กระทรวงพลังงานและกระทรวงคมนาคม ส่งเสริมการใช้ B20 ในรถโดยสารสาธารณะ เร่งลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก

วันนี้ (31 มกราคม 2562) ณ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้เกียรติร่วมเป็นประธานใน พิธีแถลงข่าว ปตท. ร่วมกับ ขสมก. ประกาศความพร้อมรถโดยสารใช้น้ำมัน B20 โดยมี นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย นายประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์กร รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ นายอำนวย พงษ์วิจารณ์ กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ฮีโน่ มอเตอร์สเซลล์ (ประเทศไทย) และ นายวิชัย สินอนันต์พัฒน์ กรรมการบริหาร บริษัท ตรีเพชร อีซูซุ เซลล์ จำกัด ร่วมพิธีฯ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากปัญหาสถานการณ์น้ำมันปาล์มดิบล้นตลาดและมีราคาตกต่ำ กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการพิจารณาเพิ่มการใช้น้ำมันปาล์มในการผลิตไบโอดีเซลสำหรับภาคขนส่ง ตั้งแต่การเพิ่มสัดส่วนน้ำมันไบโอดีเซลสำหรับใช้ในรถยนต์ทั่วไปจากร้อยละ 6.6 เป็นร้อยละ 6.9 และการดำเนินการให้มีการจำหน่ายน้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมไบโอดีเซล ร้อยละ 20 สำหรับรถใหญ่ในสถานีบริการทั่วไป ซึ่งจะพร้อมจำหน่ายในเขต กทม. ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไป เพื่อช่วยลดมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่มีปริมาณสะสมสูงเกินค่ามาตรฐานในขณะนี้ โดยที่ผ่านมาได้มีการทดลองใช้น้ำมันดีเซลเกรดพิเศษ B20 กับรถ ขสมก. ซึ่งพบว่าไม่มีผลกระทบต่อเครื่องยนต์และอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงไม่แตกต่างกับการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วปกติ อีกทั้งยังทำให้ระบบเผาไหม้ของเครื่องยนต์สะอาด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในการลดฝุ่นละอองจากท่อไอเสียของยานยนต์ สำหรับมาตรการระยะยาวเพื่อแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศ กรมธุรกิจพลังงานได้ขอความร่วมมือให้โรงกลั่นน้ำมันภายในประเทศจัดทำแผนปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพน้ำมัน EURO4 (ค่ากำมะถันไม่เกิน 50 ppm) เป็นมาตรฐาน EURO5 (ค่ากำมะถันไม่เกิน 10 ppm) ซึ่งจะช่วยให้การเผาไหม้เครื่องยนต์สะอาดมากขึ้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดออกมาตรการเพื่อบรรเทาสถานการณ์ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เกินมาตรฐานโดยเร่งด่วน เริ่มจากให้กรมการขนส่ง
ทางบก จัดทีมตรวจสภาพรถ ขสมก. โดยต้องไม่เกิดปัญหาควันดำโดยเด็ดขาด ให้ ขสมก. ปรับเครื่องยนต์โดยสารทุกคันให้ใช้น้ำมันไบโอดีเซล B20 เพื่อลดมลพิษจำนวน 2,075 คัน รวมถึงเร่งประสานขอรับรถ NGV ในส่วนที่เหลืออีก 119 คัน เพื่อให้บริการประชาชนและเร่งจัดหารถที่ใช้พลังงานสะอาด ประกอบด้วย รถโดยสาร NGV รถไฮบริด รถไฟฟ้า (EV) เพื่อแก้ปัญหาต่อเนื่อง ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เข้มงวดมาตรการลดฝุ่นละอองในพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้า 3 โครงการ ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย แก้ปัญหาฝุ่นละอองหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ ด้านกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ให้เข้มงวดตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม และให้กรมเจ้าท่า ประสานผู้ประกอบการขนส่งทางน้ำให้ตรวจสอบการใช้เครื่องยนต์เรือโดยสาร
รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์กร รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชลกรุงเทพ กล่าวว่า องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้ดำเนินการตามนโยบายกระทรวงพลังงานและกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการสนับสนุนการใช้น้ำมันปาล์มภายในประเทศ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนปาล์ม และลดฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน โดยเมื่อช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา ขสมก. ได้ทดลองใช้น้ำมัน B20 กับรถโดยสารธรรมดา จำนวน 17 คัน พบว่าเครื่องยนต์สามารถทำงานได้ตามปกติ และมีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันใกล้เคียงกับน้ำมันดีเซล B7 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ขสมก. จึงได้มีแผนนำน้ำมันดีเซล B20 มาใช้กับรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศ จำนวน 2,075 คัน แบ่งเป็น 2 ระยะคือ ระยะที่ 1 ใช้น้ำมันดีเซล B20 กับรถโดยสารธรรมดา จำนวน 815 คัน เมื่อวันที่
15 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา และระยะที่ 2 ใช้น้ำมันดีเซล B20 กับรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศ จำนวน 1,260 คัน ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นต้นไป
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในตอนท้ายว่า ปตท. ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนมาตรการภาครัฐ สนับสนุนการใช้น้ำมันปาล์มภายในประเทศ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนปาล์ม อีกทั้งแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เกินมาตรฐาน โดยในกลุ่มเชื้อเพลิงรถโดยสารสาธารณะขนาดใหญ่ ปตท. มีความพร้อมในการจัดหาและขนส่งน้ำมัน B20 ซึ่งเป็นน้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ในสัดส่วนร้อยละ 20 ให้กับรถโดยสารสาธารณะของ ขสมก. จำนวน 2,075 คัน ประมาณการใช้น้ำมันทั้งสิ้น 187,000 ลิตรต่อวัน สร้างเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมัน ช่วยเหลือเกษตรกรน้ำมันปาล์มได้อีกด้วย ทั้งนี้ ปตท. บริษัทพลังงานแห่งชาติ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน จะยังคงเดินหน้าพัฒนาเชื้อเพลิงสะอาดเพื่อสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนไทย

“รัฐมนตรีพลังงานเปิดงานประชุมสัมมนาทางวิชาการนานาชาติ ชูพลังงาน 4.0 สู่ทิศทางพลังงานไทยในอนาคต”

วันนี้ (24 มกราคม 2562)  ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เป็นประธานในพิธีเปิดงานประชุมสัมมนาทางวิชาการเรื่องพลังงาน 4.0 : ทิศทางภาคพลังงานประเทศไทยในอนาคต (International conference on Energy 4.0 : Designing the Future of Thailand’s Power Sector) ซึ่งกระทรวงพลังงานร่วมกับธนาคารพัฒนาเชีย (ADB) จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 24 – 25 มกราคม 2562 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ซึ่งการประชุมดังกล่าวจะเป็นการนำเสนอแนวทางการพัฒนาด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยจากหลากหลายแง่มุม ทั้งในเชิงของการคมนาคมและการขนส่ง การพัฒนาพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยกำหนดอนาคตของการพัฒนาด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย โดยการถ่ายทอด นำเสนอ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญจากประเทศไทย และผู้เชี่ยวชาญอื่น ๆ ในระดับภูมิภาค

นอกจากนั้น ในงานนี้ จะมีผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมบรรยายและถ่ายทอดประสบการณ์มากกว่า 50 คน ซึ่งจะมีการบรรยายหลักทั้งหมด 3 หัวข้อ ได้แก่ การคมนาคมและขนส่ง การพัฒนาพลังงานทดแทน และการอนุรักษ์พลังงาน โดยมี
ผู้บริหารจากธนาคารพัฒนาเอเชีย และผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาเข้าร่วมบรรยาย อาทิเช่น

  • ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประเทศไทย
  • นาง โดนิกา ปอตติ เอกอัครราชทูตแคนาดา ประจำประเทศไทย
  • นาย ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานบริษัท บี.กริม พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ประเทศไทย
  • นาย สมโภชน์ อาหุนัย ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ประเทศไทย
  • นาย ฌอน คิดนีส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Climate Bond Initiative ลอนดอน
  • นาง แคสซิลา โคฮาลมิ-มอนฟิลส์ รองประธานกรรมการบริหาร ENGIE Asia Pacific ประเทศไทย
  • นาย แอนดรู เวสซี ที่ปรึกษาอาวุโส AGL Energy ประเทศออสเตรเลีย

การจัดงานในครั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 500 คน ซึ่งจะทำให้สามารถถ่ายทอดข้อมูลและความรู้ด้านพลังงานสู่ภาคธุรกิจและประชาชนที่สนใจต่อไป

กพช. เห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยพ.ศ. 2561 – 2580 (PDP 2018)

วันนี้ (วันพุธที่ 24 มกราคม 2562) ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 1/2562(ครั้งที่ 16)ซึ่งมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้พิจารณาวาระที่สำคัญด้านพลังงาน ดังนี้

  • แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 (PDP2018)

ที่ประชุม กพช. เห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยพ.ศ. 2561 – 2580 (PDP 2018)ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ โดยการทบทวนสถานการณ์กำลังผลิตไฟฟ้าในปัจจุบัน และได้จัดทำการพยากรณ์ค่าความต้องการใช้ไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี ประกอบด้วย ความต้องการใช้ไฟฟ้าของระบบ 3 การไฟฟ้า และความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มาจากการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองหรือขายตรง  (Independent Power Supply: IPS) ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค ได้สะท้อนแนวนโยบายของรัฐบาลและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของแผนปฏิรูปด้านพลังงานและได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนแล้ว มีสาระสำคัญคือ

  • ภาพรวมของกำลังการผลิตไฟฟ้าในช่วง ปี 2561 – 2580

กำลังผลิตไฟฟ้าสิ้นปี 2560   จำนวน  46,090  เมกะวัตต์

กำลังผลิตไฟฟ้าที่ปลดออกจากระบบ ในช่วงปี  2561 – 2580   จำนวน  -25,310  เมกะวัตต์

กำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ ในช่วงปี 2561 –2580  จำนวน   56,431 เมกะวัตต์

รวมกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้นถึงปี 2580   จำนวน  77,211  เมกะวัตต์

 

  • สรุปกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ในช่วงปี พ.ศ. 2561 – 2580 แยกตามประเภทโรงไฟฟ้า

ประเภทโรงไฟฟ้า                         กำลังผลิตไฟฟ้าใหม่  (หน่วย: เมกะวัตต์)

โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน                20,766

โรงไฟฟ้าพลังน้ำสูบกลับ                      500

โรงไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่น            2,112

โรงไฟฟ้าความร้อนร่วม                       13,156

โรงไฟฟ้าถ่านหิน/ลิกไนต์                   1,740

รับซื้อจากต่างประเทศ                        5,857

โรงไฟฟ้าใหม่/ทดแทน                      8,300

แผนอนุรักษ์พลังงาน                          4,000

รวมทั้งสิ้น                                         56,431   เมกะวัตต์

  • โรงไฟฟ้าตามนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐ ในช่วงปี 2561 – 2580ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าขยะ400เมกะวัตต์โรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ120เมกะวัตต์ รวม 520 เมกะวัตต์
  • โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามแผน AEDP ประกอบด้วย ชีวมวล3,376เมกะวัตต์ก๊าซชีวภาพ546เมกะวัตต์พลังงานแสงอาทิตย์10,000 เมกะวัตต์พลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ2,725เมกะวัตต์พลังงานลม1,485 เมกะวัตต์ขยะอุตสาหกรรม 44เมกะวัตต์กำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ 18,176เมกะวัตต์
  • สัดส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้าแยกตามประเภทเชื้อเพลิงณ ปี 2580 ที่ไม่ได้มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล มีสัดส่วนร้อยละ 35 คือ พลังน้ำต่างประเทศ (ร้อยละ 9) พลังงานหมุนเวียน (ร้อยละ 20) การอนุรักษ์พลังงาน (ร้อยละ 6)สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินลดลงเหลือร้อยละ12การปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)จะสอดคล้องกับข้อตกลงของ COP21ณ ปี 2580 เท่ากับ 283 kgCO2/kWhหรือ 103,845พันตัน
  • ประมาณการค่าไฟฟ้าขายปลีกในช่วงปี 2561 – 2580 อยู่ระหว่าง 3.50-3.63 บาทต่อหน่วยหรือเฉลี่ย 3.58บาทต่อหน่วย
  • ให้ พน. มีการทบทวนใหม่ทุก 5 ปี หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายของแผนอย่างมีนัยสำคัญโดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปดูแลความมั่นคงของระบบไฟฟ้าการเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาค การเชื่อมโยงกับระบบจำหน่าย เพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียนในอนาคต
  • ให้ กบง. พิจารณาแนวทางการจัดหาโรงไฟฟ้าให้เป็นไปตามแผน PDP2018 ในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับซื้อไฟฟ้า ระยะเวลา พื้นที่ ปริมาณและราคารับซื้อไฟฟ้า เทคโนโลยีและเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า รวมถึงประเด็นอื่นๆโดยคำนึงถึงความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภาคตะวันตกและภาคใต้ ความพร้อมและการยอมรับชนิดของเชื้อเพลิงในด้านสิ่งแวดล้อมเป็นต้น
  • มอบ กฟผ. ดำเนินการศึกษาและจัดทำแผนการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าของประเทศเพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้า เพิ่มประสิทธิภาพ เป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้า (Grid connection) ในภูมิภาค รวมถึงการเชื่อมโยงกับระบบจำหน่าย เพื่อให้สามารถรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียนในอนาคต (Grid Modernization)
  • ให้ กบง. และ กกพ. พิจารณาแนวทางการดำเนินการโครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์ภาคประชาชน ปีละ100 เมกะวัตต์ 10 ปี ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ

ข้อกำหนดพื้นที่ตั้งโครงการโรงไฟฟ้าขยะของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP)

กพช.เห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.)โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เสนอขอปรับปรุงเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ FiT สำหรับ SPP ในสถานที่ที่ตั้งโรงไฟฟ้า เป็นกรรมสิทธิ์ของ อปท. รูปแบบพิเศษหรือเอกชน

แนวทางการดำเนินการกับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP)ระบบ Cogeneration ที่สิ้นสุดอายุสัญญา

