มาตรการด้านพลังงานเพื่อรองรับสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน เพื่อดูแลค่าครองชีพของประชาชน

มาตรการด้านพลังงานเพื่อรองรับสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน เพื่อดูแลค่าครองชีพของประชาชน

จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นทุกชนิด ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินและดีเซลภายในประเทศทำสถิติสูงสุดในรอบ 14 ปี กระทรวงพลังงาน ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อบริหารจัดการและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน รวมทั้งบริหารจัดการช่วงเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทาน ให้เกิดความต่อเนื่องและเตรียมด้านการสำรองพลังงานในทุกสถานการณ์

จากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เกิดขึ้นนี้ ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทั่วโลก ทำให้ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นกว่า 40 เหรียญต่อบาร์เรลจากช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา รวมทั้งส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวปรับตัวสูงขึ้นและผันผวนอย่างมาก

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของสถาบันต่าง ๆ เห็นตรงกันว่า สถานการณ์จะมีความชัดเจนขึ้นในอีก 3 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลได้มีนโยบายและมาตรการด้านพลังงานที่จะดูแลประชาชนในช่วง 3 เดือน (เมษายน – มิถุนายน) ดังนี้

1. ด้านน้ำมันดีเซล
มีปริมาณการใช้มากที่สุดประมาณร้อยละ 65 โดยส่วนใหญ่เป็นรถบรรทุกขนส่งและรถโดยสาร ตั้งแต่ในช่วงเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีนโยบายดูแลราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงช่วยในการอุดหนุน รวมทั้งการลดภาษีสรรพสามิตเป็นการชั่วคราว 3 เดือนตั้งแต่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 และการขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันรักษาระดับค่าการตลาดไม่เกิน 1.40 บาท/ลิตร นอกจากนั้นได้มีการปรับส่วนผสมไบโอดีเซลเพื่อลดต้นทุนเนื้อน้ำมัน ซึ่งที่ผ่านมากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ใช้เงินอุดหนุนน้ำมันดีเซลมาจนถึงปัจจุบันประมาณกว่า 30,000 ล้านบาท

ส่วนแนวทางการบริหารราคาน้ำมันดีเซลในช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน 2565 นี้ ประกอบด้วย
– เดือนเมษายน จะตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร (กรณีราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 115 ถึง 135 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะอุดหนุนอยู่ที่ประมาณลิตรละ 8 บาท
– เดือนพฤษภาคม – มิถุนายน รัฐจะช่วยสนับสนุนการตรึงราคาครึ่งหนึ่ง (50%)

นอกจากนี้ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันดีเซลเกรดพรีเมี่ยม เนื่องจากเป็นน้ำมันที่ใช้กับกลุ่มรถของผู้ที่มีกำลังจ่ายสูง เพื่อลดภาระการชดเชยของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และนำเงินในส่วนนี้ไปชดเชยให้กับกลุ่มที่มีความจำเป็น

2. ด้านน้ำมันเบนซิน
มีสัดส่วนการใช้ประมาณร้อยละ 35 ซึ่งผู้ใช้ส่วนใหญ่เป็นรถส่วนบุคคล และรถจักรยานยนต์ ซึ่งมาตรการช่วยเหลือนั้น จะสนับสนุนส่วนลดค่าน้ำมันแก่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ (รถมอเตอร์ไซด์รับจ้าง) ที่มีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ และบัตรประจำตัวผู้ขับรถสาธารณะ จำนวน 5 บาทต่อลิตร ปริมาณไม่เกิน 50 ลิตรต่อเดือนต่อคน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในต้นเดือนพฤษภาคม 2565

3. ด้านก๊าซหุงต้ม
กระทรวงพลังงานได้ดูแลประชาชนโดยตรึงราคาก๊าซ LPG ไว้ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัมตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2563 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งหากไม่มีการอุดหนุนในปี 2563 ราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ 370 บาท/ถัง และปี 2564 ราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ 417 บาท/ถัง  และในปัจจุบันหากไม่มีการอุดหนุน ราคาก๊าซ LPG จะอยู่ที่ 463 บาทต่อถัง ซึ่งที่ผ่านมากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้จ่ายเงินชดเชยก๊าซ LPG รวมแล้วเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 28,803 ล้านบาท จึงทำให้จำเป็นต้องบริหารจัดการราคาก๊าซหุงต้ม ดังนี้
– เดือนเมษายน 2565 ปรับขึ้นราคาขายปลีก 1 บาท/กิโลกรัม หรือ ปรับจากราคา 318 บาท/ถัง 15 กิโลกรัม เป็น 333 บาท/ถัง 15 กิโลกรัม เดือนพฤษภาคมและมิถุนายน จะปรับขึ้นเป็น 348 บาท และ 363 บาท ตามลำดับ คาดว่าตลอด 3 เดือน แม้ว่าจะมีการปรับขึ้นราคาขายปลีกแล้ว กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง คาดว่าจะยังคงใช้เงินชดเชยราคาก๊าซหุงต้ม อยู่รวมประมาณ  6,380 ล้านบาท

แต่เมื่อมีการปรับขึ้นราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มในวันที่ 1 เมษายน 2565 แล้ว รัฐบาลได้กำหนดมาตรการดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบาง โดยกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั่วไป จะได้รับส่วนลดสำหรับซื้อก๊าซ LPG เพิ่มเติมอีก 55 บาท รวมเป็น 100 บาท ต่อ 3 เดือน โดยในเบื้องต้นจะใช้แหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และในส่วนของกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั่วไป ที่เป็นผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ให้ความร่วมมือรัฐบาล ในการให้ส่วนลดสำหรับซื้อก๊าซ LPG ไม่เกิน 100 บาทต่อรายต่อเดือนเป็นระยะเวลา 3 เดือน

4. ด้านก๊าซ NGV
การดูแลราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) โดยตรึงราคาขายปลีก NGV เท่ากับ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม และสนับสนุนราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) สำหรับผู้ขับขี่รถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) สำหรับผู้ขับขี่รถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) ที่ลงทะเบียนภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน จำนวน 17,460 ราย สามารถซื้อก๊าซ NGV ในอัตรา 13.62 บาทต่อกิโลกรัม วงเงินไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน สนับสนุนโดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

5. ด้านราคาค่าไฟฟ้า
ในรอบเดือนมกราคม – เมษายน 2565 ได้มีการปรับค่า Ft เพิ่มขึ้น 16.71 สตางค์ต่อหน่วย จากเดิมที่ -15.32 สตางค์ต่อหน่วยในปี 2564 ปรับเป็น 1.39 สตางค์ต่อหน่วย และในรอบเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2565 จะปรับเพิ่มขึ้นอีก 23.38 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 24.77 สตางค์ต่อหน่วย แต่เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน ซึ่งคิดเป็นผู้ใช้ไฟฟ้ากว่า 20 ล้านรายหรือคิดเป็นร้อยละ 85 ของครัวเรือน จะมีการให้ส่วนลดโดยคงค่า Ft ไว้ที่ 1.39 บาทต่อหน่วยในรอบเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2565

อย่างไรก็ตามในส่วนของค่า Ft ที่จะปรับขึ้นเป็น 24.77 สตางค์ต่อหน่วยในรอบเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2565 หากไม่ได้มีการบริหารจัดการใด ๆ ค่า Ft จะปรับเพิ่มขึ้นถึง 129.91 สตางค์ต่อหน่วย แต่ในส่วนนี้ กฟผ. ได้ช่วยรับภาระค่า Ft ไปแล้วกว่า 40,000 ล้านบาท

จากมาตรการที่จะช่วยดูแลค่าครองชีพด้านพลังงานของพี่น้องประชาชนในช่วงเวลา 3 เดือนดังกล่าวใช้งบประมาณเบื้องต้นประมาณ 45,000 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยได้ใช้ความพยายามและทรัพยากรอย่างเต็มที่ในการบริหารจัดการ เพื่อลดภาระที่จะเกิดกับประชาชนและระบบเศรษฐกิจของประเทศให้ได้มากที่สุด และโดยเฉพาะการรักษาระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ประชาชนสามารถบริหารจัดการการใช้พลังงานในครัวเรือนเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน หรือไฟฟ้า ซึ่งวิธีการประหยัดสามารถทำได้ไม่ยาก ส่วนใหญ่ไม่มีค่าใช้จ่ายหรือลงทุนไม่มาก เช่น การปรับพฤติกรรมการขับรถ  การตรวจเช็คเครื่องยนต์ การล้างแอร์ ฯลฯ ซึ่งหากมีข้อสงสัยในวิธีการประหยัดพลังงานสามารถสอบถามได้ที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และหน่วยงานอื่น ๆ เช่น สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ปตท. และ กฟผ.

รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ให้การต้อนรับคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พร้อมผู้บริหารกระทรวงพลังงาน ให้การต้อนรับคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร วันนี้(14 มีนาคม 2565) พร้อมหารือเรื่อง “การมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ” โดยมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมชี้แจงในแนวทางการทำงานของแต่ละหน่วยงานต่อคณะกรรมาธิการในประเด็นแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบาย แผนงานโครงการ กิจกรรมเกี่ยวกับการส่งเสริมและการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน 2.การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน การรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ข้อร้องเรียน ตลอดจนช่องทางในการาสื่อสารกับประชาชน และช่องทางที่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับกระทรวงพลังงานและหน่วยงานในสังกัด ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 15 ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ กระทรวงพลังงาน

กระทรวงพลังงาน ระดมมาตรการมุ่งเป้าฝ่าวิกฤตราคาพลังงาน เร่งรณรงค์ทุกภาคส่วน “รวมพลังคนไทย ลดใช้พลังงานหาร 2”

“พลังงาน”ระดมมาตรการมุ่งเป้าฝ่าวิกฤตราคาพลังงาน เร่งรณรงค์ทุกภาคส่วน“รวมพลังคนไทย ลดใช้พลังงานหาร 2”

 

วันนี้ (11 มีนาคม 2565) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปิดแถลงข่าวสรุปสถานการณ์พลังงานและมาตรการรองรับผลกระทบด้านพลังงานว่า จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ได้ส่งผลกระทบให้ราคาพลังงานโลกสูงขึ้นทุกชนิด ส่งผลต่อราคาขายปลีกในประเทศไม่ว่าจะเป็น น้ำมันสำเร็จรูปอย่างเบนซินและดีเซล โดยเฉพาะราคาน้ำมันขึ้นที่สุดในรอบ 14 ปี ซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลก

กระทรวงพลังงาน ได้ติดตามสถานการณ์พลังงานอย่างใกล้ชิดเพื่อบริหารจัดการพลังงานในช่วงของสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน และในช่วงเปลี่ยนผ่านด้านการจัดหาพลังงานเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง และลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อประชาชน นอกจากนี้ ได้เตรียมพร้อมศูนย์กลางสั่งการด้านพลังงานประจำกระทรวงพลังงานเพื่อใช้เป็นศูนย์ติดตามสถานการณ์อีกด้วย โดยเฉพาะการเตรียมการด้านการสำรองพลังงานให้พร้อมรับต่อทุกสถานการณ์ “กระทรวงพลังงาน ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และขอความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อช่วยเหลือประชาชน แต่ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไร กระทรวงพลังงาน ก็จะยังคงติดตามสถานการณ์พร้อม แนวทางแก้ไขปัญหาด้านราคาเพื่อแบ่งเบาภาระประชาชนและให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าว

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากความตึงเครียดวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ตลาดกังวลต่ออุปทานน้ำมันในตลาดโลก จากการคว่ำบาตรธุรกรรมทางการเงิน และบริษัทพลังงานหลายแห่งระงับการลงทุนในรัสเซีย ประกอบกับกลุ่มโอเปกพลัสที่ยังคงเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพียง 400,000 บาร์เรล/วัน ในแต่ละเดือน ซึ่งหากสถานการณ์ยังคงตึงเครียดต่อไปอาจทำให้เดือนเมษายนนี้ราคาน้ำมันดิบดูไบเกิน 120 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล น้ำมันดีเซล 150 – 170 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อย่างไรก็ดี ความคืบหน้าในการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่าน-สหรัฐฯ อาจนำไปสู่กำลังการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านบาร์เรล/วัน รวมถึงการปล่อยน้ำมันสำรองของ IEA ก็สามารถบรรเทาความตึงตัวของตลาดได้บางส่วน

ขณะที่สถานการณ์ราคา LPG ตลาดโลกก็ปรับเพิ่มขึ้นทิศทางเดียวกับราคาน้ำมัน โดยราคาอยู่ที่ 968 เหรียญสหรัฐ/ตัน เช่นเดียวกันกับราคาก๊าซธรรมชาติก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะอุปทานจากรัสเซียที่ไม่แน่นอนจากมาตการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ที่ครอบคลุมทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และสหภาพยุโรปก็อยู่ระหว่างพิจารณาลดการพึ่งพานำเข้าก๊าซฯ จากรัสเซีย

 

• วางแนวทางบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินด้านราคา

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า การบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านราคาน้ำมัน กระทรวงพลังงานได้วางแนวทางการบริหารจัดการในแต่สถานการณ์ราคา ตั้งแต่ราคาน้ำมันดิบดูไบที่ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลไปจนถึง 150 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งมีรูปแบบการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน โดยกระทรวงพลังงานจะมีแนวทางเพื่อบรรเทาผลกระทบกับประชาชนให้มากที่สุดในแต่ละกรณี

 

• สำรองน้ำมันเชื้อเพลิงมีเพียงพอนานกว่า 60 วัน

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า ประเทศไทยได้เริ่มกระจายแหล่งการนำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางให้มีความหลากหลายตั้งแต่ปี 2557 (จากร้อยละ 70 ลดลงเป็นร้อยละ 57) เพื่อลดความเสี่ยงของการจัดหาน้ำมันดิบ สำหรับสถานการณ์การจัดหาน้ำมันดิบในขณะนี้ กรมธุรกิจพลังงานได้ประสานงานกับกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมอย่างใกล้ชิด ทุกรายได้แจ้งยืนยันว่ายังคงสามารถจัดหาน้ำมันดิบได้ตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 2 เดือน สำหรับความต้องการใช้น้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 123.25 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ยอยู่ที่ 119.88 ล้านลิตร/วัน

ปัจจุบันมีปริมาณน้ำมันดิบคงเหลือ (รวมที่อยู่ระหว่างการขนส่ง) อยู่ที่ 5,686.44 ล้านลิตร และมีปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปคงเหลืออยู่ที่ 1,703.61 ล้านลิตร ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำมันของประเทศได้ถึง 61 วัน นอกจากนี้ บมจ.ปตท. ยังมีมาตรการเตรียมพร้อมจัดหาน้ำมันดิบเพิ่มเติมอีก 635.94 ล้านลิตร (4 ล้านบาร์เรล) จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำมันสำรองเป็น 66 วัน ส่งผลให้ประเทศมีน้ำมันใช้เพียงพอไม่ขาดแคลน

อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างความมั่นใจกับประชาชนกรณีหากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนมีความยืดเยื้อและมีเหตุฉุกเฉินที่ส่งสัญญาณว่าอาจจะกระทบกับแผนการจัดหาน้ำมันดิบของประเทศ กรมธุรกิจพลังงานได้เตรียมมาตรการรองรับเหตุวิกฤต Supply Disruption ตลอดจนได้รับมอบหมายให้ประสานผู้ค้าน้ำมันเตรียมประกาศเพิ่มอัตราสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมาย น้ำมันดิบเป็นร้อยละ 5 และน้ำมันสำเร็จรูปเป็นร้อยละ 2 ตามลำดับ จากปัจจุบันอัตราสำรองน้ำมันดิบร้อยละ 4 และน้ำมันสำเร็จรูปร้อยละ 1 ซึ่งจะช่วยให้มีปริมาณน้ำมันสำรองเพิ่มขึ้นอีก 7 วัน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะสามารถรักษาเสถียรภาพพลังงานได้โดยไม่กระทบกับการดำรงชีวิตของประชาชน

 

• เร่งผลักดันแหล่งผลิตปิโตรเลียมในประเทศ

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ในการดำเนินงานช่วงเปลี่ยนผ่านสำหรับแหล่งก๊าซธรรมชาติกลุ่มเอราวัณ หรือ แปลง G1/61 นั้น ปัจจุบันผู้รับสัมปทานรายเดิม (บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด) และผู้รับสัญญารายใหม่ (บริษัท ปตท.สผ. อีดี) ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือต่าง ๆ ในช่วงเปลี่ยนผ่านของแหล่งก๊าซธรรมชาติกลุ่มเอราวัณ ซึ่งจะทำให้การดำเนินการตามสัญญาแบ่งปันผลผลิตในโครงการแปลง G1/61 เดินหน้าต่อไป และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะเร่งผลักดันให้บริษัท ปตท.สผ. อีดี เข้าดำเนินงานเตรียมการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งดังกล่าว เพื่อให้ได้ปริมาณตามเงื่อนไขโดยเร็วที่สุด รวมทั้งจะกำกับ ดูแล ให้การดำเนินงานช่วงเปลี่ยนผ่านซึ่งจะเริ่มในปลายเดือน เม.ย. 65 เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้อย่างราบรื่น

นอกจากนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ยังได้มีแนวทางสำหรับการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ประกอบด้วย การจัดหาก๊าซธรรมชาติส่วนเพิ่มจากแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีศักยภาพ ได้แก่ แหล่งอาทิตย์ แปลง B8/32 และแปลง G2/61 รวมทั้งกำกับดูแลให้ผู้รับสัมปทานทุกรายเตรียมความพร้อมในการผลิตก๊าซธรรมชาติให้เต็มความสามารถ เลื่อนแผนการหยุดซ่อมบำรุงที่ไม่จำเป็นออกไป ตลอดจนได้เร่งดำเนินการเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 24 บริเวณทะเลอ่าวไทย เพื่อนำทรัพยากรปิโตรเลียมมาใช้ประโยชน์ให้เต็มที่และเพิ่มโอกาสในการพบแหล่งปิโตรเลียมในประเทศ และนับเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนในส่วนของการจัดหาปิโตรเลียมในระยะยาวด้วย

 

• รวมพลังคนไทย ลดใช้พลังงาน หาร 2

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า ได้เปิดแคมเปญ “รวมพลังคนไทย ลดใช้พลังงาน หาร 2” โดยความร่วมมือของทุกหน่วยงานทั้งในสังกัดกระทรวงพลังงาน และ กฟน. กฟภ. ร่วมงานจัดนิทรรศการเผยแพร่ให้ความรู้เรื่องการประหยัดพลังงานสำหรับประชาชนทั่วไป และข้อแนะนำการประหยัดพลังงานทั้งผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานเพิ่มความเข้มข้นในการประหยัดพลังงานมากขึ้นจากเดิม 10% เป็น 20%

