เตือน !!! มีการแอบอ้างชื่อ “กระทรวงพลังงาน” อาศัยสถานการณ์ช่วงโควิด

เตือน !!! มีการแอบอ้างชื่อ “กระทรวงพลังงาน” อาศัยสถานการณ์ช่วงโควิด
หลอกให้ร่วมลงทุนจำหน่ายอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

(เพิ่มเติม…)

ก.พลังงานแจงไม่ได้ยกเลิกส่งเสริม ‘พลังงานชุมชน’และโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน

กระทรวงพลังงานชี้แจงกรณีมีกระแสข่าวการยกเลิกนโยบายเกี่ยวกับ ‘พลังงานชุมชน’ ว่าไม่เป็นความจริง เพราะปัจจุบันนโยบายกระทรวงพลังงานยังคงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนพลังงานชุมชนอย่างต่อเนื่อง และเดินหน้าโรงไฟฟ้าชุมชนในรูปเบบที่เกิดประโยชน์กับเกษตรกรและชุมชนสูงสุด

นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงกรณีที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับประเด็นที่ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่จะมายกเลิกพลังงานชุมชน (และอาจหมายรวมถึงโรงไฟฟ้าชุมชน) ทั้งที่เป็นการกระจายโอกาสสู่ท้องถิ่น เกษตรกรสามารถมีส่วนร่วมในการผลิตไบโอแก๊ส นั้น ขอเรียนชี้แจงว่ากระทรวงพลังงานไม่ได้มีนโยบายยกเลิกโครงการพลังงานชุมชนและโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนแต่อย่างใด จะเห็นได้จากตามแผนปฏิบัติราชการราย 5 ปี (พ.ศ. 2563 – พ.ศ.2565) ของกระทรวงพลังงานมีเรื่องการสร้างความยั่งยืนและเข้าถึงประชาชน ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนงานที่สำคัญ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีสัดส่วนการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนในประเทศเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับทิศทางการส่งเสริมการนำแหล่งพลังงานในประเทศมาใช้ และส่งเสริมพลังงานสะอาด เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม รวมถึงยกระดับรายได้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีแนวทางการพัฒนาที่สนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดการสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยเทคโนโลยีพลังงานที่เหมาะสม ผ่านการส่งเสริมการใช้ การลงทุนด้านพลังงานทดแทน ซึ่งก็รวมถึงโครงการผลิตก๊าซชีวภาพ (ไบโอแก๊ส) และชีวมวลรวมอยู่ด้วย และการอนุรักษ์พลังงานในชุมชน พร้อมเสริมสร้างศักยภาพและเตรียมความพร้อมให้กับส่วนท้องถิ่น ชุมชน และเครือข่ายภาคประชาชน นอกจากนี้ ในส่วนของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนก็จะมีการเดินหน้าโครงการนำร่อง โดยมีการทบทวนหลักเกณ์ของโครงการเพื่อให้ประโยชน์เกิดขึ้นกับเกษตรกรและชุมชนอย่างแท้จริงและมีความยั่งยืน

ทั้งนี้ โดยมีแผนงานโครงการสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนด้านการส่งเสริมชุมชนที่ชัดเจน เช่น แผนงานโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่อง สถานีพลังงานชุมชน โครงการเสริมสมรรถนะโครงการเตาชีวมวล โครงการโซลาร์สูบน้ำ โครงการโซลาร์อบแห้ง และกรอบทิศทางของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจะเน้นโครงการพลังงานชุมชน เพื่อให้เกิดการจ้างงาน และสร้างอาชีพด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนในชุมชน เป็นต้น

กระทรวงพลังงาน ประกาศ Work From Home

ช่องทางการติดต่อกระทรวงพลังงานและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน

ประกาศกระทรวงพลังงาน
เรื่อง มาตรการในการปฏิบัติงานเพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ประกาศสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน
เรื่อง แนวทางการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งกรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ดาวน์โหลด ประกาศ คลิกที่นี่

ฺB10 ดีเซลพื้นฐานใหม่ ช่วยเกษตรกรไทย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม


1. หลักการ หรือที่มาของการสนับสนุนใช้ B 10

กระทรวงพลังงานมีมาตรการในการเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันไบโอดีเซล (ฺB 100) ในภาคพลังงานให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน โดยมีเป้าหมายในการสร้างสมดุลปาล์มน้ำมันทั้งระบบของประเทศ และได้กำหนดเป้าหมายการใช้ไบโอดีเซล (B 100) ให้ได้ประมาณ 7.0 ล้านลิตร /วัน  ซึ่งจะสามารถดูดซับ CPO ได้ประมาณ 2 ใน 3 ของปริมาณการผลิตทั้งหมดของประเทศในปัจจุบัน (หรือประมาณ 2.2 ล้านตัน/ปี)

กรมธุรกิจพลังงาน จึงได้ดำเนินการเพื่อสนับสนุนนโยบาย โดยได้ออกประกาศกำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 10 และประกาศกำหนดลักษณะและคุณภาพของไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมัน (B 100) และจะกำหนดให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 10 เป็นน้ำมันดีเซลฐานสำหรับรถดีเซลทั่วไป  โดยมีน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 7 เป็นน้ำมันทางเลือกสำหรับรถเก่าและรถยุโรป และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 20 เป็นน้ำมันทางเลือกสำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป

2. ปัจจุบันน้ำมันดีเซลมีกี่ประเภท ต่างกันอย่างไร / คุณภาพต่างกันหรือไม่

น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 10 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 20 โดยน้ำมันดีเซลทั้ง 3 ประเภท มีคุณภาพเหมือนกันทุกประการ แต่มีความแตกต่างกันที่สัดส่วนผสมไบโอดีเซล คือ น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดามีสัดส่วนไบโอดีเซล 6.6 – 7% น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 10 มีสัดส่วนไบโอดีเซล 9 – 10% และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 20 มีสัดส่วนไบโอดีเซล 19 – 20%

3. การใช้ B 10 จะกระทบเครื่องยนต์หรือไม่ /รถรุ่นไหน ยี่ห้อไหน ปีไหน ที่สามารถใช้ได้บ้าง

การใช้น้ำมันดีเซล B 10 กับเครื่องยนต์ที่สามารถรองรับการใช้งานจะไม่มีผลกระทบกับเครื่องยนต์ เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์ให้การรับรองการใช้งานไว้เรียบร้อยแล้ว โดยผู้ที่มีความสนใจจะใช้น้ำมันดีเซล B 10 สามารถตรวจสอบรุ่นรถ ได้จากประกาศกรมธุรกิจพลังงานเรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562 หรือที่เว็บไซต์กรมธุรกิจพลังงาน คลิกที่นี่ 

4. ปัจจุบันมีรถใช้ดีเซลกี่คัน และใช้ B10 ได้กี่คัน

ณ เดือนกรกฎาคม 2562 มีรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซล ประมาณ 10.5 ล้านคัน เป็นรถที่ใช้น้ำมันดีเซล B 10 ได้ ประมาณ 5.3 ล้านคัน หรือ 50% ที่เหลือจะเป็นรถยนต์ดีเซลราคาแพง เช่น Benz Hyundai Tata BMW Honda Mazda Audi Peugeot Volvo(เล็ก) และรถเก่ามากๆ

5. รถที่เติม B10 ไม่ได้จะทำอย่างไร

รถยนต์ที่ไม่สามารถเติม น้ำมันดีเซล B 10 ได้ เช่น รถที่มีอายุการใช้งานมานานแล้ว รถยุโรป ได้แก่ Benz Hyundai Tata BMW Honda Mazda Audi Peugeot  Volvo (เล็ก) ยังสามารถเติมน้ำมันดีเซล B 7 ได้ ซึ่งยังมีจำหน่ายตามสถานีบริการน้ำมัน

6. หากผู้บริโภคไม่รู้รุ่นรถ จะหาหรือติดต่อข้อมูลได้จากที่ไหนอย่างไร มีคู่มือหรือไม่

ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบรุ่นรถได้ที่เว็บไซด์ กรมธุรกิจพลังงาน www.doeb.go.th  ศูนย์บริการหรือศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ของผู้ผลิตรถยนต์แต่ละยี่ห้อ

7. มี Call Center ให้ข้อมูลหรือไม่ หรือเบอร์ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ ศูนย์บริการ หรือ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ ของผู้ผลิตรถยนต์แต่ละยี่ห้อ เพื่อรับคำแนะนำก่อนใช้

8. หากเป็นรถรุ่นเก่าที่เติมไม่ได้ แต่เข้าใจผิดคิดว่าเติมได้จะส่งผลต่อเครื่องยนต์หรือไม่อย่างไร จะต้องติดต่อเคลมความเสียหายได้อย่างไร

ข้อแนะนำสำหรับรถรุ่นเก่าที่ต้องการเติมน้ำมันดีเซล B 10 ก่อนเติมควรติดต่อศูนย์บริการ/ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ ของผู้ผลิตรถยนต์แต่ละยี่ห้อ เพื่อรับคำแนะนำและทำการตั้งค่าเครื่องยนต์ให้เหมาะสม ก่อนเริ่มใช้งานเชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 10

9. ข้อแนะนำปรับแต่งเครื่องยนต์ที่ชิ้นส่วนอะไหล่ใดบ้างสำหรับรถเก่า

ผู้บริโภคที่ต้องการใช้เชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 10 ติดต่อศูนย์บริการ หรือศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ของผู้ผลิตรถแต่ละยี่ห้อ เพื่อรับคำแนะนำและทำการตั้งค่าเครื่องยนต์ให้เหมาะสม ก่อนเริ่มใช้งานเชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 10

10. ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการรณรงค์ให้ใช้ B10 มีอะไรบ้าง

1. สร้างสมดุลปาล์มน้ำมันทั้งระบบในประเทศ ปริมาณการใช้ (ภาคพลังงาน และเพื่อการบริโภค)
2. สร้างเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมัน (ทำให้ราคาสูงขึ้น)
3. ช่วยลดมลพิษ (ปริมาณฝุ่น PM 2.5) (เนื่องจากการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในสัดส่วนที่สูงขึ้น)

11. ในแง่ของการประหยัดนำเข้าพลังงาน ตัวเลขที่ประหยัดได้ / ตัวเลขนำเข้าดีเซลปัจจุบัน และคาดว่าเมื่อใช้ B 10 จะลดการนำเข้าได้เท่าไหร่ /เป็นมูลค่าเงินเท่าไหร่

เนื่องจากประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมันดิบมาผลิตเป็นน้ำมันสำเร็จรูป ดังนั้น นโยบายการเพิ่มสัดส่วนการผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพในสัดส่วนที่สูงขึ้น จะทำให้สามารถประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงที่มาจากการนำเข้าได้มากขึ้นตามสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของเชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น ปกติการใช้ B 7 วันละประมาณ 60 ล้านลิตร

ดังนั้น หากดีเซล B 10 เป็นดีเซลฐาน ทำให้สามารถประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3 ของปริมาณการใช้ดีเซล (หรือประมาณวันละ 1.8 ล้านลิตร)

12. ตามแผน Time Line ของกระทรวงพลังงานในการจำหน่าย B 10 วางไว้อย่างไร

– วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันให้เพิ่มปริมาณการจำหน่ายและเพิ่มจำนวนสถานีบริการน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 10
– วันที่ 1 ธันวาคม 2562 ประกาศกำหนดลักษณะและคุณภาพไบโอดีเซล (B 100) เหลือชนิดเดียว
– วันที่ 1 มกราคม 2563 ทุกคลังน้ำมันของผู้ค้าน้ำมันมีการผลิตน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 10

– วันที่ 1 มีนาคม 2563 น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 10 มีจำหน่ายในทุกสถานี

13. ผู้เกี่ยวข้องพร้อมอย่างไร ขอข้อมูลทั้งโรงกลั่น ผู้ผลิต B 100 ปั๊มน้ำมันทั่วประเทศ ปตท.นำร่องอย่างไร /ปั๊มอื่นๆ คืบหน้าอย่างไร

กรมธุรกิจพลังงาน มีการประชุมหารือร่วมกันกับผู้ที่มี่ส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ได้แก่ โรงกลั่นน้ำมัน ผู้ผลิต B 100 ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ที่จำหน่ายน้ำมันดีเซล รวมทั้งผู้ผลิตรถยนต์ ทุกฝ่ายมีความพร้อมในการสนับสนุนนโยบายและผลักดันให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 10 เป็นน้ำมันดีเซลฐานของประเทศ โดยมีระยะเวลาในการดำเนินการ (ตามข้อ 12)

14. ตรวจสอบสถานีบริการน้ำมันที่จำหน่าย น้ำมันดีเซล B 10 ได้ที่ไหน

สามารถตรวจสอบสถานีบริการน้ำมันที่จำหน่าย น้ำมันดีเซล B 10 ได้ที่ เว็บไซต์กรมธุรกิจพลังงาน ในแบนเนอร์ “B 10 น้ำมันดีเซลฐานของประเทศไทย” ทั้งนี้ ณ เดือนกันยายน 2562 มีจำนวนสถานีบริการน้ำมันดีเซล B 10 รวม 47 แห่ง

15. มาตรการจูงใจจากการลดราคาต่ำกว่า 2 บาทจะอยู่นานไปถึงเมื่อไหร่

มติ กบง. วันที่ 30 สิงหาคม 2562  เห็นชอบให้ส่วนต่างราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 10 ต่ำกว่าราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 7 ที่ 2 บาท/ลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป (ไม่ได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุด)

16. จะสร้างความมั่นใจผู้บริโภคได้อย่างไร

กรมธุรกิจพลังงานได้กำหนดมาตรฐานคุณภาพของน้ำมันดีเซล B 10 ซึ่งเป็นที่ยอมรับของผู้ผลิตรถยนต์ อีกทั้ง กรมธุรกิจพลังงานได้มีการกำกับดูแลและตรวจสอบคุณภาพน้ำมันตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการจำหน่ายที่สถานีบริการ ดังนั้น ประชาชนจึงสามารถมั่นใจในคุณภาพของน้ำมันดีเซล B 10 ได้

17. รายชื่อค่ายรถที่พร้อมเข้าร่วม

TOYOTA,  ISUZU, NISSAN, FORD, FUSO, Chevrolet,  MITSUBISHI,  Volvo Trucks, Hino, MAN, SCANIA, UD Trucks, Mercedes-Benz

18. List รุ่นรถที่สามารถใช้ได้

สามารถตรวจสอบรุ่นรถ ได้จากประกาศกรมธุรกิจพลังงานเรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562 หรือที่เว็บไซต์กรมธุรกิจพลังงาน ตามลิงก์  คลิกที่นี่

19. เชื่อมโยงถึงการสนับสนุน B 20 ว่าขณะนี้ สนับสนุนอย่างไร /ให้รถประเภทใดบ้าง

ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นมา น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 20 ราคายังคงต่ำกว่าราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 7 อยู่ที่ 3 บาท/ลิตร และต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 10 ที่ 1 บาท/ลิตร โดยกลุ่มรถที่ใช้ได้ ตามรายละเอียดแนบท้ายประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล พ.ศ. 2562

โครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซปิโตรเลียมเหลวของประเทศไทยกับมาเลเซีย

โครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซปิโตรเลียมเหลวของประเทศไทยกับมาเลเซีย

โครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ของประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย มีความแตกต่างกัน มีรายละเอียด ดังนี้

ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง

  • ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศไทยถูกกำหนดโดยกลไกการค้าเสรีที่เปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลก ซึ่งกระทรวงพลังงานมีการติดตามดูแลราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
  • ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยสูงกว่ามาเลเซียหรือบางประเทศในภูมิภาคอาเซียน คือ โครงสร้างราคาน้ำมัน ซึ่งมีความแตกต่างกันตามนโยบายและบริบทของแต่ละประเทศ โดยโครงสร้างราคาน้ำมันของประเทศไทย ประกอบด้วย (1) ราคาเนื้อน้ำมัน ได้แก่ ค่าการกลั่น และค่าเนื้อน้ำมันดิบ ที่อ้างอิงตามราคาตลาดกลางของภูมิภาค โดยประเทศในภูมิภาคอาเซียนอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาค (2) ภาษีต่างๆ ได้แก่ ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล และภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจัดเก็บเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศและท้องถิ่นด้านต่างๆ (3) กองทุนต่างๆ ได้แก่ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จัดเก็บเพื่อเป็นกลไกในการรักษาเสถียรภาพระดับราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศหากเกิดการผันผวนของราคาน้ำมัน
    ในตลาดโลก และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งจัดเก็บเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน การเพิ่มประสิทธิภาพ และลดใช้พลังงานของประเทศ (4) ค่าการตลาด ได้แก่ ส่วนที่เป็นต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันทั้งระบบ ซึ่งรวมถึงคลังน้ำมัน ระบบขนส่ง และสถานีบริการ
  • ปัจจัยตามโครงสร้างราคาน้ำมันที่ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยสูงกว่ามาเลเซีย สามารถอธิบายได้ดังนี้
  • ด้านต้นทุนเนื้อน้ำมัน
    • ราคาน้ำมันของประเทศไทย มาเลเซีย และประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอ้างอิงตลาดสิงคโปร์เช่นเดียวกัน แต่ต้นทุนค่าขนส่งจากตลาดสิงคโปร์มายังประเทศไทยสูงกว่ามาเลเซียเนื่องจากมีระยะทางมากกว่า ทำให้ต้นทุนเนื้อน้ำมันของไทยสูงกว่ามาเลเซีย
    • คุณภาพน้ำมันของไทย (ปัจจุบันใช้ ยูโร 4) สูงกว่าคุณภาพน้ำมันของประเทศเพื่อนบ้าน
      บางประเทศ ทำให้มีต้นทุนในการผลิตที่สูงกว่า
    • นโยบายสนับสนุนพลังงานทดแทนในประเทศไทยที่มีเชื้อเพลิงชีวภาพ (เอทานอล และไบโอดีเซล) เป็นส่วนผสมของน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 E10, E20, E85, 91 E10 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี7 บี10 และบี20 ซึ่งมีราคาสูงกว่าราคาน้ำมันปกติ ทำให้ต้นทุนเนื้อน้ำมันสูงกว่าน้ำมันของมาเลเซีย
  • ด้านภาษีและกองทุน
  • โครงสร้างราคาน้ำมันของประเทศไทยมีการเก็บภาษีและเงินกองทุน ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทยสูงขึ้นจากต้นทุนเนื้อน้ำมัน
  • ในภูมิภาคอาเซียนแต่ละประเทศมีนโยบายการจัดเก็บภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันบางประเทศ อาทิ มาเลเซีย ไม่มีการจัดเก็บภาษีและกองทุน เนื่องจากมีรายได้จากการผลิตและส่งออกน้ำมันดังกล่าวในการบริหารประเทศโดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณจากการจัดเก็บภาษีน้ำมัน ในขณะที่ประเทศไทย
    เป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิซึ่งจำเป็นต้องจัดเก็บภาษีน้ำมันเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ
  • อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยกับประเทศ
    ในภูมิภาคอาเซียน พบว่าราคาของประเทศไทยไม่ได้มีราคาสูงหรือต่ำไปกว่ามากตามที่มัมีการกล่าวอ้าง ดังเช่นข้อมูลราคาขายปลีกราคาน้ำมันเชื้อเพลิงดังภาพที่ 1 ต่อไปนี้

ภาพที่ 1 เปรียบเทียบราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินและดีเซลของประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคอาเซียน

 

ด้านก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)

  • การจัดหาก๊าซ LPG ที่สำคัญของประเทศไทยมาจาก 3 แหล่ง ได้แก่ การผลิตจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ สัดส่วนร้อยละ 57 ของการจัดหาก๊าซทั้งหมด การผลิตจากโรงกลั่นน้ำมัน สัดส่วนร้อยละ 34และการนำเข้าก๊าซ LPG จากต่างประเทศ สัดส่วนร้อยละ 9
  • ในอดีตก่อนปี 2558 ราคาก๊าซ LPG ณ โรงกลั่น (ราคาเนื้อก๊าซ LPG ก่อนรวมภาษี กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอื่นๆ) ถูกกำหนดไว้ที่ 333 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน โดยกำหนดให้โรงแยกก๊าซธรรมชาติขายก๊าซ LPG ในราคาดังกล่าวซึ่งต่ำกว่าราคาตลาดโลก (ช่วงปี 2549 -2557 ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลกอยู่ที่ประมาณ 400-1,000 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน) ในส่วนการนำเข้าก๊าซ LPG รัฐต้องชดเชยส่วนต่างระหว่างราคานำเข้าจริงเทียบกับราคา 333 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ซึ่งการกำหนดราคาดังกล่าวเป็นการกำหนดราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตจริง แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนในภาคครัวเรือนซึ่งเป็นผู้ใช้ก๊าซส่วนใหญ่ของประเทศ
  • อย่างไรก็ดี การตรึงราคาก๊าซ LPG ไว้ในระดับที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตและจัดหาต่อเนื่องเป็นเวลานาน ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการใช้ก๊าซ LPG ในภาคส่วนต่างๆ เกิดการบิดเบือนโครงสร้างตลาดจากความเป็นจริง จนนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น ภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรมเปลี่ยนมาใช้ก๊าซ LPG แทนน้ำมันเบนซินและน้ำมันเตา เนื่องจากราคาขายปลีกก๊าซ LPG อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงประเภทอื่น เกิดปัญหาการลักลอบส่งออก LPG ตามแนวชายแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องด้วยการกำหนดราคาขายปลีกก๊าซ LPG ในประเทศที่ต่ำกว่ามาก นอกจากนี้ การตรึงราคาผ่านการอุดหนุนก่อให้เกิดภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และความต้องการที่เพิ่มขึ้นทำให้ประเทศไทยจากเดิมที่ผลิตก๊าซ LPG เหลือจนส่งออกเปลี่ยนเป็นต้องนำเข้าตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา
  • ปัจจุบันรัฐจึงพยายามปรับโครงสร้างราคาให้ราคาสะท้อนต้นทุนการผลิตและจัดหามากยิ่งขึ้น ลดการบิดเบือนโครงสร้างตลาดที่นำไปสู่ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในอดีต แต่ยังคงมีการใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกก๊าซ LPG ในประเทศให้อยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและภาคเศรษฐกิจน้อยที่สุด ที่ราคา 363 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม
  • ทั้งนี้ หากพิจารณราคาขายปลีกก๊าซ LPG ในภูมิภาคอาเซียน พบว่ามีเพียงประเทศมาเลเซีย และกัมพูชา ที่มีราคาขายปลีกก๊าซ LPG ภาคครัวเรือนต่ำกว่าประเทศไทย เนื่องจากมีการอุดหนุนราคาโดยภาครัฐมากกว่า ในขณะที่ประเทศอื่นๆ มีราคาสูงกว่าประเทศไทย ดังแสดงในภาพที่ 2

ภาพที่ 2 เปรียบเทียบราคาขายปลีกก๊าซ LPG ภาคครัวเรือนของประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคอาเซียน

ทั้งนี้ ข้อร้องเรียนให้พิจารณาปรับโครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซ LPG ให้เท่ากับประเทศมาเลเซีย และราคา ณ ปี พ.ศ. 2520 ดังกล่าวข้างต้น จึงต้องพิจารณาถึงบริบทสถานการณ์ตลาดน้ำมันและก๊าซ LPG
ในปัจจุบันซึ่งเป็นการค้าเสรีที่ราคาเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามตลาดโลก ตลอดจนคำนึงถึงความจำเป็นของการจัดเก็บภาษีและกองทุนต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศและท้องถิ่น รวมทั้งความจำเป็นในการรักษาเสถียรภาพระดับราคาขายปลีกน้ำมันและก๊าซ LPG ในประเทศกรณีเกิดภาวะวิกฤติ ทั้งนี้ ด้วยบริบทของ ปัจจัยในอดีตที่แตกต่างจากปัจจุบัน โดยในปี พ.ศ. 2520 ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับประมาณ 25 -27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ต่ำกว่าราคาน้ำมันดิบในปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ระดับ 60 – 65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ถึง 2 – 3 เท่า ประกอบกับปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยนที่ส่งผลต่อต้นทุนสินค้าและบริการ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 30.59 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ สูงกว่าปี 2520 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 20.34 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ถึงร้อยละ 50 ตลอดจนปัจจัยด้านภาวะเงินเฟ้อที่ทำให้มูลค่าเงินในปัจจุบันถูกกว่าเมื่อปี 2520 โดยในปี 2520 ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลอยู่ที่ประมาณ 2.50 – 2.60 บาทต่อลิตร ขณะที่ราคาก๋วยเตี๋ยวอยู่ที่ประมาณชามละ 5 บาท เปรียบเทียบได้กับปัจจุบันปี 2562 ซึ่งราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลอยู่ที่ประมาณ 22 – 25 บาทต่อลิตร และราคาก๋วยเตี๋ยวอยู่ที่ประมาณชามละ 40 – 50 บาท เช่นกัน สถานการณ์ราคาน้ำมันในประเทศของปี 2520 และปัจจุบัน จึงอยู่ในภาวะใกล้เคียงกัน ดังนั้น ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันและก๊าซ LPG ในปัจจุบันปรับตัวเพิ่มขึ้นตามปัจจัยพื้นฐานที่เปลี่ยนแปลงไป

อย่างไรก็ดี กระทรวงพลังงานได้มีการติดตามดูแลราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ LPG ให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยตระหนักถึงผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนเป็นสำคัญยิ่ง

—————————————————-

 

ก.พลังงานพร้อมรับมือสถานการณ์“เรือน้ำมันอิหร่านระเบิด”

ก.พลังงานพร้อมรับมือสถานการณ์“เรือน้ำมันอิหร่านระเบิด”  แจงปริมาณน้ำมันมีใช้เพียงพอสถานการณ์ พร้อมใช้กองทุนน้ำมันพยุงราคาขายปลีก

กระทรวงพลังงานชี้แจงเตรียมพร้อมรับมือกรณีเกิดเหตุการณ์เรือบรรทุกน้ำมันของอิหร่านระเบิด ทั้งปริมาณน้ำมันยังเพียงพอต่อการใช้ได้ 51 วัน และให้ความมั่นกับประชาชนว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันเพราะสามารถใช้กลไกบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาช่วยพยุงราคาไม่ให้กระทบค่าครองชีพ

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า กรณีเกิดเหตุเรือบรรทุกน้ำมันของประเทศอิหร่านระเบิดและไฟลุกนอกเมืองเจดดาห์ เมืองท่าของซาอุดิอาระเบียนั้น กระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และขอให้ประชาชนมั่นใจอย่าวิตกกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าว เพราะกระทรวงพลังงานมีการเตรียมความพร้อมอยู่ตลอดเวลา โดยภาพรวมไทยยังมีปริมาณสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงใช้ได้ประมาณ 51วันโดย ณ วันที่ 10 ตุลาคม2562 ไทยมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบประมาณ 2,964 ล้านลิตร ปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างขนส่งอีกประมาณ1,319 ล้านลิตร น้ำมันสำเร็จรูปประมาณ1,752 ล้านลิตร รวมจำนวนวันที่สามารถใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้ทั้งหมด 51 วัน ส่วนปริมาณสำรองก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม มีประมาณ 103 ล้านกิโลกรัม สำรองใช้ได้รวม 10 วัน โดยหากใช้เฉพาะในภาคครัวเรือนอย่างเดียวก็จะสามารถใช้ได้ 18 วัน

“ในด้านราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ หากมีความผันผวนที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนก็สามารถนำกลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาเป็นเครื่องมือช่วยลดผลกระทบจากราคาน้ำมันในตลาดโลก จึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่ากระทรวงพลังงานจะดูแลไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพของพี่น้องประชาชนทั้งนี้กระทรวงพลังงานจะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเพื่อสื่อสารสร้างความมั่นใจต่อประชาชนต่อไป”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว

คติธรรม “พละ ๔ ประการ” เนื่องในโอกาสครบรอบ ๑๗ ปี กระทรวงพลังงาน

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงพระมหากรุณาประทานพระคติธรรม “พละ ๔ ประการ” ให้กับกระทรวงพลังงาน เนื่องในโอกาสครบรอบ ๑๗ ปี วันคล้ายวันสถาปนา ๓ ตุลาคม ๒๕๖๒

การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 37 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง

การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 37 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง

ความสำคัญของกรอบความร่วมมืออาเซียนด้านพลังงาน และที่มาของการประชุม AMEM

ในปี พ.ศ. 2562 ประเทศไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ทั้งนี้ ในด้านพลังงานประเทศไทยจะต้องเป็นเจ้าภาพในการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ภายในปีดังกล่าวอีกด้วย ซึ่งเป็นไปตามพันธกรณีที่กำหนดไว้ตามกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) ซึ่งกำหนดให้ประเทศสมาชิกเสริมสร้างความร่วมมือในทั้ง ๓ เสาหลักของประชาคมอาเซียนจะเป็นฐานสำคัญที่จะทำให้อาเซียนสามารถตอบสนองต่อความต้องการและผลประโยชน์ของรัฐสมาชิก โดยประเทศไทยจะทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 37 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง (ASEAN Ministers on Energy Meeting and Associated Meetings: 37th AMEM) ระหว่างวันที่ 2-6 กันยายน 2562 ณ โรงแรม ดิ แอทธินี กรุงเทพฯ ตามมติที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 36 ซึ่งสาธารณรัฐสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพ

วัตถุประสงค์ของการจัดประชุม

การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีสำหรับการหารือความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างประเทศในอาเซียน ระหว่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา และระหว่างประเทศอาเซียนกับองค์กรระหว่างประเทศในประเด็นด้านพลังงานต่าง ๆ โดยกิจกรรมที่ดำเนินการร่วมกันจะช่วยส่งเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ทุกประเทศมีพลังงานใช้อย่างเพียงพอต่อความต้องการ และสามารถจัดหาพลังงานได้ในราคาที่เหมาะสมต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน รวมทั้ง ส่งเสริมพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งกรอบความร่วมมืออาเซียนด้านพลังงานดังกล่าว มีประเด็นใน 7 สาขาหลัก และ 1 เครือข่ายความร่วมมือที่สำคัญ ประกอบด้วย

1) ความเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน

2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับขนส่งก๊าซธรรมชาติ

3) การส่งเสริมเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด

4) การส่งเสริมพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ

5) การส่งเสริมพลังงานทดแทน

6) การส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและอนุรักษ์พลังงาน

7) การจัดทำนโยบายและแผนอาเซียนด้านพลังงาน รวมถึง เครือข่ายความร่วมมือด้านการกำกับกิจการพลังงาน

 

กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นระหว่างการประชุม

การจัดประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนครั้งที่ 37 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-6 กันยายน 2562 ณ กรุงเทพมหานคร ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรม ดังนี้

1. การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน เป็นการนำประเด็นกิจกรรมความร่วมมือ ความก้าวหน้าของการดำเนินกิจกรรมตามแผนปฏิบัติการด้านพลังงานอาเซียน ผลงานของคณะทำงานย่อยทั้ง 7 สาขา ผลงานภายใต้กรอบความร่วมมือกับคู่เจรจาและองค์กรระหว่างประเทศ ร่างแถลงการณ์ร่วมต่างๆ โดยจะมีการหารือเพื่อหาบทสรุปสำหรับนำเสนอให้กับรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน โดยกำหนดจัดประชุมจำนวน 2 วัน ระหว่างวันที่ 2-3  กันยายน 2562

2. การประชุมระดับรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน เป็นการสรุปกิจกรรมและผลงาน รวมทั้งข้อเสนอต่างๆ ภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียนด้านพลังงาน นำเสนอให้กับรัฐมนตรีพลังงานของ 10 ประเทศ เพื่อให้รับทราบและเห็นชอบแผนการดำเนินการในขั้นตอนต่อไป รวมทั้ง มีการหรือในระดับนโยบายระหว่างรัฐมนตรีพลังงานของประเทศคู่เจรจาและผู้นำองค์กรระหว่างประเทศด้านพลังงานในเรื่องการผลักดันกิจกรรมความร่วมมือในกรอบอาเซียนบวก เพื่อให้เกิดกรพัฒนาด้านพลังงานในภูมิภาคอาเซียนให้บรรลุตามเป้าหมายความมั่นคงด้านพลังงาน พลังงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพลังงานที่มีความยั่งยืนของภูมิภาคอาเซียน โดยกำหนดจัดประชุมจำนวน 2 วัน ระหว่างวันที่ 4-5  กันยายน 2562

3.การจัดงาน ASEAN Energy Business Forum (AEBF) เป็นการจัดงานคู่ขนานกับการประชุม โดยจะมีการจัดนิทรรศการด้านพลังงาน การแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานจากผู้ประกอบการและสถาบันการศึกษา รวมทั้งมีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการในหัวข้อที่น่าสนใจ ซึ่งในการจัดงานครั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้กำหนดหัวข้อหลักในการจัดงานนี้ คือ “Renewable Energy Innovation Week” ซึ่งจะมุ่งเน้นการจัดนิทรรศการและการแสดงผลงานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงานทดแทน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เข้าชมจากกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการด้านพลังงานของไทยได้ประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการด้านพลังงานที่ทันสมัยอีกด้วย โดยกำหนดจัดงาน AEBF คู่ขนานกับการจัดประชุม จำนวน 4 วัน ระหว่างวันที่ 2-5 กันยายน 2562

4. การจัดประชุมทวิภาคีระหว่างประเทศกลุ่มอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา โดยกระทรวงพลังงานจะเปิดโอกาสให้ผู้นำระดับรัฐมนตรีพลังงานและเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนได้มีโอกาสในการพบปะเจรจากันในระหว่างการประชุม โดยประเทศต่างๆ สามารถร้องขอให้ไทยในฐานะประเทศเจ้าภาพอำนวยความสะดวกให้กับประเทศที่ต้องการประชุมทวิภาคี ในช่วงระหว่างวันที่ 2-5  กันยายน 2562

5. การจัดพิธีการมอบรางวัล ASEAN Energy Awards จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีควบคู่กับการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนด้านพลังงาน เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันผลักดันให้เกิดการขยายการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน และผลักดันให้เกิดการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และพลังงานถ่านหินให้กับกลุ่มผู้ประกอบการของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยทุกปีจะมีตัวแทนจากกลุ่มประเทศอาเซียนส่งผลงาน/ผู้แทนเข้าประกวด ASEAN Energy Awards จำนวนมาก นอกจากนั้น ยังมีพิธีการประกาศเกียรติคุณรางวัลบุคคลดีเด่นด้านพลังงานในอาเซียนประจำปีเพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูบุคลากรที่มีบทบาทสำคัญในเวทีพลังงานของภูมิภาคอาเซียนในช่วงที่ผ่านมาอีกด้วย โดยกำหนดพิธีการมอบรางวัลดังกล่าว ในวันที่ 4กันยายน 2562

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

การจัดประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 37 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง จะเป็นการแสดงบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศเพื่อขับเคลื่อนความมั่นคงและความยั่งยืนทางพลังงานร่วมกับประเทศในภูมิภาค และยังถือเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานในภูมิภาคอาเซียน

การประชุมดังกล่าว จะช่วยผลักดันและสนับสนุนให้การดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน แผนบูรณาการพลังงานระยะยาว 2559-2579 สามารถบรรลุเป้าหมายในการเสริมสร้างความมั่นคง มีความยั่งยืนทางด้านพลังงาน เกิดการค้า การลงทุน และการพัฒนาด้านพลังงาน ซึ่งจะสอดคล้องเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านพลังงาน (ASEAN Plan of Action on Energy Cooperation: APAEC) พ.ศ. 2559-2568 ระยะที่ 1 พ.ศ. 2559-2563 อาทิ การซื้อขายไฟฟ้าแบบพหุภาคีระหว่าง ไทย สปป.ลาว และมาเลเซีย ซึ่งในอนาคตจะขยายไปยังประเทศอื่น ๆ การปรับมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในอาเซียน อาทิ อุปกรณ์ส่องสว่างและเครื่องปรับอากาศ การลดความเข้มการใช้พลังงานให้ได้ร้อยละ 20 ภายในปี พ.ศ. 2563 การผลักดันให้อาเซียนมีการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้นเป็นร้อยละ 23 ภายในปี 2568 การปรับปรุงฐานข้อมูลอาเซียนด้านพลังงานให้เป็นมาตรฐานสากลภายในปี พ.ศ. 2563 การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดเพื่อภาพลักษณ์ที่ดี การเสริมสร้างศักยภาพด้านพลังงานนิวเคลียร์ในด้านการกำกับดูแลเทคนิคและความปลอดภัย เป็นต้น

 

แนะนำ theme AMEM2019

แนวคิดหลักของการเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานในปีนี้คือ “Advancing Energy Transition Through Partnership and Innovation” ซึ่งจะมุ่งเน้นความร่วมมือของกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศคู่เจรจาในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงาน เพื่อให้ภูมิภาคอาเซียนสามารถก้าวเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่พลังงานที่มีความยั่งยืนในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของอาเซียนที่จะสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เพิ่มการเข้าถึงพลังงาน และสร้างพลังงานที่มีความยั่งยืนให้กับประชาชนในภูมิภาคอาเซียน

 

ความพร้อมของการเตรียมการเป็นเจ้าภาพ

กระทรวงพลังงาน ได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียนด้านพลังงาน โดยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 37 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 โดยมีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานและมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นคณะกรรมการ โดยมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและแนวทางการจัดเตรียมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 37 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 37 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านพลังงานสมัยพิเศษรวมทั้งได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านสารัตถะ พิธีการและอำนวยการ การรักษาความปลอดภัยและการจราจร การประชาสัมพันธ์ การเสนอของบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้การทำหน้าที่ประธานอาเซียนด้านพลังงานของไทยดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยมีประสิทธิภาพ สามารถส่งเสริมสถานะและบทบาทของไทยในอาเซียน

ดาวน์โหลดสื่อประชาสัมพันธ์

กระทรวงพลังงาน แจ้งได้รับหนังสือจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว พร้อมเร่งพิจารณาชี้แจงทันตามกำหนด และยืนยันที่ผ่านมาดำเนินการตามกรอบรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด

วันนี้ (5 ก.ค. 62) นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากกรณีที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้แจ้งผลการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่า กระทรวงพลังงานกำหนดนโยบายและแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า โดยให้เอกชนเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าทำให้สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของรัฐลดลงต่ำกว่าร้อยละ 51 อันขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 56 วรรคสอง โดยมีข้อเสนอแนะต่อกระทรวงพลังงานให้พิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอแนะให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการวินิจฉัย และดำเนินการให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ด ภายในกำหนด 10 ปี นับจากปี พ.ศ. 2562 นั้น

กระทรวงพลังงาน จะได้เร่งพิจารณาข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินดังกล่าวตามขั้นตอน พร้อมทั้งยืนยันว่าการดำเนินงานตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ที่ผ่านมา ที่ให้เอกชนมีบทบาทร่วมในการผลิตไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2532 จนถึงประกาศในแผน PDP2010 เมื่อปี 2553 แผน PDP2015 ปี 2558 และล่าสุด PDP2018 ที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 นั้น เป็นการดำเนินการตามกรอบของรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด

กระทรวงพลังงาน ติดตามสถานการณ์ความตรึงเครียดในตะวันออกกลาง

“กระทรวงพลังงาน ติดตามสถานการณ์ความตรึงเครียดในตะวันออกกลาง หลังโดรนของสหรัฐถูกโจมตีบริเวณช่องแคบฮอร์มุช พร้อมรับมือสถานการณ์หากวิกฤต

                  

จากกรณีที่โดรนสอดแนมของสหรัฐถูกโจมตีในน่านน้ำบริเวณช่องแคบฮอร์มุชของอิหร่านเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา นับเป็นเหตุการณ์เผชิญหน้าครั้งล่าสุด ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้น 5% นั้น  กระทรวงพลังงานได้สรุปความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ โดยมีปริมาณสำรองน้ำมันคงเหลือพอใช้ภายในประเทศได้ 49 วัน รายละเอียดดังนี้

ซึ่งเป็นปริมาณสำรองเพียงพอไม่ให้เกิดการขาดแคลนในระยะสั้นหากเกิดเหตุวิกฤต  โดยในขณะเดียวกันขอให้ผู้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงให้ช่วยกันประหยัดเพื่อรองรับเหตุการณ์   หากสถานการณ์ลุกลามส่งผลให้ราคาน้ำมันตลาดโลกและราคาในประเทศเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

ก.พลังงาน พร้อมรับมือ JDA-A18 ปิดซ่อมบำรุงประจำปี

นายสมภพ พัฒนอริยางกูล ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน โฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงการปิดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซธรรมชาติพื้นที่พัฒนาร่วมไทย- มาเลเซีย (JDA A-18) ที่จะหยุดซ่อมบำรุงประจำปี ในช่วงวันที่ 7-21 กรกฎาคม 2562 รวม 14 วัน ส่งผลให้ปริมาณก๊าซธรรมชาติหายไปจากระบบประมาณ 440 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ทำให้เกิดผลกระทบทั้งด้านเชื้อเพลิงเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าและการผลิตก๊าซ NGV โดยกระทรวงพลังงานได้ประสานไปยัง บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และ
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ออกมาตรการรองรับทั้งด้านความพร้อมในการผลิตไฟฟ้า และบริหารจัดการก๊าซ NGV เพื่อไม่ให้กระทบต่อการใช้ไฟฟ้าและการใช้ก๊าซ NGV ในพื้นที่ภาคใต้ ดังนี้

1.ระบบผลิต ให้ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงในช่วงที่ไม่มีก๊าซธรรมชาติจ่ายให้โรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 1 และ 2 ส่วนโรงไฟฟ้าภาคใต้ทุกโรง ได้แก่ โรงไฟฟ้าขนอม โรงไฟฟ้ากระบี่ เขื่อนรัชชประภา เขื่อนบางลาง และโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) พร้อมเดินเครื่อง และงดการหยุดซ่อมบำรุงทุกกรณีในช่วงที่แหล่งJDA-A18 หยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ ประสานการไฟฟ้ามาเลเซียเพื่อซื้อไฟฟ้าผ่านระบบ HVDC ในกรณีฉุกเฉิน

2.ด้านเชื้อเพลิง ให้สำรองน้ำมันดีเซล และน้ำมันเตาให้เพียงพอ โดยน้ำมันดีเซลที่โรงไฟฟ้าจะนะ สำรองขั้นต่ำ 18.6 ล้านลิตร น้ำมันเตาที่โรงไฟฟ้ากระบี่ สำรองขั้นต่ำ 10 ล้านลิตร ประสาน ปตท.เตรียมพร้อมจัดส่งน้ำมันเพิ่มเติมต่อเนื่องตลอดการซ่อมบำรุงระบบส่งไฟฟ้า เตรียมความพร้อมระบบสายส่งไฟฟ้าจากภาคกลางที่จ่ายไฟลงมาภาคใต้ให้พร้อมใช้งาน 100% และงดการทำงานบำรุงรักษา

3.บุคลากร เตรียมทีมงานพร้อมเข้าแก้ไขสถานการณ์ทันทีกรณีมีเหตุฉุกเฉิน ประสานงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอย่างใกล้ชิดและเตรียมแผนรองรับกรณีที่เกิดเหตุไฟฟ้าดับ

สำหรับมาตรการรองรับด้านก๊าซ NGV ปตท. ได้เตรียมการบรรจุก๊าซ NGV จัดเก็บใส่รถขนส่งก๊าซฯ เพื่อสำรองไว้ก่อนการหยุดผลิต รวมถึงมีการวางแผนจัดสรรก๊าซฯ จากพื้นที่ส่วนกลางขนส่งลงมายังพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง เพื่อให้เพียงพอต่อการให้บริการประชาชนในพื้นที่ครอบคลุมสถานีบริการก๊าซ NGV ใน 4 จังหวัด จำนวน 12 แห่ง ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี 4 แห่ง จังหวัด นครศรีธรรมราช 3 แห่ง จังหวัดสงขลา 4 แห่ง และจังหวัดปัตตานี 1 แห่ง ซึ่งปัจจุบันมีความต้องการใช้อยู่ที่ 90 ตัน/วัน

“นอกเหนือจากมาตรการข้างต้นแล้ว เพื่อให้เกิดการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ทางกระทรวงพลังงาน
ขอความร่วมมือจากภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ร่วมประหยัดพลังงานในช่วงเวลา 18.00-21.30 น. ในช่วงที่มีการหยุดจ่ายก๊าซฯจากแหล่ง JDA-A18 และขอยืนยันว่าได้เตรียมพร้อมทุกมาตรการเพื่อสร้างความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ในช่วงการหยุดซ่อมบำรุงครั้งนี้”     โฆษกกระทรวงพลังงานกล่าว

