banner

รองปลัดกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาโครงการโซลาร์เซลล์ของกองทุนอนุรักษ์

“ก.พลังงาน” ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาโครงการโซลาร์เซลล์ของกองทุนอนุรักษ์ ย้ำ ประชาชนต้องใช้ประโยชน์ได้เต็มประสิทธิภาพ

“สมบูรณ์ หน่อแก้ว” รองปลัดกระทรวงพลังงาน ประธานคณะทำงานกำกับติดตามผลการดำเนินโครงการเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ นำคณะทำงานฯ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน และสื่อมวลชน ลงพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตรวจติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาโครงการระบบสูบน้ำพลังงานพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เน้นย้ำว่า ทุกโครงการต้องแก้ไขให้แล้วเสร็จ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จริง

นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน ประธานคณะทำงานกำกับติดตามผลการดำเนินโครงการเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงพลังงานมีการตั้งคณะทำงานกำกับและติดตามผลการดำเนินโครงการเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อตรวจติดตามการดำเนินโครงการฯ ที่ได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานทั่วประเทศ ในช่วงปี 2557-2562 เพื่อให้ทุกโครงการฯ ดำเนินการให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ตามวัตถุประสงค์ของการจัดสรรงบประมาณอย่างแท้จริง

ในการลงพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนครั้งนี้ เป็นการติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาในส่วนโครงการของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 3 หรือ กอ.รมน.ภาค 3 ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ผ่านกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน หรือ พพ. ปี 2560 เพื่อติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ และระบบกรองน้ำสำหรับอุปโภคขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 10 กิโลวัตต์ และระบบกรองน้ำสำหรับบริโภคขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 2 กิโลวัตต์ ในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียง และอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และพื้นที่อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก จำนวนรวม 20 แห่ง

ทั้งนี้ ภายหลังจากการดำเนินโครงการของ กอ.รมน.ภาค 3 แล้วเสร็จ ทาง พพ. ได้ดำเนินการตรวจสอบและประเมินผลโครงการฯ ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2561-เดือนมิถุนายน 2562 จำนวน 3 ครั้ง พบว่าทั้ง 20 แห่ง สามารถใช้งานได้ตามปกติ และอยู่ภายใต้เงื่อนไขของการรับประกันของผู้รับจ้าง อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากหมดช่วงรับประกัน (กันยายน 2563)  ได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบอีกครั้งในช่วงกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา พบว่าแต่ละแห่งประสบปัญหาเรื่องประสิทธิภาพการใช้งานของระบบฯ ตามสภาพการใช้งานที่บางแห่งระบบกรองน้ำอุปโภคใช้ได้หรือบางแห่งระบบกรองน้ำบริโภคใช้ได้ ซึ่งขณะนี้ ได้มีการแก้ไขให้สามารถใช้งานได้ทั้ง 2 ระบบแล้วทั้ง 18 แห่ง และอยู่ระหว่างการเร่งแก้ไขอีก 2 แห่ง ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคมนี้ และหลังจากนั้น จะมีการส่งมอบให้กับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่ของโครงการเพื่อนำไปบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนในพื้นที่ ต่อไป โดยเจ้าของโครงการจะร่วมกับผู้รับจ้างและผู้เกี่ยวข้องจะดำเนินการฝึกอบรมการใช้งาน การดูแลบำรุงรักษาให้แก่ อบต.ผู้นำชุมชน และผู้ใช้งาน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการและใช้งานระบบฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป

“คณะทำงานฯ จะดำเนินการตรวจสอบและติดตามการแก้ไขปัญหาโครงการที่ไม่สามารถใช้งานได้ เมื่อทราบปัญหาแล้วจะได้ประสานหน่วยงานเจ้าของโครงการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนดำเนินการซ่อมบำรุงกลับสู่สภาพเดิมให้ประชาชนสามารถใช้โครงการต่างๆ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ พร้อมทั้งจะทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบโครงการทั้งหมดอีกกว่า 788 โครงการทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจว่างบประมาณจากกองทุนดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริง ส่วนโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น การพิจารณาอนุมัติงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจะมีความเข้มงวดมากขึ้น  โดยจะมีการตรวจสอบตั้งแต่คำขอโครงการที่จะต้องมีรายละเอียดงบประมาณ แผนงานการดำเนินงานและมีแผนงบประมาณการซ่อมบำรุงที่ชัดเจน คำนึงถึงความเหมาะสมของพื้นที่ มีความคุ้มค่า ตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่อีกด้วย”   รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าว