อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมพิธีอำลาตำแหน่ง

วันนี้ (17 ก.ค.63) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้อำลาตำแหน่ง โดยช่วงเช้าได้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงพลังงาน และขอบคุณผู้บริหาร และข้าราชการกระทรวงพลังงาน ที่ได้ทำงานร่วมกันมาตลอดระยะเวลา 1 ปี พร้อมทั้งได้สรุปผลการดำเนินงานที่ขับเคลื่อนมาตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  ซึ่งในช่วงบ่ายผู้บริหาร ข้าราชการและพนักงานร่วมแถวส่งรัฐมนตรีในการเดินทางออกจากกระทรวงพลังงาน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่ จ.ลพบุรี เยี่ยมชมระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ก๊าซชีวภาพจากฟาร์มสุกรในระดับชุมชน

     วันที่ 11 กรกฎาคม 2563 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และคณะเดินทางเข้าเยี่ยมชมระบบโซล่าเซลล์ผลิตไฟฟ้าแบบติดตั้งลอยน้ำ (Floating PV) ขนาด 2.48 กิโลวัตต์ ณ บริเวณพื้นที่แก้มลิงของตำบลท่ามะนาว จังหวัดลพบุรี เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้สำหรับสูบน้ำให้กับเกษตรกร ซึ่งส่งจ่ายให้กับพื้นที่เพาะปลูกกว่า 10 ไร่ สามารถลดต้นทุนการสูบน้ำให้เกษตรกรหมู่ที่ 1 บ้านสันตะลุง และหมู่ที่ 6 บ้านท่าฉาง โดยการติดตั้งระบบโซล่าร์เซลล์แบบลอยน้ำนั้นทำให้แผงโซล่าเซลล์มีประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าดีกว่าแบบติดตั้งบนบก 8% และไม่เสียพื้นที่การเกษตร และความเย็นของน้ำช่วยทำให้การทำงานของแผงโซล่าเซลล์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
     และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้เดินทางไปเยี่ยมชมระบบผลิตและส่งก๊าซชีวภาพจากฟาร์มสุกร ระดับชุมชน ตำบลท่ามะนาว ที่กระทรวงพลังงานได้เข้าไปพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียแบบปิดหรือระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสุกร ซึ่งนอกจากจะช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องกลิ่นแล้ว ยังได้ประโยชน์จากการส่งก๊าซชีวภาพไปยังมากกว่า 500 ครัวเรือนเพื่อทดแทนการใช้ก๊าซหุงต้ม หรือคิดเป็น จำนวนเงินมากกว่า 800,000 บาท ต่อปี และยังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำฟาร์มปศุสัตว์ 5,515 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
     ทำให้ชุมชนมีรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตไปแล้วกว่า 3,178ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าคิดเป็นจำนวนเงิน 744,690บาท นับว่าเป็นต้นแบบการพัฒนาด้านพลังงานอย่างยั่งยืน “จากที่ได้ดูงานในวันนี้ จะเห็นได้ว่า กระทรวงพลังงานได้พยายามพัฒนาและส่งเสริมการดำเนินงานด้านพลังงานเพื่อประชาชนมาโดยตลอด และ สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับผมคือการเห็นพี่น้องประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดได้มีโอกาสเข้าถึงการดำเนินงานด้านพลังงานจากการร่วมเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าชุมชนซึ่งนอกจากพ่อแม่พี่น้องจะมีรายได้จากการปลูกพืชเกษตรเพื่อส่งเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าแล้ว ยังมีรายได้จากการเป็นหุ้นส่วนของโรงไฟฟ้า เกิดการจ้างงานในพื้นที่ เมื่อประชาชนมีรายได้ที่มั่นคง มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก็จะส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมซึ่งผมเชื่อมั่นว่าการดำเนินงานด้านพลังงานตาม นโยบาย Energy for all จะช่วยพลิกวิกฤติด้านเศรษฐกิจภายหลังจากสถานการณ์โควิด 2019” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว

ประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ นำพวงมาลาพระราชทานถวายราชสักการะต่อเบื้องหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช จ.ลพบุรี

     วันนี้ (11 ก.ค. 63) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ นำพวงมาลาพระราชทานของ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว , พวงมาลาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพวงมาลาของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ถวายราชสักการะ ต่อเบื้องหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช วงเวียนเทพสตรี จังหวัดลพบุรี ทั้งนี้เพื่อเทิดทูนและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในด้านต่างๆ นานัปการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระราชกรณียกิจ ด้านการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ ยังความเจริญแก่สยามประเทศ ทั้งด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ การค้าและสถาปัตยกรรม โดยเมืองลพบุรี เมื่อครั้งรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีความทันสมัย สวยงาม เป็นเมืองรับรองคณะฑูตานุทูตจากต่างประเทศหลายคณะ และทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกศาสนาต่างๆ โดยเท่าเทียม
      สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ถือเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 27 แห่งกรุงศรีอยุธยา พระราชสมภพเมื่อวันจันทร์เดือนยี่ ปีวอก พุทธศักราช 2175 หลังจากเสวยราชสมบัติที่กรุงศรีอยุธยาได้ประมาณ 10 ปี ทรงมีพระราชดำริให้สถาปนาเมืองเก่า คือเมืองลวธานี หรือลพบุรีในปัจจุบัน เป็นราชธานีที่สอง และเสด็จแปรพระราชฐานมาประทับที่ลพบุรี เป็นประจำทุกปี ปีละประมาณ 8 เดือน สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2231 สิริพระชนมายุ 56 พรรษา โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2553 กำหนดให้วันที่ 11 กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันรัฐพิธี โดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ
     ในการนี้ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เป็นผู้แทนนายกรัฐมนตรี วางพวงมาลาของคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี โดยก่อนหน้านั้น นายสุปกิต โพธิ์ปภาพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ได้นำหน่วยงานข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ พ่อค้า ประชาชน องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนมูลนิธิต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดลพบุรี ร่วมกระทำพิธีถวายพวงมาลาราชสักการะและกล่าวถวายราชสดุดีสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยพร้อมเพรียงกัน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมประชุมทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) ในรูปแบบออนไลน์ (Virtual Dialogue)

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เสนอแนวคิดโรงไฟฟ้าชุมชน การส่งเสริมเรื่อง prosumerization และเน้นย้ำการเป็นผู้นำด้านพลังงานไฟฟ้าของไทย ในภูมิภาคอาเซียน ในเวที IEA การประชุมด้านพลังงานระดับโลก ในฐานะประธานร่วมการประชุม หัวข้อ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคแห่งพลังงานสะอาด

การประชุมนี้ จัดขึ้นโดยทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) ในรูปแบบออนไลน์ (Virtual Dialogue) เพื่อเป็นเวทีในการแสดงบทบาทและวิสัยทัศน์จากผู้นำด้านพลังงานของทุกประเทศในการหารือร่วมกันในประเด็นการเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของโลกให้เป็นพลังงานสะอาด ซึ่งจะมุ่งเน้นไปที่แผนการดำเนินการระยะสั้นเพื่อการฟื้นฟูภาคพลังงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโรค COVID-19 และนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐที่จำเป็นสำหรับการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เพื่อให้บรรลุแผนระยะยาวในการใช้พลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก และเพื่อส่งเสริมให้ภาคพลังงานมีความมั่นคง ราคาเข้าถึงได้ และยั่งยืนต่อไปในอนาคต โดยการประชุมดังกล่าวมีผู้แทนระดับรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมมากกว่า 40 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น อังกฤษ อินเดีย บราซิล และอินโดนีเซีย เป็นต้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวสุนทรพจน์แสดงนโยบายและวิสัยทัศน์ของประเทศไทยในช่วงต้นของการประชุม ในหัวข้อ“บทบาทของภาคไฟฟ้าที่พึ่งพาได้และมีความยั่งยืน”โดยมีใจความว่า จากการประกาศนโยบาย “พลังงานเพื่อทุกคน” (Energy For All) ตั้งแต่เริ่มเข้ารับตำแหน่ง และได้ดำเนินนโยบายจนเป็นที่ยอมรับทั้งในส่วนของภาคประชาชนและเอกชน จนปัจจุบันได้ประกาศนโยบายภาคต่อ “พลังงานสร้างไทย :  RE-Energizing Thailand” ที่เน้นทั้งด้านการลดรายจ่ายด้านพลังงาน การเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยผ่านโครงการต่างๆ โดยหนึ่งในโครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชน  ได้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานสะอาด ที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจ ฐานราก ด้วยการสร้างรายได้  ลดรายจ่าย และพัฒนาศักยภาพแหล่งเชื้อเพลิงด้านพลังงานในชุมชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นายสนธิรัตน์ฯ ยังได้กล่าวอีกว่า กระทรวงพลังงาน ได้เป็นกำลังสำคัญในการบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโรค COVID-19 โดยได้ออกมาตรการด้านการเงินและการผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคพลังงานทั้งขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) รวมถึงเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่พลังงานสะอาด อาทิ การขับเคลื่อนโครงการโซลาร์ภาคประชาชน 50 MW ซึ่งสอดรับกับทิศทางการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเป็นได้ทั้งผู้ผลิตและผู้ขายพลังงาน (Prosumerization) อีกด้วย

ทั้งนี้ นายสนธิรัตน์ฯ ได้กล่าวแสดงความขอบคุณ IEA ที่ได้ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนบทบาทของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียนในปีที่ผ่านมา รวมถึง ขอบคุณ IEA ที่ช่วยจัดทำรายงานผลการศึกษาทางวิชาการที่มีข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพลังงานในภูมิภาคอาเซียน เช่น การจัดทำข้อเสนอแนะด้านการส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน (RE Integration to grid) และการศึกษาความเป็นไปได้ในการซื้อ-ขายไฟฟ้าพหุภาคีอาเซียน (MultilateralPower Trade) เป็นต้น โดยในช่วงท้ายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยังได้กล่าวยืนยันท่าทีของประเทศไทยที่มุ่งมั่นในการพัฒนาไปสู่ยุคแห่งพลังงานสะอาดและพร้อมที่จะดำเนินกิจกรรมความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ IEA ต่อไปในอนาคต

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมบันทึกเทปถวายพระพรชัยมงคล พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

วันนี้ (26 มิ.ย. 63) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูง และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน ร่วมบันทึกเทปถวายพระพรชัยมงคล พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2563 ณ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานพิธีลงนามสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุเพื่อประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น

วันนี้ (26 มิ.ย. 63) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน พิธีลงนามสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุเพื่อประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น ในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งผู้ร่วมลงนามประกอบด้วย นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธานกรรมการ และนางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ณ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ

โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ได้มีการลงนามสัญญาร่วมลงทุนไปเมื่อวันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ถือเป็นหนึ่งในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลักของ อีอีซี เพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็น “สนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 ของกรุงเทพ” เชื่อมสนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมิ ด้วยรถไฟความเร็วสูง ทำให้ 3 สนามบิน สามารถรองรับผู้โดยสารรวมกันได้มากถึง 200 ล้านคนต่อปี เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation รวมทั้งเป็น “มหานครการบินภาคตะวันออก” ที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการบินและประตูเศรษฐกิจสู่เอเชีย

โครงการผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น เป็นการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นที่โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก พร้อมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกให้มีประสิทธิภาพสูงสุด สามารถรองรับการขยายตัวของผู้โดยสาร ธุรกิจการขนส่งสินค้า ธุรกิจอุตสาหกรรมการบิน ศูนย์กลางธุรกิจ E – Commerce และศูนย์เทคโนโลยีด้านอากาศยาน กองทัพเรือในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกร่วมกับ สกพอ. ได้คัดเลือก บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้เช่าที่ราชพัสดุ พื้นที่ 100 ไร่ เพื่อดำเนินการด้านสาธารณูปโภค โครงการงานระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา โดยจะผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสาน (Hybrid Power Plant) ระหว่างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Co-Generation Power Plant) โดยใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติกับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (PV Solar Farm) ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดตามแนวคิดหลักของ อีอีซี มีขนาดกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 95 เมกะวัตต์ พร้อมด้วยระบบกักเก็บพลังงานอัจฉริยะ (Energy Storage System-ESS) ขนาด 50 เมกะวัตต์ชั่วโมง และพร้อมจะจัดหาแหล่งพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมเมื่อสนามบินมีการพัฒนาสูงสุดและมีความต้องการพลังงานไฟฟ้ามากกว่า 95 เมกะวัตต์ และเสริมความมั่นคงด้วยการสำรองไฟฟ้า 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ความร้อนที่เกิดจากการผลิตไฟฟ้าได้นำมาเปลี่ยนเป็นระบบน้ำเย็นสำหรับระบบปรับอากาศสนามบิน ทำให้มีการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสาน (Hybrid Power Plant) สามารถเลือกใช้แหล่งพลังงานที่คุ้มค่าหรือมีราคาประหยัดเหมาะสม เพื่อพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพต่อเนื่อง มีพลังงานสำรอง ลดความเสียหายต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าที่จำเป็นต้องปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารที่ใช้บริการภายในสนามบินอู่ตะเภาอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานกรรมการ บี.กริม กล่าวว่า บริษัทฯ มีความยินดีอย่างยิ่ง ในการลงนามสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุเพื่อประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็นในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกที่ถือเป็นโครงการสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักของ อีอีซี โดยสนามบินอู่ตะเภาจะเป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งใหม่แห่งอนาคตที่จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างสูงและเป็นเกียรติอย่างแท้จริงของบริษัทฯในฐานะที่ BGRIM เป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนไทยผู้มีส่วนร่วมในการริเริ่มการดำเนินการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่างๆที่สำคัญให้กับประเทศไทย มาตลอดระยะเวลา 142 ปีแห่งการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมา

การที่ BGRIM ได้รับเกียรติและความไว้วางใจในการพิจารณาคัดเลือกโดยกองทัพเรือ และ สกพอ. ให้เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็นสำหรับสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกในครั้งนี้ บริษัทฯ ซึ่งถือเป็นผู้เชี่ยวชาญในการก่อสร้าง พัฒนา และบริหารโรงไฟฟ้าที่ประสบความสำเร็จให้กับพื้นที่อุตสาหกรรมชั้นนำในเขตจังหวัดพื้นที่พัฒนาของ อีอีซี มาตลอด ตั้งแต่เริ่มการพัฒนาโรงไฟฟ้าเอกชนครั้งแรกในปี 2538 นั้น BGRIM จึงมีความเชื่อมั่นอย่างเต็มที่ว่า บริษัทฯ จะสามารถใช้ความพร้อมและประสบการณ์อันเต็มเปี่ยมเพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ให้กับสนามบินอู่ตะเภาและพื้นที่พัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออกได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะเป็นการรองรับความต้องการในการใช้กระแสไฟฟ้าที่มีคุณภาพที่เพิ่มขึ้นต่อไปภายในเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษแห่งนี้ได้อย่างมั่นคงตามที่บริษัทฯ ได้รับเกียรติและความไว้วางใจจากกองทัพเรือ และ สกพอ. ในครั้งนี้ได้อย่างแน่นอน

โดยการนี้ บริษัทฯ ยังได้รับความร่วมมืออย่างแน่นแฟ้นจากพันธมิตรชั้นนำระดับโลก นำโดย China Energy Engineering Corporation หรือ Energy China ซึ่งเป็นบรรษัทรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานจากสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ให้การสนับสนุนเทคโนโลยีโรงไฟฟ้า Hybrid และ Korea Electric Power Corporation หรือ KEPCO บรรษัทรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานจากสาธารณรัฐเกาหลีให้การสนับสนุนเทคโนโลยีระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน – ESS และระบบจัดการพลังงานอัจฉริยะ – EMS พร้อมทั้งมี Siemens จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สนับสนุนเทคโนโลยี Gas & Steam Turbine ทั้งหมดนี้จึงเป็นเครื่องยืนยันว่า BGRIM จะสามารถสร้างระบบการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าที่มั่นคง ทันสมัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีประสิทธิภาพสูงอันเป็นรากฐานต่อระบบสาธารณูปโภคหลักที่สำคัญยิ่งต่อการสนับสนุนให้โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกให้สามารถบรรลุความสำเร็จได้ตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้

นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บี.กริม กล่าวว่า ปัจจุบัน บริษัทฯ ได้จัดเตรียมความพร้อมไว้แล้วทุกประการ เพื่อให้สามารถดำเนินงานตอบสนองต่อนโยบายการพัฒนาพื้นที่สนามบินอู่ตะเภาได้ทันที โดยโรงไฟฟ้าแบบไฮบริด (Hybrid) สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกนี้ จะพร้อมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) อย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2567 และถือเป็นโรงไฟฟ้าไฮบริดแบบผสมผสานเทคโนโลยีทั้ง 3 ระบบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ที่จะสามารถนำเทคโนโลยี ที่ทันสมัยที่สุด มีประสิทธิภาพด้านการผลิตไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพมากที่สุด ทั้งยังปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน โรงไฟฟ้าแห่งนี้ ถือเป็นระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สำคัญ ที่จะสามารถสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแห่งอนาคตให้กับสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ได้ตามนโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐบาลได้อย่างเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง

รองนายกฯสมคิด มอบนโยบาย “พลังงานสร้างไทย” จับมือกระทรวงพลังงานกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 คลี่คลายคืนความสุขคนไทยลดรายจ่ายสร้างรายได้

(วันที่ 25 มิ.ย.63 ) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางมาประชุมมอบนโยบาย “พลังงานสร้างไทย” ณ ห้องประชุม 9 ชั้น15 อาคารเอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ กระทรวงพลังงาน โดยมี นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผู้บริหารและข้าราชการระดับสูงให้การต้อนรับ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานชี้แจงว่า “การประชุมดังกล่าวเป็นการเตรียมแผนงานด้านพลังงานเพื่อลดค่าครองชีพและสร้างรายได้ให้กับประชาชนหลังสถานการณ์เชื้อโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย โดยมีสาระสำคัญที่จะดำเนินการ 3 ด้านในช่วงปี 2563-2565 คือ

1. ลดรายจ่ายแก่ประชาชนช่วงโควิด-19 รวมกว่า 40,500 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ดำเนินการในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาและดำเนินการต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี ผ่านมาตรการช่วยเหลือสำคัญ เช่น ลดค่าไฟฟ้าครัวเรือนและภาคธุรกิจด้วยการบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้าจากการนำเข้า Spot LNG การยกเว้นเก็บอัตราค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ (Minimum charge) ถึง กันยายน 2563 การตรึงราคาแก๊สหุงต้มถึง กันยายน 2563 และจะพิจารณาขยายไปถึงธันวาคม 2563 การช่วยเหลือส่วนต่างราคา NGV สำหรับรถสาธารณะ โดย ปตท. ช่วยเหลือส่วนต่างราคาจนถึง กรกฎาคม 2563 การจัดโครงการพลังงานร่วมใจสู้ภัย
โควิด-19 แจกแอลกอฮอล์โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั่วประเทศกว่า 2 ล้านลิตร การลดเงินเก็บเข้ากองทุนน้ำมันลง 50 สต.ต่อลิตร และลดราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นลง 50 สต.ต่อลิตร

2. เร่งรัดการลงทุนด้านพลังงาน รวมกว่า 200,000 ล้านบาท ในปี 2563 สร้างการจ้างงานกว่า 10,000 คน โดยในปี 2563 จะมีการเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ เริ่มดำเนินการ LNG Hub เริ่มการลงทุนพัฒนา Grid Modernization และศึกษาความเป็นไปได้ของ Grid Connectivity กับประเทศเพื่อนบ้าน การรื้อถอนแท่นปิโตรเลียม และเร่ง LNG receiving Terminal

3. กระตุ้นเศรษฐกิจ ฟื้นฟูหลังโควิด-19 รวมกว่า 30,000 ล้านบาท สร้างรายได้ให้ชุมชน เกิดการจ้างงานกว่า 8,000 คน ซึ่งต่อจากนี้ กฟผ. จะกระตุ้นให้เกิดการค้าผ่านตลาดนัดออนไลน์ชุมชนโรงไฟฟ้าและท่องเที่ยวเขื่อนทั่วไทย และ ปตท. จะจัด Living Community Market Place และเที่ยวทั่วทิศกระตุ้นเศรษฐกิจกับ Blue card พร้อมทั้ง กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มีแผนที่จะขยายสายส่งไฟฟ้าเพื่อผันแม่น้ำยวมสู่อ่างเก็บน้ำภูมิพลเพื่อชลประทาน และยังช่วยลดปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นได้ด้วย รวมไปถึงการพิจารณาหาแนวทางการนำไฟฟ้าส่วนเกินมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ

“ส่วนโรงไฟฟ้าชุมชนจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน เกิดการลงทุนและสร้างรายได้กว่า 2000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานกว่า 10,000 คน เมื่อครบเป้าหมาย 700 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ การใช้ระบบ Blockchain เข้ามาช่วยในการซื้อขายปาล์มภาคพลังงานทั้งระบบ จะเกิดการหมุนเวียนรายได้กว่า 14,000 ล้านบาท และการลงทุนเพื่อช่วยประกอบการ Start up โดย ปตท. สนับสนุนทุนไปแล้วกว่า 17 ราย และ กฟผ. จะมี Innovation Holding Company เข้ามาช่วยสนับสนุนการพัฒนาไฟฟ้าในยุค Disruptive technology นอกจากนี้ ยังมีแนวทางที่จะบูรณาการทำงานกับหน่วยงานอื่น เพื่อผลักดันการพัฒนา E-Transportation ให้ครบวงจร ซึ่งกระทรวงพลังงานและหน่วยงานในสังกัดทุกหน่วยจะเร่งเดินหน้าตามแผนงานดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนมีรายได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยให้เดินหน้าอย่างเข้มแข็งต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการแถลงข่าวโครงการ EGAT Care Back to School

กระทรวงพลังงาน ร่วมกับ กฟผ. หยุดการแพร่ระบาด COVID-19 เตรียมพร้อมเดินหน้าส่งมอบหน้ากากอนามัย เจลอนามัย “น้ำใจ” กฟผ. เสากดแอลกอฮอล์เจลแบบเท้าเหยียบ และสบู่เหลวจากผลิตภัณฑ์ชุมชน ให้นักเรียนและบุคลากรด้านการศึกษากว่า 2 แสนคน ในสถานศึกษากว่า 600 แห่ง ทั่วประเทศ ดีเดย์ รับเปิดเทอม 1 ก.ค. นี้

วันนี้ (24 มิถุนายน 2563) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการแถลงข่าวโครงการ EGAT Care Back to School ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกัน ลดความเสี่ยง และหยุดการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ช่วงเปิดภาคเรียนของภาคการศึกษา โดยมีนายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี และนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. ร่วมการแถลงข่าว ณ ห้อง Auditorium ชั้น 3 อาคาร ท.103 สำนักงานใหญ่ กฟผ. จ.นนทบุรี

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ในประเทศไทยนับว่ามีการควบคุมได้ดี ด้วยความร่วมมือร่วมใจยึดแนวทางปฏิบัติของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด ซึ่งกระทรวงพลังงาน ภายใต้รัฐบาลก็เร่งขับเคลื่อนแนวทางการช่วยเหลือภาคประชาชนและภาคธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า การลดค่าไฟ ช่วยประชาชน การลดราคาก๊าซ NGV สำหรับรถสาธารณะ และการลดราคาก๊าซหุงต้ม LPG รวมถึงที่ผ่านมาได้ร่วมกับ กฟผ. จัดหาแอลกอฮอล์เพื่อประชาชน โดยส่งมอบไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และ สถานบริการสาธารณสุขชุมชน 9,863 แห่งทั่วประเทศ ปริมาณแอลกอฮอล์รวมทั้งสิ้น 1,972,600 ลิตร และโครงการ EGAT Care Back to School เป็นโครงการที่แสดงถึงการให้ความสำคัญต่อภาคการศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อเสริมความพร้อมและเพิ่มศักยภาพในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ภายในสถานศึกษา

นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า ด้วย กฟผ. เห็นถึงความสำคัญของการป้องกัน การแพร่ระบาด COVID-19 ของภาคการศึกษา จึงเกิดโครงการ EGAT Care Back to School ขึ้น โดยจะดำเนินการส่งมอบหน้ากากอนามัย เจลอนามัย “น้ำใจ” กฟผ. เสากดแอลกอฮอล์เจลแบบเท้าเหยียบ และ สบู่เหลวจากผลิตภัณฑ์ชุมชนรอบพื้นที่ กฟผ. ให้กับนักเรียน และบุคลากรการศึกษา จำนวนมากกว่า 200,000 คน ในสถานศึกษา 600 กว่าแห่งทั่วประเทศ โดยจะเริ่มส่งมอบอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563

สำหรับ ภายในงานจัดให้มีการมอบหน้ากากอนามัย เจลอนามัย “น้ำใจ” กฟผ. เสากดแอลกอฮอล์ เจลแบบเท้าเหยียบ และสบู่เหลวจากผลิตภัณฑ์ชุมชน ให้กับผู้แทนโรงเรียนวัดจันทร์ (ผาดไสวประชาอุทิศ) โรงเรียนวัดลุ่ม โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์บางกรวย โรงเรียนวัดฉัตรแก้วจงกลนี โรงเรียนวัดคฤหบดี โรงเรียนวัดสามัคคีสุทธาวาส โรงเรียนวัดฝาง โรงเรียนบางยี่ขันวิทยาคม และโรงเรียนศีลาจารพิพัฒน์ รอบพื้นที่สำนักงานใหญ่ กฟผ. จ.นนทบุรี

“กฟผ. พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ให้คนไทยยึดแนวปฏิบัติในการดูแลตนเองและส่วนรวมเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดซ้ำอีก โดย กฟผ. ขอเคียงข้างคนไทยทุกวิกฤตและพร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนร่วมฟื้นฟูประเทศไทย จากสถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)

วันนี้ (15 มิ.ย. 63) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) โดยมีเรื่องพิจารณาที่สำคัญคือการปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิง ที่กระทรวงพลังงานได้ศึกษาไว้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 แต่ได้เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนและให้ข้อคิดเห็นเพื่อทำให้ราคาโปร่งใสและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่ง กบง. ในคราวการประชุมเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์ราคาฯ ไว้แล้ว แต่ด้วยช่วงนั้นเป็นช่วงการแพร่ระบาดของ Covid-19 จึงยังไม่ทันได้เริ่มใช้หลักเกณฑ์นั้น ในการพิจารณาของ กบง. ครั้งนี้ เห็นว่าเป็นช่วงเวลาที่ควรจะเริ่มใช้หลักเกณฑ์การคำนวณใหม่แล้ว เมื่อคำนวณราคา ณ โรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงตามเกณฑ์ใหม่แล้ว จะส่งผลต่อราคาหน้าโรงกลั่นลดลงเฉลี่ย 0.50 บาทต่อลิตร ราคาขายปลีกลดลงได้เฉลี่ย 0.50 บาทต่อลิตร ตามประเภทต้นทุนของแต่ละชนิดเชื้อเพลิง โดยจะให้เริ่มใช้ในวันที่ 17 มิถุนายน 2563 และสำหรับข้อกังวลของโรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีต่อค่าการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันนั้น กระทรวงพลังงานรับทราบแล้ว และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาเพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และให้นำมาเสนอ กบง. พิจารณาในโอกาสต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน ได้ใช้โอกาสนี้ทบทวนความเข้าใจเรื่องการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยนั้นเป็นการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม กระทรวงพลังงานไม่ได้กำหนดราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงหน้าสถานีบริการ ซึ่งผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ละแต่ละยี่ห้อแต่ละสถานีบริการจะปรับราคาขึ้นหรือลงตามการแข่งขันอย่างเสรี กระทรวงพลังงานเพียงจัดทำโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นเพื่อไว้ประเมินราคาที่ควรจะเป็น ณ เวลานั้นๆ มีไว้อ้างอิง เปรียบเทียบ ไม่มีผลบังคับกับผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงแต่อย่างใด ราคาน้ำมันของตลาดโลกมีการเปลี่ยนแปลงปรับขึ้นหรือลงทุกวัน ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงหน้าสถานีบริการของประเทศไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลงทุกวัน กระทรวงพลังงานจะติดตามความเหมาะสมโดยมี “ค่าการตลาด” หรือประมาณการกำไรขั้นต้นก่อนหักค่าใช้จ่ายระหว่างผู้ค้าน้ำมันและเจ้าของสถานีบริการแต่ละยี่ห้อไว้ในโครงสร้าง  ซึ่งค่าการตลาดที่ กบง. เคยเห็นชอบไว้ที่อัตราเฉลี่ย 1.85 บาทต่อลิตร เป็นค่าการตลาดเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของน้ำมันทุกชนิดในภาพรวม ไม่ใช่พิจารณารายผลิตภัณฑ์ และจะมีความยืดหยุ่น +/- 0.40 บาทต่อลิตร หรือค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยจะอยู่ในช่วง 1.45 – 2.25 บาทต่อลิตร

ในวันนี้ได้มีการพิจารณาเรื่องสำคัญอีก 2 เรื่อง เป็นมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดของ Covid-19 คือการปรับราคา LPG และ NGV ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าแม้จะเข้าสู่การผ่อนคลายจากสถานการณ์ Covid-19 แล้ว แต่ยังเป็นระยะปรับตัวทางเศรษฐกิจ  ในช่วงนี้จะขอความร่วมมือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ขยายเวลาการช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อย กลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอย ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 100 บาท/คน/เดือน ต่อไปจนถึงเดือนกันยายน 2563 และช่วยขยายเวลาลดราคาขายปลีก NGV รถโดยสารสาธารณะ (ในเขต กทม./ปริมณฑล: รถแท็กซี่/ตุ๊กตุ๊ก/รถตู้ ร่วม ขสมก. ในต่างจังหวัด: รถโดยสาร/มินิบัส/สองแถว ร่วม ขสมก.    รถโดยสาร/รถตู้ ร่วม บขส. และรถแท็กซี่) ที่ปรับลดจาก 13.62 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 10.62 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ให้ขยายเวลาถึงเดือนกรกฎาคม 2563 ด้วย

 

นายกรัฐมนตรี รับมอบนวัตกรรม สู้ภัย COVID-19

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมกิจกรรมมอบ “นวัตกรรม กฟผ. สู้ภัย COVID – 19” โดยมีนายสนธิรัตน์ สนธิจรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รายงานข้อมูลภาพรวม และผู้บริหารกระทรวงพลังงาน ผู้บริหาร กฟผ. ให้การต้อนรับ ในวันอังคารที่ 9 มิถุนายน 2563 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่ จ.กระบี่ ร่วมพบปะกับกลุ่มเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน

วันนี้ (6 มิ.ย. 63) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงานได้ลงพื้นที่จังหวัดกระบี่โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ให้การต้อนรับ โดยได้ร่วมพบปะกับกลุ่มเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน และร่วมเสวนาถึงทิศทางใหม่ของการทำสวนปาล์มน้ำมันด้วยการนำระบบบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้ดูแลการซื้อขายปาล์มน้ำมันทั้งระบบ เพื่อให้เกษตรกรได้รับราคาผลผลิตที่เป็นธรรม ราคาสอดคล้องกันทั้งระบบ Value Chain โดยรายได้ตกสู่เกษตรกรอย่างแท้จริง

Blockchain จะนำมาใช้บริหารซื้อขายน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) มาผลิตไบโอดีเซล หรือ B100 เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่สะท้อนราคาผลปาล์มอย่างเป็นธรรม จะมีการเก็บข้อมูลราคาของเกษตรกร ลานเท โรงหีบ โรงผลิต B100 และโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งทำให้โครสร้างราคาสอดคล้องกันทั้งระบบ

กระทรวงพลังงานคาดว่าระบบ Blockchain จะช่วยให้เกษตรกรชาวสวนปาล์มไม่ถูกกดราคารับซื้อ สามารถพัฒนาผลผลิตที่มีคุณภาพยกระดับราคาผลปาล์มน้ำมัน และผลผลิตพืชพลังงาน สร้างเสถียรภาพราคาให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง ช่วยปรับสมดุลน้ำมันปาล์มดิบในประเทศจากการส่งเสริมให้มีการใช้ไบโอดีเซลในภาคพลังงานมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลจากต่างประเทศ ช่วยป้องกันการลักลอบการนำเข้า และยังลดปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านมลภาวะทางอากาศจากฝุ่น PM 2.5 ลดการปล่อยก๊าซเรือนจากในภาคคมนาคมขนส่งอีกด้วย

“ ขณะนี้ กระทรวงพลังงานโดยกรมธุรกิจพลังงานอยู่ระหว่างทำโครงการนำร่องเพื่อทดสอบถึงความเป็นได้ในการนำระบบ Blockchain มาใช้ ซึ่งระบบนี้มีข้อดีที่ช่วยตัดวงจรพ่อค้าคนกลางออกไป เพราะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปาล์มน้ำมันถูกกดราคาให้ตกต่ำเรื่อยมา แม้ว่าไทยจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ปลูกปาล์มมากเป็นอันดับ 3 ของโลกก็ตาม ผมจึงอยากให้ข้อมูลและให้ความมั่นใจกับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนปาล์มว่า นโยบายกระทรวงพลังงานจะเป็นเครื่องมือสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อได้รับราคาผลผลิตที่เป็นธรรม ไม่ถูกกดราคาอีกต่อไปตามนโยบาย พลังงานเพื่อทุกคน พลังงานเพื่อชุมชน ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานร่วมพิธีถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี

วันนี้ (3 มิ.ย. 63) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมผู้บริหารกระทรวงพลังงาน ร่วมทำพิธีถวายพระพรชัยมงคลสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา และเป็นประธานกิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์  “มีแล้วแบ่งปัน” โดยมอบเจลแอลกอฮอล์จำนวนกว่า 700 ชุด แก่ผู้แทนนิคมบ้านพักรถไฟ กม.11  เพื่อใช้ในการทำความสะอาดมือป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ณ ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ กระทรวงพลังงาน และผู้บริหารกระทรวงพลังงาน ได้เดินทางไปร่วมลงนามถวายพระพรสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมบันทึกเทปถวายพระพร สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี

วันนี้ (21 พ.ค. 63) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูง และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมบันทึกเทปถวายพระพร สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 3 มิถุนายน 2563 ณ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานชี้แจงกลไกการทำงานของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานปี 63

วันนี้ (18 พ.ค. 63) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ต้องการสร้างความชัดเจนให้เห็นถึงกลไกของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในปี 2563 นี้ว่ามีแนวทางการทำงานอย่างไร  โดยในส่วนของผู้มีสิทธิ์ยื่นขอรับการสนับสนุนโครงการนั้นแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ประเภทหน่วยงานทั่วๆ ไป ได้แก่ หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา หรือองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร เช่น มูลนิธิที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับพลังงานโดยตรง ซึ่งหากหน่วยงานไหนขอจะให้หน่วยงานหรือคนอื่นทำแทนไม่ได้ เพราะมีเงื่อนไขหลักเกณฑ์กำหนดไว้ และอีกประเภทคือปีนี้จะมีอยู่ในรูปแบบของคณะกรรมการจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อยื่นขอรับการสนับสนุนโครงการที่เกี่ยวกับพลังงานชุมชน หรือที่เรียกว่าสถานีพลังงาน เพื่อใช้ประโยชน์จากพลังงานไปเชื่อมโยงด้านต่างๆ เช่น เชื่อมโยงด้านการเกษตร เชื่อมโยงต่อยอดด้านการตลาด เป็นต้น ซึ่งคณะกรรมการฯนี้มีทั้งเกษตรจังหวัด ธกส. คลังจังหวัด พลังงานจังหวัดร่วมอยู่ด้วย ซึ่งเป็นรูปแบบโครงการที่ปีนี้เพิ่มเติมเข้ามาเพื่อหวังใช้กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก

นอกจากนี้ หลักเกณฑ์ในการพิจารณากลั่นกรองคัดเลือกโครงการในปีนี้จะเพิ่มเติมต่างจากที่ผ่านมาจะใช้เกณฑ์ในเรื่องของโครงการที่สามารถพัฒนาต่อยอด เช่น ก่อให้เกิดการจ้างงาน การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก การยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชนเป็นหลัก และที่สำคัญปีนี้กองทุนฯมีโครงสร้างบริหารงานผ่านคณะอนุกรรมการ 4 ส่วน ได้แก่ 1.คณะอนุกรรมการกองทุนฯ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน จะดำเนินการในเรื่องของการวางยุทธศาสตร์ นโยบายและทิศทางของพลังงานไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการอนุมัติโครงการ 2.คณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการฯ คณะอนุกรรมการ ทำหน้าที่กลั่นกรองและเสนอความเห็นเกี่ยวกับ งบประมาณรายจ่ายประจำปี/แผน/งาน/โครงการ ต่อคณะกรรมการกองทุนฯ 3.คณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผล ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในปีนี้ จุดประสงค์เพื่อให้ทุกเม็ดเงินที่ได้รับการสนับสนุนไปมีการติดตามประเมินผลก่อนและหลังโครงการว่าเกิดผลลัพธ์อย่างไร ซึ่งถือเป็นเรื่องที่กระทรวงพลังงานให้ความสำคัญ และ 4.คณะอนุกรรมการบริหารสำนักงานบริหารกองทุนฯ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างสำนักงานฯให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ กระบวนการยื่นโครงการก็ผ่านรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น และคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ จะวางรายละเอียดหลักเกณฑ์โครงการ และหากมีโครงการเข้าหลักเกณฑ์แล้วยังต้องนำเสนอต่อไปยังคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นประธานอีกเป็นขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งการดำเนินงานทั้งหมดจะให้ความสำคัญกับกระบวนการที่ไม่ให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ เน้นวางโครงสร้างหลักเกณฑ์การทำงานที่ให้เกิดความโปร่งใส ชัดเจน สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งปีนี้ก็จะเป็นปีแรกที่โครงการต่างๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจะถูกเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานฯ เพื่อเปิดเผยให้สาธารณะตรวจสอบได้

“ขอยืนยันการทำงานของผมที่กระทรวงพลังงานมีจุดยืนในการทำงานที่พร้อมจะเปิดเผย เพื่อสร้างความโปร่งใส ตรวจสอบได้ให้เกิดขึ้น ข้อกังวลประเด็นการเมืองที่จะเข้ามาแทรกแซงการทำงานของกองทุนอนุรักษ์ฯ นั้น ขอย้ำว่าจะไม่เปิดโอกาสให้ใครใช้อำนาจเข้ามายุ่งเกี่ยวได้ ซึ่งหากใครมีเบาะแสความไม่โปร่งใสก็ขอให้ร้องเรียนเข้ามาจะดำเนินการตรวจสอบทันที จึงขอให้ความมั่นใจได้ว่ากระบวนการพิจารณาอนุมัติโครงการของกองทุนอนุรักษ์ฯ มีความชัดเจนในตัว เป็นไปอย่างเปิดเผย โปร่งใส และตรวจสอบได้ ทั้งนี้เพื่อให้กลไกของกองทุนอนุรักษ์ฯสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แก้ปัญหาภัยแล้ง ช่วยให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพสมดังเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ ” นายสนธิรัตน์ กล่าวสรุปในตอนท้าย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางในการช่วยแก้ปัญหาราคาผลผลิตปาล์มน้ำมันที่ตกต่ำในปัจจุบัน

วันนี้ (8 พ.ค.63) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้ร่วมหารือกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางในการช่วยแก้ปัญหาราคาผลผลิตปาล์มน้ำมันที่ตกต่ำในปัจจุบัน โดยที่ประชุมเห็นชอบให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดซื้อน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ที่เหลือให้ครบตามมติ ครม. ที่ได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานโดย กฟผ. จัดซื้อ CPO จำนวน 200,000 ตัน เพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบัน กฟผ. ได้รับซื้อไปแล้วจำนวน 2 ครั้ง รวม 162,450 ตัน คงเหลืออีก 37,550 ตัน ทั้งนี้เพื่อเร่งรัดการจัดซื้อน้ำมันปาล์มดิบส่วนที่เหลือให้ครบ 200,000 ตัน เพื่อเร่งดูดซับระดับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบ

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้มอบให้กรมธุรกิจพลังงานไปประเมินเพื่อหากลไกในการดูดซับสต็อกไบโอดีเซล (B100) ล่วงหน้า เพื่อนำไปใช้ในการผลิต B10 ตามนโยบายส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลของกระทรวงพลังงาน เพราะขณะนี้ยอดการใช้ดีเซลในช่วงต้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมาเริ่มกลับมาอยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด ซึ่งคาดว่าในสัปดาห์หน้าจะสามารถได้ข้อสรุปว่าจะเป็นอย่างไร
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือกับ พล.ต.อ.ดร.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาฯนายกฯ ฝ่ายการเมือง ซึ่งได้ร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับปาล์มน้ำมันในพื้นที่ปฏิบัติจริง โดยได้บูรณาการความร่วมมือในพื้นที่เพื่อพิจารณาถึงสาเหตุว่ามีสิ่งใดเป็นกลไกหลักที่ทำให้ปาล์มน้ำมันราคาต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อจะได้นำมาเป็นแนวทางในการวางมาตรการช่วยแก้ปัญหาได้ในโอกาสต่อไป