กระทรวงพลังงาน “เตือน” ประชาชน อย่าหลงเชื่อสรรพคุณบัตรพลังงาน ยืนยัน ไม่สามารถช่วยประหยัดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ค่าแก๊ส LPG และ NGV ได้ตามที่กล่าวอ้าง

กระทรวงพลังงาน “เตือน” ประชาชน อย่าหลงเชื่อสรรพคุณบัตรพลังงาน

ยืนยัน  ไม่สามารถช่วยประหยัดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ค่าแก๊ส LPG และ NGV ได้ตามที่กล่าวอ้าง

 

ตามที่มีการโฆษณาเผยแพร่ในโลกออนไลน์เกี่ยวกับเรื่องบัตรพลังงาน  หรือ บัตรพลัง หรือ การ์ดวิเศษ ว่ามีคุณสมบัติพิเศษ สามารถช่วยค่าไฟฟ้า ค่าแก๊ส LPG NGV และน้ำมัน ได้เพียงแค่นำไปแปะไว้ที่อุปกรณ์ไฟฟ้า ถังน้ำมัน หรือถังแก๊สนั้น  กระทรวงพลังงานขอยืนยันว่า ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด  ขอประชาชนอย่าหลงเชื่อ และตกเป็นเครื่องมือของมิจฉาชีพจนทำให้ต้องสูญเสียเงินทองโดยไม่จำเป็น

ทั้งนี้  ระบบไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้า หรือ ยานพาหนะ ต่างๆ มีระบบระบบควบคุมและการวัดค่าการใช้งานที่มีมาตรฐาน ตามการใช้งานจริง สำหรับการประหยัดพลังงานนั้น สามารถทำได้ด้วยวิธีง่ายๆ โดยปรับพฤติกรรมการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ ก็สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้โดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องพลังงาน สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่  ศูนย์บริการร่วมกระทรวงพลังงาน โทร 02 -140-7000

“โซล่าร์ภาคประชาชน” สามารถลงทะเบียนออนไลน์ได้แล้ววันนี้

“โซล่าร์ภาคประชาชน” สามารถลงทะเบียนออนไลน์ได้แล้ววันนี้
โดยหากอยู่ในพื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวงให้ลงทะเบียนที่
☀️☀️ https://spv.mea.or.th/
และสำหรับในพื้นที่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สามารถลงทะเบียนได้ที่
☀️☀️ https://ppim.pea.co.th/
โดยสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และหมดเขตรับลงทะเบียนภายในปี 2562
โดยการไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งจะทยอยประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการพิจารณา ทางเว็บไซต์ของการไฟฟ้าทั้ง 2 แห่ง  รวมทั้งส่งผลให้ผู้สมัครได้รับทราบทางอีเมลที่ได้แจ้งไว้ และลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าต่อไป

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถติดต่อเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
02-207-3599 หรือติดตามจากเว็บไซต์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน http://solar.erc.or.th/solar62/index.html

การไฟฟ้านครหลวง
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายเศรษฐกิจพลังไฟฟ้า
โทร. 0-2220-5774, 0-2220-5775, 0-2220-5000 ต่อ 4848
ในวันและเวลาทำการ (07.30 – 15.30 น.)

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
กองส่งเสริมพลังงานทดแทนและผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก
ฝ่ายส่งเสริมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (PEA)
โทร. 02-590-9753, 02-590-9763 และ 02-009-6053
1129 PEA Call Center

โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา

โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา
สำหรับภาคประชาชน ประเภทบ้านอยู่อาศัย

 

1. คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ 
1.1 บุคคลหรือนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า
1.2 เป็นผู้ที่มีเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าประเภทที่ 1 ตามประกาศอัตราค่าไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายจําหน่ายไม่เกิน 10 KW ต่อครัวเรือน

2. เป้าหมาย และปริมาณการรับซื้อรวม 100 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น
2.1. พื้นที่การไฟฟ้านครหลวงรวม 30 เมกะวัตต์
2.2. พื้นที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาครวม 70 เมกะวัตต์

3. เงื่อนไขในการพิจารณา และข้อยกเว้น
การพิจารณาแบบเรียงลําดับก่อนหลังตามความพร้อม (First come First served) โดยจะยึดถือวันและเวลาที่ได้รับแบบคําขอที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์ของเอกสารหลักฐานที่กําหนดเป็นสําคัญ

4. ราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกิน
ราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในอัตราไม่เกิน 1.68 บาท/หน่วย ระยะเวลารับซื้อ 10 ปี

การเปิดรับสมัคร
1. เปิดรับลงทะเบียนสําหรับผู้สนใจเข้าร่วมโครงการผ่านเว็บไซต์ของการไฟฟ้านครหลวงและเว็บไซต์ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ
ตั้งแต่ เดือนพฤษภาคม และหมดเขตรับลงทะเบียนภายในปี 2562 (จะแจ้งกำหนดการเปิดลงทะเบียนเร็วๆ นี้)
2. ทยอยประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562

3.ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งผู้เข้าร่วมโครงการต้องรับผิดชอบเองทั้งหมด

4.กําหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ภายในปี 2562

ทั้งนี้ท่านสามารถติดต่อสอบถาม ได้ที่สํานักงานคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน (สํานักงาน กกพ.)
เบอร์โทร 02-207-3599
หรือติดตามจากเว็บไซต์
สํานักงาน กกพ. www.erc.or.th
การไฟฟ้านครหลวง www.mea.or.th
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค www.pea.co.th

ฐานข้อมูลพลังงานรายภูมิภาค

กระทรวงพลังงาน ได้ปรับรูปโฉมใหม่  Provincial Energy Data “ฐานข้อมูลพลังงานรายภูมิภาค” ที่เป็นแหล่งบริการข้อมูลพลังงานไทยในระดับจังหวัด กลุ่มจังหวัด ภูมิภาค

สามารถดูรายละเอียดได้ที่นี่

ประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพน้ำมันดีเซล ปี 2562

ประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพน้ำมันดีเซล ปี 2562 โดยในประกาศฉบับนี้ จะชี้แจงข้อกำหนดต่างๆ และ รถยนต์ที่ผู้ผลิตรถยนต์รับรองให้สามารถใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 ได้

ดาวน์โหลดประกาศ คลิกที่นี่ 

ค้นหาข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับโครงการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 คลิกที่นี่

กระทรวงพลังงานขับเคลื่อน B20 เข้าปั๊ม ประชุมด่วนหารือค่ายรถ ผู้ค้าน้ำมัน หนุนรถขนาดใหญ่ใช้มากขึ้น

กระทรวงพลังงานขับเคลื่อน B20 เข้าปั๊ม ประชุมด่วนหารือค่ายรถ ผู้ค้าน้ำมัน หนุนรถขนาดใหญ่ใช้มากขึ้น

วันที่ 22 มกราคม 2562 ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
เรียกประชุมค่ายรถบรรทุกขนาดใหญ่ และผู้ค้าน้ำมัน หารือเตรียมความพร้อมขานรับนโยบายนายกรัฐมนตรี ในการขยายการใช้น้ำมัน B20 ในรถขนาดใหญ่ สารพัดประโยชน์ ทั้งช่วยเกษตรกรสวนปาล์ม
ลดค่าใช้จ่ายภาคขนส่ง และยังสามารถช่วยลดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM.2.5)
ดร.ศิริ เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน โดยกรมธุรกิจพลังงาน ได้นัดค่ายรถบรรทุกขนาดใหญ่ นำโดยนายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย บจ. ฮีโน่มอเตอร์เซลล์ (ประเทศไทย) บจ. เดมเลอร์ คอมเมอร์เชียล วีอีเคิลส์ (ประเทศไทย) และ บจ.ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ ผู้ค้าน้ำมันดีเซล 16 ราย ได้แก่ บมจ. ปตท บจ. เซลล์แห่งประเทศไทย บมจ. เอสโซ่ (ประเทศไทย) บจ. เชฟรอน (ไทย) บมจ. บางจาก
คอร์ปอเรชั่น บมจ. ไทยออยล์ บมจ. ไออาร์พีซี บมจ. ซัสโก้ บจ. ซัสโก้ดีลเลอร์ส บจ. พี.ซี. สยามปิโตรเลียม บมจ. สยามเฆมี บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล บมจ.สตาร์ปิโตรเลียม บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี บมจ. ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก และ บมจ. ปตท.บริหารธุรกิจค้าปลีก ประชุมหารือแนวทางขับเคลื่อนนโยบายขยายการใช้ B20 ในรถขนาดใหญ่ ให้มากขึ้น โดยได้ข้อสรุปคือ ให้ค่ายรถยนต์ดังกล่าวเสนอรุ่นรถในเครือตนเองที่สามารถใช้ B20 ได้ ภายในวันพรุ่งนี้ (23 ม.ค.62)
ส่วนด้านสถานีบริการ ปตท. บางจาก ซัสโก้ ประกาศความพร้อม สามารถให้บริการได้รวมมากกว่า 10 แห่ง เร็วๆนี้

ก.พลังงาน ชี้แจงประเด็นข่าวการเตรียมเปิดประมูล IPP ตามแผน PDP ใหม่

ก.พลังงาน  ขอย้ำยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา และต้องรอการพิจารณาจาก กพช. และนำเสนอ ครม. ก่อน จึงนำมาจัดทำแผนดำเนินการได้

ดร. สมภพ  พัฒนอริยางกูล  ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า  ตามที่ปรากฎข่าวจากสื่อมวลชน ในวันนี้ (11 มค.) ว่า กระทรวงพลังงาน ได้เตรียมพร้อมเปิดการประมูลโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) รอบที่ 4 ในภาคตะวันตก กำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 1,400 เมกะวัตต์ ในช่วงปี 2562 – 2563 และจะจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบประมาณปี 2568 ซึ่งเป็นประเด็นเผยแพร่เนื้อหาข่าวในสื่อต่าง ๆ นั้น

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ขอชี้แจงว่า ขณะนี้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยฉบับใหม่ (PDP) ยังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ให้ความเห็นชอบ ซึ่งเบื้องต้น จะมีกำหนดการประชุมในวันพฤหัสบดีที่ 24 มกราคม 2562  โดยกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมในแนวทางต่างๆ ทั้งในการประมูล หรือต่ออายุสัญญาโรงไฟฟ้าทุกประเภทให้สอดคล้องกับแผน PDP ฉบับใหม่ รวมทั้งจะพิจารณาความต้องการไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศในช่วงขณะนั้นประกอบด้วย โดยเมื่อ กพช. ให้ความเห็นชอบและนำเสนอคณะรัฐมนตรีแล้ว กระทรวงพลังงานจะนำแผน PDP มาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนดำเนินการหรือ Action Plan ต่อไป

แถลงการณ์กระทรวงพลังงานฉบับที่ 5/2562 สถานการณ์พายุโซนร้อน “ปาบึก”

แถลงการณ์กระทรวงพลังงานฉบับที่ 5/2562
สถานการณ์พายุโซนร้อน “ปาบึก” ที่ส่งผลต่อการผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย

กระทรวงพลังงาน : วันที่ 6 มกราคม 2562 เวลา 16.00 น.

รายงานความคืบหน้าสถานการณ์พายุโซนร้อนปาบึก (PABUK) ขณะนี้พายุได้เคลื่อนที่ผ่านประเทศไทยไปแล้ว ภาพรวมของการบริหารจัดการด้านพลังงานนั้น ได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อย ทำให้สามารถผลิต ก๊าซธรรมชาติและกระแสไฟฟ้าได้ใกล้เคียงปริมาณปกติ รายละเอียดในแต่ละด้านประกอบด้วย

ด้านการผลิตก๊าซธรรมชาติ อุปกรณ์การผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อย ปัจจุบันสามารถเริ่มผลิตก๊าซธรรมชาติได้ตามปกติแล้ว และจากการตรวจสอบโดยละเอียด คาดว่าจะสามารถผลิตเต็มที่ได้ในวันที่ 7 มกราคม 2562 ทั้งนี้ได้ใช้การผลิตก๊าซ LNG เต็มกำลังสำรอง 1,400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อไปตลอดช่วงฉุกเฉิน

ด้านไฟฟ้า ในส่วนของโรงไฟฟ้าไม่มีความเสียหายและสามารถผลิตไฟฟ้าได้ตามปกติ แต่จะมีเพียง บางพื้นที่ที่เสาไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้รับความเสียหาย คาดว่าจะสามารถกู้กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว

ด้านน้ำมันและสถานีบริการ สถานีบริการในทุกพื้นที่สามารถเปิดบริการได้ตามปกติ

ด้านการให้ความช่วยเหลือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และกลุ่มบริษัท ปตท. ยังคงให้ ความช่วยเหลือประชาชนด้วยการแจกจ่ายถุงยังชีพและน้ำดื่ม

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน คาดว่า การบริหารจัดการด้านพลังงานในทุกๆ ด้านจะสามารถกลับสู่สภาวะปกติภายใน 1 – 2 วันนี้ กระทรวงพลังงานและหน่วยงานในสังกัดได้เร่งประสานให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง

แถลงการณ์กระทรวงพลังงานฉบับที่ 4/2562 สถานการณ์พายุโซนร้อน “ปาบึก”

แถลงการณ์กระทรวงพลังงานฉบับที่ 4/2562
สถานการณ์พายุโซนร้อน “ปาบึก” ที่ส่งผลต่อการผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย

กระทรวงพลังงาน : วันที่ 5 มกราคม 2562 เวลา 16.00 น.

รายงานความคืบหน้าสถานการณ์พายุโซนร้อนปาบึก (PABUK) ต่อการผลิตปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย ซึ่งขณะนี้ สถานการณ์ในส่วนของการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่อ่าวไทยถือว่าได้คลี่คลายแล้ว บริษัท ผู้ประกอบกิจการพลังงานได้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจอุปกรณ์บนทุกแท่นผลิตปิโตรเลียมและเร่งดำเนินการให้สามารถกลับมาผลิตปิโตรเลียมเพื่อรองรับการใช้ของประชาชน รายละเอียดการดำเนินการมีดังนี้

ด้านการผลิตก๊าซธรรมชาติ จากการเข้าตรวจสอบ พบว่า ไม่มีอะไรเสียหาย สามารถกลับมาผลิตก๊าซธรรมชาติได้ในวันที่ 6 มกราคม 2562 และจะสามารถผลิตได้อย่างเต็มที่ วันที่ 7 มกราคม 2562

ด้านไฟฟ้า ในส่วนของโรงไฟฟ้าไม่มีความเสียหายและสามารถผลิตไฟฟ้าได้ตามปกติ
แม้สถานการณ์จะคลี่คลายแล้ว กระทรวงพลังงานและหน่วยงานในสังกัด จะได้เตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย ร่วมกับรัฐบาล อย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ ต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานและหน่วยงานในสังกัด ยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยในพื้นที่เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

แถลงการณ์กระทรวงพลังงานฉบับที่ 3/2562 สถานการณ์พายุโซนร้อน “ปาบึก”

แถลงการณ์กระทรวงพลังงานฉบับที่ 3/2562
สถานการณ์พายุโซนร้อน “ปาบึก ” ที่ส่งผลต่อการผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย

​กระทรวงพลังงาน : วันที่ 4 มกราคม 2562 เวลา 16.00 น.