ทั้งนี้ ยังมีมาตรการเพื่อส่งเสริมการประหยัดพลังงานในระดับธุรกิจ โดยผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน อาทิ โครงการสนับสนุนการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนปรับปรุงเครื่องจักร อุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ปี 2564 โดยใช้งบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานรวม 400 ล้านบาท โครงการเงินสนับสนุนเพื่อลดการใช้พลังงานแก่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ และผู้ประกอบการขนส่ง โดยใช้งบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานรวม 600 ล้านบาท

 

• ปตท.ผุดแคมเปญประหยัด-จูนอัพเครื่องยนต์

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท. ยืนยันความพร้อมปฏิบัติภารกิจด้านการจัดการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรองรับความต้องการใช้ในประเทศอย่างเต็มความสามารถ เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน อย่างไรก็ตามเสถียรภาพทางพลังงานของประเทศจะเกิดขึ้นอย่างแท้จริงอยู่ที่ทุกภาคส่วนร่วมมือร่วมใจประหยัดและรู้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วย ปตท.จึงจัดแคมเปญ “ก๊อดจิชวนใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าและประหยัด” สื่อสารรณรงค์ประหยัดพลังงานด้วยสื่อหลายรูปแบบในทุกช่องทาง พร้อมทั้งจัดให้มีการตรวจเช็กสภาพเครื่องยนต์ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ เพื่อให้เครื่องยนต์มีความสมบูรณ์ ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิง พร้อมด้วยโปรโมชั่นต่างๆ จนถึงสิ้นเดือนเมษายนนี้ ณ FIT Auto สถานีบริการน้ำมัน PTT Station ที่ร่วมรายการทั่วประเทศ

 

• กฟผ.ล้างแอร์ช่วยชาติ-มอบส่วนลดเบอร์ 5

ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ. พร้อมรวมพลังชวนคนไทยประหยัดพลังงานของประเทศ ด้วย 2 แคมเปญ คือ แคมเปญ “ล้างแอร์ช่วยชาติ (Clean your air, Clean your life)” มอบ 10,000 สิทธิให้ประชาชนทั่วประเทศล้างแอร์ฟรี โดยสามารถลงทะเบียนรับสิทธิได้ที่เว็บไซต์ www.egat.co.th ตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย. 2565 เป็นต้นไป และแคมเปญ “ส่วนลด 500 บาท สำหรับซื้อผลิตภัณฑ์เบอร์ 5” มอบอีก 10,000 สิทธิให้กับประชาชนทั่วประเทศที่ซื้อผลิตภัณฑ์เบอร์ 5 มูลค่า 1,000 บาท ขึ้นไป โดยเริ่มใช้สิทธิได้ที่ห้างสรรพสินค้าและร้านค้า Green Shop ที่เข้าร่วมกิจกรรม ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 30 มิ.ย. 65

ทั้งนี้ การล้างแอร์สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ถึง 10% ประหยัดพลังงานได้ถึง 1.3 ล้านหน่วย/ปี และทั้ง 2 แคมเปญนี้ยังช่วยลดการปล่อย CO2 รวมประมาณ 804 ตัน/ปี พร้อมทั้งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจากการจ้างงานและการซื้อผลิตภัณฑ์เบอร์ 5 รวมมูลค่ากว่า 21 ล้านบาทอีกด้วย

นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถลดค่าไฟฟ้าได้ง่าย ๆ นอกจากการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 แล้ว ด้วยการตรวจเช็คอุปกรณ์ไฟฟ้าก่อนออกจากบ้าน ปิดสวิตซ์และถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทันทีที่เลิกใช้งาน เปิดเครื่องปรับอากาศที่อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 26 องศา ไม่ใส่ของในตู้เย็นมากเกินไปและลดการเปิดปิดประตูตู้เย็น เป็นต้น

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

(ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และ รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว)

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กับ นายดาววง พอนแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและบ่อแร่แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้เข้าร่วมพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในรูปแบบการลงนามเสมือนจริง (Virtual Signing Ceremony) ณ กระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๖๕ โดยความตกลงในความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างไทยและ สปป.ลาว ครั้งนี้จะช่วยให้เกิดการซื้อขายพลังงานสะอาดในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงาน รวมถึงยังเป็นการส่งเสริมโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกันระหว่างสองประเทศโดยบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับดังกล่าว มีขอบเขตความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างทั้งสองประเทศในประเด็นสำคัญต่าง ๆ ได้แก่ การสนับสนุนการพัฒนาการผลิตพลังงานไฟฟ้าใน สปป.ลาวโดยเพิ่มปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าของไทยเป็นจำนวนรวม ๑๐,๕๐๐ เมกะวัตต์ ซึ่งมีความสอดคล้องกับแผนการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยเพื่อความมั่นคงและเสถียรภาพในการจัดหาพลังงานไฟฟ้า รวมไปถึงมีการร่วมมือในการพัฒนาระบบสายส่งไฟฟ้า การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์เชิงเทคนิค การพัฒนาทรัพยากรบุคคลร่วมกัน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานและพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในภูมิภาค รวมถึงเป็นการกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับ สปป.ลาว ให้แน่นแฟ้นและยั่งยืนต่อไป

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รับพระราชทานบัตรอำนวยพรพร้อมสมุดบันทึกประจำวัน เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2565

เมื่อวันจันทร์ที่ 17 มกราคม 2565 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รับพระราชทานบัตรอำนวยพรพร้อมสมุดบันทึกประจำวัน เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2565 ของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ณ ห้องประชุม 9 ชั้น 15 ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ กระทรวงพลังงาน

 

 

 

 

พิธีลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนด้านพลังงานระหว่างกระทรวงพลังงานแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น

นายกรัฐมนตรี ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนด้านพลังงานระหว่างกระทรวงพลังงานแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2565 ได้มีการประชุมหารือทวิภาคีระหว่างนายสุพัฒนพงศ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายฮากิอูดะ โคอิจิ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น เกี่ยวกับข้อริเริ่มการเป็นหุ้นส่วนการร่วมสร้างสรรค์ (co-creation) เพื่อนำไปสู่การลงทุนในอนาคต โดยได้มีการหารือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาความร่วมมือและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายไทยและฝ่ายญี่ปุ่นในการสร้างสรรค์นวัตกรรม เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงการก้าวเข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่พลังงานสะอาดที่อยู่บนพื้นฐานของสถานการณ์เป็นจริง (Realistic Energy Transition) ไปพร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

รัฐมนตรีของทั้งสองฝ่ายยังได้เล็งเห็นความสำคัญของความร่วมมือระหว่างสองประเทศเพื่อผลักดันเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2050 โดยมีการลงนามในบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนด้านพลังงานระหว่างกระทรวงพลังงานแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการประสานความร่วมมือด้านพลังงานเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะช่วยกำหนดทิศทางและกรอบการดำเนินความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างสองประเทศในมิติต่าง ๆ เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ฝ่ายญี่ปุ่นได้ประกาศสนับสนุนประเทศไทยในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานผ่านข้อริเริ่ม “Asia Energy Transition Initiative” หรือ AETI และรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายยืนยันที่จะดำเนินความร่วมมือเพื่อนโยบายส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและการลดการปล่อยคาร์บอนเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำต่อไป

“กระทรวงพลังงาน” มอบของขวัญปีใหม่ ส่งสุขทั่วไทยจากใจพลังงาน ชูตรึงราคาน้ำมัน LPG NGV แจกคูปองส่วนลดอุปกรณ์ไฟฟ้าเบอร์5 ส่วนลดที่พักและสินค้าชุมชน

“กระทรวงพลังงาน” มอบของขวัญปีใหม่ ส่งสุขทั่วไทยจากใจพลังงาน ชูตรึงราคาน้ำมัน LPG NGV แจกคูปองส่วนลดอุปกรณ์ไฟฟ้าเบอร์5 ส่วนลดที่พักและสินค้าชุมชน
กระทรวงพลังงาน เดินหน้าตรึงราคาพลังงานเป็นของขวัญปีใหม่ “2565” ส่งสุขทั่วไทยจากใจพลังงาน เอาใจคนเดินทางกลับบ้าน ท่องเที่ยว ช่วงปีใหม่ ตรึงราคาน้ำมันทุกชนิดตลอด 11 วัน ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2565 ขยายส่วนลด LPG 100 บาทต่อคนต่อเดือน ตรึงราคา LPG อยู่ที่ 318 บาท/ถัง 15 กิโลกรัม ตรึงราคา NGV อยู่ที่ 15.59 บาท/กก. พร้อมแจกคูปองส่วนลดอุปกรณ์ไฟฟ้าเบอร์5 มูลค่า 500 บาท และส่วนลด 50% ที่พักและสินค้าชุมชน
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายให้ทุกกระทรวงมอบของขวัญปีใหม่ประจำปี 2565 ให้กับประชาชน ทางกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานในสังกัด ได้จัดทำโครงการของขวัญปีใหม่ที่ได้นำเสนอ ครม.เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 ที่มุ่งเน้นเรื่องการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน สนับสนุนกิจกรรมในการสร้างความสุขให้คนไทย โดย กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานในการกำกับดูแลได้มอบของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนทุกคนใช้ช่วงเทศกาลปีใหม่ ด้วยการ ตรึงราคาน้ำมันทุกชนิดตลอด 11 วัน ระหว่างวันที่ 25 ธันวาคม 2564 – วันที่ 4 มกราคม 2565 (เฉพาะสถานีบริการของ PTT Station) ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2565 ขยายส่วนลด LPG จำนวน 100 บาทต่อคนต่อเดือนจนถึง 31 มกราคม 2565 ตรึงราคา LPG อยู่ที่ 318 บาท/ถัง 15 กิโลกรัม จนถึง 31 มกราคม 2565 ตรึงราคา NGV อยู่ที่ 15.59 บาท/กก.จนถึง 15 กุมภาพันธ์ 2565 นอกจากนี้ ยังแจกคูปองส่วนลดอุปกรณ์ไฟฟ้าเบอร์5 มูลค่า 500 บาท จำนวน 10,000 สิทธิ์ และส่วนลด 50% สำหรับเลือกซื้อสินค้าชุมชน และที่พักบนเขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
“และเนื่องในโอกาสปีใหม่นี้ ในฐานะตัวแทนของกระทรวงพลังงาน ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายได้โปรดคุ้มครองให้พี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนประสบแต่ความสุข มีสุขภาพร่างกาย ที่แข็งแรง ขอให้เดินทางทั้งท่องเที่ยวหรือการเดินทางกลับภูมิลำเนาด้วยความปลอดภัย และที่สำคัญขอให้ร่วมกิจกรรมต่างๆ ด้วยความระมัดระวังและเคร่งครัดต่อมาตรการในสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังคงน่าเป็นห่วงจากสายพันธุ์โอมิครอนในขณะนี้ เพราะการร่วมมือกันในสถานการณ์ที่ยากลำบากใน 2ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นแล้วว่าความร่วมมือสามัคคีที่เกิดขึ้นในสังคมไทย จะทำให้พวกเราทุกคนก้าวผ่านทุกสถานการณ์ไปได้ด้วยกันครับ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าว

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หารือกับ Mr. Daleep Singh ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ และรองผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ได้มีการเข้าพบหารือระหว่างรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ กับ Mr. Daleep Singh , United States Deputy National Security Advisor for International Economics ซึ่งดำรงตำแหน่งรองที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ และรองผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นการส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานในประเทศไทย

โดย Mr. Daleep Singh ได้หารือนโยบายความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาตามแนวนโยบาย Build Back Better ของสหรัฐฯ เพื่อให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ ฝ่ายสหรัฐฯ ได้หารือร่วมกันกับประเทศกลุ่มสมาชิก G7 และมีข้อเสนอร่วมกันว่า กลุ่ม G7 ควรมีการแบ่งปันความช่วยเหลือและทรัพยากรต่างๆ ให้กับประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะการสนับสนุนด้านการเงินและการลงทุนในโครงการพัฒนาต่างๆ ทั้งในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน เทคโนโลยีดิจิทัล การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ การพัฒนาทรัพยากรแร่เพื่อการผลิตสินค้าและบริการ การพัฒนาภาคการเกษตรและการรับมือกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น ซึ่งสหรัฐฯ มีความยินดีที่จะหารือในรายละเอียดร่วมกับฝ่ายไทยเพื่อแสวงหาความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมต่อไป

ในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวคิดการพัฒนาตลาดการค้าการลงทุนและการพัฒนาภาคพลังงานเพื่อให้ประเทศไทยสามารถฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด19 ได้อย่างยั่งยืน โดยฝ่ายไทยยินดีที่จะมีความร่วมมือกับนักลงทุนต่างชาติในการพัฒนาในหลายด้าน ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาภาครัฐของไทยได้มีการร่วมมือกับนานาประเทศในการพัฒนาโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ เส้นทางขนส่ง รถไฟฟ้า และมีแผนที่จะพัฒนาความเชื่อมโยงเหล่านี้ให้เติบโตขึ้นไปในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยี การพัฒนาพลังงานสะอาด การส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจ New S-Curve รวมถึง การให้ความสำคัญกับการส่งเสริมธุรกิจที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอน เพื่อให้ประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันว่า ภาครัฐของทั้งสองประเทศจะเป็นด่านหน้าในการแสวงหาโครงการความร่วมมือร่วมกัน ซึ่งจะช่วยให้ภาคเอกชนของทั้งสองประเทศเกิดความเชื่อมั่นและสร้างโอกาสในการค้าการลงทุนร่วมกันต่อไปในอนาคต โดยฝ่ายไทยยินดีที่จะส่งเสริมความร่วมมือกับฝ่ายสหรัฐฯ และจะมีการหารือในรายละเอียดอย่างใกล้ชิดในโอกาสอันใกล้ต่อไป

กระทรวงพลังงาน เข้าร่วมในพิธีทำบุญตักบาตรและพิธีวางพานพุ่ม เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

วันนี้ (5 ธ.ค. 64) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมในพิธีทำบุญตักบาตรและพิธีวางพานพุ่ม เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2564 ณ ท้องสนามหลวง

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้การต้อนรับเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย

เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 64 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้บริหารของกระทรวงพลังงาน ได้ให้การต้อนรับ นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เพื่อเข้าเยี่ยมคารวะในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่และหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างทั้งสองประเทศ

ในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้กล่าวแสดงความยินดีกับการเข้ามารับตำแหน่งใหม่ของเอกอัครราชทูตจีน และการครบรอบ 72 ปีการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา รวมถึงการครบรอบ 100 ปี การก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน และขอบคุณประเทศจีนที่ส่งมอบวัคซีนและเวชภัณฑ์ป้องกันและรักษาโรคระบาด Covid-19 ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถต่อสู้กับโรคระบาดในครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี โดยเอกอัครราชทูตจีนได้แสดงความขอบคุณและยินดีกับความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างสองประเทศที่มีร่วมกันมาอย่างยาวนาน

ในประเด็นความร่วมมือด้านพลังงานทวิภาคี ทั้งสองประเทศมีทิศทางและนโยบายด้านพลังงานที่สอดคล้องกัน ที่จะมุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาด การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงาน การบริหารจัดการพลังงาน รวมถึง ความร่วมมือและความเชื่อมโยงทั้งในระดับทวิภาคี และพหุภาคี เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ของทั้งสองประเทศร่วมกัน

ในการนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้เชิญชวนให้นักลงทุนชาวจีนเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจ/อุตสาหกรรมพลังงานในประเทศไทยในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การพัฒนาเทคโนโลยี   ยานยนต์ไฟฟ้า การสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือในด้านการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานและการขนส่งเพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ที่นอกจากจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาด้านพลังงานระหว่างไทยและจีนแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุนร่วมกันในภูมิภาค ซึ่งมีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางของสาธารณรัฐประชาชนจีน (Belt and Road Initiative: BRI) ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานและการเติบโตทางเศรษฐกิจร่วมกันอีกด้วย

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่กระบี่ ตรวจติดตามโครงการงบกองทุนอนุรักษ์พลังงาน“เกาะฮั่ง-บ้านไหนหนัง”

วันนี้ (15 พ.ย.64) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นำคณะผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน และสื่อมวลชน ลงพื้นที่จังหวัดกระบี่ ตรวจติดตามความสำเร็จ 2 โครงการด้านพลังงาน คือ โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนเกาะฮั่ง และโครงการเพิ่มสมรรถนะการบริหารจัดการและจัดการพลังงานชุมชนครบวงจร วิสาหกิจชุมชนบ้านไหนหนัง ซึ่งทั้ง 2 โครงการ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้ให้ชุมชนเศรษฐกิจฐานราก

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การลงพื้นที่จังหวัดกระบี่ครั้งนี้ มีภารกิจตรวจราชการก่อนการเข้าร่วมประชุม ครม.สัญจรที่จังหวัดกระบี่ คือติดตามการดำเนินโครงการด้านพลังงาน 2 โครงการ คือ โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับที่พักอาศัย ณ เกาะฮั่ง ตำบลเกาะศรีบอยา อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับงบประมาณกว่า 9 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานปี 2564 เพื่อติดตั้งระบบ Solar home ขนาด 600 วัตต์ พร้อมแบตเตอรี่ ให้กับชาวบ้านจำนวน 161 ครัวเรือน ที่ประสบปัญหาไม่มีไฟฟ้าใช้ โดยมั่นใจว่าหลังการดำเนินการโครงการแล้วเสร็จประชาชนในพื้นที่โครงการจะมีพลังงานเพียงพอในการดำเนินชีวิตประจำวัน สร้างประโยชน์ด้านการศึกษาของเยาวชน การประกอบอาชีพและการต่อยอดในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สร้างงาน สร้างรายได้นำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในชุมชนอย่างยั่งยืน

ส่วนอีกโครงการคือโครงการเพิ่มสมรรถนะการบริหารจัดการและจัดการพลังงานชุมชนครบวงจรในวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์บ้านไหนหนัง ตำบลเขาคราม อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ซึ่งถือเป็นตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม จากงบแผ่นดินปี 2562 วงเงินประมาณ 100,000 บาท จากการใช้เทคโนโลยี โรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ อาทิ ปลาแดดเดียว กะปิ ปลาเค็ม และชาใบขลู่ ซึ่งสามารถลดระยะเวลาในการแปรรูปผลิตภัณฑ์และสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์สามารถออกสู่ตลาดได้ในวงกว้าง เช่น ปลาทูสด จากเดิมจำหน่ายได้เพียงกิโลกรัมละ 20 บาท แต่หลังจากนำมาแปรรูปเป็นปลาแดดเดียวสามารถจำหน่ายได้ในราคา 130-150 บาทต่อกิโลกรัม ปัจจุบันทางกลุ่มมีรายได้จากการแปรรูปผลิตภัณฑ์จาก โรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์นี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 12,000-13,000 บาท/เดือน

