เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) ได้เข้าร่วมการประชุม IEA-COP26 Net Zero Summit ผ่านระบบออนไลน์ (Virtual Meeting) ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 15 ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ อาคารบี โดยการประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมด้านพลังงานที่จัดขึ้นร่วมกันระหว่างทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) กับรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรในฐานะประธานการประชุม COP26 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีหารือร่วมกันของผู้แทนระดับรัฐมนตรีจากประเทศต่าง ๆ และผู้นำองค์กรระหว่างประเทศในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของโลก
เพื่อมุ่งไปสู่การบรรลุเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเท่ากับศูนย์ (Net zero emission) และการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวบรรยายในช่วง Ministerial Panel 2: Catalysing Near-Term Implementation ร่วมกับรัฐมนตรีพลังงานจากประเทศต่าง ๆ ได้แก่ สวีเดน อินโดนีเซีย บราซิล นอร์เวย์ ลิทัวเนีย และผู้นำองค์กรระหว่างประเทศ เช่น International Renewable Energy Agency (IRENA), African Union Commission, International Atomic Energy Agency (IAEA) และ Hitachi ABB Power Grids เป็นต้น ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวในที่ประชุมว่า ทุกประเทศควรเปลี่ยนความท้าทายด้านพลังงานให้เป็นโอกาส โดยการปฏิวัติระบบพลังงานให้เป็นรูปธรรมและเสริมสร้างความร่วมมือกันระหว่างประชาคมโลกเพื่ออนาคตของภาคพลังงานที่มีความยืดหยุ่น มั่นคง และยั่งยืน ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานอยู่ในระหว่างการจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ (National Energy Plan: NEP) ที่มุ่งเน้นไปสู่การใช้พลังงานสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนซึ่งมุ่งเน้นไปที่การใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ และการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อสร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ภาคประชาชน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวว่า ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC Leader Summit ในปี 2022 ภายใต้แนวคิดหลักคือ “Bio-Circular-Green Economy Model” หรือ BCG Model จึงขอเชิญสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปกเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวที่ประเทศไทยอีกด้วย อีกทั้งกระทรวงพลังงานยังมี กลยุทธ์ระยะยาวเพื่อนำไปสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ เช่น การขยายการผลิตและการใช้พลังงานที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ การเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า การส่งเสริมการจัดการขยะให้เป็นพลังงาน การส่งเสริมการผลิตและการบริการคาร์บอนต่ำในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การมุ่งไปสู่การเกษตรที่ปลอดการเผาและการเกษตรอัจฉริยะผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล และการใช้เทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน เป็นต้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนในประชาคมโลกเพื่อให้บรรลุการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่พลังงานสะอาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ไฮโดรเจนสะอาด การส่งเสริมเทคโนโลยีจัดเก็บพลังงาน การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCUS) และการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายความตกลงปารีส (Paris Agreement) รวมถึงการลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero emission) ภายในปี 2050