วันที่ 15 กันยายน 2560 พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน ผู้บริหารกระทรวงพลังงาน ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และสื่อมวลชน ลงพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อติดตามการดำเนินงานด้านการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงระดับประเทศ โดยตรวจติดตาม การใช้งบประมาณ Block Grant โครงการส่งเสริมพลังงานทดแทนชุมชน โรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสวนกล้วยอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรในพื้นที่ ด้วยเทคโนโลยีพลังงานทดแทน และเยี่ยมชมศักยภาพการดำเนินงานแหล่งผลิตอู่ทอง 1-7 โครงการ PTTEP 1 อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในการสร้างความมั่นคงให้กับภาคพลังงานของประเทศ กระทรวงพลังงานมุ่งเน้นการส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงตั้งแต่ระดับรากหญ้าไปจนถึงการประกอบกิจการพลังงานระดับประเทศ การลงพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีในครั้งนี้ เป็นการติดตามโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน และเพื่อตรวจติดตามศักยภาพของแหล่งพลังงานบนบกของประเทศ โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสวนกล้วยอู่ทอง ตำบลจรเข้สามพัน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ถือเป็นกลุ่มที่ประสบความสำเร็จและเป็นต้นแบบการใช้พลังงานทดแทนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ยังได้ต่อยอดการพัฒนาบุคลากร เทคโนโลยี และการจัดการองค์ความรู้ จนสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านพลังงานและเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรแบบครบวงจร
โดยกลุ่มดังกล่าว เกิดจากการรวมตัวกันของเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางเกษตรให้ชุมชนมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ด้วยกระบวนการแปรรูป อาทิ กล้วยอบ กล้วยตาก ข้าวเกรียบรสต่างๆ เป็นต้น แต่ด้วยกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิมทำให้ประสบปัญหาเรื่องผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐาน และยังมีต้นทุนค่าพลังงานค่อนข้างสูงจากการพึ่งพาเชื้อเพลิงแอลพีจีเป็นหลัก ซึ่งการดำเนินงานของกลุ่มวิสาหกิจสวนกล้วยอู่ทองมีศักยภาพที่จะส่งเสริมด้านพลังงานทดแทนในกระบวนการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์ กระทรวงพลังงานจึงได้สนับสนุนระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ภายใต้งบประมาณ Block Grant ปี 2560 เพื่อช่วยลดปริมาณการใช้ก๊าซแอลพีจีในขั้นตอนการผลิต ซึ่งสามารถลดได้ จำนวน 20 ถังต่อเดือน คิดเป็นเงินจำนวน 84,000 บาทต่อปี ตลอดจนสามารถประหยัดเวลาต่อรอบการผลิตจากเดิมที่ต้องใช้เวลาใช้เวลามากถึง 4 วัน เหลือเพียง 2 วัน และยังสามารถลดความเสียหายของวัตถุดิบลงได้ 5% หรือคิดเป็นเงินจำนวน 3,500 บาทต่อเดือน ปัจจุบัน ด้วยระบบการผลิตที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้นทำให้สามารถต่อยอดไปสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นๆ อาทิ ก้านเผือก มะเขือเทศเชอรี่อบแห้ง และข้าวแต๋น เป็นต้น สร้างรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์แปรรูป 4-5 หมื่นบาทต่อเดือน ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังได้กล่าวถึงความสำคัญและศักยภาพของ แหล่งอู่ทอง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันดิบแหล่งหนึ่งในแปลงสำรวจปิโตรเลียม PTTEP 1 ว่า “แหล่งอู่ทองเป็น แหล่งพลังงานบนบกที่ช่วยเสริมความมั่นคงด้านพลังงานแก่ประเทศไทย โดยแหล่งอู่ทอง และแหล่งข้างเคียง ที่อยู่ในแปลงเดียวกัน ได้แก่ แหล่งสังฆจาย และแหล่งกำแพงแสน มีปริมาณการผลิตน้ำมันดิบตั้งแต่เริ่มผลิตจนถึงสิ้นปี 2559 จำนวนรวม 5.8 ล้านบาร์เรล สร้างรายได้เข้ารัฐในรูปแบบของค่าภาคหลวงคิดเป็นจำนวนเงินรวม 313 ล้านบาท”
แปลงสำรวจปิโตรเลียม PTTEP 1 อยู่ภายใต้สัมปทานเลขที่ 2/2528/27 นอกจากนี้ยังมีแปลงสำรวจปิโตรเลียม L53/43 คือ แหล่งบึงกระเทียม และแปลงสำรวจปิโตรเลียม L54/43 คือ แหล่งหนองผักชี อีกด้วย ซึ่งทั้ง 3 แปลงสำรวจ มีบริษัท ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นผู้รับสัมปทาน (100%) และผู้ดำเนินการ โดยมีกำลังการผลิตน้ำมันดิบรวมทั้ง 3 แปลงสำรวจ ประมาณ 850 บาร์เรลต่อวัน ประกอบด้วยแปลง PTTEP 1 (แหล่งน้ำมันดิบอู่ทอง แหล่งสังฆจาย และแหล่งกำแพงแสน) จำนวน 200 บาร์เรลต่อวัน แปลง L54/43 (แหล่งหนองผักชี) จำนวน 650 บาร์เรลต่อวัน และแปลง L53/43 (แหล่งบึงกระเทียม) หยุดการผลิตปิโตรเลียมชั่วคราว โดยน้ำมันดิบที่ผลิตได้ทั้งหมดจะขายให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อเข้าสู่โรงกลั่นบางจาก
ทั้งนี้ แปลง PTTEP 1 ได้สิ้นระยะเวลาผลิตปิโตรเลียม 20 ปีเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2560 และได้รับการต่อระยะเวลาผลิตอีก 10 ปี ซึ่งจะสิ้นอายุสัมปทาน ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2570