การดำเนินการด้านบริการวิชาการและงานวิจัยของศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผลงานด้านวิชาการที่มีความหลากหลายของสาขาวิชา ซึ่งศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการรับรอง/ขึ้นทะเบียนที่ปรึกษาไทย กระทรวงการคลัง ทั้งหมด 18 สาขาวิชา จาก 20 สาขาวิชา ในแต่ละปีจึงมีผลงานวิชาการที่ดำเนินการผ่านศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมาก ซึ่งผลงานวิชาการต่าง ๆ ดังกล่าวล้วนเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ หากแต่ผลงานวิชาการต่าง ๆ ยังคงรับรู้กันอยู่ในวงจำกัด เท่านั้น
ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญในการเผยแพร่ผลงานวิชาการ จากการศึกษาวิจัยต่าง ๆ เหล่านี้ให้กระจายไปสู่สังคมทุกภาคส่วนให้มากที่สุด ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ Chula Unisearch จึงได้จัดทำวารสารวิชาการภายใต้ชื่อ “Unisearch Journal” ขึ้น ในลักษณะของวารสารวิชาการ 2 ภาษา (ภาษาไทย-ภาษาอังกฤษ) เพื่อเป็นช่องทางในการเผยแพร่ผลงานวิชาการของอาจารย์และนักวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปสู่สังคม อันเป็นหนึ่งในการตอบสนองยุทธศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการบริการวิชาการสู่สังคม รวมทั้ง การสร้างความร่วมมือและการสร้างเครือข่ายในการพัฒนาผลงานทางวิชาการของมหาวิทยาลัย ร่วมกับ หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศ โดยนำองค์ความรู้ในศาสตร์ที่หลากหลายของมหาวิทยาลัยมาบูรณาการหรือสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพื่อตอบโจทย์ขององค์กรหรือหน่วยงานต่าง ๆ อันเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศบนฐานความรู้และงานวิจัย ทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม