กระทรวงพลังงาน ขอเชิญเข้าเยี่ยมชมงานนิทรรศการโลก “อัสตานา เอ็กซ์โป 2017” (Astana Expo 2017) และเยี่ยมชมอาคารศาลาไทย ภายใต้แนวคิด “Bioenergy for All” ณ กรุงอัสตานา สาธารณรัฐคาซัคสถาน ระหว่างวันที่ 10 มิถุนายน 2560 ถึง 10 กันยายน 2560
กระทรวงพลังงานได้สร้างสรรค์อาคารศาลาไทย (Thailand Pavilion) ภายในอาคารที่ประเทศเจ้าภาพจัดไว้ให้บนพื้นที่ 934.05 ตารางเมตร ประกอบด้วยส่วนแสดงนิทรรศการ ชั้น 1 ขนาด 734.05 ตารางเมตร และพื้นที่เชิงพาณิชย์ ชั้น 2 ขนาด 200 เมตรโดยในส่วนของอาคารนิทรรศการไทย ชั้น 1 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด“การพัฒนาด้านพลังงานชีวภาพเพื่อมนุษยชาติ (Bioenergy for All)” ที่ต้องการสื่อถึงพลังงานเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน เพื่อแสดงศักยภาพของประเทศไทยในด้านการพัฒนาพลังงานทดแทน และความก้าวหน้าในการพัฒนาพลังงานชีวภาพ (Bioenergy) จากการน้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดชที่ทรงเป็นพระบิดาแห่งพลังงานไทย และเป็นต้นแบบในเรื่องปรัชญา“ความพอเพียง”มาใช้เป็นแนวทางในการใช้ทรัพยากรในประเทศที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า โดยมุ่งหวังให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนในอนาคต โดยนำเสนอในรูปแบบ “EDUTAINMENT” หรือ การเรียนรู้ควบคู่ความสนุกประกอบ ด้วย 3 ห้องนิทรรศการหลัก ได้แก่
นิทรรศการห้องที่ 1: นำเสนอเรื่องราวและภาพของประเทศไทยโดยรวมผ่าน Live Exhibition หรือนิทรรศการสร้างประสบการณ์เสมือนจริง ภายใต้เนื้อหา Our Ways, Our Thai หรือ วิถีเรา วิถีไทย เพื่อนำเสนอเรื่องราววิถีของประเทศไทย ภาพรวมของประเทศให้ผู้เยี่ยมชมได้ทำความรู้จักประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ความเป็นอยู่ ลักษณะบ้านเมือง สิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ทรัพยากรธรรมชาติที่งดงาม รวมไปถึงแสดงศักยภาพด้านการเกษตร และการท่องเที่ยวที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ของประเทศ ควบคู่กับการพัฒนาด้านพลังงาน เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ได้คุ้มค่ามีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งการพัฒนาด้านพลังงานนี้เป็นอีกหนึ่งหัวใจหลักสำคัญในการดำรงชีวิต และผลักดันวิถีไทย ให้ยั่งยืน
นิทรรศการห้องที่ 2 : นำเสนอในรูปแบบของห้องฉายหนังภาพยนตร์ (Theater) แบบ 3D พร้อมด้วยหุ่นยนต์มาสคอต “พลัง” เป็นตัวเล่าเรื่องภายใต้เนื้อหา Farming the Future Energy หรือ ปลูกพลังงาน ปลูกอนาคต นำเสนอเรื่องรางผ่านการเล่าเรื่องแบบสนุกสนาน เกี่ยวกับพลังงานแห่งอนาคตที่ถูกพัฒนาจากทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ในประเทศไทยการน้อมนำแนวคิดของพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการพัฒนาเป็นโครงการด้านพลังงาน อาทิ มาตรการสนับสนุนการ
พัฒนาพลังงานชีวภาพ การพัฒนาพลังงานในชุมชนโครงการสถานีผลิตพลังงานสีเขียว (Distributed Green Generation) การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities Clean Energy) การพัฒนาโครงข่าย การใช้ก๊าซชีวภาพ (Biogas Network) เป็นต้น
นิทรรศการห้องที่ 3 : นำเสนอในรูปแบบนิทรรศการที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ หรือ Interactive Exhibition ภายใต้แนวคิด “Energy Creation Lab” สร้างพลังงาน สร้างพลังไทย ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับพลังงานชีวมวล และชีวภาพทั้งหมด 9 ชนิด ได้แก่ อ้อย ยูคาลิปตัส ยางพารา หญ้าโตเร็ว ข้าว ข้าวโพด มูลสัตว์ หรือของเสีย มันสำปะหลัง และปาล์ม รวมถึงเรื่องของการส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนา ด้านพลังงานทดแทน พลังงานชีวมวล พลังงานก๊าซชีวภาพ และพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biomass, Biogas, Biofuel) เพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทย และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ในการเข้าร่วมการ จัดงาน อาทิ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมการพัฒนาชุมชน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยกระทรวงพลังงาน มั่นใจว่าอาคารศาลาไทยในครั้งนี้ จะได้รับการตอบรับอย่างดี และคาดว่าจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมศาลาไทย คิดเป็น 10% จากจำนวนผู้เข้าชมทั้งหมดที่ทางประเทศเจ้าภาพคาดการณ์ โดยประมาณ 5 แสนคน ตลอดระยะการจัดงาน ตั้งเป้าว่าจะเป็น 1 ใน 10 พาวิลเลียนที่มีผู้สนใจเข้าชมมากที่สุด
ทั้งนี้ สามารถติดตามรายละเอียดความเคลื่อนไหวของอาคารศาลาไทย และการจัดงานนิทรรศการโลกได้ทางช่องทางต่างๆ
http://www.thailandpavilion2017.com/ หรือ Facebook: thailandpavilion2017