การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 37 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง
ความสำคัญของกรอบความร่วมมืออาเซียนด้านพลังงาน และที่มาของการประชุม AMEM
ในปี พ.ศ. 2562 ประเทศไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ทั้งนี้ ในด้านพลังงานประเทศไทยจะต้องเป็นเจ้าภาพในการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ภายในปีดังกล่าวอีกด้วย ซึ่งเป็นไปตามพันธกรณีที่กำหนดไว้ตามกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) ซึ่งกำหนดให้ประเทศสมาชิกเสริมสร้างความร่วมมือในทั้ง ๓ เสาหลักของประชาคมอาเซียนจะเป็นฐานสำคัญที่จะทำให้อาเซียนสามารถตอบสนองต่อความต้องการและผลประโยชน์ของรัฐสมาชิก โดยประเทศไทยจะทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 37 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง (ASEAN Ministers on Energy Meeting and Associated Meetings: 37th AMEM) ระหว่างวันที่ 2-6 กันยายน 2562 ณ โรงแรม ดิ แอทธินี กรุงเทพฯ ตามมติที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 36 ซึ่งสาธารณรัฐสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพ
วัตถุประสงค์ของการจัดประชุม
การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีสำหรับการหารือความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างประเทศในอาเซียน ระหว่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา และระหว่างประเทศอาเซียนกับองค์กรระหว่างประเทศในประเด็นด้านพลังงานต่าง ๆ โดยกิจกรรมที่ดำเนินการร่วมกันจะช่วยส่งเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ทุกประเทศมีพลังงานใช้อย่างเพียงพอต่อความต้องการ และสามารถจัดหาพลังงานได้ในราคาที่เหมาะสมต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน รวมทั้ง ส่งเสริมพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งกรอบความร่วมมืออาเซียนด้านพลังงานดังกล่าว มีประเด็นใน 7 สาขาหลัก และ 1 เครือข่ายความร่วมมือที่สำคัญ ประกอบด้วย
1) ความเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน
2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับขนส่งก๊าซธรรมชาติ
3) การส่งเสริมเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด
4) การส่งเสริมพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ
5) การส่งเสริมพลังงานทดแทน
6) การส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและอนุรักษ์พลังงาน
7) การจัดทำนโยบายและแผนอาเซียนด้านพลังงาน รวมถึง เครือข่ายความร่วมมือด้านการกำกับกิจการพลังงาน
กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นระหว่างการประชุม
การจัดประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนครั้งที่ 37 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-6 กันยายน 2562 ณ กรุงเทพมหานคร ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรม ดังนี้
1. การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน เป็นการนำประเด็นกิจกรรมความร่วมมือ ความก้าวหน้าของการดำเนินกิจกรรมตามแผนปฏิบัติการด้านพลังงานอาเซียน ผลงานของคณะทำงานย่อยทั้ง 7 สาขา ผลงานภายใต้กรอบความร่วมมือกับคู่เจรจาและองค์กรระหว่างประเทศ ร่างแถลงการณ์ร่วมต่างๆ โดยจะมีการหารือเพื่อหาบทสรุปสำหรับนำเสนอให้กับรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน โดยกำหนดจัดประชุมจำนวน 2 วัน ระหว่างวันที่ 2-3 กันยายน 2562
2. การประชุมระดับรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน เป็นการสรุปกิจกรรมและผลงาน รวมทั้งข้อเสนอต่างๆ ภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียนด้านพลังงาน นำเสนอให้กับรัฐมนตรีพลังงานของ 10 ประเทศ เพื่อให้รับทราบและเห็นชอบแผนการดำเนินการในขั้นตอนต่อไป รวมทั้ง มีการหรือในระดับนโยบายระหว่างรัฐมนตรีพลังงานของประเทศคู่เจรจาและผู้นำองค์กรระหว่างประเทศด้านพลังงานในเรื่องการผลักดันกิจกรรมความร่วมมือในกรอบอาเซียนบวก เพื่อให้เกิดกรพัฒนาด้านพลังงานในภูมิภาคอาเซียนให้บรรลุตามเป้าหมายความมั่นคงด้านพลังงาน พลังงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพลังงานที่มีความยั่งยืนของภูมิภาคอาเซียน โดยกำหนดจัดประชุมจำนวน 2 วัน ระหว่างวันที่ 4-5 กันยายน 2562
3.การจัดงาน ASEAN Energy Business Forum (AEBF) เป็นการจัดงานคู่ขนานกับการประชุม โดยจะมีการจัดนิทรรศการด้านพลังงาน การแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานจากผู้ประกอบการและสถาบันการศึกษา รวมทั้งมีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการในหัวข้อที่น่าสนใจ ซึ่งในการจัดงานครั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้กำหนดหัวข้อหลักในการจัดงานนี้ คือ “Renewable Energy Innovation Week” ซึ่งจะมุ่งเน้นการจัดนิทรรศการและการแสดงผลงานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงานทดแทน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เข้าชมจากกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการด้านพลังงานของไทยได้ประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการด้านพลังงานที่ทันสมัยอีกด้วย โดยกำหนดจัดงาน AEBF คู่ขนานกับการจัดประชุม จำนวน 4 วัน ระหว่างวันที่ 2-5 กันยายน 2562
