึ่งเบื้องต้นให้ดำเนินการในระยะที่ 1 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 เป็นต้นไป พร้อมทั้งมีการผลักดันให้เกิดผู้เล่นรายใหม่ในกิจการก๊าซธรรมชาติ โดยอนุมัติให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยดำเนินโครงการ Floating Storage and Regasification Unit (FSRU) เพื่อรองรับการนำเข้า LNG ตอนบน และผลักดัน พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อปรับปรุงโครงสร้างในการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีความชัดเจนและมีกฎหมายรองรับ ล่าสุด พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
ผลงานด้านการสร้างความยั่งยืน ได้มีการส่งเสริมพลังงานทดแทน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการผลักดันโครงการประชารัฐ โดยการส่งเสริมพลังงานทดแทนมีการดำเนินการ อาทิ การปรับลดอัตราการ รับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบ Feed- in Tariff ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน การเปิดโครงการโซลาร์เสรี จำนวน 100 เมกะวัตต์ และส่งเสริมให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าใช้เองด้วยการติดตั้ง Solar rooftop บนหลังคาบ้านเรือนและอาคารธุรกิจรวมถึงการรับซื้อไฟฟ้าจากชีวมวลในพื้นที่ภาคใต้ และการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม ส่วนการดำเนินมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการอนุรักษ์พลังงาน ประกอบด้วย การจัดการพลังงานในโรงงานและอาคารควบคุม จำนวน 8,600 ราย คิดเป็นผลการประหยัดพลังงานอยู่ที่ 320 ktoe การผลักดันการบังคับใช้กฎหมายร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อดำเนินการมาตรการ Building Energy Code โดยเริ่มบังคับอาคารตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตร ภายในปี 2560 การส่งเสริมการติดฉลากอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงและวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 26 ล้านใบ คิดเป็นผลประหยัดอยู่ที่ 207.9 ktoe นอกจากนี้ยังมีมาตรการสนับสนุนทางการเงิน อาทิ โครงการเงินทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ปล่อยกู้แล้ว 1,037 ล้านบาท คิดเป็นผลประหยัด 6.84 ktoe ต่อปี ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน จำนวน 210 ล้านบาทต่อปี สำหรับการผลักดันโครงการประชารัฐ มุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้เกษตรกร โดยได้มีการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงพลังงานทดแทน เช่น การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้วยระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ยกระดับคุณภาพชีวิตผ่านโครงการไฟฟ้าพลังน้ำชุมชน การนำของเหลือใช้มาผลิตพลังงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพื่อลดรายจ่ายชุมชน และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรจากพืชพลังงาน สิ่งเหลือใช้ เพื่อผลิตก๊าซชีวภาพและชีวมวล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวต่อว่า สำหรับภาพรวมการขับเคลื่อนนโยบายพลังงานปี 2560 นั้น กระทรวงพลังงานจะขับเคลื่อนภาคพลังงานของประเทศตามแนวนโยบาย Energy 4.0 ซึ่งมีเป้าหมายคือ การสร้างรายได้ให้กับประชาชนและประเทศ เพื่อให้ประเทศชาติในภาพรวมหลุดพ้นจากการเป็นประเทศรายได้ระดับปานกลาง สอดรับกับนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล ให้เป็นรูปธรรมตามแผนที่วางไว้
ส่วนแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย Energy 4.0 ของกระทรวงพลังงานในปี 2560 นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนนโยบาย Energy 4.0 มีหลักการ ที่สำคัญ คือ การยกระดับประสิทธิภาพของระบบพลังงานในปัจจุบัน และการนำนวัตกรรมที่เหมาะสม มาใช้ในการพัฒนา ส่วนองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย กระทรวงพลังงานได้คำนึงให้ครอบคลุมระบบพลังงานทั้งระบบ (Energy Supply Chain) ตั้งแต่การผลิต จัดหา แปรรูป ขนส่งไปจนถึงการใช้ โดยได้แบ่งตามประเภทพลังงาน ซึ่งจะครอบคลุมถึงแผนพลังงานระยะยาว ได้แก่ แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ควบคู่ไปกับแนวนโยบายประชารัฐ

โดยในด้านเชื้อเพลิงภาคขนส่ง มาตรการสำคัญที่จะขับเคลื่อนในปี 2560-2561 อาทิ การส่งเสริมการผลิตและการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งจะดำเนินการศึกษาต้นทุนร่วมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การกำหนดแนวทางการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพอย่างยั่งยืน และการเพิ่มสัดส่วนการใช้เอทานอล และไบโอดีเซลด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีให้ดีขึ้น การเพิ่มศักยภาพการขนส่งน้ำมันทางท่อ โดยในเดือนเมษายน 2560 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในเส้นทางสายเหนือ คือ อยุธยา –กำแพงเพชร-พิจิตร และกำแพงเพชร-ลำปาง ส่วนในปี 2561 จะเริ่มก่อสร้างในสายอีสาน เส้นทาง สระบุรี-ขอนแก่น นอกจากนี้ยังจะดำเนินการสรุปแนวทางการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ภายในเดือนสิงหาคม 2560
ด้านไฟฟ้า มาตรการสำคัญที่จะขับเคลื่อนในปี 2560-2561 อาทิ การจัดทำแผนการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนรายภาค การสร้างตลาดซื้อขายไฟให้โรงไฟฟ้าเก่าที่มีศักยภาพ การบริหารจัดการให้ผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าต้นทุนต่ำให้มากที่สุด การประกวด Smart City ต้นแบบ และการกำหนดรูปแบบทางธุรกิจไมโครกริด และเริ่มโครงการไมโครกริดที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ด้านเชื้อเพลิงผลิตความร้อน มาตรการสำคัญที่จะขับเคลื่อนในปี 2560-2561 อาทิ การเปิดเสรี ก๊าซธรรมชาติ และการขับเคลื่อน Third Party Access Code การสร้างความต่อเนื่องการผลิต ก๊าซธรรมชาติในประเทศ และการขยาย LNG Terminal และท่อก๊าซธรรมชาติ
สำหรับโครงการประชารัฐ มาตรการสำคัญที่จะขับเคลื่อนในปี 2560-2561 อาทิ การส่งเสริมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนลดการใช้พลังงานในการผลิต 326 แห่ง ส่งเสริมครัวเรือนต้นแบบ 15,200 ครัวเรือนในการลดใช้พลังงานลงให้ได้ 10% และส่งเสริมชุมชนผลิตชีวมวลป้อนภาคอุตสาหกรรม
ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวต่อว่า การขับเคลื่อน Energy 4.0 มีเป้าหมายเพื่อยกระดับการบริหารจัดการระบบพลังงาน ส่งผลให้การผลิต การจัดหาพลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใน ปี 2560-2561 ได้ตั้งเป้าการลดใช้พลังงานในภาคต่างๆ อาทิ ภาคการผลิตไฟฟ้าลดลง 24 ล้านตัน/ปี ภาคพลังงานในครัวเรือนลดลง 4 ล้านตัน/ปี ภาคพลังงานในอาคารลดลง 1 ล้านตัน/ปี ภาคพลังงานพลังงานอุตสาหกรรมลดลง 41 ล้านตัน/ปี และภาคขนส่งลดลง 41 ล้านตัน/ปี เป็นต้น

กระทรวงพลังงาน จับมือ ปตท. “รวมพลัง ช่วยเหลือผู้ประสบภัยภาคใต้”

วันนี้ (10 มกราคม 2560) พลเอก อนันตพรกาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย นายเทวินทร์ วงศ์วาณิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมบรรจุถุงยังชีพร่วมกับอาสาสมัครกลุ่มพลังไทยใจอาสา พร้อมทั้ง เป็นประธานพิธีปล่อยรถ “รวมพลัง ช่วยผู้ประสบภัยภาคใต้” ซึ่งจะบรรทุกถุงยังชีพ จำนวน 2,000 ถุง ไปช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ณ บริเวณพื้นที่ลานเข็มทิศ อาคาร ปตท. สำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดี

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน ได้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้อย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือพร้อมกำชับบุคลากรในพื้นที่เข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยอย่างทันทีและต่อเนื่อ

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีทำบุญตักบาตรเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ 2560

วันนี้ (6 ม.ค.60) พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน นำผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน ร่วมทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน 58 รูป เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่พุทธศักราช 2560 ณ บริเวณลานพระพรหม ศูนย์เอนเนอร์ยีคอมเพล็กซ์

       

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่

(4 ม.ค.2560) พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ เพื่อเป็นสิริมงคลรับศักราชใหม่ พร้อมคณะรัฐมนตรี โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ก่อนการเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งแรกของปี 2560 ณ ทำเนียบรัฐบาล

พิธีมอบรางวัล Thailand Energy Awards ประจำปี 2559

วันนี้ (6 ธ.ค.59) พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิธีมอบรางวัล Thailand Energy Awards ประจำปี 2559 โดย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ซึ่งจัดขึ้น ณ ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

โดยในปีนี้มีผลงานที่ชนะการประกวดจำนวนทั้งสิ้น 64 โครงการ จากจำนวนผู้สนใจส่งเข้าประกวดรวมจำนวนทั้งสิ้น 260 โครงการ จากการประกวด 5 ด้าน ได้แก่ ด้านพลังงานทดแทน ด้านอนุรักษพลังงาน ด้านบุคลากร ด้านพลังงานสร้างสรรค์ และด้านผู้ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน คิดเป็นมูลค่าการประหยัดพลังงานได้มากกว่า 2,200 ล้านบาทต่อปี สามารถช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้กับโลกได้มากถึง 280,000 ตันต่อปี

พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ” Thailand Energy Awards นับเป็นรางวัลด้านพลังงานไทยระดับสากล ซึ่งเป็นโครงการของกระทรวงพลังงานที่มีความก้าวหน้าและประสบความสำเร็จอย่างมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับปรุงแผนอนุรักษ์พลังงาน และแผนพัฒนาพลังงานและพลังงานทางเลือ พ.ศ.2558-2579 ซึ่งอยู่ในแผนบูรณาการกระทรวงพลังงานระยะยาว หรือ Thailand Integtated Energy Blueprint ( TIEB) การจัดประกวด Thailand Energy Awards ถือเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้การดำเนินนโยบายด้านพลังงานในระยะยาวมีทิศทางที่ขัดเจนขึ้น ทั้งยังมีส่วนช่วยในการคิดค้นวิธีการประหยัดพลังงาน เกิดเทคโนโลยี และนวัตกรรมการประหยัดพลังงานที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถพิสูจน์ความสำเร็จได้จากการที่ประเทศไทยครองแชมป์ความเป็นผู้นำด้านพลังงานของภูมิภาคอาเซียนติดต่อกันเป็นปีที่ 12 แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าและศักยภาพด้านการอนุรักษ์พลังงาน ตอกย้ำภารกิจการดำเนินนโยบายด้านพลังงานไทยสู่ความมั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน ในทุกมิติ สอดรับกับถ้อยแถลงของรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนครั้งที่ 34 ที่จะขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนสู่ภูมิภาคพลังงานสะอาด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “นอกจากนี้ ยังได้คัดเลือกผู้แทนที่มีผลงานโดดเด่น ส่งเข้าประกวดในระดับอาเซียนจำนวน 24 ผลงาน และสามารถคว้ารางวัลมาครองได้ถึง 16 รางวัล จากเวที ASEAN Energy Awards2016 ทำให้ไทยยังครองแชมป์ที่ 1 ด้านพลังงานในอาเซียน”

กระทรวงพลังงานจัดพิธีทำบุญตักบาตร พระสงฆ์ 89 รูป

วันนี้ (1 ธ.ค. 59) ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากรสังกัดกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมพิธีทำบุญตักบาตรเนื่องในวันพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลปัญญาสมวาร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระสงฆ์จำนวน 89 รูป บริเวณลานพระพรหม ศูนย์เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีเปิด Bangchak Greenovative Experience

