banner

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเปิดโครงการปะการังสร้างอาชีพ ระยะที่2

“มูลนิธิกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและผู้ประโครงการกอบการด้านปิโตรเลียม” จับมือสานต่อโครงการ “ปะการัง สร้างอาชีพ” ระยะที่ 2 หวังฟื้นฟูความสมบูรณ์ของทะเลไทย ประเดิมวางปะการังเทียม 1,000 ก้อน ในพื้นที่แหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช และอีก 2 จุด ในจังหวัดสงขลาต่อไป
พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังพิธีเปิดโครงการ “ปะการัง สร้างอาชีพ” ระยะที่ 2 ในวันจันทร์ ที่ 10 ตุลาคม 2559 ว่าโครงการที่มีการดำเนินการครั้งนี้ เป็นการสานต่อความสำเร็จจาก “โครงการปะการัง สร้างอาชีพ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554” ที่มูลนิธิกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและผู้ประกอบการด้านปิโตรเลียม จัดทำขึ้น และมีการวางปะการังเทียมใน 3 พื้นที่ คือ อำเภอสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอละแม และอำเภอสวี-ทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร จุดละ 1,000 ก้อน รวม 3,000 ก้อน ซึ่งภายหลังโครงการเสร็จสิ้นและมีการติดตามตรวจสอบความสำเร็จพบว่า โครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในด้านการฟื้นฟูความสมบูรณ์ของท้องทะเลไทยภายหลังจากการวางปะการังเทียม ได้ประมาณ 1 ปี ซึ่งทางมูลนิธิกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและผู้ประกอบการปิโตรเลียมได้มอบหมายให้ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและการสำรวจธรรมชาติ จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาเขตจังหวัดชุมพร ดำเนินการสำรวจ ใต้ทะเลเพื่อศึกษาความสมบูรณ์และความหลากหลายของชนิดสัตว์น้ำในพื้นที่โครงการปะการัง สร้างอาชีพฯ พบว่า มีความสมบูรณ์ของท้องทะเลมากขึ้น และมีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร พบสิ่งมีชีวิตมากถึง 38 ชนิด
นอกจากนี้ “โครงสร้างปะการัง สร้างอาชีพฯ” ยังมีส่วนช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวประมงพื้นบ้านให้ดีขึ้น โดยจากความอุดมสมบูรณ์ที่เพิ่มขึ้นทำให้สามารถจับปลา และสัตว์ทะเลได้มากขึ้น ปลาบางชนิดที่เคยหายไปจากพื้นที่ก็กลับมาอยู่ในบริเวณกองปะการังเทียม ส่งผลให้ชาวประมงมีรายได้มากขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก เนื่องจากไม่ต้องเดินเรือไปหาปลาในระยะทางที่ไกลเหมือนก่อน
พลเอก อนันตพร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับก้อนปะการังเทียมที่จะจัดวางในครั้งนี้ จะมีขนาด 1.5 x 1.5 x 1.5 เมตร ซึ่งเป็นขนาดมาตรฐานของกรมประมง และวัสดุที่นำมาใช้ผ่านการตรวจสอบแล้วว่า ไม่เป็นพิษ หรือปลดปล่อยสารพิษลงในทะเล มีอายุการใช้งานไม่น้อยกว่า 10 ปี และด้วยน้ำหนักประมาณ 1 ตัน จึงไม่ถูกพัดพาด้วยคลื่น หรือกระแสน้ำ หรือพายุ โดยที่วัตถุประสงค์ในการดำเนินโครงการยังคงมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูความสมบูรณ์ ความสมดุลของทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เพิ่มความหลากหลายของสัตว์ทะเลเพื่อส่งเสริมอาชีพของชาวประมงชายฝั่งแล้ว โครงการนี้ยังมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อขยาย และเสริมสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มประมงพื้นบ้านในพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียม ในทะเลอีกด้วย
สำหรับพื้นที่ดำเนินโครงการ ระยะที่ 2 นอกจากจะวางปะการังเทียมในพื้นที่ตำบลแหลมตะลุมพุกแล้ว ยังกำหนดพื้นที่วางปะการังเทียมในอีก 2 จุด คือ อำเภอสทิงพระ และอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา พื้นที่ละ 500 ก้อน ที่จะมีการวางปะการังเทียมในระยะต่อไป
“ทั้งนี้ ในการกำหนดพื้นที่แต่ละแห่งประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ในการร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านการประชุมร่วมกันในลักษณะของคณะทำงานไตรภาคี ประกอบด้วย กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ บริษัทผู้รับสัมปทานปิโตรเลียม และกลุ่มประมงพื้นบ้าน ซึ่งเป็นภาคประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและรับรู้ผลประโยชน์ทางอาชีพและรายได้ รวมถึงแนวทางการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล เพื่อให้ปะการังเทียม ที่จัดสร้างขึ้นได้คงอยู่ไปจนรุ่นลูกรุ่นหลาน และเป็นแหล่งทำกินอย่างยั่งยืน

14523076_1084044394998186_4764971295489220615_n 14523242_1084044411664851_8272967470474202512_n

14581299_1084044431664849_6849395079213485839_n

14595568_1084044504998175_5964686777640844653_n

14519709_1084044531664839_1228269380735636185_n