เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 กระทรวงพลังงานนำโดยนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยปลัดกระทรวงพลังงาน (นายกุลิศ สมบัติสิริ) และรองปลัดกระทรวงพลังงาน (นางเปรมฤทัย วินัยแพทย์) และคณะผู้แทนไทย ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น สมัยพิเศษ (The Special AMEM-METI) ผ่านระบบการประชุมทางไกล ภายใต้แนวคิด “เสริมสร้างพันธมิตรสำหรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานแห่งภูมิภาคอาเซียน” (Enhancing Partnerships in Realising Energy Transitions in ASEAN)
โดยการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านพลังงานสะอาด และนวัตกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าว รัฐมนตรีจากแต่ละประเทศได้แสดงวิสัยทัศน์ทางด้านพลังงานและแนวทางการพัฒนาเพื่อการเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงานไปสู่พลังงานสะอาดทั้งในระดับประเทศและแนวทางการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียนและประเทศญี่ปุ่น โดยนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ได้นำเสนอต่อที่ประชุมฯ ว่า ประเทศไทยมีความพยายามอย่างยิ่งในการส่งเสริมแนวทางการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านทางนโยบายต่าง ๆ อาทิ นโยบายเกี่ยวกับการใช้พลังงานหมุนเวียน นโยบายการส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในยุคเปลี่ยนผ่าน นโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ยั่งยืน เช่น เทคโนโลยีไฮโดรเจน (Hydrogen) และเทคโนโลยีดักจับ กักเก็บและการใช้ประโยชน์จากคาร์บอน (Carbon Capture utilization and Storage: CCUS) นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการปลูกป่าเพื่อเพิ่มแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ และนโยบายรถยนต์ไฟฟ้า 30@30 ซึ่งเป็นนโยบายที่ส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้า โดยเป็นการตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี 2030 ไทยจะต้องมีสัดส่วนการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ร้อยละ 30 จากสัดส่วนการผลิตรถยนต์ทั้งหมด พร้อมกันนี้ ยังได้นำเสนอนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model) หรือ BCG Model ที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพและเศรษฐกิจของชุมชน โดยการนำทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนมาสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับคุณภาพชีวิตครัวเรือนและชุมชน นอกจากนี้ บรรดารัฐมนตรียังได้รับรองถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน – ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาร่วมกันเพื่อการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานไปสู่ยุคพลังงานสะอาดและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low carbon economy) ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการศึกษาวิจัยร่วมกันระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่น อีกทั้งยังให้การสนับสนุนแผนการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการความร่วมมืออาเซียนด้านพลังงาน ระยะที่ 2 (APAEC Phase II) เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานในภูมิภาคต่อไป