กพช. เห็นชอบการปรับปรุงช่วงเวลาการสิ้นสุดอายุสัญญาของ SPP ระบบ Cogeneration กลุ่มต่ออายุสัญญาให้ครอบคลุม SPP ระบบ Cogeneration เป็นปี 2559 – 2561 เพื่อให้สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของมติ กพช. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2559ประเภทสัญญา Firm ระบบ Cogeneration จำนวน 25 ราย โดยให้ SPP ระบบ Cogeneration ที่สิ้นสุดอายุสัญญาในปี 2559 -2568 ได้รับการต่ออายุสัญญาหรือก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ โดยให้ใช้เชื้อเพลิงตามสัญญาเดิมและได้รับอัตรารับซื้อไฟฟ้าสอดคล้องกับประเภทเชื้อเพลิง

และมอบ กกพ. พิจารณาต่ออายุสัญญาโรงไฟฟ้าภายใต้หลักการตามมติ กพช. ดังกล่าวสำหรับโรงไฟฟ้าที่กำลังจะสิ้นสุดอายุสัญญาในปี 2562-2564 และไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ได้ทัน เพื่อให้สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ได้

สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยกับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว

  • กพช. เห็นชอบหลักการคิดอัตราค่าไฟฟ้า และหลักการของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการน้ำงึม 1 และโครงการเขื่อนเซเสด ฉบับใหม่มีสาระสำคัญหลัก คือ หลักการคิดอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ที่เป๊นปัจจุบันมีอายุสัญญา 1 ปี และสามารถต่อสัญญาต่อเนื่อง

 

รมว. พลังงาน ลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.เชียงใหม่ ตรวจเยี่ยมการลงทุนติดตั้งระบบอบแห้งแสงอาทิตย์ และ การผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ในโรงเรียนชนบท สร้างรายได้ให้เกษตรกรและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล

ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่ากระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน เดินทาง ตรวจราชการในจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ระหว่างวันที่ 13-15 มกราคม 2562 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ เพื่อติดตามผลสัมฤทธิ์ของโครงการด้านพลังงานในการสนับสนุนการพัฒนา ชุมชนในที่ต่างๆ ดังนี้

ในวันที่ 13 มกราคม 2562  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ติดตามการใช้งานระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ (พาราโบลาโดม) ของบริษัทชาวไทยภูเขา (ฮิลล์คอฟฟ์) อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นโครงการที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้พัฒนาออกแบบและช่วยเงินลงทุนติดตั้งระบบ ในสัดส่วน 30% เป็นเงิน 485,800 บาท เพื่อใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาคุณภาพเมล็ดกาแฟได้ให้สูงยิ่งขึ้น โดยพาราโบลาโดมจะช่วยลดระยะเวลาการตากเมล็ดกาแฟลงได้ถึง 5-10 วัน และทำให้ได้เมล็ดกาแฟ     มีรสชาติใหม่ ถูกสุขอนามัย ลดความเสียหาย ทำให้ผลผลิตออกมาเป็นเมล็ดกาแฟแบบ Honey process Wet process และ Dry Process สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรชาวเขาในพื้นที่ที่เพาะปลูกกาแฟได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี และพาราโบลาโดมยังถูกนำไปใช้เพื่อทำกล้วยตากได้ถึง 220 กิโลกรัมต่อปีอีกด้วย  นอกจากนี้ ยังได้     นำระบบเทคโนโลยีเพื่อมาต่อยอดให้เป็นสมาร์ทโดมที่สามารถรายงานผลและสั่งการผ่านโทรศัพท์มือถือ ในการควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ในระยะต่างๆ ของการอบแห้งกาแฟได้

โครงการจัดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับโรงเรียนชนบท ณ โรงเรียนบ้านห้วยต้นตอง   อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและไฟฟ้าเข้าไม่ถึง โดยเมื่อปี 2549 พพ. ได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดในวงเงินประมาณ 1.4 ล้านบาท เพื่อติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ ขนาดกำลังผลิตพร้อมแบตเตอรี่ขนาด 36 กิโลวัตต์ชั่วโมง ใช้กับอาคารเรียน 2 ชั้น และในปี 2553 ได้ขยายผลกำลังการผลิตไฟฟ้า ของโครงการขึ้นอีก 3 กิโลวัตต์ เพื่อใช้กับอาคารเรียนชั้นอนุบาล อาคารสำนักงาน และโรงอาหาร และในปี 2561 พพ. ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าขึ้นอีก 10 กิโลวัตต์ พร้อมกับแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนขนาด 100 กิโลวัตต์ชั่วโมง ทั้งนี้ กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้นอกจากจะช่วยเพิ่มคุณภาพการศึกษาของนักเรียนระดับประถมศึกษากว่า 117 คน แล้วพลังงาน   ที่กักเก็บไว้ในแบตเตอร์รี่จะถูกนำมาช่วยเพื่อเตรียมการสอนของครูในช่วงค่ำ นอกจากนี้ ในบางโอกาสไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดนำไปใช้ในกิจกรรมของชุมชนชาวเขาที่อยู่บริเวณโดยรอบกว่า 800 คน จาก150 ครัวเรือน ซึ่งจะช่วยยกระดับความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนจากการมีไฟฟ้าใช้จากระบบเซลล์แสงอาทิตย์ได้เป็นอย่างดี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมพิธีทำบุญตักบาตรเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ.2562

วันนี้ (2 ม.ค. 62) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน 62 รูป เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2562 โดยมี ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมพิธี ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

กระทรวงพลังงาน และกระทรวงพาณิชย์ ลงนาม MOU ขับเคลื่อนมาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ โดยใช้น้ำมันปาล์มเพื่อผลิตไฟฟ้า

กระทรวงพลังงาน และกระทรวงพาณิชย์ ลงนาม MOU ขับเคลื่อนมาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ โดยใช้น้ำมันปาล์มเพื่อผลิตไฟฟ้า

ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) มาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ โดยการใช้น้ำมันปาล์มดิบผลิตกระแสไฟฟ้า ระหว่างกรมการค้าภายใน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากทั้งสองหน่วยงานร่วมเป็นสักขีพยาน

สำหรับการ MOU ครั้งนี้ กฟผ. จะเป็นผู้รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ จำนวน 160,000 ตัน ในราคากิโลกรัมละ 18 บาท ส่งที่ท่าเทียบเรือโรงไฟฟ้าบางปะกง เพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง

ด้านกรมการค้าภายใน จะสนับสนุนการจัดหาน้ำมันปาล์มดิบให้แก่ กฟผ. ตั้งแต่ขั้นตอนการกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีดำเนินมาตรการ รับสมัครผู้ประสงค์เสนอขายน้ำมันปาล์มดิบให้แก่ กฟผ. คัดเลือก และจัดสรรปริมาณขาย เพื่อให้ กฟผ. ทำสัญญาณจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งนี้ เพื่อให้ราคาผลปาล์มน้ำมันที่เกษตรกรได้รับอยู่ในระดับสูงกว่า 3 บาทต่อกิโลกรัม

ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง

 

วันนี้ ( 24 ธันวาคม 2561)  ที่ ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ซึ่งมี ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานฯ ได้พิจารณา เรื่อง สำคัญ สรุปประเด็นได้ ดังนี้

ลดราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งในกลุ่มดีเซลและเบนซินลิตรละ 1 บาท โดย 50 สตางค์จากกองทุนน้ำมันฯและอีก 50 สตางค์จากค่าการตลาด

ที่ประชุม กบง. ได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน 2561 มีแนวโน้มราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผ่อนปรนเงื่อนไขการคว่ำบาตรอิหร่านโดยสหรัฐและการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ และกลุ่มโอเปกพลัส ที่เพิ่มขึ้นในเดือนมกราคม 2562 นี้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบดูไบลดจาก 80.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2561 คงเหลือที่ 53.56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ณ วันที่ 21 ธันวาคม 2561

เทียบเท่ากับราคาส่วนลดประมาณ 5.00 บาทต่อลิตร โดยที่เมื่อรวมส่วนลดราคาขายปลีกในวันนี้แล้ว ราคาขายปลีกดีเซลจะลดลง 4.60 บาทต่อลิตร และเรียกเก็บเข้ากองทุนน้ำมันฯ 0.35 บาทต่อลิตร และสำหรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินลดลง 5.00 บาทต่อลิตร และเรียกเก็บเข้ากองทุนน้ำมันฯ 1.40 บาทต่อลิตร

 

นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชม “บ้านรักษ์พลังงาน” ในงานอุ่นไอรัก คลายความหนาว “สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์”

วันนี้ (18 ธันวาคม 2561 ) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเยี่ยมชม “บ้านรักษ์พลังงาน” ภายในงาน “อุ่นไอรัก คลายความหนาว สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์” ณ พระราชวังดุสิตและสนามเสือป่า โดยมี ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับ  ทั้งนี้ “บ้านรักษ์พลังงาน” เป็นความร่วมมือระหว่าง กระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ก่อสร้างขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้รับความรู้เกี่ยวกับการประหยัดพลังงานภายในบ้าน รวมทั้งการก่อสร้างบ้าน การเลือกใช้วัสดุ การใช้พลังงานจากธรรมชาติอย่างเซลล์แสงอาทิตย์ ผู้สนใจสามารถเข้าชม “บ้านรักษ์พลังงาน” ภายในงานอุ่นไอรัก คลายความหนาว ได้ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 19 มกราคม 2562 และสามารถดาวน์โหลดแบบบ้านประหยัดพลังงานได้ที่ www.dede.go.th

 

 

กระทรวงพลังงานร่วมกิจกรรมจิตอาสา ““เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ””

วันนี้ (15 ธ.ค. 61) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดกิจกรรมจิตอาสาในนามรัฐบาล “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” เดินรณรงค์ “คน รัก คลอง” … “ไม่ทิ้ง ไม่เท ทุ่มทำความดี” โดย ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน นำคณะผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมกิจกรรม ณ ทำเนียบรัฐบาล และบริเวณรอบคลองเปรมประชากร

รมว.เข้าร่วมงาน ไทย – ลาว ร่วมใจ จัดงาน “50 ปี สายส่ง สานสัมพันธ์ พลังงาน ลาว – ไทย มั่นยืน”

รำลึกเหตุการณ์สำคัญในอดีต จุดเริ่มต้นสัมพันธภาพพลังงานไฟฟ้าสองฝั่งโขง พร้อมผนึกพลังสานต่อความมั่นคงไฟฟ้าสู่อาเซียนในอนาคต และร่วมอนุรักษ์และปลูกฝังการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการใช้หลอด LED ประหยัดพลังงาน เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประชาชนสองฝั่งโขง

ในปีนี้นับเป็นโอกาสพิเศษที่ครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ด้านพลังงานไทย – ลาว กระทรวงพลังงานของไทย และกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ของสปป.ลาว พร้อมทั้ง กฟผ. ฟฟล. และ จ.หนองคาย ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมรำลึกถึงรัฐพิธีเปิดสายส่งไฟฟ้าแรงสูงต้นแรก โดยจัดงานขึ้นทั้งในฝั่งไทยและฝั่งลาว ระหว่างวันที่ 13 – 14 ธันวาคม 2561 ภายใต้ชื่องาน “50 ปี สายส่ง สานสัมพันธ์ พลังงาน ลาว – ไทย มั่นยืน”  โดยในวันที่ 13 ธันวาคม 2561

กิจกรรมช่วงเช้าในฝั่งไทย ได้แก่ กิจกรรมนุ่งไทยใส่บาตรริมแม่น้ำโขง ที่ชุมชนตลาดท่าเสด็จ จ.หนองคาย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และพิธีเปิดนิทรรศการ “50 ปี ท่าเสด็จรำลึก ดุจแสงทองสาดส่องสองฝั่งโขงมหานที” ณ ชุมชนตลาดท่าเสด็จ อ.เมือง จ.หนองคาย เพื่อรำลึกถึงรัฐพิธีเปิดสายส่งไฟฟ้าแรงสูง และพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับกิจการด้านพลังงาน รวมถึงวิถีชีวิตของประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีพิธีรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวง ร.9 โดยได้รับเกียรติจาก อ.เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และ อ.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ศิลปินแห่งชาติ ร่วมกันขับลำนำบทสดุดีกวีรำลึก และมีกิจกรรมจากชุมชนตลาดท่าเสด็จอีกมากมาย โดยนิทรรศการดังกล่าวจะเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ ระหว่างวันที่ 13 – 16 ธันวาคม 2561

สำหรับกิจกรรมช่วงบ่ายจัดขึ้นที่ฝั่ง สปป.ลาว ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไทย ท่านปริญญาเอกคำมะนี อินทิลาด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและบ่อแร่สปป.ลาว ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไทย ดร.สนอง ทองซะนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมิตรภาพ พร้อมด้วยปลัดกระทรวงพลังงานไทย เอกอัครราชทูตไทยประจำสปป.ลาว และผู้ว่าการ กฟผ. ร่วมกิจกรรม “ร่วมประหยัดพลังงานวันนี้ เพื่ออนาคตและสิ่งแวดล้อมที่ดีวันหน้า” โดยร่วมเปลี่ยนหลอด LED ประหยัดพลังงาน ณ โรงพยาบาลมิตรภาพ นครหลวงเวียงจันทน์ ทั้งนี้ กฟผ. สนับสนุนงบประมาณ จำนวน 1,652,240 บาท บาท เพื่อเปลี่ยนหลอด LED ประหยัดพลังงาน จำนวน 4,793 หลอด ซึ่งภายหลังการติดตั้งแล้วเสร็จจะช่วยให้โรงพยาบาลมิตรภาพสามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 393,816 หน่วยต่อปี คิดเป็นค่าไฟฟ้าที่ลดลงประมาณ 1,070,597 บาทต่อปี และช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน ด้วยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 257 ตันต่อปี นับเป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับประชาชนทั้งสองฝั่งโขงในรุ่นต่อไป

รมว. ลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดขอนแก่น

รมว. พลังงาน ลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.ขอนแก่น เยี่ยมชมอาคารต้นแบบอนุรักษ์พลังงานใช้พลังงานเป็นศูนย์ ติดตามโรงแปรรูปขยะชุมชนเพื่อผลิตเป็นไฟฟ้า กำลังผลิต 6 เมกะวัตต์ ช่วยกำจัดขยะในเทศบาลขอนแก่นได้สูงถึง 600 ตัน/วัน พร้อมรับทราบความคืบหน้าการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติแหล่งสินภูฮ่อม เพื่อผลิตไฟฟ้าในภาคอีสาน

ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน เดินทางตรวจราชการในจังหวัดขอนแก่น วันที่ 12 ธันวาคม 2561 ซึ่งเป็นภารกิจส่วนหนึ่งของการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ โดยติดตามโครงการด้านพลังงานที่สำคัญๆ ในพื้นที่ ได้แก่ โครงการอาคารต้นแบบที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Energy Building) ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานของกองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นอาคารที่มีแนวคิดปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ซึ่งมาจากภายนอกอาคาร เมื่อหักลบกับปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้เองจากอาคาร คิดคำนวณในแต่ละรอบปีต้องมีค่าเท่ากับศูนย์ ซึ่งถือเป็นแนวทางการประหยัดพลังงานไฟฟ้าภายในอาคารได้สูงสุด โดยเบื้องต้นอาคารจะสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ประมาณ 28,000 หน่วย/ปี เฉลี่ย 80 หน่วย/วัน หรือมีการผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าปริมาณการใช้งานประมาณ 8%

ทั้งนี้ อาคารต้นแบบฯ แห่งนี้ ได้ดำเนินมาตรการเพื่อการอนุรักษ์พลังงานที่สำคัญ ๆ อาทิ ปรับปรุงหลังคาอาคารเพื่อป้องกันความร้อน และติดตั้งแผ่นโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้า ติดตั้งฟิล์มลดความร้อน ปรับปรุงระบบปรับอากาศ ด้วยเครื่องปรับอากาศชนิดไฮบริดจ์ ที่มีหลักการทำความเย็นด้วยความร้อนจากรังสีของแสงอาทิตย์ (Solar Cooling) ร่วมกับการใช้พลังงานไฟฟ้า ติดตั้งอุปกรณ์นำแสงธรรมชาติ (Skylight) มาผ่านตัวกรองรังสี UV และตัวกรองความร้อนไม่ให้เข้าสู่อาคาร เป็นต้น ภายหลังการปรับปรุงโครงสร้างอาคารและปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ดังกล่าวแล้ว อาคารมีการใช้พลังงานลดลงถึง 40% รวมทั้งพลังงานที่ใช้จริงประมาณ 60% ยังได้มาจากระบบการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยอาคารของมหาวิทยาลัยขอนแก่นนี้ ยังเป็นสถานที่ถ่ายทอดความรู้อาคารต้นแบบด้านการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์อีกด้วย
การเยี่ยมชมโรงงานแปรรูปขยะมูลฝอยชุมชนเป็นพลังงานไฟฟ้าระบบปิด ที่ตำบลโนนท่อน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยมีการใช้เทคโนโลยี เตาเผาแบบตะกรับ (Stoker Type) ซึ่งเป็นระบบปิดทั้งหมดไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในการแปรรูปขยะ โดยโรงงานสามารถกำจัดขยะมูลฝอยจากชุมชนได้ 600 ตันต่อวัน มีการผลิตกระแสไฟฟ้า กำลังผลิตติดตั้ง 6 เมกะวัตต์ และปริมาณเสนอขายไฟฟ้า 4.5 เมกะวัตต์ ช่วยให้เกิดการกำจัดขยะในเทศบาลเมืองขอนแก่น ลดปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม
กระทรวงพลังงาน ยังได้ตรวจเยี่ยมสถานีผลิตก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อม ที่ตำบลกุดน้ำใส อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ดำเนินโครงการโดย พีทีทีอีพี เอสพี ลิมิเต็ด มีอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติเฉลี่ย 110 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยแหล่งก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อม ถือเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติทีสำคัญของภาคอีสาน และในปี 2562 บริษัท พีทีทีอีพี เอสพี ลิมิเต็ด มีแผนดำเนินโครงการพัฒนา โดยเจาะหลุมเพื่อรักษากำลังผลิตปิโตรเลียมเพิ่มเติมอีกจำนวน 2 หลุม จากปัจจุบันที่มีจำนวนหลุมผลิต 5 หลุม นอกจากนี้ด้านผลตอบแทนจากค่าภาคหลวงปิโตรเลียม จากแหล่งสินภูฮ่อมที่ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550- 2561 พบว่าสามารถจัดเก็บค่าภาคหลวงได้ทั้งสิ้นประมาณ 10,676 ล้านบาท

ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานนิทรรศการและการประชุมFuture Energy Asia 2018

ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดงานนิทรรศการและการประชุม Future Energy Asia 2018 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา  งานนิทรรศการ ฯ จัดขึ้นภายใต้จุดมุ่งหมายในการประสานความร่วมมือและส่งเสริมการเจรจาทางธุรกิจด้านพลังงานของภูมิภาคทั้งในส่วนของก๊าซธรรมชาติแอลเอ็นจีและโรงไฟฟ้าเพื่อประสานความร่วมมือกันระหว่างผู้นำในท้องถิ่นและระดับประเทศจากอุตสาหกรรมพลังงาน

งานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 – 14 ธันวาคม 2561 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา  โดยคาดว่าจะดึงดูดผู้ประกอบการภาคธุรกิจมากกว่า 15,000 คนบริษัทร่วมออกงานกว่า 600 รายและผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 4,000 คน

พิธีทำบุญตักบาตรและถวายพานพุ่ม เนื่องในวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา ร.9 ณ ท้องสนามหลวง

วันนี้ (5 ธ.ค. 61) ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมพิธีทำบุญตักบาตรและถวายพานพุ่มราชสักการะ เนื่องในวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ พุทธศักราช 2561 โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธี ณ ท้องสนามหลวง

มอบโล่รางวัลเกียรติยศให้กับผู้ได้รับรางวัล จำนวน 25 รางวัล จากการประกวดบ้านจัดสรรอนุรักษ์พลังงานดีเด่น ปี 2561 โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน  (พพ. ) พร้อมผลักดันผู้ประกอบการบ้านจัดสรรและรับสร้างบ้านเดินหน้าออกแบบสร้างบ้านอนุรักษ์พลังงาน กับ 25 รางวัลการันตีมาตรฐานของบ้านอนุรักษ์พลังาน ทางเลือกใหม่ของคนอยากมีบ้าน อยู่อาศัยแบบประหยัดพลังงาน
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2561  กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน  (พพ.) ได้จัดให้มีการมอบโล่รางวัลเกียรติยศให้กับผู้ได้รับรางวัล จำนวน 25 รางวัล จากการประกวดบ้านจัดสรรอนุรักษ์พลังงานดีเด่น ปี 2561 โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ เป็นประธาน ณ ห้อง MAYFAIR BALLROOM A ชั้น 11 THE BERKELEY HOTEL PRATUNAM กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พลังงานในบ้านอยู่อาศัยที่ถือเป็นสิ่งพื้นฐานในการดำรงชีวิตของประชาชน และดำเนินการส่งเสริมให้บ้านอยู่อาศัยสามารถประหยัดพลังงานอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังให้ผู้ประกอบการมีความรู้ความเข้าใจและสามารถนำแนวคิดดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในการสร้างบ้านประหยัดพลังงานสู่ผู้บริโภค จึงได้ริเริ่มจัดการประกวดบ้านจัดสรรอนุรักษ์พลังงานดีเด่นขึ้นครั้งแรกในปี 2548 และจัดการประกวดต่อเนื่องมาในปี 2550, 2551, 2557, 2559, 2560 ตามลำดับ
จากผลสำเร็จในภาพรวมของโครงการตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันมีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดทั้งหมดรวมทั้งสิ้น 455 ผลงาน และมีผู้รับรางวัลรวมถึง 87 รางวัล สามารถกระตุ้นให้ผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์เข้ามามีส่วนร่วมเกินกว่า 98 ราย โดยการประกวดในช่วง ปีแรกมุ่งเน้นประเภทแบบบ้านเป็นหลัก ต่อมาในปี 2551 เป็นต้นมา ได้เพิ่มการประกวดประเภทโครงการบ้านจัดสรรโดย มีหลักเกณฑ์การตัดสินที่พิจารณาทั้งในเรื่องการออกแบบทางวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม รวมถึงการจัดการสภาพแวดล้อม ซึ่งล้วนมีผลต่อการประหยัดพลังงานทั้งสิ้น ความสำเร็จและผลตอบรับจากการประกวดที่ผ่านมาช่วยส่งเสริมและกระตุ้นให้ผู้ประกอบการบ้านจัดสรรและธุรกิจรับสร้างบ้านเห็นความสำคัญในการออกแบบบ้านประหยัดพลังงานเพิ่มมากขึ้นโดยลำดับ เห็นได้จากโครงการบ้านจัดสรรต่างๆ ได้เริ่มมีการสร้างจุดขายเรื่องบ้านประหยัดพลังงานมากขึ้น และมีการเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับวิธีในการเลือกซื้อบ้านไปพร้อมกันด้วย
สำหรับการประกวดบ้านจัดสรรอนุรักษ์พลังงานดีเด่นในปี 2561 นี้ ได้มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้นจำนวน 120 ผลงาน แบ่งเป็นประเภทบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ จำนวน 100 แบบ และประเภทโครงการจัดสรร จำนวน 20 โครงการ ผลการตัดสินมีผู้ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 25 รางวัล ประกอบด้วยรางวัลประเภทบ้าน 22 รางวัลและรางวัลประเภทโครงการจัดสรร 3 รางวัล โดยในการพิจารณาตัดสินได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่าง ๆ
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันมีการเติบโตในภาคที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง และมีสัดส่วนการใช้พลังงานประมาณร้อยละ 15 ของการใช้พลังงานของประเทศ ซึ่งหากกล่าวในเรื่องของพลังงานแล้วถือเป็นหน้าที่ของกระทรวงพลังงานในการจัดหาและส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การใช้พลังงานในบ้านอยู่อาศัยนั้นเกิดจากองค์ประกอบหลายส่วนไม่ว่าจะเป็นการใช้อุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ การปรับสภาพแวดล้อมที่ดีในการอยู่อาศัย เช่น การใช้เครื่องปรับอากาศ โดยเฉพาะประเทศไทยที่อยู่ในภูมิอากาศเขตร้อนชื้น จึงต้องคำนึงถึงวิธีการทำให้บ้านเย็นสบายซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะคิดถึงการติดตั้งเครื่องปรับอากาศเป็นอันดับแรก ทำให้บ้านต้องใช้พลังงานมาก โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าและกลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนด้วย แต่โดยแท้จริงแล้ว การสร้างบ้านให้อยู่สบายสามารถทำได้โดยไม่ต้องพึ่งพาระบบปรับอากาศมากเกินไป โดยเริ่มตั้งแต่การออกแบบบ้านที่ถูกต้อง การจัดวางตำแหน่งและทิศทางให้เหมาะสมกับภูมิอากาศและสภาพแวดล้อม มีการใช้ประโยชน์จากลมและแสงธรรมชาติ การเลือกใช้วัสดุที่ช่วยประหยัดพลังงาน เช่น ฉนวนกันความร้อน สิ่งเหล่านี้นำไปสู่แนวคิดเรื่องบ้านประหยัดพลังงานซึ่งเป็นบ้านที่มีความน่าอยู่และลดการใช้พลังงานลงด้วย เพราะบ้านประหยัดพลังงานจะสามารถลดการใช้พลังงานลงได้ถึง 20% ขึ้นไป และสามารถคืนทุนได้ภายใน 3-5 ปี กระทรวงพลังงานเองมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในบ้านอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องและส่งเสริมกิจกรรมเรื่องบ้านให้มีความหลากหลาย ซึ่งภายหลังจากการมอบรางวัลบ้านจัดสรรอนุรักษ์พลังงานดีเด่นในวันนี้แล้ว จะได้มีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ผลงานของท่านทั้งหลายให้ประชาชนได้ทราบในวงกว้างต่อไป
ประชาชน สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้ประกอบการหรือแบบบ้านที่ได้รับรางวัลจากการประกวดบ้านจัดสรรอนุรักษ์พลังงานดีเด่น เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการซื้อบ้าน ได้ที่ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานกระทรวงพลังงาน โทร. 0-2223-0021-9 ต่อ 1182, 1547

พิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2561 จ.พระนครศรีอยุธยา

วันนี้ (16 พฤศจิกายน 2561) ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน นำคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ ร่วมถวายผ้าพระกฐินพระราชทานประจำปี  2561 ตามราชประเพณีที่สืบต่อกันมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน ผ้าพระกฐินให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กร สมาคม มูลนิธิ บริษัทห้างร้าน และประชาชนทั่วไป ที่มีจิตศรัทธานำไปถวายพระสงฆ์ที่จำพรรษาในพระอารามหลวงทั่วประเทศ ซึ่งกรมการศาสนาในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้ออกประกาศเชิญชวนให้รับทราบ และที่ผ่านมากระทรวงพลังงาน ได้ขอรับพระราชทานผ้าพระกฐินเป็นประจำต่อเนื่องทุกปี โดยในปีนี้ได้นำผ้ากฐินพระราชทานมาถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษา รวมเป็นจำนวนเงิน 1,735,505.01 บาท และถวายชุดรางไฟพร้อมหลอดไฟ จำนวน 100 หลอด เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ณ วัดพรหมนิวาสวรวิหาร อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 36 ได้บรรลุความร่วมมือที่สร้างความมั่นคงด้านพลังงานในอาเซียนอย่างยั่งยืน ทั้งด้านการซื้อขายไฟฟ้าพหุภาคีในภูมิภาค การเชื่อมโยงโครงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติ การพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และการส่งเสริมเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานและคณะผู้แทนจากประเทศไทย เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 36 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (36th ASEAN Ministers on Energy Meeting and Associated Meetings: 36th AMEM) ภายใต้ธีม Transforming Energy : Invest, Innovate, Integrate ระหว่างวันที่ 25 – 30 ตุลาคม 2561 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และปลัดกระทรวงพลังงาน จากทั้ง 10 ประเทศอาเซียน และ         8 ประเทศคู่เจรจา ประกอบด้วย ออสเตรเลีย อินเดีย นิวซีแลนด์ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา และ 2 องค์กรระหว่างประเทศ ประกอบด้วย ทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (IRENA)  ซึ่งการประชุมฯ ครั้งนี้ ได้ติดตามการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียน (ASEAN Plan of Action on Energy Cooperation: APAEC) ปี 2559-2568 ระยะที่ 1 ระหว่างปี 2559-2563 ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงและการบูรณาการด้านพลังงาน โดยในการประชุมจะมีการรับรองถ้อยแถลงร่วม (Joint Ministerial Statement of the 36th AMEM) ซึ่งมีประเด็นสำคัญได้แก่

