banner

การประชุมโต๊ะกลมรัฐมนตรีพลังงานแห่งเอเชีย ครั้งที่ 7 (AMER 7)

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2560 การประชุมโต๊ะกลมรัฐมนตรีพลังงานแห่งเอเชีย ครั้งที่ 7 โดยมี พล.อ.อ. ประจิ่น จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุม

“ผมรู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งและมีความยินดีที่ได้มาต้อนรับทุกท่านเข้าสู่การประชุมโต๊ะกลมรัฐมนตรีพลังงานเอเชีย ครั้งที่ 7 ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย โดยมีประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นเจ้าภาพร่วม

ผมรู้สึกภูมิใจที่ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นการประชุมระหว่างประเทศที่สำคัญครั้งหนึ่งของประเทศไทย ผมขอขอบคุณรัฐมนตรีพลังงานเอเชีย และผู้บริหารจากองค์การระหว่างประเทศทุกท่านที่สละเวลาอันมีค่าของท่านเดินทางมา ณ ที่นี้ พร้อมทั้งขอต้อนรับทุกท่านสู่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ดินแดนแห่งรอยยิ้มอย่างเป็นทางการ

หัวข้อการประชุมในวันนี้ คือ Global Market in Transition : From Vision to Action ซึ่งสะท้อนสถานการณ์พลังงานของโลกในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เนื่องจากโลกของเรากำลังเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศในเอเชีย จะมีแนวทางดำเนินการอย่างไรเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่น

เพื่อให้สอดคล้องกับหัวข้อการประชุมในวันนี้ ผมจะจึงขอกล่าวถึง 3 ประเด็นสำคัญเพื่อเป็นแนวทางสำหรับการหารือ โดยประเด็นที่ผมจะกล่าวถึง ประกอบไปด้วย (1) สถานการณ์พลังงานของโลกและของภูมิภาค (2) การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (3) การดำเนินการของประเทศไทยต่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานดังกล่าว

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านครับ

(1) สถานการณ์พลังงานของโลกและของภูมิภาค

ปัจจุบันอัตราการเจริญเติบโตของการใช้พลังงานมาจากประเทศกำลังพัฒนาเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ กลุ่มประเทศ Non-OECD ซึ่งการเจริญเติบโตที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร การย้ายถิ่นฐาน การขยายตัวของเมือง รวมถึงการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของมนุษย์ ทั้งนี้ คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าโลกของเราก็ยังคงต้องมีการใช้พลังงานฟอสซิลเป็นหลัก

สำหรับภูมิภาคเอเชียของเรา ถือว่าเป็นภูมิภาคที่มีสัดส่วนการใช้พลังงานมากที่สุดภูมิภาคหนึ่ง โดยมีการเจริญเติบโตของการใช้พลังงาน คิดเป็น 2 ใน 3 ของโลก เนื่องมาจากการเจริญเติบโตของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นจีน หรือ อินเดีย รวมทั้งประเทศที่อยู่ในช่วงการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เช่น ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะเดียวกัน ภูมิภาคเอเชียก็ยังคงมีทรัพยากรพลังงานทั้งน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ภูมิภาคเอเชียเป็นภูมิภาคที่ประกอบไปด้วยทั้งผู้ซื้อและผู้ขายพลังงานรายใหญ่ ซึ่งทำให้เอเชียจะมีความสำคัญต่อตลาดพลังงานโลกและควรก้าวขึ้นมามีบทบาทนำในการกำหนดทิศทางด้านพลังงานของโลกต่อไป สอดคล้องกับการขนานนามยุคนี้ว่าเป็น “ศตวรรษของเอเชีย”