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559 พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีเปิด Bangchak  Greenovative Experience พร้อมด้วยนายวินิจฉัย  แจ่มแจ้ง  ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์  นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายกิโยม เทียลิง อุปทูตประจำสถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย นายโทไบอัส วาสต์มุต กรรมการผู้จัดการ SPAR International นายพิชัย ชุณหวชิร ประธานกรรมการ และนายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ณ สถานีบริการน้ำมันบางจาก ถนนราชพฤกษ์

ภายหลังพิธีเปิด นายชัยวัฒน์เปิดเผยว่า บริษัท บางจากฯ (มหาชน)   มีวิสัยทัศน์การเป็นบริษัทนวัตกรรมสีเขียวชั้นนำในเอเชีย จึงพัฒนาการดำเนินงานทุกด้านเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าว ซึ่งจะรองรับวิถีชีวิตยุคใหม่   ที่ทุกคนสามารถใช้ชีวิตอย่างมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน    ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้พัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองการใช้งานและดีต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการพัฒนาพลังงานสะอาด และพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น ล่าสุดนี้ บริษัทฯ ได้สร้างสรรค์ประสบการณ์และนวัตกรรมสีเขียวรูปโฉมใหม่ Bangchak  Greenovative Experience เพื่อรองรับวิถีชีวิตคนไทยยุคใหม่  ด้วยกระบวนการ 4 R คือ Renewable Recycle Reuse และ Reduce ได้แก่ การติดตั้ง Solar Roof Top เพื่อผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ สถานี EV Charger สำหรับรถยนต์ระบบไฟฟ้า  เครื่องเก็บขวดพลาสติกอัตโนมัติเพื่อรีไซเคิลเป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์ ระบบการนำน้ำฝนและน้ำใช้แล้วมาใช้รดน้ำต้นไม้ ร้านกาแฟเพื่อสุขภาพที่ใช้แก้วกาแฟย่อยสลายได้ และใช้เมล็ดกาแฟออแกนิกส์ที่ปลูกด้วยวิธีการรักษาป่าและไม่ใช้สารเคมี การใช้วัสดุอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน  และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวร่มรื่น   เป็นต้น ทั้งหมดนี้ นอกจากจะสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนไปกับสิ่งแวดล้อมและสังคมของบริษัทฯ ยังสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ในการพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

นายชัยวัฒน์กล่าวต่อไปว่า ในวันนี้ยังเป็นการเปิดตัว SPAR ซูเปอร์มาร์เกตจากเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งรายใหญ่ระดับนานาชาติ มีสาขากว่า 12,100 แห่ง ใน 43 ประเทศ และไทยเป็นประเทศที่ 44 โดยให้สิทธิ์กับบางจากฯ ผู้เดียวในประเทศไทย ภายใต้แนวคิด  SPAR ‘FRESH & EASY FOOD MARKET’ ที่ให้บริการลูกค้าด้วยจุดเด่นที่แตกต่าง คือ ความเป็นเลิศด้านอาหารสด ใส่ใจคุณภาพและบริการ  และมีมุมจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากชุมชนตามนโยบายของบางจากฯ  ทั้งยังจะพัฒนาผลิตภัณฑ์จากชุมชนในแบรนด์ SPAR เพื่อจำหน่ายในไทยและมีแผนส่งออกไปต่างประเทศด้วย   ทั้งนี้จะใช้เงินลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท  ขยายสาขา SPAR  ทุกรูปแบบปีละ 50 – 80 สาขา โดยตั้งเป้าเปิด 300 สาขาภายในปี 2563

กระทรวงพลังงาน ประกาศผลรางวัลต้นกล้านักประดิษฐ์ระดับประเทศ

วันนี้ (25 พฤศจิกายน 2559) พลเอก ณัฐติพล กนกโชติ ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานมอบรางวัลและโล่เกียรติคุณ ผู้ชนะการประกวดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ด้านพลังงานระดับประเทศ โครงการต้นกล้าพลังงาน รุ่นที่ 10 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และอาชีวศึกษา ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร จังหวัดปทุมธานี พลเอก ณัฐติพล กนกโชติ ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประกวดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ด้านพลังงานระดับประเทศ เป็นหนึ่งในกิจกรรมของโครงการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้และขยายเครือข่ายการสื่อสารด้านพลังงานในกลุ่มเยาวชนและครู ปีที่ 6 (ต้นกล้าพลังงาน รุ่นที่ 10) ซึ่งครบรอบ“1 ทศวรรษ ต้นกล้าพลังงาน” สำหรับในปีนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อการประกวด “นวัตกรรมพลังงานเพื่อโลกสีเขียว 2559 (Innovation for Green Globe 2016)” และให้เยาวชนได้แสดงผลงานต่อคณะกรรมการตัดสินการประกวด ซึ่งเป็นผู้บริหารจากกระทรวงพลังงาน สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สถาบันวิจัยและพัฒนาอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน และคณะอาจารย์จาก 5 มหาวิทยาลัยของรัฐ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในระหว่างวันที่ 20-24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยมีทีมเยาวชนที่ชนะการประกวดจากระดับภาคทั้ง 5 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคใต้ เข้าสู่รอบชิงแชมป์ระดับประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 60 ทีม แบ่งเป็นระดับ มัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 20 ทีม มัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 20 ทีม และอาชีวศึกษา จำนวน 20 ทีม ในรอบตัดสินมีทีมที่ชนะการประกวดและได้รับรางวัลตามลำดับ ดังนี้ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงานเชื้อเพลิงจากซังข้าวโพดหลังจากการกำจัดคราบน้ำมันจากน้ำทิ้ง โรงเรียนหนองฉางวิทยา จังหวัดอุทัยธานี รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ ผลงานอุปกรณ์ช่วยนึ่งข้าวเหนียวสำหรับมวยนึ่งข้าว โรงเรียนปิยะมหาราชาลัย จังหวัดนครพนม รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ ผลงานกล่องลดอุณหภูมิแบบประหยัดพลังงาน โรงเรียนสงวนหญิง จังหวัดสุพรรณบุรี รางวัลรองชนะเลิศอันดับสาม ได้แก่ ผลงานกล่องมหัศจรรย์พลังงานคลื่นสู่อนาคต โรงเรียนดาราสมุทรภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงานเตาเผาข้าวหลามประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง โรงเรียนร่มเกล้า กาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ ผลงานการศึกษาประสิทธิภาพถ่านอัดแท่งจากธูปฤาษี โรงเรียนสารคามพิทยาคม จังหวัดมหาสารคาม รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ ผลงาน Ethanol จาก Bacteria celluiose ที่ย่อยด้วยแบคทีเรียจากมูลวัว โรงเรียนสุราษฏร์พิทยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี รางวัลรองชนะเลิศอันดับสาม ได้แก่ ผลงานชุดอุปกรณ์บำบัดน้ำทิ้งจากการย้อมผ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ โรงเรียนพนมสารคาม พนมอดุลวิทยา จากจังหวัดฉะเชิงเทรา ระดับอาชีวศึกษา รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงานทุ่นเตือนภัยร่องน้ำพลังงานคลื่นทะเล วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ ผลงานเครื่องฆ่าเชื้อโรคบนช้อนและตะเกียบ วิทยาลัยอาชีวศึกษาพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ ผลงานเครื่องควบคุมอุณหภูมิและความชื้นในโรงเห็ดระบบปิด วิทยาลัยเทคนิคสระบุรี จังหวัดสระบุรี รางวัลรองชนะเลิศอันดับสาม ได้แก่ ผลงานเครื่องกำเหนิดไฟฟ้าพลังงานร่วม (Combined Power Generator) วิทยาลัยเทคนิคร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด พลเอก ณัฐติพล กนกโชติ กล่าวต่อว่า ผู้ที่ชนะการประกวดในระดับประเทศทั้ง 3 ระดับ จะได้รับเงินรางวัลสนับสนุนโครงงานพร้อมโล่เกียรติคุณ ประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศ ได้รับทุนพัฒนาโครงงาน จำนวน 40,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้รับทุนพัฒนาโครงงาน จำนวน 30,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้รับทุนพัฒนาโครงงาน จำนวน 20,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศอันดับสาม ได้รับทุนพัฒนาโครงงาน จำนวน 15,000 บาท นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่ชนะการประกวดทั้งในระดับภาคและระดับประเทศที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมปลายจะได้สิทธิ์เข้ารับการคัดเลือกศึกษาต่อระดับปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์ จาก 5 มหาวิทยาลัยของรัฐ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อีกด้วย “การประกวดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ด้านพลังงาน และกิจกรรมค่ายต้นกล้าพลังงาน เป็นโครงการที่ กระทรวงพลังงานเปิดเวทีให้เยาวชนได้คิดค้น วิจัย และทดลองนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ด้านพลังงานเพื่อโลกสีเขียว ซึ่งผลงานของเยาวชนที่ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมา เชื่อว่าสามารถนำไปต่อยอดและพัฒนาสู่การใช้งานในชีวิตประจำวันและ เชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งโครงการนี้ได้จัดขึ้นมานับเป็นเวลา 1 ทศวรรษแล้ว และกระทรวงพลังงานจะยังคงสานต่อโครงการเพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงความสามารถและร่วมเป็นกำลังสำคัญที่จะร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาภาคพลังงานของประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยังยืน ในอนาคตต่อไป”ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว ทั้งนี้ ผลงานที่ชนะการประกวดระดับประเทศในครั้งนี้ จะนำมาจัดแสดงให้ชมในนิทรรศการ “1 ทศวรรษ ต้นกล้าพลังงาน” พร้อมเปิดให้ นักเรียน นักศึกษา คณะครู อาจารย์ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ สามารถเข้าร่วมชมได้ในวันที่ 26-27 พฤศจิกายน ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิริธร จังหวัดปทุมธานี นอกจากนี้สามารถติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวโครงการต้นกล้าพลังงานได้ที่ http://goo.gl/Zx8Uun

ผู้แทนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมแสดงความยินดีและร่วมเปิดงานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต่อท่านเอกอัครราชทูตรัฐสุลต่านโอมานประจำประเทศไทย

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2559 เวลา 18.30 น. พลเอก ณัฐติพล กนกโชติ เป็นผู้แทนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมแสดงความยินดีและร่วมเปิดงานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์) ต่อท่านเอกอัครราชทูตรัฐสุลต่านโอมานประจำประเทศไทย นายอับดุลเลาะห์ เศาะลาฮ์ อะห์มัด อัล-ไมมานีย์ (H.E. Mr. Abdullah Saleh Ahmed Al-Maimani) ในโอกาสเฉลิมฉลองงานวันชาติของรัฐสุลต่านโอมาน ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมอินเตอร์คอนติเนลทัล กรุงเทพฯ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยกับโอมานให้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2559 ความสัมพันธ์ไทยและโอมานได้ครบรอบ 36 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน

อนึ่ง ความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างไทยกับโอมานนั้น ที่ผ่านมาไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากโอมานเป็นอันดับ 4 และถือว่าโอมานเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางปิโตรเลียมสูง โดยปัจจุบัน ปตท.สผ. ได้มีการลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในโครงการโอมาน 44 ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และคอนเดนเสท นอกจากนี้ ปตท.สผ. ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกับ Oman Oil Company Exploration and Production LLC (OOCEP) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางธุรกิจและโอกาสในการลงทุนในแหล่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ทั้งสองบริษัทมีความสนใจต่อไป

 

กระทรวงพลังงาน จัดกิจกรรม “รวมพลังแห่งความภักดี”

วันนี้ (22 พ.ย.59) เวลา 7.45 น. กระทรวงพลังงาน จัดกิจกรรม “รวมพลังแห่งความภักดี” ร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี และร่วมแปรอักษรพระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย โดยมีนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน นำกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยมีผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงพลังงานเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เพื่อน้อมถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ 89 พรรษา 5 ธันวาคม 2559 แสดงความรัก สามัคคี และเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดี ตามพระราชปณิธาน โดยพร้อมเพรียงกัน ณ บริเวณหน้าอาคารบี ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์

 

 

 