“นโยบายของรัฐบาลให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนพลังงานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก กระทรวงพลังงาน จึงได้ขับเคลื่อนภาคพลังงานให้สอดรับกับนโยบายดังกล่าว ด้วยการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีพลังงานต่างๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปและการผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชน ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเพิ่มรายได้ของชุมชน โดยทั้ง 2 โครงการ ถือเป็นการขับเคลื่อนที่คู่ขนานกัน ทั้งการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การเพิ่มศักยภาพทางด้านอาชีพ และยกระดับรายได้ครัวเรือนของคนในชุมชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการส่งเสริมด้านพลังงานทดแทนให้เข้าถึงชุมชนในพื้นที่เกาะฮั่งด้วยการมีไฟฟ้าใช้จากพลังงานแสงอาทิตย์ ถือเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนได้เป็นอย่างดีช่วยให้ชุมชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและมีความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันมากขึ้น ขณะเดียวกันการพัฒนาดังกล่าวก็ยังคงไว้ซึ่งธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดั้งเดิมของชุมชนด้วยเช่นกัน” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าว

กระทรวงพลังงาน ร่วมพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2564 ณ วัดเขาแก้ววรวิหาร จ.สระบุรี

วันนี้ (31 ตุลาคม 2564) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นำคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน ร่วมถวายผ้าพระกฐินพระราชทานประจำปี 2564 พร้อมกันนี้ ยังได้มอบทุนการศึกษา และเงินบำรุงโรงเรียนให้กับ 4 สถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ได้แก่ โรงเรียนวัดต้นตาล โรงเรียนวัดพระยาทด โรงเรียนพระปริยัติธรรม วัดเขาแก้ว โรงเรียนเสาไห้ “วิมลวิทยานุกูล” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ณ วัดเขาแก้ววรวิหาร ต.ต้นตาล อ.เสาไห้ จ.สระบุรี

กระทรวงพลังงาน จับมือ กฟผ. และ ปตท. มอบถุงยังชีพ 2,000 ชุด บรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบภัยน้ำท่วมพื้นที่จังหวัดนนทบุรี-ปทุมธานี

วันนี้ (28 ต.ค.64 ) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย ผู้บริหารจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นางสาวนพวรรณ กาญจนะวรรณ รองผู้ว่าการบริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายวิภู พิวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และผู้บริหารจาก บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) นายทรงพล พึ่งผัน ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ภาค 3 ลงพื้นที่จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดปทุมธานี ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำท่วม พร้อมมอบถุงยังชีพ จำนวน 2,000 ชุด  บรรเทาความเดือดร้อนประชาชนเบื้องต้น รับฟังปัญหาความเดือดร้อนและให้กำลังใจผู้ประสบภัยน้ำท่วม

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจและมีความห่วงใยประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งทุกหน่วยงานเข้าพื้นที่ประสบภัยให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างบูรณาการ ตั้งแต่การช่วยเหลือเยียวเบื้องต้นโดยการมอบถุงยังชีพ ซึ่งประกอบด้วยเครืองอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การสาธารณสุข เข้าไปให้ความช่วยเหลือเรื่องสุขภาพ ผู้มีโรคประจำตัว ผู้ป่วยติดเตียง ตลอดจนผู้สูงอายุ รวมถึงหน่วยงานของการไฟฟ้าให้เข้าไปติดตามเรื่องความปลอดภัยของระบบไฟฟ้าต่อบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมสูงที่อาจจะเกิดอันตรายจากไฟฟ้าช๊อต ไฟฟ้าลัดวงจรต่างๆ รวมถึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการสำรวจความเสียหายทั้งบ้านเรือน พื้นที่ประกอบอาชีพ รวมถึงความเสียหายอื่นๆ เพื่อเตรียมแผนฟื้นฟูให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตโดยเร็วที่สุด

“การลงพื้นที่จังหวัดนนทบุรีและปทุมธานี ในวันนี้ ถือเป็นภารกิจต่อเนื่องตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ตลอดจนสิ่งที่พี่น้องประชาชนต้องการความช่วยเหลือ พร้อมนำถุงยังชีพเครื่องอุปโภคและบริโภคที่จำเป็นต่อการยังชีพ จำนวน 2,000 ชุด มามอบเพื่อบรรเทาความเดือดให้กับประชาชน โดยแบ่งเป็นจังหวัดนนทบุรี จำนวน 1,000 ชุด และจังหวัดปทุมธานี จำนวน 1,000 ชุด  ซึ่งหลังจากนี้ จะมีการประสานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างเร่งด่วนต่อไป” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่ จ.สมุทรปราการ ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำท่วมพร้อมมอบน้ำมัน 3,000 ลิตร สนับสนุนภารกิจกองทัพภาคที่ 1 ขุดลอกคูคลองเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำ

“สุพัฒนพงษ์” นำทีมผู้บริหารกระทรวงฯและปตท. ลงพื้นที่ จ.สมุทรปราการ ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำท่วมพร้อมมอบน้ำมัน 3,000 ลิตร สนับสนุนภารกิจกองทัพภาคที่ 1 ขุดลอกคูคลองเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำ

วันนี้ (8 ต.ค.64 ) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน และ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ และคณะผู้บริหารบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ลงพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ตรวจติดตามสถานการณ์เฝ้าระวังน้ำท่วม และความพร้อมของสถานีสูบน้ำนางหงส์ พร้อมมอบน้ำมันดีเซล 3,000 ลิตร สนับสนุนภารกิจกองทัพภาคที่ 1 ขุดลอกคูคลองเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำ โดยมี นายกรุงศรีวิไล ส.ส.เขต 3 พรรคพลังประชารัฐจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมด้วย นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ และคณะฯ ให้การต้อนรับ ณ บริเวณสถานีสูบน้ำนางหงษ์ ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ร่วมบูรณการการแก้ปัญหาและดำเนินช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมจากอิทธิพลของพายุ “เตี้ยนหมู่” ตามข้อสั่งการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่มีความห่วงใยต่อประชาชนในทุกพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยที่ต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน รวมถึงให้มีการตรวจติดตามการเตรียมความพร้อมในทุกพื้นที่เสี่ยงต่ออุทกภัยจากมวลน้ำที่เกิดจากอิทธิพลของพายุดังกล่าว รวมถึงการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมจากปริมาณน้ำฝนหรือน้ำหลากมาจากแหล่งน้ำต่างๆซึ่งจะทำให้ประชาชนในจังหวัดสมุทรปราการได้รับผลกระทบจากอุทกภัยให้น้อยที่สุด ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพลังงาน รวมถึงหน่วยงานและรัฐวิสาหกิจในสังกัดได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยแล้วใน 2 จังหวัด คือ จังหวัดลพบุรี และจังหวัดนครปฐม พร้อมรับฟังปัญหาความเดือดร้อนตลอดจนสิ่งที่ประชาชนต้องการความช่วยเหลือ เพื่อนำไปบูรณาการช่วยเหลือประชาชนทุกพื้นที่ประสบภัยอย่างเร่งด่วน และยังมีแผนลงพื้นที่ช่วยเหลืออุทกภัยในจังหวัดอื่นๆอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการลงพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่แล้วยังเป็นการติดตามดูความพร้อมของคลองระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ รวมถึงประตูระบายน้ำ ในการรับมือสถานการณ์น้ำท่วม เนื่องจากจังหวัดสมุทรปราการถือเป็นอีกหนึ่งจังหวัดในเส้นทางการระบายน้ำลงสู่ทะเล ซึ่งมีความเสี่ยงต่อสถานการณ์น้ำท่วมที่จะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชนเช่นกัน นอกจากนี้ ยังได้มอบน้ำมันดีเซลจำนวน 3 พันลิตร จากความร่วมมือของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เพื่อสนับสนุนภารกิจของกองทัพบก โดยกองทัพภาคที่ 1 ในการขุดลอกเส้นทางระบายน้ำ เช่น ขุดลอกดินตะกอน ตลอดจนการเก็บวัชพืช เพื่อเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำให้กับประตูระบายน้ำปากตะคลอง ของจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อให้ปริมาณมวลน้ำในจังหวัดสมุทรปราการสามารถระบายน้ำได้เพิ่มมากขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังได้ให้กำลังใจและขอบคุณทางจังหวัด กองทัพภาคที่ 1 ส่วนราชการในพื้นที่ รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ได้ร่วมมือกันบูรณาการเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์น้ำท่วมเพื่อลดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน

ด้านนายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า ทางจังหวัดได้บูรณาการร่วมกับกองทัพบก โดยกองทัพภาคที่1 ในการเตรียมพร้อมต่อสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ทั้งการขุดลอกคลองระบายน้ำ อาทิ บริเวณคลองสำโรง จากเดิมมีความลึก 1.5 เมตร เพิ่มขึ้นเป็น 2.5 เมตร รวมถึงการกำจัดวัชพืช เพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทางจังหวัดก็ขอขอบคุณกระทรวงพลังงานและบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่ได้เข้ามาสนับสนุนน้ำมันดีเซลจำนวน 3 พันลิตรในการดำเนินการของทางจังหวัด

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นำทีมผู้บริหารกระทรวงฯพร้อม กฟผ. ลงพื้นที่ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำท่วม

“สุพัฒนพงษ์” นำทีมผู้บริหารกระทรวงฯพร้อม กฟผ. ลุยต่อพื้นที่ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำท่วม พร้อมมอบถุงยังชีพบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบอุทกภัยเบื้องต้น

วันนี้ (5 ต.ค.64 ) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงพื้นที่จังหวัดนครปฐม ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำท่วม พร้อมมอบถุงยังชีพ จำนวน 900 ชุด บรรเทาความเดือดร้อนประชาชนเบื้องต้น รับฟังปัญหาความเดือดร้อนและให้กำลังใจผู้ประสบภัยน้ำท่วม จากอิทธิพลพายุ “เตี้ยนหมู่” โดยมี นายปฐมพงศ์ สูญจันทร์ ส.ส. จังหวัดนครปฐม เขต 4 พรรคพลังประชารัฐ พร้อมด้วย นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม นายอภินันท์ เผือกผ่อง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม และคณะฯ ให้การต้อนรับ ณ วัดสำโรง อำเภอเมืองนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การลงพื้นที่จังหวัดนครปฐมครั้งนี้ เป็นภารกิจต่อเนื่องในการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุ “เตี้ยนหมู่” เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ตลอดจนสิ่งที่พี่น้องประชาชนต้องการความช่วยเหลือ พร้อมนำถุงยังชีพเครื่องอุปโภคและบริโภคที่จำเป็นต่อการยังชีพ จำนวน 900 ชุด มามอบเพื่อบรรเทาความเดือดให้กับประชาชน 10 ตำบล ในพื้นที่อำเภอนครชัยศรี ได้แก่ ตำบลวัดสำโรง ลานตากฟ้า บางแก้วฟ้า สัมปทวน ดอนแฝก ห้วยพลู ไทยาวาส งิ้วราย วัดแค และวัดละมุด เพื่อเป็นการช่วยเหลือเบื้องต้นก่อน ซึ่งหลังจากนี้ จะมีการประสานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างเร่งด่วน รวมถึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการสำรวจความเสียหายทั้งบ้านเรือน พื้นที่ประกอบอาชีพ รวมถึงความเสียหายอื่นๆ เพื่อเตรียมแผนฟื้นฟูให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตโดยเร็วที่สุด

“รัฐบาลและนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตระหนักถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 อยู่ในขณะนี้ ซึ่งนายกได้สั่งการให้รัฐมนตรี ส.ส. รวมถึงทุกหน่วยงานต่างๆ เข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนในทุกพื้นที่ที่ประสบปัญหาอย่างเร่งด่วน พร้อมกำชับให้ดำเนินการช่วยเหลือประชาชนในทุกพื้นที่อย่างทั่วถึง ทุกครัวเรือที่ได้รับความเดือดร้อนต้องได้รับความช่วยเหลือไม่ให้ตกหล่น และขอให้ประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลจะทำให้ดีที่สุดเพื่อพี่น้องประชาชน ซึ่งในส่วนของกระทรวงพลังงานก็เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้ขับเคลื่อนความช่วยเหลือ โดยได้ร่วมกับ กฟผ. และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนในจังหวัดลพบุรีไปแล้วก่อนหน้านี้ และเร่งดำเนินการในพื้นที่อื่นๆ อีกต่อไป” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าว

ด้านนายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า จังหวัดนครปฐมมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม จำนวน 27 ตำบล ของ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนครชัยศรี บางเลน และสามพราน มีประชาชนได้รับผลกระทบรวมทั้งสิ้น 3,025 ครัวเรือน สำหรับอำเภอนครชัยศรี ได้รับผลกระทบจำนวน 1,459 ครัวเรือน ใน 14 ตำบล ซึ่งภาพรวมขณะนี้ สถานการณ์น้ำของจังหวัดนครปฐมยังคงต้องเฝ้าระวังผลกระทบจากการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำท่าจีนผ่านจังหวัดนครปฐม ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำ อย่างไรก็ตาม ทางจังหวัด อำเภอ ส่วนราชการในพื้นที่ รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ได้เสริมแนวคันกั้นน้ำ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ พร้อมติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ ที่สะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน และคลองลัด จำนวน 6 จุด รวม 57 เครื่อง เพื่อเร่งผลักดันน้ำลงทะเล นอกจากนี้ ยังทำการสำรวจความเสียหายเพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อไป

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีเอเชียเรื่องความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการเติบโตสีเขียว (Asia Green Growth Partnership Ministerial Meeting)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีเอเชียเรื่องความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการเติบโตสีเขียว (Asia Green Growth Partnership Ministerial Meeting)

วันนี้ ( 4 ต.ค. 64) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานพร้อมด้วยปลัดกระทรวงพลังงาน (นายกุลิศ สมบัติศิริ) รองปลัดกระทรวงพลังงาน (นางเปรมฤทัย วินัยแพทย์) พร้อมคณะผู้แทนไทย ได้เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีเอเชียเรื่องความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการเติบโตสีเขียว (Asia Green Growth Partnership Ministerial Meeting) พร้อมกับรัฐมนตรีและผู้แทนระดับสูงจากประเทศต่าง ๆ
ในภูมิภาคเอเชียและภูมิภาคอื่น ๆ กว่า 20 ประเทศ พร้อมด้วยองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ IEA ERIA และ ASEAN Secretariat ผ่านระบบการประชุมทางไกล ที่จัดขึ้นโดยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่นหรือ METI ภายใต้การประชุม Tokyo Beyond-Zero Week ซึ่งการประชุมดังกล่าวเป็นเวทีหารือที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการในยุคของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งให้ความสำคัญกับการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคพลังงานและการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน รวมถึงการหารือแนวทางการบรรลุเป้าหมายการปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์และการเติบโตสีเขียว โดยคำนึงถึงบริบทและสถานการณ์ในมิติต่าง ๆ ของแต่ละประเทศที่มีความแตกต่างกันและมีลักษณะเฉพาะตัวในแต่ละประเทศ ดังนั้นการผลักดันการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของทวีปเอเชีย จึงควรสะท้อนลักษณะเฉพาะตัวเหล่านี้และอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง (Realistic Energy Transition) ซึ่งญี่ปุ่นคาดหวังว่าแนวคิดข้อริเริ่มด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานแห่งเอเชีย (Asia Energy Transition Initiative: AETI) ของญี่ปุ่นจะสามารถนำมาสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านพลังงานในภูมิภาคเอเชียอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

โอกาสนี้ รมว.พน. ได้ให้เกียรติกล่าวสุนทรพจน์ที่มีสาระสำคัญกล่าวถึงความมุ่งมั่นของไทยในการปรับตัวเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงาน โดยกระทรวงพลังงานได้นำเสนอเป้าหมายการจัดทำแผนพลังงานชาติ มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนภาคพลังงานของประเทศสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำด้วยพลังงานสะอาด และมุ่งเน้นการศึกษาและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงาน รวมถึงนโยบาย 30@30 ในการเพิ่มสัดส่วนยานยนต์ไฟฟ้าที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (ZEV) ที่จะสามารถทำให้บรรลุเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ได้ในอนาคต นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5- 2 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีส เพื่อบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ของไทยภายในปี 2065

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมระดับรัฐมนตรีเอเชียเรื่องความเป็นหุ้นส่วน
เพื่อการเติบโตสีเขียว (Chair’s Summary of Asia Green Growth Partnership Ministerial Meeting) ที่แสดงเจตจำนงในการมุ่งไปสู่ที่แสดงถึงความมุ่งมั่นของรัฐมนตรีและผู้แทนจากประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศที่เข้าร่วมการประชุมฯ ในการตระหนักถึงความเร่งด่วนในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านพลังงานอย่างยั่งยืนในอนาคตและเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ยุคของ
การเปลี่ยนผ่านพลังงานในเอเชียต่อไป

รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธานในงานวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงพลังงาน ประจำปี 2564

19 ปี วันสถาปนากระทรวงพลังงาน มอบเกียรติบัตรข้าราชการดีเด่น พร้อมสมทบทุนสภากาชาดไทย

วันนี้ (4 ต.ค. 64) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธานในงานวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงพลังงาน ประจำปี 2564 โดยมีผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่ กระทรวงพลังงานเข้าร่วมงาน

สำหรับกิจกรรมที่สำคัญในวันนี้ ได้แก่ พิธีสักการะพระพรหม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำศูนย์เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของกระทรวงพลังงาน โดยประธานในพิธีได้นำจุดธูปเทียน ถวายพวงมาลัย และเครื่องสักการะพระพรหม ทั้ง 4 ทิศ

พร้อมกันนี้ ได้จัดพิธีมอบเกียรติบัตรและเข็มเชิดชูเกียรติ ให้กับข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี 2563 จำนวน 6 ราย จากสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมธุรกิจพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

