รู้ไหม !! ‘ยิ่งอากาศร้อน ยิ่งกินไฟ’
ในช่วงฤดูร้อนของทุกปีจะมีอัตราการใช้พลังงานไฟฟ้ามากที่สุด หนึ่งในปัจจัยสำคัญ เกิดจากเครื่องปรับอากาศที่ต้องทำงานหนักในสภาวะแวดล้อมภายนอกที่มีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น
กระทรวงพลังงาน จึงนำผลการทดสอบ เรื่องการวัดผลการใช้พลังงานไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศ มาเปิดให้ดูกันว่าในสภาพอุณหภูมิที่แตกต่างกัน การติดตั้งเครื่องปรับอากาศที่ได้มาตรฐาน ขนาด 12,000 BTU ตั้งค่าเครื่องปรับอากาศให้มีอุณหภูมิภายในห้องที่ 26 องศาเซลเซียส และวัดผลการใช้ไฟฟ้าในขณะที่อุณหภูมิภายนอกห้องที่ 35 และ 41 องศาเซลเซียส ซึ่งผลการทดสอบ พบว่า การตั้งเครื่องปรับอากาศให้มีอุณภูมิภายในห้องที่ 26 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิภายนอกห้อง 35 องศาเซลเซียสต่อเนื่อง จะใช้ไฟฟ้าเฉลี่ย 0.69 หน่วยต่อชั่วโมง แต่หากอุณหภูมิภายนอกห้องเป็น 41 องศาเซลเซียสต่อเนื่อง เครื่องปรับอากาศดังกล่าวจะใช้ไฟฟ้าเฉลี่ย 0.79 หน่วยต่อชั่วโมง หรือกล่าวได้ว่า เมื่ออุณหภูมิภายนอกสูงขึ้น 6 องศาเซลเซียส เครื่องปรับอากาศจะใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นประมาณร้อยละ 14
ทั้งนี้ จากผลการทดสอบดังกล่าว หากคำนวณเป็นค่าไฟฟ้าในอัตราเฉลี่ยหน่วยละ 3.9 บาท จะพบว่า การใช้พลังงานไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศ ในขณะที่อุณหภูมิภายนอกห้อง 35 องศาเซลเซียส จะทำให้เสียค่าไฟฟ้าประมาณ 2.69 บาทต่อชั่วโมง ขณะที่ การใช้พลังงานไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศ ในขณะที่อุณหภูมิภายนอกห้อง 41 องศาเซลเซียส จะทำให้เสียค่าไฟฟ้าประมาณ 3.08 บาทต่อชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานจึงขอแนะนำวิธีการใช้เครื่องปรับอากาศในช่วงฤดูร้อน คือ ผู้ใช้ไฟฟ้าควรตั้งค่าเครื่องปรับอากาศประมาณ 26 องศาเซลเซียส รวมถึงควรดูแลเครื่องปรับอากาศ ล้างเครื่องปรับอากาศอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง หลีกเลี่ยงการติดตั้งคอมเพรสเซอร์ในที่ที่มีแดดส่องตลอดเวลา ตลอดจนการเปิดพัดลมช่วยแทนการปรับอุณหภูมิให้ลดต่ำลง ก็จะเป็นการช่วยให้ประหยัดพลังงาน ลดค่าไฟฟ้าได้อีกด้วย
ที่มา : การไฟฟ้านครหลวง MEA