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานมอบฉลากแบบอาคารอนุรักษ์พลังงาน 2559

วันนี้ (21พ.ย.59) พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานมอบฉลากแบบอาคารอนุรักษ์พลังงาน 2559 BEC Awards 2016 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้จัดพิธีนี้ขึ้น เพื่อมอบ “ฉลากรับรองมาตรฐานการออกแบบอาคารที่มีประสิทธิภาพพลังงานสำหรับอาคารใหม่” แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีผ่านเกณฑ์มาตรฐาน

สำหรับ ฉลากรับรองมาตรฐานอาคารฯ ดังกล่าว พพ. ได้พิจารณาจากแบบอาคารภาครัฐและเอกชนที่ส่งแบบอาคารมาตรฐานมาตรวจประเมิณ ตั้งแต่ปี 2552-2558 ซึ่งผลการตัดสินจาก 115 อาคารที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน แบ่งเป็นจากหน่วยงานภาครัฐ 76 แห่ง (105อาคาร) และภาคเอกชน 8 แห่ง (10อาคาร) โดยมีผู้ได้รับรางวัลฉลากแบบอาคารระดับ ดี 30 หน่วยงาน ระดับดีมาก 24 หน่วยงาน และระดับดีเด่น 9 หน่วยงาน

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดี พพ. ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า “การติดฉลากรับรองมาตรฐานการออกแบบเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ในปี 2559 เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมและกระตุ้นให้ภาครัฐ เอกชน เห็นความสำคัญและดำเนินการออกแบบอาคารให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานการออกแบบอาคาร BEC หรือ Building Energy Code โดยการบังคับใช้เกณฑ์ดังกล่าว จะสามารถเสนอคณะกรรมการควบคุมอาคารได้ภายในเดือน พ.ย. 2559 นี้ ซึ้งเบื้องต้นจะกำหนดให้อาคารที่จะขออนุญาติสร้างใหม่หรือดัดแปลงอาคารเพิ่มเติมที่มีขนาดตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป”



ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวเปิดงานและแสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง นโยบายรัฐกับพลังงาน 4.0

 

ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้ให้เกียรติกล่าวเปิดงานและแสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง นโยบายรัฐกับพลังงาน 4.0 จัดโดย IEEE Power & Energy Society Thailand ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 ณ ห้องวิภาวดี บอลรูม โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพฯ

กระทรวงพลังงาน หนุนงบกว่า 20 ล้านบาท สานพลังประชารัฐ ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน ส่งเสริมผลิตพลังงานทดแทน ลดรายจ่าย สร้างรายได้ครัวเรือน

กระทรวงพลังงาน เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการประชารัฐตามนโยบายรัฐบาล ส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทนในระดับชุมชน 6 ประเภท ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ ชีวมวล น้ำ ลม ก๊าซชีวภาพ และขยะ ในระดับชุมชนทั่วประเทศ จำนวน 26 โครงการ ซึ่งชุมชนต้องร่วมลงทุนบางส่วน ภายใต้งบประมาณสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กว่า 20 ล้านบาท สอดรับเป้าหมายแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2558-2579

นายธรรมยศ ศรีช่วย รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีนโยบายในการเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศโดยใช้ยุทธศาสตร์ประชารัฐ ซึ่งจะเป็นการรวมพลังของภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และขับเคลื่อน การพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น เพื่อให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน ในส่วนของ กระทรวงพลังงาน ได้ดำเนินโครงการต่างๆ ตามนโยบายประชารัฐ ด้วยการส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทน ในระดับชุมชนภายใต้งบประมาณสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสำหรับพัฒนาพื้นที่ต้นแบบด้านพลังงานทดแทน โดยให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมดำเนินการ โดยเป็นเจ้าของโครงการพลังงานทดแทนที่มุ่งเน้นการนำทรัพยากรและสิ่งเหลือใช้ในท้องถิ่นมาแปลงเป็นพลังงาน เพื่อลดรายจ่าย สร้างรายได้ให้กับชุมชน และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โดยโครงการดังกล่าว กระทรวงพลังงานให้การสนับสนุนงบประมาณ 30-70% ส่วนที่เหลือชุมชนจะออกงบประมาณเอง ปัจจุบันมีชุมชนจากทั่วประเทศเข้าร่วม จำนวน 26 โครงการ ดำเนินการแล้วเสร็จทุกโครงการประกอบด้วย 6 ประเภทพลังงานทดแทน รวมกำลังการผลิต 931 กิโลวัตต์ ได้แก่
ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 7 โครงการ วงเงินสนับสนุน จำนวนรวม 3.24 ล้านบาท กำลังการผลิตเทียบเท่ารวม 73 กิโลวัตต์ อาทิ โครงการพัฒนาโรงอบเยื่อไผ่ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ โดย มูลนิธิพัฒนาชุมชนผาปัง จ.ลำปาง กำลังการผลิตเทียบเท่า 16 กิโลวัตต์ มูลค่าโครงการ 774,000 บาท กระทรวงพลังงานสนับสนุน 70% เป็นเงิน 541,800 บาท และโครงการแปรรูปมะม่วงอบแห้งโดยโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ โดย องค์การบริหารส่วนตำบลอบทม จ.อ่างทอง กำลังการผลิตเทียบเท่า 5 กิโลวัตต์ มูลค่าโครงการ 600,300 บาท กระทรวงพลังงานสนับสนุนงบประมาณ จำนวน 420,210 บาท คิดเป็น 70% เป็นต้น
ประเภทพลังงานชีวมวล จำนวน 3 โครงการ วงเงินสนับสนุนรวม 4.75 แสนบาท กำลังการผลิตเทียบเท่ารวม 362 กิโลวัตต์ อาทิ โครงการเปลี่ยนของเสียจากกระบวนการผลิตเป็นแหล่งพลังงานในโรงแปรรูปเมล็ดมะม่วงหิมพานต์และชาสมุนไพร โดย สหกรณ์กรีนเนท จำกัด จ.ยโสธร กำลังการผลิต 17 กิโลวัตต์ มูลค่าโครงการ 880,807 บาท กระทรวงพลังงานสนับสนุนงบประมาณ 30% เป็นเงินจำนวน 264,242 บาท เป็นต้น                  ประเภทพลังงานน้ำ จำนวน 3 โครงการ วงเงินสนับสนุนรวม 2.15 ล้านบาท กำลังการผลิตรวม 60 กิโลวัตต์ ได้แก่ โครงการผลิตไฟฟ้าจากกังหันน้ำในพื้นที่ชุมชนคีรีวงและตำบลกำโลน โดย กองทุนหมู่บ้าน คีรีธรรม จ.นครศรีธรรมราช กำลังการผลิต 60 กิโลวัตต์ มูลค่าโครงการ 3,842,000 บาท วงเงินสนับสนุน 2,148,960 บาท เป็นต้น

ประเภทพลังงานลม จำนวน 1 โครงการ วงเงินสนับสนุนจำนวนรวม 3.7 แสนบาท ผลิตพลังงานทดแทนรวมได้เท่ากับ 2 กิโลวัตต์ ได้แก่ โครงการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานลม โดย มูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง จ.ยะลา (2 กิโลวัตต์) มูลค่าโครงการ 529,000 บาท วงเงินสนับสนุน 70% เป็นเงินจำนวน 370,300 บาท
ประเภทพลังงานก๊าซชีวภาพ จำนวน 10 โครงการ วงเงินสนับสนุนรวม 8.3 ล้านบาท กำลัง การผลิตเทียบเท่ารวม 194 กิโลวัตต์ อาทิ โครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลวัวเพื่อผลิตไฟฟ้า โดยมูลนิธิ สุข-แก้ว แก้วแดง จ.ยะลา กำลังการผลิต 12 กิโลวัตต์ มูลค่าโครงการ 2,566,000 บาท วงเงินสนับสนุน 1,539,600 บาท หรือ 60% และโครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียกระบวนการผลิตยางแผ่นรมควัน สหกรณ์พัฒนาคุณภาพยางพารา ต.ห้วยแร้ง จ.ตราด กำลังการผลิตเทียบเท่า 11 กิโลวัตต์ มูลค่าโครงการ 1,455,987 บาท วงเงินสนับสนุน 60% เป็นเงินจำนวน 873,592 บาท เป็นต้น
ประเภทพลังงานขยะ จำนวน 2 โครงการ วงเงินสนับสนุนรวม 6 ล้านบาท กำลังการผลิตรวม 240 กิโลวัตต์ ได้แก่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากพลังงานขยะ เพื่อขยายการใช้งานพลังงานทดแทนในภาคครัวเรือนบ้านป่าขามโดย กลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านตาล จ.เชียงใหม่ กำลังการผลิตเทียบเท่า 120 กิโลวัตต์ มูลค่าโครงการ 4,615,312 บาท วงเงินสนับสนุน 3,000,000 บาท หรือร้อยละ 65 และโครงการเพิ่ม                ประสิทธิภาพระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากพลังงานขยะ เพื่อขยายการใช้งานพลังงานทดแทน ในภาคครัวเรือน และภาคการเกษตรบ้านแม่ยุย โดย กลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านตาล จ.เชียงใหม่ กำลังการผลิตเทียบเท่า 120 กิโลวัตต์ มูลค่าโครงการ 5,097,497 บาท วงเงินสนับสนุน 60% เป็นเงินจำนวน 3,000,000 บาท
“โครงการส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทนในระดับชุมชน มุ่งเน้นการลดรายจ่ายด้านพลังงาน และช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน โดยการนำทรัพยากรหรือสิ่งเหลือใช้ในท้องถิ่นมาผลิตเป็นพลังงานทดแทน ซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการวางแผนและร่วมลงทุนกับภาครัฐ เรียกได้ว่าเป็นเป็นมิติใหม่ของการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ และยังสอดคล้องกับทิศทางของประเทศที่เดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาพลังงานทดแทน ให้เป็นไปตามเป้าหมายของแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2558-2579 อีกด้วย” รองปลัดกระทรวงพลังงานกล่าว
นอกจากนี้ นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ รองโฆษกกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวเสริมว่า เพื่อเป็นการสรุปบทเรียนจากการดำเนินโครงการส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทนข้างต้น ในโอกาสเดียวกันนี้ กระทรวงพลังงาน ได้สัมมนาเพื่อให้ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 26 โครงการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ได้แลกเปลี่ยนขัอมูล ข้อคิดเห็น เกี่ยวกับปัจจัยที่ผลักดันให้สามารถสร้างชุมชนต้นแบบด้านพลังงานทดแทนได้ และประเด็นปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน เพื่อนำไปสู่การพัฒนารูปแบบการดำเนินโครงการในอนาคต และการขยายผลการส่งเสริมชุมชนในรูปแบบประชารัฐ ที่ให้ชุมชนร่วมลงทุนและเป็นเจ้าของโครงการ ซึ่งจะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับการพัฒนาโครงการด้านพลังงานทดแทนระดับชุมชนต่อไป


 

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน ในพิธีเปิดงานเทคโนโลยีปิโตรเลียมนานาชาติ (IPTC) ครั้งที่ 10

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงาน The 10th Edition of the International Petroleum Technology Conference (IPTC) หรือการประชุมเทคโนโลยีปิโตรเลียมนานาชาติ ครั้งที่ 10 ซึ่งบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

ในพิธีพลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นายปรัชญา ภิญญาวัธน์ ประธานกรรมการ ปตท.สผ. นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของคณะกรรมการบริหาร IPTC นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สผ. ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารการประชุม IPTC นายเดวิด แบลนชาร์ด ประธานกรรมการ IPTC พร้อมคณะกรรมการจัดงาน IPTC และคณะผู้บริหาร ปตท.สผ. เฝ้ารับเสด็จ จากนั้นได้เสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการต่าง ๆ ภายในงานด้วยความสนพระทัย

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เยี่ยมชมการเปิดจำหน่ายข้าว ที่อาคาร ปตท. สำนักงานใหญ่