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์สถานการณ์พลังงานโลกของทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) ความต้องการพลังงานของโลกจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 30 ในปี 2040 โดยพลังงานที่มีอัตราการใช้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุด คือ พลังงานหมุนเวียน ซึ่งคาดว่าจะมีสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานหมุนเวียนคิดเป็นร้อยละ 60 โดยส่วนใหญ่มาจากพลังงานลม และแสงอาทิตย์ ด้านพลังงานฟอสซิลนั้น ก๊าซธรรมชาติจะมีการเจริญเติบโตมากที่สุด โดยเพิ่มสูงขึ้นอีกร้อยละ 50 จากแนวโน้มดังกล่าวจะเห็นได้ว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงาน จากยุคที่โลกถูกกำหนดด้วยพลังงานฟอสซิลมาสู่โลกที่พลังงานสะอาดเข้ามามีบทบาทสำคัญเพิ่มมากขึ้น

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านครับ

(2) ช่วงเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition)

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โลกของเราเผชิญการเปลี่ยนแปลงมากมาย รวมถึงด้านพลังงาน ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเนื่องจากภาวะโลกร้อน ข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นข้อตกลงที่มีผลกระทบต่อภาคพลังงานโดยตรง เนื่องจาก 2 ใน 3 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาจากภาคพลังงาน ด้วยเหตุนี้ หลากหลายประเทศจึงได้ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว โดยเน้นการแสวงหาทางเลือกในการผลิตพลังงานอย่างสะอาดและยั่งยืน เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ

นอกจากนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีก็เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เกิด Disruptive Technology ต่างๆ มากมายในด้านพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานหมุนเวียนต่างๆ ที่ทำให้ต้นทุนลดต่ำลง นอกจากนี้ ยังเกิดกระแสการผลิตพลังงานไฟฟ้าและใช้ด้วยตัวเอง หรือ Prosumer ดังนั้น สัดส่วนการใช้พลังงานของโลกจะเริ่มเปลี่ยนแปลงไป การใช้พลังงานฟอสซิลแม้ว่ายังมีความสำคัญแต่สัดส่วนการใช้จะค่อยๆ ลดลง ในขณะที่พลังงานหมุนเวียน รวมถึงพลังงานสะอาดในรูปแบบอื่นๆ จะมีสัดส่วนการใช้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ การเลือกใช้เทคโนโลยีสะอาดต่างๆ รวมทั้งการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงานจะมีบทบาทมากขึ้น

การเปลี่ยนผ่านของตลาดพลังงานก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน เมื่อแนวโน้มการผลิตและการบริโภคพลังงานเปลี่ยนไป ตลาดพลังงานในรูปแบบเดิมๆ จึงต้องปรับตัวตามความท้าทายหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ตลาดพลังงานในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นตลาดน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติมีการแข่งขันเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากมีผู้ผลิตรายใหม่เข้ามาในตลาด และในขณะเดียวกันปัจจัยความไม่แน่นอนในตลาดก็มีสูงด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยีการประหยัดพลังงานใหม่ๆ การมาถึงของยานยนต์ไฟฟ้า หรือกระแสการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งทำให้ความต้องการพลังงานในรูปแบบดั้งเดิมลดลง

จากความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงที่ได้กล่าวไปในข้างต้น จะเห็นได้ว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเป็นไปอย่างราบรื่นหรือไม่นั้นต้องอาศัยบทบาทและการดำเนินการจากทางภาครัฐในการกำหนดแนวทาง และวางนโยบาย พร้อมทั้งจะทำอย่างไรที่จะให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนจากภาคเอกชนในภาคพลังงาน ทั้งนี้ การหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างประเทศผู้ผลิต และประเทศผู้นำเข้า เพื่อหาแนวทางในการสร้างความร่วมมือเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวเกิดความสมดุล เกิดเสถียรภาพ และที่สำคัญที่สุดคือ เกิดประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย จึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านครับ

(3) การดำเนินงานของประเทศไทยต่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน

นับเป็นระยะเวลา 1 ปีแล้วที่ประเทศไทยได้สูญเสียพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 “พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย” พระองค์ท่านได้ทรงวางรากฐานแนวคิดการพัฒนาด้านพลังงาน โดยส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน และเป็นต้นแบบในเรื่อง “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งรัฐบาลได้น้อมนำหลักการดังกล่าวมาเป็นแนวทางในการใช้ทรัพยากรในประเทศที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า

จากหลักการของพระองค์ในเรื่องดังกล่าว ประเทศไทยโดยกระทรวงพลังงานจึงมีการจัดทำ “แผนบูรณาการพลังงานระยะยาว” ขึนเพื่อเป็นแผนหลักในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความมั่นคงทางพลังงาน ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม

นอกเหนือไปจากนั้น รัฐบาลไทยในปัจจุบันได้มีนโยบายที่เรียกว่า Thailand 4.0 ซึ่งเป็นความพยายามในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน หนีกับดักประเทศรายได้ปานกลาง โดยปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่เน้นคุณค่า และเน้นการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยในปัจจุบัน รัฐบาลให้ความสำคัญกับแนวนโยบายการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) เพื่อรองรับการลงทุนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เพื่อให้สอดคล้องไปกับแนวนโยบายในข้างต้น รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงาน จึงได้มีการจัดทำแผนงานเพื่อรองรับการดำเนินนโยบาย Thailand 4.0 ซึ่งเรียกว่า Energy 4.0 ขึ้น โดยแผนงานดังกล่าวประกอบไปด้วยการดำเนินงาน 4 ด้านด้วยกัน ได้แก่ การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า เช่น รถ E-Tuk Tuk การพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าอย่างผสมผสาน และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ

จากแผนการดำเนินงานดังกล่าว ประเทศไทยจึงก้าวเข้ามาสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ (Transition Period) โดยเรามุ่งที่จะขับเคลื่อนภาคพลังงานไปสู่อนาคตที่มีความทันสมัยและความอัจฉริยะมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นความท้าทายของภาครัฐในการบริหารจัดการให้ระบบพลังงานของประเทศมีความมั่นคง มีต้นทุนที่แข่งขันได้ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านครับ

ผมขอให้การประชุมโต๊ะกลมรัฐมนตรีพลังงานแห่งเอเชีย ครั้งที่ 7ประสบความสำเร็จตามความมุ่งหมายทุกประการ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมโต๊ะกลมในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือที่แนบแน่น และข้อริเริ่มต่างๆ ที่สร้างสรรค์ด้านพลังงานในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ภูมิภาคของเราแล้ว ยังช่วยขับเคลื่อนให้ภูมิภาคของเรามีบทบาทนำด้านพลังงานในเวทีโลก

นอกเหนือไปจากนี้ จะมีการจัดประชุมสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพลังงานอีกการประชุมหนึ่งต่อเนื่องไปกับการประชุม AMER 7 นั้นคือการประชุมเชิงปฏิบัติด้านพลังงานในกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) ภายใต้หัวข้อ“ACD Energy Action Plan: Towards Global Energy Challenges” ซึ่งจะถูกจัดขึ้นในสถานที่เดียวกันนี้ ในวันที่ 4 พฤศจิกายน และผมขอเชิญชวนให้ทุกท่านอยู่นานขึ้นเพื่อเข้าร่วมงานดังกล่าว

ผมขอขอบคุณรัฐมนตรีพลังงานจากแต่ละประเทศ ผู้บริหารจากองค์การระหว่างประเทศ แขกผู้มีเกียรติทุกท่าน ที่เดินทางมาเข้าร่วมงานในวันนี้ พร้อมทั้งขอขอบคุณกระทรวงพลังงาน ประเทศไทย ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ IEF ที่มีส่วนร่วมในการจัดการประชุมครั้งสำคัญในวันนี้ และในโอกาสนี้ผมขอเปิดงานการประชุมโต๊ะกลมรัฐมนตรีพลังงานแห่งเอเชีย ครั้งที่ 7 อย่างเป็นทางการ