ก.พลังงาน เป็นเจ้าภาพประชุมเวที ASEAN + 3 ด้านตลาดน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ แผนการสำรองน้ำมัน และหารือเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ระหว่าง 27 – 30 มี.ค. ชี้ที่ประชุมฯ เชื่อน้ำมันยังเป็นเชื้อเพลิงสำคัญ ที่มีการลงทุนต่อเนื่องท่ามกลางยุคยานยนต์ไฟฟ้า พร้อม LNG จะเกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่อเนื่อง ระบุในอนาคตมีโอกาสสำรองน้ำมันร่วมกันในภูมิภาค
ระหว่างวันที่ 27 – 30 มี.ค. 2561 ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสำคัญด้านตลาดการค้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แผนงานการสำรองน้ำมัน และด้านความมั่นคงด้านพลังงาน ภายใต้ความร่วมมือ ASEAN+3 ได้แก่ การประชุม The 7th ASEAN+3 Oil Market and Natural Gas Forum (OM&NG) and Business dialogue , The 6th Workshop of the ASEAN+3 Oil Stockpiling Road Map (OSRM) , The 15th ASEAN+3 Energy Security Forum (ESF) การประชุมฯ ครั้งนี้ มีผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนบวก 3 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) คณะมนตรีอาเซียนด้านปิโตรเลียม หรือ ASEAN Council on Petroleum (ASCOPE) ศูนย์พลังงานอาเซียน ASEAN Centre on Energy (ACE) และสถาบันการเงิน อาทิ Asian Development Bank (ADB) เป็นต้น ซึ่งในที่ประชุม ฯ มีการหารือเกี่ยวกับการส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน แลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์และข้อคิดเห็น ตลอดจนแนวทางความร่วมมือระหว่างชาติสมาชิกอาเซียนบวกสามในอนาคต และพิธีเปิดการประชุมฯ เมื่อวันที่ 27 มีค. ได้รับเกียรติจากนายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ทั้งนี้ ข้อสรุปจากการหารือร่วมกันในประชุม ฯ ที่สำคัญ ๆ ได้แก่
1.) เวทีด้านตลาดน้ำมันก๊าซธรรมชาติ และการหารือภาคธุรกิจพลังงาน ที่ประชุม ฯ มีความเห็นว่า ปัจจุบันน้ำมันยังเป็นเชื้อเพลิงสำคัญ แม้ว่าจะมีพลังงานทดแทนและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามา เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม รถยนต์ไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงาน โดยโดยสถาบันวิจัยระหว่างประเทศหลายแห่ง คาดการณ์ว่าความต้องการด้านน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และLNG ในภูมิภาคอาเซียนจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 33% ในปี 2573 (หากการดำเนินธุรกิจเป็นเช่นนี้ในอนาคต) และศักยภาพในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานยังมีสูง เช่น ท่าเรือรองรับ LNG และโครงข่ายท่อก๊าซธรรมชาติ ซึ่งสะท้อนถึงโอกาสในการลงทุนที่เพิ่มขึ้นของตลาดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในภูมิภาค โดยในเวทีการประชุมฯ ยังได้เชิญสถาบันการเงิน เช่น ADB หรือผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นในการนำเสนอแหล่งทุนจากญี่ปุ่น ซึ่งได้เปิดโอกาสให้สมาชิกอาเซียนพบปะ และถือโอกาสรับการสนับสนุนทางด้านการเงินในการลงทุนในมิติต่างๆ อาทิ โรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติ การขนส่งและกระจายก๊าซธรรมชาติไปยังโรงแยกก๊าซ การกระจายผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม ตลอดจน การพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในด้านการขนส่งน้ำมันและ LNG ซึ่งถือว่าเป็นการส่งเสริมเรื่องการซื้อขายไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติในภูมิภาคอีกด้วย นอกจากนี้ ตลาดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดใหม่ด้าน LNG จะได้รับการช่วยเหลือจากญี่ปุ่น โดย Japan Oil, Gas and Metals National Corporation (JOGMEC) ในการจัด Capacity Building Training Programme on LNG รวมทั้งด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปี 2561 และประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากกิจกรรมนี้ เพื่อส่งเสริมในเรื่องการเป็นตลาด LNG ของภูมิภาคในอนาคตต่อไป
2.) เวทีด้านการสำรองน้ำมัน ที่ประชุม ฯ ได้หารือแนวทางการจัดทำยุทธศาสตร์การสำรองน้ำมันในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งถือว่ามีความจำเป็นในการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานของอาเซียนในอนาคต เนื่องจากระดับการพัฒนาการสำรองน้ำมันในแต่ละประเทศในภูมิภาคนี้มีความแตกต่างกัน ทั้งในเชิงนโยบาย กฎหมายและแนวทางปฏิบัติ ซึ่งประเทศญี่ปุ่นโดย The Institute of Electrical Engineers of Japan (IEEJ) ได้นำเสนอผลการศึกษาศักยภาพของการสำรองน้ำมัน รวมทั้งหารือแนวทางความร่วมมือในการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ และการพัฒนาขีดความสามารถของสมาชิกอาเซียนต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ ชาติในอาเซียนยังคงต้องการเงินลงทุน และการเสริมสร้างศักยภาพจากประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เพื่อพัฒนาการสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ โดยญี่ปุ่นได้เสนอแนวทางการศึกษา และพัฒนาขีดความสามารถให้บุคลากรอาเซียน ซึ่งไทยจะได้รับประโยชน์ในการเข้าร่วมดังกล่าวด้วย
3.) เวทีด้านความมั่นคงพลังงาน ที่ประชุม ฯ ได้มีการนำเสนอผลการศึกษาเกี่ยวกับแนวโน้มของตลาดพลังงานโลกและอาเซียน ซึ่งคาดว่าความต้องการใช้พลังงานในภูมิภาคอาเซียนและบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น เกาหลี) ยังคงเป็นภูมิภาคที่มีความต้องการใช้พลังงานมากที่สุดภูมิภาคหนึ่งของโลก โดยถ่านหินและเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดยังเป็นแหล่งเชื้อเพลิงสำคัญในภูมิภาคนี้ในอนาคต นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือแนวทางในการส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานในมิติของน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ในเชิงการสำรองน้ำมันในอาเซียนและการพัฒนาความตกลงอาเซียนว่าด้วยความมั่นคงทางปิโตรเลียม (ASEAN Petroleum Security Agreement : APSA) ให้สามารถนำมาใช้ในเชิงปฏิบัติได้ในอนาคต ตลอดจนหาแนวทางเพิ่มศักยภาพของอาเซียนโดยนำมิติของเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด รวมทั้งสนับสนุนความร่วมมือให้มากขึ้นจากประเทศบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น เกาหลี)