ปตท. สำนักงานใหญ่เปิดจำหน่ายข้าวจากโครงการรวมพลังซื้อข้าวจากชาวนา
เปิดจำหน่ายข้าวสาร ตรงจากมือชาวนา ระหว่างวันที่ 7-11 พ.ย. 59 ณ บริเวณด้านข้างร้านคาเฟ่อเมซอน อาคาร ปตท. สำนักงานใหญ่ และอาคารเอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ ถ.วิภาวดี
พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เยี่ยมชมการเปิดจำหน่ายข้าว ที่อาคาร ปตท. สำนักงานใหญ่ ถ.วิภาวดี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการรวมพลังซื้อข้าวจากชาวนา โดยมี นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และคณะผู้บริหาร ปตท. ให้การต้อนรับ
นายเทวินทร์ เปิดเผยว่า ปตท. ได้เพิ่มช่องทางการบรรเทาความเดือดร้อนของชาวนาโดยประสานงานกับเครือข่ายทางเกษตรกรจากภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือกลุ่มต่างๆ หมุนเวียนนำข้าวสารคุณภาพมาจำหน่ายที่อาคาร ปตท. สำนักงานใหญ่ และอาคารเอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ ถ.วิภาวดี ระหว่างวันที่ 7-11 พฤศจิกายน 2559 โดยเป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการรวมพลังซื้อข้าวจากชาวนา” ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกร ตัวแทนกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ชุมชน โรงสีข้าวชุมชน หรือโรงสีข้าวสหกรณ์ นำข้าวสารมาจำหน่ายแก่ผู้บริโภคได้โดยตรงที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท. ที่ร่วมโครงการทั่วประเทศโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และได้รับการตอบรับอย่างดียิ่ง
สำหรับข้าวสารที่นำมาจำหน่ายในครั้งนี้ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ 105 ข้าวหอมมะลิ 105 ทุ่งกุลา ข้าวหอมมะลินิล ข้าวหอมมะลิกุหลาบ ข้าวดำลืมผัว รวมถึงข้าวอินทรีย์ และข้าวปลอดสารซึ่งขัดสีโดยชุมชน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ ปตท. ยังจัดให้สถานีบริการน้ำมัน ปตท. ในกรุงเทพมหานครเป็นจุดจำหน่ายข้าวสารจากจังหวัดต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคที่อยู่ในกรุงเทพมหานครสามารถหาซื้อข้าวจากเกษตรกรโดยตรงได้สะดวกยิ่งขึ้น
นายเทวินทร์ เพิ่มเติมว่า นอกจากทำหน้าที่สร้างความมั่นคงทางพลังงานแล้ว ปตท. ยังดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำเพื่อให้ชาวนาซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม และขอขอบคุณผู้บริโภคทุกคนที่ร่วมอุดหนุนข้าว ช่วยแบ่งเบาความเดือดร้อนของชาวนา รวมไปถึงเจ้าของสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ทั่วประเทศที่ช่วยเป็นช่องทางให้ชาวนานำข้าวสารมาจำหน่าย ทั้งนี้ ขณะนี้มีสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 688 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งผู้สนใจสามารถตรวจสอบข้อมูลและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ PTT Contact Center 1365 และ www.pttplc.com

ปลัดกระทรวงพลังงาน ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่จุดบริการประชาชนที่สนามหลวง

วันนี้ (3 พฤศจิกายน 2559) ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน มาตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่คอยให้บริการประชาชนที่เดินทางมาร่วมลงนามถวายอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย ณ บริเวณท้องสนามหลวง จุดบริการประชาชน เต็นท์ที่ 29-30
โดยได้จัดอาหารและเครื่องดื่มบริการฟรี อาทิ ข้าวกล้องไข่เจียว น้ำดื่ม กาแฟอเมซอน ในโอกาสนี้ปลัดกระทรวงพลังงาน ยังได้ลงมือทอดไข่เจียวแจกประชาชนที่มาเข้าแถวรับบริการอีกด้วย

ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานพิธีถวายอาลัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ

วันนี้ (14 ตุลาคม 2559) ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมพิธีถวายอาลัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ณ บริเวณล็อบบี้ อาคารบี ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ กระทรวงพลังงาน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเปิดโครงการปะการังสร้างอาชีพ ระยะที่2

“มูลนิธิกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและผู้ประโครงการกอบการด้านปิโตรเลียม” จับมือสานต่อโครงการ “ปะการัง สร้างอาชีพ” ระยะที่ 2 หวังฟื้นฟูความสมบูรณ์ของทะเลไทย ประเดิมวางปะการังเทียม 1,000 ก้อน ในพื้นที่แหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช และอีก 2 จุด ในจังหวัดสงขลาต่อไป
พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังพิธีเปิดโครงการ “ปะการัง สร้างอาชีพ” ระยะที่ 2 ในวันจันทร์ ที่ 10 ตุลาคม 2559 ว่าโครงการที่มีการดำเนินการครั้งนี้ เป็นการสานต่อความสำเร็จจาก “โครงการปะการัง สร้างอาชีพ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554” ที่มูลนิธิกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและผู้ประกอบการด้านปิโตรเลียม จัดทำขึ้น และมีการวางปะการังเทียมใน 3 พื้นที่ คือ อำเภอสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอละแม และอำเภอสวี-ทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร จุดละ 1,000 ก้อน รวม 3,000 ก้อน ซึ่งภายหลังโครงการเสร็จสิ้นและมีการติดตามตรวจสอบความสำเร็จพบว่า โครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในด้านการฟื้นฟูความสมบูรณ์ของท้องทะเลไทยภายหลังจากการวางปะการังเทียม ได้ประมาณ 1 ปี ซึ่งทางมูลนิธิกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและผู้ประกอบการปิโตรเลียมได้มอบหมายให้ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและการสำรวจธรรมชาติ จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาเขตจังหวัดชุมพร ดำเนินการสำรวจ ใต้ทะเลเพื่อศึกษาความสมบูรณ์และความหลากหลายของชนิดสัตว์น้ำในพื้นที่โครงการปะการัง สร้างอาชีพฯ พบว่า มีความสมบูรณ์ของท้องทะเลมากขึ้น และมีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร พบสิ่งมีชีวิตมากถึง 38 ชนิด
นอกจากนี้ “โครงสร้างปะการัง สร้างอาชีพฯ” ยังมีส่วนช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวประมงพื้นบ้านให้ดีขึ้น โดยจากความอุดมสมบูรณ์ที่เพิ่มขึ้นทำให้สามารถจับปลา และสัตว์ทะเลได้มากขึ้น ปลาบางชนิดที่เคยหายไปจากพื้นที่ก็กลับมาอยู่ในบริเวณกองปะการังเทียม ส่งผลให้ชาวประมงมีรายได้มากขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก เนื่องจากไม่ต้องเดินเรือไปหาปลาในระยะทางที่ไกลเหมือนก่อน
พลเอก อนันตพร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับก้อนปะการังเทียมที่จะจัดวางในครั้งนี้ จะมีขนาด 1.5 x 1.5 x 1.5 เมตร ซึ่งเป็นขนาดมาตรฐานของกรมประมง และวัสดุที่นำมาใช้ผ่านการตรวจสอบแล้วว่า ไม่เป็นพิษ หรือปลดปล่อยสารพิษลงในทะเล มีอายุการใช้งานไม่น้อยกว่า 10 ปี และด้วยน้ำหนักประมาณ 1 ตัน จึงไม่ถูกพัดพาด้วยคลื่น หรือกระแสน้ำ หรือพายุ โดยที่วัตถุประสงค์ในการดำเนินโครงการยังคงมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูความสมบูรณ์ ความสมดุลของทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เพิ่มความหลากหลายของสัตว์ทะเลเพื่อส่งเสริมอาชีพของชาวประมงชายฝั่งแล้ว โครงการนี้ยังมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อขยาย และเสริมสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มประมงพื้นบ้านในพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียม ในทะเลอีกด้วย
สำหรับพื้นที่ดำเนินโครงการ ระยะที่ 2 นอกจากจะวางปะการังเทียมในพื้นที่ตำบลแหลมตะลุมพุกแล้ว ยังกำหนดพื้นที่วางปะการังเทียมในอีก 2 จุด คือ อำเภอสทิงพระ และอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา พื้นที่ละ 500 ก้อน ที่จะมีการวางปะการังเทียมในระยะต่อไป
“ทั้งนี้ ในการกำหนดพื้นที่แต่ละแห่งประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ในการร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านการประชุมร่วมกันในลักษณะของคณะทำงานไตรภาคี ประกอบด้วย กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ บริษัทผู้รับสัมปทานปิโตรเลียม และกลุ่มประมงพื้นบ้าน ซึ่งเป็นภาคประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและรับรู้ผลประโยชน์ทางอาชีพและรายได้ รวมถึงแนวทางการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล เพื่อให้ปะการังเทียม ที่จัดสร้างขึ้นได้คงอยู่ไปจนรุ่นลูกรุ่นหลาน และเป็นแหล่งทำกินอย่างยั่งยืน

 

กระทรวงพลังงาน โดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามความร่วมมือโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ใหม่

กระทรวงพลังงาน โดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามความร่วมมือโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ใหม่ กับผู้ประกอบการตู้น้ำร้อนน้ำเย็นบริโภค และตู้น้ำเย็นบริโภค พร้อมมอบโล่แก่ผู้ประกอบการที่ติดฉลากเบอร์ 5 ในปี 2559 จำนวน 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ โคมไฟ LED ชนิด High bay – Low Bay, กระทะไฟฟ้า และเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ
วันนี้ (6 ตุลาคม 2559) พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดงาน “Saving Together Happy Together” พร้อมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือและมอบโล่แก่ผู้ประกอบการโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ประจำปี 2559 โดยได้รับเกียรติจากผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน กฟผ. และผู้ประกอบการอุปกรณ์ไฟฟ้าเบอร์ 5 เข้าร่วมงานฯ ณ ห้องกมลทิพย์ 2 – 3 โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การใช้พลังงานไฟฟ้าของประเทศในปัจจุบันมีอัตราเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี ในขณะที่การจัดหาแหล่งผลิตพลังงานภายในประเทศดำเนินการได้ยากขึ้น เนื่องจากข้อจำกัดทั้งด้านทรัพยากร พื้นที่ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ รวมถึงการยอมรับของชุมชน ดังนั้น กระทรวงพลังงาน จึงมีนโยบายในการบริหารจัดการพลังงานของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการส่งเสริมและผลักดันการอนุรักษ์พลังงานอย่างเต็มรูปแบบ อาทิ พลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน และพัฒนาพลังงานที่สะอาด พร้อมส่งเสริมการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพพลังงานสูง เพื่อลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าและลดภาวะโลกร้อน รวมถึงสร้างจิตสำนึกของผู้บริโภคในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ที่ กฟผ. ดำเนินการ ถือว่าสอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว ที่มุ่งเน้นการพัฒนาประสิทธิภาพพลังงานของอุปกรณ์ไฟฟ้า และติดฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 เป็นสัญลักษณ์ ตลอดจนให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ ในการเลือกซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและมีส่วนร่วมในการประหยัดพลังงาน ส่งผลดีต่อการลดใช้พลังงานของประเทศในอนาคต และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศอย่างเห็นได้ชัด