“การประชุมวันนี้เป็นการหารือร่วมหลายฝ่ายในการแก้ปัญหาเรื่องราคาปาล์มน้ำมัน ซึ่งที่ประชุมมีแนวทางหลากหลายในการช่วยแก้ปัญหาผลผลิตราคาปาล์มที่ตกต่ำกว่าปกติ เพราะเนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลที่มีผลผลิตปาล์มน้ำมันออกมามากในช่วงมีนาคม-เมษายน และประกอบกับการบริโภคพลังงานที่ลดลงจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด และก็ได้แนวทางให้กฟผ.เร่งรับซื้อ CPO ที่เหลืออีกราว 37,000 ตัน และให้กรมธุรกิจพลังงานเร่งหามาตรการซื้อ B100 ล่วงหน้าเพื่อดูดซับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบในตลาดให้ได้มากที่สุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวสวนปาล์มที่ประสบปัญหาราคาตกต่ำอยู่ในขณะนี้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงตรวจเยี่ยมคลังน้ำมันและสถานีบริการน้ำมัน ที่จ.สมุทรสาคร รวมทั้งมอบของช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด19

วันนี้ (8 พ.ค.63) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน ได้ลงตรวจเยี่ยมคลังน้ำมันและสถานีบริการน้ำมัน ที่จ.สมุทรสาคร รวมทั้งมอบของช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด19 ซึ่งภายหลังการตรวจเยี่ยม นายสนธิรัตน์กล่าวว่า วันนี้เป็นการมารับฟังการดำนินงานของผู้ประกอบการด้านคลังน้ำมัน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ของประเทศ พร้อมรับฟังปัญหาและอุปสรรคในช่วงสถานการณ์โควิด ซึ่งคลังน้ำมันสมุทรสาครของบริษัท พี.เอส.พี. สเปเชียลตี้ส์ จำกัด เป็นผู้ประกอบธุรกิจด้านพลังงานเชื้อเพลิงรายใหญ่ในจังหวัดสมุทรสาคร ให้บริการด้านการจัดเก็บ จัดจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง และผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อหลื่น ให้แก่ผู้ค้าน้ำมันรายสำคัญของประเทศ ซึ่งมีศักยภาพในการขับเคลื่อนธุรกิจท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ได้อย่าง มีประสิทธิภาพ โดยดำเนินมาตรการในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดฯ อย่างเป็นระบบ สามารถขับเคลื่อนธุรกิจพลังงานให้แก่ประชาชนได้เต็มที่

ทั้งนี้ ในวันเดียวกัน ยังได้ติดตามการดำเนินงานและรับฟังปัญหาจากผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันซึ่งส่วนใหญ่ประสบปัญหาด้านยอดจำหน่ายน้ำมันที่ลดลงจากสถานการณ์ที่ประชาชนต้องอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ มีการเดินทางน้อยลง พร้อมกันนี้ยังได้มอบสิ่งของช่วยเหลือในช่วงการแพร่ระบาดของโรค โควิด อาทิ แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรค และเครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบแก่ประชาชนในช่วงวิกฤตนี้

“ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ วัตถุประสงค์หลักของผมคือ ต้องการดูข้อเท็จจริงและสถานการณ์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับมิติด้านพลังงาน ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของผมและกระทรวงพลังงานว่ายังสามารถทำงานและขับเคลื่อนหรือให้บริการกับพี่น้องประชาชนในภาวะวิกฤตโควิด 19 ได้มีประสิทธิภาพเหมือนสภาวะปกติหรือไม่ ทั้งนี้เราใช้ประชาชนเป็นตัวตั้ง ทั้งในส่วนพี่น้องประชาชน ผู้บริโภคและผู้ให้บริการ ตลอดจนผู้ประกอบการต่างๆ ซึ่งหากพวกเขาเหล่านี้ประสบปัญหา กระทรวงพลังงานจะได้แก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที และมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกัน ผมถือโอกาสนี้เข้าเยี่ยมเยียนและพบปะพี่น้องประชาชนโดยตรง และได้นำสิ่งของที่จำเป็นต่อชีวิตของประชาชนในเบื้องต้นมาแจกจ่ายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน พร้อมๆ กันด้วย” นายสนธิรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในวันฉัตรมงคล

วันนี้ (4 พ.ค. 63) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูง ถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในวันฉัตรมงคล โดยประธานในพิธีเปิดกรวยกระทงดอกไม้หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ กล่าวคำถวายพระพร ผู้เข้าร่วมพิธีร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี เพลงสดุดีจอมราชา ณ บริเวณ ศูนย์เอนเนอร์ยีคอมเพล็กซ์ กระทรวงพลังงาน

 

รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมพิจารณามาตรการช่วยเหลือเรื่องค่าไฟฟ้าเพิ่มเติมให้กับกลุ่มผู้ประกอบการภาคเอกชน

รองนายกฯสมคิดนั่งหัวโต๊ะเคาะช่วยเหลือค่าไฟภาคเอกชน ออกมาตรการเพิ่มเติมให้กลุ่มผู้ประกอบการ เตรียมยกเว้นเก็บอัตราค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ (Minimum Charge) ให้เก็บตามจริงยาวถึงสิ้นปี 63 พร้อมเล็งพิจารณาแนวทางผ่อนผันชำระค่าไฟให้ผู้ประกอบการ และเตรียมพิจารณาคืนประกันการใช้ไฟฟ้าให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดกลางและใหญ่

วันนี้ (23 เม.ย.63) ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมพิจารณามาตรการช่วยเหลือเรื่องค่าไฟฟ้าเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 เพิ่มเติมให้กับกลุ่มผู้ประกอบการภาคเอกชนพร้อมด้วย นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยมีผู้แทนผู้ประกอบการจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) 3 การไฟฟ้า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

นายสนธิรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า เพื่อแก้ปัญหาภาระค่าไฟฟ้าของภาคเอกชนจึงได้เชิญภาคเอกชนมาหารือ ซึ่งเป็นมาตรการที่กระทรวงพลังงานดำเนินการต่อเนื่องหลังจากก่อนหน้าที่ได้ช่วยเหลือค่าไฟกับกลุ่มบ้านพักอาศัยไปแล้ว โดยการหารือครั้งนี้ภาคเอกชนได้ร้องขอมาตรการช่วยเหลือสำคัญคือการยกเว้นการเก็บอัตราค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ  (Minimum Charge) ที่กำหนดในโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศ โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปดังนี้

1.การยกเว้นเก็บอัตราค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ  ซึ่ง กกพ. ได้เตรียมมาตรการเรื่องนี้ไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยจะยกเว้นการจัดเก็บดังกล่าว เป็นการจัดเก็บตามการใช้จริงเพื่อช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 3 (กิจการขนาดกลาง) ประเภทที่ 4 (กิจการขนาดใหญ่) ประเภทที่ 5 (กิจการเฉพาะอย่าง) ประเภทที่ 6 (องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร) ประเภทที่ 7 (สูบน้ำเพื่อการเกษตร) ซึ่งเดิม กกพ. ได้วางมาตรการช่วยเหลือตั้งแต่เดือน เม.ย.- มิ.ย.63   แต่อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการขอให้พิจารณาขยายต่อให้จากเดือนมิ.ย. จนถึงเดือน ธ.ค. 63 ซึ่ง กกพ. รับจะพิจารณาขยายต่อ

2.ผู้ประกอบการขอให้มีการผ่อนผันชำระค่าไฟฟ้าให้กับภาคธุรกิจด้านบริการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด เช่น ท่องเที่ยว โรงแรม โดย กกพ. ให้ผู้ประกอบการจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมทั้งภาคบริการและภาคอื่นๆ เพื่อใช้ประกอบในการพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือต่อไป

3.การคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดกลางและใหญ่ ซึ่ง กกพ. จะรับเรื่องนี้ไปพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

“การหารือในวันนี้ เรื่องที่ภาคเอกชนต้องการเรื่องผ่อนผันการเก็บอัตราค่าไฟฟ้าขั้นต่ำนั้นบรรลุวัตถุประสงค์ตามความต้องการแล้ว เพราะทางกระทรวงพลังงานโดย กกพ. ได้เตรียมวางมาตรการเรื่องนี้ไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว จึงทำให้การประชุมวันนี้ที่มีท่านรองนายกฯสมคิดร่วมเป็นประธานได้ข้อสรุปในระยะเวลาสั้นมาก สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ทุกฝ่าย  ซึ่งกระทรวงพลังงานทราบถึงความเดือดร้อนที่ทุกภาคส่วนได้รับจากสถานการณ์โควิดเป็นอย่างดี และพยายามที่จะผลักดันมาตราการพลังงานต่างๆเพื่อบรรเทาและช่วยเหลือทุกกลุ่มให้มากที่สุด”  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว

กระทรวงพลังงานเพิ่มมาตรการบรรเทาผลกระทบค่าไฟให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทครัวเรือน

กระทรวงพลังงานเพิ่มมาตรการบรรเทาผลกระทบค่าไฟให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทครัวเรือนที่สนองนโยบายรัฐอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ โดยแบ่ง 2 กลุ่ม กลุ่มแรกผู้ใช้ไฟฟรี จะขยายปริมาณการใช้ไฟให้จาก 90 หน่วย เป็น 150 หน่วย กลุ่มสอง ลดภาระค่าไฟครัวเรือนโดยยึดหน่วยการใช้ไฟเดือนก.พ.63 ก่อนเกิดโควิดเป็นเกณฑ์ หากใช้ไฟไม่เกิน 800 หน่วยจ่ายเท่าเดิมเท่ากับเดือนก.พ. หากเกิน 800 หน่วยมีส่วนลดปริมาณหน่วยการใช้ไฟฟ้าส่วนเกินโดยจะลดให้ 50%ของหน่วยไฟฟ้าที่เกิน และถ้าใช้มากเกิน 3,000 หน่วยมีส่วนลดปริมาณหน่วยการใช้ไฟฟ้าส่วนเกินโดยจะลดให้ 30%ของหน่วยไฟฟ้าที่เกิน มาตรการดังกล่าวจะมีผลตั้งแต่ มี.ค.-พ.ค.63 โดย กกพ. เตรียมสรุปเสนอที่ประชุม ครม. พรุ่งนี้เพื่อเร่งบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน

วันนี้ (20 เม.ย.63) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานตระหนักถึงปัญหาของประชาชนในรายจ่ายด้านค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นจากมาตรการของภาครัฐที่ให้อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติด้วยการทำงานที่บ้าน (Work From Home) ในช่วงแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงได้เชิญหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งในสังกัดกระทรวงพลังงาน ได้แก่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และหน่วยงานสังกัดกระทรวงมหาดไทย ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อพิจารณามาตรการบรรเทาผลกระทบด้านค่าไฟฟ้าเพิ่มเติมโ ดยที่ประชุมสรุปมารตการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟประเภทครัวเรือนรวม 20 ล้านคน แบ่งมาตรการได้ดังนี้
กลุ่มประเภทอัตราค่าไฟ 1.1 ซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าที่ติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าขนาดไม่เกิน 5 แอมแปร์ 230 โวลต์ 1 เฟส 2 สาย ซึ่งมีประมาณ 10 ล้านครัวเรือน จะขยายหน่วยการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากเดิมให้ใช้ไฟฟรีที่ 90 หน่วย เป็น 150 หน่วย ตั้งแต่มี.ค.-พ.ค.63
กลุ่มประเภทอัตราค่าไฟ 1.2 กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยขึ้นไป ซึ่งติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า ขนาดเกินกว่า 5 แอมแปร์ 230 โวลต์ 1 เฟส 2 สาย จะช่วยเหลือโดยใช้หน่วยการใช้ไฟฟ้าของแต่ละครัวเรือนในเดือนก.พ.63 เป็นเกณฑ์ เพราะเป็นเดือนที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 โดยมีการกำหนดมาตรการความช่วยเหลือเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 3 เดือนมี.ค.-พ.ค.63 แบ่งตามระดับปริมาณการใช้ไฟฟ้า ได้ดังนี้

– ครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 800 หน่วย จะจ่ายค่าไฟเท่ากับเดือน ก.พ. เช่น เดือนกุมภาพันธ์ใช้ไฟฟ้า 500 หน่วย และในเดือนมีนาคมมีการใช้ไฟฟ้า 700 หน่วย ซึ่งไม่เกิน 800 หน่วย จะจ่ายค่าไฟฟ้าคิดตามจำนวน 500 หน่วยเท่ากับเดือนกุมภาพันธ์
– ครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 800 หน่วย จะคำนวณหน่วยใช้ไฟฟ้าจากส่วนต่างที่เกินจาก 800 หน่วย โดยลดให้ 50%ของหน่วยที่ใช้เกิน เช่น เดือน ก.พ.ใช้ 500 หน่วย เดือน มี.ค.ใช้ 1,000 หน่วย ซึ่งเกินจาก 800 หน่วยตามเกณฑ์ ส่วนต่างหน่วยใช้ไฟฟ้าเมื่อเทียบจากกุมภาพันธ์ อยู่ที่ 500 หน่วย เมื่อลด 50% เท่ากับส่วนต่างใช้ไฟเพิ่ม 250 หน่วย นำส่วนต่าง 250 หน่วยรวมกับ 500 หน่วยที่ใช้ในเดือนฐาน ก.พ. ก็เท่ากับหน่วยไฟที่ใช้และนำคำนวณเป็นค่าไฟตามหลักเกณฑ์ของการไฟฟ้า เป็นจำนวน 750หน่วยที่จะใช้คำนวณค่าไฟฟ้าในเดือน มีนาคม
– ครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้ามากคือใช้เกิน 3,000 หน่วย ก็จะมีส่วนลดให้ 30% ของหน่วยที่ใช้เกิน เช่น เดือนก.พ.ใช้ไฟ 1,200 หน่วย เดือนมี.ค.ใช้ 3,200 หน่วย ซึ่งเกินจาก 3,000 หน่วยตามเกณฑ์ ส่วนต่างหน่วยใช้ไฟฟ้าเมื่อเทียบจากกุมภาพันธ์ อยู่ที่ 2,000 หน่วย คิดส่วนลด 30% จาก 2,000 หน่วยคือ 600 หน่วย เท่ากับต้องเสียส่วนเพิ่มค่าไฟที่ 1,400 หน่วย และนำ 1,400 หน่วยไปบวกกับฐานการใช้ไฟ ก.พ. 1,200 หน่วย เท่ากับต้องจ่ายค่าไฟที่ 2,600 หน่วย สำหรับเดือนมีนาคม

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวทั้งสองกลุ่มจะดำเนินการในการคิดค่าไฟฟ้า 3 เดือนคือ มี.ค.-พ.ค.2563 โดยหากมีการจ่ายค่าไฟในบิลเดือนมี.ค.หรือเม.ย.ไปแล้วจะมีการนำเงินคืนอัตโนมัติผ่านรอบบิลถัดไป
“เป็นความตั้งใจของหน่วยงานของรัฐในการดูแลความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยเมื่อมีปัญหาก็พยายามหาทางออกเพื่อแบ่งเบาภาระผลกระทบ ซึ่งเป็นที่มาของการประชุมในวันนี้ กระทรวงพลังงานคาดหวังว่าจะช่วยลดภาระให้ประชาชนลงได้ ซึ่งขั้นตอนจากนี้ ทาง กกพ. จะสรุปหลักเกณฑ์เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป ซึ่งคาดว่าจะนำเสนอได้ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันพรุ่งนี้ (21 เม.ย.63)” นายสนธิรัตน์กล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในการส่งมอบแอลกอฮอล์โครงการพลังงานร่วมใจสู้ภัยโควิด-19

กระทรวงพลังงานดีเดย์เริ่มกระจายแอลกอฮอล์ให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ประเดิมที่จังหวัดนนทบุรี 76 แห่ง พร้อมทยอยจัดส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อส่งต่อให้สาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้กระจายต่อไปยังโรงพยาบาลสุขภาพตำบลกว่า 9,800 แห่งทั่วประเทศ

วันนี้ (20 เม.ย.63) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เป็นประธานในการส่งมอบแอลกอฮอล์โครงการพลังงานร่วมใจสู้ภัยโควิด-19 ให้แก่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ที่ศาลาว่าการจังหวัดนนทบุรี โดยมีนายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีให้การต้อนรับ

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้ดำเนินโครงการจัดหาแอลกอฮอล์เพื่อประชาชน เพื่อให้หน่วยงานสาธารณสุข และพี่น้องประชาชนในชุมชนได้เข้าถึงแอลกอฮอล์อย่างทั่วถึง โดยร่วมมือกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)และบริษัทในเครือ ซึ่งเป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงพลังงาน จัดหาแอลกอฮอล์ 70% เพื่อกระจายให้กับกระทรวงสาธารณสุข โดยส่งไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั่วประเทศเพื่อนำไปใช้ทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ หรือใช้ป้องกันโรคระบาดโควิดกับพี่น้องประชาชนที่อยู่บริเวณรอบโรงพยาบาล และประชาชนในกลุ่มที่มีความจำเป็นต้องเข้าถึงแอลกอฮอล์ให้มากขึ้น เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ หรือกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว

“วันนี้เป็นวันแรกที่เริ่มกระจายแอลกอฮอล์ส่งให้กับทุกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โดยเริ่มในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีเป็นที่แรก ซึ่งมีโรงพยาบาลฯสุขภาพตำบลรวม 76 แห่ง โดยมีปริมาณจัดหาแอลกอฮอล์สำหรับจังหวัดนนทบุรีรวม 7,600 ลิตร ซึ่งจะจัดส่งผ่านท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อให้สาธารณสุชจังหวัดกระจายต่อไปยังรพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล” นายสนธิรัตน์กล่าว

ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานได้ร่วมกับกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง พิจารณาอนุญาตนำเอทานอลไปผลิตเป็นเจลล้างมือได้ โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากกระทรวงพลังงาน เนื่องจากกระทรวงพลังงานได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นสถานการณ์เร่งด่วน และมีปริมาณเอทานอลสำรองเพียงพอในการใช้ในภาคพลังงาน

“เรื่องนี้ผมและหน่วยงานในกระทรวงพลังงานมีความมุ่งมั่นอย่างมาก เพราะในสถานการณ์ขณะนี้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือร่วมใจกัน ใครทำอะไรได้ต้องรีบทำ เพราะความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเขารอไม่ได้ กระทรวงพลังงาน โดย กฟผ. และ ปตท.จะเร่งกระจายแอลกอฮฮล์นี้ผ่าน รพ.สต.ให้ถึงมือประชาชนให้เร็วที่สุด และก็ได้แบ่งพื้นที่กันรับผิดชอบแล้วหน่วยงานละประมาณ 4,900 แห่ง เพื่อกระจายให้ประชาชนใช้ทำความสะอาดมือและสิ่งของต่างๆป้องกันการระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งผมเองก็ได้ติดตามตัวเลขผู้ติดเชื้อที่มีแนวโน้มดีขึ้น แต่เราต้องการ์ดไม่ตกครับ ประเทศไทยจะได้ผ่านวิกฤตินี้ไปได้ด้วยความร่วมมือกันครับ”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวในท้ายที่สุด

กระทรวงพลังงาน สนับสนุนแอลกอฮอลล์ มอบรพ.สุขภาพตำบล กว่า 9,800 แห่งทั่วประเทศ

กระทรวงพลังงานร่วมมือหน่วยงานในสังกัด กฟผ. และปตท. จัดหาแอลกอฮอล์ 70% สำหรับทำความสะอาดมือและพื้นผิวทั่วไปเพื่อมอบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจำนวน 9,863 แห่งทั่วประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ในช่วงระยะเวลา 30 วัน ดีเดย์เริ่มจัดส่ง 20 เมษายนนี้

 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานตระหนักถึงความสำคัญเร่งด่วนในการจัดหาแอลกอฮอล์เพื่อใช้ทำความสะอาดให้กับหน่วยงานด้านสาธารณสุขได้ใช้และให้บริการประชาชนในช่วงที่ประเทศประสบวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานในสังกัดทั้ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)และบริษัทในเครือ ทำโครงการจัดหาแอลกอฮอล์เพื่อประชาชน โดยจะนำแอลกอฮอล์70% ทยอยจัดส่งให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจำนวน 9,863 แห่งทั่วประเทศ ในระยะเวลา 30 วัน เพื่อใช้ในการทำความสะอาดมือและพื้นผิวทั่วไปป้องกันเชื้อโควิด-19 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย ผู้สูงอายุและประชาชน

“ในช่วงวิกฤตโรคระบาดโควิด-19ที่เกิดขึ้นนี้ กระทรวงพลังงานและหน่วยงานในสังกัดทั้งกฟผ.และ ปตท.ได้ร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุด โดยได้จัดทำ “โครงการพลังงานร่วมใจสู้ภัยโควิด-19” ซึ่งที่ผ่านมาดำเนินการไปแล้วในหลายเรื่อง ทั้งมาตรการด้านพลังงานโดยตรง และมาตรการด้านสังคมต่างๆทั้งการสนับสนุนงบประมาณ การสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์  ซึ่งวันนี้ความจำเป็นเร่งด่วนในการสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ ด้านสุขอนามัยของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ กระทรวงพลังงานจึงได้จัดหาแอลกอฮอล์เพื่อส่งมอบสนับสนุนภารกิจให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั่วประเทศซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ประชาชนได้เข้าถึงแอลกอฮอล์ได้สะดวกยิ่งขึ้นด้วย กระทรวงพลังงานเองยังมีความมุ่งมั่นที่จะหามาตรการพลังงานด้านต่างๆเข้ามาช่วยเยียวยาผลกระทบกับประชาชน พร้อมไปกับมาตรการที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม ทั้งนี้ก็อยากให้ทุกคนร่วมมือร่วมใจกัน สามัคคีกัน เราฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกันครับ”นายสนธิรัตน์กล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รับมอบสเปรย์ฆ่าเชื้อโรคเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19

วันนี้ (31 มีนาคม 2563) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รับมอบสเปรย์ฆ่าเชื้อโรคเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 จำนวน 5,000 ขวด  พร้อมด้วยแอลกอฮอล์จำนวน 1,000 ลิตร จาก นายสุพจน์ ศรีสถาพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  นายกำธร วังอุดม กรรมการ บริษัท ทรัพย์ทิพย์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการด้านเอทานอล ที่มีความประสงค์สนับสนุนภารกิจของกระทรวงพลังงานในการส่งต่อเอทานอลสำหรับทำความสะอาดหรือผลิตเจลล้างมือให้แก่โรงพยาบาล หรือประชาชนที่ขาดแคลน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวแสดงความขอบคุณ และมอบหมายให้เจ้าหน้าที่สำนักงานรัฐมนตรีจัดส่งสเปรย์ฆ่าเชื้อ และแอลกอฮอล์จำนวนดังกล่าวไปให้โรงพยาบาลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในวันนี้ทันที

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แถลงข่าวการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)

ที่ประชุม กบง. เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือกลุ่มรถโดยสารสาธารณะปรับลดราคา NGV ลง 3 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิม 13.62 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 10.62 บาทต่อกิโลกรัม เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2563โดยขอความร่วมมือ ปตท. ช่วยสนับสนุนส่วนต่างเพื่อสู้ภัยโควิด-19

วันนี้ (25 มี.ค.63) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) โดยที่ประชุมได้พิจารณามาตรการช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยได้ให้ความช่วยเหลือกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ (ในเขต กทม./ปริมณฑล: รถแท็กซี่/ตุ๊กตุ๊ก/รถตู้ ร่วม ขสมก.ในต่างจังหวัด: รถโดยสาร/มินิบัส/สองแถว ร่วม ขสมก. รถโดยสาร/รถตู้ร่วม บขส. และรถแท็กซี่) เพื่อบรรเทาผลกระทบภาวะแพร่กระจายของโรคติดเชื้อ COVID-19 ยังคงมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงเป็นวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน ตลอดจนผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะ รวมถึงระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ กระทรวงพลังงาน จึงเห็นควรมีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มรถโดยสารสาธารณะเพื่อบรรเทาผลกระทบ โดยที่ประชุม กบง. เห็นชอบให้ปรับราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) สำหรับรถโดยสารสาธารณะ ลดลง 3 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิม 13.62 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 10.62 บาทต่อกิโลกรัม เป็นระยะเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2563 และขอความร่วมมือ ปตท. ให้เข้ามาช่วยเหลือส่วนต่างราคาขายปลีก NGV สำหรับรถโดยสารสาธารณะฯ เพื่อคงราคาขายปลีกที่ 10.62 บาทต่อกิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือนดังกล่าว ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน จะมีการหารือมาตรการระยะยาวสำหรับราคาก๊าซ NGV ต่อไป

กระทรวงพลังงาน ปลดล็อคนำเอทานอลส่วนเกินผลิตเจลล้างมือ

วันนี้ (13 มี.ค. 63) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ที่มีความต้องการใช้เอทานอลเพื่อนำมาผลิตเป็นเจลล้างมือที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเกิดวิกฤตการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  กระทรวงพลังงานได้ส่งหนังสือลงวันที่ 13 มีนาคม 2563 ไปยังกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลังเพื่อแจ้งให้พิจารณาอนุญาตนำเอทานอลไปผลิตเจลล้างมือได้ โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากกระทรวงพลังงาน เนื่องจากกระทรวงพลังงานได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นสถานการณ์เร่งด่วน และมีปริมาณเอทานอลสำรองเพียงพอในการใช้ในภาคพลังงานและเพียงพอสำหรับผลิตเจลล้างมือได้ โดยขอให้กรมสรรพสามิตมีการรายงานสรุปปริมาณที่อนุญาต เพื่อ กระทรวงพลังงาน จะได้ติดตามสถานการณ์การผลิตเอทานอลให้สมดุลต่อไป

สำหรับกำลังการผลิตปัจจุบันของโรงงานเอทานอลที่นำมาใช้กับภาคพลังงาน มีกำลังการผลิตประมาณ 6.3 ล้านลิตรต่อวัน โดยมีจำนวนโรงงานเอทานอลทั้งสิ้น 26 โรงงาน ในขณะที่การใช้เพื่อนำไปผสมกับน้ำมันเบนซินอยู่ที่ 4.4 ล้านลิตรต่อวัน

“ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า กระทรวงพลังงานสามารถบริหารจัดการ นำกำลังการผลิตเอทานอลส่วนเกินมาใช้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชนต่อไป โดยไม่กระทบกับภาคพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการกำกับดูแลให้มีการใช้เอทานอลเป็นไปตามวัตถุประสงค์เท่านั้น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว

นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการหรือเทียบเท่าครั้งที่ 1/2563

วันนี้ (9 มี.ค.63) ที่กระทรวงพลังงาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการหรือเทียบเท่าครั้งที่ 1/2563 โดยมีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานให้การต้อนรับ นายกรัฐมนตรีได้รับฟังความคืบหน้าของการดำเนินนโยบายต่างๆ และมอบนโยบายให้ทุกส่วนราชการที่เข้าร่วมกว่า 40 หน่วยงาน บูรณาการการทำงานในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตโรคระบาดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้อย่างเต็มศักยภาพ พร้อมขับเคลื่อนมาตรการเร่งด่วนที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขสถานการณ์ให้ผ่านพ้นไปด้วยดี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ซึ่งจะนำมาซึ่งภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ดีขึ้น

สำหรับในส่วนของกระทรวงพลังงาน นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้นำเสนอความคืบหน้าการขับเคลื่อนนโยบายพลังงานที่สำคัญ 4 ด้าน คือ

1.ด้านไฟฟ้า การขับเคลื่อนโรงไฟฟ้าชุมชนซึ่งเตรียมประกาศหลักเกณฑ์การรับซื้อได้ในเดือนมีนาคมนี้ โดยมีเป้าหมายรวมรับซื้อไฟได้ 700 เมกะวัตต์ เกิดเม็ดเงินลงทุนหมุนเวียนกว่า 6 หมื่นล้านบาท สร้างรายได้ให้กองทุนหมู่บ้านทุกปี และยังช่วยลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากการเผาวัสดุเกษตร 2.5 หมื่นตัน ซึ่งขณะนี้มีโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่องที่สามารถยื่นขอจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนได้ทันที อาทิ โรงไฟฟ้าชุมชนที่อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ที่อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ที่อ.บันนังสตา จ.ยะลา และที่อ.เมือง จ.นราธิวาส

2.ด้านน้ำมัน การส่งเสริมการใช้น้ำมัน B10 และการบริหารสต็อคน้ำมันปาล์มที่ใช้ในภาคพลังงาน โดยกระทรวงพลังงานได้ประกาศนโยบายส่งเสริมการใช้ B10 เพื่อเป็นน้ำมันดีเซลฐานของประเทศตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2562 และสามารถเดินหน้าได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยตั้งแต่ 1 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป  B10 เริ่มมีจำหน่ายทุกสถานีบริการน้ำมันแล้ว เป้าหมายเพื่อสร้างสมดุลให้กับพืชพลังงานปาล์มน้ำมัน ซึ่งภายหลังจากประกาศนโยบายทำให้ปัจจุบัน (เฉลี่ย 1-5 มี.ค.63) ราคาปาล์มทะลายอยู่ที่ 5.30 บาท/กก.จากเดิมก่อนกำหนดนโยบายอยู่ที่ประมาณ 2.80 บาท/กก. และราคาน้ำมันปาล์มดิบ(CPO) อยู่ที่ 33.50 บาท/กก.จากเดิม 16.20 บาท/กก. อีกทั้งยังวางมาตรการกำกับดูแลบริหารจัดการข้อมูลสต็อคไบโอดีเซลอย่างครบวงจร และยังวางมาตรการป้องกันการลักลอบน้ำมันปาล์มดิบเข้ามาในประเทศอย่างได้ผลด้วยการใช้เทคนิคตรวจ DNA ของสัญชาติน้ำมันปาล์มดิบ

3.ก๊าซธรรมชาติ ความคืบหน้าการพัฒนา LNG Hub ได้วางโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นศูนย์กลางด้านก๊าซธรรมชาติเหลวของเอเชีย

4.ภัยแล้ง กระทรวงพลังงานให้ความสำคัญกับสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ จึงได้เตรียมวางแผนร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการบริการจัดการให้เกิดความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้าโดยไม่กระทบต่อน้ำอุปโภคบริโภคช่วงภัยแล้ง พร้อมกับได้พัฒนาระบบ Geographical Information System เพื่อติดตามจุด

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางความร่วมมือในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

วันนี้ (5 มี.ค.63) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางความร่วมมือในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และการลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยได้ร่วมมือกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยภาคเอกชนทั้งจากกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิง ผู้ค้าปลีกน้ำมัน กลุ่มบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียม กลุ่มบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้ารวมกว่า 20 รายเพื่อระดมแนวทางในการช่วยแก้ปัญหาผลกระทบต่อเศรษฐกิจและประชาชน

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สำหรับมาตรการที่กระทรวงพลังงานและผู้ประกอบการด้านพลังงาน จะนำมาใช้ในการลดผลกระทบต่อประชาชน มีด้วยกัน 3 มาตรการ ประกอบด้วย 1. หาแนวทางการลดค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าแก๊สหุงต้ม และค่าไฟฟ้า เพื่อลดค่าใช้จ่ายผู้บริโภค 2. การแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สามารถนำเอทานอลไปผลิตแอลกอฮอล์เพื่อลดภาวะการขาดแคลน 3. แลกเปลี่ยนมาตรการการปฏิบัติงานในแต่ละองค์กร เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด 19

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นได้มอบหมายให้หน่วยงานพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือ เช่น การแจกแจลล้างมือในสถานีบริการน้ำมันเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ Covid-19 รวมทั้งการวางแผนป้องกันจากพนักงานเนื่องจากหลายหน่วยงานเป็นองค์การขนาดใหญ่ จึงต้องมีมาตรการที่เข้มข้น ไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต

“การหารือในวันนี้ เพื่อนำไปสู่มาตรการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจและบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน ซึ่งผมได้มอบให้ทุกหน่วยงานร่วมกันวางแผนขับเคลื่อนร่วมกันเพื่อให้ประเทศสามารถข้ามผ่านวิกฤตนี้ไปได้” นายสนธิรัตน์กล่าวเพิ่ม

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดงานบางจากไฮดีเซล S B 10 ดีเซลแรงแห่งปี

วันนี้ (19 ก.พ. 63) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดงานบางจากไฮดีเซล S B 10 ดีเซลแรงแห่งปี และมีนายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยผู้บริหารของกระทรวงพลังงาน ผู้บริหารบางจากฯ ผู้บริหารค่ายรถยนต์ และนายณัฐวุฒิ สะกิดใจ (ป๋อ) นักแสดงชื่อดังร่วมในงาน

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวว่า กระทรวงพลังงานมีนโยบาย “Energy For All” พลังงานจะต้องเข้าถึงทุกคน ประชาชนฐานรากต้องได้ประโยชน์จากนโยบายพลังงาน โดยใช้กลไกด้านพลังงานไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากเพื่อแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตร สนับสนุนให้เกิดการใช้น้ำมันบนดินที่มาจากผลผลิตของเกษตรกร ได้แก่ น้ำมันดีเซล B 10 ที่ส่งเสริมการใช้ปาล์มน้ำมันมาผลิตไบโอดีเซล และแก๊สโซฮอล์ E 20 ที่ส่งเสริมการใช้อ้อย มัน มาผลิตเป็นเอทานอล โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล B 10 ที่กระทรวงพลังงานได้ผลักดันให้เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานของประเทศ โดยตั้งเป้าหมายให้สถานีบริการน้ำมันจำหน่ายน้ำมันดีเซล B 10 ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563

นโยบายส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล B 10 ได้ส่งผลเป็นรูปธรรมชัดเจน ช่วยสร้างเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมัน และยังเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมเพราะช่วยลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และยังช่วยให้ผู้บริโภคประหยัดค่าใช้จ่ายจากราคาที่ต่ำกว่าน้ำมันดีเซล B 7 ถึง ลิตรละ 2 บาท ตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน

​      กระทรวงพลังงานยืนยันว่า การใช้น้ำมันดีเซล B 10 กับเครื่องยนต์ที่สามารถรองรับการใช้งานจะไม่มีผลกระทบกับเครื่องยนต์ เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์ให้การรับรองการใช้งานไว้เรียบร้อยแล้ว โดยผู้ที่มีความสนใจจะใช้น้ำมันดีเซล B 10 สามารถตรวจสอบรุ่นรถ ได้จากประกาศกรมธุรกิจพลังงานค่ายรถให้การสนับสนุนนโยบายดังกล่าว รวมถึงจะกำกับดูแล ตรวจสอบคุณภาพน้ำมันตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการจำหน่ายที่สถานีบริการน้ำมัน ให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าจะได้ใช้น้ำมันดีเซล B 10 ที่มีคุณภาพ จึงอยากเชิญชวนให้ประชาชนเลือกใช้น้ำมันดีเซล B 10 ซึ่งนอกจากจะมีส่วนช่วยเกษตรกรสวนปาล์มแล้ว ยังช่วยลดมลพิษทางอากาศด้วย

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บางจากฯ ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีพัฒนาธุรกิจทุกด้านอย่างไม่หยุดนิ่ง เพื่อให้คนไทยได้ใช้พลังงานสะอาดที่ดีทั้งต่อการใช้งานและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพลังงานด้านชีวภาพ (Bio fuel)

ที่ผ่านมาบางจากฯ เป็นธุรกิจพลังงานรายแรกๆ ที่ผลิตและจำหน่ายพลังงานทางเลือกทั้งกลุ่มแก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซลด้วยแนวคิดที่จะช่วยรองรับผลผลิตทางการเกษตร สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้เกษตรกรไทย รวมทั้งพัฒนาน้ำมันคุณภาพ EURO 5 เพื่อช่วยลดมลภาวะฝุ่นควัน ให้คนไทยได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น ซึ่งล่าสุดนี้ บริษัทฯ ได้พัฒนา “บางจากไฮดีเซล S B 10” เปิดจำหน่ายแล้วกว่า 400 แห่งทั่วประเทศ และจะขยายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

บางจากไฮดีเซล S B 10 พัฒนาขึ้นด้วยเทคโนโลยี Green S ที่มีสมรรถนะโดดเด่นทั้งความแรงและความสะอาด พร้อมผสมสารเพิ่มคุณภาพ(Additive) ได้แก่ S Super Booster และ S Super Purifier ช่วยทำให้เครื่องสะอาด ป้องกันการอุดตันของหัวฉีด และเพิ่มค่าซีเทน จึงทำให้เครื่องยนต์เผาไหม้ได้สมบูรณ์ เครื่องยนต์ทำงานเต็มสมรรถนะ ตอบสนองการขับขี่ได้ดีทั้งทางเรียบและทางชันประหยัดเชื้อเพลิง ใช้ได้กับทั้งรถเล็กและรถใหญ่ ที่สำคัญช่วยลดมลภาวะฝุ่นควัน โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 นอกจากนั้นยังประหยัดค่าใช้จ่ายจากราคาที่ต่ำกว่าน้ำมันดีเซล B 7 ถึงลิตรละ 2บาท ตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน

นายชัยวัฒน์กล่าวต่อไปว่า เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้น้ำมันดีเซล B 10 นอกจากจะเร่งขยายการจำหน่ายอย่างรวดเร็วแล้ว บางจากฯ ยังมีแผนสื่อสารประชาสัมพันธ์โดยมีนักแสดงชื่อดัง คุณป๋อ ณัฐวุฒิ สกิดใจ ซึ่งเป็นผู้ใช้น้ำมันดีเซลอยู่แล้วและเข้าใจถึงความต้องการของเครื่องยนต์ดีเซลมาเป็นพรีเซนเตอร์ พร้อมกลยุทธ์การสื่อสารทุกรูปแบบ อาทิเช่น สื่อโทรทัศน์ วิทยุ สื่อออนไลน์ และจัดกิจกรรมการตลาดต่อเนื่องเพื่อสร้างการรับรู้ในคุณภาพน้ำมันพร้อมทั้งรณรงค์ผู้ใช้รถเครื่องยนต์ดีเซลมาทดลองใช้ ได้แก่ กิจกรรมเติมบางจากไฮดีเซล S B 10 เต็มถังลดครึ่งราคา ระหว่างวันที่ 25 – 28 กุมภาพันธ์ 2563 ณ สถานีบริการน้ำมันบางจาก 4 สาขา 4 มุมเมือง และกิจกรรมอื่นๆ เพื่อกระตุ้นการใช้อย่างต่อเนื่องตลอดปี 2563

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานลงพื้นที่ จ.สกลนคร

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานลงพื้นที่ จ.สกลนคร แจงนโยบายด้านพลังงานชุมชนเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า และผู้ประกอบการธุรกิจปาล์มน้ำมัน ไบโอดีเซลในพื้นที่
วันนี้ (14 ก.พ.63) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงพลังงาน เดินทางตรวจราชการที่จังหวัดสกลนคร และพื้นที่ใกล้เคียงจังหวัดนครพนม มุกดาหาร หนองคาย และอุดรธานี เพื่อมอบนโยบายพลังงานชุมชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้แก่พลังงานจังหวัดและหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงพลังงาน และพลังงานจังหวัดในพื้นที่ดังกล่าวได้รายงานความก้าวหน้าของโครงการต่างๆ ด้านพลังงาน โดยมีนายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร สส.พรรคพลังประชารัฐ ผู้แทนจากส่วนราชการ และสื่อมวลชน เข้าร่วมรับฟัง
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีที่นโยบายส่งเสริมการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากของกระทรวงพลังงาน ได้รับความสนใจอย่างมากจากประชาชน เพราะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง เนื่องจากนำจุดแข็งในชุมชนเกษตรกรรมที่มีวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ซังข้าว ซังข้าวโพด ที่สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งในอดีตวัสดุเหลือใช้เหล่านี้ต้องถูกเผาทิ้งไป กลายเป็นส่วนหนึ่ง ของสาเหตุเกิดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งฝากให้พลังงานจังหวัดในพื้นทีช่วยคัดกรองโครงการให้ดี
ความสำคัญของการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน จะช่วยตอบโจทย์ประชาชนทุกพื้นที่ โดยเน้นให้ประชาชน ในพื้นที่ต้องได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง มีการทำเกษตรพันธสัญญา การทำงานร่วมกันแบบประชาคมที่จริงจังยั่งยืน มีความเกื้อกูลกัน สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง โดยมีโรงไฟฟ้าดังกล่าวช่วยประคับประครองดูแลชุมชน สร้างชุมชนให้มีความเข้มแข็ง อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ซึ่งอาจมีรูปแบบการสร้างกองทุนร่วมกันระหว่างโรงไฟฟ้ากับชุมชนเพื่อใช้ในการพัฒนาชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
สำหรับรายละเอียดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขคัดเลือกโครงการฯ จะมีคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากพิจารณาอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และคาดว่า โรงไฟฟ้าชุมชนล็อตแรกในกลุ่มควิกวิน(Quick win)จะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในสิ้นปี 2563 หลังจากนั้นโรงไฟฟ้าชุมชนในกลุ่มทั่วไป จะก่อสร้างและจ่ายไฟเข้าระบบได้ในสิ้นปี 2564
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังให้ความสำคัญโครงการพลังงานที่จะช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง โดยต้องมีหน่วยงานที่จะดูแลรักษาสิ่งปลูกสร้างอย่างเป็นระบบเพื่อความยั่งยืนของโครงการ ย้ำเตือนความพร้อมของการจัดทำโครงการที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จตามสัญญา เพื่อให้โครงการที่ได้รับงบประมาณไป มีประสิทธิภาพสามารถใช้ได้จริง เป็นประโยชน์กับชุมชนและท้องถิ่น
นอกจากนี้ ในด้านการส่งเสริมไบโอดีเซล ก็เป็นการใช้จุดแข็งของพืชพลังงานบนดิน คือปาล์มน้ำมัน ที่สามารถผลิตได้ในประเทศมาใช้ในการผลิตไบโอดีเซลเพื่อผลักดันการใช้ B10 เป็นน้ำมันดีเซลฐานของประเทศ และนโยบายนี้ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นเป็นรูปธรรมแล้วว่า ช่วยสร้างเสถียรภาพราคาให้ปาล์มน้ำมันจนราคาสูงสุด เป็นประวัติการณ์
“หัวใจของนโยบายพลังงานชุมชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก คือ ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงาน ได้สามารถใช้พลังงานไปหมุนเศรษฐกิจในชุมชน ผ่านโครงการต่างๆ ด้านพลังงาน เช่น โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน การส่งเสริมไบโอดีเซล ส่งเสริม B10 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานในภาคขนส่ง และเตรียมสนับสนุนใช้พืชพลังงานในกลุ่มเบนซิน ได้แก่ มันสำปะหลัง อ้อย เพื่อผลักดันให้เกิดการนำไปใช้ผสมในน้ำมันเบนซินเพื่อให้ E20 เป็นน้ำมันเบนซินฐานของประเทศเป็นลำดับต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว
#EnergyForAll

