ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงานได้รับเชิญเข้าร่วมเสวนาในงาน APEC Symposium on the Holistic Approach of Decarbonization towards Carbon Neutrality ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 – 31 สิงหาคม 2564 โดยศูนย์วิจัยพลังงานเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Energy Research Center: APERC) และได้ร่วมเวทีเสวนาในประเด็น “การสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในยุคของการก้าวเข้าสู่เป้าหมายคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Carbon Neutrality” โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจสำหรับอาเซียนและเอเชียตะวันออกหรือ ERIA กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมประเทศญี่ปุ่น และผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานจากสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค
ผู้เข้าร่วมเสวนาได้แสดงทรรศนะเกี่ยวกับแนวทาง นโยบาย และมาตรการที่จะช่วยให้ประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (NET ZERO) โดยยังคงรักษาความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศมีพลังงานเพียงพอสำหรับความต้องการของทุกภาคส่วนไปพร้อมๆ กับการปรับเปลี่ยนตลาดพลังงานจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลให้เป็นเชื้อเพลิงสะอาดในอนาคต ทั้งนี้ ดร.ทวารัฐได้ให้ความเห็นต่อที่ประชุมโดยเน้นย้ำความพยายามของประเทศไทยในการลดการปล่อยคาร์บอนในภาคพลังงาน ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินนโยบายที่สร้างความสมดุลระหว่างความมั่นคงด้านพลังงานกับการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด ซึ่งสามารถทำได้หลายรูปแบบ อาทิ การนำเข้าพลังงานสะอาดจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงผลักดันการผลิตพลังงานสะอาดในประเทศ การมุ่งศึกษาพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ และการวางนโยบาย/มาตรการที่เหมาะสมในช่วงของการปรับรูปแบบตลาดพลังงานของประเทศให้สามารถพึ่งพิงเชื้อเพลิงสะอาดมากขึ้นในอนาคต นอกจากนั้นยัง ต้องให้ความสำคัญกับรูปแบบความต้องการใช้พลังงานที่จะเปลี่ยนแปลงไปโดยจะมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแทนรถที่ใช้น้ำมันในภาคขนส่ง มีการใช้พลังงานหมุนเวียนและเชื้อเพลิงไฮโดรเจนแทนการใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ซึ่งส่งผลให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องปรับเปลี่ยนการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าของประเทศรวมถึงวางแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าการใช้ก๊าซธรรมชาติและ LNG ยังคงมีความสำคัญในช่วงของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในปัจจุบันและอีกหลายสิบปีข้างหน้า ดังนั้น การปรับใช้เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน หรือ Carbon Capture and Storage ในอุตสาหกรรมต้นน้ำของการผลิตเชื้อเพลิงปิโตรเลียมยังคงเป็นทางออกที่ดีสำหรับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาในการที่จะลดการปล่อยคาร์บอนในภาคพลังงานและการบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ในอนาคต