ด้าน นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวถึงการดำเนินงานว่า ตลอดระยะเวลากว่า 23 ปีที่ผ่านมา กฟผ. ได้ร่วมมือกับบริษัทผู้ประกอบการ พัฒนาประสิทธิภาพพลังงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าและติดฉลากเบอร์ 5 ภายใต้ “โครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์รับรองความประหยัดและประสิทธิภาพพลังงานขั้นสูง จนได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค และเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งจากการดำเนินงานดังกล่าวจนถึงปี 2559 มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการติดฉลากเบอร์ 5 แล้วรวม 28 ผลิตภัณฑ์ จ่ายฉลากไปแล้วกว่า 300 ล้านดวง ซึ่งนับรวมอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้มีการลงนามความร่วมมือที่ผ่านมา และเริ่มติดฉลากเบอร์ 5 ในปีนี้จำนวน 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ โคมไฟ LED ชนิด High Bay – Low Bay , กระทะไฟฟ้า และเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ พร้อมวางจำหน่ายตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป
ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2559 กฟผ. ยังได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ตู้น้ำร้อนน้ำเย็นบริโภคและตู้น้ำเย็นบริโภค ในการพัฒนาประสิทธิภาพพลังงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้น เพื่อติดฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพในปี 2560 ต่อไป โดยมีบริษัทที่เข้าร่วมลงนามความร่วมมือโครงการฯ จำนวน 8 ราย ได้แก่ บริษัท อิมาร์เฟล็กซ์ อินดัสเตรียล จำกัด, บริษัท แสงเอกซัพพลายส์ จำกัด, บริษัท มาซูม่า (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เพียวละมุน จำกัด, บริษัท ซันเด้น อินเตอร์คูล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท เฟดเดอรัล อีเลคตริค จำกัด , บริษัท ไทยเสรีเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และบริษัท ศิริธนาเครื่องเย็น จำกัด
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่ได้รับโล่จากการเข้าร่วมโครงการโคมไฟ LED เบอร์ 5 ชนิด High bay – Low Bay จำนวน 7 ราย ได้แก่ บริษัท จั๊มเวย์ จำกัด, บริษัท ไลท์ติ้ง แอนด์ อีควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ลี้ กิจเจริญแสง จำกัด, บริษัท ออสแรม (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ฟิลิปส์ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท สยาม แอลอีดี จำกัด และบริษัท ตาดีเทคโนโลยี (998) จำกัด
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ได้รับโล่จากการเข้าร่วมโครงการกระทะไฟฟ้าเบอร์ 5 จำนวน 8 ราย ได้แก่ บริษัท แอคคอร์ด พรีเวล อิเล็คทริค 1999 จำกัด, บริษัท ฮานาบิชิ อิเลคทริค คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท อิมาร์เฟล็กซ์ อินดัสเตรียล จำกัด, บริษัท ที.เอ.ที. (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท สแกนเนอร์อิเลคทริค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัท ออตโต้ คิงส์กลาส จำกัด, บริษัท เอกชัยโลหะภัณฑ์ อิเลคทริค จำกัด และบริษัท นพัช อินเตอร์ จำกัด
สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับโล่จากการเข้าร่วมโครงการเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติเบอร์ 5 จำนวน 6 ราย ได้แก่ บริษัท กรุนด์ฟอส (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ฮิตาชิ คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ทองไทย (1956) จำกัด, บริษัท ไฮโซะเทค จำกัด, บริษัท ลัคกี้สตาร์อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท กันยงอีเลคทริก จำกัด (มหาชน)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานกล่าวเปิดการบรรยายเรื่อง “รัฐธรรมนูญกับการปฏิรูปประเทศไทย”

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2559 พลเอก อนันตพร  กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานกล่าวเปิดการบรรยายเรื่อง “รัฐธรรมนูญกับการปฏิรูปประเทศไทย” โดยมีปลัดกระทรวงพลังงาน ผู้บริหารระดับสูง และบุคลากรกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมรับฟังการบรรยาย ซึ่งกระทรวงพลังงานได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร. ชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้แก่ผู้บริหารและบุคลากรกระทรวงพลังงานทุกท่าน ทั้งในประเด็นที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ และประเด็นที่อาจมีผลต่อการทำงานในอนาคต

ก้าวสู่ปีที่ 15 กระทรวงพลังงาน “อนันตพร” เดินหน้าขับเคลื่อน “พลังงาน” สู่ Energy 4.0

วันนี้ (3 ตุลาคม 2559) พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  พร้อมด้วย ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน และผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่จาก ทุกหน่วยงานในสังกัดร่วมแสดงสัญลักษณ์การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบในโอกาสครบรอบ 14  ปี วันคล้ายวันสถาปนากระทรวงพลังงาน และก้าวสู่ปีที่ 15 กระทรวงพลังงาน  เพื่อย้ำเตือนให้ทุกคนยึดถือการทำงานด้วยความโปร่งใส และเป็นธรรม พร้อมร่วมกันขับเคลื่อนภาคพลังงานของประเทศตามแนวนโยบาย Energy 4.0 สอดรับนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล ภายใต้กรอบแผน 5 เสาหลัก มุ่งสร้างรายได้ให้กับประชาชนและประเทศชาติ ยกระดับพ้นกรอบประเทศรายได้ปานกลาง และสร้างประสิทธิภาพพลังงานอย่างสมดุล ก้าวสู่สังคมสีเขียวด้วยพลังงานสะอาด ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า  ในปี 2560 การขับเคลื่อนด้านพลังงานจะยังอยู่ในกรอบแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว โดยในแผนพัฒนากำลัง การผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP ในด้านการสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าจะมุ่งเน้นการกระจายเชื้อเพลิงและกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองในระดับที่เหมาะสม โดยจะลดการใช้ก๊าซธรรมชาติลงเหลือ 59.4% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด จากเดิมในปี 2559 ใช้อยู่ที่ 64.5% และเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนเป็น 9.6% ซึ่งเดิมในปี 2559 ใช้เพียง 6.4% รวมถึงลดการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินลงเหลือ 16.8% ซึ่งเดิมในปี 2559 ใช้อยู่ที่ 18.6%

แผนอนุรักษ์พลังงาน หรือ EEP  จะลดความเข้มการใช้พลังงานลง 8.20 ktoe ต่อพันล้านบาท หรือ   คิดเป็น 3.98% โดยจะเร่งดำเนินการในมาตรการกำกับดูแลการอนุรักษ์พลังงานตามกฎหมายสำหรับโรงงานและอาคารควบคุม และมาตรการอุดหนุนผลการประหยัดพลังงานในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ ประกอบด้วย โรงงานอุตสาหกรรม 5,500 แห่ง อาคาร 2,000 แห่ง และอาคารภาครัฐ 850 แห่ง โดยมีเป้าหมายการลดใช้พลังงาน จำนวน 314 ktoe (พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) พร้อมทั้งการผลักดันและส่งเสริมมาตรฐาน Building Code สำหรับอาคารใหม่ เพื่อผลักดันการบังคับใช้ในอาคารขนาดหญ่ขนาดพื้นที่มากกว่า 10,000 ตารางกิโลเมตร ในปี 2560 ซึ่งจะมีการตรวจประเมินและรับรองแบบอาคารใหม่ จำนวน 150 อาคาร และการศึกษามาตรฐานพลังงานสำหรับบ้านอยู่อาศัย (Residential Energy Code : REC) โดยจะสำรวจข้อมูลบ้านอยู่อาศัยขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ จำนวน 1,500 ตัวอย่าง และจัดทำต้นแบบบ้านประหยัดพลังงาน 12 แบบ

แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ AEDP จะดำเนินการรวบรวมศักยภาพของพลังงานทดแทนในรายภาคเพื่อให้ได้ฐานข้อมูล ที่เป็นปัจจุบันและสอดคล้องกับความเป็นจริง เร่งรัดให้มีการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) สำหรับโรงไฟฟ้าที่มีใบอนุญาตแล้ว(PPA) จำนวน 9,327.15  เมกะวัตต์ ในปี 2560 การส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาลงทุนในด้านผลิตพลังงานความร้อน โดยพิจารณาแนวทางสนับสนุน (Heat Incentive) ในเป้าหมายจำนวน 7,115.10 ktoe (พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) ส่งเสริมให้มี   การผลิตและการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น อาทิ เอทานอล 3.84 ล้านลิตร/วัน และไบโอดีเซล 3.67 ล้านลิตร/วัน ในปี 2560

แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ หรือ Gas Plan จะเดินหน้าเรื่องบริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุ การเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่  การส่งเสริมการแข่งขันจัดหาแอลเอ็นจีแบบเสรีและศึกษาแนวการกำกับดูแลด้านแอลเอ็นจี การติดตามแผนโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติและการสร้าง LNG Terminal ให้เหมาะสมและเพียงพอกับความต้องการ รวมถึงการลงพื้นที่สร้างเครือข่าย และทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจและการมีส่วน

แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ Oil Plan จะดำเนินโครงการขนส่งน้ำมันทางท่อซึ่งจะเริ่มสร้างท่อส่งน้ำมันสายเหนือในปี 2559 และสายอีสานในปี 2561 การลดชนิดน้ำมันในกลุ่มเบนซินให้เหลือ 4 ชนิดในปี 2561 การศึกษาการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ ซึ่งจะสรุปผลการศึกษาเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในช่วงเดือนกันยายน 2560 การผลักดันเรื่องการเปิดเสรีนำเข้าแอลเอ็นจีให้เป็นรูปธรรม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ในปี 2560 กระทรวงพลังงานยัง            จะขับเคลื่อนภาคพลังงานของประเทศตามแนวนโยบาย Energy 4.0 ซึ่งมีเป้าหมายคือการสร้างรายได้ให้กับประชาชนและประเทศ เพื่อให้ประเทศชาติในภาพรวมหลุดพ้นจากการเป็นประเทศรายได้ระดับปานกลาง สอดรับกับนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล ซึ่งแบ่งการขับเคลื่อนออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับประเทศ และ                ระดับชุมชน/ประชาชน โดยในระดับประเทศ จะมุ่งเน้นการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมด้านพลังงานใหม่ๆ เพื่อให้ภาคธุรกิจมีความทันสมัย แข่งขันในตลาดโลกได้ และการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับด้านพลังงาน เพื่อ         ต่อยอดธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานของประเทศให้เติบโต และก้าวหน้า ซึ่งสิ่งที่ภาคพลังงานของประเทศไทยจะต้องเตรียมพร้อมในการกำหนดนโยบายและการกำกับดูแลในอนาคต อาทิ การบริหารจัดการพลังงานทดแทนให้มีความเสถียร (Firm Renewable Energy) จากการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน(Energy Storage)                      การเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) การพัฒนาในรูปแบบของ “Smart” ต่างๆ ทั้งในส่วนของ Smart Grid ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของ Smart City ซึ่งทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้พลังงานสามารถมีปฏิสัมพันธ์กันได้ผ่านระบบสารสนเทศ การเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าระหว่างประเทศและมีการส่งไฟฟ้าขายข้ามประเทศ ยกตัวอย่างกรณี ของ LTM ที่มีแผนการส่งไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ผ่านไทยไปยังมาเลเซีย การเปิดให้มีการแข่งขัน          ในกิจการก๊าซธรรมชาติ ทั้งในส่วนของการใช้ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และท่ารับ LNG รวมถึงการผลิตไฟฟ้าประเภทผสมผสานระหว่างพลังงานธรรมชาติ (PV Wind Hydro) และพลังงานชีวภาพ (Biomass Biogas MSW)

ส่วนในระดับชุมชน/ประชาชน จะมุ่งเน้นการสร้างรายได้ และลดรายจ่ายให้กับประชาชนและชุมชน        ผ่านโครงการประชารัฐ การสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคม การดำเนินโครงการพลังงานชุมชน และการส่งเสริมด้านพลังงานในธุรกิจSMEs ซึ่งปัจจุบันมีการขับเคลื่อนอยู่แล้วหลายโครงการ อาทิ  การส่งเสริมธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในชุมชน เช่น การสนับสนุนให้ชุมชนผลิตและจำหน่ายก๊าซไบโอมีเทนเพื่อทดแทนก๊าซหุงต้มในครัวเรือน โครงการช่วยเหลือเกษตรกร เช่น โครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้ง 900 ระบบ ทั่วประเทศ เพื่อช่วยบรรเทาการขาดแคลนน้ำในการอุปโภคแก่เกษตรกร เป็นต้น

 

