คณะผู้แทนประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา ได้เข้าร่วมการประชุมหารือเชิงนโยบายด้านพลังงานระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทย ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ 2565 ณ กรุงเทพมหานคร โดยนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานของไทย และนายแฮร์รี คาเมียน รักษาการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้านทรัพยากรพลังงาน สำนักทรัพยากรพลังงาน กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นหัวหน้าคณะร่วมกับข้าราชการและผู้แทนจากภาคเอกชน องค์กร และสถาบันที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความร่วมมือทวิภาคีด้านพลังงานของทั้งสองประเทศ
การประชุมหารือเชิงนโยบายฯ ดังกล่าวนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทยในประเด็นสำคัญ ได้แก่ การส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน การพัฒนาภาคการผลิตไฟฟ้า การผลักดันการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในภาคน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน และการเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน ทั้งนี้ การหารือเชิงนโยบายได้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้เป็นอย่างดี โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือที่เป็นประโยชน์โดยเฉพาะระหว่างภาคเอกชน รวมถึงมีการหารือเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการลงทุนและการดำเนินธุรกิจภาคพลังงานระหว่างสองประเทศ
ในระหว่างการประชุม ผู้แทนไทยและสหรัฐอเมริกาต่างให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับแนวโน้มของการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าสำหรับอนาคต ตลอดจนเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์และการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าให้ทันสมัย และนวัตกรรมเทคโนโลยีพลังงานยุคใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายด้านพลังงานแห่งชาติ และสนับสนุนความพยายามในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศของทั้งสองประเทศ
ในระหว่างการประชุมฯ ประเทศไทยได้ประกาศความร่วมมือในหนังสือแสดงเจตจำนง (LOI) ที่ไม่มีผลผูกพันกับภาคเอกชนของสหรัฐอเมริกา ภายใต้ “ข้อริเริ่มความต้องการพลังงานสะอาด” (Clean Energy Demand Initiative) หรือ CEDI ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมช่องทางสำหรับกระตุ้นการลงทุนในโครงการด้านพลังงานสะอาดในประเทศไทยและช่วยให้ภาคเอกชนของสหรัฐฯ สามารถบรรลุเป้าหมายในการใช้พลังงานสะอาดในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งข้อริเริ่มนี้จะส่งเสริมให้เกิดการผลิตและการใช้พลังงานสะอาดในห่วงโซ่คุณค่าในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศที่ท้าทายตามที่ได้ประกาศไว้ในเวที COP26 ได้
ฝ่ายไทยและสหรัฐฯ เห็นพ้องร่วมกันที่จะส่งเสริมความร่วมมือและให้การสนับสนุนการพัฒนาภาคพลังงานระหว่างสองประเทศ รวมถึง ยืนยันที่จะต่อยอดการสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและความเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ในการพัฒนาภาคพลังงานร่วมกันต่อไป ทั้งนี้ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืนระหว่างทั้งสองประเทศในยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอันสำคัญยิ่งนี้