4. การจัดประชุมทวิภาคีระหว่างประเทศกลุ่มอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา โดยกระทรวงพลังงานจะเปิดโอกาสให้ผู้นำระดับรัฐมนตรีพลังงานและเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนได้มีโอกาสในการพบปะเจรจากันในระหว่างการประชุม โดยประเทศต่างๆ สามารถร้องขอให้ไทยในฐานะประเทศเจ้าภาพอำนวยความสะดวกให้กับประเทศที่ต้องการประชุมทวิภาคี ในช่วงระหว่างวันที่ 2-5 กันยายน 2562
5. การจัดพิธีการมอบรางวัล ASEAN Energy Awards จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีควบคู่กับการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนด้านพลังงาน เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันผลักดันให้เกิดการขยายการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน และผลักดันให้เกิดการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และพลังงานถ่านหินให้กับกลุ่มผู้ประกอบการของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยทุกปีจะมีตัวแทนจากกลุ่มประเทศอาเซียนส่งผลงาน/ผู้แทนเข้าประกวด ASEAN Energy Awards จำนวนมาก นอกจากนั้น ยังมีพิธีการประกาศเกียรติคุณรางวัลบุคคลดีเด่นด้านพลังงานในอาเซียนประจำปีเพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูบุคลากรที่มีบทบาทสำคัญในเวทีพลังงานของภูมิภาคอาเซียนในช่วงที่ผ่านมาอีกด้วย โดยกำหนดพิธีการมอบรางวัลดังกล่าว ในวันที่ 4กันยายน 2562
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
การจัดประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 37 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง จะเป็นการแสดงบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศเพื่อขับเคลื่อนความมั่นคงและความยั่งยืนทางพลังงานร่วมกับประเทศในภูมิภาค และยังถือเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานในภูมิภาคอาเซียน
การประชุมดังกล่าว จะช่วยผลักดันและสนับสนุนให้การดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน แผนบูรณาการพลังงานระยะยาว 2559-2579 สามารถบรรลุเป้าหมายในการเสริมสร้างความมั่นคง มีความยั่งยืนทางด้านพลังงาน เกิดการค้า การลงทุน และการพัฒนาด้านพลังงาน ซึ่งจะสอดคล้องเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านพลังงาน (ASEAN Plan of Action on Energy Cooperation: APAEC) พ.ศ. 2559-2568 ระยะที่ 1 พ.ศ. 2559-2563 อาทิ การซื้อขายไฟฟ้าแบบพหุภาคีระหว่าง ไทย สปป.ลาว และมาเลเซีย ซึ่งในอนาคตจะขยายไปยังประเทศอื่น ๆ การปรับมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในอาเซียน อาทิ อุปกรณ์ส่องสว่างและเครื่องปรับอากาศ การลดความเข้มการใช้พลังงานให้ได้ร้อยละ 20 ภายในปี พ.ศ. 2563 การผลักดันให้อาเซียนมีการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้นเป็นร้อยละ 23 ภายในปี 2568 การปรับปรุงฐานข้อมูลอาเซียนด้านพลังงานให้เป็นมาตรฐานสากลภายในปี พ.ศ. 2563 การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดเพื่อภาพลักษณ์ที่ดี การเสริมสร้างศักยภาพด้านพลังงานนิวเคลียร์ในด้านการกำกับดูแลเทคนิคและความปลอดภัย เป็นต้น
แนะนำ theme AMEM2019
แนวคิดหลักของการเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานในปีนี้คือ “Advancing Energy Transition Through Partnership and Innovation” ซึ่งจะมุ่งเน้นความร่วมมือของกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศคู่เจรจาในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงาน เพื่อให้ภูมิภาคอาเซียนสามารถก้าวเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่พลังงานที่มีความยั่งยืนในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของอาเซียนที่จะสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เพิ่มการเข้าถึงพลังงาน และสร้างพลังงานที่มีความยั่งยืนให้กับประชาชนในภูมิภาคอาเซียน
ความพร้อมของการเตรียมการเป็นเจ้าภาพ
กระทรวงพลังงาน ได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียนด้านพลังงาน โดยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 37 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 โดยมีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานและมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นคณะกรรมการ โดยมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและแนวทางการจัดเตรียมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 37 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 37 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านพลังงานสมัยพิเศษรวมทั้งได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านสารัตถะ พิธีการและอำนวยการ การรักษาความปลอดภัยและการจราจร การประชาสัมพันธ์ การเสนอของบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้การทำหน้าที่ประธานอาเซียนด้านพลังงานของไทยดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยมีประสิทธิภาพ สามารถส่งเสริมสถานะและบทบาทของไทยในอาเซียน
ดาวน์โหลดสื่อประชาสัมพันธ์