“นอกเหนือจากการขับเคลื่อนเรื่อง Energy 4.0 แล้ว เป้าหมายด้านพลังงานในอนาคต กระทรวงพลังงานจะผลักดันให้เกิดมิติที่ผู้บริโภคสามารถผลิตพลังงานใช้เองได้และมีความหลากหลายทางเชื้อเพลิง พร้อมทั้งผลักดันให้เกิดการลงทุนการแข่งขันในธุรกิจพลังงานอย่างเสรีและเป็นธรรม รวมถึงสร้างชุมชนเมือง  ให้เป็น Smart City Smart Home มุ่งสู่สังคมสีเขียวด้วยพลังงานสะอาด ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกลง 20-25% ในปี 2573 และในปี 2560 นี้ กระทรวงพลังงานยังมุ่งเน้นการบริหารจัดการด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม พร้อมตรวจสอบได้เป็นหัวใจสำคัญ ในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงพลังงานในวันนี้            คณะผู้บริหารกระทรวงพลังงาน รวมถึงข้าราชการทุกคนยังได้ตอกย้ำด้วยการร่วมแสดงสัญญลักษ์การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อยึดถือเป็นข้อปฏิบัติในการทำงานต่อไป ” พลเอกอนันตพร กล่าว

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 34

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

“รมว.พลังงานไทย” ร่วมขับเคลื่อนภูมิภาคอาเซียน“มุ่งสู่ประชาคมพลังงานสะอาด

และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ในการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 34 ที่เมียนมา

วันที่ 21-22 กันยายน 2559 พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 34 (34th ASEAN Ministers on Energy Meetings : 34th AMEM)  โดยมีรัฐมนตรีด้านพลังงานจากประเทศสมาชิก 10 ประเทศ เข้าร่วมการประชุม ภายใต้หัวข้อ Towards Greener Community with Cleaner Energy โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนสู่ภูมิภาคพลังงานสะอาด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ณ กรุงเนปยีดอ ประเทศเมียนมา

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 34 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นการประชุมภายใต้หัวข้อ Towards Greener Community with Cleaner Energy โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน             สู่ภูมิภาคพลังงานสะอาด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในครั้งนี้ได้มีแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานจำนวน 4 ฉบับ ประกอบด้วย แถลงการณ์ของรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน 10 ประเทศ ครั้งที่ 34 แถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน+3 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ครั้งที่ 13 แถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานเอเชียตะวันออกครั้งที่ 10 และแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานและทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ ครั้งที่ 6

ทั้งนี้ ในส่วนของถ้อยแถลงของรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน 10 ประเทศ มีสาระสำคัญ คือ การมุ่งเน้นการขับเคลื่อนเรื่องพลังงานทดแทน และเป้าหมายการลดความเข้มการใช้พลังงานของอาเซียน ตามแผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียน (ASEAN Plan of Action on Energy Cooperation 2016-2025  : APAEC) ที่เน้นเรื่องการส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน การเชื่อมโยงโครงข่าย รวมถึงการร่วมกันเรื่องการพัฒนาพลังงานสะอาดในภูมิภาค การใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ และการใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ตลอดจนการร่วมมือกันในการบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานและตลาดพลังงานเพื่อประโยชน์ในการแบ่งปันทรัพยากรทดแทนและทรัพยากรภายในภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานและด้านเทคนิค เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในระบบพลังงาน เกิดการแบ่งปันได้จริงอย่างเต็มที่

โดยในด้านการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ยุทธศาสตร์หลักของอาเซียน     คือ การตั้งเป้าหมายในการลดความเข้มของการใช้พลังงานในภูมิภาคลง 20% ภายในปี พ.ศ. 2563 และ 30%  ในปีพ.ศ. 2573 ส่วนด้านพลังงานทดแทน ยุทธศาสตร์หลักของอาเซียนคือการเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนเป็น 23% ของพลังงานผสมผสานอาเซียนในปีพ.ศ. 2568 สำหรับด้านโครงสร้างพื้นฐานมีการขับเคลื่อนร่วมกันในการเชื่อมต่อท่อส่งก๊าซแบบทวิภาคีจำนวน 6 ประเทศ รวมความยาว 3,673 กิโลเมตร และการดำเนินการสถานีเปลี่ยนก๊าซธรรมชาติเหลวให้กลับเป็นก๊าซจำนวน 6 สถานี กำลังผลิต 22.5 เมตริกตันต่อปี นอกเหนือจากนี้ยังมีการขยายการเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid : APG) กว่า 1,700 เมกะวัตต์ รวม 8 โครงการ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวต่อว่า ในการประชุมครั้งนี้ ประเทศไทยได้ประโยชน์ในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และการพัฒนาขีดความสามารถบุคลากรจากประเทศคู่เจรจา ในเรื่องการอนุรักษ์พลังงาน พลังงานทดแทน นิวเคลียร์ พลังงานสะอาด  เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด และการสนับสนุนข้อวิเคราะห์แนวโน้มพลังงานทดแทนในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Renewable Energy Outlook) นอกจากนี้ ประเทศไทยยังจะได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจในโครงการ LTM on Power Integration Project                        ในการศึกษาการซื้อขายไฟฟ้าข้ามแดนบนพื้นฐานความเท่าเทียมและผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบสายส่งไฟฟ้าอาเซียนให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าร่วมกันระหว่างประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไทย และมาเลเซีย โดยจะนำร่อง ไม่เกิน 100  เมกะวัตต์  ตามแผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียน ปี 2016-2025 ในระยะที่ 1 ระหว่างปี 2016-2020 รวมถึงยังจะมีโอกาสร่วมหารือแบบทวิภาคี ในประเด็นด้านความร่วมมือด้านพลังงาน             กับประเทศและหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กัมพูชา จีน สถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก(Economic Research Institute for ASEAN and East Asia : ERIA)  และทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency : IEA) เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานร่วมกัน สำหรับการประชุมครั้งต่อไป ที่ประชุมได้ตกลงให้มีการจัดการประชุม AMEM ครั้งที่ 35 ในช่วงปลายปี 2560 ที่ประเทศฟิลิปปินส์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานพิธีมอบรางวัล SHE Award

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

กระทรวงพลังงาน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จัดพิธีมอบรางวัลโครงการบริหารจัดการด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม สำหรับสถานประกอบกิจการปิโตรเลียมดีเด่น (SHE Award) ประจำปี 2559 มุ่งหวังสร้างแรงจูงใจยกระดับมาตรฐานแก่วงการปิโตรเลียมอย่างต่อเนื่อง

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลโครงการบริหารจัดการด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม สำหรับสถานประกอบกิจการปิโตรเลียมดีเด่น (SHE Award) ประจำปี 2559 จัดโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในวันพุธที่ 14 กันยายน 2559 ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม C โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพฯ โดยในวันนี้ได้จัด การบรรยายทางวิชาการด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและบริษัทผู้ประกอบกิจการปิโตรเลียมอีกด้วย
​พลเอก อนันตพร กล่าวว่า โครงการบริหารจัดการด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม สำหรับสถานประกอบกิจการปิโตรเลียมดีเด่น หรือ SHE Award โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน จัดทำขึ้นเพื่อกระตุ้นและเสริมสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการมุ่งเน้นการพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านอาชีว-อนามัยและสิ่งแวดล้อมในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกิจกรรมเชิงป้องกัน
​การดำเนินโครงการใช้ระยะเวลาทั้งสิ้นประมาณ 1 ปี (ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 – กันยายน 2559) โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการพิจารณาหลักเกณฑ์การประเมิน การตรวจประเมินอย่างจริงจัง และเข้มงวด โดยได้พิจารณาข้อมูลจากทั้งรูปแบบเอกสารและหลักฐานเชิงประจักษ์ในสถานประกอบการจริงตามมาตรฐานในระดับสากล ซึ่งผ่านการคัดกรองโดย นักวิชาการกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ผู้ตรวจประเมินระดับอาชีพ และได้รับ การรับรองจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ นางพรศรี ครอบบัวบาน อดีตผู้อำนวยการกลุ่มวิศวกรรม ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิรวัฒน์ ชีวรุ่งโรจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนาวาเอกนเรศ วงศ์ตระกูล ผู้เชี่ยวชาญประจำกรมข่าวทหารเรือ กรมยุทธการทหารเรือ กองทัพเรือ
​รางวัลการบริหารจัดการด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม สำหรับสถานประกอบกิจการปิโตรเลียมดีเด่น (SHE Award) ประจำปี 2559 มีบริษัทแสดงความจำนงเข้าร่วมทั้งสิ้น 11 บริษัท โดยการพิจารณารางวัลครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับยอดเยี่ยม ระดับดีเด่น และระดับดี โดยที่ระดับยอดเยี่ยมจะต้องมีระดับคะแนน 90% ขึ้นไป ระดับดีเด่นจะต้องมีระดับคะแนน 80% ขึ้นไป และระดับดีจะต้องมีระดับคะแนน 70% ขึ้นไป
สำหรับรายชื่อบริษัทผู้รับสัมปทานที่ได้รับรางวัลครั้งนี้ 11 บริษัท ได้แก่
รางวัลระดับยอดเยี่ยม
1. บริษัท ปตท.สผ.สยาม จำกัด​​แหล่ง S1
2. บริษัท สยามโมเอโกะ จำกัด​​แหล่ง บูรพา เอ
3. บริษัท เอ็กซอนโมบิล เอ็กซ์โพลเรชั่น แอนด์ โพรดักชั่น โคราช อิงค์​แหล่ง น้ำพอง
4. บริษัท พีทีทีอีพี เอสพี ลิมิเต็ด​​แหล่ง สินภูฮ่อม
5. บริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด​พื้นที่ผลิตบ่อรังเหนือ
6. บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด​แหล่ง ฟูนาน
7. บริษัท โอเฟียร์ ไทยแลนด์ (บัวหลวง) ลิมิเต็ด​แหล่ง บัวหลวง
8. บริษัท เอ็มพี จี11 (ประเทศไทย) จำกัด​แหล่ง นงเยาว์
9. บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)​แหล่ง บงกชใต้
รางวัลระดับดีเด่น
1. บริษัท แพนโอเรียนท์ เอ็นเนอร์ยี่ (สยาม) ลิมิเต็ด​พื้นที่ผลิต L53A
รางวัลระดับดี
1. บริษัท ซิโน-ยู.เอส.ปิโตรเลียม อิงค์​แหล่ง ผลิตบึงหญ้า1
​“กระทรวงพลังงาน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ขอยืนยันว่า บริษัทผู้ประกอบการด้านปิโตรเลียม ทุกบริษัทต้องดำเนินการตามมาตรฐานทางด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย ข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องทุกประการ แต่การจัดโครงการครั้งนี้ กระทรวงพลังงานหวังว่าจะเป็นแรงจูงใจ และมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ผู้ประกอบการด้านปิโตรเลียมเต็มใจ มุ่งมั่นสร้างมาตรฐานสูงสุดในการบริหารจัดการ ด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม ในสถานประกอบกิจการปิโตรเลียมในประเทศไทย ซึ่งจะนำไปสู่การมีส่วนร่วมสร้างความเข้มแข็งทางด้านภาพลักษณ์ที่ดีแก่วงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวเพิ่มเติม

 

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิด การสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อทบทวนยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ที่โรงแรมทรีซิกตี้ไฟว์ จังหวัดชลบุรี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

วันที่ 10 กันยายน 2559 กระทรวงพลังงาน  จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อทบทวนยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน ประจำปีงบประมาณ 2560 ณ โรงแรมT six 5 อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี โดยมี พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธานเปิดการประชุมฯ พร้อมด้วย ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน บรรยายในเรื่อง การขับเคลื่อนกระทรวงพลังงานเพื่อตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ประเทศ

นอกจากนี้ยังมี การบรรยาย ในหัวข้อ ภาพรวมการขับเคลื่อนแผนบูรณาการพลังงานระยะยาวในปี 2560 ประกอบด้วย แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ โดย ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน โดย นายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ โดย นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ แผนการบริหารจัดการน้ำมัน โดย นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน และแผนปฏิบัติงานของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน โดย นางปัจฉิมา ธนสันติ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน

ซึ่งการประชุมครั้งนี้มีผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยพลังงานจังหวัดทั่วประเทศเข้าร่วมประชุม