ด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน

  • ความสำเร็จในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยสามารถลดความเข้มการใช้พลังงาน (Energy Intensity) ในปี 2559 ได้ถึง 21.9% เทียบจากปีฐาน 2548 ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 20% ภายในปี 2563
  • การผลักดันให้มีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Building Code) ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างอาเซียนและเยอรมัน (AGEP)
  • ยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วยการจัดทำมาตรฐานขั้นสูง และดำเนินข้อตกลงที่เป็นข้อตกลงในอาเซียน เพื่อยอมรับผลการตรวจสอบด้านพลังงานของผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์ในระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN Sectoral Mutual Recognition Arrangement for Electrical & Electronic Equipment : ASEAN EE MRA)

การดำเนินงานร่วมกับ IEA ในการพัฒนานโยบายพลังงานและเสริมสร้างศักยภาพในการลงทุนและการจัดหาเงินทุนสำหรับอาเซียนในอนาคต

  • ริเริ่มจัดทำแนวทางการเสริมสร้างศักยภาพในการลงทุนและการจัดหาเงินทุนสำหรับอาเซียนในอนาคต(Capacity Building Roadmap on Energy Investment and Financing) เพื่อเตรียมความพร้อมด้านการลงทุนและการวิเคราะห์ทางด้านการเงินสำหรับโครงการด้านพลังงาน
  • จัดทำแนวทางการดำเนินงานที่สามารถตอบสนองต่อความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

การร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมายของอาเซียนต่อพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)

  • อาเซียนได้ลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างอาเซียนและทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (IRENA) เพื่อผลักดันให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนในอาเซียนให้ได้ตามเป้าหมาย 23% ในปี 2568 ซึ่งในปี 2559 มีสัดส่วนอยู่ที่ 12.4%

เสริมสร้างศักยภาพด้านพลังงานนิวเคลียร์เพื่อประชาชน

  • ร่วมมือกับจีน แคนาดา และองค์การพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ในการสร้างขีดความสามารถด้านความปลอดภัยและความมั่นคงนิวเคลียร์ รวมทั้งสนับสนุนการศึกษาความเป็นไปได้สำหรับการพัฒนาโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ในอาเซียนที่กำลังดำเนินการอยู่ และกฎระเบียบ ความปลอดภัย และความเข้าใจของประชาชนในเรื่องพลังงานนิวเคลียร์

การส่งเสริมเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด

– มีการเผยแพร่กรณีศึกษาเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดปรับปรุงคุณภาพถ่านหินในอินโดนีเซีย และรูปแบบการจัดหาเงินทุน (Financial Model) ในเวียดนาม เพื่อสร้างโอกาสการลงทุนถ่านหินในอาเซียน

– ได้มีการส่งเสริมประสิทธิภาพและการใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดมาตรฐานสูงในอาเซียน และไทยได้ริเริ่มการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี จึงได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการด้านถ่านหินที่เกี่ยวข้องกับความห่วงใยด้านสิ่งแวดล้อมโลกในช่วงกลางปีนี้

การเสริมสร้างความร่วมมือด้านก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และการค้าในอาเซียน

– มีสถานีแปรสภาพก๊าซให้เป็นของเหลว (Regasification Terminal) จำนวน 8 สถานี ที่สามารถรองรับ LNG จาก 36.3 ล้านตันต่อปี และมีแผนที่ขยายให้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 27 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2568

– การจัดทำแผนแม่บทการซื้อ-ขาย เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและจัดทำร่างสัญญาซื้อขาย LNG สำหรับใช้ในอาเซียน

– มีการเผยแพร่ผลการศึกษา Gas Advocacy White Paper เพื่อสนับสนุนการใช้ก๊าซธรรมชาติและ LNG ผ่านช่องทางการตลาดที่มีความเชื่อมโยงกัน (ASEAN Common Gas Market) และการศึกษาต่อยอดเรื่อง Small-Scale LNG และ LNG Bunkering

การขยายการซื้อ-ขายไฟฟ้าพหุภาคีในอาเซียน

– โครงการซื้อขายไฟฟ้าระดับพหุภาคี LTM-PIP ที่เริ่มขึ้นมาตั้งแต่มกราคม 2561 และเริ่มซื้อขายไฟฟ้าแล้ว รวมจำนวน 15.9 ล้านหน่วย ซึ่งที่ประชุมก็ผลักดันให้มีประเทศอื่นๆ เข้าร่วมการซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เช่น สิงคโปร์ เมียนมา และให้มีการซื้อขายในลักษณะ Firm Contract

– การศึกษาการจัดตั้งสถาบันเพื่อรองรับการซื้อขายไฟในอาเซียน เพื่อควบคุมระบบไฟฟ้าและวางแผนระบบไฟฟ้าอาเซียน

สร้างแรงจูงใจด้านการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานหมุนเวียน

  • ในปีนี้มีได้มีการมอลรางวัล ASEAN Energy Awards 2018 รวม 63 รางวัล แบ่งเป็นรางวัลด้าน การอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานหมุนเวียน จำนวน 52 รางวัล และด้านเชิดชูเกียรติบุคคลด้านพลังาน จำนวน 11 รางวัล
  • ประเทศไทยได้รับรางวัลรวมทั้งหมด 25 รางวัล ซึ่งมากที่สุดในอาเซียน แบ่งเป็นด้านพลังงานหมุนเวียนและด้านอนุรักษ์พลังงาน ในระดับอาเซียนรวม 21 รางวัล และได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติบุคคลด้านพลังาน 4 รางวัล มีรายละเอียด ดังนี้

1) ด้านโครงการพลังงานหมุนเวียนดีเด่น ส่งประกวด 13 ผลงาน ได้รับ 13 รางวัล แบ่งเป็น

  • รางวัลชนะเลิศ จำนวน 6 รางวัล
  • รองชนะเลิศ อันดับ 1 จำนวน 4 รางวัล
  • รองชนะเลิศ อันดับ 2 จำนวน 3 รางวัล

2) ด้านบริหารจัดการพลังงานดีเด่น ส่งประกวด 7 ผลงาน ได้รับ 6 รางวัล แบ่งเป็น

  • รางวัลชนะเลิศ จำนวน 4 รางวัล
  • รองชนะเลิศ อันดับ 1 จำนวน 1 รางวัล
  • รองชนะเลิศ อันดับ 2 จำนวน 1 รางวัล

3) ด้านอาคารอนุรักษ์พลังงานดีเด่น ส่งประกวด 3 ผลงาน ได้รับ 1 รางวัล ได้แก่

  • รองชนะเลิศ อันดับ 2 จำนวน 1 รางวัล

4) ด้านอาคารเขียวดีเด่น ส่งประกวด 2 ผลงาน ได้รับ 1 รางวัล ได้แก่

  • รองชนะเลิศ อันดับ 1 จำนวน 1 รางวัล

5) รางวัลเชิดชูเกียรติบุคคลด้านพลังาน จำนวน 4 รางวัล ได้แก่

  • นายธรรมยศ  ศรีช่วย             อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน
  • นายวีระศักดิ์  พึ่งรัศมี             อดีตอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
  • นายเทวินทร์ วงศ์วานิช    อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
  • นางสาวดารารัตน์ ฤทธิ์บุญญากร   อดีตผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน

อนึ่ง ประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการประชุมครั้งนี้ คือ ไทยได้นำเสนอแนวคิดการพัฒนาด้านพลังงานของไทยให้กับที่ประชุม ซึ่งได้รับความสนใจในบทบาทของไทยด้านพลังงานซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในเวทีอาเซียนในการช่วยเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค รวมถึงองค์กรชั้นนำด้านพลังงานระดับโลก ที่จะพัฒนานโยบาย และศักยภาพเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของไทยและอาเซียนต่อไป

พิธีเปิดโครงการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 สำหรับรถโดยสาร องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.)

สานพลังหน่วยงานของรัฐสังกัดกระทรวงคมนาคมและกระทรวงพลังงาน สนับสนุนนโยบายเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน ด้วยการนำร่องใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 ในรถโดยสารสาธารณะ ขสมก. และ บขส. เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันไทย และลดมลภาวะทางอากาศ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้เกียรติร่วมเป็นประธานใน พิธีเปิดโครงการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 สำหรับรถโดยสาร องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ณ อู่ ขสมก. เมกาบางนา ตำบลบางแก้ว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โดยมี นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นายประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และ นายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด ร่วมทำพิธีเปิดโครงการฯ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงนโยบายว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ที่มีความผันผวนและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น กระทรวงพลังงานได้มีการเตรียมความพร้อมรองรับ เพื่อไม่ให้ราคาน้ำมันส่งผลกระทบต่อค่าขนส่งสินค้า และค่าครองชีพของประชาชน ในขณะเดียวกันก็เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันด้วย จึงมีนโยบายให้จัดจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 โดยจำหน่ายสำหรับรถเฉพาะกลุ่มเท่านั้น คือ กลุ่มรถบรรทุก รถโดยสาร และเรือโดยสาร ซึ่งมีเป้าหมายในการจำหน่ายที่ 15 ล้านลิตรต่อวัน และคาดว่าจะสามารถเพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบได้มากขึ้นจากเดิม 1.3 ล้านตันต่อปีเป็น 1.7 ล้านตันต่อปี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคม มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการให้บริการให้ผู้ใช้บริการรถขนส่งสาธารณะได้รับความสะดวกยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็ตระหนักถึงการช่วยเหลือลดภาระของผู้มีรายได้น้อย แก้ไขปัญหาของสังคม จึงยินดีสนับสนุนนโยบายของกระทรวงพลังงานในการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 สำหรับรถโดยสารสาธารณะ โดยนำร่องจากรถโดยสารของหน่วยงานในสังกัด
กระทรวงคมนาคม คือ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) จำนวน 5 คัน และ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) จำนวน 3 คัน ภายใต้การจัดจำหน่ายเชื้อเพลิงดีเซลหมุนเร็ว บี20 โดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ กล่าวถึงความร่วมมือในโครงการฯ ว่า ขสมก. มีความยินดีในการเข้าร่วมโครงการศึกษาการใช้น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมไบโอดีเซล ร้อยละ 20 ในเครื่องยนต์รถโดยสารของ ขสมก. เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยจะทำการทดลองในรถโดยสารธรรมดาสาย 145 อู่เมกาบางนา ถึง อู่หมอชิต 2 จำนวน 5 คัน ประมาณการใช้น้ำมันอยู่ที่ 400 ลิตรต่อวัน หรือ 12,000 ลิตรต่อเดือน และจะมีรถคู่เทียบในรุ่นเดียวกันอีก 5 คัน เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องยนต์ รวมถึงผลกระทบที่มีต่อเครื่องยนต์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และด้านอื่นๆ ด้วย โดยพร้อมขยายการใช้งานในรถของ ขสมก. ให้ครอบคลุมต่อไป
กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า บขส. มีภารกิจในการให้บริการประชาชนในเส้นทางสัญจรระหว่างเมืองทั่วประเทศ และมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ในการสนับสนุนโครงการทดลองใช้น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมไบโอดีเซล ร้อยละ 20 โดยได้จัดเตรียมรถโดยสารประจำทางของ บขส. จำนวน 3 คัน ในเส้นทาง กรุงเทพฯ-กำแพงเพชร กรุงเทพฯ-บุรีรัมย์ และ กรุงเทพฯ-สระบุรี ซึ่งมีปริมาณการใช้น้ำมันรวมอยู่ที่ 19,500 ลิตรต่อเดือน โดย บขส. ได้จัดเตรียมจุดตั้งถังน้ำมันที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) ถนนกำแพงเพชร 2 และจะเข้าร่วมโครงการทดสอบอย่างเป็นทางการเป็นระยะเวลา 1 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม ศกนี้
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในตอนท้ายว่า ปตท. ได้รับการสนับสนุนจากระทรวงการคลัง และกองทุนน้ำมันอุดหนุนส่วนต่าง ทำให้มีส่วนลดราคาน้ำมันดีเซลเกรดพิเศษ B20 เป็นลิตรละ 3 บาท เพื่อลดผลกระทบต่อราคาค่าโดยสาร ค่าบริการขนส่งสินค้า และค่าครองชีพของประชาชน นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยสร้างเสถียรภาพทางราคาของปาล์มน้ำมัน ถือเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรปาล์มน้ำมัน และยังสามารถลดมลภาวะทางอากาศได้อีกด้วย สำหรับ ปตท. ในฐานะรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงพลังงาน ได้ดำเนินภารกิจเพื่อสร้างความมั่นคง และความมีเสถียรภาพด้านพลังงานของประเทศควบคู่กับการดูแลชุมชน สังคม ตลอดจนสิ่งแวดล้อม ให้เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

กระทรวงพลังงาน ร่วมทำบุญตักบาตรบำเพ็ญกุศล เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

วันนี้ (13 ต.ค. 61 ) ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง เข้าร่วมพิธีทำบุญตักบาตรบำเพ็ญกุศล เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ บริเวณพระลานพระราชวังดุสิต

 

กระทรวงพลังงาน บำเพ็ญกุศลเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรเนื่องในวาระแห่งการสวรรคต 2 ปี

วันนี้ (11 ตุลาคม 2561) ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นำคณะผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงพลังงาน ร่วมทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 89 รูป เนื่องในวันพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลครบรอบ 2 ปี วันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงอุทิศพระวรกายประกอบพระราชกรณียกิจซึ่งนำมายังประโยชน์สุขและความเจริญรุ่งเรืองแก่ประชาชนชาวไทยและประเทศชาติตลอดช่วงเวลาที่พระองค์ทรงครองราชย์ ณ บริเวณลานพระพรหม ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์

กระทรวงพลังงาน ร่วมมอบเงินสมทบทุนซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา โรงพยาบาลศิริราช เนื่องในโอกาสครบรอบ 16 ปี วันสถาปนากระทรวง

 

วันที่ 3 ตค. ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในงานวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงพลังงาน ประจำปี 2561 ซึ่งในปีนี้ถือเป็นปีที่ 16 ในการสถาปนากระทรวงพลังงาน โดยมีผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ และผู้ที่เกี่ยวข้องในแวดวงพลังงาน เข้าร่วมกิจกรรมในงานวันสถาปนากระทรวงพลังงานในวันนี้

