banner

ผลการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)

S__18096493
วันนี้ (7 กรกฎาคม 2559) ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ซึ่งมี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ว่า ที่ประชุม กบง. ได้มีการพิจารณาวาระสำคัญต่างๆ ดังนี้

*** โครงสร้างราคาก๊าซ LPG เดือนกรกฎาคม 2559
สถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลก (CP) เดือนกรกฎาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 301 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน 43 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเดือนมิถุนายน 2559 แข็งค่าขึ้นจากเดือนก่อน 0.1418 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ 35.4733 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคาต้นทุนเฉลี่ยการจัดหาก๊าซ LPG ทั้งระบบ ซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นของก๊าซ LPG (LPG Pool) ปรับตัวลดลง 0.6607 บาท/กก. จาก 13.9150 บาท/กก. เป็น 13.2543 บาท/กก. แต่เนื่องจากในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา (ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – มิถุนายน 2559) ได้มีการใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ ชดเชยราคาเพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกก๊าซ LPG ในประเทศ ดังนั้น ที่ประชุม กบง. จึงเห็นควรให้คงราคาขายปลีกก๊าซ LPG เดือนกรกฎาคม 2559 ไว้ที่ 20.29 บาท/กก. โดยปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพิ่มขึ้น 0.6607 บาท/กก. จากเดิมกองทุนน้ำมันฯ ชดเชย 0.5960 บาท/กก. เป็นส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ที่ 0.0647 บาท/กก. ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป

จากการปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าว ส่งผลทำให้กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของก๊าซ LPG มีรายรับประมาณ 22 ล้านบาท/เดือน โดยฐานะสุทธิของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 3 กรกฎาคม 2559 อยู่ที่ 44,461 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) ในส่วนของบัญชีก๊าซ LPG อยู่ที่ 7,128 ล้านบาท และ 2) ในส่วนของบัญชีน้ำมันสำเร็จรูป อยู่ที่ 37,333 ล้านบาท

*** การปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
มติ ครม. เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 ได้เห็นชอบหลักการของร่างประกาศกระทรวงการคลังเรื่อง ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) เพื่อปรับอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซินและน้ำมันอื่นที่คล้ายกัน และน้ำมันดีเซลและน้ำมันอื่นที่คล้ายกัน โดยเป็นการดำเนินการให้มีผลบังคับสอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันและเสริมสร้างเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ ซึ่งมีรายละเอียดในการปรับอัตราภาษีสรรพสามิต ดังนี้
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องกับการปรับอัตราสรรพสามิตในข้างต้น และไม่กระทบกับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งจะเป็นการสร้างภาระให้แก่ผู้บริโภค ที่ประชุม กบง. จึงเห็นชอบให้ปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ดังนี้ (ตามรูปตาราง)

1467882778178
จากการปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าว จะส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ มีสภาพคล่องลดลงประมาณ 383 ล้านบาทต่อเดือน จากมีรายรับ 13 ล้านบาทต่อเดือน เป็นมีรายจ่าย 371 ล้านบาทต่อเดือน
ทั้งนี้ จากการโอนอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ เป็นอัตราภาษีสรรพสามิตจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น 800 ล้านบาทต่อเดือน จาก 15,252 ล้านบาทต่อเดือน เป็น 16,053 ล้านบาทต่อเดือน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รักษาสิ่งแวดล้อม ก่อสร้างและซ่อมบำรุงถนน และลดอุบัติเหตุจากการจราจร

*** รายงานการบริหารจัดการกรณีแหล่งก๊าซธรรมชาติ JDA – A18 ปิดซ่อมบำรุง ปี 2559
ที่ประชุม กบง. รับทราบแนวทางการบริหารจัดการและมาตรการรองรับกรณีแหล่งก๊าซธรรมชาติในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA – A18) หยุดซ่อมบำรุงประจำปี ระหว่างวันที่ 20 – 31 สิงหาคม 2559 รวม 12 วัน ซึ่งจะทำให้ปริมาณก๊าซหายไปจากระบบ ประมาณ 421 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และจะส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าในภาคใต้ ได้แก่ โรงไฟฟ้าจะนะ จังหวัดสงขลา ที่ต้องเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงอื่นทดแทน และบางส่วนจำเป็นต้องหยุดผลิต และผลกระทบต่อการจำหน่ายก๊าซฯ ของสถานีบริการก๊าซ NGV ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง (จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา) จำนวน 14 สถานี

เพื่อรองรับผลกระทบจากการหยุดซ่อมแหล่งก๊าซฯ ดังกล่าว กระทรวงพลังงานจึงได้เตรียมความพร้อม ดังนี้
– ด้านพลังงานไฟฟ้า –
—– ระบบผลิต ดำเนินการโดยให้โรงไฟฟ้าจะนะพร้อมเดินเครื่องด้วยดีเซล ตรวจสอบโรงไฟฟ้าภาคใต้ทั้งหมดให้พร้อมใช้งาน งดการหยุดเครื่องบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า และประสานการไฟฟ้ามาเลเซียขอซื้อไฟฟ้าในกรณีฉุกเฉิน
—– เชื้อเพลิงสำรอง เตรียมการโดยให้มีการสำรองน้ำมันให้เพียงพอและเต็มความสามารถในการจัดเก็บ พร้อมทั้งประสานงานให้ ปตท. จัดส่งน้ำมันระหว่างการดำเนินงานเพื่อให้สามารถรองรับความล่าช้า 3 วัน
—– ระบบส่ง เตรียมความพร้อมโดยให้มีการตรวจสอบสายส่งและอุปกรณ์สำคัญในภาคใต้ให้พร้อมใช้งาน และงดการทำงานบำรุงรักษาระบบส่งในช่วงเวลาหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ

– ด้านก๊าซ NGV –
—– การสำรอง NGV โดยให้มีการจัดส่งก๊าซ NGV จากสถานีหลักในเขตกรุงเทพ และปริมณฑล พร้อมสำรองก๊าซฯ ไว้ล่วงหน้าที่สถานีก๊าซฯ หลักจะนะ

– ด้านการประชาสัมพันธ์ –
เพื่อรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันประหยัดพลังงานในช่วงที่มีการหยุดจ่ายก๊าซฯโดยเฉพาะการลดใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลา 18.00 – 21.30 น. ซึ่งเป็นชั่วโมงที่ในพื้นที่ภาคใต้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของวัน ผ่านช่องทางการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ อาทิ การติดป้าย Banner โปสเตอร์ การแจกใบปลิว การเผยแพร่ข่าวผ่านสื่อวิทยุและโทรทัศน์ การจัดประชุม/สัมมนา การพบปะสื่อมวลชนท้องถิ่น และการส่งจดหมายแจ้งผู้ที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