      

      

             

      

ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้พบปะหารือกับผู้แทนคณะ Silk Road Fund

ปลัดกระทรวงพลังงาน

เมื่อวันนี้ 7 กันยายน 2559 นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้พบปะหารือกับผู้แทนคณะจากสาธารณรัฐประชาชนจีน นำโดย Mr. Yang Zejun ประธานคณะกรรมการของ Silk Road Fund ของจีน ณ กระทรวงพลังงาน เกี่ยวกับที่ฝ่ายจีนได้นำเสนอความเป็นมาของ Silk Road Fund ซึ่งเป็นกองทุนเพื่อการลงทุนด้านการสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ด้านพลังงาน ด้านอุตสาหกรรม ด้านการก่อสร้าง ในประเทศต่างๆตามเส้นทางสายไหม โดยฝ่ายไทยได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านนโยบายพลังงานของไทยที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันและแผนการในอนาคต รวมถึงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องความเป็นไปได้ในการทำงานร่วมกันด้านพลังงานระหว่างไทยและจีนในอนาคต

กระทรวงพลังงาน ย้ำทางเลือกเชื้อเพลิงถ่านหินสะอาด

นายชวลิต พิชาลัย รองปลัดกระทรวงพลังงาน

วันจันทร์ที่ 5 กันยายน 2559 กระทรวงพลังงาน ย้ำทางเลือกเชื้อเพลิงถ่านหินสะอาด มีการใช้เทคโนโลยีทันสมัยช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เชื่อถือและไว้ใจได้ โดยค่าปลดปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ดีกว่าค่ามาตรฐานที่กรมควบคุมมลพิษกำหนด มากกว่า 3 เท่าตัว และค่าฝุ่นละออง ดีกว่าถึง 2 เท่าตัว ยันถ่านหินสะอาดยังเป็นทางเลือกผลิตไฟฟ้าที่ช่วยกระจายแหล่งเชื้อเพลิงและประเทศชั้นนำของโลกยังคงพัฒนาต่อเนื่อง
นายชวลิต พิชาลัย รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ PDP 2015 กระทรวงพลังงาน ได้เน้นในมิติการบริหารจัดการเพื่อรักษาความสมดุลย์ในการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้นและจริงจัง เพื่อดูแลชีวิตและสุขภาพของประชาชนควบคู่ไปกับการจัดหาพลังงานเพื่อความมั่นคงของประเทศ โดยจะเพิ่มสัดส่วนการใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดในการผลิตไฟฟ้าจาก 19% ในปัจจุบัน เป็น 20 – 25% ในปลายปี 2579 ซึ่งจากการติดตามเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดดังกล่าว พบว่า ปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาบริหารจัดการ และมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจึงสามารถลดปริมาณการปล่อยมลพิษ
ทั้งนี้ จากข้อมูลโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ในช่วงที่ผ่านมา ระบุว่าจะมีค่าปลดปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เพียง 50 ส่วนในล้านส่วน ซึ่งดีกว่าค่ามาตรฐานที่กรมควบคุมมลพิษกำหนดไว้ที่ 180 ส่วนในล้านส่วน หรือดีกว่าค่ามาตรฐานกำหนดมากกว่า 3 เท่าตัว รวมทั้งยังมีค่าการปลดปล่อยฝุ่นละอองเพียง 30 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งดีกว่าค่ามาตรฐานที่กรมควบคุมมลพิษกำหนดไว้ที่ 80 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือดีกว่าค่ามาตรฐานกำหนดมากกว่า 2 เท่าตัว เป็นต้น
นอกจากนี้ เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดตามแผนการสร้างโรงไฟฟ้า ที่กฟผ.จะได้เตรียมนำมาใช้ คือเทคโนโลยี ultra super critical ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงและทันสมัยที่สุด ทําให้ใช้เชื้อเพลิงน้อยลง จึงมีผลให้ลดการปลดปล่อยมลพิษทางอากาศลงได้มาก โดยกระทรวงพลังงานยืนยันได้ว่า การผลิตไฟฟ้าจากเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด จะสะอาดตั้งแต่ต้นน้ำคือ การนำเข้าถ่านหินสะอาดที่มีคุณภาพสูงมีปริมาณซัลเฟอร์ต่ำและค่าความร้อนสูง ซึ่งเบื้องต้นจะพิจารณานำเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลียหรือ แอฟริกาใต้ เป็นต้น รวมทั้งกลางน้ำ ด้วยเทคโนโลยีดังกล่าว จะช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และฝุ่นละอองในกระบวนการผลิตไฟฟ้าได้เกือบทั้งหมด 100% และปลายน้ำ คือ มีการตรวจสอบวัดมลพิษและกระบวนการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด มีการปลูกต้นไม้ เพื่อเป็นแนวป้องกันอีกด้วย
นายชวลิต กล่าวเพิ่มว่า ขณะนี้ประเทศชั้นนำของโลก อย่าง ประเทศญีปุ่น จีน และเกาหลีใต้ ยังคงมีแผนการพัฒนาเชื้อเพลิงจากถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า เพื่อเป็นทางเลือกในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทย ตามแผน PDP 2015 จะมีการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดใหม่เพิ่มเติม จำนวน 2 โรง เพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคใต้ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนแล้ว 3 ครั้ง และได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอแล้ว โดยอยู่ระหว่างประชุมและหาข้อยุติของคณะกรรมการไตรภาคี และโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กำลังผลิต 2,000 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้ได้รับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่เรียบร้อยแล้ว และเตรียมเสนอรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ อีไอเอต่อไป

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การบริหารจัดการกองทุน เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (Encon FUND)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

2 กันยายน 2559 พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การบริหารจัดการกองทุน เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (Encon FUND) แบบบูรณาการ และมุ่งผลสัมฤทธิ์” จัดโดย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ณ. โรงแรมโนโวเทลกรุงเทพ แพลทินัม

กระทรวงพลังงานลงนาม MOUกับกลุ่มเอสซี เดินหน้าโครงการขยายระบบขนส่งน้ำมันทางท่อภาคอีสาน

กระทรวงพลังงาน เดินหน้าโครงการขยายระบบขนส่งน้ำมันทางท่อ ล่าสุดลงนามเอ็มโอยูกับกลุ่มเอสซี หนุนก่อสร้างท่อไปยังภาคอีสาน เงินลงทุน 1 หมื่นล้านบาท คาดแล้วเสร็จ ก.ค.2563 ขณะที่เอฟพีทีรุกคืบวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างคลังน้ำมันที่พิจิตรนำร่อง รับการก่อสร้างท่อส่งน้ำมันไปภาคเหนือแล้ว ชี้ทั้ง 2 เส้นทางจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งน้ำมันของประเทศ  

            พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 เห็นชอบให้กระทรวงพลังงานดำเนินโครงการ ขยายระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งน้ำมันของประเทศ โดยมอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เป็นผู้ดำเนินการพิจารณาสนับสนุนผู้ลงทุนที่จะมาพัฒนาโครงการฯ เพื่อให้เกิดการแข่งขันเสรี เพื่อให้ระบบการขนส่งน้ำมันของประเทศมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

โดยปัจจุบันมีผู้สนใจลงทุนในการขยายระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อทั้ง 2 เส้นทางเรียบร้อยแล้ว              และในวันที่ 31 สิงหาคม 2559 ธพ.ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)  กับบริษัท ไทย ไปป์ไลน์ เน็ตเวิร์ค จำกัด (TPN) ภายใต้กลุ่มบริษัท เอส ซี กรุ๊ป (SC Group) เพื่อสนับสนุนโครงการขยายระบบขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในการประสานขอความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในการวางท่อขนส่งน้ำมัน การออกใบอนุญาตให้ผู้ลงทุน และให้ข้อเสนอแนะ แนะนำ รวมถึงข้อคิดเห็นต่อการดำเนินงาน ให้สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐ ในโครงการขยายระบบขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากที่ก่อนหน้านี้ทาง ธพ. ได้มีการลงนาม MOU กับทางบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด (FPT) เพื่อลงทุนก่อสร้างขยายระบบท่อน้ำมันไปยังภาคเหนือแล้ว

พล.อ.อนันตพร กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการขยายระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น จะทำการต่อขยายจากระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อที่มีอยู่เดิมของบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด (THAPPLINE) ที่คลังน้ำมันอำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ไปยังคลังน้ำมันปลายทางที่ จังหวัดขอนแก่น เป็นระยะทางประมาณ 350 กิโลเมตร ใช้งบประมาณในการลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งหลังจากที่ ธพ. ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) แล้ว ทางบริษัทฯ จะไปดำเนินการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อไป และคาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ต้นปี 2561และเปิดใช้งานได้ปลายปี 2563 ตามแผน   ที่ได้วางไว้

“โครงการขยายระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากจะเป็นโครงการที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งน้ำมันของประเทศ สร้างความมั่นคงด้านการจัดหาพลังงาน      เอื้อต่อนโยบายการเก็บสำรองน้ำมันสำเร็จรูปในคลังส่วนภูมิภาค ส่งผลให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน         ที่เชื่อถือได้ (Reliable) ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ด้านเศรษฐศาสตร์ต่อประเทศ รวมถึงยังเป็นการรองรับการขยายตัวด้านการใช้น้ำมันในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย      ในการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางพลังงานของภูมิภาค ลดความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงในการขนส่ง ลดปัญหาด้านอุบัติเหตุรวมถึงแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ยังเป็นโครงการฯ สำคัญที่มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วยมูลค่าการลงทุน 2 เส้นทาง รวมเกือบ 2 หมื่นล้านบาท” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว

 

รองปลัดกระทรวงพลังงาน ให้เกียรติเป็นประธานในการประชุม 1st ASEAN Petroleum Security Agreement (APSA)

รองปลัดกระทรวงพลังงาน

วันนี้ (25 สิงหาคม 2559) นายชวลิต พิชาลัย รองปลัดกระทรวงพลังงาน ให้เกียรติเป็นประธานในการประชุม 1st ASEAN Petroleum Security Agreement (APSA) Task Force Phase II Meeting กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 สิงหาคม 2559 ณ ห้องประชุม กระทรวงพลังงาน โดยการประชุมดังกล่าว เป็นครั้งแรกที่เชิญ 10 ประเทศอาเซียนเข้าร่วม และมีผู้จากคณะมนตรีด้านปิโตรเลียมของอาเซียน (ASEAN Council on Petroleum: ASCOPE) คือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น (Ministry of Economy, Trade and Industry: METI) ทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) สถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (Economic Research Institute for ASEAN and East Asia: ERIA) และศูนย์พลังงานอาเซียน (ASEAN Centre of Energy: ACE) ประชุมร่วมกันเพื่อหารือถึงแนวทางการดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานในการสำรองน้ำมัน และการช่วยเหลือประเทศสมาชิกในอาเซียนเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินหรือเมื่อภาวะน้ำมันขาดแคลนขึ้น ซึ่งที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล สถานะความคืบหน้าของการดำเนินงาน การหารือในรูปแบบ กรอบแนวทางการดำเนินการ และมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญระดับโลกในด้านการสำรองน้ำมัน


กระทรวงพลังงาน โดย กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ร่วมกับ มูลนิธิอาคารเขียวไทย เดินหน้าพัฒนาโครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะต้นแบบ เพื่อพัฒนาเมืองของชุมชน สู่เมืองอัจฉริยะ เชื่อมโยงการใช้พลังงานในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งสู่การเป็น Smart Cities – Clean Energy

พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการเปิดงานสัมมนาโครงการเมืองอัจฉริยะ ว่า สืบเนื่องจากการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (COP 21) ณ กรุงปารีส เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ที่มีเป้าหมายให้มีการรักษาระดับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส ด้วยการจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อลดความเสี่ยงจากผลกระทบรุนแรง จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำหรับประเทศไทย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตั้งเป้าไว้ว่า ไทยจะลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20 ถึงร้อยละ 25 ภายในปี 2573 โดยมุ่งเน้นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในแผนพลังงานของประเทศให้มากขึ้น ที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงพระราชทานมากว่า 50 ปีแล้ว ในรูปแบบประชารัฐ ด้วยความร่วมมือของประชารัฐ เอกชน ประชาสังคม เอ็นจีโอ และประชาชนอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของประเทศที่เหมาะสม และสอดคล้องกับการดำเนินการให้บรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2573 ของสหประชาชาติ

ดังนั้น เพื่อให้การปล่อยก๊าซลดลงตามเป้าหมาย และเพื่อเป็นการขับเคลื่อนตามเป้าหมายของแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558 – 2579 (EEP 2015) ที่ตั้งเป้าลดความเข้มข้นของการใช้พลังงานลง 30% ผ่านมาตรการสนับสนุนต่างๆ กระทรวงพลังงาน โดย กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ร่วมกับ มูลนิธิอาคารเขียวไทย จึงได้สนับสนุนโครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities – Clean Energy) เพื่อเป็นแนวทางหรือแบบรายละเอียดเบื้องต้น (Schematic Design) การพัฒนาเมืองของชุมชนสู่เมืองอัจฉริยะ โดยเชื่อมโยงกับการใช้พลังงานในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งสู่การเป็น Clean Energy และ Green City เพื่อบริหารจัดการทรัยากรของเมืองให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ระบบบริหารจัดการเครือข่ายพลังงานอัจฉริยะ (Smart Grid) ระบบการบริหารจัดการพลังงานระดับชุมชน (Community Energy Management Systems : CEMS) ระบบขนส่งอัจฉริยะ และยานยต์พลังงานทางเลือก เป็นต้น ทำให้ผู้อยู่อาศัยมีความสะดวกสบาย ลดการใช้พลังงาน เกิดการใช้พลังงานสะอาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยโครงการนี้จะสามารถเป็นต้นแบบลดการใช้พลังงาน และลดคาร์บอนไดออกไซด์ ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทย และยังเป็นการสร้างมิติใหม่ของการพัฒนาเมือง ให้สอดคล้องกับวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นำไปสู่เมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า โครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities – Clean Energy) จัดขึ้นเพื่อสนับสนุน หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัย องค์กรเอกชน ร่วมโครงการออกแบบและพัฒนาเมือง ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนารูปแบบและโครงสร้างของเมืองการส่งเสริม การอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน โดยจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการประเมินเกณฑ์ และจะประกาศให้ยื่นข้อเสนอเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณสำหรับการออกแบบ เมืองอัจฉริยะ ซึ่งให้ความสำคัญกับ 3 องค์ประกอบหลัก คือ การจัดรูปเมืองและโครงสร้างพื้นฐานหลักของเมือง เช่น โครงสร้างระบบขนส่ง ระบบราง การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมในทุกรูปแบบ และการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนให้เต็มศักยภาพ ประกอบกับการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและข้อมูล มาช่วยในการบริหารจัดการ เพื่อจะเป็นการช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังเป็นการร่วมส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์อีกด้วย โดยผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ จะได้แนวทางในการพัฒนาเมืองของชุมชนที่มีผลต่อการลดความต้องการพลังงาน และการใช้พลังงานสูงสุด ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อรองรับการเติบโตของเมือง และเกิดการเรียนรู้ด้านพลังงานสู่ชุมชนผ่านกระบวนการทางความคิดสร้างสรรค์

นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานสถาบันอาคารเขียวไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของเกณฑ์เบื้องต้นการประเมินเมืองอัจฉริยะ จะต้องมีพื้นที่ใช้สอยรวมไม่น้อยกว่า 1 ล้านตารางเมตร หรือ ความต้องการกำลังไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 15 เมกะวัตต์ หรือ มีจำนวนประชากรไม่น้อยกว่า 30,000 คน หรือสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่น้อยกว่า 30,000 ตันต่อปี โดยมีหลักเกณฑ์เบื้องต้น ดังนี้ 1) การส่งผลงานเพื่อประกวด ในขั้นตอนที่ 1 (Conceptual & Urban Planning) 2) ผังแม่บทการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City Development Master Plan) ผู้ผ่านการคัดเลือกหรือคัดสรร ในขั้นตอนที่ 1 จะได้รับการสนับสนุนในการจัดทำข้อเสนอในขั้นตอนนี้ โดยข้อเสนอที่เป็นแนวคิดที่ดีที่สุด 7 ลำดับแรก จะได้รับเงินสนับสนุนสำหรับใช้ในการดำเนินการขั้นต่อไป ไม่เกิน 10,000,000 บาทต่อแห่ง รวมเป็นเงิน 70,000,000 บาท ทั้งนี้การพิจารณาคัดเลือกหรือคัดสรรข้อเสนออาจให้การสนับสนุนไม่ครบ 7 แห่ง ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของข้อเสนอ และ 3) โมเดลธุรกิจ (Business Model) ผู้ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ ในขั้นตอนที่ 2 จะต้องดำเนินการจัดทำแบบรายละเอียดเบื้องต้น (Schematic design) ประเมินค่าก่อสร้างเบื้องต้น รายงานการวิเคราะห์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ เพื่อให้สามารถนำไปใช้เป็นโมเดลธุรกิจ และนำไปสู่การจัดหาผู้ร่วมทุนและการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่เป็นรูปธรรมต่อไป ข้อเสนอที่ได้รับคะแนนอันดับที่ 1 จะได้รับการสนับสนุนโอกาสในการจัดหาทุนเพื่อการพัฒนาสู่เมืองอัจฉริยะตามแบบที่พัฒนาขึ้นต่อไป

    

ก.พลังงาน น้อมนำรับพระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ชวนคนไทยดูแลสิ่งแวดล้อมปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ โครงการคุ้งบางกะเจ้าเฉลิมพระเกียรติ

กระทรวงพลังงาน ร่วมกับบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ภาคีเครือข่ายและหน่วยงานต่างๆ จัดพิธี “ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ โครงการคุ้งบางกะเจ้าเฉลิมพระเกียรติ” พร้อมชวนประชาชนคนไทยร่วมกันทำความดี รักษาสิ่งแวดล้อม และแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ

 

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่ากระทรวงพลังงานได้ร่วมกับบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ภาคีเครือข่ายและหน่วยงานต่างๆ รวมถึงประชาชนในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ ได้จัดพิธี “ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ โครงการคุ้งบางกะเจ้าเฉลิมพระเกียรติ” ขึ้น สำหรับต้นไม้ที่ใช้ปลูกในวันนี้ประกอบด้วยต้นโกงกาง ตะเคียนทองและต้นไม้ที่มีอยู่ในท้องถิ่น ซึ่งเป็นการพัฒนาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมพื้นที่สีเขียว ภายใต้โครงการคุ้งบางกะเจ้าเฉลิมพระเกียรติ

ซึ่งกระทรวงพลังงานได้จัดโครงการในครั้งนี้ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ครบ7 รอบ84 พรรษา 12 สิงหาคม 2559เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในโครงการบางกะเจ้าพระเกียรติฯ และเป็นการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ กระทรวงพลังงานจึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย รวมถึงประชาชนในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ ได้จัดพิธีปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ โครงการคุ้งบางกะเจ้าเฉลิมพระเกียรติฯ ขึ้น โดยต้นไม้ที่จะนำมาปลูกในวันนี้เป็นต้นไม้ที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น โกงกางโพทะเลตะเคียนทอง จำนวนประมาณ200 ต้น พื้นที่การปลูกประมาณ 3 ไร่ ณ ตำบลบางน้ำผึ้ง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ โดยหวังว่าต้นไม้ดังกล่าวจะกลายเป็นป่าอีกหนึ่งพื้นที่จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ให้ยั่งยืนยิ่งขึ้น

 

ในโอกาสนี้ กระทรวงพลังงานจึงขอเชิญชวนประชาชนคนไทยทุกคนช่วยกันทำความดีด้วยความมุ่งมั่น ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมวงศานุวงศ์ และสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักและเคารพยิ่งของปวงชนชาวไทยตลอดไป




 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานลงนาม สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (PTT EV Station)

วันนี้ (15 ส.ค. 59) พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือการให้บริการสถานีบริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (PTT EV Station) ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำ 6 ราย ได้แก่ บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด, ปอร์เช่ ประเทศไทย โดยบริษัท เอเอเอส ออโต้ เซอร์วิส จำกัด และ บริษัท วอลโว่ คาร์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยมี นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้การต้อนรับ
พลเอกอนันตพร เปิดเผยว่า “ความร่วมมือในการให้บริการ PTT EV Station ระหว่าง ปตท. และค่ายรถยนต์ชั้นนำทั้ง 6 ราย ในครั้งนี้ นับเป็นการตอบสนองนโยบายของกระทรวงพลังงานที่ได้วางกรอบแผนบูรณาการพลังงานแห่งชาติ ในเรื่องมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้ได้ 1,200,000 คัน ภายในปี 2579 เพื่อขับเคลื่อนให้แผนอนุรักษ์พลังงานสามารถลดการใช้พลังงานร้อยละ 30 ให้ได้ในปี 2579 เมื่อเทียบกับปี 2553
โดยภาครัฐได้ให้การสนับสนุนในเชิงนโยบาย อาทิ สิทธิประโยชน์ภาษีเงินได้และสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอื่นๆ ให้กับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ได้รับสิทธิ์การลดหย่อน หรือยกเว้นอากรขาเข้าในรุ่นรถยนต์ที่จะผลิต รวมถึงสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนหรือยกเว้นอากรขาเข้าชิ้นส่วนสำคัญซึ่งยังไม่สามารถมีการผลิตในประเทศ เป็นต้น”
นายเทวินทร์ เปิดเผยว่า “ปตท. ในฐานะหน่วยงานของรัฐ มีความยินดีและพร้อมที่จะสนองนโยบายของรัฐในเรื่องดังกล่าว โดยได้เริ่มศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2555 เพื่อสร้างองค์ความรู้และเตรียมความพร้อมรองรับธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบัน ปตท. มี PTT EV Station ที่มีเครื่องชาร์จไฟที่ได้มาตรฐานยุโรป (IEC) และมาตรฐานญี่ปุ่น (CHAdeMO) ทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่ อาคาร ปตท. สำนักงานใหญ่, สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา, สถานีบริการน้ำมัน ปตท. สาขาแหลมฉบังขาออก จ.ชลบุรี และ สถานีบริการน้ำมัน ปตท. สาขา The Crystal PTT ถ.ชัยพฤกษ์ โดยมีแผนที่จะขยายเพิ่ม 2 สถานีภายในสิ้นปีนี้ และเพิ่มเป็น 20 สถานี ภายในปี 2560
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการร่วมกันพัฒนาและทดลองระบบการใช้งาน PTT EV Station พร้อมศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาธุรกิจเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า โดย ปตท. จะเป็นผู้ก่อสร้างสถานีบริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าตามแผนธุรกิจของ ปตท. และ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ทั้ง 6 ราย จะเป็นผู้ศึกษาและพัฒนารถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าตามแผนธุรกิจของแต่ละบริษัทต่อไป ทั้งนี้ เพื่อสร้างการรับรู้และความมั่นใจสู่สาธารณะในการใช้ไฟฟ้าในรถยนต์ต่อไป”
นับเป็นอีกความมุ่งมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีในด้านต่างๆ ให้รองรับการปรับเปลี่ยนสู่ยานยนต์ไฟฟ้าในระยะยาว ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพน้ำมันและสถานีบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้เดินทางได้รับความสะดวกสบายและสร้างความมั่นใจในแบรนด์”ปตท. พลังที่ยั่งยืน” ตลอดไป

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมลงนามถวายพระพร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

วันนี้ (11สิงหาคม 2559) พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมทั้งคณะผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงานร่วมลงนามถวายพระพร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง ให้พระองค์ทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีต่อประเทศชาติและปวงชนชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้

 

Page 1 of 2
1 2