ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รมว.พลังงาน (ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์) ร่วมกับ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดตัวโครงการ “โซลาร์ภาคประชาชน” ให้เจ้าของบ้านและอาคารที่อยู่อาศัยที่ต้องการติดตั้งแผงเซลล์ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้เอง สามารถเชื่อมกับระบบไฟฟ้าของประเทศ และขายผลผลิตไฟฟ้าส่วนที่เหลือใช้เข้าสู่ระบบได้
รมว.พลังงาน (ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์) ได้กล่าวเปิดการแถลงข่าว เปิดตัวโครงการ “โซลาร์ภาคประชาชน” ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562 ได้มีมติเห็นชอบแผนการพัฒนาระบบไฟฟ้าฉบับใหม่ PDP2018 ในการเสริมสร้างระบบพลังงานไฟฟ้าของประเทศที่มั่นคง ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ในราคาที่ส่งเสริมให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศสามารถแข่งขันได้ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ด้วยการใช้วิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีตามแนวพัฒนาประเทศสู่ Thailand 4.0 ให้เป็นระบบไฟฟ้าทันสมัยให้สามารถรองรับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและมาตรการอนุรักษ์พลังงานได้สูงถึง 35% ในปี 2580 ซึ่งการใช้ แผงเซลล์ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (Photo Voltaic Solar Cell) ถือเป็นส่วนสำคัญของแผนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนดังกล่าว ในสัดส่วนมากกว่า 50% ด้วยกำลังผลิตติดตั้งรวม 12,725 MW และจากนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนให้ประชาชนที่ต้องการมีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง ให้สามารถเชื่อมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบไฟฟ้าของประเทศ และขายผลผลิตไฟฟ้าส่วนที่เหลือใช้ในบางเวลาเข้าสู่ระบบได้ ซึ่งนอกจากจะประหยัดค่าไฟฟ้าแล้ว ยังมีรายได้เสริมจากการขายไฟฟ้าส่วนที่เหลืออีกด้วย
โครงการ “โซลาร์ภาคประชาชน” ที่ กกพ. เปิดตัวในวันนี้ เป็นการดำเนินการตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่ได้กำหนดหลักการโครงการนำร่องการรับจดทะเบียนเจ้าของบ้านและอาคาร ที่เป็นเจ้าของมิเตอร์ ประเภทบ้านอยู่อาศัย ที่ต้องการติดตั้งแผงเซลล์ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้เอง สามารถเชื่อมกับระบบไฟฟ้าของประเทศ และขายผลผลิตไฟฟ้าส่วนเกินความต้องการใช้ เข้าสู่ระบบได้ ในขนาดการติดตั้งประมาณ 100 MW ต่อปี เป็นระยะเวลา 10 ปี โดยคาดว่าจะเริ่มรับจดทะเบียนได้ตั้งแต่ เดือนพฤษภาคมนี้ เป็นต้นไป และในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็จะได้ออกมาตรการสนับสนุนให้ผู้ผลิตแผงโซล่าเซลล์และผู้ประกอบการติดตั้งระบบในประเทศ และสถาบันอาชีวะศึกษา ให้มีส่วนร่วมในธุรกิจการติดตั้งและบำรุงรักษาระบบ ที่ในแต่ละปีคาดว่าจะมีการติดตั้งประมาณ 10,000 – 20,000 ระบบ เป็นมูลค่าประมาณ 4,000 ล้านบาท/ปี หรือประมาณ 40,000 ล้านบาท ตลอดระยะเวลาโครงการ 10 ปี ทั้งนี้หลักการของโครงการจะได้มีการนำเสนอ โดย กกพ. ในลำดับต่อไป
นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ภายใต้นโยบายของ กกพ. ได้แก่ การเปิดเผยข้อมูล การสร้างความเข้าใจ และการสร้างความโปร่งใส ในกระบวนการพิจารณาทุกขั้นตอน ให้กับประชาชนที่ต้องการเข้าร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้โครงการฯประสบความสำเร็จและเกิดประโยชน์สูงสุดเป็นไปตามเป้าหมาย และนโยบายของรัฐบาล
“การประกาศรับซื้อไฟฟ้าภายใต้โครงการโซลาร์ภาคประชาชนครั้งนี้ จะเป็นมิติใหม่ในการกำกับดูแลภาคพลังงานของ กกพ. เพราะนอกเหนือจากการที่ กกพ. ออกระเบียบและหลักเกณฑ์ในการจัดหาไฟฟ้า และออกประกาศเชิญชวนตามปกติแล้ว กกพ. ยังจะอำนวยความสะดวกด้านการให้ข้อมูล และการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลครบถ้วนในการตัดสินใจ และยืนยันทุกคนจะได้รับการพิจารณาอย่างโปร่งใส และเป็นธรรม” นายเสมอใจกล่าว
สำหรับขั้นตอนในการดำเนินการ ประกอบด้วย
- สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) จะเริ่มกระบวนการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โครงการฯ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562 โดยประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถติดต่อเพื่อสอบถามข้อมูลได้ที่ 02-207-3599 หรือติดตามจากเว็บไซต์ สำนักงาน กกพ. ที่ www.erc.or.th และเว็บไซต์ของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายทั้ง 2 แห่ง
- เปิดรับลงทะเบียนสำหรับผู้สนใจเข้าร่วมโครงการผ่านเว็บไซต์ของการไฟฟ้านครหลวงและเว็บไซต์ ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และหมดเขตรับลงทะเบียนภายในปี 2562
- ทยอยประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาโดยการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562
- กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ภายในปี 2562
นายเสมอใจ กล่าวว่า อยากให้ประชาชนได้มีการศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดถี่ถ้วนด้วย โดยเฉพาะการพิจารณาผลประโยชน์ที่จะได้รับ ซึ่งโครงการฯ ดังกล่าวประชาชน จะต้องมีการลงทุนเพื่อติดตั้งระบบ ดังนั้น ควรต้องคำนึงถึงความคุ้มทุนที่จะเกิดขึ้นกับการลงทุนด้วย ซึ่งความคุ้มค่าการลงทุนจะขึ้นกับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนเป็นหลัก และอยากให้มีการเปรียบเทียบ กับปริมาณความต้องการ และช่วงเวลา ในการใช้ไฟฟ้า เช่น หากมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวันมากอยู่แล้ว ระยะเวลาในการคุ้มทุนย่อมเร็วกว่า เป็นต้น
นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงาน กกพ. เปิดเผยถึงหลักเกณฑ์การประกาศรับซื้อไฟฟ้าภายใต้โครงการฯ ประกอบด้วย
- คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ :
1.1 บุคคลหรือนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า
1.2 เป็นผู้ที่มีเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าประเภทที่ 1 ตามประกาศอัตราค่าไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย
ไม่เกิน 10 KW ต่อครัวเรือน
- เป้าหมาย และปริมาณการรับซื้อรวม 100 เมกะวัตต์ :
2.1. พื้นที่การไฟฟ้านครหลวงรวม 30 เมกะวัตต์
2.2. พื้นที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาครวม 70 เมกะวัตต์
- เงื่อนไขในการพิจารณา และข้อยกเว้น :
การพิจารณาแบบเรียงลำดับก่อนหลังตามความพร้อม (First come First served) โดยจะยึดถือวันและเวลาที่ได้รับแบบคำขอที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์ของเอกสารหลักฐานที่กำหนดเป็นสำคัญ
- ราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในอัตราไม่เกิน 1.68 บาท/หน่วย ระยะเวลารับซื้อ 10 ปี