ทั้งนี้ ในโอกาสวันสถาปนากระทรวงพลังงานยังได้รับมอบเงินจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อสมทบทุนสภากาชาดไทย จำนวน 50,000 บาท ซึ่งนอกจากจะเป็นการแสดงความยินดีร่วมกันแล้ว ยังเป็นการสร้างกุศลร่วมกับสภากาชาดไทย อีกด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่ จังหวัดลพบุรี ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม

“สุพัฒนพงษ์” นำทีมผู้บริหาร กระทรวงพลังงาน และกฟผ.
ลงพื้นที่ จังหวัดลพบุรี ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงพลังงาน นำคณะผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ กระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงพื้นที่จังหวัดลพบุรี เพื่อให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพ 1,600 ชุด พื้นที่ตำบลเขาพระงาม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี บรรเทาความเดือดร้อนชาวบ้านผู้ประสบภัยน้ำท่วมจากอิทธพลพายุ “เตี้ยนหมู่”

วันนี้ (3 ต.ค.64 ) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการพลังงานพร้อมด้วย นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่จังหวัดลพบุรี เพื่อรับฟังรายงานสถานการณ์น้ำท่วม พร้อมมอบถุงยังชีพเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น ตลอดจนให้กำลังใจ และรับฟังปัญหาความเดือดร้อนผู้ประสบภัยน้ำท่วม ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์พายุ “เตี้ยนหมู่” ในช่วงนี้ โดยมี นายประทวน สุทธิอำนวยเดช ส.ส. จังหวัดลพบุรี เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ พร้อมด้วย นายศุภภิมิตร เปาริก รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี และคณะฯ ให้การต้อนรับ ณ หมู่บ้านไผ่ขวาง ตำบลเขาพระงาม อำเภอเมืองลพบุรี

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลตระหนักถึงความเดือดร้อนและมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์พายุ “เตี้ยนหมู่” ที่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก กระจายครอบคลุม 28 จังหวัด ซึ่งขณะนี้ แม้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว ใน 5 จังหวัด แต่ยังคงเหลือพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมอีก 23 จังหวัด ซึ่งรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือและให้กำลังใจชาวบ้านด้วยตัวเองแล้วในบางจังหวัด พร้อมได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเข้าไปให้ความช่วยเหลือเยียวยาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนในเบื้องต้นอย่างเร่งด่วน ซึ่งในส่วนของ กระทรวงพลังงาน ได้ดำเนินการนำถุงยังชีพไปมอบเพื่อให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดลพบุรี เป็นพื้นที่แรก โดยได้มี การมอบถุงยังชีพ ซึ่งประกอบด้วยเครื่องอุปโภคและบริโภคที่จำเป็นต่อการยังชีพ จำนวน 1,600 ชุด ให้กับประชาชนในพื้นที่ตำบลเขาพระงาม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี

“ขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลมีความห่วงใยและเร่งดำเนินการช่วยเหลือประชาชนทุกครัวเรือน ทุกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยไม่ได้นิ่งนอนใจ การลงพื้นที่ในวันนี้ นอกจากจะนำถุงยังชีพ มามอบเพื่อเป็นการช่วยเบื้องต้นแล้ว ยังมาให้กำลังใจ รวมถึงรับฟังปัญหา และสิ่งที่พี่น้องประชาชนต้องการความต้องความช่วยเหลือเพื่อไปประสานกับทุกหน่วยงานเร่งแก้ปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด รวมถึงการเตรียมแผนฟื้นฟูหลังสถานการณ์คลี่คลาย ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย การประกอบอาชีพ ของประชาชนในทุกพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันปกติต่อไป” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าว

ด้าน นายศุภภิมิตร เปาริก รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดลพบุรี ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2564 เป็นต้นมา มีพื้นที่ประสบภัยทั้งหมด 11 อำเภอ 94 ตำบล มีประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 60,334 ครัวเรือน มีพื้นที่ทางการเกษตรที่คาดว่าจะได้รับความเสียหาย 507,538 ไร่ ด้านปศุสัตว์ 2,904 ราย และด้านประมง 7,487.3 ไร่ ซึ่งขณะนี้ สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 8 อำเภอ ยังเหลืออีก 3 อำเภอที่ยังคงได้รับผลกระทบอยู่ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างเร่งสำรวจความเสียหายในส่วนบ้านเรือนและความเสียหายต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนต่อไป

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานและการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 39 (The 39th ASEAN Ministers on Energy and Associated Meetings: The 39th AMEM)

เวที AMEM ครั้งที่ 39 รัฐมนตรีอาเซียนรับรองปฏิญญาบันดาร์เสรีเบกาวัน

รัฐมนตรีพลังงานอาเซียน 10 ประเทศ รับรองปฏิญญาบันดาร์เสรีเบกาวัน มุ่งสร้างความมั่นคงทางพลังงานในยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน “เผย” ความร่วมมือพหุภาคีระหว่าง สปป.ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์เตรียมเดินหน้าขายไฟฟ้าข้ามแดน 100 เมกะวัตต์ ภายในปี 2565 ด้านสหรัฐหนุนอาเซียนเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็น 35% ภายใน 4 ปี

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า รัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานทั้ง 10 ประเทศ ได้ร่วมกันประกาศปฏิญญาบันดาร์เสรีเบกาวันด้านความมั่นคงทางพลังงานและการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน (Bandar Seri Begawan Joint Declaration on Energy Security and Energy Transition) ในระหว่างประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานและการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 39 (The 39th ASEAN Ministers on Energy and Associated Meetings: The 39th AMEM) ซึ่งประเทศบรูไนดารุสซาลามเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ในระหว่างวันที่ 13-16 กันยายน 2564

สำหรับสาระสำคัญของปฏิญญาบันดาร์เสรีเบกาวัน คือ การร่วมกันพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน ภายใต้การส่งเสริมการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงการสนับสนุนให้เศรษฐกิจมีการปรับตัวและสามารถฟื้นตัว พร้อมที่จะรองรับรับต่อสภาวะที่เปลี่ยนแปลงหรือสภาวะฉุกเฉินต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ตลอดจนส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานให้มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ยังได้รับทราบความก้าวหน้าของโครงการและกิจกรรมภายใต้แผนปฏิบัติการความร่วมมืออาเซียนด้านพลังงาน ระยะที่ 2 ซึ่งประกอบด้วย 7 สาขาความร่วมมือ และ 1 เครือข่ายความร่วมมือ ได้แก่ 1) ด้านไฟฟ้า จะร่วมกันเสริมสร้างความยืดหยุ่นและความทันสมัยของระบบสายส่ง และส่งเสริมการนำพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนในการผลิตพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น 2) ด้านก๊าซธรรมชาติ จะมีการพัฒนาตลาดก๊าซร่วมกันในอาเซียนและปรับปรุงความพร้อมทางการค้าและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มการเชื่อมต่อและการเข้าถึงก๊าซธรรมชาติ และก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในพื้นที่ห่างไกล 3) ด้านเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ส่งเสริมและสนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีพลังงานถ่านหินสะอาด และการพัฒนา CCUS 4) ด้านประสิทธิภาพและอนุรักษ์พลังงาน ส่งเสริมการจัดทำมาตรฐานเดียวกันของอุปกรณ์ไฟฟ้าในภูมิภาค และส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคาร ภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม 5) ด้านพลังงานหมุนเวียน สนับสนุนการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนใหม่ ๆ และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในภาคต่าง ๆ รวมทั้งพัฒนาเส้นทางการไปสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 6) ด้านนโยบายและแผนพลังงานภูมิภาค พัฒนาแนวทางความร่วมมือด้านนโยบายและแผนด้านพลังงานของอาเซียนเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายความมั่นคงทางพลังงานและการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน 7) ด้านพลังงานนิวเคลียร์ เสริมสร้างการพัฒนาบุคลากรของอาเซียนในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านพลังงานนิวเคลียร์ รวมถึง ยังได้มีการหารือร่วมกันในด้านเครือข่ายการกำกับกิจการพลังงานอาเซียน เพื่อส่งเสริมบทบาทด้านการพัฒนาแนวทางและกฎระเบียบ เพื่อสนับสนุนการซื้อขายไฟฟ้าพหุภาคีและตลาดปิโตรเลียมในภูมิภาคต่อไป

นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังได้กล่าวถึงผลสำเร็จจากการประชุมการประชุมรัฐมนตรีพลังงานโครงการซื้อขายไฟฟ้าพหุภาคีระหว่าง สปป.ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ (Lao PDR – Thailand – Malaysia – Singapore Power Integration Project: LTMS-PIP) ว่า จะส่งเสริมการขยายการซื้อขายไฟฟ้าข้ามแดน ไปยังสิงคโปร์และผลักดันให้โครงการ LTMS ประสบผลสำเร็จโดยเร็ว โดยที่ประชุมได้รับรองถ้อยแถลง LTMS เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการซื้อขายไฟฟ้าข้ามพรมแดน โดยเริ่มต้นที่ 100 เมกะวัตต์ ในระหว่างปี 2565-2566 อย่างไรก็ตาม ในเวทีการประชุมร่วมกันรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานกับ Ms. Jenifer Granholm, Secretary of Energy จาก US Department of Energy ซึ่งถือเป็นการประชุมร่วมกันครั้งแรก โดยทางสหรัฐ ได้นำเสนอแนวคิดความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียน-สหรัฐอเมริกา (Concept Note on ASEAN-US Engagement on Energy) ซึ่งมีสาระสำคัญเพื่อการส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานในระดับรัฐมนตรีผ่านการจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีพลังงานของประเทศสมาชิกกับสหรัฐอเมริกาเป็นประจำทุกปี เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานร่วมกัน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาด้านพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งเทคโนโลยีด้านพลังงานที่จะช่วยเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียน ซึ่งจะช่วยให้อาเซียนบรรลุเป้าหมายด้านพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าที่ร้อยละ 35 และเป้าหมายการลดความเข้มการใช้พลังงานที่ร้อยละ 32 ในปี 2568

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของไทยยังได้ใช้โอกาสนี้ กล่าวยินดีที่รัฐมนตรีพลังงานสหรัฐเข้าร่วมหารือเป็นครั้งแรกในความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างอาเซียนกับสหรัฐ และยินดีกับแนวคิดความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียน- สหรัฐอเมริกา พร้อมทั้งแสดงความเห็นว่าการร่วมมือกับสหรัฐจะช่วยส่งเสริมความมั่นคงและยั่งยืนทางพลังงาน รวมทั้งจะช่วยกระตุ้นการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานของภูมิภาคและบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ผ่านการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีด้านพลังงานต่าง ๆ อาทิ ไฮโดรเจน ยานยนต์ไฟฟ้า ระบบจัดเก็บพลังงาน และเทคโนโลยีดักจับ กักเก็บและใช้ประโยชน์จากคาร์บอนไดออกไซด์ (CCUS) ต่อไป

นอกจากนี้ ในการหารือร่วมกันของที่ประชุมรัฐมนตรีพลังงานแห่งเอเชียตะวันออก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของไทยได้นำเสนอวิสัยทัศน์ และแนวนโยบายด้านการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของไทย ซึ่งประเทศไทยได้นำเสนอแนวนโยบายในการเพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน นโยบาย 30@30 ในการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าและการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในทุกภาคส่วน รวมทั้งการปลูกป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นแนวนโยบายภายใต้กรอบแผนพลังงานชาติ ปี 2564 อีกทั้ง ยังได้นำเสนอแนวคิด เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Model ต่อที่ประชุมเพื่อเป็นแนวทางในการในการส่งเสริมการใช้และการเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพยากรที่มีอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับนาย Francesco La Camera ผู้อำนวยการทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (IRENA) ที่ได้นำเสนอทิศทางการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานโลก ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างเสถียรภาพให้ความต้องการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน ไปพร้อม ๆ กับการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ Dr. Fatih Birol ผู้อำนวยการใหญ่ทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ยังได้นำเสนอว่า ปีนี้เป็นปีที่ 10 ของการครบรอบความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียนและ IEA ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินความร่วมมือประสบความสำเร็จด้วยดี และขอให้ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ร่วมมือกันอย่างจริงจังต่อไปในการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานในยุคการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่มุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาดและการลงทุนด้านพลังงานที่คำนึงถึงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization)

ในส่วนของการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนบวกสาม ที่ประชุมได้เน้นย้ำความร่วมมือด้านความมั่นคงทางพลังงาน การลงทุนด้านพลังงานที่คำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน และการเน้นหารือร่วมกันในเวทีระหว่างประเทศเพื่อส่งเสริมการพัฒนาและการใช้พลังงานสะอาดให้มากขึ้นในภูมิภาค

ทั้งนี้ การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานและการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 39 (The 39th ASEAN Ministers on Energy and Associated Meetings: The 39th AMEM) ในรูปแบบการประชุมทางไกล (VDO Conference) โดยมีประเทศบรูไนดารุสซาลาม เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม และมีประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ รวมทั้งประเทศคู่เจรจาอีก 8 ประเทศ ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และ อินเดีย และองค์กรด้านพลังงานระหว่างประเทศ ได้แก่ ทวงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) และ ทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (IRENA) เข้าร่วม ในระหว่างวันที่ 13-16 กันยายน 2564 โดย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” พร้อมด้วยนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงพลังงาน และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย เข้าร่วมการประชุมผ่าน VDO Conference ณ กระทรวงพลังงาน และที่ประชุมดังกล่าวยังได้รับรองถ้อยแถลงร่วมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในแต่ละการประชุมด้วย

กระทรวงพลังงาน เดินหน้าผลักดันภาคพลังงานกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงโควิด สร้างอาชีพ “พลังงาน พลังใจ ขับเคลื่อนไทยให้ยั่งยืน” เพื่อก้าวข้ามวิกฤตประเทศช่วงสถานการณ์โควิด-19

กระทรวงพลังงาน เชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง พร้อมผลักดันการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ และเกิด การจ้างงาน เพื่อร่วมแก้ปัญหาวิกฤติโควิด-19 ต่อเนื่อง ภายใต้ความร่วมมือ“พลังงาน พลังใจ ขับเคลื่อนไทยให้ยั่งยืน” เดินหน้าเยียวยาสังคมครบทุกมิติ มาตรการลดค่าครองชีพ จ้างงาน และด้านสาธารณสุข พร้อมผลักดัน เม็ดเงินลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีแรก 64 กว่า 1 แสนล้านบาท เกิดการจ้างงานรวมกว่า 36,000 ตำแหน่ง พร้อมปรับนโยบายพลังงานเพื่อสร้างกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและการลงทุนของประเทศ ผ่าน 4 แผนพลังงานสำคัญ เพื่อขับเคลื่อนประเทศฝ่าวิกฤตโควิด-19
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้ รัฐบาลได้ร่วมบูรณาการหน่วยงานต่างๆ เพื่อเร่งแก้ปัญหาให้ครอบคลุมทั้งมิติด้านเศรษฐกิจและด้านสังคม เพื่อขับเคลื่อนประเทศฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้ กระทรวงพลังงาน ได้ร่วมเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ดังกล่าว และเยียวยาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมภายใต้ความร่วมมือ “พลังงาน พลังใจ ขับเคลื่อนไทยให้ยั่งยืน” ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดและรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงานมาอย่างต่อเนื่องเต็มกำลัง
โดยในมิติด้านเศรษฐกิจ ได้มีการผลักดันให้เกิดการลงทุนตามแผนการลงทุนปี 2564 กว่า 200,000 ล้านบาท เพื่อพยุงเศรษฐกิจของประเทศให้เดินไปข้างหน้า โดยในครึ่งปีแรกของปี 2564 (เดือนมกราคม-มิถุนายน 2564) มีเม็ดเงินลงทุนไปแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท ผ่านโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานต่าง ๆ ของรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับของ กระทรวงพลังงาน คือ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวมทั้งบริษัทในเครือ โดยในส่วนของ ปตท. มีโครงการลงทุนที่สำคัญ อาทิ โครงการสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวแห่งใหม่ จังหวัดระยอง โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เส้นที่ 5 และโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากสถานีควบคุมความดันก๊าซธรรมชาติ ราชบุรี – วังน้อยที่ 6 การติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) และการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ขณะที่โครงการสำคัญในส่วนของ กฟผ. อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าบางปะกง (ทดแทนเครื่อง1-2) โครงการขยายระบบส่งไฟฟ้า ระยะที่ 12 โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางและกรุงเทพฯ เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า เป็นต้น

นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งปีแรก กระทรวงพลังงาน โดย กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ยังสามารถจัดเก็บรายได้จากกิจการการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม กว่า 25,000 ล้านบาท นำส่งรัฐ ซึ่งนับเป็นส่วนสำคัญในการนำเงินดังกล่าวไปพัฒนาประเทศในช่วงเวลาวิกฤตินี้
โดยในมิติด้านสังคมได้ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย จัดทำโครงการเยียวยาอย่างรอบด้านทั้ง มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนด้านค่าใช้จ่ายพลังงาน ได้แก่ มาตรการลดค่าไฟฟ้าในรอบเดือนกุมภาพันธ์ ถึงมีนาคมและเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนที่ผ่านมา และมีการลดค่าไฟฟ้าเพิ่มในรอบเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม หลังจากที่ยังคงมีการระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ส่วนมาตรการด้านการจ้างงานสร้างอาชีพ โดยผลักดันให้เกิดการจ้างงานไปแล้วกว่า 36,000 ตำแหน่ง และยังจะมีการจ้างเพิ่มในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 อีก 2,300 ตำแหน่ง ตลอดจนมาตรการช่วยเหลือด้านสาธารณสุขและบุคลากรทางการแพทย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน ยังได้เดินหน้านโยบายพลังงานที่มุ่งเน้นเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศใน 4 แผนด้านพลังงานหลักๆ ที่สำคัญ ได้แก่
(1) แผนพลังงานชาติ ซึ่งจะก่อให้เกิดการลงทุนในโครงการพลังงานสีเขียวรองรับแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยี
(2) แผนการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV เพื่อผลักดันประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของโลก
(3) แผนการพัฒนาปิโตรเคมีระยะที่ 4 ซึ่งจะมุ่งสนับสนุนให้มีการขยายเพิ่มเติมจากโครงการเดิมในพื้นที่ EEC เพื่อสร้างฐานทางเศรษฐกิจใหม่ (New S-Curve) และ
(4) แผนการส่งเสริมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก นำร่องจำนวน 150 เมกะวัตต์ ซึ่งจะก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจกระจายลงสู่ในระดับรากหญ้าให้มากยิ่งขึ้น