รายงานความคืบหน้าสถานการณ์พายุโซนร้อนปาบึก (PABUK) ต่อการผลิตปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย ขณะนี้พายุได้เคลื่อนตัวผ่านบริเวณแท่นผลิตปิโตรเลียมโดยไม่ได้สร้างความเสียหาย ซึ่งถือว่าผ่านช่วงที่วิกฤตที่สุดต่อการผลิตปิโตรเลียมไปแล้ว และได้ส่งพนักงานเข้าไปสำรวจเพื่อเตรียมการผลิต ส่วนความคืบหน้าการติดตามและบริหารสถานการณ์พลังงานมีรายละเอียด ดังนี้
ด้านการผลิตก๊าซธรรมชาติ การผลิตจากอ่าวไทย พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) และจากสหภาพเมียนมา อยู่ที่ระดับประมาณ 2,725 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าระดับการผลิตตามปกติ โดยได้มีการบริหารจัดการด้วยการส่ง LNG เข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้นเป็นระดับ 1,400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และลดการส่งไปในภาคปิโตรเคมี ทำให้สามารถจัดสรรก๊าซฯ ไปยังภาคไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรมและ NGV ได้ตามแผน และมีปริมาณก๊าซฯ เพียงพอที่จะรองรับสถานการณ์จนกว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้ บริษัทผู้ประกอบกิจการปิโตรเลียมมีแผนที่จะส่งพนักงานเข้าไปสำรวจสภาพแท่นและความพร้อมของอุปกรณ์ และ จะเคลื่อนย้ายพนักงานบางส่วนกลับเข้าไปทำงานนอกชายฝั่งตั้งแต่วันนี้ และมีแผนที่จะเริ่มการผลิตตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม และคาดว่าจะทยอยกลับมาผลิตได้ตามปกติตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม เป็นต้นไป
​ด้านไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยศูนย์บริหารสถานการณ์ฉุกเฉินดูแลระบบไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง ครอบคลุมทั้งโรงไฟฟ้า สถานีส่งและระบบส่งไฟฟ้า โดยเฉพาะการเฝ้าระวังระดับน้ำ ที่ท่วมในพื้นที่ซึ่งอาจส่งผลต่อสถานีส่งไฟฟ้า และมีมาตรการรองรับกรณีระดับน้ำสูงไว้แล้ว
ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซหุงต้ม ประชาชนได้รับทราบว่ามีการจัดเตรียมน้ำมันสำรองเพียงพอต่อความต้องการใช้ ทำให้ไม่เกิดความตระหนกและกักตุนน้ำมันและก๊าซหุงต้ม รวมถึงผู้ค้าน้ำมันได้มีการจัดส่งน้ำมันอย่างเพียงพอ
ด้านการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้จัดเตรียมถุงยังชีพ จำนวน 1,000 ถุง และ กลุ่มบริษัท ปตท. ได้จัดส่งถุงยังชีพ จำนวน 2,000 ถุง ซึ่งจัดส่งถึงพื้นที่ภาคใต้เรียบร้อยแล้ว และจะจัดส่งเพิ่มเติมอีก 4,000 ชุด ลงไปในพื้นที่อีกภายในวันที่ 5 มกราคม ต่อไป
​ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานและหน่วยงานในสังกัด ยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยในพื้นที่เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

แถลงการณ์กระทรวงพลังงานฉบับที่ 2/2562 สถานการณ์พายุโซนร้อน “ปาบึก”

แถลงการณ์กระทรวงพลังงานฉบับที่ 2/2562

สถานการณ์พายุโซนร้อน “ปาบึก” ที่ส่งผลต่อการผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย

 กระทรวงพลังงาน : วันที่ 3 มกราคม 2562 เวลา 16.00 น.

รายงานความคืบหน้าสถานการณ์พายุโซนร้อนปาบึก (PABUK) ต่อการผลิตปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย ณ ปัจจุบันมีการอพยพเจ้าหน้าที่แล้ว 2,635 คน และเหลือปฏิบัติหน้าที่อยู่ 246 คน การอพยพของเจ้าหน้าที่แต่ละบริษัทเป็นไปโดยสวัสดิภาพ โดยพายุอยู่ห่างจากแท่นบงกชประมาณ 500 km คาดว่าจะผ่านแท่นในเวลา 04:00 น. ของวันที่ 4 ม.ค.62

ด้านการผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบ ขณะนี้ยังไม่มีการหยุดผลิตเพิ่มเติม ข้อมูลล่าสุด ก๊าซธรรมชาติลดลงในปริมาณเท่าเดิมที่ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันจากการหยุดผลิตของแหล่งบงกชเหนือ (แหล่งบงกชใต้ หยุดซ่อมบำรุงตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม) และน้ำมันดิบลดลง 27,000 บาร์เรล/วัน  อย่างไรก็ตาม ในส่วนของแหล่งก๊าซธรรมชาติไพลินเหนือสามารถกลับมาผลิตได้อีกครั้งเร็วกว่าแผนหลังจากหยุดซ่อมบำรุง ทำให้มีก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยเข้าระบบมากขึ้น รวมถึงในส่วนของก๊าซ LNG มีความพร้อมจ่ายได้สูงสุด 1,400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และในวันนี้เรือขนส่ง LNG ได้เข้าเทียบท่าแล้ว ซึ่งจะสามารถ    ส่งก๊าซ LNG เข้าระบบได้ เมื่อรวมกับ Inventory มีปริมาณ 10,800 ล้านลูกบาศก์ฟุต (ทั้งนี้เรือลำถัดไป      จะเทียบท่าในวันที่ 7 ม.ค. 62) ทำให้ปริมาณสำรอง LNG มีมากเพียงพอในการรองรับสถานการณ์การหยุดผลิตจากพายุ รวมถึงสามารถจัดสรรก๊าซธรรมชาติให้กับภาคไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรม และ NGV ได้ตามแผน

ด้านไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีมาตรการเฝ้าระวังสถานการณ์ทั้งในส่วนของสถานีผลิตไฟฟ้าและระบบส่ง และสำรองจากเชื้อเพลิงอื่นเพิ่มมากขึ้น ทั้งน้ำมันดีเซล และน้ำมันเตาเพื่อให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอ รวมถึงการนำเข้าไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป.ลาว ในปริมาณสูงสุด นอกจากนี้ได้มีการประสานกับประเทศมาเลเซียเพื่อขอซื้อไฟฟ้าในกรณีฉุกเฉิน และจัดเตรียมอุปกรณ์หนักสำหรับแก้ไขปัญหาหากระบบผลิตและระบบส่งไฟฟ้าได้รับความเสียหายจากพายุ

ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซหุงต้ม กระทรวงพลังงานได้สั่งการให้ผู้ค้าน้ำมัน สำรองน้ำมันและจัดส่งให้เพียงพอ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์พายุ ในส่วนของก๊าซหุงต้มมีปริมาณเพียงพอสำหรับการใช้ของประชาชน

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน ได้จัดตั้ง ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน โดยจะหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามและรายงานสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ้

แถลงการณ์กระทรวงพลังงานฉบับที่ 1/2562 สถานการณ์พายุโซนร้อน “ปาบึก”

แถลงการณ์กระทรวงพลังงานฉบับที่ 1/2562
สถานการณ์พายุโซนร้อน “ปาบึก” ที่ส่งผลต่อการผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย

จากเหตุการณ์พายุโซนร้อนปาบึก (PABUK) บริเวณอ่าวไทย เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2562 ซึ่งอาจส่ง ผลกระทบต่อกิจกรรมการผลิตปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย กระทรวงพลังงานได้ประสานข้อมูล สั่งการและติดตามร่วมกับบริษัทผู้ประกอบกิจการปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทยทั้ง 8 กลุ่มบริษัทอย่างใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้ได้ มีการถอนตัวเจ้าหน้าที่ที่ไม่จำเป็นในการผลิตกลับขึ้นฝั่ง ณ จังหวัดสงขลาและจังหวัดชลบุรีโดยเรือและเฮลิคอปเตอร์ เรียบร้อยแล้วอย่างปลอดภัย

ผลจากพายุโซนร้อนครั้งนี้ บริษัทผู้ประกอบการจำเป็นต้องหยุดผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบบางส่วนเพื่อความปลอดภัย ทำให้ปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยลดลงจากการที่แหล่งบงกชเหนือหยุดการผลิตประมาณ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันจากปริมาณการผลิตทั้งหมดในอ่าวไทยจำนวน 2,400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สำหรับน้ำมันดิบหยุดการผลิตประมาณ 27,000 บาร์เรลต่อวันจากปริมาณการผลิตปัจจุบัน 100,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งในส่วนการผลิตน้ำมันดิบที่ลดลงนั้นยังไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ในประเทศ

กระทรวงพลังงานได้เตรียมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยใน การบริหารจัดการก๊าซธรรมชาตินั้น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จะส่งก๊าซธรรมชาติที่ถูกทำให้เหลว (LNG) เข้าระบบเพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติที่ลดลง ในส่วนการผลิตไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้สำรองจากเชื้อเพลิงอื่นมากขึ้น โดยได้สำรองน้ำมันดีเซล และน้ำมันเตาทดแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าอย่างเพียงพอหากจำเป็น รวมถึงการนำเข้าไฟฟ้าพลังน้ำจากต่างประเทศ สำหรับก๊าซหุงต้ม หรือ LPG ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ส่งเข้าโรงแยกก๊าซลดลง กรมธุรกิจพลังงานและบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จะบริหารจัดการให้มีปริมาณ LPG เพียงพอต่อการใช้ของประชาชน

ในภาพรวมกระทรวงพลังงานสามารถบริหารจัดการโดยไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน และจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและจะแจ้งให้ทราบอย่างต่อเนื่องต่อไป

……………………………………………………………………

เนื่องจากมีเผยแพร่เอกสารเกี่ยวกับการเชิญชวนดำเนินการก่อสร้างโครงการกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้า(ดังแนบ) ซึ่งเป็นการแอบอ้าง ปลอมแปลงลายมือชื่อผู้บริหารกระทรวงพลังงาน
กระทรวงพลังงานขอเรียนว่าเอกสารฉบับดังกล่าว ไม่เป็นความจริง ซึ่งจะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้จัดทำอย่างเด็ดขาด
จึงเรียนมาเพื่อทราบ และไม่หลงเชื่อข้อมูลจากกลุ่มผู้กระทำการดังกล่าว

หากพบเจอโปรดแจ้งเบาะแสให้สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงานทราบ ที่เบอร์ 0 2140 7000  ขอบคุณครับ

คณะกรรมการฯ SEA ประกาศรายชื่อที่ปรึกษาที่ได้รับการคัดเลือกบริหารโครงการการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้

คณะกรรมการฯ SEA ประกาศรายชื่อที่ปรึกษาที่ได้รับการคัดเลือกบริหารโครงการการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ ยืนยันเฟ้นหาที่ปรึกษาโครงการ จาก 3 สถาบันการศึกษาชั้นนำของไทยที่ยื่นข้อเสนอ ด้วยเกณฑ์พิจารณาเข้มข้นและโปร่งใส มั่นใจได้ผู้ศึกษาโครงการฯ ที่เหมาะสม พร้อมเซ็นสัญญาภายในต้นเดือน ธ.ค. และเริ่มดำเนินการศึกษาได้ทันที

                นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ในฐานะประธานร่วมคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ เปิดเผยว่า วันนี้  (19 พ.ย.) ได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ (SEA)  เป็นครั้งที่ 8 โดยคณะกรรมการฯ ขอแจ้งความคืบหน้าที่สำคัญ คือ การพิจารณาข้อเสนอโครงการการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้เปิดรับสมัครผู้สนใจยื่นข้อเสนอโครงการฯ ในเว็บไซด์ของกระทรวงพลังงาน (www.energy.go.th) โดยมีกำหนดเวลาให้ผู้ที่สนใจยื่นข้อเสนอโครงการ ฯ กลับมายังกระทรวงพลังงาน ระหว่างวันที่ 17 กันยายน ถึง 5 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เมื่อครบกำหนดระยะเวลาเปิดรับข้อเสนอโครงการตามประกาศสำนักงาน กกพ. เรื่อง การเปิดรับข้อเสนอโครงการเพื่อการส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 โดยสาระสำคัญจะมีกรอบวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท เบื้องต้นพบว่ามีผู้ยื่นเสนอโครงการทั้งสิ้น 3 ราย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์บริการวิชาการสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทั้ง 3 ราย คณะกรรมการ ฯ ได้ใช้เกณฑ์การพิจารณาประกอบด้วย เกณฑ์การพิจารณากลั่นกรองตามที่สำนักงาน กกพ. กำหนด อาทิ ความสำคัญและความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ประสิทธิผลของโครงการ ประสิทธิภาพของโครงการ เป็นต้น

รวมทั้ง เกณฑ์การพิจารณากลั่นกรองในรายละเอียด อาทิ กรอบแนวคิด ขอบเขตและขั้นตอนการดำเนินงานสอดคล้องกับ TOR การแสดงให้เห็นวิธีการและกระบวนการทำงาน กระบวนการมีส่วนร่วมและการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง ประสบการณ์ในการจัดทำหรือการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) รวมทั้งคุณสมบัติบุคลากร ซึ่งขณะนี้ คณะกรรมการ ฯ ได้พิจารณาข้อเสนอต่างๆ จากผู้ยื่นเสนอโครงการ จากสถาบันการศึกษาทั้ง 3 แห่ง และได้พิจารณาเลือกศูนย์บริการวิชาการสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์เป็นที่ปรึกษาโครงการ

สำหรับแนวทางการดำเนินการต่อไป กระทรวงพลังงานจะส่งรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกให้สำนักงาน กกพ. คาดว่าจะสามารถเซ็นสัญญาได้ภายในต้นเดือนธันวาคม 2561 และจะเริ่มดำเนินการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ โดยกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ คาดว่าจะได้ผลการศึกษาทั้งหมดภายในเวลา 9 เดือน  เพื่อให้รัฐบาลสามารถกำหนดนโยบายการพัฒนาและจัดหาพลังงานในภาคใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับจากประชาชน และสนับสนุนให้กระทรวงพลังงานสามารถปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ได้อย่างมีรูปธรรม รวมทั้งส่งเสริมให้ภาคสังคมและประชาชนมีความรู้ และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้าเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน

 

รู้ลึก รู้จริงกว่า เรื่องน้ำมัน

รู้ลึก รู้จริงกว่า เรื่องน้ำมัน

บนโลกโซเชียลมักมีคนเชื่อ “เขาบอก” คำถามที่ “เขาบอก” ยอดฮิต
“เขาว่าไทยผลิตน้ำมันได้มากถึงขนาดส่งออกได้ด้วย แล้วทำไมถึงต้องนำเข้าอีก?”

