banner

ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน ศึกษาดูงานประเด็นการมีส่วนร่วมและการสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศญี่ปุ่น

ระหว่างวันที่ 3 – 9 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน ได้เป็นหัวหน้าคณะ ศึกษาดูงานประเด็นการมีส่วนร่วมและการสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศญี่ปุ่นหลังอุบัติเหตุฟุกุชิม่า ไดอิจิ ณ ประเทศญี่ปุ่น  การเข้าเยี่ยมชมศูนย์ตรวจสอบผลิตผลทางการเกษตรฟุกุชิม่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์โออิ (Ohi) และ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มิฮาม่า (Mihama) ของบริษัทผลิตไฟฟ้าแห่งคันไซ (Kansai Electric Power) ศูนย์ให้ความรู้ด้านพลังงานชุมชุนแก่ครอบครัว “At Home” ของเทศบาลเมืองทสึรุกะ (Tsuruga) รวมทั้งการเข้าพบนายอัทสึชิ ทาเคทานิ Deputy Commissioner for International Affaires, ANRE (เทียบเท่ารองปลัดกระทรวง) กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (Ministry of Economy, Trade and Industry: METI) เพื่อหารือด้านความร่วมมือการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านพลังงานนิวเคลียร์

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน ได้รับทราบความคืบหน้า การฟื้นฟูความเชื่อมั่นด้านอาหารในพื้นที่ประสบอุบัติเหตุโรงไฟฟ้าฟุกุชิม่า ไดอิจิ เมื่อ 11 มีนาคม 2554 โดยเบื้องต้น พบว่าผลการตรวจสอบปริมาณกัมตภาพรังสีในข้าวสารทุกกระสอบของข้าวที่เพาะปลูกในฟุกุชิม่า ไม่ปรากฏปริมาณรังสีเกินมาตรฐานตั้งแต่ปีแรกหลังเกิดอุบัติเหตุ  การเร่งดำเนินการยกระดับด้านความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตามกฎหมายใหม่ที่เข้มข้นขึ้น อาทิ ติดตั้งระบบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลสำรองและก่อสร้างกำแพงป้องกันคลื่นสึนามิตามข้อมูลการทำนายภัยพิบัติที่ทันสมัย ที่สำคัญที่สุดคือการสร้างความเชื่อมั่นในมาตรฐานความปลอดภัยและการยอมรับแก่ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ซึ่งโรงไฟฟ้าร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่สื่อสารเปิดเผยข้อมูลโดยไม่ปกปิดแก่ประชาชนอย่างสม่ำเสมอ  โดยปัจจุบัน (มิถุนายน  2561) ประเทศญี่ปุ่นมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ (nuclear reactor) ที่ผ่านได้รับการยอมรับจากประชาชน ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยใหม่ และเปิดเดินเครื่องเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าอีกครั้งแล้วจำนวน 8 โรง จากจำนวน 45 โรงทั่วประเทศ

โดยการเดินทางครั้งนี้ ประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงพลังงาน ผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และผู้แทนสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย จำนวนรวม 15 คน เป็นการตอบรับคำเชิญจาก Japan Atomic Industrial Forum International Cooperation Center (JICC) ภายใต้การสนับสนุนจาก METI