“กระทรวงพลังงาน ยังคงเร่งดำเนินโครงการต่างๆ ภายใต้สถานการณ์โควิดที่ยังคงระบาดอย่างเต็มกำลัง เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และการช่วยเหลือและเยียวยาคุณภาพชีวิตประชาชน เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวข้ามผ่านวิกฤตและก้าวไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็งต่อไป” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าว

กระทรวงพลังงาน บันทึกเทปถวายพระพรสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

วันนี้ (19 ก.ค. 64 ) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูง ร่วมบันทึกเทปถวายพระพรเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม 2564 ณ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT)

กระทรวงพลังงาน บันทึกเทปถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

วันนี้ (2 ก.ค. 64 ) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูง ร่วมบันทึกเทปถวายพระพรเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2564 ณ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย NBT ถ.วิภาวดีรังสิต

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน – ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 กระทรวงพลังงานนำโดยนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยปลัดกระทรวงพลังงาน (นายกุลิศ สมบัติสิริ) และรองปลัดกระทรวงพลังงาน (นางเปรมฤทัย วินัยแพทย์) และคณะผู้แทนไทย ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น สมัยพิเศษ (The Special AMEM-METI) ผ่านระบบการประชุมทางไกล ภายใต้แนวคิด “เสริมสร้างพันธมิตรสำหรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานแห่งภูมิภาคอาเซียน” (Enhancing Partnerships in Realising Energy Transitions in ASEAN)
โดยการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านพลังงานสะอาด และนวัตกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าว รัฐมนตรีจากแต่ละประเทศได้แสดงวิสัยทัศน์ทางด้านพลังงานและแนวทางการพัฒนาเพื่อการเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงานไปสู่พลังงานสะอาดทั้งในระดับประเทศและแนวทางการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียนและประเทศญี่ปุ่น โดยนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ได้นำเสนอต่อที่ประชุมฯ ว่า ประเทศไทยมีความพยายามอย่างยิ่งในการส่งเสริมแนวทางการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านทางนโยบายต่าง ๆ อาทิ นโยบายเกี่ยวกับการใช้พลังงานหมุนเวียน นโยบายการส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในยุคเปลี่ยนผ่าน นโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ยั่งยืน เช่น เทคโนโลยีไฮโดรเจน (Hydrogen)  และเทคโนโลยีดักจับ กักเก็บและการใช้ประโยชน์จากคาร์บอน (Carbon Capture utilization and Storage: CCUS) นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการปลูกป่าเพื่อเพิ่มแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ และนโยบายรถยนต์ไฟฟ้า 30@30 ซึ่งเป็นนโยบายที่ส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้า โดยเป็นการตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี 2030 ไทยจะต้องมีสัดส่วนการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ร้อยละ 30 จากสัดส่วนการผลิตรถยนต์ทั้งหมด พร้อมกันนี้ ยังได้นำเสนอนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model) หรือ BCG Model ที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพและเศรษฐกิจของชุมชน โดยการนำทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนมาสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับคุณภาพชีวิตครัวเรือนและชุมชน นอกจากนี้ บรรดารัฐมนตรียังได้รับรองถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน – ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาร่วมกันเพื่อการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานไปสู่ยุคพลังงานสะอาดและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low carbon economy) ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการศึกษาวิจัยร่วมกันระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่น อีกทั้งยังให้การสนับสนุนแผนการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการความร่วมมืออาเซียนด้านพลังงาน ระยะที่ 2 (APAEC Phase II) เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานในภูมิภาคต่อไป

กระทรวงพลังงาน รับมอบ “ต้นยางนา” จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องในวันต้นไม้ประจำปีของชาติ พ.ศ. 2564

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้รับมอบ “ต้นยางนา” จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องในวันต้นไม้ประจำปีของชาติ พ.ศ. 2564 โดยต้นยางนาที่ได้รับมอบครั้งนี้ ได้ผ่านพิธีเจริญพระพุทธมนต์ โครงการพฤกษามหามงคล ซึ่งกระทรวงพลังงานได้นำไปปลูกในพื้นที่สำนักงานพลังงานจังหวัดปทุมธานี

สำหรับ “วันต้นไม้ประจำปีของชาติ” นี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2532 กำหนดให้วันวิสาขบูชาของทุกปีเป็นวันต้นไม้ประจำปีของชาติ เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ของชาติ เช่น การปลูกต้นไม้ ซึ่งช่วยป้องกันและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ลดมลภาวะเป็นพิษจากฝุ่นและหมอกควัน โดยในปีนี้ “วันต้นไม้ประจำปีของชาติ” ตรงกับวันที่ 26 พ.ค. 2564

การประชุมหารือทวิภาคีระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ของประเทศญี่ปุ่น (METI)

การประชุมหารือทวิภาคีระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ของประเทศญี่ปุ่น (METI)

วันนี้ (20 พ.ค. 2564) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ประชุมหารือทวิภาคีกับ H.E. Mr. Kajiyama Hiroshi (นายคาจิยามา ฮิโรชิ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ของประเทศญี่ปุ่น (METI) ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Virtual Meeting) โดยทั้งสองฝ่ายได้มีการหารือในประเด็นความร่วมมือด้านพลังงานที่สำคัญทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี

โดยฝ่ายญี่ปุ่นได้มีการนำเสนอนโยบาย Green Growth Strategy ที่มีเป้าหมายการเข้าสู่ Carbon Neutrality ในปี 2050 รวมถึงนโยบายเพื่อรองรับยุคของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่จะมุ่งเน้นการลดการปลดปล่อย CO2 ในภาคพลังงาน การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยได้นำเสนอข้อริเริ่ม Asia Energy Transition Initiative เพื่อช่วยเหลือกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียให้สามารถเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่พลังงานสะอาดได้ตามเป้าหมาย โดยมุ่งเน้นมาตรการที่เป็นขั้นเป็นตอน ปฏิบัติได้จริง และใช้ทรัพยากร/เทคโนโลยีที่มีอยู่นำมาใช้ประโยชน์สูงสุด

โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้แลกเปลี่ยนแนวนโยบายด้านพลังงานของไทย ซึ่งมีทิศทางการพัฒนาสอดคล้องกับฝ่ายญี่ปุ่น ที่มุ่งเน้นการ Decarbonization ในภาคพลังงาน และมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีตามแนวทาง BCG โดยแสดงความเห็นพ้องกับฝ่ายญี่ปุ่นที่ภูมิภาคเอเชียจะต้องมีการร่วมมือกันสร้างจุดยืนร่วมกันในการพัฒนาภาคพลังงานต่อไป ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยังได้แสดงความขอบคุณฝ่ายญี่ปุ่นที่เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนการศึกษานโยบาย Carbon Neutrality ของไทย โดยไทยได้มีความพร้อมที่จะสนับสนุนกิจกรรมในกรอบความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น และยินดีสนับสนุนนักลงทุนชาวญี่ปุ่นที่จะเข้ามาร่วมพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมร่วมกับไทยต่อไป

กระทรวงพลังงาน ร่วมบันทึกเทปถวายพระพรสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี

วันนี้ (17 พ.ค. 64 ) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูง ร่วมบันทึกเทปถวายพระพร สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 3 มิถุนายน 2564 ณ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย NBT

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมการประชุม IEA-COP26 Net Zero Summit ผ่านระบบออนไลน์

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) ได้เข้าร่วมการประชุม IEA-COP26 Net Zero Summit ผ่านระบบออนไลน์ (Virtual Meeting) ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 15 ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ อาคารบี โดยการประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมด้านพลังงานที่จัดขึ้นร่วมกันระหว่างทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) กับรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรในฐานะประธานการประชุม COP26 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีหารือร่วมกันของผู้แทนระดับรัฐมนตรีจากประเทศต่าง ๆ และผู้นำองค์กรระหว่างประเทศในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของโลก
เพื่อมุ่งไปสู่การบรรลุเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเท่ากับศูนย์ (Net zero emission) และการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวบรรยายในช่วง Ministerial Panel 2: Catalysing Near-Term Implementation ร่วมกับรัฐมนตรีพลังงานจากประเทศต่าง ๆ ได้แก่ สวีเดน อินโดนีเซีย บราซิล นอร์เวย์ ลิทัวเนีย และผู้นำองค์กรระหว่างประเทศ เช่น International Renewable Energy Agency (IRENA), African Union Commission, International Atomic Energy Agency (IAEA) และ Hitachi ABB Power Grids เป็นต้น ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวในที่ประชุมว่า ทุกประเทศควรเปลี่ยนความท้าทายด้านพลังงานให้เป็นโอกาส โดยการปฏิวัติระบบพลังงานให้เป็นรูปธรรมและเสริมสร้างความร่วมมือกันระหว่างประชาคมโลกเพื่ออนาคตของภาคพลังงานที่มีความยืดหยุ่น มั่นคง และยั่งยืน ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานอยู่ในระหว่างการจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ (National Energy Plan: NEP) ที่มุ่งเน้นไปสู่การใช้พลังงานสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนซึ่งมุ่งเน้นไปที่การใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ และการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อสร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ภาคประชาชน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวว่า ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC Leader Summit ในปี 2022 ภายใต้แนวคิดหลักคือ “Bio-Circular-Green Economy Model” หรือ BCG Model จึงขอเชิญสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปกเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวที่ประเทศไทยอีกด้วย อีกทั้งกระทรวงพลังงานยังมี     กลยุทธ์ระยะยาวเพื่อนำไปสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ เช่น การขยายการผลิตและการใช้พลังงานที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ การเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า การส่งเสริมการจัดการขยะให้เป็นพลังงาน การส่งเสริมการผลิตและการบริการคาร์บอนต่ำในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การมุ่งไปสู่การเกษตรที่ปลอดการเผาและการเกษตรอัจฉริยะผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล และการใช้เทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน เป็นต้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนในประชาคมโลกเพื่อให้บรรลุการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่พลังงานสะอาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ไฮโดรเจนสะอาด การส่งเสริมเทคโนโลยีจัดเก็บพลังงาน การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCUS) และการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายความตกลงปารีส (Paris Agreement) รวมถึงการลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero emission) ภายในปี 2050

กระทรวงพลังงาน ร่วม กระทรวงอุตสาหกรรม ประชุม EV ชาติ เตรียมออกมาตรการส่งเสริมกระตุ้นใช้รถ EV

ก.พลังงาน ร่วม ก.อุตฯ ประชุม EV ชาติ เตรียมออกมาตรการส่งเสริมกระตุ้นใช้รถ EV

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้ร่วมประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเพื่อกำหนดทิศทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยการลดการใช้รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า(EV) เพื่อก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) และการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า
ในปัจจุบันทั่วโลกต่างตระหนักถึงปัญหาผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
สู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดก๊าซเรือนกระจก จึงทำให้หลายประเทศไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา ประกาศเป้าหมายชัดเจนว่าจะลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ และงดการใช้รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ดังนั้นเพื่อให้ทิศทางการดำเนินงานนโยบายด้านพลังงานของไทยสอดคล้องกับกระแสเทรนด์ของโลก จึงมีนโยบายลดการใช้รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปไปสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

การประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติในวันนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกำหนดแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ผ่านมาผลิตเครื่องยนต์สันดาป ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จึงได้วางเป้าหมายการส่งเสริมการผลิตและการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) โดยคาดการณ์ว่าในปี 2568 รถยนต์ไฟฟ้าจะมีราคาเทียบเท่ากับรถยนต์สันดาป เพื่อก้าวสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ในการดำเนินงานขับเคลื่อนส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงคมนาคม ร่วมกันพิจารณาส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าประกอบด้วย รถยนต์ จักรยานยนต์ และรถบัสสาธารณะ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมทั้งในส่วนของอุปทาน (ผู้ผลิต) โดยเฉพาะการเชื่อมโยงผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องในยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงผลักดันผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ เพื่อเร่งให้เกิดการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยโดยเร็ว โดยมีเป้าหมายการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ารวมทุกประเภทในปี 2568 รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,055,000 คัน โดยแบ่งเป็นรถยนต์/รถปิกอัพ 402,000 คัน รถจักรยานยนต์ 622,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 31,000 คัน และในปี 2578 ให้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนรวม 15,580,000 คัน แบ่งเป็นรถยนต์/รถปิกอัพ 6,400,000 คัน รถจักรยานยนต์ 8,750,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 430,000 คัน และได้วางเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ ในปี 2568 จะมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,051,000 คัน แบ่งเป็นรถยนต์/รถปิกอัพ 400,000 คัน รถจักรยานยนต์ 620,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 31,000 คัน และในปี 2578 ให้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนรวม 18,413,000 คัน แบ่งเป็นรถยนต์/รถปิกอัพ 8,625,000 คัน รถจักรยานยนต์ 9,330,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 458,000 คัน

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้วางนโยบายการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าด้วยมาตรการระยะเร่งด่วนและมาตรการระยะ 1- 5 ปี ดังนี้
มาตรการกระตุ้นการใช้รถ EV ระยะเร่งด่วน โดยจะมุ่งส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั้งประเภทสองล้อ
สามล้อ และสี่ล้อไฟฟ้า โดยวางแผนจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ รวมทั้งส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานแบตเตอรี่และการบริหารจัดการซากแบตเตอรี่ที่เกิดจากการใช้งานภายในประเทศอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมาตรการเหล่านี้ยังอยู่ในระหว่างการศึกษารายละเอียด เพื่อนำผลสรุปมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่อไป
มาตรการกระตุ้นระยะ 1-5 ปี ดำเนินการส่งเสริมการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต การเตรียม
การด้านการบริหารจัดการซากรถยนต์แบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมเป็นหลักตามมาตรฐานสากล พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน (EcoSystem) เพื่อส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาด
พร้อมกันนี้ที่ประชุมยังได้พิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติขึ้น ได้แก่ 1.คณะอนุกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน 2. คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและแบตเตอรี่เพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า 3.คณะอนุกรรมการประเมินผลกระทบด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซเรือนกระจกจากการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า และ 4. คณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้การส่งเสริมการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าดำเนินนโยบายไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมทั้งเกิดการบูรณาการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยให้เป็นรูปธรรมและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นความร่วมมือกันในการเดินหน้านโยบายส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง และนำพาประเทศก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก

และหลังจากการประชุม นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ พร้อมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้ร่วมเดินทางเข้าชมงาน บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 42 (Motor Show 2021) ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งมีค่ายรถยนต์นำรถยนต์ไฟฟ้ามาแสดงและจำหน่ายภายในงานหลากหลายรุ่น โดยได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก

…………………………………

 

กระทรวงพลังงาน ร่วมกับ กกพ. ส่งมอบการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ให้กับ 8 โรงพยาบาลชุมชน

“พลังงาน” จับมือ “สาธารณสุข” “มูลนิธิแพทย์ชนบท” นำร่อง 8 โรงพยาบาลไฟจากฟ้าสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน ตั้งเป้า 77 โรงพยาบาลชุมชน 77 จังหวัดทั่วประเทศ

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ร่วมกับ กระทรวงพลังงาน กระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิแพทย์ชนบท และภาคีเครือข่าย นำร่องส่งมอบการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์กำลังการผลิตโรงพยาบาลละ 100 กิโลวัตต์ ให้กับ 8 โรงพยาบาลชุมชน ในพื้นที่ 8 จังหวัด ภายใต้กิจกรรม“101 วัน จากแสงแรกสู่โรงพยาบาลไฟจากฟ้า” ในแคมเปญ “Clean Energy for Life : ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน” โดยได้รับเกียรติจากรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” พร้อมด้วย ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) “เสมอใจ ศุขสุเมฆ” ร่วมเป็นประธานส่งมอบ และได้รับเกียรติจากรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข “อนุทิน ชาญวีรกุล” พร้อมด้วย นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ กรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบท และตัวแทนจาก 8 โรงพยาบาล เป็นผู้รับมอบ ณ โรงพยาบาลไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า แคมเปญ “Clean Energy for Life ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน” เกิดขึ้นจากการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ตามมาตรา 97 (5) เพื่อต้องการสร้างความตระหนักรู้เรื่องพลังงานสะอาดให้กับประชาชน และสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนหันมาตระหนักเรื่องประโยชน์ของการใช้พลังงานสะอาดในชีวิตประจำวันให้มากขึ้น ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ สำนักงาน กกพ. โดยกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2562 และได้ต่อยอดมาสู่การสร้างโอกาสให้ทุกคนได้เข้าถึงพลังงานสะอาด ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง กกพ. กระทรวงพลังงาน กระทรวงสาธารณสุข และมูลนิธิแพทย์ชนบท ผ่านกิจกรรม “101 วัน จากแสงแรกสู่โรงพยาบาลไฟจากฟ้า ซึ่งจะนำร่องการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับ 8 โรงพยาบาล ในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ โรงพยาบาลไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี โรงพยาบาลบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ โรงพยาบาลอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี โรงพยาบาลขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ โรงพยาบาลย่านตาขาว จังหวัดตรัง โรงพยาบาลหลังสวน จังหวัดชุมพร โรงพยาบาลบ้านบึง จังหวัดชลบุรี และโรงพยาบาลปลวกแดง จังหวัดระยอง โดยระบบผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ที่มีกำลังผลิต 100 กิโลวัตต์ จะสามารถช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของโรงพยาบาลได้ถึงเดือนละประมาณ 60,000 บาท ดังนั้นในระยะเวลา 1 ปี โรงพยาบาลจะสามารถลดภาระค่าไฟฟ้าได้ราว 720,000 บาท โดยแผงโซลาร์เซลล์จะมีอายุการใช้งานประมาณ 25 ปี จึงสามารถช่วยโรงพยาบาลลดภาระค่าไฟฟ้าได้ถึงประมาณ 18 ล้านบาท  ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายจะดำเนินการทั้งหมด 77 โรงพยาบาล 77 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งในอนาคตอาจจะมีการขยายไปพื้นที่อื่นๆ เช่น ชุมชน และ โรงเรียน ในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงการใช้พลังงานสะอาดเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกันตามวัตถุประสงค์ของโครงการต่อไป