เขา? ที่ว่าคือใคร เชื่อเขาเเต่ไม่รู้ที่มา ถ้าอยาก “รู้ลึก รู้จริงกว่า เรื่องน้ำมัน” : ทำไมเราถึงต้องนำเข้ามาอีก หรือทำไมต้องส่งออก นั้นก็เพราะเราผลิตน้ำมันดิบเองได้ประมาณ 20 ล้านลิตรต่อวัน เเละที่นำเข้าก็เพราะความต้องการใช้ของคนในบ้านเราสูงประมาณ 100 ล้านลิตรต่อวัน เราถึงต้องนำเข้า เพื่อให้เพียงพอกับทุกความต้องการของทุกคน

คราวหน้ารู้ให้ลึกเรื่องน้ำมันก่อนแชร์ ไม่หลงเชื่อ “เขาบอก” จะทำให้เราเข้าใจแบบผิด ๆ นะครับ

สามารถติดตามคลิป “รู้ลึก รู้จริงกว่า เรื่องน้ำมัน” ทั้งหมด คลิกที่นี่

 

รัฐส่งเสริม B20 ลดภาระค่าครองชีพ

รายการ “เคลียร์คัด ชัดเจน” เสนอเรื่อง “รัฐส่งเสริม B20 ลดภาระค่าครองชีพ” ได้รับเกียรติจาก นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เป็นผู้ให้สัมภาษณ์

 

ทำไมต้องปฏิรูปพลังงาน

ทำไมต้องปฏิรูปพลังงาน

จากสถานการณ์พลังงานที่การจัดหาพลังงานไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ตลาดไม่เอื้อต่อการแข่งขัน การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีใหม่ที่จะมีผลต่อการใช้ และการจัดหาพลังงานยังไม่มีการประเมินผลกระทบและการกำหนดทิศทางพัฒนาที่ชัดเจน ตลอดจนการบริหารจัดการภาครัฐที่ผ่านมาขาดการยอมรับของประชาชนก่อให้เกิดความขัดแย้งและนำไปสู่การชะงักของการลงทุนด้านพลังงานที่สำคัญของประเทศ อาทิ การสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และการลงทุนโรงไฟฟ้า เป็นต้น

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานพิจารณาแล้วเห็นว่าหากไม่เร่งแก้ปัญหาและปรับเปลี่ยนการพัฒนาด้านพลังงานใหม่ทั้งระบบ อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจาก “พลังงาน” ถือเป็นสาขาการผลิตที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ คณะกรรมการฯ จึงวิเคราะห์สถานการณ์ ปัญหา อย่างครบวงจร และกำหนดโรดแมปการปฏิรูป 5 ปี (พ.ศ.2561- 2565) เพื่อมุ่งปรับการบริหารจัดการพลังงานของภาครัฐใหม่ที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ปรับรูปแบบการวางแผนจัดหาพลังงานเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ปรับโครงสร้างกิจการพลังงานให้มีการแข่งขันเพิ่มขึ้น พัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนมีอิสระด้านพลังงานในการผลิตเอง ใช้เอง เหลือขาย ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในทุกภาคส่วน ตลอดจนผลักดันการสร้างฐานรายได้ใหม่ของประเทศจากอุตสาหกรรมพลังงาน โดยมีสาระสำคัญการดำเนินการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน 6 ด้าน 17 ประเด็นปฏิรูป ที่จะต้องผลักดันให้เริ่มดำเนินการภายในปี 2561 และผลประโยชน์ที่ประเทศและประชาชนจะได้รับ

รายละเอียดทั้งหมด สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่

ประชาสัมพันธ์ โครงการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20

จากสถานการณ์น้ำมันปาล์มดิบล้นตลาดและมีราคาตกต่ำ กระทรวงพลังงานได้หาแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันและส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 ซึ่งมีเป้าหมายในการจำหน่ายที่ 15 ล้านลิตรต่อวัน และคาดว่าจะสามารถเพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบได้มากขึ้น จากเดิม 1.3 ล้านตันต่อปี เป็น 2 ล้านตันต่อปี โดยกำหนดให้ราคาขายปลีกน้ำมัน บี 20 ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วปกติ 3 บาทต่อลิตร เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในส่วนของน้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลต่อการลดต้นทุนการขนส่งสินค้าและค่าโดยสาร รวมถึงค่าครองชีพของประชาชนที่จะลดลงได้อีกด้วย ซึ่งจากการศึกษาทดลองใช้น้ำมัน บี 20 ในรถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่บางยี่ห้อบางรุ่น พบว่าไม่มีผลกระทบต่อเครื่องยนต์ อีกทั้งยังทำให้ระบบการเผาไหม้ของเครื่องยนต์สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

 

 

ผลกระทบจากน้ำมันและก๊าซหุงต้มปรับขึ้นราคา

ผลกระทบจากน้ำมันและก๊าซหุงต้มปรับขึ้นราคา

สาระสำคัญ : โซเชียลมีเดียและตัวแทนบุคคลจากภาคส่วนต่างๆ ตั้งข้อสังเกตถึงผลกระทบจากน้ำมันและก๊าซหุงต้มปรับขึ้นราคา ในประเด็นดังนี้

1. น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ วิเคราะห์ว่าการปรับขึ้นราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้มอย่างผิดปกติในช่วงเดือน พ.ค. เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มทุนพลังงาน โดยเปิดประเด็น ดังนี้

1.1 ตั้งข้อสังเกตว่าการที่กระทรวงพลังงาน ประกาศไม่ให้แจ้งการปรับลดราคาน้ำมันล่วงหน้า ขณะที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) สั่งให้ทำโครงสร้างราคาน้ำมันเฉพาะราคาขายส่งรวมแวตเท่านั้น ไม่ให้แจ้งราคาขายปลีกซึ่งจะเห็นการบวกค่าการตลาดด้วย สะท้อนถึงเจตนาว่าต้องการจะปิดบังทั้งการปรับลดราคาและการบวกกำไรของราคาขายปลีกน้ำมันจากการรับรู้ของประชาชนทั่วไปใช่หรือไม่

·     กระทรวงพลังงานไม่มีเจตนาปิดบังการรับรู้ของประชาชน แต่มีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมการแข่งขันด้านราคา ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลดีต่อประชาชน  เนื่องจากที่ผ่านมา บริษัทน้ำมันต่างๆ จะมีการตั้งราคาที่เท่ากันและมีการปรับราคาขึ้นลงพร้อมกัน  พอมีการประกาศราคาล่วงหน้า ทุกสถานีบริการก็จะปรับราคาตามกัน ไม่เกิดการแข่งขันด้านราคาโดยตรง แต่เน้นไปแข่งขันทางอ้อมผ่านการโปรโมชั่น เช่น การแจกน้ำดื่มขวด เป็นต้น

·     กระทรวงพลังงานมีวัตถุประสงค์ให้บริษัทน้ำมันมีกลยุทธ์ในการตั้งราคาตามต้นทุนของตนเอง
ซึ่งจะสะท้อนได้จากราคาจำหน่ายปลีกที่แตกต่างกันของแต่ละแบรนด์   ดังนั้น การที่ภาครัฐจะใช้ราคาจำหน่ายปลีกของบริษัทหนึ่งในการจัดทำโครงสร้างราคาก็อาจไม่สอดคล้องกับวัถุประสงค์ที่ต้องการเห็นตลาดน้ำมันของประเทศมีการแข่งขันด้านราคา  คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) จึงเห็นควรให้ยกเลิกการเผยแพร่ราคาขายปลีกและค่าการตลาดในโครงสร้างราคา   ทั้งนี้ ราคาขายปลีกของแต่ละบริษัทน้ำมันก็ยังคงมีการเผยแพร่บนหน้าเว็ปไซต์ของ สนพ. (www.eppo.go.th) ตามปรกติ  ซึ่งก็ทำให้สามารถคำนวณค่าการตลาดได้ดังเดิม

1.2 จากการตรวจสอบพบว่าราคาก๊าชหุงต้มตลาดโลก อยู่ที่ราคาประมาณ 15 บาท/ก.ก. แต่ราคาในประเทศที่มาจากก๊าชอ่าวไทยกลับมีราคาหน้าโรงแยกก๊าชที่ 18 บาท/ก.ก. ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดโลกกว่า 3 บาท/ก.ก. สะท้อนว่ารัฐได้ตั้งราคาจากโรงแยกก๊าชสูงกว่าตลาดโลก และนำกองทุนน้ำมันมาชดเชยให้เพียงกิโลกรัมละ 2.74 บาท ส่งผลให้กองทุนน้ำมันเป็นกองทุนอำพรางกำไรให้แก่โรงแยกก๊าช มากกว่าเป็นกองทุนที่ผู้ใช้เก็บออมเงินไว้เพื่อชดเชยราคาที่ปรับสูงขึ้นตามราคาแข่งขันในตลาดโลก

·     ราคาต้นทุนก๊าซหุงต้มตลาดโลกในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 61 อยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ
16 บาท ซึ่งเมื่อรวมค่าใช้จ่ายในการนำเข้าจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 17.5 บาท มิใช่กิโลกรัมละ 15 บาทแต่อย่างใด

·     ราคา ณ โรงกลั่นของก๊าซหุงต้มในสัปดาห์ที่ผ่านมา (15-21 พ.ค. 61) อยู่ที่กิโลกรัมละ 18.08 บาท ราคาดังกล่าวอ้างอิงจากราคานำเข้า  มิใช่เป็นราคาต้นทุนของโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีต้นทุนที่ต่ำกว่าและต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (อยู่ที่อัตรากิโลกรัมละ 4.0991 บาทในสัปดาห์ที่ผ่านมา) ซึ่งเงินที่เก็บจากโรงแยกก๊าซฯ ดังกล่าวก็นำมาใช้ในการชดเชยผ่านกองทุนน้ำมันฯ (กิโลกรัมละ 2.7424 บาท) ให้ราคาก๊าซ LPG ในประเทศถูกกว่าราคานำเข้า

1.3 พบข้อมูลจากคนขายก๊าซฝั่งพม่าระบุว่า ก๊าซหุงต้มที่ไทยขายให้ มีราคาอยู่ที่เพียง 23.20 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น ขณะที่คนไทยต้องซื้อในราคาสูงกว่า ทั้งที่ประเทศไทยมีทั้งก๊าซในอ่าวไทย และโรงแยกก๊าซถึง 6 โรงในประเทศ

จากข้อมูลที่ระบุไม่แน่ใจว่าเป็นราคาของเดือนใด และไม่ทราบว่าเป็นราคาเนื้อก๊าซ LPG หรือเป็นราคาขายปลีก   แต่จากข้อมูลในเดือนพฤษภาคม 61 จะเห็นได้ว่าราคาจำหน่ายปลีกก๊าซ LPG ของประเทศไทยยังคงถูกกว่าของประเทศพม่า มิได้แพงกว่าตามข้อกล่าวอ้างแต่อย่างใด ดังแสดงในรูป

2. นายยู เจียรยืนยงพงศ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางรถบรรทุกแห่งอาเซียน (ATF) กล่าวว่าได้รับผลกระทบจากราคาต้นทุนน้ำมันที่เพิ่มขึ้น พร้อมเรียกร้องให้กระทรวงพลังงาน นำเงินกองทุนพลังงาน มาช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการขนส่ง

·     กระทรวงพลังงานได้ออกมาตรการส่งเสริมดีเซลหมุนเร็ว (B20) เกรดพิเศษ เพื่อช่วยลดต้นทุนภาคขนส่งและบรรเทาผลกระทบจากการที่ราคาน้ำมันตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยสนับสนุนการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (B20) ให้เป็นน้ำมันเกรดพิเศษ สำหรับกลุ่มรถยนต์ขนาดใหญ่ เช่น รถบรรทุก ฟีดคาร์ รถโดยสารขนาดใหญ่ ซึ่งมีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซลปรกติ (B7) 3 บาท/ลิตร

 

3. โซเชียลมีเดียส่วนใหญ่ วิจารณ์ว่าราคาน้ำมันที่สูง เกิดจากการจัดเก็บภาษีน้ำมัน พร้อมสะท้อนว่าสาเหตุที่รัฐบาลต้องจัดเก็บภาษีน้ำมัน สะท้อนถึงภาวะการคลังที่ถดถอย

·     ภาครัฐมิได้เพิ่มการจัดเก็บภาษีแต่อย่างใดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559  แต่ราคาน้ำมันในประเทศที่สูงขึ้นเกิดจากราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น จากปัจจัยหลายประการ เช่น การตรึงกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปคและประเทศนอกกลุ่มโอเปคในช่วงปีที่ผ่านมา สถานการณ์ประเทศเวเนซุเอลาเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศและไม่สามารถส่งออกน้ำมันดิบได้  จนล่าสุดเหตุการณ์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ดำเนินการคว่ำบาตรประเทศอิหร่านทำให้คาดการณ์ว่าน้ำมันดิบจะออกสู่ตลาดโลกน้อยลง   จากปัจจัย
ที่กล่าวมาทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวสูงขึ้นจากระดับ 50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในเดือนกันยายนปีที่แล้ว เป็นอยู่ที่ระดับ 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในปัจจุบัน หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40

ประเด็นเรื่องการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน

สำหรับประเด็นเรื่องการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนตามที่ ร.ต.อ. วัฒนรักษ์ สุรนาทยุทธ์ หัวหน้าคณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อม พรรคเพื่อไทยให้ความเห็นกรณี รมว. พลังงานมีนโยบายให้ระงับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนไว้ชั่วคราวนั้น กระทรวงพลังงานใคร่ขอชี้แจงดังนี้

1. กระทรวงพลังงานยังคงจะให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนสำหรับโครงการที่ได้ผูกพันไว้แล้วเหมือนเดิม ไม่ได้มีการระงับแต่อย่างใด แต่ในส่วนของการรับซื้อพลังงานทดแทนในอนาคตที่ยังไม่มีภาระผูกพันทางสัญญาหรือที่ยังไม่ได้พัฒนาเป็นโครงการนั้น ทางกระทรวงพลังงานยังคงให้การสนับสนุน ตามแผนแม่บมพลังงานทดแทน (AEDP2015) แต่จะมีการพิจารณาปรับปรุงจัดทำหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าและราคาเป้าหมายใหม่ เพื่อให้ได้ต้นทุนไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่มีต้นทุนที่ต่ำที่สุด ราคาไม่เกินราคาขายส่งเฉลี่ย (Grid Parity) และจะได้ส่งผลประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด

2. กระทรวงพลังงานยังคงยึดหลักการดำเนินการในส่วนของนโยบายและแผนด้านพลังงานตามที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันแสดงเจตจำนงการลดก๊าซเรือนกระจกในการประชุม COP21

3. ในส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น ทางกระทรวงพลังงานได้อยู่ระหว่างการดำเนินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์หรือ SEA ซึ่งใช้เวลาในการดำเนินการประมาณ 9 เดือน ซึ่งในการดำเนินการทำ SEA นั้นประกอบด้วยผู้แทนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ประกอบด้วยผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งผลการทำ SEA นั้นจะต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย

กระทรวงพลังงาน เปิดให้ดาวน์โหลด เพื่อรับเอกสารการประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน เปิดให้ดาวน์โหลด เพื่อรับเอกสารการประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย หมายเลข G1/61 และ G2/61

ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ http:// bidding2018.dmf.go.th/

กระทรวงพลังงาน ชี้แจง แนวทางการสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้

กระทรวงพลังงาน ชี้แจง แนวทางการสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้

ตามที่ ได้มีการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) เพื่อขอทราบความชัดเจนในนโยบายและทิศทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้นั้น กระทรวงพลังงาน ขอชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจ ดังนี้

– กรณีการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และเทพาฯ กระทรวงพลังงานได้พิจารณาแล้ว การพัฒนาโครงการฯ ดังกล่าว มีทั้งกลุ่มคนที่เห็นด้วย และเห็นต่าง ซึ่งแนวทางการพัฒนาประเทศ จำเป็นต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย และอยู่บนพื้นฐานประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ ในกรณีดังกล่าว กระทรวงพลังงานขอย้ำว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาทบทวนความเหมาะสมในเรื่องของที่ตั้งโรงไฟฟ้า ให้มีการจัดทำ SEA (การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์) ซึ่งเป็นการดำเนินงานทางวิชาการ เพื่อหาพื้นที่ที่เหมาะสม ในการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่

– ในส่วนของความมั่นคงด้านไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ในช่วง 5 ปีข้างหน้า   การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้พิจารณาเสนอ แนวทางการรักษาความมั่นคงด้านไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ โดยเสนอให้มีการขยายสายส่งไฟฟ้า ให้เพียงพอและมีความมั่นคงมากขึ้น ขณะเดียวกันจะมีการพัฒนาโรงไฟฟ้าชีวมวล 300 เมกะวัตต์ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรองรับความต้องการในพื้นที่และมีการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าเฉพาะในพื้นที่ดังกล่าว

– กระทรวงพลังงานให้ความสำคัญในการกระจายประเภทเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ทั้งก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และพลังงานทดแทน ในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยปัจจุบันยังมีความเหมาะสมที่จะต้องเพิ่มสัดส่วนการใช้ถ่านหิน เพื่อการผลิตไฟฟ้า

ท้ายสุดนี้ กระทรวงพลังงาน พร้อมเปิดรับทุกความคิดเห็นที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติโดยรวม

28 กุมภาพันธ์ 2561

กระทรวงพลังงาน ชี้แจง เรื่อง การช่วยลดสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ

กระทรวงพลังงาน ชี้แจง เรื่อง การช่วยลดสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ

ตามที่ มีการเผยแพร่ข้อมูลที่ตั้งใจให้เข้าใจผิดว่า รัฐบาล คสช. มีนโยบายให้โรงไฟฟ้ากระบี่นำน้ำมันปาล์มมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้านั้น

กระทรวงพลังงาน ขอชี้แจงว่า ข้อมูลที่เผยแพร่ดังกล่าวไม่เป็นความจริง ข้อเท็จจริงคือ รัฐบาลมีมติ “ไม่ให้” นำน้ำมันปาล์มดิบมาเผาที่โรงไฟฟ้ากระบี่เพราะเป็นมาตรการที่ช่วยเกษตรกรได้เพียงเล็กน้อยแต่มีผลเสียหายให้ประชาชนทุกคนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้น มากกว่าประโยชน์ที่ได้รับกว่า “10 เท่า”

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานมีมาตรการช่วยลดปริมาณน้ำมันปาล์มดิบด้วยการเร่งรัดให้โรงงานผลิตไบโอดีเซลเพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบ โดยให้ผลิตไบโอดีเซลเพิ่มมากกว่าปกติ    อีก 50% เพื่อเก็บสำรอง ซึ่งจะช่วยดูดซับสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบที่ล้นให้ลดลงได้มากถึง 50,000      ตันต่อเดือน โดยมีแผนที่จะใช้น้ำมันปาล์มดิบเพิ่มจากปกติอีก 100,000 ตัน ภายในระยะเวลา  2 เดือน และได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา ทำให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบขยับขึ้นเล็กน้อยจาก 19 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 19.25 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ราคาในมาเลเซียอ่อนตัวลง

กระทรวงพลังงาน ขอเชิญเข้าเยี่ยมชมงานนิทรรศการโลก “อัสตานา เอ็กซ์โป 2017”

กระทรวงพลังงาน ขอเชิญเข้าเยี่ยมชมงานนิทรรศการโลก “อัสตานา เอ็กซ์โป 2017” (Astana Expo 2017) และเยี่ยมชมอาคารศาลาไทย ภายใต้แนวคิด “Bioenergy for All” ณ กรุงอัสตานา สาธารณรัฐคาซัคสถาน ระหว่างวันที่ 10 มิถุนายน 2560 ถึง 10 กันยายน 2560

กระทรวงพลังงานได้รับเกียรติให้เป็นตัวแทนประเทศไทยในการเข้าร่วมงาน International Recognized Exhibition Expo 2017 Astana หรือ Astana Expo 2017 ณ กรุงอัสตานา สาธารณรัฐคาซัคสถาน ระหว่างวันที่ 10 มิถุนายนถึง 10 กันยายน 2560 เพื่อแสดงศักยภาพด้านพลังงานประเทศไทยให้ทั่วโลกได้รับรู้
สำหรับงาน Astana Expo 2017 จัดขึ้นภายใต้หัวข้อหลัก “พลังงานแห่งอนาคต (Future Energy)” มีประเทศเข้าร่วมงานกว่า 100 ประเทศ และองค์กรระดับโลกกว่า 10 หน่วยงาน รวมมากกว่า 110 พาวิลเลียน บนพื้นที่การจัดงานทั้งหมด 1,740,000 ตร.ม. (1,087.5 ไร่) และในส่วนของพื้นที่จัดงานนิทรรศการ 250,000 ตร.ม. (156.25 ไร่) ซึ่งประเทศไทยได้รับการจัดสรรพื้นที่จำนวน 934.05 ตารางเมตร ซึ่งถือเป็นการร่วมงานใหญ่ระดับโลกอีกครั้งของประเทศไทย เนื่องจากงานเวิลด์เอ็กซ์โปถือเป็น 1 ใน 3 งานใหญ่ของโลก เช่นเดียวกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค และฟุตบอลโลก โดยประเทศเจ้าภาพคาดว่า จะมีผู้ร่วมเข้าชมงานมากกว่า 5 ล้านคน
การเข้าร่วมงาน Astana Expo 2017 ครั้งนี้ ถือเป็นการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ประเทศไทยเกี่ยวกับโยบายการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน การสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ของประเทศให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทย นอกจากนั้นยังเป็นประโยชน์กับประเทศไทย ทั้งในเรื่องของการวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานของไทย โดยเฉพาะเทคโนโลยีพลังงานชีวภาพ การท่องเที่ยว การส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ และยังกระชับความสัมพันธ์กับหลากหลายประเทศ โดยเฉพาะกับสาธารณรัฐคาซัคสถาน

กระทรวงพลังงานได้สร้างสรรค์อาคารศาลาไทย (Thailand Pavilion) ภายในอาคารที่ประเทศเจ้าภาพจัดไว้ให้บนพื้นที่ 934.05 ตารางเมตร ประกอบด้วยส่วนแสดงนิทรรศการ ชั้น 1 ขนาด 734.05 ตารางเมตร และพื้นที่เชิงพาณิชย์ ชั้น 2 ขนาด 200 เมตรโดยในส่วนของอาคารนิทรรศการไทย ชั้น 1 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด“การพัฒนาด้านพลังงานชีวภาพเพื่อมนุษยชาติ (Bioenergy for All)” ที่ต้องการสื่อถึงพลังงานเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน เพื่อแสดงศักยภาพของประเทศไทยในด้านการพัฒนาพลังงานทดแทน และความก้าวหน้าในการพัฒนาพลังงานชีวภาพ (Bioenergy) จากการน้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดชที่ทรงเป็นพระบิดาแห่งพลังงานไทย และเป็นต้นแบบในเรื่องปรัชญา“ความพอเพียง”มาใช้เป็นแนวทางในการใช้ทรัพยากรในประเทศที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า โดยมุ่งหวังให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนในอนาคต โดยนำเสนอในรูปแบบ “EDUTAINMENT” หรือ การเรียนรู้ควบคู่ความสนุกประกอบ ด้วย 3 ห้องนิทรรศการหลัก ได้แก่

นิทรรศการห้องที่ 1: นำเสนอเรื่องราวและภาพของประเทศไทยโดยรวมผ่าน Live Exhibition หรือนิทรรศการสร้างประสบการณ์เสมือนจริง ภายใต้เนื้อหา Our Ways, Our Thai หรือ วิถีเรา วิถีไทย เพื่อนำเสนอเรื่องราววิถีของประเทศไทย ภาพรวมของประเทศให้ผู้เยี่ยมชมได้ทำความรู้จักประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ความเป็นอยู่ ลักษณะบ้านเมือง สิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ทรัพยากรธรรมชาติที่งดงาม รวมไปถึงแสดงศักยภาพด้านการเกษตร และการท่องเที่ยวที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ของประเทศ ควบคู่กับการพัฒนาด้านพลังงาน เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ได้คุ้มค่ามีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งการพัฒนาด้านพลังงานนี้เป็นอีกหนึ่งหัวใจหลักสำคัญในการดำรงชีวิต และผลักดันวิถีไทย ให้ยั่งยืน

นิทรรศการห้องที่ 2 : นำเสนอในรูปแบบของห้องฉายหนังภาพยนตร์ (Theater) แบบ 3D พร้อมด้วยหุ่นยนต์มาสคอต “พลัง” เป็นตัวเล่าเรื่องภายใต้เนื้อหา Farming the Future Energy หรือ ปลูกพลังงาน ปลูกอนาคต นำเสนอเรื่องรางผ่านการเล่าเรื่องแบบสนุกสนาน เกี่ยวกับพลังงานแห่งอนาคตที่ถูกพัฒนาจากทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ในประเทศไทยการน้อมนำแนวคิดของพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการพัฒนาเป็นโครงการด้านพลังงาน อาทิ มาตรการสนับสนุนการ

พัฒนาพลังงานชีวภาพ การพัฒนาพลังงานในชุมชนโครงการสถานีผลิตพลังงานสีเขียว (Distributed Green Generation) การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities Clean Energy) การพัฒนาโครงข่าย การใช้ก๊าซชีวภาพ (Biogas Network) เป็นต้น

นิทรรศการห้องที่ 3 : นำเสนอในรูปแบบนิทรรศการที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ หรือ Interactive Exhibition ภายใต้แนวคิด “Energy Creation Lab” สร้างพลังงาน สร้างพลังไทย ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับพลังงานชีวมวล และชีวภาพทั้งหมด 9 ชนิด ได้แก่ อ้อย ยูคาลิปตัส ยางพารา หญ้าโตเร็ว ข้าว ข้าวโพด มูลสัตว์ หรือของเสีย มันสำปะหลัง และปาล์ม รวมถึงเรื่องของการส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนา ด้านพลังงานทดแทน พลังงานชีวมวล พลังงานก๊าซชีวภาพ และพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biomass, Biogas, Biofuel) เพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทย และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ในการเข้าร่วมการ จัดงาน อาทิ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมการพัฒนาชุมชน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยกระทรวงพลังงาน มั่นใจว่าอาคารศาลาไทยในครั้งนี้ จะได้รับการตอบรับอย่างดี และคาดว่าจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมศาลาไทย คิดเป็น 10% จากจำนวนผู้เข้าชมทั้งหมดที่ทางประเทศเจ้าภาพคาดการณ์ โดยประมาณ 5 แสนคน ตลอดระยะการจัดงาน ตั้งเป้าว่าจะเป็น 1 ใน 10 พาวิลเลียนที่มีผู้สนใจเข้าชมมากที่สุด

ทั้งนี้ สามารถติดตามรายละเอียดความเคลื่อนไหวของอาคารศาลาไทย และการจัดงานนิทรรศการโลกได้ทางช่องทางต่างๆ

http://www.thailandpavilion2017.com/ หรือ Facebook: thailandpavilion2017

รับสมัครตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมงาน ASTANA EXPO 2017

กระทรวงพลังงานเปิดรับสมัครบุคคลทั่วไป
นิสิต นักศึกษาเป็นตัวแทนประเทศไทย
ที่มีความสามารถด้านภาษา
รัสเซีย หรือ คาซัค หรือ อังกฤษ
ผู้มีใจรักความเป็นไทย ไปเผยแพร่วัฒนธรรม และนวัตกรรมพลังงานไทย
ในบทบาทเจ้าหน้าที่ส่วนนิทรรศการ 

ระหว่างวันที่ 10 มิถุนายน – 10 กันยายน 2560
ณ กรุงอัสตานา สาธารณรัฐคาซัคสถาน
พร้อมค่าตอบแทน และประสบการณ์สุดล้ำค่า

ตรวจสอบคุณสมบัติดาวน์โหลดใบสมัครได้แล้วที่นี่ http://www.thailandpavilion2017.com/th/volunteer

หมดเขต 21 กุมภาพันธ์ 2560 นี้นะครับ….