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในงานมอบฉลากประสิทธิภาพสูง

กระทรวงพลังงาน ส่งเสริมภาคเอกชนติด “ฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง” เผยมีส่วนสนับสนุนนโยบาย “Energy for all” ในการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของทุกคน

วันนี้ (12 ก.พ.) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในงานมอบฉลากประสิทธิภาพสูง โดยมีผู้ประกอบการจากภาคเอกชนที่ได้รับมอบฉลากฯ พร้อมด้วยสื่อมวลชนเข้าร่วม

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้ให้ความสำคัญกับ นโยบาย Energy For All ซึ่งจะผลักดันให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงแหล่งพลังงาน และมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการการใช้พลังงานในทุกมิติ โดยเป้าหมายหนึ่งที่เราต้องเร่งดำเนินการให้สำเร็จเป็นรูปธรรมภายใต้นโยบายนี้ คือ “การช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนโดยการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน” แนวทางขับเคลื่อนที่สำคัญในเรื่องนี้ ได้แก่ การส่งเสริมให้ผู้ผลิตสินค้ามีการผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานในการประหยัดพลังงาน ควบคู่ไปกับกระตุ้นและส่งเสริมให้ผู้บริโภคหันมาใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงานที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงพลังงาน กระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จึงได้เดินหน้าโครงการ “ฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง” ในปี 2562 นี้ โดยมีการติดฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูงใน 19 ผลิตภัณฑ์ รวม 5.3 ล้านใบ ครอบคลุมในอุปกรณ์ที่ใช้งานกลุ่มต่างๆ ทั้งในบ้านอยู่อาศัย โรงงาน อาคาร รวมถึงอุปกรณ์ทางการเกษตร ซึ่งโครงการนี้สร้างผลประหยัดพลังงานสูงกว่า 135 พันตันน้ำมันดิบ(Ktoe)ต่อปี คิดเป็นมูลค่าผลประหยัดกว่า 4,360 ล้านบาทต่อปี ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 0.65 ล้านตันต่อปี

สินค้าที่ติดฉลาก จะผ่านการรับรองจากกระทรวงพลังงานว่าเป็นสินค้าประหยัดพลังงาน คือใช้พลังงานน้อยกว่าสินค้ารุ่นทั่วไปในตลาด ตั้งแต่ 10 ถึง 30% ขึ้นกับประเภทสินค้า การเลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน จะช่วยลดรายจ่ายค่าพลังงานในระยะยาว ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับนโยบาย Energy For All ในส่วนการดูแลค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของทุกคน อย่างในครัวเรือน

ส่วนแผนติดฉลากเพิ่มในอนาคต มุ่งเน้นภาคขนส่ง และภาคเกษตร อาทิ ยางรถยนต์ เครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า เครื่องจักรการเกษตร เป็นต้น ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีผลิตภัณฑ์ติดฉลากน้อย ต่อไปเราคงเห็นผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในทุกภาคเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อให้การติดฉลากเป็นไปอย่างแพร่หลายในอนาคต

สุดท้ายนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ได้กล่าวขอบคุณผู้ประกอบการที่มารับฉลากในครั้งนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในปีถัดๆ ไป จะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เพื่อช่วยกัน ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานได้ และทุกคนก็สามารถมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พลังงานได้เช่นกัน ตามนโยบาย
#Energy for all

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์คลังน้ำมัน ของบริษัท ไทย ไปป์ไลน์ เน็ตเวิร์ค จำกัด(ทีพีเอ็น) ณ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น

วันนี้ (5 กุมภาพันธ์ 2563) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์คลังน้ำมัน ของบริษัท ไทย ไปป์ไลน์ เน็ตเวิร์ค จำกัด(ทีพีเอ็น) ณ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น โดยมีนายกัมพล ตติยกวี ประธานกรรมการ บริษัท ไทย ไปป์ไลน์ เน็ตเวิร์ค จำกัด (ทีพีเอ็น – TPN) ให้การต้อนรับ  ทั้งนี้โครงการดังกล่าว ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ให้ดำเนินการขยายท่อขนส่งน้ำมันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อ พ.ศ. 2559 โดยได้คัดเลือกให้บริษัท ไชน่า ปิโตรเลียม ไปป์ไลน์ บูโร (ประเทศไทย) จำกัด (ซีพีพี – CPP) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทั้งทีพีเอ็นและซีพีพีได้ทำงานร่วมกันตลอดระยะเวลาหนึ่งปีเพื่อทำการเตรียมพร้อมในเรื่องของระบบวิศวกรรมและวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าการก่อสร้างจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งบัดนี้มีความพร้อมที่จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างทั้งระบบท่อขนส่งน้ำมันและคลังน้ำมันตามแผนงานที่ตั้งไว้ จึงได้จัดพิธีวางศิลาฤกษ์คลังน้ำมันบ้านไผ่แห่งนี้ขึ้นเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของภารกิจสำคัญของทีพีเอ็นและซีพีพีนับจากนี้เป็นต้นไป

โดยระบบท่อขนส่งน้ำมันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมทั้งคลังน้ำมันแห่งนี้จะตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลในการสร้างความมั่นคงด้านการจัดหาพลังงาน และยังเอื้อต่อนโยบายการเก็บสำรองน้ำมันสำเร็จรูปในคลังส่วนภูมิภาค ส่งผลให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่เชื่อถือได้ (Reliable) ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ด้านเศรษฐศาสตร์ต่อประเทศ รวมถึงยังเป็นการรองรับการขยายตัวด้านการใช้น้ำมันในภูมิภาคอาเซียน ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางพลังงานของภูมิภาคอีกด้วย

“บริษัทฯ ตระหนักดีถึงภารกิจอันสำคัญยิ่งของเราต่ออนาคตและความมั่นคงของพลังงานในประเทศ และได้กำหนดเป็นนโยบายสำคัญในการดำเนินงานโดยคำนึงถึงหลักมาตรฐานสากลด้านความปลอดภัย ระบบวิศวกรรม กระบวนการตรวจสอบ ขั้นตอนการทำงาน ฯลฯ จึงมั่นใจได้ว่าการดำเนินโครงการขยายระบบท่อขนส่งน้ำมันภาคพื้นดินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเป็นไปด้วยความรอบคอบและมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ความมั่นคงทางพลังงานของประเทศในอนาคต รวมทั้งประโยชน์แก่ชุมชนและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง” นายกัมพล กล่าว

โครงการขยายระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือของบริษัท ไทยไปป์ไลน์ เน็ตเวิร์ค จำกัด มีระยะทางทั้งสิ้น 342 กิโลเมตร ผ่าน 70 ตำบล 22 อำเภอ 5 จังหวัด เริ่มจากอำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี มาสิ้นสุดที่อำเภอบ้านไผ่จังหวัดขอนแก่น และมีการก่อสร้างคลังน้ำมันปลายทางที่อำเภอบ้านไผ่ขนาด 140 ล้านลิตร ซึ่งเมื่อระบบแล้วเสร็จจะสามารถลดปริมาณการขนส่งน้ำมันทางรถบรรทุกลงไปจำนวนประมาณ 200,000 เที่ยวต่อปี คิดเป็นการประหยัดเชื้อเพลิงในการขนส่งลงไปได้กว่า 21 ล้านลิตรต่อปี ที่สำคัญ คลังน้ำมันแห่งนี้จะเกิดประโยชน์ต่อชุมชนโดยรอบและประชาชนในท้องถิ่นจากการสร้างงานให้แก่พี่น้องที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งนอกเหนือไปจากการสร้างงานจากบริษัทฯ โดยตรงแล้ว ยังจะเพิ่มโอกาสของการสร้างงานสร้างรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องอื่นๆอีกมาก จึงนับเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นโดยตรงและยังส่งผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งน้ำมันของประเทศ ลดความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงในการขนส่ง ลดปัญหาด้านอุบัติเหตุรวมถึงแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งยังเป็นโครงการฯ สำคัญที่มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานลงพื้นที่จ.ขอนแก่น รับฟังความคืบหน้าแนวทางดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนผลักดันนโยบายด้านพลังงาน

วันที่ 4 ก.พ. 63 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงพลังงานลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น”เพื่อมอบนโยบายพลังงานชุมชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยมีการรายงานแนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน และนโยบายด้านพลังงานอื่นๆจากพลังงานจังหวัดขอนแก่น รัอยเอ็ด กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม และรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการพลังงาน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น สส.พรรคพลังประชารัฐ ผู้แทนจากส่วนราชการและสื่อมวลชนให้การต้อนรับ และเข้าร่วมรับฟัง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ประชาชนและผู้ประกอบการ ให้การตอบรับนโยบายพลังงานดังกล่าวเป็นอย่างดี เนื่องจากนโยบายของกระทรวงพลังงานได้ส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ถือเป็นการพลิกมิติด้านพลังงานครั้งสำคัญ ตอบโจทย์ประชาชนทุกพื้นที่ทั่วประเทศสามารถเป็นเข้าถึงพลังงานได้ โดยนอกจากจะมีส่วนช่วยยกระดับให้ชุมชนได้เป็นผู้ผลิต ผู้ใช้ และผู้จำหน่ายไฟได้เองแล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาปากท้อง สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ลดการย้ายถิ่นฐาน สามารถเพิ่มการลงทุนในพื้นที่ได้อีก เช่น การปลูกพืชพลังงานเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง รวมทั้ง ลดปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 จากการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในที่โล่งแจ้ง ซึ่งในท้ายที่สุดทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจ และด้านสุขภาพ

“เรื่องโรงไฟฟ้าชุมชนนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญและอยากเห็นผลสำเร็จร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าและชุมชน คาดว่ารายละเอียดหลักเกณฑ์การจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนจะแล้วเสร็จประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ และคาดว่าจะมีคำขอเกินเป้าหมายที่กระทรวงพลังงานวางไว้ ซึ่งโจทย์หลักคือประโยชน์ชุมชน สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง มีชีวิตที่ดีขึ้น สามารถขายวัตถุดิบทางการเกษตรต่างๆ เป็นรายได้ ลดการเผา ลดปัญหา PM 2.5 ได้ด้วย อีกทั้งยังทำเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่งได้อีก เชื่อว่าพืชพลังงานที่จะทำมาใช้ในโรงไฟฟ้าจะต้องสร้างรายได้ต่อไร่ต่อปีที่มากกว่าเดิมอย่างแน่นอน เป็นเกษตรพันธสัญญากับโรงไฟฟ้า ปลูกแล้วรับซื้อกันไปได้ถึง 20 ปีเป็นอย่างน้อย ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถมีรายได้ที่ดีอย่างยั่งยืนยาวนาน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว
ทั้งนี้ จะมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาดำเนินงานร่วมกันกับชุนชน พร้อมย้ำว่า “หากมีเจ้าหน้าที่หรือผู้เกี่ยวข้องเรียกรับผลประโยชน์จากโครงการดังกล่าว จะลงโทษสถานหนัก และขอให้ผู้สนใจร่วมเป็นหูเป็นตาแจ้งข่าวให้กับผมด้วย”

“ขอให้มั่นใจได้ว่า กระทรวงพลังงานมีแนวทางในการดำเนินการที่ชัดเจนทั้งเรื่องโรงไฟฟ้าชุมชนและพร้อมจะให้การสนับสนุนให้กับผู้ประกอบการ และชุมชนที่มีความพร้อมเข้าลงทุนเพื่อจะได้มีส่วนช่วยในการสร้างให้การลงทุนใหม่เกิดขึ้นได้ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ สร้างประโยชน์สูงสุดให้กับชุมชน ซึ่งกระทรวงพลังงานถือว่าเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของนโยบายและโครงการนี้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าว

#EnergyForAll

รองนายกรัฐมนตรี พร้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่ จ.กระบี่ ขับเคลื่อนนโยบาย B10 ครบวงจร

รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานสร้างความเชื่อมั่นนโยบายพลังงานเพื่อทุกคน Energy For All สู่จังหวัดกระบี่ ขับเคลื่อนนโยบาย B10 ทั้งระบบ หลังจากสร้างสมดุลให้ปาล์มน้ำมันมาแล้วในสเต็ปแรก โดยก้าวต่อไปเตรียมนำเทคโนโลยีตรวจสกัดลักลอบนำเข้า CPO พร้อมเตรียมขึ้นทะเบียนเกษตรกรสวนปาล์มควบคุมพื้นที่ปลูก เพื่อยกระดับคุณภาพปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน

วันนี้ (29 ม.ค.63) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงพลังงานลงพื้นที่จังหวัดกระบี่ มอบนโยบายพลังงานชุมชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก พร้อมเข้าร่วมปาฐกถาพิเศษ “B10 สร้างสมดุลปาล์มน้ำมันสู่ความยั่งยืน” โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ให้การต้อนรับ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า นโยบายดังกล่าวจะสร้างรายได้ชาวสวนปาล์มไม่ต่ำกว่า 5 – 6 พันล้านบาท/เดือน หลังราคาปาล์มสูงกว่า 7 บาท/กก. โดยกระทรวงพลังงานมีนโยบาย “Energy For All” พลังงานที่ทุกคนเข้าถึงได้ประชาชนต้องได้ประโยชน์จากนโยบายพลังงาน โดยใช้กลไกด้านพลังงานไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากเพื่อแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตร สนับสนุนให้เกิดการใช้น้ำมันบนดินที่มาจากผลผลิตทางการเกษตรที่มีอยู่ในประเทศไทย ผ่านนโยบาย B10 ส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล และนโยบาย E20 ส่งเสริมการใช้เอทานอล

โดยเฉพาะ B10 ที่ได้ดำเนินการผลักดันให้เกิดการใช้เป็นน้ำมันดีเซลฐาน และจะจำหน่ายได้ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 เป็นต้นไปนั้น ได้ส่งผลเป็นรูปธรรมชัดเจนช่วยสร้างเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมันให้เกิดขึ้นจนราคาสูงเป็นประวัติการณ์จากราคาเริ่มต้นนโยบาย 3 บาท/กก. เป็นมากกว่า 7 บาท/กก.ในปัจจุบัน ซึ่งทำให้ราคาสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านนำมาซึ่งอาจมีปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) กระทรวงพลังงานจึงได้วางมาตรการป้องกันโดยนำเทคโนโลยีมาใช้ตรวจวิเคราะห์เพื่อบ่งชี้แหล่งที่มาของ CPO เพราะแต่ละประเทศมีโครงสร้างทางเคมีที่ไม่เหมือนกัน เช่น พื้นดิน แร่ธาตุต่างๆ ซึ่งสามารถใช้เป็นข้อมูลดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้ลักลอบนำเข้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งจะเร่งติดมิเตอร์ตรวจวัดปริมาณไบโอดีเซลทุกถังเก็บในคลังผู้ผลิตเพื่อติดตามแบบเรียลไทม์ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ไตรมาส 2 ของปีนี้

​นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานได้วางมาตรการรักษาสมดุลปาล์มน้ำมันทั้งการร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์บริหารจัดการผลผลิตปาล์มน้ำมันเพื่อใช้ผลิตไบโอดีเซลไม่ให้กระทบการใช้เพื่อบริโภคในประเทศ รวมถึงเสนอแนวคิดขึ้นทะเบียนเกษตรกร เพื่อควบคุมพื้นที่ปลูก ผลผลิตต่อไร่ให้มีคุณภาพ ซึ่งการรับซื้อปาล์มต่อไปจะรับซื้อจากเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนก่อน ส่วนที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนจะพิจารณาลำดับถัดไป ทั้งนี้เกษตรกรต้องยกระดับการปลูกปาล์มให้มีคุณภาพ พัฒนาสายพันธุ์ที่สามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เป็นการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้มากขึ้น ช่วยให้ราคามีเสถียรภาพ และอาจประกาศรับซื้อปาล์มล่วงหน้า 3 เดือน ซึ่งอยู่ระหว่างหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“เหล่านี้เป็นกระบวนการที่ผ่านการคิดล่วงหน้ามาแล้วว่า จะต้องวางมาตรการแก้ไขแบบครบวงจรทุกมิติ วันนี้เราสร้างสมดุลปาล์มโดยช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตชาวสวนปาล์มดีขึ้นเป็นขั้นแรก และขั้นต่อไปคือการป้องกันลักลอบนำเข้า CPO ด้วยการใช้เทคโนโลยีมาช่วยตรวจจับ และหลังจากนั้นก็จะมีมาตรการต่อเนื่องอีกเพื่อแก้ไขได้ครบทั้งวงจร เกิดเสถียรภาพราคาแบบยั่งยืน ซึ่งถือเป็นการดำเนินการตามนโยบายที่มากกว่าแค่เรื่อง B10 เพราะได้แก้ไขปัญหาทั้งระบบของพืชพลังงานปาล์มน้ำมัน สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เกษตรกรชาวสวนปาล์ม มีรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและคณะยังได้เข้าร่วมประชุมรับฟังและเยี่ยมชมกิจการโรงสกัดน้ำมันปาล์มของบริษัท ป.พานิชรุ่งเรืองปาล์มออยล์ 2 จำกัด ที่จ.กระบี่ ซึ่งบริษัทฯ มีกำลังการผลิต 75/90 ตัน FFB (ทะลายปาล์มสด) ต่อชั่วโมง โดยบริษัทฯ มีแนวทางการพัฒนาพลังงานทดแทนผลิตชีวมวลที่เกิดจากการสกัดน้ำมันปาล์มมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า จากหม้อไอน้ำ ทำให้ปัจจุบันสามารถผลิตไฟฟ้าในโรงงานได้เอง 100% และยังมีการนำน้ำเสียจากกระบวนการสกัดน้ำมันปาล์มเข้าสู่ระบบไบโอแก๊สเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันบริษัทยังไม่ได้ขายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ
#EnergyForAll

กระทรวงพลังงานเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายพลังงานบนดิน ประกาศ E20 เป็นน้ำมันเบนซินฐาน และยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 กลางปี 2563

กระทรวงพลังงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เดินหน้าส่งเสริมพลังงานบนดินด้วยการผลักดันการใช้แก๊สโซฮอล์ E20 ให้เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานของประเทศ ตามรอยต่อจาก B10 ในกลุ่มดีเซล เพื่อยกระดับราคาพืชผลทางการเกษตร มันสำปะหลัง-อ้อย ที่เป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอลผสมในเบนซิน คาดเริ่มประกาศใช้ E20 เป็นน้ำมันเบนซินฐาน และเตรียมยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 ประมาณกลางปี 2563 หวังลดชนิดน้ำมัน     ในกลุ่มเบนซินลงเพื่อไม่ให้ประชาชนสับสน

          วันนี้ (24 ม.ค.63) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ภายหลังจากกระทรวงพลังงานได้ผลักดันนโยบายการส่งเสริมพลังงานบนดินส่งเสริมให้ B10 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานของประเทศไปแล้วและเกิดผลสัมฤทธิ์ทำให้เกิดเสถียรภาพด้านราคาปาล์มน้ำมันในประเทศ มาตรการต่อไปกระทรวงพลังงานได้เตรียมความพร้อมสำหรับการส่งเสริมน้ำมันบนดินในกลุ่มเบนซิน โดยจะผลักดันให้เกิดการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 หรือน้ำมันเบนซินที่มีสัดส่วนเอทานอลผสมอยู่ประมาณ 20% ให้เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานของประเทศ ทั้งนี้เพื่อสร้างสมดุลให้กับพืชเกษตร เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ที่เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเอทานอล และลดชนิดน้ำมันเบนซินในสถานีบริการโดยยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91