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญต่อพลังงานสะอาด และมีความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามความตกลงปารีส หรือ COP 21  ที่มีเป้าหมายจะรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิโลกในยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม สำหรับของประเทศไทย ตาม NDC (Nationally Determined Contribution) ที่เสนอไปนั้น กำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 20-25 หรือจำนวน 111-139 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี 2573 ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยได้มีการขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจและด้านพลังงานให้ตอบโจทย์ทิศทางของโลกและข้อตกลงดังกล่าวอย่างชัดเจน ทั้งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านโมเดล BCG ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจใน 3 ด้าน คือ “ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว” และตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ก็ได้กำหนดเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้ได้ร้อยละ 37 ภายในปี พ.ศ. 2580 โดยจะสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงพลังงานสะอาด ช่วยลดมลพิษทางอากาศ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืนให้กับประเทศ และที่สำคัญเกิดพลังความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนที่สอดประสานกับทิศทางนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวของรัฐบาลและนโยบายการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนของกระทรวงพลังงานเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามข้อตกลงปารีสร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย

นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในแต่ละปีโรงพยาบาลมีภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าจำนวนมาก ซึ่งโครงการความร่วมมือในครั้งนี้ นับเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์อย่างมากในการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้กับโรงพยาบาล และสามารถนำงบประมาณรายจ่ายค่าไฟฟ้าที่เหลือจ่ายจากการจ่ายค่าไฟฟ้าน้อยลงไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ เช่น การซื้ออุปกรณ์การแพทย์ จัดหาเวชภัณฑ์ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์ และสนับสนุนระบบสาธารณสุขของประเทศให้มีความพร้อมทั้งต่อสถานการณ์โควิด-19 และการบริการทั่วไปให้กับประชาชน ให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น อย่างเช่น โรงพยาบาลไทรน้อยซึ่งเป็นหนึ่งใน 8 โรงพยาบาลนำร่องที่ได้รับการสนับสนุนในครั้งนี้ ได้มีเป้าหมายจะนำเงินส่วนต่างของค่าไฟฟ้า ไปดำเนินการจัดหาเตียงไฟฟ้ารองรับผู้ป่วยติดเตียง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น ซึ่งในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็ขอขอบคุณโครงการดีๆ จากสำนักงาน กกพ. ที่สร้างโอกาสความร่วมมือครั้งนี้ขึ้นมาเพื่อช่วยสนับสนุนระบบสาธารณสุขของประเทศในครั้งนี้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีประกาศเจตนารมณ์การจัดการพลังงาน คุณภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อม “Breathe our Future รวมพลังเพื่อลมหายใจแห่งอนาคต”

วันนี้ (4 มีนาคม 2564) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีประกาศเจตนารมณ์การจัดการพลังงาน คุณภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อม “Breathe our Future รวมพลังเพื่อลมหายใจแห่งอนาคต” พร้อมด้วย ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ประธานคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ณ ห้องออดิทอเรียม อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี

ในโอกาสนี้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษ “พลังงานและอากาศ โอกาสชีวิตที่ยั่งยืน” ว่า พลังงานคืออนาคตและโอกาสที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจทำให้เกิดการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง เป็นโอกาสต่อยอดในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนั้น สิ่งที่กระทรวงพลังงาน และ กฟผ. ตระหนักและให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจึงไม่ใช่แค่ความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสร้างโอกาสในการใช้ชีวิตให้ครบทุกมิติและสร้างความสุขให้ชีวิตคนไทย ซึ่งที่ผ่านมาคนไทยเคยร่วมมือกันสร้างก้าวย่างที่สำคัญในการอนุรักษ์พลังงานผ่านโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 และในครั้งนี้จึงอยากเชิญชวนคนไทยให้มาร่วมมือกันอีกครั้งเพื่อสร้างพลังงานและอากาศที่บริสุทธิ์ด้วยกัน

ด้านนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า จากอดีตถึงปัจจุบัน กฟผ. มุ่งมั่นสร้างพลังแห่งความสุข ทั้งการดูแลความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศที่ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ การดูแลชุมชนให้อยู่ดีมีสุข รวมถึงการดูแลคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมผ่านเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมให้มีการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพผ่านโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 และโครงการห้องเรียนสีเขียว รวมทั้งดูแลสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการปลูกป่า รักษาและลดการเผาป่า โดยจะต่อยอดการดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นภายใต้แนวคิด EGAT Air TIME ประกอบด้วย
– T (Tree) การเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อเพิ่มการดูดซับอากาศเสีย สร้างอากาศบริสุทธิ์ ผ่านโครงการปลูกป่า สร้างฝาย รวมไปถึงการดำเนินงานจิตอาสาป้องกันไฟป่า ลดการเผาป่า
– I (Innovation) การพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมการจัดการคุณภาพอากาศ ส่งเสริมเทคโนโลยีด้านการผลิตและใช้พลังงานสะอาด อาทิ โครงการโซลาร์ลอยน้ำ ยานยนต์ไฟฟ้า
– M (Monitoring) ระบบตรวจวัดและแสดงผลคุณภาพอากาศด้วยแอปพลิเคชันรูปแบบต่างๆ เพื่อให้คนรู้และตระหนักนำไปสู่การปรับพฤติกรรม ด้วยการติดตั้งจุดตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ชุมชนรอบ กฟผ. และเครือข่ายห้องเรียนสีเขียว
– E (Education & Engagement) การส่งเสริมองค์ความรู้ สร้างทัศนคติในการจัดการพลังงาน คุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม ผ่านโครงการห้องเรียนสีเขียว ศูนย์เรียนรู้ กฟผ. รวมทั้งจัดกิจกรรมเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน
โดยในปี 2564 กฟผ. มีแผนการติดตั้งจุดตรวจวัดฝุ่นละอองจำนวน 200 จุด ในพื้นที่ชุมชนรอบโรงไฟฟ้า เขต เขื่อนของ กฟผ. เครือข่ายห้องเรียนสีเขียว และสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พร้อมทั้งจัดกิจกรรมชาเลนจ์ “EGATลดละรอดปลอดฝุ่น”ชวนคนไทยแชร์ไอเดียลดฝุ่น พร้อมติดแฮชแท็ก #EGATลดละรอดปลอดฝุ่น #รวมพลังเพื่อลมหายใจแห่งอนาคต #EGATforALL ตั้งแต่ 12 – 30 มีนาคม 2564 ผ่านช่องทาง Facebook และ Instagram พร้อมส่งคำท้าไปยังเพื่อนอีก 5 คน เพื่อรวมพลังคนไทยร่วมรณรงค์สร้างอากาศบริสุทธิ์ด้วยกัน

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่สำคัญและส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาคุณภาพอากาศ และฝุ่น PM-2.5 ซึ่งพบแนวโน้มการเพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สำหรับการลงนามบันทึกความร่วมมือในวันนี้จะเป็นการบูรณาการในด้านการพัฒนาระบบฐานข้อมูล เพื่อสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ในการคาดการณ์มลพิษทางอากาศ และสร้างเครื่องมือสำหรับให้บริการข้อมูลในการติดตามสถานการณ์มลพิษทางอากาศ เพื่อแจ้งเตือนให้กับประชาชนได้รับทราบสถานการณ์ปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ มีความยินดียิ่งที่ได้ร่วมลงนามความร่วมมือในวันนี้ และพร้อมสนับสนุนข้อมูลคุณภาพอากาศจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ และการดำเนินงานในมิติต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM-2.5 ให้พี่น้องประชาชน

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า GISTDA ให้ความสำคัญกับการพัฒนาแบบจำลองในการพยากรณ์คุณภาพอากาศ และการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับ PM-2.5 ตามภารกิจซึ่งมุ่งเน้นให้เกิดคุณค่าแก่สังคม โดยการใช้ข้อมูลภาพจากดาวเทียม และการร่วมมือกันครั้งนี้ถือเป็นความท้าทายที่ทุกหน่วยงานจะร่วมกันลดจุดอ่อน เพิ่มจุดแข็ง สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการรับรู้สถานการณ์ การเฝ้าระวัง เตรียมตัวและพร้อมรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ GISTDA จะร่วมมือกับพันธมิตรเครือข่ายที่รับผิดชอบ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชนให้ดียิ่งขึ้นด้วยนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่เหมาะสมและสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย

ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้นำองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคมเพื่อความยั่งยืน โดยจะร่วมศึกษา ออกแบบ และพัฒนาแบบจำลองการวิเคราะห์และการคาดการณ์ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM-2.5) รวมถึงประยุกต์ใช้ข้อมูลและการคาดการณ์ฝุ่น PM-2.5 ร่วมกับข้อมูลดาวเทียม เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ และเทคโนโลยี Machine Learning ตลอดจนเชื่อมโยงข้อมูลปริมาณฝุ่นละอองและคุณภาพอากาศเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลเปิด (open data) การแสดงผลผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน เพื่อรายงานผลคุณภาพอากาศและการแจ้งเตือนอัตโนมัติกรณีเข้าพื้นที่ที่คุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐาน

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นำคณะผู้บริหารระดับสูง เข้าถวายแจกันดอกไม้และลงนามถวายพระพร กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

วันนี้ (15 ม.ค. 64) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน นำคณะผู้บริหารระดับสูง เข้าถวายแจกันดอกไม้และลงนามถวายพระพร สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขอให้ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์หายจากพระอาการประชวรโดยเร็ววัน ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง

รมว.พน. ลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.อุดรธานี หนุนกองทุนหมู่บ้าน

“สุพัฒนพงษ์” ลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.อุดรธานี
หนุนกองทุนหมู่บ้าน พร้อมยกระดับมาตรฐานตู้น้ำมันหยอดเหรียญใช้กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.อุดรธานี ชมการบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้าน บ้านท่าสี อ.หนองแสง ปลื้มตู้น้ำมันหยอดเหรียญสร้างกำไร เพิ่มคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำและเป็นพลังงานที่ทุกคนเข้าถึงได้ หวังยกระดับสร้างมาตรฐานความปลอดภัยและคุณภาพน้ำมัน เชื่อเป็นอีกหนึ่งโมเดลกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก
วันนี้ (9 ธ.ค. 63) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่ตรวจราชการ จังหวัดอุดรธานี โดยภารกิจหนึ่งคือตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้านท่าสี หมู่ 3 ต.แสงสว่าง อ.หนองแสง ที่มีสมาชิก 143 คน มีทุนหมุนเวียนกว่า 4.6 ล้านบาท ซึ่งกองทุนดังกล่าวมีการบริหารงานในงบลงทุนโครงการเพื่อสร้างผลกำไร ออกเป็น 4 โครงการสำคัญ คือ 1.ตู้น้ำมันหยอดเหรียญ 2.ตู้เติมเงิน 3.ร้านค้าประชารัฐ และ 4.กองทุนปุ๋ย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิกในโครงการและประชาชนในหมู่บ้าน ซึ่งมีผลประกอบการที่น่าพอใจ คือโครงการตู้นำมันหยอดเหรียญที่สามารถสร้างผลกำไรในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา เป็นเงินมากกว่า 100,000 บาท
โดยในส่วนของการประกอบกิจการตู้น้ำมันหยอดเหรียญนั้น ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นสถานีบริการน้ำมันประเภทหนึ่งเรียกว่าสถานีบริการน้ำมันประเภท ง โดยส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในชุมชนที่มีพื้นที่อยู่ไกลจากสถานีบริการน้ำมันหลัก ให้บริการคนในพื้นที่ เกษตรกร หรือนักท่องเที่ยวที่เดินทางสัญจรไปมา ซึ่งปัจจุบันภาครัฐได้มีการส่งเสริมให้เกิดการยกระดับปั๊มน้ำมันหยอดเหรียญทั้งในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยและคุณภาพน้ำมัน เพื่อหวังเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก สร้างงาน สร้างอาชีพให้เกิดความยั่งยืนในชุมชน สำหรับ ตู้น้ำมันหยอดเหรียญนั้นภายในจะมีอุปกรณ์ไฟฟ้าซึ่งจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย สถานที่ตั้งตู้น้ำมันหยอดเหรียญ จะต้องเป็นไปตามกฎหมายกำหนด และที่สำคัญก่อนจะประกอบกิจการจะต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยในเขตกรุงเทพมหานครแจ้งต่อกรมธุรกิจพลังงาน ในต่างจังหวัดแจ้งต่อองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(เทศบาล,อบต.) และจะต้องจดทะเบียนหัวจ่ายตามมาตรา11 ที่สำนักงานพลังงานจังหวัด ซึ่งการประกอบกิจการจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามกฏหมายเพื่อความปลอดภัย
“ผมยินดีที่ภาคพลังงาน อย่างสเกลเล็กๆแบบตู้น้ำมันหยอดเหรียญนี้ ได้เข้ามามีส่วนในการสร้างเม็ดเงิน ต่อยอดกองทุนหมู่บ้านได้ อำนวยความสะดวกให้กับชุมชนและเกษตรกรได้เข้าถึงพลังงานอย่างทั่วถึง ซึ่งที่ผ่านมาได้รับรายงานว่าตำบลหรือหมู่บ้านที่ได้รับจัดสรรงบประมาณก็มีการรวมตัวกันเพื่อจัดหาตู้น้ำมันหยอดเหรียญมาให้บริการสมาชิกในตำบล หรือหมู่บ้าน เนื่องจากชาวบ้านเห็นร่วมกันว่าเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกในพื้นที่ และยังสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ในส่วนของกระทรวงพลังงานจะพยายามยกระดับสร้างมาตรฐานของตู้น้ำมัน ให้มีความปลอดภัย มีคุณภาพให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมอบหมายกรมธุรกิจพลังงานและสำนักงานพลังงานจังหวัดทั่วประเทศเข้าไปดูแล ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัย 2 ครั้งต่อปี” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

กระทรวงพลังานร่วมพิธีทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล และพิธีวางพานพุ่ม เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

วันนี้ (5 ธ.ค. 63) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมในพิธีทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล และพิธีวางพานพุ่ม เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2563 ณ ท้องสนามหลวง

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้การต้อนรับคณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา – อาเซียน (US ASEAN Business Council: USABC)

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 กระทรวงพลังงานนำโดยนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment: BOI) และ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ร่วมหารือกับคณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา – อาเซียน (USABC) โดยนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ได้ให้การต้อนรับคณะนักธุรกิจเป็นอย่างดี และแสดงความยินดีในการเข้าพบหารือและได้กล่าวเชิญชวนให้คณะนักลงทุนสหรัฐเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยนักธุรกิจด้านพลังงานสหรัฐบริษัท อาทิ Chevron, Guardian Industry, Dow, Conoco Philips เป็นต้น ได้แสดงความยินดีในการลงทุนทางด้านพลังงานและพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับกระทรวงพลังงานในด้านต่าง ๆ รวมทั้งเรียนรู้การแลกเปลี่ยนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางด้านพลังงานเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานของไทย และกล่าวชื่นชมในการรับมือกับสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความเชื่อมั่นและสามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย และสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้โดยเร็ว พร้อมกันนี้ BOI ก็ได้นำเสนอนโยบายที่จัดทำขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย อาทิ การจัดตั้ง International Business Center (IBC) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับข้อมูลการลงทุนในประเทศไทย กฎระเบียบ และการชำระภาษีทางธุรกิจต่าง ๆ และมาตรการ Smart Visa เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนที่เดินทางมาประเทศไทยเพื่อการทำงาน

     

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.ภูเก็ต เยี่ยมชมการบริหารจัดการขยะมูลฝอยจังหวัดภูเก็ตเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.ภูเก็ต เยี่ยมชมการบริหารจัดการขยะมูลฝอยจังหวัดภูเก็ตเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า หนุนการส่งเสริมผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนตามแผน AEDP 2018

วันนี้ (2 พ.ย. 63) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่ตรวจราชการ จังหวัดภูเก็ต เยี่ยมชมกระบวนการผลิตไฟฟ้าของศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยจังหวัดภูเก็ต เทศบาลนครภูเก็ต ซึ่งการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของภูเก็ตในปีงบประมาณ 2563 มีขยะมูลฝอยเข้าสู่ศูนย์กำจัดขยะฯ เฉลี่ย 833 ตัน/วัน ซึ่งลดลง 13.5% เมื่อเทียบกับปีงบประมาณก่อนหน้านี้ โดยจะเป็นขยะที่คัดแยกเบื้องต้นจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 3 อำเภอในจังหวัดภูเก็ต ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอกะทู้ และอำเภอถลาง และนำมากำจัดโดยการเผาในเตาซึ่งจะได้พลังงานความร้อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ส่วนขยะทั่วไปจะนำไปฝังกลบตามหลักสุขาภิบาล
ทั้งนี้ มีโรงเตาเผาขยะมูลฝอย 2 โรง โดยโรงเตาเผาขยะมูลฝอยชุมชน 1 เป็นเตาเผาที่กรมโยธาธิการและผังเมืองถ่ายโอนให้เทศบาลนครภูเก็ตดูแล งบประมาณ 788 ล้านบาท กำลังผลิตไฟฟ้าสูงสุด 2.5 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้า 144 หน่วย/ตันขยะ ปัจจุบันหยุดการดำเนินการ อยู่ระหว่างเสนอขออนุมัติให้เอกชนร่วมดำเนินการ ส่วนอีกโรงเป็นเตาเผาที่บริษัท พีเจทีเทคโนโลยี เป็นผู้รับสัญญาดำเนินการตั้งแต่ปี 2555 งบประมาณ 994 ล้านบาท กำลังผลิตไฟฟ้าสูงสุด 12 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้า 350 หน่วย/ตันขยะ
“กระทรวงพลังงานจะสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะ โดยกำหนดให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะถึง 400 เมกะวัตต์ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า(PDP2018 rev.1) ซึ่งจะเตรียมการออกมาตรการรับซื้อไฟฟ้า Feed-in Trariff ภายในปี 2564 เพื่อให้สามารถรับซื้อได้ภายในปี 2565 ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยกระทรวงพลังงานเห็นว่านอกจากจะเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแล้ว ยังจะช่วยในเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีปัญหาเรื่องการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม”นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

 

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาในพิธีเปิดการประชุม 2nd Global Ministerial Conference on System Integration of Renewables