เตือนประชาชน อย่าหลงเชื่อธุรกิจขายตรง แผ่นการ์ดประหยัดพลังงาน

 

 

 

กระทรวงพลังงาน เตือนประชาชน อย่าหลงเชื่อธุรกิจขายตรง แผ่นการ์ดประหยัดพลังงาน ที่อ้างลดใช้ไฟฟ้า น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม ได้ 10-30% ชี้ยังไม่มีหน่วยงานใดรับรอง ยันไม่สามารถลดใช้พลังงานได้จริง เตรียมให้พลังงานจังหวัดแจ้งประชาชนในพื้นที่ หากพบอย่าหลงเชื่อ แนะให้ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีฉลากเบอร์ 5 และวิธีประหยัดพลังงาน

ดร.สมภพ พัฒนอริยางกูล นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันได้เกิดธุรกิจขายตรงสินค้า แผ่นการ์ดประหยัดพลังงาน ที่แอบอ้างว่า จะช่วยให้เกิดการลดใช้ไฟฟ้า น้ำมัน และก๊าซหุงต้ม ได้สูง 10-30% ซึ่งประชาชนได้หลงเชื่อและซื้อสินค้าดังกล่าวพบว่าไม่สามารถใช้งานได้จริง และเกิดความเสียหายแล้วหลายแสนบาท โดยกระทรวงพลังงาน ขอเตือนว่า อย่าหลงเชื่อธุรกิจแผ่นการ์ดประหยัดพลังงานนี้ เนื่องจากยังไม่มีหน่วยงานใด ออกมาตรวจสอบและยืนยันว่าใช้ได้จริง จึงไม่แนะนำให้ประชาชนนำไปใช้ และหากพบการกระทำดังกล่าว สามารถแจ้งมายังศูนย์บริการร่วมกระทรวงพลังงาน หรือที่พลังงานจังหวัดได้
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน จะได้เร่งทำความเข้าใจกับประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งได้หลงเชื่อธุรกิจแผ่นการ์ดประหยัดพลังงาน และพบผู้เสียหายแล้วหลายราย ซึ่งเบื้องต้นกระทรวงพลังงาน จะได้ประสานไปยังพลังงานจังหวัด ให้ลงพื้นที่ให้ข้อเท็จจริงกับประชาชน รวมทั้งจะได้แนะนำถึงวิธีการประหยัดพลังงานที่เห็นผลได้จริง อาทิ การเลือกซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดพลังงานเบอร์ 5 การปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้น การลดใช้น้ำมัน เช่น การขับรถไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การเติมลมยางให้พอดี การตรวจเช็คเครื่องยนต์อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง การตรวจสอบเส้นทางสภาพจราจรก่อนเดินทาง เป็นต้น

“กระทรวงพลังงาน ได้มีการติดฉลากประหยัดพลังงาน เบอร์ 5 ในอุปกรณ์ไฟฟ้า ที่มีการตรวจสอบด้วยมาตรฐานสากล ยืนยันว่าประหยัดพลังงานได้จริง แต่แผ่นการ์ดพลังงานดังกล่าว ไม่สามารถช่วยลดใช้พลังงานได้ตามคำกล่าวอ้าง และมักยกทฤษฎีให้คนเชื่อถือ กระทรวงพลังงานจึงขอให้ประชาชนพิจารณาอย่างรอบคอบโดยไม่ควรหลงเชื่อการโฆษณาเกินจริง” ดร. สมภพกล่าว

แถลงการณ์จาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

พี่น้องประชาชนชาวไทย ที่อยู่ในราชอาณาจักร และในต่างประเทศ ทั่วโลกทุกท่าน วันที่ชาวไทยทั้งปวงไม่ต้องการแม้แต่จะนึกคิด และไม่ปรารถนาแม้แต่จะได้ยิน ก็มาถึง เมื่อสำนักพระราชวังได้ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคตแล้วในวันนี้ ณ โรงพยาบาลศิริราช

ถือว่าเป็นการสูญเสียและความวิปโยคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ นับตั้งแต่การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๘ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙

พี่น้องประชาชนชาวไทยทุกคนได้ติดตามข่าวสารและรับทราบมาเป็นลำดับว่า ในห้วงหลายปีที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวร และได้เสด็จฯ ไปประทับที่โรงพยาบาลศิริราช เป็นระยะ เมื่อพระอาการบรรเทาลง ก็จะทรงปฏิบัติพระราชภารกิจตามปกติ ด้วยพระวิริยะอุตสาหะ เพื่อความผาสุกของพสกนิกร

ตลอดเวลาที่ผ่านมา คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาอย่างใกล้ชิด จนพระอาการดีขึ้นเป็นลำดับ ยังความปลาบปลื้มแก่ประชาชนคนไทยทั้งชาติ แต่ในที่สุดพระอาการประชวรหาคลายไม่ ประกอบกับพระชนมพรรษามาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต พระชนมพรรษาปีที่ ๘๙ เสด็จดำรงสิริราชสมบัติ ๗๐ พรรษา ในวันที่ ๑๓ ตุลาคม ซึ่งจะเป็นวันที่อยู่ในความทรงจำของประชาชนชาวไทยตลอดไปนานแสนนาน ดุจวันปิยมหาราช ๒๓ ตุลาคม

พี่น้องที่เคารพทั้งหลาย ระยะเวลา ๗๐ ปี ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เริ่มต้นขึ้นภายหลังจากที่มหาสงครามโลกเพิ่งสิ้นสุดลง ประเทศชาติกำลังฟื้นตัวจากภัยสงคราม ประชาชนเปี่ยมด้วยความหวัง เมื่อประเทศไทยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ใหม่ครองราชย์ เป็นผู้นำ เปลี่ยนความท้อแท้ของผู้คน กลายเป็นความแน่วแน่ มั่นคง องอาจ ที่จะยืนหยัดต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ ตลอดรัชสมัย เป็นช่วงเวลาที่มีการพัฒนาประเทศในทุกด้าน ทรงเป็นกษัตริย์ผู้เป็นที่รัก เทิดทูน ทรงเป็นศูนย์รวมใจของคนไทยทั้งชาติ นับเป็น ๗๐ ปี ที่ทรงครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม โดยแท้

บัดนี้ ๗๐ ปี ในรัชสมัยของสมเด็จพระภัทรมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้ประเสริฐยิ่ง ของปวงชนชาวไทย ได้สิ้นสุดลงแล้ว พระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย มากมาย ล้นพ้น หาที่สุดมิได้ มากเพียงใด ความวิปโยคอาลัยของพสกนิกรชาวไทยก็มากมาย ท่วมท้น หาที่สุดมิได้เพียงนั้น

รัฐบาลขอเชิญชวนให้พวกเราทุกคนร่วมกันตั้งจิตภาวนาตามศาสนาที่ทุกท่านนับถือ ดังที่เราเคยร่วมกันภาวนาถวายพระพร และอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกท่านเคารพนับถือ ให้อภิบาลคุ้มครองตลอดเวลาที่ทรงพระประชวร เพื่ออธิษฐาน ภาวนา ขอให้ดวงพระวิญญาณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระบรมโกศ สถิตในสรวงสวรรค์ และทรงอภิบาลคุ้มครองราชอาณาจักรไทย ประชาชนชาวไทย ผู้เป็นพสกนิกรของพระองค์ ให้มีความสงบสุขและความสันติสุข ดุจดังที่ประเทศไทยและประชาชนชาวไทยมีมาโดยตลอด ภายใต้ร่มพระบารมียาวนาน ๗๐ ปี

พี่น้องประชาชนที่เคารพ ถึงแม้ว่าเราจะอยู่ในยามทุกข์โศก น้ำตานองหน้าทั่วกันเพียงใด ประเทศไทยอันเป็นที่รักของพวกเรา และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระบรมโกศ ต้องดำรงต่อไป อย่าให้การเสด็จสวรรคตครั้งนี้ทำให้พระราชปณิธานที่จะเห็นราชอาณาจักรของพระองค์มีความเจริญรุ่งเรือง พสกนิกรมีความผาสุกสวัสดี มีเมตตาและไมตรีต่อกัน ต้องหยุดชะงักลง

การจะแสดงความจงรักภักดีและความอาลัยที่ดีที่สุด คือเจริญรอยตามพระยุคลบาท สืบสานพระราชปณิธานที่จะรักษาเอกราช อธิปไตย ความสมบูรณ์พูนสุข และความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง ตลอดจนการปฏิบัติตามพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส ที่เคยพระราชทานไว้

ภารกิจสำคัญที่จะต้องดำเนินการในวันนี้ มี ๒ ประการ คือ การดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และตามกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พุทธศักราช ๒๔๖๗ ตลอดจนตามพระราชประเพณี ในส่วนของการสืบราชสันตติวงศ์ ซึ่งสอดคล้องกับเพื่อให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลจะแจ้งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระบรมโกศ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม สถาปนาพระรัชทายาท ตามกฎมณเฑียรบาลไว้แล้ว เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๑๕ จากนั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

อีกประการหนึ่ง คือ การเตรียมงานพระบรมศพ ในส่วนของรัฐบาลและประชาชน ให้สมพระเกียรติยศ และสมกับความจงรักภักดีของประชาชนชาวไทยที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระบรมโกศ

ทั้งนี้ การดำเนินการทั้ง ๒ ประการนี้ รัฐบาลจะแจ้งให้พี่น้องประชาชนทราบเป็นระยะต่อไป

ในช่วงเวลาต่อจากนี้ เป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการเรื่องต่างๆ ให้เป็นไปตามกฎหมายและราชประเพณี รัฐบาลจึงขอให้พี่น้องประชาชนทั้งหลายรับฟังข่าวสารอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานราชการ อย่าเชื่อข่าวที่ลือ ที่ไม่ปรากฏแหล่งอ้างอิง พร้อมกันนี้ รัฐบาลขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนคนไทยที่รักทุกท่านแต่งกายถวายความอาลัยเป็นเวลา ๑ ปี สถานที่ราชการลดธงครึ่งเสา เป็นเวลา ๓๐ วัน และทุกภาคส่วนควรพิจารณางดการจัดงานรื่นเริงต่างๆ เป็นเวลา ๓๐ วัน

ทั้งนี้ ท่านทั้งหลายอาจเข้าร่วมพิธี หรือจัดกิจกรรมทางศาสนาของตน ถวายเป็นพระราชกุศล หรือจัดเป็นพระบรมราชานุสรณ์ อีกทั้งควรใช้โอกาสนี้ให้กำลังใจแก่กันและกัน เพราะทุกคนต่างก็มีหัวอกเดียวกัน เพราะมีพ่อของแผ่นดินร่วมกัน และโปรดช่วยกันรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง มิให้ผู้ใดฉวยโอกาสแทรกเข้ามาก่อความขัดแย้งจนกลายเป็นความวุ่นวาย

ขอพี่น้องประชาชนทุกคนร่วมส่งเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระบรมโกศ ด้วยการรักษาแผ่นดินของพ่อด้วยความรักและความสามัคคีตลอดไป

พี่น้องประชาชนชาวไทยทั้งหลาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ ๙ เสด็จสวรรคตแล้ว ขอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลใหม่ ทรงพระเจริญ

กล้าลองกล้าลุย : กว่าจะเป็นคนบนแท่นขุดเจาะน้ำมัน

กล้าลองกล้าลุย : กว่าจะเป็นคนบนแท่นขุดเจาะน้ำมัน ตอน 1 โดย ต้นกล้า ชัยอนันต์ ปันชู
พาไปดูเบื้องหลังของอีกหนึ่งอาชีพ ที่ต้องออกไปทำงานอยู่กลางทะเลของ “คนบนแท่นขุดเจาะน้ำมัน” อีกหนึ่งอาชีพที่ต้องใช้ทั้งประสบการณ์และความชำนาญในหลายด้าน แต่กว่าจะไปทำงานบนแท่นขุดเจาะน้ำมันได้ ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ไปติดตามชม..   http://news.ch7.com/detail/195582?refid=line

การตัดสินใจของกระทรวงพลังงาน โดยมติ กพช. เปิดประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใกล้สิ้นอายุสัมปทาน

การตัดสินใจของกระทรวงพลังงาน โดยมติ กพช. เปิดประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใกล้สิ้นอายุสัมปทาน

กระทรวงพลังงาน ชี้แจง กรณีเติมน้ำมัน แก๊ส ไม่ดับเครื่องยนต์ หรือใช้โทรศัพท์ มีโทษปรับ 100,000 บาท หรือจำคุก 1 ปี ไม่เป็นความจริง และขอให้โลกออนไลน์หยุดแชร์เพื่อลดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน

กระทรวงพลังงาน ชี้แจง กรณีเติมน้ำมัน แก๊ส ไม่ดับเครื่องยนต์ หรือใช้โทรศัพท์ มีโทษปรับ 100,000 บาท หรือจำคุก 1 ปี ไม่เป็นความจริง และขอให้โลกออนไลน์หยุดแชร์เพื่อลดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดการแชร์ข้อความใน LINE และ Facebook ว่า หากประชาชนเข้าไปเติมน้ำมัน หรือแก๊ส ในสถานีบริการ และไม่ได้ดับเครื่องยนต์ รวมทั้งมีการใช้โทรศัพท์ จะมีโทษปรับ 100,000 บาท หรือจำคุก 1 ปี โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมานั้น ซึ่งกรมธุรกิจพลังงาน ขอยืนยันว่า ข้อความดังกล่าวมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง และอาจทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ตื่นตระหนกได้ จึงขอให้โปรดหยุดแชร์ หรือส่งต่อข้อความดังกล่าวนี้

ทั้งนี้ กรมธุรกิจพลังงาน ได้มีกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนด คุณสมบัติและการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งจะเป็นกฎหมายที่เข้มงวดกับเจ้าของสถานีบริการน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม(LPG) ก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (NGV) คลังก๊าซ คลังน้ำมัน รถขนส่งน้ำมัน และร้านค้าจำหน่าย LPG ซึ่งจะต้องมีพนักงานอย่างน้อย 1 คน ที่ได้รับใบอนุญาตเป็นพนักงานปฏิบัติประจำในสถานประกอบการดังกล่าว ซึ่งต้องคอยดูแลความปลอดภัย รวมทั้งต้องมีหน้าที่แจ้งเตือนประชาชนผู้ใช้บริการ ให้ดับเครื่องยนต์ หรืองดคุยโทรศัพท์เมื่อมีการจอดรถเพื่อเติมน้ำมัน ซึ่งหากไม่เกิดการปฏิบัติตาม พนักงานจะพิจารณาไม่เติมน้ำมันหรือแก๊สให้

โดยกฎหมายดังกล่าว กรมธุรกิจพลังงานมุ่งหวังจะป้องปรามให้เจ้าของสถานีบริการ เพิ่มความเข้มงวดในการปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด และไม่ได้มีเจตนาเอาผิดต่อประชาชนผู้เติมน้ำมัน หรือแก๊ส ตามที่มีการส่งต่อข้อมูลกันในโลกออนไลน์ แต่อย่างไรก็ตาม อยากขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัย

“ปิด ปรับ ปลด เปลี่ยน” 4 วิธีเก๋ๆ ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้า-ลดพีคหน้าร้อน

4 วิธีประหยัดค่าไฟฟ้า

หน้าร้อนปีนี้ มาพร้อมกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดขึ้นกว่าทุกปี ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีการพยากรณ์สภาพอากาศในเดือนเมษายนนี้ว่า ในบางพื้นที่ของประเทศไทย จะมีอุณหภูมิพุ่งสูงถึง 40-44 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว และกระทรวงพลังงานยังได้คาดการณ์ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ของประเทศจะพุ่งไปอยู่ที่ 29,018 เมกะวัตต์ ทำลายสถิติพีคของปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ 27,345.8 เมกะวัตต์ ลงอย่างราบคาบ (เพิ่มเติม…)

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เชิญแสดงความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. …. ขึ้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนในบทบาทหน้าที่และการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประชาชนทั่วไป ได้มีโอกาสในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด (เพิ่มเติม…)

“พลังงาน” จำลองสถานการณ์ฉุกเฉิน

“พลังงาน” จำลองสถานการณ์ฉุกเฉิน
เตรียมพร้อมรับมือทุกเหตุการณ์วิกฤติด้านพลังงาน  

          (วันที่ 14 มีนาคม 2559) พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดการซ้อมแผนรองรับสภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานของประเทศ ประจำปี 2559  พร้อมด้วย นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน และผู้บริหารกระทรวงพลังงานระดับสูงเข้าร่วมในการซ้อมแผน (เพิ่มเติม…)

ปี 2559 ก้าวย่างสู่ความมั่นคงด้านพลังงาน

ก.พลังงาน ยืนยัน การหยุดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซธรรมชาติยาดานา ในช่วง 26 -29 กพ. นี้ ไม่กระทบต่อระบบความมั่นคงด้านพลังงานในประเทศ ยันเตรียมมาตรการรองรับใช้น้ำมันเตาและดีเซลทดแทน พร้อมชวนประชาชนมีส่วนร่วมติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด (เพิ่มเติม…)

Page 1 of 2
1 2