กระทรวงพลังงานจะประกาศให้ E20 เป็นน้ำมันเบนซินฐานของประเทศ คาดว่าเริ่มดำเนินการได้ประมาณกลางปี 2563 โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยสร้างเสถียรภาพราคาพืชพลังงานในกลุ่มมันสำปะหลังและอ้อย โดยเฉพาะมันสำปะหลังที่ปัจจุบันมีการนำมาใช้ผลิตเป็นเอทานอลคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 27 ของการผลิตเอทานอลทั้งหมด ซึ่งหากสามารถผลักดันการใช้  มันสำปะหลังในการผลิตเอทานอลให้สูงขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร และเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรอย่างยั่งยืนอีกด้วย

#EnergyForAll

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานขับเคลื่อนมิติพลังงานสู่ชุมชนหนองจอก

“สนธิรัตน์” ขับเคลื่อนมิติพลังงานสู่ชุมชนหนองจอก

เมื่อวันที่ 17 ม.ค.63 ที่ผ่านมา นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่ชุมชนคอยรุดดีน เขตหนองจอก กรุงเทพฯ ศึกษาดูงานร้านอาหารร่มไม้ปลายนา ซึ่งเป็นร้านอาหารที่ดำเนินงานในรูปแบบ Social Enterprise สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และประกอบอาชีพเกษตรกรรม เน้นสร้างรายได้และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้เดินทาง มาที่เขตหนองจอกและได้รับการต้อนรับจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ท่านศิริพงษ์ รัสมี และผู้อำนวยการเขตหนองจอก ซึ่งเขตหนองจอกนี้เป็นพื้นที่พิเศษของกรุงเทพฯที่เป็นทั้งเมืองและชนบท การพัฒนาจึงต้องใช้รูปแบบ ที่พิเศษกว่าที่อื่น ซึ่งผมดีใจมากที่ได้พบกับผู้นำชุมชนที่ให้ความใส่ใจในชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน และต้องการที่จะพัฒนาพื้นที่ในชุมชน โดยเฉพาะในเรื่องของการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและการบริหาร จัดการขยะ ซึ่งกระทรวงพลังงานก็ยินดีให้การสนับสนุนโดยเฉพาะเรื่องการนำขยะมาทำเป็นเชื้อเพลิง การนำพลังงานกลับมาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเป็นการลดภาระงบประมาณในการกำจัดขยะของส่วนกลาง การพัฒนาพลังงานในรูปแบบอื่นๆ รวมทั้งการสร้างศูนย์การเรียนรู้ด้านพลังงาน

“ผมเชื่อมั่นว่าที่นี่สามารถดำเนินการบริหารจัดการขยะของชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะชุมชนมีความเข้มแข็ง กระทรวงพลังงานจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยยกระดับให้การบริหารจัดการด้านพลังงาน เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งข้อเสนอแนะต่างๆ ของทางชุมชน ก็สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมผ่านกลไกของการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยมีกระทรวงพลังงานเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุน องค์ความรู้ด้านพลังงาน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวในท้ายที่สุด

ทั้งนี้ ชุมชนคอยรุดดีน เขตหนองจอกมีประชากรประมาณ 532 คน 135 ครัวเรือน ซึ่งต้องการขอรับการสนับสนุนจากกระทรวงพลังงานขับเคลื่อนให้ชุมชนเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการด้านพลังงาน เช่น การบริหารจัดการขยะในชุมชนด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยอาจผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะอัดก้อน (Refuse-Derived Fuel : RDF) การผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ที่มีอยู่จำนวนมากในชุมชน ทั้งโค กระบือ และแพะ หรือการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์เพื่อป้อนให้กับศูนย์กีฬาของชุมชนที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ เป็นต้น

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยังได้เป็นประธานเปิดงาน “มหกรรมของดี ที่หนองจอก” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชาวชุมชนหนองจอก ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-18 มกราคม 2563 ที่บริวเณสนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร กรุงเทพฯ #EnergyForAll

สมาพันธ์ปาล์มน้ำมันฯ ปลื้มนโยบาย B10 ขอบคุณกระทรวงพลังงาน

สมาพันธ์ปาล์มน้ำมันฯ ปลื้มนโยบาย B10 ขอบคุณกระทรวงพลังงาน
รมว.พลังงานแจงเป้าหมายหลักยกระดับเกษตรกรปลูก‘ปาล์มคุณภาพ’

วันนี้ (13 ม.ค. 63) กลุ่มสมาพันธ์ปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทยและสมาคมปาล์มน้ำมันจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สระบุรี สกลนคร ปทุมธานี ตรัง กระบี่ กว่า 20 คน ได้เข้าพบ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อขอบคุณกระทรวงพลังงานที่ได้ผลักดันโยบายการบังคับใช้ B10 เป็นน้ำมันดีเซลฐานของประเทศ ซึ่งถือเป็นนโยบายที่ถูกต้องและเข้าถึงเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ช่วยยกระดับราคาปาล์มน้ำมันกระเตื้องขึ้น สร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกรชาวสวนปาล์มทั่วประเทศ

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังพบปะตัวแทนกลุ่มสมาพันธ์ปาล์มน้ำมันฯ ว่า ตัวแทนเกษตรกรสวนปาล์มได้มาเยี่ยมและขอบคุณการผลักดันนโยบายน้ำมัน B10 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานของประเทศ ซึ่งในเดือนมีนาคม 2563 นี้ จะสามารถจำหน่าย B10 ได้ทุกสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ ขณะนี้ยอดการใช้ B10 ถือว่าเติบโตเร็วมากซึ่งเป็นเพราะความเชื่อมั่นจากนโยบายที่กำหนดไว้จะไม่เปลี่ยนสัดส่วนของ B10 ไม่ว่าสต็อกของปาล์มจะเป็นอย่างไรก็ตาม ทำให้ตลาดเกิดความเชื่อมั่นทั้งค่ายรถยนต์ ทั้งผู้ประกอบการโรงกลั่น

“ต้องถือว่านโยบาย B10 เป็นกลไกสำคัญ มีส่วนแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมันได้เหมือนดังที่พี่น้องเกษตรกรมาแลกเปลี่ยนในวันนี้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะต้องเดินหน้าต่อจากนี้ไปคือ การบริหารกลไกตลาด ซึ่งสำหรับกลไกที่มีอยู่ของทางกระทรวงพลังงานเชื่อมั่นว่า จะรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมันได้ในระดับที่น่าพึงพอใจ แต่คงต้องทำงานใกล้ชิดกับกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำงานร่วมกับพี่น้องเกษตรกร รวมทั้งกลไกด้านผู้ค้าด้วย ซึ่งในส่วนของไบโอดีเซล(B100) ได้เตรียมการรองรับไว้ระดับหนึ่งแล้ว เร็วๆนี้จะเตรียมติดตั้งมิเตอร์ในถัง B100 เพื่อติดตามตรวจสอบได้แบบเรียลไทม์ และสามารถบูรณาการร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ที่เตรียมติดมิเตอร์ในส่วนของ CPO อีกด้วย”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว
นอกจากนี้ ในอนาคตมีความเป็นไปได้ในเรื่องของตลาดซื้อขายล่วงหน้า โดยอาจจะนำสต็อก B100 มาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อช่วยลดผลกระทบเรื่องฤดูกาล และช่วยบริหารสต็อก ช่วยรักษาเสถียรภาพราคาได้ระดับหนึ่ง

“ผมไม่ได้หวังผลเรื่องราคาปาล์มน้ำมันอย่างเดียว เพราะเป้าหมายที่แท้จริงคือ ต้องการให้เกิดมาตรฐานปาล์มน้ำมันที่มีคุณภาพ หวังจะยกระดับเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน สร้างการเติบโตแบบยั่งยืนให้กับชาวสวนปาล์ม” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวในระหว่างพบปะกับกลุ่มเกษตรกรจากสมาพันธ์ปาล์มน้ำมันฯ

ทั้งนี้ ในการพบปะหารือ ทางตัวแทนกลุ่มเกษตรกรชาวสวนปาล์มฯ มีข้อห่วงกังวลเรื่องต่างๆ อาทิ เรื่องการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) เรื่องฤดูกาลช่วงก.พ.-เม.ย.ที่ผลผลิตปาล์มน้ำมันจะออกสู่ตลาดมาก เรื่องกลไกตลาดที่มีผลกระทบต่อราคา เป็นต้น

นายชโยดม สุวรรณรัตนะ ประธานกลุ่มคนปลูกปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย ตัวแทนสมาพันธ์สวนปาล์มภาคใต้ กล่าวว่า นอกจากมาขอบคุณรัฐมนตรีสนธิรัตน์เรื่องนโยบาย B10 แล้ว ยังมาส่งสัญญาณให้ทราบว่า ขณะนี้จะเริ่มใกล้สู่ฤดูกาลที่ปาล์มจะล้นตลาดแล้วคือช่วงเดือนก.พ.-เม.ย. และยังกังวลเรื่องการปั่นราคาปาล์มสูงเกินจริงเพื่อให้เกิดการนำเข้า จึงอยากให้ทางการเตรียมมาตรการรองรับ #EnergyForAll

*********************************

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แถลงชี้แจงความพร้อมรับมือสถานการณ์ตะวันออกกลางกรณีความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่าน ทั้งด้านปริมาณสำรอง และการดูแลเรื่องราคาพลังงาน

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดแถลงข่าวชี้แจงกรณีสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างประเทศสหรัฐฯและอิหร่านที่ส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกว่า ทางกระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินและเตรียมการหากเกิดสถานการณ์ที่วิกฤตเพิ่มขึ้น โดยในวันนี้ได้มีการประชุมหารือและได้เตรียมการที่สำคัญ ดังนี้
ด้านปริมาณสำรอง ปัจจุบัน ณ วันที่ 5 มกราคม 2563 ไทยมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบประมาณ 2,988 ล้านลิตร ปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างขนส่งอีก 1,144 ล้านลิตร น้ำมันสำเร็จรูป 1,468 ล้านลิตร รวมจำนวนวันที่สามารถใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้ทั้งหมด 50 วัน ส่วนปริมาณสำรองก๊าซ LPG ทั้งหมดประมาณ 101 ล้านกิโลกรัม สำรองได้ 17 วันสำหรับใช้ในภาคครัวเรือน
ทั้งนี้ ได้มีการบริหารจัดการเพื่อกระจายความเสี่ยงระยะยาว โดยกลุ่ม ปตท. ได้ปรับลดสัดส่วนการนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลางที่เคยสูงถึงกว่า 74% และล่าสุดปรับลดเหลือประมาณ 50%
ด้านการผลิตปิโตรเลียมในประเทศ ปัจจุบันผลิตน้ำมันดิบได้ประมาณ 1.3 แสนบาร์เรล/วัน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะขอความร่วมมือในการงดส่งออกน้ำมันดิบซึ่งจะได้ปริมาณน้ำมันดิบเพิ่มมากขึ้นประมาณ 25,000 บาร์เรล/วัน และหากมีเหตุฉุกเฉิน สามารถเพิ่มการผลิตภายในประเทศให้มากขึ้นอีก 36,000 บาร์เรล/วัน โดยจะขอความร่วมมือกับโรงกลั่นน้ำมันให้หาทางออกด้านเทคนิคเพื่อใช้น้ำมันดิบในประเทศทั้งหมด
ในด้านบริหารราคาน้ำมันเชื้อเพลิง กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีเกณฑ์สำหรับการบริหารจัดการราคาน้ำมันในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งได้มีการจัดทำเป็น Scenario ในช่วงระดับราคาต่างๆ ในการบริหารจัดการราคาน้ำมันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งจะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในเรื่องดังกล่าว ขณะนี้สถานะกองทุนน้ำมันฯ อยู่ที่ประมาณ 37,000 ล้านบาท
“ขอให้ประชาชนมีความมั่นใจว่า กระทรวงพลังงานจะสามารถบริหารจัดการสถานการณ์ด้านความมั่นคงของการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีใช้อย่างต่อเนื่อง และด้านราคาไม่ให้เกิดความผันผวนจนส่งผลกระทบต่อประชาชน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นำคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน ทำบุญตักบาตรรับพรปีใหม่ 2563

วันนี้ (3 มกราคม 63) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน ร่วมทำบุญตักบาตร เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2563

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เป็นประธานในพิธีสักการะพระพรหม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงพลังงาน โดยถวายพวงมาลัยสักการะทั้ง 4 ทิศ พร้อมทั้งถวายเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์ จากนั้นจึงได้นำคณะผู้บริหาผู้บริหารข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน ใส่บาตรข้าวสารอาหารแห้งพระสงฆ์ จำนวน 63 รูป ณ บริเวณลานพระพรหม ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ กระทรวงพลังงาน

ู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชู 4 มาตรการ แก้ปัญหา PM 2.5

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานแก้ปัญหา PM 2.5 ว่า กระทรวงพลังงานได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานแก้ปัญหา PM 2.5 ซึ่งเป็นความตั้งใจของกระทรวงพลังงานที่จะระดมสมองในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ โดยคณะทำงานดังกล่าว ประกอบด้วย หน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน บริษัท ปตท. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และหน่วยอื่นที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหา PM 2.5 เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้ามาร่วมบูรณาการในการแก้ปัญหาดังกล่าวให้กับประเทศ
ทั้งนี้ มาตรการที่กระทรวงพลังงานได้นำมาขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหา PM 2.5 นั้น แบ่งเป็น 3 ระยะ ภายใต้ 4 มาตรการ ได้แก่ ระยะสั้น ช่วงปี 2562-2563 คือ การส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล B10 และ B20 เพื่อลดการปล่อย PM 2.5 จากการปล่อยควันจากท่อไอเสียรถยนต์ ระยะกลาง ช่วงปี 2563-2565 คือ การสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อลดการเผาทิ้งวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และระยะยาว ช่วงปี 2565-2567 คือ การปรับเปลี่ยนมาตรฐานน้ำมันเป็นยูโร 5 และการส่งเสริมการใช้รถยนต์ EV
สำหรับผลที่จะได้รับจากมาตรการแก้ปัญหา PM 2.5 ในช่วงระยะแรก คือ การส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล B10 และ B20 นั้น ในส่วนของ B10 จะสามารถลด PM 2.5 ได้ 3.5-13% สำหรับ B20 จะสามารถลดได้ 21-23% ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนสถานีบริการน้ำมันดีเซล B10 มีจำนวน 411 สถานี และสถานีบริการน้ำมันดีเซล B20 มีจำนวน 2,743 สถานี

เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้กว่า 150 คน เข้าขอบคุณและให้กำลังใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

วันนี้ (20 ธันวาคม 2562) ตัวแทนเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้ทั่วประเทศ จากจังหวัด พะเยา เพชรบูรณ์ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ นครราชสีมา มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ตราด ราชบุรี เพชรบุรี ชุมพร พัทลุง สตูล และปัตตานี กว่า 150 คน นำโดย นายนฤพล วันทูล ผู้จัดการเครือข่ายฯ ยื่นหนังสือขอบคุณ รัฐบาล นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ที่ผลักดันนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก แก้ปัญหาความยากจนเกษตรกรประชาชนทั่วประเทศ
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวกับตัวแทนเครือข่ายฯ ว่า ขอขอบคุณตัวแทนเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้ทั่วประเทศที่มาในวันนี้ ถือเป็นกำลังใจอย่างยิ่งให้กับกระทรวงพลังงาน โดยนโยบายพลังงานเพื่อชุมชนเป็นนโยบายแรกที่ตั้งใจจะทำเมื่อเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ด้วยความตั้งใจที่จะนำพลังงานไปสร้างเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ซึ่งโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนได้พยายามเร่งรัดมาตลอด 4 เดือน และได้ผ่านมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. ที่มีนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน เมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา
“นายกรัฐมนตรีไม่ใช่แค่เห็นชอบให้ดำเนินโครงการ แต่ได้สั่งการว่าให้ทำให้ได้ ทำให้สำเร็จ ให้ภาคพลังงานไปเปลี่ยนคุณภาพชีวิตประชาชนทั้งประเทศให้ได้ ส่วนรองนายกฯสมคิด ก็ได้สั่งการให้เร่งทำให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว และโรงไฟฟ้าชุมชนที่เอกชนจะเข้าไปลงทุนในพื้นที่ใดชุมชนก็จะได้รับหุ้น 10% เมื่อมีการปันผล มีกำไร ชุมชนก็นำรายได้ส่วนนั้นส่งคืนเป็นทุนให้กับโรงไฟฟ้า ชุมชนจะสามารถเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า โดยที่ไม่ต้องควักเงินลงทุนก่อนเลย” นายสนธิรัตน์ กล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังพบเครือข่ายฯ ว่ากระแสตื่นตัวเรื่องโรงไฟฟ้าชุมชนมีจำนวนมากทั้งในส่วนประชาชน และผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าซึ่งต่อไปจะเริ่มเดินสายทำความเข้าใจพี่น้องประชาชนให้ครอบคลุมทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการโรงไฟฟ้าชุมชน ทั้งในเรื่องของพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าจะต้องอยู่ในบริเวณที่ตั้งของสายส่ง สมาชิกที่เข้าร่วม ปริมาณการผลิตพืชพลังงานที่เป็นวัตถุดิบ รวมไปถึงความเข้มแข็งของชุมชนที่จะมีการขยายกำลังการผลิตต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ ยังจะนำเรื่องเกษตรพอเพียง อย่างเช่น โคกหนองนาโมเดล และป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง มาผสมผสานขับเคลื่อนโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในเรื่องอาชีพและรายได้ของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง
ด้านนายนฤพล วันทูล ผู้จัดการเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้ กล่าวว่า การเข้าพบนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในวันนี้ เพื่อขอบคุณและให้กำลังใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในการผลักดันให้เกิดโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้เกษตรกรมีโอกาสปรับเปลี่ยนอาชีพ แก้ไขผลผลิตทางการเกษตร และทำให้ชุมชนเข้มแข็งในโอกาสเดียวกันนี้ ทางพี่น้องตัวแทนเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้ยังได้ร่วมอวยพรปีใหม่ให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอีกด้วย
#EnergyForAll

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่นครสวรรค์ ลุย 2 ภารกิจ เชื่อมโยง Energy for All

“สนธิรัตน์”ชูนโยบาย B20 – EV หนุนภาคขนส่ง บนเวทีอินเตอร์เนชันแนล ทรัคโชว์ 2019 พร้อมตรวจเยี่ยมโรงไฟฟ้าชีวมวล VSPP ที่จ.นครสวรรค์

“สนธิรัตน์” ลงพื้นที่นครสวรรค์ ลุย 2 ภารกิจ เชื่อมโยง Energy for All เปิดงานอินเตอร์เนชันแนล ทรัคโชว์-ตรวจเยี่ยมโรงไฟฟ้าชีวมวล เชื้อเพลิงชานอ้อย เพื่อผลักดันให้ภาคพลังงานเป็นพื้นฐานที่สร้างความแข็งแรงให้เศรษฐกิจฐานรากของประเทศ

วันนี้ (14 ธ.ค.62) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2562 ของสมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย และงานอินเตอร์เนชันแนล ทรัคโชว์ 2019 ที่จ.นครสวรรค์ พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ทิศทางพลังงานภาคการขนส่งจะไปทางไหน B20 หรือรถไฟฟ้า” ในประเด็นสำคัญว่า สมาคมฯ เป็นกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางถนนที่ใช้รถบรรทุกเป็นหลัก ซึ่งนับว่ามีความสำคัญในการสนับสนุนการกระจายการค้าภายในประเทศและในกลุ่มอาเซียน เชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค เกิดการหมุนเวียนสินค้า สร้างความเจริญให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ และการจัดงานอินเตอร์เนชั่นแนล ทรัคโชว์ 2019 แสดงนวัตกรรมยานยนต์และเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้เกิดระบบจัดการขนส่งที่ดีขึ้นมีคุณภาพได้มาตรฐาน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึง นโยบายพลังงานกับภาคขนส่งว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาภาคขนส่งเป็นกลุ่มที่ใช้พลังงานสูงสุด ในสัดส่วน 40% ของการใช้พลังงานทั้งหมดของประเทศ ซึ่งรถภาคขนส่ง  ส่วนใหญ่จะเป็นรถดีเซลที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานมีหน้าที่ในการจัดหาพลังงานและส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้มีการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในภาคขนส่งทั้งไบโอดีเซลและเอทานอล ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพที่สะอาดมีส่วนช่วยลด PM2.5 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้