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2563 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ให้เกียรติกล่าวปาฐกถาในพิธีเปิด (Opening Keynote Address) การประชุม 2nd Global Ministerial Conference on System Integration of Renewables ภายใต้งาน Singapore International Energy Week 2020 ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจัดขึ้นโดยกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม ประเทศสิงคโปร์ ร่วมกับทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (The International Energy Agency, IEA) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอนโยบายของผู้นำด้านพลังงานในระดับโลกและเป็นเวทีสำหรับภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงภาควิชาการที่จะร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ด้านพลังงานในแต่ละภูมิภาค และสถานการณ์ด้านพลังงานปัจจุบันของโลกที่สำคัญ โดยมีแนวคิดสำหรับการจัดงานประชุมคือ “Creating our low carbon energy future together” ที่มุ่งเน้นการหารือกับทุกภาคส่วนในการสนับสนุนการใช้ระบบพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยประเทศสิงคโปร์ได้แสดงวิสัยทัศน์ในการก้าวสู่ความเป็นผู้นำด้านพลังงานในภูมิภาค โดยเฉพาะในการผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการผลักดันแผนความร่วมมือด้านพลังงานในกรอบอาเซียน อาทิ การซื้อขายไฟฟ้าพหุภาคี รวมถึง แสดงความมุ่งมั่นในการพัฒนาปัจจัยแวดล้อมของอาเซียนให้เหมาะสมต่อการค้าการลงทุนด้านพลังงาน และการพัฒนาโครงการด้านพลังงานสะอาดให้เกิดขึ้นอย่างเป้นรูปธรรมต่อไป

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้รับเกียรติให้กล่าวปาฐกถาเปิดงานในประเด็นการให้ความสำคัญของพลังงานสะอาดในยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานภายหลังสถานการณ์โควิด-19 โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการจัดหาพลังงานที่มีความมั่นคง ราคาเข้าถึงได้และมีความยั่งยืน ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ขับเคลื่อนนโยบายเพื่อตอบสนองยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านพลังงานผ่านแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2018) ในการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ รวมถึงนโยบาย “พลังงานเพื่อทุกคน” (Energy for All) ที่ส่งเสริมให้ภาคประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าใช้ได้เองในภาคครัวเรือนโดยการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพและชีวมวล รวมถึงการสนับสนุนแผนการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะระดับชาติ (National Smart Grid Program) ในการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่นและเชื่อถือได้ เพื่อลดการสูญเสียพลังงานไฟฟ้าในระบบและสามารถบูรณาการพลังงานหมุนเวียนเข้าสู่ระบบได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพอีกด้วย นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังได้กล่าวแสดงความขอบคุณ IEA สำหรับการสนับสนุนบทบาทของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพอาเซียนในปีที่ผ่านมา โดยข้อเสนอแนะของ IEA จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน (RE Integration to grid) โดยในช่วงท้ายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยังได้กล่าวยืนยันท่าทีของประเทศไทยที่มุ่งมั่นในการพัฒนาไปสู่ยุคแห่งพลังงานสะอาดและพร้อมที่จะดำเนินกิจกรรมความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศสิงคโปร์และ IEA ในอนาคตต่อไป

กระทรวงพลังงานสรุปผลการดำเนินงาน โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานในโรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ในพระราชูปถัมภ์ฯ

กระทรวงพลังงานสรุปผลการดำเนินงาน โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานในโรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ในพระราชูปถัมภ์ฯ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยได้จัดกิจกรรม “จิตอาสาพลังงาน เราทำความดีด้วยหัวใจ” และสนับสนุนงบประมาณปรับเปลี่ยนติดตั้งอุปกรณ์ประหยัดพลังงานเกิดการประหยัดค่าพลังงานรวมมากกว่า7.7แสนหน่วย/ปี คิดเป็นเงินราว 3.24 ล้านบาท/ปี

วันนี้ (22 ต.ค.63) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานกล่าวแถลงผลการดำเนินงาน โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานในโรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ในพระราชูปถัมภ์ฯ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ว่า กระทรวงพลังงานได้ดำเนินโครงการดังกล่าวเพื่อเป็นกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานทดแทนในสถานศึกษาส่งเสริมให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ด้านพลังงานและนำความรู้ที่ได้ขยายผลสู่บ้านและชุมชนโดยเริ่มโครงการกับกลุ่มโรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ในพระราชูปภัมถ์ฯ 6 แห่งที่เป็นอาคารสถานศึกษาเปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมปลาย ซึ่งส่วนใหญ่ลักษณะการใช้พลังงานยังไม่มีประสิทธิภาพเพราะอุปกรณ์ไฟฟ้าส่วนใหญ่สภาพเก่าขาดการบำรุงรักษา

กระทรวงพลังงานได้ส่งเสริมโครงการนี้โดยร่วมกับหน่วยงานในสังกัดดำเนินการผ่านการจัดกิจกรรม“จิตอาสาพลังงาน เราทำความดีด้วยหัวใจ” อาทิ การให้ความรู้รณรงค์การประหยัดพลังงานโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน การให้ความรู้การใช้ก๊าซหุงต้มอย่างปลอดภัยให้โรงเรียนและชุมชน โดยกรมธุรกิจพลังงาน การถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับปิโตรเลียม โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ การให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ พร้อมกับสร้าง“ห้องเรียนสีเขียว”เพื่อสร้างทัศนคติการใช้ไฟฟ้า รู้คุณค่าและรักษาสิ่งแวดล้อม โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและนิทรรศการเคลื่อนที่เปิดโลกปิโตรเลียม โดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังได้สนับสนุนงบประมาณสำหรับโรงเรียนในการปรับเปลี่ยนและติดตั้งอุปกรณ์ประหยัดพลังงานให้กับโรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ในพระราชูปถัมภ์ฯ โดยเปลี่ยนหลอดไฟ LED 5,751 หลอด เปลี่ยนเครื่องปรับอากาศเก่าเป็นแบบประหยัดไฟระบบ Invertor 144 เครื่อง ติดตั้งเครื่องปรับอากาศระบบ VRF 19 ระบบ ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ 270.08 กิโลวัตต์ พร้อมระบบบริหารจัดการพลังงาน Internet of Things ในโรงเรียน ซึ่งทำให้เกิดการประหยัดพลังงานและสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานอย่างเป็นรูปธรรมโดยแต่ละโรงเรียนสามารถลดได้มากกว่า 40% มีผลประหยัดรวมกันกว่า 772,830 หน่วย/ปี คิดเป็นเงิน 3,245,886 บาท/ปี

“จากความสำเร็จของโครงการที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานจะมีการดำเนินโครงการต่อเนื่องในการจัดกิจกรรมและสนับสนุนงบประมาณการปรับเปลี่ยนและติดตั้งอุปกรณ์ประหยัดพลังงานให้กับโรงเรียนในกลุ่มพระราชูปถัมภ์ อีกจำนวน 9 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งมีนักเรียนรวมกันกว่า 9,000 คน และชุมชนโดยรอบโรงเรียนต่อไป” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าว

กระทรวงพลังงาน ร่วมสืบสานราชประเพณีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2563 ณ จังหวัดกาญจนบุรี

กระทรวงพลังงาน ร่วมสืบสานราชประเพณีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2563 ณ จังหวัดกาญจนบุรี

วันนี้ (17 ตุลาคม 2563) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นำคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน ร่วมถวายผ้าพระกฐินพระราชทานประจำปี 2563 ณ วัดไชยชุมพลชนะสงคราม พระอารามหลวง อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี

การถวายผ้าพระกฐินพระราชทานเป็นพิธีตามราชประเพณีที่สืบต่อกันมา โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน ผ้าพระกฐินให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กร สมาคม มูลนิธิ บริษัทห้างร้าน และประชาชนทั่วไป ที่มีจิตศรัทธานำไปถวายพระสงฆ์ที่จำพรรษา ในพระอารามหลวงทั่วประเทศ ซึ่งกรมการศาสนาในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้ออกประกาศเชิญชวนให้รับทราบ และที่ผ่านมากระทรวงพลังงาน ได้ขอรับพระราชทานผ้าพระกฐินเป็นประจำต่อเนื่องทุกปี โดยในปีนี้ได้นำผ้ากฐินพระราชทานมาถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษา รวมเป็นจำนวนเงิน 1,936,254.75 บาท และถวายชุดรางไฟพร้อมหลอดไฟ จำนวน 100 หลอด

พร้อมกันนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังได้มอบทุนการศึกษา และเงินบำรุงโรงเรียนให้กับ 5 สถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ได้แก่ โรงเรียนวิสุทธรังษี ศูนย์เด็กเล็กวัดไชยชุมพลชนะสงคราม โรงเรียนอนุบาลวัดไชยชุมพลชนะสงคราม โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดไชยชุมพลชนะสงคราม และมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานให้การต้อนรับกรรมาธิการพลังงาน สส. เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นการขับเคลื่อนนโยบายพลังงาน

วันนี้ (15 ตุลาคม 2563) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานและผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพลังงาน ร่วมต้อนรับนายกิตติกร โล่ห์สุนทร ประธานกรรมาธิการพลังงาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและคณะ ในโอกาสเข้าหารือราชการเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประเด็นพลังงานที่สำคัญ ณ ห้องบัญชาการยุทธศาสตร์ กระทรวงพลังงาน
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวชื่นชมผลการศึกษาด้านนโยบายพลังงานของอนุกรรมาธิการพลังงาน สส. และกล่าวถึงการมุ่งขับเคลื่อนนโยบายพลังงานของรัฐบาลให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ได้แก่ ผลักดันโรงไฟฟ้าชุมชนร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างแท้จริง การกำหนดเป้าหมายยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้ชัดเจนร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม การส่งเสริมกิจกรรมเศรษฐกิจท้องถิ่น สร้างงาน สร้างรายได้ ด้วยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานพ.ศ. 2564 อย่างสมดุล และการพัฒนาการเป็นศูนย์กลางการซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาคของไทย
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการพลังงานให้ความสนใจเพิ่มเติมในประเด็นการปรับโครงสร้างราคาพลังงานเพื่อชี้แจงการผูกขาดราคาน้ำมัน การส่งเสริมโรงไฟฟ้าขยะ การสนับสนุนโซลาร์หลังคาแก่โรงพยาบาลชุมชน และเน้นย้ำให้เกิดการกระจายงบประมาณกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานแก่ท้องถิ่นอย่างทั่วถึง

กระทรวงพลังงาน ร่วมพิธีบำเพ็ญกุศลและพิธีถวายบังคม เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต 13 ต.ค. 63

วันนี้ (13 ต.ค. 63) เวลา 07.30 น. นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมในพิธีทำบุญตักบาตร พระสงฆ์ จำนวน 89 รูป ถวายพระราชกุศล เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จากนั้นเวลา 08.30 น. ร่วมพิธีวางพวงมาลา และถวายบังคม เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อแสดงออกซึ่งความจงรักภักดี และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ณ ท้องสนามหลวง

       

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “Thailand Clean Energy Network 2020”

กฟผ. จัดงาน Thailand Clean Energy Network 2020 ผนึกกำลังร่วมกับภาคีเครือข่ายผู้ผลิตไฟฟ้า ประสานความร่วมมือขับเคลื่อนมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมาย Nationally Determined Contribution (NDC) ผ่านมาตรการการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคผลิตไฟฟ้า และการส่งเสริมการซื้อขายเครดิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC)

วันนี้ (8 ตุลาคม 2563) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “Thailand Clean Energy Network 2020” โดยมี มร.เคส พิเทอร์ ราเดอ (H.E. Mr.Kees Pieter Rade) เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เครือข่ายการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคผลิตไฟฟ้า ผู้แทนบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) และขนาดเล็ก (SPP) ทั้งในและต่างประเทศ ผู้แทนบริษัทเอกชน และแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมงานกว่า 170 คน ณ ห้องบอลรูม โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ประเทศไทยมีเป้าหมายท้าทายยิ่งขึ้นสำหรับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในปีนี้ที่เข้าสู่ข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Nationally Determined Contribution : NDC) จึงถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ที่วันนี้ กฟผ. ได้พัฒนากลไกใบรับรองเครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate) หรือ REC ขึ้นมา โดยกลไกดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศมากยิ่งขึ้น ช่วยกระตุ้นให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจก และยังเป็นอีกกลไกที่จะนำประเทศไทยไปสู่การบรรลุเป้าหมายระดับชาติ เพื่อให้คนไทยได้ใช้พลังงานสะอาดและยั่งยืน

ด้านนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายผู้ผลิตไฟฟ้าดำเนินมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคผลิตไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 ที่ผ่านมา ได้นำผลการลดก๊าซเรือนกระจกทั้งของ กฟผ. และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (IPP) มารวมกันซึ่งสามารถลดก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึง 10.03 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งผลจากความร่วมมือนี้ กฟผ. อยู่ระหว่างการนำส่งให้กระทรวงพลังงานเพื่อรวมเป็นส่วนหนึ่งของการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน เพื่อช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตามแผนการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ หรือ NAMA ทั้งนี้การผนึกกำลังเป็นเครือข่าย Thailand Clean Energy Network จะส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศ อันจะนำไปสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำต่อไป

ภายในงาน กฟผ. ยังได้เปิดตัวธุรกิจซื้อขายใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC) รวมทั้งการให้บริการรับรอง REC ที่ กฟผ. ได้รับสิทธิ์จาก The International REC Standard (I-REC) ให้เป็นผู้รับรอง REC แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย โดยคาดว่าธุรกิจ REC จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศ เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของสหประชาชาติอย่างเป็นรูปธรรม

รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธานในงานวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงพลังงาน ประจำปี 2563

18 ปี วันสถาปนากระทรวงพลังงาน มอบเกียรติบัตรข้าราชการดีเด่น พร้อมสมทบทุนบริจาคสภากาชาดไทย จัดซื้อเครื่องมือแพทย์ เพื่ออาคารศรีสวรินทิรานุสรณ์ 150 ปี โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา
วันนี้ (5 ต.ค. 63) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธานในงานวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงพลังงาน ประจำปี 2563 ซึ่งในปีนี้ถือเป็นปีที่ 18 โดยมีผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ และหน่วยงานด้านพลังงาน เข้าร่วมงาน
สำหรับกิจกรรมที่สำคัญในวันนี้ ได้แก่ พิธีสักการะพระพรหม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำศูนย์เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของกระทรวงพลังงาน โดยประธานในพิธีได้นำจุดธูปเทียน ถวายพวงมาลัย และเครื่องสักการะพระพรหม พร้อมสักการะพระพรหมทั้ง 4 ทิศ และลำดับถัดมาในพิธีสงฆ์ ประธานในพิธีได้นำคณะผู้บริหาร และผู้ร่วมงานทั้งหมด ร่วมพิธีการอาราธนาศีล อาราธนาพระปริตร ถวายเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์ และร่วมพิธีกรวดน้ำ รับพร และพระสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ผู้ร่วมงานทุกคน
พร้อมกันนี้ ได้จัดพิธีมอบโล่เชิดชูเกียรติ โดยรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มอบเกียรติบัตรและเข็มเชิดชูเกียรติให้กับข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี 2562 จำนวน 6 ราย จากสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมธุรกิจพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน
ทั้งนี้ ในโอกาสวันสถาปนากระทรวงพลังงานครบรอบ 18 ปี กระทรวงพลังงานได้ประกาศงดรับกระเช้าและของขวัญต่าง ๆ ในการแสดงความยินดี ขอให้เปลี่ยนเป็นการร่วมกันสมทบทุนบริจาคเงินให้แก่สภากาชาดไทยสำหรับจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ เพื่ออาคารศรีสวรินทิรานุสรณ์ 150 ปี โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยประธานในพิธีได้เป็นผู้รับมอบเงินสมทบทุนจากหน่วยงานต่าง ๆ จำนวน 432,350 บาท ซึ่งนอกจากจะเป็นการแสดงความยินดีร่วมกันแล้ว ยังเป็นการสร้างกุศลครั้งสำคัญร่วมกับสภากาชาดไทย อีกด้วย

กระทรวงพลังงานและหน่วยงานในสังกัด เข้าร่วมเปิดบูธรับสมัครตำแหน่งงานในมหกรรมการจัดหางาน Job Expo Thailand 2020

พลังงานร่วมใจ สร้างไทยสร้างชาติ’ ยกบูธร่วมงาน Job Expo เปิดอัตราว่างหน่วยงานกระทรวงพลังงานกว่า 6,000 อัตรา และธุรกิจพลังงานภาคเอกชนอ้าแขนรับกว่า 20,000 อัตรา เชื่อช่วยการจ้างงานกระตุ้นเศรษฐกิจ

วันนี้ (26 ก.ย.63) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เกียรติ เยี่ยมชมบูธ “พลังงานร่วมใจ สร้างไทยสร้างชาติ” รับสมัครตำแหน่งงานของหน่วยงานในกระทรวงพลังงาน โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงพลังงานร่วมให้การต้อนรับ   ในโอกาสที่กระทรวงพลังงานและหน่วยงานในสังกัด ทั้งสำนักปลัดกระทรวงฯ พพ. สกพ. กฟผ. ปตท.เข้าร่วมเปิดบูธรับสมัครตำแหน่งงานรวมกว่า 6,000 อัตรา ในมหกรรมการจัดหางาน Job Expo Thailand 2020 ที่ศูนย์ฯการประชุมไบเทค ระหว่างวันที่ 26-28 กันยายนนี้

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า งานมหกรรมการจัดหางาน Job Expo Thailand 2020 เป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและลดปัญหาด้านแรงงานจากผลกระทบสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 โดยในงานครั้งนี้ กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานภายใน ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมจัดงานภายใต้แนวคิด “พลังงานร่วมใจ สร้างไทยสร้างชาติ”

โดยจะเปิดบูธรับสมัครงานเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาว่างงานรวมถึงบันฑิตเพิ่งจบใหม่ให้มีงานทำและมีรายได้ในการเลี้ยงชีพ จำนวนรวม 3,187 อัตรา แบ่งเป็นการเปิดรับสมัครจากสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน 23 อัตรา กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) 68 อัตรา สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) 39 อัตรา บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)และบริษัทในเครือ 2,964 อัตรา และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัทในเครืออีก 93 อัตรา และอยู่ในระหว่างการจัดจ้างตำแหน่งงานเพิ่มอีก 3,000 อัตราในไตรมาสแรกของปี2564 ซึ่งจะประกาศลงใน www.ไทยมีงานทำ.com ต่อไป ซึ่งในงานดังกล่าวจะมีเจ้าหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานแจ้งข้อมูลรายละเอียดการเปิดรับสมัครในทุกตำแหน่ง   ในระหว่างวันที่ 26 – 28 กันยายน 2563 ในงาน Job Expo Thailand 2020 บูธหมายเลข 527-528  ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

“การผลักดันให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพให้ประชาชน มีรายได้ในการเลี้ยงชีพ ถือเป็นรากฐานสำคัญที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งก็ต้องขอบคุณภาคเอกชนด้านพลังงานด้วยที่มียอดการรับสมัครงานสูงถึงกว่า20,000ตำแหน่ง ส่วนกระทรวงพลังงานเองขอร่วมเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่กระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชน เพื่อร่วมกันข้ามผ่านสถานการณ์โควิด-19 ไปด้วยกัน หากผู้ใดสนใจร่วมงานก็สามารถขอข้อมูลได้ที่บูธ “พลังงานร่วมใจ สร้างไทยสร้างชาติ”ภายในงาน Job Expo Thailand 2020 ที่ไบเทค บางนา” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว

ก.พลังงาน เตรียมความพร้อมรับมือพายุ “โนอึล” มั่นใจไฟฟ้า-น้ำมัน ไม่กระทบประชาชน

รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ สั่งการหน่วยงานด้านพลังงาน ในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เตรียมความพร้อมรับมือพายุ “โนอึล” เชื่อมั่นความพร้อมทั้งด้านไฟฟ้า น้ำมันมีศักยภาพเพียงพอในการให้บริการประชาชน
ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาเรื่องพายุระดับ 3 (โซนร้อน) โนอึล บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 170 กิโลเมตร ทางด้านตะวันออกของเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม และจะเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งประเทศเวียดนาม และเริ่มเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยด้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากและมีลมแรงในหลายพื้นที่ ซึ่งในด้านของกระทรวงพลังงานได้เตรียมการเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจส่งกระทบต่อด้านพลังงานทั้งด้านไฟฟ้าและน้ำมัน
รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดบูรณาการความร่วมมือด้านพลังงานร่วมกันในการป้องกันผลกระทบจากพายุโนอึล โดยในด้านไฟฟ้า ได้มอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เตรียมความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและมาตรการป้องกันผลกระทบต่อประชาชนครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ ด้านระบบส่งไฟฟ้า ได้มีการจัดเตรียมเจ้าหน้าที่เฉพาะกิจเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดเตรียมเสาไฟฟ้าชั่วคราวและอุปกรณ์ที่จำเป็นไว้รองรับกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ด้านความมั่นคงแหล่งผลิตไฟฟ้าและเชื้อเพลิง ได้มีการประสานเตรียมความพร้อมด้านเชื้อเพลิงที่เพียงพอ ด้านโรงไฟฟ้าและการรองรับน้ำในเขื่อนของ กฟผ. ได้มีการเตรียมความพร้อมบุคลากรด้านการผลิตและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า พร้อมทั้งได้มีการตรวจสอบความพร้อมของเขื่อนทุกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากพายุดังกล่าว ได้แก่ เขื่อนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย เขื่อนน้ำพุง เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนสิรินธร รวมถึงเขื่อนในภาคเหนือที่อาจได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เพื่อให้การผลิตไฟฟ้าเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมไฟฟ้าในประเทศ ด้านการสนับสนุนช่วยเหลือผู้ประสบภัย ได้มีการเตรียมจัดถุงยังชีพช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างทันที
สำหรับด้านน้ำมันเชื้อเพลิง บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ มีมาตรการในการป้องกันและตรวจสอบอุปกรณ์และระบบถังเก็บน้ำมันใต้ดินที่สถานีบริการน้ำมันให้อยู่ในสภาพที่ดีอยู่เสมอ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิงที่สถานีบริการน้ำมัน ว่าเป็นไปตามมาตรฐาน ไม่มีน้ำปนเปื้อน รวมถึงให้พนักงานเตรียมพร้อมรับมือตามแนวปฏิบัติในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินที่สถานีบริการน้ำมันเพื่อความปลอดภัยสูงสุดสำหรับผู้บริโภค
นอกจากนี้ สำนักงานพลังงานจังหวัดในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศจะเตรียมการร่วมกับสถานีบริการน้ำมัน ในการตรวจคุณภาพน้ำมันกรณีสถานีบริการถูกน้ำท่วม พร้อมทั้งจะลงพื้นที่ให้คำปรึกษากับชาวบ้านกรณีอุปกรณ์ด้านพลังงานชุมชน อาทิ บ่อหมักก๊าซชีวภาพ พาราโบล่าโดมอบแห้ง หรือแผงโซลาร์เซลล์ ที่อาจได้รับความเสียหายจากพายุดังกล่าว

กระทรวงพลังงาน จับมือ กระทรวง อว. กำหนดทิศทางการวิจัยและพัฒนา หนุนใช้เทคโนโลยี ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด เพื่อลดการพึ่งพาต่างประเทศสร้างความมั่นคงของประเทศอย่างยั่งยืน

กระทรวงพลังงาน จับมือ กระทรวง อว. กำหนดทิศทางการวิจัยและพัฒนา หนุนใช้เทคโนโลยี ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด เพื่อลดการพึ่งพาต่างประเทศสร้างความมั่นคงของประเทศอย่างยั่งยืน

(14 กันยายน 2563) ณ ศูนย์เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ กระทรวงพลังงาน : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ กระทรวงพลังงาน ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการกำหนดกรอบทิศทางและการบริหารจัดการงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน เพื่อร่วมกำหนดกรอบนโยบายและทิศทางงานวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีพลังงานที่ชัดเจนสอดคล้องกับกรอบนโยบายพลังงานของชาติ ซึ่งยึดจากแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว 20 ปี รวม 5 แผน ได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ แผนอนุรักษ์พลังงาน แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง และแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานของประเทศอย่างยั่งยืน โดยมี นายสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตรรม ให้เกียรติเป็นประธานและสักขีพยานในการลงนาม พร้อมด้วย นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และ รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยผู้บริหารร่วมลงนาม
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบริหารจัดการงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงาน ระหว่างกระทรวงพลังงานและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะมีส่วนช่วยกำหนดกรอบนโยบายและทิศทางงานวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีพลังงานที่ชัดเจน สอดคล้องนโยบายพลังงานของชาติตามแผนบูรณาการพลังงานระยาว 20 ปี โดยกลไกการดำเนินงานร่วมกันนี้จะช่วยขับเคลื่อนประเทศสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน สอดรับกับแนวทางของกระทรวงพลังงานในการเตรียมพร้อมรับมือในยุคดิจิทัล 4D+1E คือ
1.DIGITALIZATION เช่น การพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่อบริหารจัดการพลังงานแบบอัจฉริยะ
2.DECARBONIZATION การลดคาร์บอน ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนที่มีปล่อยคาร์บอนน้อยลง
3.DECENTRALIZATION การพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ รองรับการกระจายศูนย์สำหรับระบบผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ต่างๆ
4.DE-REGULATION การผ่อนปรนกฎระเบียบ การเปิด Sandbox ให้เกิดการพัฒนาและทดสอบนวัตกรรมด้านพลังงาน ส่งเสริมให้เกิด Start Up ด้านพลังงาน
5.ELECTRIFICATION เช่น การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า
“บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบริหารจัดการงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการฟื้นฟูและเยียวยาเศรษฐกิจที่เป็นภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาล เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจไทยเพื่อรองรับกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งช่วยขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาประเทศตามบูรณาการพลังงานระยาว 20 ปี และแผนยุทธศาสตร์ชาติอีกด้วย” ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าว
รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า กระทรวง อว. มีนโยบายและให้ความสำคัญในการดำเนินงานด้านพลังงานและสร้างความเป็นเลิศในการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีพลังงาน พร้อมทั้งเชื่อมโยงงานวิจัยและพัฒนากับกระทรวงพลังงานและภาคส่วนต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนแผนพลังงานไปสู่การใช้งานจริง สำหรับ การลงนามความร่วมมือในวันนี้ เพื่อกำหนดกรอบนโยบายและทิศทางงานวิจัยและพัฒนา ด้านเทคโนโลยีพลังงานที่ชัดเจนและสอดคล้องกับกรอบนโยบายพลังงานของชาติ โดยเฉพาะในเรื่องของพลังงานทดแทน พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานจากชีวมวลต่าง ๆ ระบบกักเก็บพลังงาน การจัดการพลังงาน และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน รวมถึงการขับเคลื่อนวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีพลังงาน และนำผลงานวิจัยและพัฒนาไปใช้ประโยชน์ พร้อมทั้งขยายผลในวงกว้างเพื่อสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเป็นการพัฒนาประสิทธิภาพกลไกการบริหารจัดการงานวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีพลังงานของประเทศไทย ให้มีการกำหนดโจทย์ที่เหมาะสม ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของประเทศ และมีศักยภาพนำไปใช้ประโยชน์จริงให้กับทุกภาคส่วน นอกจากนี้ ยังพัฒนาการดำเนินงานด้านวิชาการ สนับสนุนทรัพยากร และพัฒนาระบบข้อมูลด้านการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีพลังงานที่มีความทันสมัย ทั้งนี้เพื่อเพื่อลดการพึ่งพิงเทคโนโลยีจากต่างประเทศ แก้ปัญหาในอุตสาหกรรมพลังงานของประเทศ สร้างความมั่นคงให้กับประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่ จ.ระยอง ตรวจติดตามโครงการพัฒนาพลังงานชุมชน

“สุพัฒนพงษ์”รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเดินทางลงพื้นที่ตรวจราชการจ.ระยอง เพื่อติดตามความก้าวหน้าของโครงการพัฒนาพลังงานชุมชนด้วยระบบผลิตและส่งจ่ายก๊าซชีวภาพจากฟาร์มสุกร ซึ่งเป็นตัวอย่างโครงการที่เกิดขึ้นจากกระบวนการมีส่วนร่วมหน่วยงานภาคีและภาคชุมชน ช่วยลดทั้งมลพิษและค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับชุมชน

วันนี้ (24 ส.ค.63) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เดินทางลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.ระยอง เยี่ยมชมและรับฟังความก้าวหน้าโครงการพัฒนาพลังงานชุมชนด้วยระบบผลิตและส่งจ่ายก๊าซชีวภาพจากฟาร์มสุกร ต.ป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง ซึ่งเป็นโครงการเปลี่ยนของเสียที่ได้จากมูลสุกรให้เป็นพลังงาน ถือเป็นโครงการที่เกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพราะมีการประสานความร่วมมือทั้งหน่วยงานภาคีและภาคชุมชนเข้ามาร่วมศึกษาเรียนรู้ในกระบวนการคิดวางแผน การประชาคม การก่อสร้าง รวมถึงการร่วมทุน ซึ่งการดำเนินโครงการฯ เป็นแนวทางที่สอดคลัองกับทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย “พลังงานร่วมใจ รวมไทยสร้างชาติ” ที่มีจุดมุ่งหมายสำคัญทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น เกิดการพัฒนาการจ้างงานกระจายสู่ท้องถิ่น
“โครงการพัฒนาพลังงานชุมชนด้วยระบบผลิตและส่งจ่ายก๊าซชีวภาพจากฟาร์มสุกรนี้จะช่วยสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนในชุมชน เกิดการเรียนรู้ เสริมสร้างความเข้มแข็งแก่สังคมแบบยั่งยืน ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้ร่วมจัดทำการวางแผนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางด้านการบริหารจัดการและการใช้ประโยชน์ของพลังงานอย่างครบวงจรในระดับชุมชน อีกทั้งยังเกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economic) และสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิชาการ ทั้งในชุมชนและสังคม และทั้งในภาครัฐ และเอกชน เพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริงและต่อเนื่อง ถือเป็นโครงการตัวอย่างที่ควรนำไปขยายผลให้ชุมชนโดยรอบต่อไป” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว
โครงการฯ เป็นความร่วม 4 ฝ่ายประกอบด้วย เจ้าของฟาร์มสุกร ซึ่งมีส่วนร่วมในการก่อสร้างระบบผลิตก๊าซชีวภาพ สถาบันวิทยสิริเมธี ช่วยสนับสนุนการบริหารโครงการ งานวิจัย งานวิชาการ และการจัดการความเสี่ยง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ถ่ายทอดความรู้การก่อสร้างระบบส่งจ่ายก๊าซชีวภาพ และร่วมวางระบบการบริหารจัดการ และองค์การบริหารส่วนตำบลป่ายุบใน ที่สร้างกระบวนการชุมชนตั้งแต่สื่อความ การจัดตั้งคณะกรรมการกลุ่มผู้ใช้ก๊าซชีวภาพ การจัดประชาคมหมู่บ้าน และรับสมัครครัวเรือนเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อสร้างกระบวนการให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตัวเอง และดูแลรักษาระบบได้ในระยะยาวอย่างยั่งยืน

โครงการมีระบบผลิตก๊าซชีวภาพได้ 800 ลูกบาศก์เมตรจากมูลสุกร 4,500 ตัว ซึ่งปัจจุบันภาพรวมด้านวิศวกรรมโครงการงานก่อสร้างระบบใกล้จะเสร็จเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะสามารถส่งจ่ายก๊าซชีวภาพให้แก่ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการได้ภายในเดือนกันยายน 2563 โดยชาวบ้านในชุมชนประมาณ 60 ครัวเรือนจะสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานหุงต้มในชุมชนได้ประมาณ 265,000 บาท/ปี ฟาร์มสามารถลดค่าไฟได้ 780,000 บาท/ปี และในภาพรวมยังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 2,350 ตันคาร์บอนไดออกไซด์/ปี ลดมลภาวะทางกลิ่นจากฟาร์ม ทำให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนพึ่งตนเองได้ สามารถบริหารจัดการด้านพลังงานได้อย่างยั่งยืน

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประชุมขับเคลื่อนนโยบายพลังงาน หนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ และวางรากฐานสู่อนาคต

“สุพัฒนพงษ์” ขับเคลื่อนนโยบายพลังงาน หนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ และวางรากฐานสู่อนาคต
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน “สุพัฒนพงษ์” ประเดิมงานแรกร่วมประชุมเวิร์คช็อปเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ “พลังงานร่วมใจ รวมไทยสร้างชาติ” พร้อมประกาศเดินหน้านโยบายให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนสูงที่สุด รวมถึงเกษตรกรและชุมชน
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “พลังงานร่วมใจ รวมไทยสร้างชาติ” ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้แนวทาง รวมไทยสร้างชาติ ซึ่งเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาคเศรษฐกิจที่แข็งแรง เช่น ภาคพลังงานที่จะสามารถเป็นตัวหลักดึงเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ให้กลับมาแข็งแรงได้อีกครั้ง เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมบนฐานความเข้าใจเข้าถึงประชาชน โดยอาศัยการร่วมแรงร่วมใจกันอย่างเป็นหนึ่งเดียวของทุกภาคส่วน
สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิดยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งระดับโลกและประเทศไทย ซึ่งรวมถึงภาคพลังงานด้วย วิกฤตครั้งนี้จะยังไม่หายไปได้ในเร็ววัน แต่อาจจะมีวันสิ้นสุดใน 12-15 เดือนข้างหน้า สิ่งที่ภาครัฐรวมถึงกระทรวงพลังงานได้ดำเนินการแล้วในช่วงที่ผ่านมาเป็นการบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้า เป็นมาตรการช่วยด้านรายได้ และลดค่าใช้จ่าย ซึ่งจะยังคงมีการดำเนินมาตรการลักษณะนี้
โดยปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่อไป ขณะเดียวกันก็จะต้องดำเนินมาตรการการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยกลับคืนมาโดยเร็วและเดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคงโดยทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จึงต้องมีการร่วมกันวางแผนขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น กระทรวงพลังงานจึงได้จัดการประชุมเวิร์คช็อปขึ้นเพื่อรวมพลังในการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในสาขาพลังงาน ในการกำหนดทิศทางและวางแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้พลิกฟื้นกลับมาได้อีกครั้ง” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว
สำหรับการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้บริหารและกลุ่มคนรุ่นใหม่จากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจและองค์กรอิระในสังกัดกระทรวงพลังงาน รวมถึงผู้บริหาร
จากภาคเอกชนและผู้ประกอบการด้านกิจการพลังงาน เพื่อสื่อสารถึงจุดมุ่งหมายและรายละเอียดในการจัดทำแผนเพื่อร่วมกันฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้ผู้เข้าร่วมประชุมรับทราบ และกลับมานำเสนอแนวคิดและแผนงานในการประชุมครั้งต่อ ๆ ไป
ทั้งนี้ ภายในงานมีการบรรยายภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจไทยจากผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ การถ่ายทอดข้อมูลสถานการณ์ผลกระทบจากโควิด-19 และตัวอย่างการพัฒนาความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนในการร่วมจัดการกับวิกฤตเศรษฐกิจจากโควิดโดยมีการนำเสนอมุมมองคนรุ่นใหม่กับไอเดียช่วยเหลือประเทศชาติในยุคโควิดอีกด้วย
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวด้วยว่า ในส่วนของการดำเนินนโยบายด้านพลังงานนั้น จะเน้นนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ การสร้างงานสร้างรายได้ รวมถึงวางรากฐานเพื่ออนาคตด้านพลังงานของประเทศ โดยจะเน้นการลงมือทำให้สำเร็จ (Execution) ซึ่งได้มอบให้ผู้บริหารทำแผนระยะ 5 ปี ที่กำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจน เพื่อให้ติดตามได้อย่างใกล้ชิด สำหรับโครงการที่ต่อเนื่องจะยังคงเดินหน้าต่อไป ทั้งโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ให้มีรูปแบบการดำเนินโครงการที่สร้างความมั่นใจได้ว่าเกษตรกรหรือชุมชนได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริง มีความยั่งยืน รวมทั้งการส่งเสริมน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพไม่ว่าจะเป็นแก๊สโซฮอล์ E20 หรือ B10 ก็ต้องช่วยให้เกษตรกรได้รับผลประโยชน์ และมีมาตรการป้องปรามการลักลอบการนำเข้าน้ำมันปาล์มที่จะใช้ในภาคพลังงานได้อย่างรัดกุม รวมถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยใช้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเป็นกลไกขับเคลื่อนก็ยังเดินหน้าต่อไป โดยเน้นหนักให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้กับประชาชน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูง

วันนี้ (14 สิงหาคม 2563) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูง เพื่อมอบนโยบายและข้อสั่งการ โดยมีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และผู้บริหารระดับสูงเข้าร่วมประชุม ซึ่งปลัดกระทรวงพลังงานได้กล่าวแนะนำผู้บริหาร และนำเสนอภาพรวมการบริหารงานของกระทรวงพลังงาน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าสักการะพระพรหมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงพลังงาน

วันนี้ (14 สิงหาคม 2563 ) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เข้าสักการะศาลพระพรหม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงพลังงาน โดยมี นายกุลิศ สมบัติศิริ  ปลัดกระทรวงพลังงาน และผู้บริหารกระทรวงพลังงานและหน่วยงานในสังกัดให้การต้อนรับและร่วมสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์

ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ กระทรวงพลังงาน ยินดีต้อนรับ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน ยินดีต้อนรับ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

Page 1 of 7
1 2 3 7