ที่ผ่านมา สิ่งที่กระทรวงพลังงานได้ทำไปแล้วคือการยกระดับการใช้น้ำมันไบโอดีเซลจากปาล์มที่ B7 ไปเพิ่มส่วนผสมน้ำมันปาล์มดิบสัดส่วนสูงขึ้นเป็น B10 ใช้สำหรับรถยนต์ดีเซลทั่วไป และมี B20 สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ เพื่อลดต้นทุนผู้ประกอบการและค่าครองชีพของประชาชน มีส่วนช่วยแก้ปัญหาน้ำมันปาล์ม สร้างเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมันให้เกษตรกรได้มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดี

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พยายามเร่งขับเคลื่อนมาตรฐานยูโร 5 ซึ่งคาดว่าจะบังคับใช้กับเครื่องยนต์และคุณภาพน้ำมันตามมาตรฐานใหม่ได้ภายใน ปี 2567
สำหรับการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) นั้น ก็เป็นมาตรการหนึ่งของการอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่ง ตามแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2558 – 2579 (EEP 2015) ตั้งเป้าหมายส่งเสริมรถ EV ในปี 2579 รวม 1.2 ล้านคัน ซึ่งล่าสุดก็ได้เปิดตัวมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าติดฉลากเบอร์ 5 ของ กฟผ. ไปแล้ว นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของรถ EV ในประเทศไทย

โดยแผนส่งเสริม EV จะร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เพื่อพัฒนาแผนส่งเสริมการใช้ การสนับสนุนด้านภาษี และทำให้เกิดการสร้างฐานการผลิตในประเทศ ซึ่งยานยนต์ไฟฟ้าสามารถช่วยลดมลพิษในเขตเมือง ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมให้เมืองน่าอยู่ อีกทั้งยังมีส่วนช่วยส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพเพื่อสร้างระบบแบตเตอรี่สำรองที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไฟฟ้าเพื่อรองรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับ EV และโครงการระบบรางต่างๆ เช่น รถไฟความเร็วสูง รถไฟชานเมืองรอบกรุงเทพฯ ที่เป็นสถานีหลัก โดยจะถูกบรรจุอยู่ในโครงการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าต่าง ๆที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP)


ในวันเดียวกันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน นายยงยุทธ จันทรโรทัย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน และผู้บริหารกระทรวงพลังงาน ยังได้เดินทางตรวจเยี่ยมโรงไฟฟ้าชีวมวลเชื้อเพลิงชานอ้อย ของบริษัทเกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าของผู้ผลิตขนาดเล็กมาก (VSPP) ที่ ต.หนองโพ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ มีกำลังผลิตติดตั้ง 50 เมกะวัตต์ ปริมาณซื้อขายไฟฟ้าตามสัญญา 8 เมกะวัตต์ โดยใช้เชื้อเพลิงจากชานอ้อยในการผลิต 10,000 ตัน/วัน และใช้ใบอ้อย 2,000 ตัน/วัน มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ปัจจุบันโรงไฟฟ้ายังมีอุปสรรคสำคัญในการบริหารจัดการเชื้อเพลิง เพราะปริมาณเชื้อเพลิงไม่เพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้าได้เต็มกำลัง

โดยการตรวจเยี่ยมโรงไฟฟ้าดังกล่าว ถือเป็นการศึกษาโครงสร้างและระบบบริหารจัดการโรงไฟฟ้าชีวมวล เพื่อนำข้อมูลทั้งข้อดีหรือข้อจำกัดต่างๆ ไปเป็นฐานข้อมูลเพื่อต่อยอดไปสู่การบูรณาการพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชนเชื้อเพลิงชีวมวล ตามนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อเศรษฐกิจฐานรากของกระทรวงพลังงานที่กำลังอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนในขณะนี้ ให้เกิดผลสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม #สนธิรัตน์ #พลังงานเพื่อทุกคน #EnergyForAll

รมว.พน. จัดทัพพลังงาน ปี 2563 ขับเคลื่อน Energy For All

“สนธิรัตน์”จัดทัพพลังงาน ปี 2563
ขับเคลื่อน Energy For All เพื่อเศรษฐกิจฐานราก
เร่งไฟฟ้าเข้าถึงทุกพื้นที่ –เกิดโรงไฟฟ้าชุมชน 1,000 MW – ผุดโมเดลสถานีพลังงานชุมชน

“สนธิรัตน์”มอบนโยบายข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน เพื่อซักซ้อมความเข้าใจทิศทางการใช้ภาคพลังงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก Energy For All เปิดเป้าหมายระยะสั้นที่เร่งทำก่อนทั้งด้านไฟฟ้า เน้นให้ทุกพื้นที่ทั่วไทยมีไฟฟ้าใช้ เร่งผลิตไฟจากโรงไฟฟ้าชุมชนกว่า 1,000 MW ใน 3 ปี และแจ้งเกิดสถานีพลังงานชุมชนทั่วประเทศ ส่วนด้านก๊าซและน้ำมัน เตรียมผลักดันมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพด้านพลังงาน เร่งการใช้ B10 เป็นน้ำมันดีเซลมาตรฐานทั่วประเทศ พร้อมหนุนให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นรูปธรรม


วันนี้ (9 ธ.ค.62) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนา “การสื่อสารนโยบายพลังงานสู่การปฏิบัติ ปี 2563”ว่า การสัมมนานี้มีขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นเวทีมอบนโยบายให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงพลังงานทั้งจากส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อรับทราบทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายด้านพลังงานไปพร้อมๆ กัน ผ่านนโยบาย “Energy For All พลังงานเพื่อทุกคน” ซึ่งได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้วตั้งแต่ที่เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2562 และยังคงเป็นนโยบายหลักที่จะผลักดันต่อไปในปี 2563 ที่จะมาถึง“ในช่วงไม่กี่เดือนที่ได้เข้ามาบริหารที่กระทรวงพลังงาน ผมพบว่าเป็นหน่วยงานที่มีบุคลากร มีทีมงานที่มีความสามารถและเชี่ยวชาญ รวมถึงมีรัฐวิสาหกิจที่มีความเข้มแข็ง แต่ภาพลักษณ์เดิมของกระทรวงฯ ถูกมองว่าให้ความสำคัญกับการลงทุนขนาดใหญ่ ประชาชนยังไม่สามารถเข้าถึงพลังงาน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วกระทรวงฯ ก็มีการทำงานที่ลงไปในระดับประชาชน ในระดับชุมชนอยู่ด้วยแล้ว เพียงแต่ขาดพลังที่จะบริหารจัดการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายไปสู่เศรษฐกิจระดับฐานราก วันนี้จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะได้มาทำความเข้าใจร่วมกัน เพื่อทำให้นโยบายถูกแปรไปสู่ทางปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว
ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำจะเร่งดำเนินการให้สำเร็จเป็นรูปธรรมภายใต้นโยบาย Energy For All อาทิ

1) ช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนด้านพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม โดยอยู่ระหว่างปรับปรุงโครงสร้างราคาพลังงานทั้งน้ำมันและค่าไฟฟ้า

2) ทุกพื้นที่ของประเทศไทยที่มีเอกสารสิทธิ์ที่ถูกต้องจะต้องมีไฟฟ้าใช้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตทั้งพื้นที่บริเวณชายขอบ ชายแดน ซึ่งเป็นพื้นที่ปลายสายส่งที่เกิดไฟตกไฟดับ จำเป็นต้องแก้ปัญหาอีกจำนวนมาก ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างเร่งจัดทำแผนงานสนับสนุนงบประมาณผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ทุกพื้นที่ได้มีไฟฟ้าใช้อย่างทั่วถึง

3) เกิดโรงไฟฟ้าชุมชนกว่า 1,000 เมกะวัตต์(MW) ในช่วง 3 ปีข้างหน้า คาดว่าจะมีเงินลงทุน 7-8 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะมีการนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กลางเดือนธันวาคมนี้ รวมถึงการส่งเสริมใช้ชีวมวลช่วยลดการเผาในที่โล่ง และยังทำให้มีการปล่อย PM 2.5 น้อยลงอีกด้วย

4) เกิดสถานีพลังงานชุมชนในพื้นที่ที่มีศักยภาพทั่วประเทศ โดยใช้โมเดลการพัฒนาชุมชนของ จ.กาญจนบุรีเป็นแนวทางในการทำสถานีพลังงานชุมชนแบบครบวงจรที่สามารถนำพลังงานจากแสงอาทิตย์ ชีวมวล ขยะ และเชื้อเพลิงฟอสซิลมาบริหารจัดการในกิจกรรมต่างๆ เพื่อลดรายจ่ายด้านพลังงานและสร้างรายได้ต่อยอดอาชีพของชุมชน โดยจะพิจารณานำเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานมาสนับสนุน

5)เกิดการใช้ B10 ทั่วประเทศเป็นน้ำมันดีเซลเกรดมาตรฐาน และมี B20 ที่ใช้สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ ซึ่งจะช่วยให้ตลาดน้ำมันปาล์มมีความสมดุลมากขึ้น สร้างเสถียรภาพราคาไม่ให้ได้รับผลกระทบจากความผันผวนราคาในตลาดโลก รวมทั้ง B10 ยังช่วยลดฝุ่น PM 2.5 รวมทั้งในปีหน้าก็จะส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพในกลุ่มน้ำมันเบนซินต่อเนื่อง เพื่อให้การใช้แก๊สโซฮอล E20 ในกลุ่มเบนซินมีมากขึ้น

6)เกิดการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อย่างเป็นรูปธรรม จะร่วมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมภาพรวมให้เกิดการใช้ EV อย่างเป็นรูปธรรม

“หัวใจของนโยบาย Energy For All คือ การนำพลังงานเข้าไปหมุนระบบเศรษฐกิจของประเทศจากฐานราก ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจฐานรากได้ถูกขับเคลื่อนแล้ว ก็จะเป็นการยกฐานของประเทศขึ้นไปทั้งระบบ จะช่วยหนุนให้ภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเดินหน้าต่อไปได้ แม้ว่าจะมีปัจจัยจากภายนอกที่ผันผวนไม่แน่นอนมากระทบก็ตาม” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว

สำหรับการสัมมนาในปีนี้ ยังได้มีการแบ่งกลุ่มย่อย (Workshop) ระดมสมองการนำนโยบายพลังงานเพื่อทุกคน Energy For All สู่การปฏิบัติในประเด็น โรงไฟฟ้าชุมชนพื้นที่ห่างไกล สถานีพลังงานชุมชน พลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานรากอีกด้วย #EnergyForAll
___________________________

 

 

ประมวลภาพพิธีรับของพระราชทาน หมวกฟ้า ผ้าพันคอเหลือง จิตอาสาพระราชทาน

ประมวลภาพพิธีรับของพระราชทาน หมวกฟ้า ผ้าพันคอเหลือง จิตอาสาพระราชทาน กระทรวงพลังงาน จำนวน 683 คน
เมื่อวันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ณ หอประชุม เกษม จาติกวณิช อาคาร ท.102 สำนักงานกลาง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จ.นนทบุรี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานลงพื้นที่ภาคใต้ ที่ จ.สุราษฎร์ธานี มอบนโยบาย “B10 นโยบายน้ำมันบนดินเพื่อเศรษฐกิจฐานราก”

วันที่  24 พ.ย.62  นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะเดินทางปฏิบัติภารกิจในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเดินหน้าส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลB10 น้ำมันบนดินเพื่อเศรษฐกิจฐานราก  ซึ่งกระทรวงพลังงานดีเดย์ประกาศเป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานสำหรับประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไปซึ่งมาตรการส่งเสริมน้ำมันดีเซลB10 เป็นหนึ่งในกลไกด้านพลังงานที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้ประชาชนให้กับชุมชนเพราะเป็นการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพจากไบโอดีเซลที่ผลิตจากปาล์มน้ำมันมาผสมในเนื้อน้ำมันดีเซลเป็นการนำจุดแข็งด้านผลผลิตทางการเกษตรของไทยมาช่วยสร้างเสถียรภาพราคาให้กับเกษตรกรทำให้ปาล์มน้ำมันไม่ติดกับปัญหาด้านราคาเหมือนที่ผ่านมา

“หากผลักดันการใช้B10สำเร็จจะทำให้การใช้ไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นราว 2.1 ล้านลิตรต่อวันหรือเพิ่มประมาณ 40% จากปัจจุบันซึ่งขณะนี้มีปริมาณการใช้ไบโอดีเซล 5.15 ล้านลิตรต่อวันก็จะเพิ่มเป็นประมาณ 7 ล้านลิตรต่อวันในปี 2563 โดยภาคพลังงานจะช่วยดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ได้ประมาณ 2 – 2.2 ล้านตันต่อปีและยังเกิดผลพลอยได้ช่วยลดมลภาวะทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)  อีกด้วย”
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว

ในการลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานครั้งนี้ได้สร้างความเชื่อมั่นและมั่นใจเรื่องเสถียรภาพของราคาปาล์มน้ำมันให้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันมากยิ่งขึ้นซึ่งปัจจุบันจากการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลB10 ได้มีส่วนช่วยให้ราคาปาล์มน้ำมันในตลาดได้ขยับขึ้นมากกว่า 4 บาท/กิโลกรัมแล้ว

ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้เข้าเยี่ยมชมกระบวนการผลิตไบโอดีเซล (B100) ของบริษัทนิวไบโอดีเซล จำกัด จ.สุราษฎร์ธานีโดยโรงงานดังกล่าวมีพันธกิจที่สอดคล้องกับนโยบายด้านพลังงานเพราะมุ่งผลิตไบโอดีเซลเป็นพลังงานทดแทนลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศช่วยเพิ่มเสถียรภาพด้านราคาให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันและสร้างความเชื่อมั่นว่าจะสามารถปลูกและขายผลผลิตในราคาที่เหมาะสมคุ้มค่าต่อการลงทุนอีกทั้งยังมีส่วนช่วยลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

บริษัทฯ มีการผลิต 4 ส่วนคือส่วนผลิตไอน้ำส่วนการกลั่นน้ำมันปาล์มดิบส่วนการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลและส่วนการผลิตน้ำมันปาล์มเพื่อบริโภคซึ่งในส่วนการผลิตน้ำมันปาล์มดิบนั้นสามารถผลิตได้รวมวันละ 1,800 ตันโดยสามารถผลิตน้ำมันไบโอดีเซลได้รวมวันละ 1,000 ตันหรือ 1.15 ล้านลิตรต่อวันขณะที่การผลิตน้ำมันปาล์มเพื่อบริโภคสามารถผลิตน้ำมันปาล์มโอเลอีนได้วันละ 300 ตัน

สำหรับกระบวนการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลนั้นใช้กระบวนการแบบ Tranesterification เป็นระบบปิดแบบต่อเนื่อง 24 ชั่วโมงใช้เทคโนโลยีในการผลิตไบโอดีเซลจาก Malaysia Palm Oil Board  ประเทศมาเลเซียซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการนำน้ำมันปาล์มมาผ่านกระบวนการเพื่อเพิ่มมูลค่าโดยสามารถผลิตได้น้ำมันไบโอดีเซลเกรดตรงตามมาตรฐานของกรมธุรกิจพลังงานและมีสินค้าพลอยได้คือกลีเซอรีนซึ่งจะจัดจำหน่ายให้โรงกลั่นกลีเซอรีนเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยาและเครื่องสำอางต่อไปสำหรับกลุ่มลูกค้าปัจจุบันของบริษัทฯคือผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7  ซึ่งจะมีคลังน้ำมันอยู่ทั่วประเทศเพื่อกระจายสินค้าให้กับผู้ค้าน้ำมันรายย่อยในแต่ละเขตพื้นที่ซึ่งลูกค้ากลุ่มหลักอยู่ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้และใกล้เคียง

นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และคณะยังได้เดินทางทำพิธีเปิดระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียยางพาราขนาด 500 ลูกบาศก์เมตร ที่สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินท่าแซะจำกัดจ.สุราษฎร์ธานีซึ่งสหกรณ์ดังกล่าวมีผลผลิตส่วนใหญ่เกี่ยวกับยางพาราอาทิการรวบรวมผลผลิตยางพาราแผ่นดิบการแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควันการจัดจำหน่ายการแปรรูปยางแท่งเป็นต้นโดยโรงงานของสหกรณ์มีกำลังการผลิตยางแผ่นรมควันชั้น3  ประมาณ 10 ตันต่อวันยางแท่งSTR 20 ประมาณ 2 ตันต่อชั่วโมงสำหรับระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียที่ได้จากยางพาราดังกล่าวได้รับงบประมาณปี2562  ในส่วนของโครงการลดต้นทุนพลังงานในการจัดหาน้ำเพื่อการเกษตรและการอบแห้งผลผลิตทางการเกษตรภาคใต้ในการก่อสร้างบ่อแก๊สชีวภาพจากน้ำเสียยางพาราขนาด 500 ลูกบาศก์เมตรงบประมาณก่อสร้าง 1.5 ล้านบาทซึ่งจะมีส่วนช่วยประหยัดเชื้อเพลิงไม้ฟืนที่ใช้ในการผลิตได้ประมาณ 125 ตันต่อปีจากเดิมที่มีการใช้เชื้อเพลิงดังกล่าวที่ 600 ตันต่อปี

 

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย Energy For All พลังงานเพื่อประชาชนทุกคนทุกระดับ

วันที่ 17 พ.ย. 62  นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานกล่าวปาฐกถาเรื่อง “B10 น้ำมันบนดิน เพื่อเศรษฐกิจฐานราก”  ภายในงานสัมมนา B10 ราคาปาล์มจะรุ่ง หรือร่วง ซึ่งจัดขึ้นที่จ.นครศรีธรรมราชว่า กระทรวงพลังงานให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมนโยบายพลังงานเพื่อประชาชนทุกระดับตามนโยบาย Energy For All เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงพลังงานและสามารถใช้พลังงานในการเพิ่มรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งในระดับภาพรวมและเศรษฐกิจฐานรากที่สามารถพึ่งพาตนเองได้

“ในฐานะที่กระทรวงพลังงานเป็นหนึ่งในกระทรวงที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ ผมตั้งใจทำ 2 เรื่องหลักคือ ลดความเหลื่อมล้ำ และใช้กลไกด้านพลังงานไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้ประชาชน ให้กับชุมชน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงฯ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้าให้มีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 30% ในปี 2579 จึงมีโครงการต่างๆ เกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์นโยบายนี้ ทั้งการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชน การส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพจากไบโอดีเซลและเอทานอลผสมในเนื้อน้ำมัน ซึ่งถือเป็นน้ำมันบนดินที่มาจากผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นจุดแข็งของไทย ช่วยสร้างเสถียรภาพราคาผลผลิตทางการเกษตรให้กับเกษตรกร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลผสมในน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นเป็น B10 นั้น ขณะนี้ได้ประกาศให้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 น้ำมัน B10 จะเป็นดีเซลพื้นฐานของประเทศแทน B7 โดยที่น้ำมันดีเซล B7 เป็นทางเลือกสำหรับรถเก่า และรถยุโรปที่ยังรองรับไม่ได้ และมี B20 เป็นทางเลือกสำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ ซึ่งหากผลักดันการใช้ B10 สำเร็จจะทำให้การใช้ไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นราว 2.1 ล้านลิตรต่อวัน หรือเพิ่มประมาณ 40%จากปัจจุบัน  ซึ่งขณะนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 13 พ.ย.62)  มีปริมาณการใช้ไบโอดีเซล 5.15 ล้านลิตรต่อวัน ก็จะเพิ่มเป็นประมาณ 7 ล้านลิตรต่อวันในปี 2563

เพื่อสำหรับราคา B10 ถูกกว่า B7 ถึง 2 บาทต่อลิตรเพื่อเป็นการจูงใจให้เกิดการใช้เพิ่มขึ้น โดยกระทรวงฯตั้งเป้าหมายให้สถานีบริการน้ำมันมี B10 จำหน่ายทั่วประเทศตั้งแต่ 1 มี.ค. 2563 ซึ่งปัจจุบันมีสถานีบริการ B10ทั่วประเทศแล้ว 120สถานี เฉพาะที่จ.นครศรีธรรมราช มี 5 สถานีผลจากการผลักดันนโยบาย B10 เกิดประโยชน์ขึ้นหลายต่อทีเดียว ทั้งการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มดิบจากการใช้ไบโอดีเซลในภาคพลังงานมากขึ้น โดยดำเนินการร่วมกับกระทรวงพาณิชย์บริหารจัดการผลผลิตปาล์มน้ำมันเพื่อใช้ผลิตไบโอดีเซลและเพื่อใช้บริโภค และร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องป้องกันการลักลอบการนำเข้าปาล์มดิบจากต่างประเทศด้วย อันจะมีส่วนช่วยยกระดับราคาผลปาล์มน้ำมัน และทั้งยังช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ลดการพึ่งพานำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลจากต่างประเทศ ที่สำคัญลดปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านมลภาวะทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5

นอกจากนี้ น้ำมันบนดินชนิดต่อไปที่กระทรวงฯจะผลักดันคือ การส่งเสริมเอทานอลที่ผลิตจาก อ้อย มันสำปะหลัง เพื่อผสมในน้ำมันเบนซิน โดยมีแผนยกระดับการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอลE20 เป็นน้ำมันพื้นฐานกลุ่มเบนซิน และมีแผนจะลดจำนวนชนิดน้ำมันแก๊สโซฮอลที่จำหน่ายที่สถานีบริการน้ำมันลง โดยใช้กลไกส่วนต่างราคาปลีกจูงใจประชาชนหันมาใช้ E20 เพิ่มขึ้น

“ผมขอให้เชื่อมั่นว่านโยบายของกระทรวงพลังงานจะเป็นเครื่องมือสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนทุกระดับ สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมสร้างคน สร้างงาน สร้างอาชีพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา และขอให้มั่นใจว่ากระทรวงพลังงานจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ขับเคลื่อนชีวิตของคนไทยทุกคนในปัจจุบันไปสู่อนาคตอย่างยั่งยืนตามนโยบาย พลังงานเพื่อทุกคน พลังงานเพื่อชุมชน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมพูดคุยกับกลุ่มผีเสื้อกระพือปีกในประเด็นด้านราคาน้ำมัน

วันนี้ (13 พฤศจิกายน 2562) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยปลัดกระทรวงพลังงาน และผู้บริหารระดับสูง เข้าร่วมพูดคุยกับกลุ่มผีเสื้อกระพือปีกเกี่ยวกับประเด็นข้อเรียกร้องด้านราคาน้ำมัน ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้รับฟังความคิดเห็นพร้อมให้แนวทางในการตั้งคณะทำงานเพื่อหารือ และพูดคุยแก้ปัญหาด้านพลังงานร่วมกัน และยืนยันว่าจะพิจารณาเรื่องต่างๆ โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ
#Energy for all

กระทรวงพลังงานร่วมมือค่ายรถยนต์ โรงกลั่น ผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 ผู้ผลิตไบโอดีเซล และตัวแทนชาวสวนปาล์ม เปิดตัวกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการใช้ B10 ประกาศเป็นน้ำมันดีเซลฐานของประเทศ

กระทรวงพลังงานร่วมมือค่ายรถยนต์ โรงกลั่น ผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 ผู้ผลิตไบโอดีเซล และตัวแทนชาวสวนปาล์ม เปิดตัวกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการใช้ B10 ประกาศเป็นน้ำมันดีเซลฐานของประเทศ วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป และพร้อมจำหน่ายที่ปั๊มน้ำมันทั่วประเทศมีนาคม 2563 เพื่อช่วยยกระดับราคาปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ช่วยลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 และประหยัดลดการนำเข้าน้ำมันได้เกือบ 2 ล้านลิตร/วัน

วันนี้ (28 ต.ค.62) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล B10 โดยมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย สมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย รวมทั้งสมาพันธ์สมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้เพื่อยืนยันถึงความพร้อมของทุกฝ่ายในการสนับสนุนการใช้น้ำมันดีเซล B10 เป็นดีเซลฐานแทน B7 เดิม โดยกำหนดให้ B10 เป็นดีเซลฐานสำหรับรถดีเซลทั่วไป ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 และให้ B7 เป็นดีเซลทางเลือกสำหรับรถรุ่นเก่าและรถยุโรป และ B20 เป็นดีเซลทางเลือกสำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ตั้งเป้าหมายจะสามารถจำหน่าย B10 ได้ทุกสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศวันที่ 1 มีนาคม 2563

การส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล B10 ซึ่งมีสัดส่วนไบโอดีเซลผสมในเนื้อน้ำมันดีเซลประมาณ 10% เป็นมาตรการของกระทรวงพลังงานในการเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันไบโอดีเซล (B100)ในภาคพลังงานเพิ่มมากขึ้นเพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน เป้าหมายสร้างสมดุลปาล์มน้ำมันทั้งระบบของประเทศ สามารถดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ(CPO) ได้ประมาณ 2 ใน 3 ของปริมาณการผลิตทั้งหมดของประเทศปัจจุบันหรือประมาณ 2.2 ล้านตัน/ปี ซึ่งการสร้างสมดุลนี้เองช่วยสร้างเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมันทำให้ราคาสูงขึ้น รวมทั้งยังช่วยลดปริมาณฝุ่นพิษ PM 2.5 และยังประหยัดการนำเข้าน้ำมันได้ถึงประมาณ 1.8 ล้านลิตร/วัน

“สำหรับข้อกังวลที่มีต่อเครื่องยนต์ทางค่ายรถยนต์ที่ได้เข้ามาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ต่างร่วมยืนยันว่า ดีเซล B10 สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยกับรถเครื่องยนต์ดีเซลหลายๆ รุ่น อาทิ โตโยต้า อีซูซุ นิสสัน ฟอร์ด เอ็มจี เชฟโรเล็ต เป็นต้น ส่วนรถรุ่นเก่า และรถค่ายยุโรปก็ยังมีน้ำมันทางเลือก B7ไว้รองรับโดยกระทรวงพลังงานจะกำกับดูแล ตรวจสอบคุณภาพน้ำมันตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการจำหน่ายที่สถานีบริการน้ำมัน มั่นใจได้ในคุณภาพของ B10 จึงอยากเชิญชวนให้ประชาชนเลือกใช้ B10 ซึ่งนอกจากจะมีส่วนช่วยเกษตรกรสวนปาล์มแล้ว

ยังช่วยลดฝุ่นพิษ PM 2.5 ช่วยลดการนำเข้าน้ำมัน และยังช่วยลดเงินในกระเป๋าท่านอีกด้วย เพราะ B10 มีราคาถูกกว่า B7 ถึงลิตรละ 2 บาท ปัจจุบัน จำนวนรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซลของไทยมีประมาณ 10.5ล้านคัน (ก.ค.62) เป็นรถที่ใช้  B10 ได้ประมาณ 5.3 ล้านคันหรือประมาณ 50% ที่เหลือเป็นรถดีเซลรุ่นเก่ามากๆ และรถยุโรปราคาแพง ซึ่งก็มีทางเลือกในการใช้ B7 ได้ และยังมีน้ำมัน B20 เป็นน้ำมันดีเซลทางเลือกสำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่อีกด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าว

อย่างไรก็ดี ผู้ใช้รถยนต์ตรวจสอบว่ารถรุ่นไหนสามารถใช้น้ำมันดีเซล B10 ได้หรือไม่จากเว็บไซต์ของกรมธุรกิจพลังงานwww.doeb.go.thหรือที่ศูนย์บริการหรือศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ของผู้ผลิตรถยนต์แต่ละยี่ห้อ#สนธิรัตน์#B10 #ลดฝุ่นPM2.5 #พลังงานเพื่อทุกคน #EnergyForAll

 

ก.พลังงานพร้อมรับมือสถานการณ์“เรือน้ำมันอิหร่านระเบิด” แจงปริมาณน้ำมันมีใช้เพียงพอ พร้อมใช้กองทุนน้ำมันพยุงราคาขายปลีก

กระทรวงพลังงานชี้แจงเตรียมพร้อมรับมือกรณีเกิดเหตุการณ์เรือบรรทุกน้ำมันของอิหร่านระเบิด ทั้งปริมาณน้ำมันยังเพียงพอต่อการใช้ได้ 51 วัน และให้ความมั่นกับประชาชนว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันเพราะสามารถใช้กลไกบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาช่วยพยุงราคาไม่ให้กระทบค่าครองชีพ

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กรณีเกิดเหตุเรือบรรทุกน้ำมันของประเทศอิหร่านระเบิดและไฟลุกนอกเมืองเจดดาห์ เมืองท่าของซาอุดิอาระเบียนั้น กระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และขอให้ประชาชนมั่นใจอย่าวิตกกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าว เพราะกระทรวงพลังงานมีการเตรียมความพร้อมอยู่ตลอดเวลา โดยภาพรวมไทยยังมีปริมาณสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงใช้ได้ประมาณ 51วันโดย ณ วันที่ 10 ตุลาคม2562 ไทยมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบประมาณ 2,964 ล้านลิตร ปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างขนส่งอีกประมาณ1,319 ล้านลิตร น้ำมันสำเร็จรูปประมาณ1,752 ล้านลิตร รวมจำนวนวันที่สามารถใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้ทั้งหมด 51 วัน ส่วนปริมาณสำรองก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม มีประมาณ 103 ล้านกิโลกรัม สำรองใช้ได้รวม 10 วัน โดยหากใช้เฉพาะในภาคครัวเรือนอย่างเดียวก็จะสามารถใช้ได้ 18 วัน

“ในด้านราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ หากมีความผันผวนที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนก็สามารถนำกลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาเป็นเครื่องมือช่วยลดผลกระทบจากราคาน้ำมันในตลาดโลก จึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่ากระทรวงพลังงานจะดูแลไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพของพี่น้องประชาชนทั้งนี้กระทรวงพลังงานจะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเพื่อสื่อสารสร้างความมั่นใจต่อประชาชนต่อไป”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เยี่ยมชมการดำเนินงานธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และผู้บริหารกระทรวงพลังงาน ร่วมเยี่ยมชมและรับฟังการบรรยายสรุปการดำเนินงานธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) โดยมี นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ และนายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ปตท. ให้การต้อนรับ ระหว่างวันที่ 11 – 12 ตุลาคม 2562

ในโอกาสนี้ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ พร้อมคณะ ได้เข้าเยี่ยมชมพื้นที่ปฏิบัติงานของ ปตท. ในหลายพื้นที่ เริ่มจากการเข้าเยี่ยมชมสถานีบริการน้ำมัน PTT Station และเอ็นจีวี สาขาสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม (ทางด่วนบางนาขาออก) รับฟังการบรรยายในประเด็นธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก ก๊าซเอ็นจีวี และธุรกิจเสริมในสถานีบริการต่างๆ จากนั้นได้เข้าเยี่ยมชมศูนย์ปฏิบัติการชลบุรี ประกอบด้วย PTT Natural Gas Pipeline Knowledge Hall ซึ่งเป็นนิทรรศการภาพรวมของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ พร้อมรับฟังการบรรยายประกอบกิจการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อส่งก๊าซฯ และเข้าเยี่ยมชมศูนย์ควบคุมรับส่งก๊าซฯ อัตโนมัติ (Supervisory Control and Data Acquisition: SCADA) ในงานควบคุมการรับส่งก๊าซระยะทางไกลแบบเรียลไทม์ (Real time) เพื่อให้การขนส่งก๊าซไปให้ลูกค้าตรงเวลา มีคุณภาพก๊าซตรงตามความต้องการด้วยความปลอดภัยและต่อเนื่อง จากนั้นได้เดินทางไปยังสวนสมุนไพรสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จ.ระยอง เพื่อรับฟังการบรรยายกิจการแยกก๊าซธรรมชาติ และเยี่ยมชมโรงเรือนเพาะปลูกพันธุ์ไม้และผลไม้เมืองหนาวซึ่งเป็นการต่อยอดนวัตกรรมที่นำพลังงานความเย็นมาใช้ประโยชน์

วันที่ 12 ตุลาคม 2562 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ พร้อมคณะ จะเดินทางไปยัง บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด รับฟังการบรรยายประกอบกิจการการเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว และเยี่ยมชมสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal)

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เปิดเผยว่า วันนี้ถือเป็นโอกาสอันดียิ่งที่ ปตท. โดยเฉพาะสายงานธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ได้ให้การต้อนรับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะ ซึ่งก๊าซธรรมชาติถือเป็นพลังงานที่สำคัญยิ่งของประเทศ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยทุกคน ทำให้ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ เป็นธุรกิจต้นน้ำที่เป็นหัวใจสำคัญ เป็นรากฐานของกลุ่ม ปตท. และอยู่คู่กับ ปตท. มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตลอด 40 ปี จนปัจจุบันได้ขยายการจัดหา จัดจำหน่ายก๊าซฯ ทั้งจากประเทศเพื่อนบ้าน และนำเข้า LNG จากต่างประเทศ ซึ่งการดำเนินงานทั้งหมดก็เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทย และปัจจุบันได้มุ่งไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานของภูมิภาค ตามนโยบายจากภาครัฐต่อไป

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น “การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก”

วันที่ 9 ตุลาคม 2562 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น “การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก”
และเปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)  ได้จัดให้มีการระดมสมองผุดแผนโรงไฟฟ้าชุมชน ส่งเสริมพืชพลังงานเพิ่มรายได้ ศก.ฐานราก เปิดเวทีระดมความคิดเห็น ดึงทุกภาคส่วนร่วมแชร์ไอเดียเดินหน้า สร้างโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อเศรษฐกิจฐานรากมุ่งส่งเสริมพืชพลังงานสร้างรายได้เกษตรกร วางเกณฑ์ร่วมลงทุนให้ชุมชนมีส่วนถือหุ้นโดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้าง เพื่อเสริมระบบความมั่นคงพลังงานของประเทศ  ซึ่งมีหลายหน่วยงานเข้าร่วม อาทิ  สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ เป็นต้น โดยทั้งหมดได้ร่วมกันประชุมรับฟังความคิดเห็น “การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” ที่จะนำไปสู่การจัดทำกรอบการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและกองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน

ทั้งนี้เป้าหมายโรงไฟฟ้าชุมชนเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า โดยการผลิต ใช้และจัดจำหน่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญต่อการเสริมสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในประเทศและเพิ่มรายได้เข้าสู่ชุมชนตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ไม่ว่าจะเป็น การประกันรายได้จากการปลูกพืชพลังงาน การเข้าไปถือหุ้นในประกอบการกิจการโรงไฟฟ้า รวมถึงผลประโยชน์ของชุมชนที่จะได้รับรายได้จากการขายไฟฟ้า “ผลจากการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในครั้งนี้ กระทรวงพลังงาน จะนำข้อเสนอแนะ และข้อคิดเห็น ไปประกอบการพิจารณารูปแบบการพัฒนาโครงการที่เหมาะสม เพื่อเป็นแนวทางในการเปิดรับ ภาคเอกชนที่สนใจเข้าร่วมลงทุนกับชุมชน ในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนโดยกรอบดังกล่าวจะนำเสนอสู่การพิจารณา ขอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. อีกครั้ง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาโรงไฟฟ้าในปี 2563” นายสนธิรัตน์ กล่าว

สำหรับกรอบนโยบายการพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชน จะมีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายที่ตั้งโรงไฟฟ้า ซึ่งต้องเป็นพื้นที่มีศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่นฟางข้าว ซังข้าวโพด รวมถึงพืชพลังงานอย่างหญ้าเนเปียร์ และมีระบบโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ไม่ว่าจะเป็นระบบส่ง ระบบจัดจำหน่ายที่สามารถรองรับไฟฟ้าที่ผลิตได้จากชุมชน โดยแนวทางการจัดตั้งโรงไฟฟ้าดังกล่าว จะเป็นการร่วมลงทุนระหว่าง เอกชนและชุมชน ซึ่งมีเงื่อนไขที่ให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนในการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ และเปิดให้ชุมชนเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วนที่เหมาะสมในขั้นตอนของการดำเนินการผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้การต้อนรับคณะกรรมาธิการการพลังงาน

วันนี้ (9 ต.ค.62) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงพลังงาน ให้การต้อนรับคณะกรรมาธิการการพลังงาน นำโดยนายกิตติกร โล่ห์สุนทร ประธานคณะกรรมาธิการ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินโยบายด้านพลังงานของประเทศ โดยเฉพาะการกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายพลังงานสู่ภาคประชาชน ซึ่งบรรยากาศการหารือเป็นไปด้วยดี โดยทางคณะกรรมาธิการการพลังงานพร้อมจะให้คำแนะนำเป็นที่ปรึกษาอิสระให้กระทรวงพลังงาน เพื่อสร้างบรรยากาศการทำงานร่วมกันระหว่างสภาผู้แทนราษฎร และกระทรวงพลังงาน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยินดีที่จะทำงานร่วมกันโดยคาดว่าจะมีการพบปะหารือกันเป็นระยะๆ ในโอกาสต่อไป
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการหารือว่า มีประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ทางคณะกรรมาธิการฯ สอบถามความคืบหน้าการดำเนินการของกระทรวงพลังงานซึ่งน่าจะมีบทบาทหลักในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ กระทรวงพลังงานได้ชี้แจงว่า ได้วางแผนเรื่องปรับเปลี่ยนการใช้น้ำมันดีเซล B10 เป็นน้ำมันดีเซลฐานของประเทศเพื่อส่งเสริมปาล์มน้ำมัน และลดค่าฝุ่น PM 2.5 ตั้งเป้าหมายส่งเสริมให้เกิดการใช้ประมาณ 57 ล้านลิตรต่อวันภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 และส่งเสริมการใช้ B20 สำหรับรถบรรทุก โดยกระทรวงฯจะยืนยันสัดส่วน B10 นี้เป็นดีเซลฐานต่อไปไม่มีการปรับลดเปลี่ยนแปลงหากสถานการณ์เกิดการขาดแคลนน้ำมันปาล์มดิบก็จะต้องพิจารณาเรื่องของการนำเข้าแทน ทั้งนี้เพื่อจะได้สามารถควบคุมการใช้ไบโอดีเซลมาเป็นส่วนผสมน้ำมันดีเซลได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการผลิต B10 นี้สามารถดูดซับส่วนเกินน้ำมันปาล์มดิบได้ถึงปริมาณ 2 ใน 3 และต่อไปก็จะพิจารณาในกลุ่มเบนซินที่นำพืชพลังงานอ้อย มันสำปะหลัง มาเป็นส่วนผสมเพิ่มขึ้น
ประเด็นเรื่องส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) กระทรวงพลังงานจะเป็นหลักในการส่งเสริมแบตเตอรี่ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) และจะประกาศเป็นนโยบายร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมในการขับเคลื่อนสู่การเป็นผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า กระตุ้นการใช้รถ EV ให้เกิดการลงทุนจากประเทศต่างๆ ซึ่งกรรมาธิการฯ มีความกังวลเรื่องนี้ว่า EV เป็นเรื่อง Disruptive ด้านพลังงานที่กำลังมาเร็ว จึงอยากให้กระตุ้นเกิดการปฏิบัติเป็นรูปธรรมทั้งในรูปของการขนส่งสาธารณะ รถโดยสารสาธารณะ เรือสาธารณะ ให้มีการใช้เชื้อเพลิงไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งทางกรรมาธิการฯพร้อมให้ความร่วมมือ ให้คำปรึกษาแนะนำทำงานร่วมกันได้
โรงไฟฟ้าชุมชน ทำอย่างไรให้โรงไฟฟ้าชุมชนกระจายรายได้สู่ชุมชน กลุ่มฐานรากได้ประโยชน์อย่างแท้จริงไม่ใช่ประโยชน์ตกแก่ภาคเอกชน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้แจ้งแก่คณะกรรมาธิการฯว่า ในวันเดียวกันนี้จะมีได้มีการจัดระดมสมองเกี่ยวกับการจัดตั้งโมเดลโรงไฟฟ้าชุมชนจากผู้เกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน
เรื่องน้ำมันปาล์ม คณะกรรมาธิการให้พิจารณาเรื่องการนำน้ำมันปาล์มดิบมาเผาผลิตไฟฟ้าว่าทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ขณะที่ กฟผ.ควรทยอยซื้อเป็นล็อตย่อยเพื่อกระตุ้นราคาปาล์มอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเด็นนี้ ทางรัฐมนตรได้ชี้แจงว่าเป็นนโยบายต่อเนื่องมา แต่ต่อจากนี้ไปกระทรวงพลังงานจะสนับสนุนในเชิงนำน้ำมันปาล์มาผลิตเป็นดีเซลเป็นหลักไม่สนับสนุนการนำไปผลิตเป็นไฟฟ้า
นอกจากนี้ ทางกรรมธิการฯยังเสนอให้สนับสนุนงบประมาณ 100% ให้กับโรงพยาบาลชุมชนติดโซลาร์เซลล์เพื่อช่วยประชาชนซึ่งทางกระทรวงพลังงานได้สนับสนุนให้โรงพยาบาลชุมชนอยู่แล้วผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานแต่อาจจะยังไม่แพร่หลายและครอบคลุมทุกพื้นที่ในปัจจุบัน

Page 2 of 7
1 2 3 4 7