ทั้งนี้ กิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ พิธีสักการะพระพรหม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของกระทรวงพลังงาน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้นำจุดธูปเทียน ถวายพวงมาลัย และเครื่องสักการะพระพรหม พร้อมสักการะพระพรหมทั้ง 4 ทิศ  และลำดับถัดมาในพิธีสงฆ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้นำคณะผู้บริหาร และผู้ร่วมงานทั้งหมด ร่วมพิธีการอารธาศีล อาราธนาพระปริตร ถวายเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์ และร่วมพิธีกรวดน้ำรับพรและพระสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้ร่วมงานทุกคน

นอกจากนี้  ในวันสถาปนากระทรวงพลังงาน ครบรอบ 16 ปีครั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้ประกาศงดรับกระเช้าและของขวัญต่างๆ  ในการแสดงความยินดี โดยกระทรวงพลังงานได้ขอให้ผู้เข้าร่วมงาน ที่จะแสดงความยินดี ให้ร่วมกันสมทบทุนเพื่อซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา ของโรงพยาบาลศิริราช เป็นการทดแทน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เป็นผู้รับมอบเงินสมทบทุนจากหน่วยงานต่างๆ  จำนวน 1,180,000 บาท และส่งต่อให้แก่โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งนอกจากจะเป็นการแสดงความยินดีต่อวันสถาปนากระทรวงพลังงานแล้ว ยังเป็นการร่วมกันสร้างกุศลครั้งสำคัญร่วมกับโรงพยาบาลศิริราช อีกด้วย

 

รมว. พลังงาน ลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.เพชรบูรณ์ ตรวจเยี่ยมระบบสูบน้ำแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้ง ช่วยเสริมฐานความมั่นคงรายได้เกษตรกรตามแนวทางไทยนิยมยั่งยืน ติดตามโครงการผลิตและขนส่งน้ำมันดิบแหล่งวิเชียรบุรี ยืนยันความโปร่งใสและตรวจสอบได้ พร้อมเยี่ยมชมโครงการพลังงานลมเขาค้อ เพื่อสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนสะอาด

ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน เดินทางลงพื้นที่ตรวจราชการในจังหวัดเพชรบูรณ์ วันที่ 17 กันยายน 2561 ซึ่งเป็นภารกิจส่วนหนึ่งของการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ โดยติดตามโครงการด้านพลังงานที่สำคัญในพื้นที่ ได้แก่ โครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้ง (ระบบเกษตร) พื้นที่ต.บ้านกล้วย โครงการผลิตน้ำมันดิบบนบก แหล่งวิเชียรบุรี และโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลม เขาค้อ

ทั้งนี้ การตรวจเยี่ยมโครงการสูบน้ำแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้ง (ระบบเกษตร) ที่ ต.บ้านกล้วย อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์  ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่ได้รับการสนับสนุนระบบการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการสูบน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร หลังจากประสบปัญหาภัยแล้ง และไม่สามารถได้รับผลผลิตการเกษตรได้อย่างเต็มที่ โดยเบื้องต้นจากการนำระบบสูบน้ำฯ ที่ได้รับจากการจัดสรรงบประมาณกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเมื่อปี 2559 พบว่ามีพื้นที่ได้รับประโยชน์จากชาวบ้านกลุ่มที่ 1 ประมาณ 163 ไร่ และชาวบ้านกลุ่มที่ 2 ประมาณ 174 ไร่ โดยเกษตรกรในพื้นที่ก่อนที่จะมีระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ เพาะปลูกข้าวและข้าวโพด รายได้เฉลี่ยจากเดิม 6,000 บาทต่อไร่ต่อปี เมื่อได้รับระบบสูบน้ำเข้ามาช่วยทำให้สามารถเพาะปลูกพืชผักพื้นดิน และผักสวนครัวเพิ่มเติม เช่น ปลูกถั่วเขียว มีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็นประมาน 10,000 บาท ต่อไร่ต่อปี ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ทำให้มีน้ำแน่นอน ปลูกพืชต่างชนิดในฤดูแล้งได้

โดยจากความสำเร็จของโครงการฯ ที่ผ่านมา จึงมีการขยายให้กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ ที่สนใจขอรับการติดตั้งระบบสูบน้ำแสงอาทิตย์ โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุน ฯ อนุรักษ์พลังงานเพิ่มเติมอีก ซึ่งขณะนี้มีเกษตรอีก 2 กลุ่มที่พร้อมจะเข้าร่วมโครงการฯ แต่อยู่ระหว่างขั้นตอนข้อเสนอโครงการเพื่อพิจารณา ที่เอกสารยังไม่สมบูรณ์ โดยการลงพื้นที่  ในครั้งนี้ ผู้บริหารกระทรวงพลังงาน เจ้าหน้าที่สำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจะร่วมกันรับฟังปัญหาของชาวบ้าน และให้คำปรึกษา ตลอดจนจะเร่งช่วยอำนวยความสะดวกให้กับชาวบ้านที่มีความต้องการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์

ส่วนการเยี่ยมชมแหล่งน้ำมันดิบวิเชียรบุรีนั้น เป็นการเยี่ยมชมในแปลงสำรวจหมายเลข L44/43 เกี่ยวกับกระบวนการผลิตน้ำมันดิบและการจัดการน้ำจากกระบวนการผลิต โดยแปลงสำรวจดังกล่าวเป็นหนึ่งในแปลงสำรวจของแหล่งน้ำมันดิบวิเชียรบุรี ซึ่งมีพื้นที่ 134 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอได้แก่ อำเภอวิเชียรบุรี  และอำเภอศรีเทพ ในจังหวัดเพชรบูรณ์ ประกอบด้วยพื้นที่ผลิตจำนวน 3 แปลง ได้แก่ แปลงสำรวจหมายเลข SW1 มีบริษัท อีโค่ โอเรียนท์ เอ็นเนอร์ยี่ (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ดเป็นผู้รับสัมปทาน และแปลงสำรวจหมายเลข L44/43 และหมายเลข L33/43 มีบริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ได้รับสัมปทาน

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้เกียรติสัมภาษณ์เรื่อง “ดีเซล บี20 รหัสความสุขเกษตรกรปาล์มน้ำมัน สนับสนุนภาคขนส่งไทย”

ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้เกียรติสัมภาษณ์เรื่อง “ดีเซล บี20 รหัสความสุขเกษตรกรปาล์มน้ำมัน สนับสนุนภาคขนส่งไทย” ออกอากาศในรายการเดินหน้าประเทศไทยเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2561

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.นครศรีธรรมราช และชุมพร ติดตามการดำเนินงานโรงแยกก๊าซธรรมชาติขนอม-โรงไฟฟ้าขนอม เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืนในพื้นที่ภาคใต้

กระทรวงพลังงาน โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน ได้ให้การต้อนรับ พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ในการตรวจเยี่ยมโรงแยกก๊าซธรรมชาติขนอม และโรงไฟฟ้าขนอม จ.นครศรีธรรมราช ในวันที่ 20 สิงหาคม 2561 ซึ่งเป็นภารกิจส่วนหนึ่งของการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ โดยติดตามโครงการด้านพลังงาน เพื่อรับทราบผลการดำเนินงาน ความก้าวหน้าต่างๆ ของโครงการ และความเป็นอยู่ของชุมชนโดยรอบ

ทั้งนี้ โรงแยกก๊าซธรรมชาติขนอม เป็นโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 4 ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) สร้างขึ้นเพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ในเขตภาคใต้ และก๊าซโซลีนธรรมชาติ (NGL) ในประเทศที่มีปริมาณสูงขึ้น โดย ปตท. ได้ดำเนินการวางท่อส่งก๊าซฯ จากแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย มาขึ้นฝั่งที่บริเวณโรงแยกก๊าซธรรมชาติขนอมโดยตรง เพื่อขนส่งก๊าซธรรมชาติที่จะเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าขนอม

โดยปัจจุบันโรงแยกก๊าซธรรมชาติขนอม แยกก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 160 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ได้ผลิตภัณฑ์ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงหรือก๊าซหุงต้มประมาณ 203,000 ตันต่อปี ใช้ในภาคครัวเรือนและโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งจะขนส่งทางเรือไปยังคลังปิโตรเลียมสุราษฎร์ธานีและคลังปิโตรเลียมสงขลา เพื่อจำหน่ายให้กับประชาชนในภาคใต้ อีกทั้งยังได้ก๊าซโซลีนธรรมชาติ (NGL) ประมาณ 45,000 ตัน ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมตัวทำละลาย ใช้เป็นส่วนหนึ่งของ วัตถุดิบป้อนเข้าโรงกลั่นน้ำมัน รวมทั้งโรงแยกก๊าซธรรมชาติขนอม ยังสามารถอยู่ร่วมกับพื้นที่ และมีส่วนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยรอบอย่างต่อเนื่อง

ส่วนโรงไฟฟ้าขนอม ที่ดำเนินการโดยบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (EGCO)  มีกำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวม 930 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงประมาณ 150 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยโรงไฟฟ้าขนอมแห่งนี้ ถือเป็นโรงไฟฟ้าหลักที่เสริมสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคใต้สามารถรองรับความต้องการ ใช้ไฟฟ้าอย่างเพียงพอมีเสถียรภาพ รวมทั้งยังช่วยลดการสูญเสียพลังงานไฟฟ้าที่ส่งผ่านสายส่งจากภาคกลาง

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังได้ร่วมศึกษาและเยี่ยมชมพื้นที่ที่อาจมีความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง สถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซแบบลอยน้ำ (Floating Storage and Regasification Unit : FSRU) เพื่อสร้างความมั่นคงในการจัดหาก๊าซธรรมชาติระยะยาว จากปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่เริ่มลดลง โดยจะนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากต่างประเทศ ขนส่งมายังท่าเทียบเรือแล้วขนถ่ายเข้าสู่ FSRU ดังกล่าว เพื่อแปลงสภาพเป็นก๊าซก่อนเข้าสู่ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และขนส่งไปยังโรงไฟฟ้าและลูกค้าก๊าซธรรมชาติต่อไป

กระทรวงพลังงาน เปิดงาน “พระมิ่งมารดา ศรีแห่งแผ่นดิน” เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9

วันที่ 8 สิงหาคม 2561 ณ ล็อบบี้ อาคารซี ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์  กระทรวงพลังงานจัดพิธีเปิดงาน “พระมิ่งมารดา ศรีแห่งแผ่นดิน” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จ พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 86 พรรษา ภายใต้โครงการตามรอยศาสตร์พระราชาด้านการพัฒนาพลังงาน พร้อมน้อมนำพระราชดำรัสและ พระราชกรณียกิจมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

โดยภายในงานได้รับเกียรติจาก ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  เป็นประธานในพิธีเปิดงาน

ทั้งนี้ ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมหลักๆ 3 โซน ได้แก่

โซนที่ 1 การจัดแสดงนิทรรศการ “พระมิ่งมารดา ศรีแห่งแผ่นดิน” ถ่ายทอดเรื่องราวพระราชกรณียกิจที่สื่อให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ในบทบาท “แม่ของแผ่นดิน” ได้ทรงมอบความรักความห่วงใยต่อพสกนิกรชาวไทย ให้มีความอยู่ดีกินดี สนับสนุน ภูมิปัญญาท้องถิ่น การสร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างพอเพียง เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่เหล่าประชาชน

โซนที่ 2 การจัดแสดงนิทรรศการผ่านภาพเสมือนจริง เพื่อนำเสนอเรื่องราวของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 จานวน 3 ตอน ได้แก่ คู่พระบารมีศรีแผ่นดิน , พระราชินีแห่งสยาม และสายใยรักจาก “แม่สู่ลูก” เพื่อตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่มีต่อปวงชนชาวไทย

โซนที่ 3 กิจกรรมเวิร์คช็อป D.I.Y บอกรักแม่ด้วยการทำของขวัญให้กับแม่ ได้แก่ การจัดทำโปสการ์ด ประดิษฐ์ดอกมะลิ และการทำผ้ามัดย้อม

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเวที ที่มีเหล่าศิลปินชื่อดังมาร่วมถ่ายทอดบทเพลงบอกรักแม่ อาทิ กัน-นภัทร อินทร์ใจเอื้อ , ขนมจีน กุลมาศ , เบน ชลาทิศ และยังมีการแสดงจากเหล่าเยาวชนที่มีความสามารถมากมายมาร่วมสร้างสีสันภายในงาน

ทั้งนี้ งาน “พระมิ่งมารดา ศรีแห่งแผ่นดิน” กำหนดจัดขึ้นตั้งแต่วันนี้ – 10 สิงหาคม 2561  ณ ล็อบบี้ อาคารซี ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ กระทรวงพลังงาน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  โทร. 02 140 7000 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เพจเฟซบุ๊คแฟนเพจ “ศูนย์บริการร่วม กระทรวงพลังงาน”

รมว.พลังงาน เยี่ยมโรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้า หนองแขม

ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เยี่ยมชมโครงการโรงไฟฟ้ากำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม หนองแขม โดยมี นายเหอ หนิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ดูแลโครงการให้การต้อนรับ

ปัจจุบัน บริษัทฯ รับขยะจาก กทม.ใน 5 เขต ได้แก่ ทวีวัฒนา หนองแขม จอมทอง ภาษีเจริญ และบางกอกใหญ่ ในปริมาณ 500 ตันต่อวัน มากำจัดด้วยเทคโนโลยีเตาเผาแบบตะกรับจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ใช้อุณหภูมิในการเผาไหม้ 1,000 องศาเซลเซียส สามารถนำขยะที่กำจัดมาผลิตเป็นไฟฟ้าได้วันละ 200,000 ยูนิต ส่งขายให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) วันละ 7 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือจะนำไปใช้ในโรงกำจัดขยะต่อไป

โดยบริษัทได้รับการรับรองมาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพ ISO 9001 ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 และ ระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย OHSAS 18001 เป็นไปตามมาตรฐานทั้งในประเทศและระดับสากล

ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมเปิดงาน ส่งเสริมการใช้น้ำมันบางจากดีเซลเกรดพิเศษ B20

ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีเปิด “โครงการส่งเสริมการใช้น้ำมันบางจากดีเซลเกรดพิเศษ B20” โดยมี นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน บางจากฯ ทีพีไอฯ และผู้ประกอบการขนส่ง เข้าร่วมพิธีฯ ณ บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จังหวัดสระบุรี เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐ ช่วยเหลือเกษตรกรสวนปาล์ม ในภาวะน้ำมันปาล์มดิบล้นตลาด ราคาตกต่ำ ลดต้นทุนค่าขนส่ง ค่าโดยสารในยามน้ำมันแพงช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้ประกอบการกลุ่มขนส่งสินค้า รถและเรือโดยสาร เข้าร่วมโครงการจำนวนมาก

 

 

 

 

 

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและผู้บริหารระดับสูงร่วมลงนามถวายพระพรเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

วันนี้ (28 ก.ค. 61) คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน นำโดยดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและนายธรรมยศ ศรีช่วย ปลัดกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมพิธีทำบุญตักบาตร พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเป็นข้าราชการที่ดีและพลังของแผ่นดิน และร่วมลงนามถวายพระพร เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 66 พรรษา 28 กรกฎาคม 2561 ณ ท้องสนามหลวง และพระบรมมหาราชวัง

รมว. พลังงาน ลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.อุบลราชธานี – ศรีสะเกษ

ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยปลัด และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงานได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจราชการในจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 ซึ่งเป็นภารกิจส่วนหนึ่งของการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ โดยกระทรวงพลังงานได้ติดตามตรวจเยี่ยมโครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้ง (ระบบเกษตร) ณ กลุ่มเกษตรกรบ้านหนองห้าง ต.หนองห้าง อ.อุทุมพรพิสัย จ. ศรีสะเกษและระดมสมอง work shop กับตัวแทนเกษตรกรกว่า 400 คน เพื่อสร้างการเรียนรู้ สร้างการมีส่วนร่วมแบบไทยนิยมยั่งยืน ทั้งนี้ระบบสูบน้ำเพื่อการเกษตรดังกล่าว จะช่วยสูบน้ำจากบ่อบาดาลโดยใช้เครื่องสูบน้ำพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ ช่วยเกษตรกรในพื้นที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในการจัดหาน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชที่สำคัญ ๆ อาทิ กระเทียม หัวหอม ที่สามารถสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกรในพื้นที่ที่ห่างไกล เพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้และความกินดีอยู่ดีของประชาชนในชนบท ที่จะมีน้ำใช้เพื่อกิจการการเกษตรถึงแม้จะมีภัยแล้ง

     ทั้งนี้ มีการสาธิตช่วยกลุ่มเกษตรกร ในการกรอกข้อมูลทำคำขอติดตั้งระบบการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการสูบน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรสู้ภัยแล้ง ซึ่งสำนักงานกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้ประกาศหลักเกณฑ์การให้การสนับสนุนระบบการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการสูบน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรสู้ภัยแล้งให้กับกลุ่มเกษตรกรที่จะรวมตัวกัน เกิน 7 ครัวเรือน ในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 15 ไร่ และมีน้ำบาดาลจำนวน 5,000 จุดทั่วประเทศ โดยกระทรวงพลังงานร่วมกับ กอ.รมน. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ทำการสาธิตติดตั้งของกลุ่มเกษตรกร อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ ให้กับกลุ่มเกษตรกรรวมทั้งจาก จ.ศรีสะเกษ ยโสธร บุรีรัมย์ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ มหาสารคาม เข้ามาร่วมรวมทั้งหมด 140 กลุ่ม ทำการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับโครงการฯ และร่วมกันกรอกข้อมูล โดยกระทรวงพลังงานมีเป้าหมายที่จะช่วยเกษตรกรในการติดตั้งระบบทั้งหมด 5,000 จุด ภายในปีนี้ โดยให้งบประมาณ 3,000 ล้านบาท เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร 35,000 ครัวเรือน ให้มีความมั่นคงในการดำเนินชีวิต และมีรายได้จากการเกษตรที่มั่นคง โดยเกษตรกรผู้สนใจสามารถติดต่อขอรับใบสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ 02 -612 1555 ต่อ 370 หรือ 214 ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 10 ส.ค. 2561 นี้ หรือติดตามรายละเอียดที่ www.enconfund.go.th

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย รองผู้ว่าการนโยบายและแผน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยังได้ติดตามความก้าวหน้าโครงการผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ซึ่งกฟผ. ร่วมกับ บริษัทกันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ได้ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำขนาด 250 กิโลวัตต์ ซึ่งจะเป็นต้นแบบในการดำเนินโครงการนำร่อง Hydro floating Solar Hybrid ขนาด 45 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นการบริหารจัดการที่เชื่อมโยงกับระบบเขื่อนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยการผลิตไฟฟ้าสามารถสนองกับความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งในช่วงเวลากลางวันและช่วงหัวค่ำ ได้เพิ่มมากขึ้นตามกำลังศักยภาพสูงสุดของแต่ละเขื่อน

กระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และชาวกาญจนบุรี ร่วมกิจกรรม “เราทำความดีด้วยหัวใจ”ต้นรวงผึ้ง ต้นยางนา พร้อมปล่อยพันธุ์ปลา เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 66 พรรษา ณ เขื่อนวชิราลงกรณ จังหวัดกาญจนบุรี

ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน ตลอดจนผู้บริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และประชาชนจังหวัดกาญจนบุรี  ร่วมกิจกรรม “เราทำความดีด้วยหัวใจ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เนื่องในโอกาส  วันเฉลิมพระชนมพรรษา 66 พรรษา 28 กรกฎาคม 2561 ณ เขื่อนวชิราลงกรณ จังหวัดกาญจนบุรี

ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เขื่อนวชิราลงกรณ เป็นเขื่อนที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามตามพระนามาภิไธยในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2544 แทนชื่อเขื่อนเขาแหลมเดิม ยังความปลาบปลื้มให้กับปวงชนชาวไทย และเนื่องในโอกาสวันเฉลิม พระชนมพรรษา 66 พรรษา กระทรวงพลังงาน จึงได้ร่วมกับ กฟผ. และประชาชนชาวกาญจนบุรี จัดกิจกรรม “เราทำความดีด้วยหัวใจ” เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการทำความดี โดยร่วมกันปลูกต้นรวงผึ้ง ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำรัชกาล จำนวน 100 ต้น ปลูกต้นยาง จำนวน 100 ต้น เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและช่วยลดโลกร้อน และปล่อยพันธุ์ปลา จำนวน 660,000 ตัว เพื่อช่วยขยายพันธุ์ปลาน้ำจืด สามารถสร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชน รวมถึงสร้างระบบนิเวศและเป็นแหล่งอาหารให้กับชุมชนอีกทางหนึ่ง ซึ่งการทำความดีด้วยหัวใจนี้จะทำให้ประเทศชาติเจริญรุ่งเรืองและมีความผาสุกตลอดไป

 

 

นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่พิธีเปิดเขื่อนวชิราลงกรณอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2529 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 30 ปีแล้วที่เขื่อนวชิราลงกรณ ได้อำนวยประโยชน์ด้านการชลประทาน การคมนาคม การประมง ตลอดจนช่วยขับไล่น้ำเสียและผลักดันน้ำเค็มให้สภาพน้ำในแม่น้ำแม่กลองมีคุณภาพดีขึ้น และยังสามารถผลิตไฟฟ้าเสริมความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งในวันนี้ก็ได้มีการจัดนิทรรศการความเป็นมาเขื่อนวชิราลงกรณ การพัฒนาพลังงานทดแทน รวมทั้งการดำเนินโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) เพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้ให้กับผู้มาร่วมงาน พร้อมจัดแสดงผลิตภัณฑ์ชุมชน อาทิ หมูสมุนไพรบ้านปรังกาสี กล้วยฉาบบ้านห้วยต่อ ข้าวเกรียบฟักทองบ้านห้วยมาลัย เพื่อส่งเสริมอาชีพของชุมชนโดยรอบอีกด้วย

นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีการจัดกิจกรรม “เราทำความดีด้วยหัวใจ” ตลอดทั้งเดือนกรกฎาคม คือ วันที่ 10 กรกฎาคม 2561 คณะผู้บริหาร และพนักงาน กฟผ.ทั่วประเทศ ร่วมถวายสัตย์ปฏิญาณและแสดงเจตนารมณ์ “คน กฟผ. ร่วมอาสาทำความดีด้วยหัวใจ” เพื่อเป็นพนักงานที่ดีและเป็นพลังของแผ่นดิน  วันที่ 19 กรกฎาคม 2561 จัดกิจกรรม “เราทำความดีด้วยหัวใจ ปลูกป่าชายเลน  เทิดไท้องค์ราชัน” ณ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร จังหวัดชุมพร  วันที่ 22 กรกฎาคม 2561 จะจัดกิจกรรมพัฒนาชุมชนและบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะบริเวณชุมชนต่าง ๆ และในวันที่ 26 กรกฎาคม 2561 จะจัดพิธีถวายผ้าป่ามหากุศลเฉลิมพระเกียรติฯ เพื่อสนับสนุนโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ณ สำนักงานใหญ่ กฟผ. อีกด้วย

 

กระทรวงพลังงาน โดยดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้ การต้อนรับ ดร.ฟาร์ตี้ ไบโรล์ ผู้อำนวยการทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (Dr.Fatih Birol Executive Director of International Energy Agency : IEA)

 

กระทรวงพลังงาน โดยดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้  การต้อนรับ ดร.ฟาร์ตี้ ไบโรล์ ผู้อำนวยการทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (Dr.Fatih Birol Executive Director of  International Energy Agency : IEA)  ซึ่งได้ให้เกียรติเยือนกระทรวงพลังงานอย่างเป็นทางการ พร้อมบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ สถานการณ์ทิศทางพลังงานโลก ตลาดน้ำมัน เทคโนโลยีด้านพลังงาน ตลอดจนแลกเปลี่ยนความคิดเห็น  ในประเด็นพลังงานโลกที่สำคัญ ๆ โดยมีผู้บริหารจากกระทรวงพลังงาน รวมทั้งผู้บริหารตลอดจนเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานด้านพลังงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

ทั้งนี้ ภายหลังการบรรยายพิเศษ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพลังงาน ได้ทำการหารือร่วมกับ ดร.ฟาร์ตี ไบโรล์ ผู้อำนวยการ IEA ดังกล่าว โดยมีประเด็นและกรอบการหารือด้านพลังงานที่สำคัญ ๆ ประกอบด้วย แนวโน้มและทิศทางของตลาดน้ำมัน ทิศทางของตลาดพลังงานในปัจจุบันและอนาคต  การพัฒนาพลังงานทดแทน ทิศทางของการใช้เทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน อาทิ เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (EV) และรูปแบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเทคโนโลยีได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว เป็นต้น

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานได้ใช้โอกาสในการมาเยือนของผู้อำนวยการ IEA ครั้งนี้  หารือประเด็นสำคัญ เช่น  ทิศทางความร่วมมือระหว่างไทย และทบวงพลังงานระหว่างประเทศ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งเบื้องต้นกระทรวงพลังงาน ได้ขอความร่วมมือให้ทบวงพลังงานระหว่างประเทศ ร่วมพัฒนาและศึกษานโยบาย องค์ความรู้ ข้อมูล และ การจัดส่งผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานในสาขาต่างๆ เข้ามาให้คำปรึกษากับไทย โดยเฉพาะในด้านการวางแผนแม่บทการพัฒนาพลังงานระยะยาวของไทย การจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) และ  การวางแผนด้านการจัดทำสำรองน้ำมัน เป็นต้น โดยองค์ความรู้จาก IEA กระทรวงพลังงานจะได้นำไปปรับใช้ในกระบวนการวางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์ด้านพลังงานอย่างเป็นมาตรฐาน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้  แก่ประเทศในระยะยาว

สำหรับการมาเยือนของผู้บริหารระดับสูงจากทบวงพลังงานระหว่างประเทศหรือ IEA นี้ แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของไทยในเวทีโลก และย้ำถึงการเป็นพันธมิตรที่ดีระหว่างไทยและ IEA ที่แม้ประเทศไทยจะไม่ใช่สมาชิกหลัก แต่ถือได้ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับความร่วมมือและการช่วยเหลือด้านการแบ่งปันองค์ความรู้ด้านพลังงานในระดับสากลด้วยดีมาโดยตลอด

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงพลังงาน ร่วมกันปลูกต้นรวงผึ้งเฉลิมพระเกียรติ

ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงพลังงาน ร่วมกันปลูกต้นรวงผึ้งเฉลิมพระเกียรติ เฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 พร้อมเยี่ยมชมพื้นที่ของกรมธุรกิจพลังงาน ที่จะถูกพัฒนาให้เป็น Smart City

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20

ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 ณ บริษัท เอส ซี แคริเออร์ จำกัด อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี โดยมี นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (PTTOR) นายณัฐภพ รัตนสุวรรณทวี ผู้บริหารบริษัท เอส ซี แคริเออร์ จำกัด ร่วมพิธี

ดร.ศิริ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำมันปาล์มดิบล้นตลาดและมีราคาตกต่ำ กระทรวงพลังงานได้หาแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันและส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 ซึ่งมีเป้าหมายในการจำหน่ายที่ 15 ล้านลิตรต่อวัน และคาดว่าจะสามารถเพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบได้มากขึ้น จากเดิม 1.3 ล้านตันต่อปี เป็น 2 ล้านตันต่อปี โดยกำหนดให้ราคาขายปลีกน้ำมัน บี 20 ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วปกติ 3 บาทต่อลิตร เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในส่วนของน้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลต่อการลดต้นทุนการขนส่งสินค้าและค่าโดยสาร รวมถึงค่าครองชีพของประชาชนที่จะลดลงได้อีกด้วย ซึ่งจากการศึกษาทดลองใช้น้ำมัน บี 20 ในรถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่บางยี่ห้อบางรุ่น พบว่าไม่มีผลกระทบต่อเครื่องยนต์ อีกทั้งยังทำให้ระบบการเผาไหม้ของเครื่องยนต์สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นางสาวจิราพร กล่าวว่า PTTOR มีความยินดีที่ได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 สำหรับรถบรรทุกขนส่งขนาดใหญ่ เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนและช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน โดย PTTOR ให้ความสำคัญกับกระบวนการควบคุมคุณภาพของกระบวนการผลิต จัดเก็บ และจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 ให้ได้มาตรฐานตลอดทั้งกระบวนการ โดยผลิตน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 จากคลังน้ำมันลำลูกกา จังหวัดปทุมธานีเพียงแห่งเดียว เพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพและประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ และได้เริ่มจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 แล้วตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา รวมจำนวนการผลิตและจำหน่ายน้ำมันทั้งสิ้นประมาณ 270,000 ลิตรต่อเดือน ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซล ประมาณ 30 ตันต่อเดือน หรือ 360 ตันต่อปี และมีแผนจะขยายผลโครงการด้วยการเชิญชวนผู้ประกอบการรถขนส่งรายอื่นเข้าร่วมโครงการ เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ไบโอดีเซลให้มากขึ้นต่อไป

รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานก๊าซชีวภาพ กองบิน 2

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2561 พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานก๊าซชีวภาพ กองบิน 2 กองทัพอากาศ ณ กองบิน 2 จังหวัดลพบุรี โดยมีพลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ให้การต้อนรับ ในโอกาสนี้ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายหร่อหยา จันทรัตนา ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน และนายผดุงศักดิ์ หาญปรีชาสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ร่วมเป็นเกียรติในพิธี

โรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานก๊าซชีวภาพ กองบิน 2 เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซชีวภาพจากระบบหมักย่อยขยะอินทรีย์แบบแห้ง ซึ่งถือเป็นโครงการต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย โดยกองทัพอากาศได้รับงบประมาณในการดำเนินโครงการฯ จากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน โดยมีสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมเบื้องต้นด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งออกแบบระบบของโครงการฯ โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ ในการสร้างเสริมความมั่นคง
ด้านพลังงานไฟฟ้าสำหรับการปฏิบัติภารกิจของหน่วยงานภายในกองบิน 2 และกระจายพื้นที่การใช้ประโยชน์เทคโนโลยีพลังงานทดแทนให้มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดต้นแบบและแหล่งเรียนรู้การบริหารจัดการโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซชีวภาพจากการหมักย่อยขยะอินทรีย์แบบแห้งขนาดเล็กให้กับชุมชนอีกด้วย

สำหรับการดำเนินโครงการฯ เป็นการใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อจัดการขยะ ซึ่งกำลังแพร่หลายในต่างประเทศ เช่น ประเทศเยอรมนี และประเทศสวีเดน เป็นต้น ใช้พื้นที่ในการก่อสร้างน้อยเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีแบบอื่น โดยอาศัยกระบวนการหมักย่อยสลายทางชีวภาพจากจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ เพื่อย่อยสลายสารอินทรีย์หรือความสกปรก ทำให้ความสกปรกลดลงและได้ก๊าซชีวภาพ ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยขยะอินทรีย์ที่คัดแยกออกมาได้จะถูกนำเข้าระบบหมักย่อย ส่วนขยะประเภทอื่น เช่น โลหะหรือพลาสติกที่ย่อยสลายยาก จะถูกคัดแยกและรวบรวมไปจัดการต่อไป

โดยสามารถแยกกระบวนการทำงานได้เป็น 4 ระบบ ได้แก่

1. ระบบบริหารจัดการขยะ ด้วยการใช้เทคนิคการแยกวัสดุออกจากกัน สามารถแยกขยะออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย 1) ขยะส่วนที่หนัก (Heavy Fraction) ได้แก่ โลหะ ไม้ ขวดพลาสติก และวัสดุ
อนินทรีย์ที่มีน้ำหนักค่อนข้างมาก เช่น เศษผัก, เปลือกผลไม้ 2) ขยะส่วนที่เบา (Light Fraction) จะถูกส่งต่อไปแยกขยะ เช่น กระดาษ และถุงพลาสติก 3) ขยะส่วนที่ละเอียด ขยะส่วนที่เหลือมาจะถูกส่งไปตามสายพานและแยกชิ้นส่วนโลหะขนาดเล็กที่ปะปนด้วยเทคนิคแยกวัสดุด้วยแม่เหล็กดูด เช่น เศษฝาเบียร์ ตะปู ออกไป โดยทุกๆ ขั้นตอนในระบบแยกขยะ จะมีระบบดูดกลิ่นและฝุ่นละออง เพื่อลดกลิ่นและการฟุ้งกระจายของฝุ่นภายในอาคาร

2. ระบบผลิตก๊าซชีวภาพ ในขั้นตอนต่อไป ขยะอินทรีย์จะถูกนำไปหมักย่อยในถังปฏิกรณ์แบบแห้ง โดยมีปริมาตร 900 ลบ.ม. รองรับอัตราการป้อนวัสดุหมัก 10 ตัน/วัน สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้วันละ 1,550 ลบ.ม./วัน ผลิตกระแสไฟฟ้าได้วันละ 2,500 หน่วย โดยก๊าซชีวภาพที่เกิดขึ้นจะถูกกักเก็บไว้ในบอลลูนพลาสติกแบบ 2 ชั้น อยู่ส่วนบนของบ่อหมัก สามารถกักเก็บก๊าซชีวภาพได้ 800 ลบ.ม. รองรับแรงดัน 2,000 Pascal  สำหรับตะกอนส่วนที่ย่อยสลายไม่หมดจากระบบก๊าซชีวภาพ จะถูกนำมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ โดยดูดส่งไปที่ระบบหมักย่อยแบบปิดที่ใช้ในการบำบัดน้ำเสียแบบไร้อากาศ เช่น น้ำซะขยะ น้ำเสียจากศูนย์กสิกรรม และน้ำส่วนหนึ่งที่หมักย่อยแล้วจะถูกสูบไปพ่นในระบบหมักย่อยแบบแห้ง เพื่อสร้างปัจจัยที่เอื้อต่อการทำงานของจุลินทรีย์ในถังหมัก Hybrid Biogas Digester

3. ระบบบำบัดก๊าซ กรองก๊าซ ดูดก๊าซ และระบบเผาก๊าซ จากนั้น ก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้ จะถูกนำไปเก็บในถังสำรองก๊าซชีวภาพ โดยมีการติดตั้งถังควบคุมแรงดัน ซึ่งถ้ามีก๊าซส่วนเกินที่เหลือใช้ หรือไม่ได้นำมาผลิตไฟฟ้าในบางช่วงเวลา จะถูกนำไปเผาทิ้งอัตโนมัติที่ชุดเผาทิ้งก๊าซชีวภาพ ก๊าซที่อยู่ในถังสำรองนี้ จะถูกนำมาปรับปรุงคุณภาพก่อนนำมาเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า Hydrogen sulfide เพื่อดักฝุ่น ไอน้ำ และก๊าซไข่เน่า

4. ระบบผลิตและส่งไฟฟ้า ก๊าซชีวภาพที่รวบรวมไว้จะถูกผลิตกระแสไฟฟ้าผ่านเครื่องยนต์ขนาด
250 kW จำนวน 2 ชุด และส่งไปที่หม้อแปลงไฟฟ้าขนาด 800 kva 3 phase 50 Hz เพื่อใช้ประโยชน์ภายในพื้นที่กองบิน 2 ต่อไป

 

ทั้งนี้ หากโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานก๊าซชีวภาพเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิต คาดว่าจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายเรื่องค่าไฟฟ้าให้กับกองบิน 2 ได้ประมาณ 180,000 บาทต่อเดือน และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะ ตลอดจนสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับข้าราชการและครอบครัวของกองบิน 2 ที่สำคัญยังเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า หากระบบไฟฟ้าหลักเกิดความเสียหายหรือไม่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ กองบิน 2 จะยังคงมีระบบไฟฟ้าสำรองเพื่อดำรงภารกิจด้านความมั่นคงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

จากนโยบายผู้บัญชาการทหารอากาศ ปี 2560 – 2561 ได้กำหนดเป้าหมายแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างความร่วมมือด้านพลังงานทดแทน รวมทั้งการอนุรักษ์พลังงานกับหน่วยงานภายนอก เพื่อพัฒนาหน่วยงานระดับกองบินและโรงเรียนการบิน ให้เป็น “Smart Wing” ด้วยเทคโนโลยี “Smart Grid” ที่จะบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าให้สามารถตอบสนองต่อการปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพแต่ใช้ทรัพยากรที่น้อยลง (Doing More with Less) รวมทั้งมีความน่าเชื่อถือ ความปลอดภัย ความยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยกองบิน 2 จะเป็นต้นแบบสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทนของกองทัพอากาศ ให้เป็น “Smart Wing 2” ต่อไป

กระทรวงพลังงาน แถลงข่าว “โครงการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20”

กระทรวงพลังงาน แถลงข่าว “โครงการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20” เพื่อส่งเสริมความเชื่อมั่นต่อการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ที่มีส่วนผสมของน้ำมันไบโอดีเซล ร้อยละ 20 ในรถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่ กระตุ้นความต้องการใช้น้ำมันไบโอดีเซลเพิ่มขึ้น
วันที่ 2 กรกฎาคม 2561 ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เป็นประธานในพิธีแถลงข่าวเปิด “โครงการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20” พร้อมด้วย ผู้บริหารกระทรวงพลังงาน ผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 ผู้ประกอบการรถขนส่งที่เข้าร่วมโครงการ ผู้ผลิตไบโอดีเซล ผู้แทนเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ณ ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ กระทรวงพลังงาน โดยมีสื่อมวลชน สนใจเข้าร่วมกิจกรรมการแถลงข่าวครั้งนี้เป็นจำนวนมาก
จากสถานการณ์น้ำมันปาล์มดิบล้นตลาดและราคาตกต่ำ กระทรวงพลังงานได้หาแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกผลปาล์มน้ำมัน โดยดำเนินการจัดให้มีการจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 ให้กับรถเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มรถบรรทุกขนส่งสินค้า รถโดยสาร เรือโดยสาร โดยมีเป้าหมายในการจำหน่าย B20 ที่ 15 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบได้มากขึ้น จากเดิม 1.3 ล้านตันต่อปี เป็น 2 ล้านตันต่อปี
ในเบื้องต้นมีผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 จำนวน 5 ราย ได้แก่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก บางจาก ไออาร์พีซี ซัสโก้ และบริษัท ซัสโก้ดีลเลอร์ ได้แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการเพื่อจำหน่ายน้ำมัน B20 ให้กับผู้ประกอบการ fleet รถบรรทุก จำนวน 24 ราย และเรือด่วน อีก 1 ราย ซึ่งกระทรวงพลังงาน คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต
โครงการส่งเสริมการใช้น้ำมัน B20 กำหนดให้ราคาขายปลีกน้ำมัน B20 ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลปกติ 3 บาทต่อลิตร มีวัตถุประสงค์เพื่อลดค่าใช้จ่ายในส่วนของน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นต้นทุนหลักในภาคการขนส่ง เป็นผลให้ลดต้นทุนการขนส่งสินค้าและค่าโดยสาร อันจะเป็นการช่วยลดผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้ทำการศึกษาทดลองใช้ B20 ในรถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่บางยี่ห้อบางรุ่นแล้ว พบว่าไม่มีผลกระทบต่อเครื่องยนต์ และอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงไม่แตกต่างกับการใช้น้ำมันดีเซล หมุนเร็วปกติ นอกจากนี้ยังทำให้ระบบการเผาไหม้ของเครื่องยนต์สะอาดยิ่งขึ้น เป็นการช่วยลดมลภาวะและส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย แต่ทั้งนี้ต้องเปลี่ยนไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่น พร้อมทั้งเปลี่ยนถ่ายน้ำมันหล่อลื่นเร็วขึ้นกว่าปกติ
อนึ่ง รถบรรทุกที่เข้าร่วมโครงการควรมีความสามารถในการดูแลรักษาเครื่องยนต์ของตนเองได้ ส่วนรถยนต์ส่วนบุคคล รถปิกอัพ รถบรรทุกขนาดเล็ก ขณะนี้ยังไม่มีผลการทดสอบที่แน่ชัด กระทรวงพลังงาน จึงยังไม่แนะนำให้ใช้ในขณะนี้

รมว.พลังงาน ลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.นครสวรรค์

รมว.พลังงาน ลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.นครสวรรค์ ตรวจเยี่ยมโครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ช่วยภัยแล้ง และระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งติดตามผลการผลิตของโรงงานเอทานอลจากกากน้ำตาล

​ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยปลัดกระทรวงพลังงานและผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงานได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจราชการในจังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2561 ซึ่งเป็นภารกิจส่วนหนึ่งของการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ โดยกระทรวงพลังงานได้ติดตามโครงการด้านพลังงานที่สำคัญ ๆ ทั้งด้านการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการสูบน้ำให้กับเกษตรกรในพื้นที่ห่างไกล และพัฒนาอาชีพเสริมด้วยระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งติดตามต้นทุนการผลิตเอทานอลจากโรงงานที่ใช้กากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบ โดยการตรวจเยี่ยมโครงการที่สำคัญๆ ได้แก่ ​โครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้ง ณ บ้านหนองขาม ต.ตาคลี อ.ตาคลี จำนวน 2 แห่ง เป็นระบบสูบน้ำเพื่อการเกษตร ที่ช่วยสูบน้ำจากบ่อบาดาลโดยใช้เครื่องสูบน้ำพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ ไม่มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และเยี่ยมชมโครงการ “ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์” ให้กับกลุ่มครัวเรือน กลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน/OTOP” ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านทัพชุมพล หมู่ที่ 1 ต.หนองกรด อ.เมือง จ.นครสวรรค์
​โดยการตรวจเยี่ยมทั้งสองโครงการจะเป็นประโยชน์ในการเก็บข้อมูลการนำพลังงานแสงอาทิตย์ไปใช้ประโยชน์ในการเสริมฐานสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกรตามแนวทางของโครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน” ซึ่งในอนาคตกระทรวงพลังงานจะมีการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ อีกจำนวน 5,000 ระบบ ภายใต้วงเงินงบประมาณ 3,500 ล้านบาท ภายในปี 2561 เมื่อรวมกับที่มีอยู่แล้ว จำนวน 1,088 ระบบ รวมเป็น 6,088 ระบบ ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์รวมทั้งประเทศไม่ต่ำกว่า 350,000 ครัวเรือน รวมพื้นที่กว่า 1 ล้านไร่ ส่วนโครงการระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) กว่า 300 แห่ง ในปี 2561 จะช่วยลดระยะเวลาการอบแห้งในกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ได้มากกว่า 50% และเพิ่มคุณภาพของผลิตผลการเกษตรตามความต้องการของตลาดโดยทั้งสองโครงการมีเป้าหมายเพื่อสร้างฐานรายได้ให้กับเกษตรกรทั้งประเทศไม่ต่ำกว่า 1,300 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะเป็นการเสริมฐานความมั่นคงทางรายได้ให้กับเกษตรกร ทำให้เกษตรกรทั้งประเทศมีรายได้ที่แน่นอนส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
​นอกจากนี้ ยังได้ตรวจเยี่ยมการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพเอทานอลจากกากน้ำตาลที่เป็นผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาล ของบริษัท เคทิส ไบโอเอทานอล จำกัด ที่ ต.หนองโพ อ.ตาคลี ซึ่งมีโครงการขยายกำลังการผลิตจาก 230,000 ลิตร/วัน เป็นประมาณ 1 ล้านลิตร/วัน เพื่อศึกษาต้นทุนในการผลิตเอทานอลที่จะลดลงจากการใช้เทคโนโลยีใหม่ให้ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น ​
นอกจากเข้าเยี่ยมชมโครงการด้านพลังงานต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังได้มอบนโยบายการดำเนินงานให้แก่ พลังงานจังหวัดในเขตพื้นที่ ได้แก่ กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี นครสวรรค์ ลพบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และสระบุรี และตรวจความพร้อมในการดำเนินโครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน”

แนวทางบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติราคาน้ำมัน

·       ความผันผวนเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลกตลอดระยะเวลากว่า 2 เดือนที่ผ่านมา โดยที่น้ำมันดิบดูไบ (Dubai) มีราคาเพิ่มขึ้น 15.30 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล (จาก 61.75 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล  เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2018 เป็น 77.05 เหรียญสหรัฐฯ/ต่อบาร์เรล เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2018) ส่งผลให้ราคาดีเซลอ้างอิง Platts ในตลาดอาเซียน เพิ่มขึ้น 16.69 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล (จาก 76.55 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2018 เป็น 93.24 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2018) ในช่วงเวลาเดียวกัน เท่ากับ 3.30 บาท/ลิตร เมื่อคำนวณที่อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 16 มีนาคม 2018 ที่ 31.40 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนได้อ่อนตัวลงเป็น 32.29 บาท/เหรียญสหรัฐ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2018 ส่งผลให้ราคาดีเซลอ้างอิง Platts ในตลาดอาเซียน เพิ่มขึ้นอีก 0.52 บาท/ลิตร เป็น 3.82 บาท/ลิตร

·       แต่ด้วยการปรับสูตรการคำนวณราคาอ้างอิง ณ โรงกลั่น และการลดจำนวนเงินจัดเก็บเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงาน 0.15 บาท/ลิตร เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2018 ส่งผลให้ราคาดีเซลขายปลีกในประเทศ เพิ่มขึ้นต่ำกว่าที่ควรเป็น 0.62 บาท/ลิตร คือเพิ่มขึ้นสุทธิจริงเท่ากับ 3.20 บาท/ลิตร เป็น 29.79 บาท/ลิตร

·       ในขณะเดียวกัน กระทรวงพลังงานได้ริเริ่มโครงการช่วยดูดซับปริมาณผลิตน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกินด้วยการผลิตน้ำมันดีเซลเกรดพิเศษที่มีส่วนผสม ไบโอดีเซลเพิ่มจาก 7% สำหรับดีเซลเกรดทั่วไป (B7) เป็น 20% (B20) เพื่อใช้ในกลุ่มรถบรรทุกและรถโดยสารขนาดใหญ่ โดยจะมีมาตรการจูงใจด้วยราคาขายปลีกต่ำกว่าน้ำมันดีเซลเกรดปกติที่ 3 บาท/ลิตร ซึ่งคาดว่าจะเริ่มจำหน่ายได้ประมาณต้นเดือนกรกฎาคม 2018

·       การจำหน่ายน้ำมันดีเซลเกรดพิเศษ (B20) โดยมีส่วนลดให้ราคาขายปลีกต่ำกว่าน้ำมันดีเซลเกรดปกติที่ 3 บาท/ลิตร จะส่งผลให้ราคาต้นทุนน้ำมันของกลุ่มรถบรรทุกและรถโดยสารขนาดใหญ่ อยู่ในระดับต่ำประมาณ 27 บาท/ลิตร จึงไม่มีความจำเป็นต้องขึ้นค่ารถโดยสารสาธารณะหรือค่าขนส่ง

·       ในระหว่างที่ยังไม่มีการจำหน่ายน้ำมัน B20 กระทรวงพลังงานจะใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเป็นเครื่องมือในการรักษาระดับราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินกว่า 30 บาท/ลิตร เป็นระยะเวลาสั้นๆก่อนมีการจำหน่ายน้ำมัน B20

·       และเพื่อลดผลกระทบจากราคาน้ำมันที่อาจจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่า 80 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล กระทรวงพลังงานจักได้เตรียมมาตรการดูแลกรณีวิกฤตราคาผันผวนอย่างรวดเร็วต่อผู้บริโภค โดยการใช้กองทุนช่วยลดภาระให้ขึ้นราคาขายปลีกเท่ากับ 50% ของราคาที่ควรจะเพิ่มขึ้น กล่าวคือหากราคาน้ำมันตลาดโลกขึ้น 1 บาท จะใช้กองทุนช่วยลดภาระ 50 สตางค์ และขึ้นราคา 50 สตางค์

·       โดยที่หากราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้นถึง 90 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล  ซึ่งส่งผลให้ราคาดีเซลอ้างอิง Platts ในตลาดอาเซียน เพิ่มขึ้นเป็น 105 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล  และด้วยฐานะกองทุนน้ำมันที่มีคงเหลือประมาณ 30,000 ล้านบาท จะเพียงพอสำหรับมาตรการการใช้กองทุนช่วยลดภาระการขึ้นราคาขายปลีก 50% ของราคาที่ควรจะเพิ่มดังกล่าว ได้ประมาณ 10 เดือน

รมว.พลังงาน ลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ติดตามโครงการสนับสนุนลงทุนปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ในโรงพยาบาลภาครัฐ

รมว.พลังงาน ลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ติดตามโครงการสนับสนุนลงทุนปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ในโรงพยาบาลภาครัฐ ชี้โรงพยาบาลสตึก หลังเข้าร่วมโครงการฯ สามารถลดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 360,000 บาท/ปี ด้วยเงินลงทุนรวม 560,000 บาท พร้อมตรวจเยี่ยมโครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ช่วยภัยแล้ง ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ดำเนินการสร้างในจังหวัดบุรีรัมย์รวม 35 ระบบ ครอบคลุมพื้นที่ 8,433 ไร่ มั่นใจภาพรวมสร้างคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้น รวมทั้งเข้าเยี่ยมชมโรงไฟฟ้ามุ่งเจริญกรีนพาวเวอร์ โรงไฟฟ้าชีวมวลที่รับซื้อวัสดุเหลือใช้ภาคเกษตรกรรมปีละประมาณ 130 ล้านบาท และจ้างงาน ในท้องถิ่นกว่า 170 ตำแหน่ง
​นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงพลังงาน ได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจราชการในจังหวัดบุรีรัมย์และสุรินทร์ (ระหว่างวันที่ 7-8 พ.ค.2561) ซึ่งเป็นภารกิจก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ โดยกระทรวงพลังงานได้ติดตามโครงการด้านพลังงานที่สำคัญ ๆ ทั้งด้านการสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การใช้ประโยชน์จากพลังงานทดแทน เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยการตรวจเยี่ยมโครงการที่สำคัญๆ ได้แก่
​โครงการสนับสนุนการลงทุนการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ในโรงพยาบาลของรัฐ (Matching Fund) ซึ่งดำเนินการโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ที่ได้เข้าสนับสนุนการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ด้านพลังงานในโรงพยาบาลสตึก อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ โดยลักษณะโครงการฯ พพ. ได้ให้การสนับสนุนเงินลงทุนร้อยละ 70 ของการเงินลงทุน โดยได้สนับสนุนใน 2 มาตรการที่สำคัญ ได้แก่ การเปลี่ยนหลอดฟลูออเรสเซนต์ 36 วัตต์ เป็นหลอดแอลอีดี 18 วัตต์ จำนวน 1,047 หลอด เปลี่ยนหลอดฟลูออเรสเซนต์ 18 วัตต์ เป็นหลอดแอลดีดี 9 วัตต์ จำนวน 30 หลอด และการติดตั้งเครื่องปรับอากาศแบบอินเวอร์เตอร์ ทดแทนเครื่องปรับอากาศแบบเดิม ซึ่งจากการสนับสนุนดังกล่าว โรงพยาบาลสตึกสามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ประมาณ 92,000 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้สูงถึงประมาณปีละ 360,000 บาท และสามารถคืนทุนได้เพียง 1 ปีเศษ
​ โครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้ง ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอินทรีย์บ้านโนนสำราญ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ที่เป็นตัวอย่างวิสาหกิจที่ประสบความสำเร็จ โดยจากภาพรวมโครงการหลักทั้งหมด ซึ่งกระทรวงพลังงานได้สนับสนุนทั่วพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ทั้งสิ้น 35 ระบบ ครอบคลุมพื้นที่ 8,433 ไร่ และมีเกษตรกรได้ประโยชน์ถึง 279 ราย นอกจากนี้ยังได้เพิ่มการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ 54,000 วัตต์ ช่วยให้เกษตรกรลดการใช้น้ำมันดีเซล 13,211 ลิตรต่อปี หรือช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณปีละ 340,000 บาท
​การเข้าเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าชีวมวลมุ่งเจริญ ไบโอแมส ซึ่งมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 17 เมกะวัตต์ และได้ตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของชาว อ.เมือง จ.สุรินทร์ ได้ประมาณ 33% โดยโรงไฟฟ้าชีวมวลมุ่งเจริญ ฯ ได้ทำสัญญาขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้า ฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 15.5 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 25 ปี เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ระบบ 115 เควี ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2555
​โดยโรงไฟฟ้าฯ ใช้เชื้อเพลิงแกลบเป็นหลัก ปีละประมาณ 100,000 ตัน ประมาณร้อยละ 40-60% ส่วนวัตถุดิบที่เหลือ เป็นเศษไม้และเปลือกไม้ ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มในวัสดุเหลือใช้ภาคเกษตรกรรมปีละประมาณ 130 ล้านบาท ลดก๊าซเรือนกระจก ปีละประมาณ 70,000 ตัน ลดการใช้ก๊าซธรรมชาติปีละประมาณ 10,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต หรือคิดเป็นเงินกว่า 300 ล้านบาท จ้างงานแรงงานในท้องถิ่นกว่า 170 ตำแหน่ง ช่วยลดปัญหาการอพยพแรงงาน ส่งผลให้สถาบันครอบครัวมีความอบอุ่น และเข้มแข็งขึ้น
​นอกจากนี้ ภายหลังการประชุมครม. นอกสถานที่ (ในวันอังคารที่ 8 พ.ค.) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะได้มอบนโยบายการดำเนินงานให้แก่พลังงานจังหวัดในเขตพื้นที่ (สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา ชัยภูมิ อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ รวมทั้งยังได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมโครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียมบนบก แปลงสำรวจหมายเลข L31/50 หลุมเจาะสำรวจ YPT7 ณ บ้านหนองสรวง อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์

กพช. มีมติรับทราบ การดำเนินงานของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

กพช. มีมติรับทราบ การดำเนินงานของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ในการเปิดประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติ ที่กำลังจะสิ้นอายุสัมปทาน ในปี 2665-2566 (แหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช) โดยออกประกาศเชิญชวน ในวันที่ 24 เมษายน 2561

วันนี้ (23 เมษายน 61) ณ ทำเนียบรัฐบาล การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2561 (ครั้งที่ 15) ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้รับทราบการดำเนินงานของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ในการเปิดประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติ ที่กำลังจะสิ้นอายุสัมปทาน ในปี 2565-2566 (แหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช) โดยให้ออกประกาศเชิญชวนผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมประมูล ในวันที่ 24 เมษายน 2561 ตามทีโออาร์การเปิดประมูลระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract : PSC) โดยได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขหลักในการประมูลไว้ ดังนี้

·       ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตต้องผลิตก๊าซธรรมชาติปริมาณการผลิตขั้นต่ำ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา10 ปี ในแปลงสำรวจหมายเลข G1/61 และต้องผลิตก๊าซธรรมชาติในปริมาณการผลิตขั้นต่ำ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 10 ปี ในแปลงสำรวจหมายเลข G2/61

·       ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องเสนอราคาก๊าซธรรมชาติที่ไม่สูงไปกว่าราคาเฉลี่ยของราคาก๊าซธรรมชาติในปัจจุบัน ตามสูตรราคาที่กำหนดในเงื่อนไขการประมูล

·       ให้ผู้เข้าร่วมประมูลเสนอสัดส่วนการแบ่งกำไรให้แก่รัฐ ซึ่งจะต้องไม่ต่ำกว่า 50% และเสนอผลประโยชน์พิเศษต่าง ๆ เช่น โบนัสการลงนาม โบนัสการผลิต  และผลประโยชน์พิเศษอื่นๆ

·       ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องเสนอสัดส่วนการจ้างพนักงานไทยไม่ต่ำกว่า 80% ในสิ้นปีที่ 1 และไม่ต่ำกว่า 90% ในสิ้นปีที่ 5 ของการดำเนินงาน

ทั้งนี้ แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณและบงกช เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติหลักของประเทศ โดยปัจจุบัน ทั้ง 2 แหล่ง  มีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 2,110 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คิดเป็น 75% ของก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในอ่าวไทย สำหรับกลุ่มแหล่งเอราวัณมีปริมาณการผลิต 1,240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งอยู่ภายใต้ การดำเนินงานของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ตามสัญญาสัมปทาน เลขที่ 1/2515/5 และเลขที่ 2/2515/6 ซึ่งจะสิ้นอายุสัมปทาน วันที่ 23 เมษายน 2565 ขณะที่กลุ่มแหล่งบงกชมีปริมาณการผลิต 870 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ตามสัญญาสัมปทาน เลขที่ 5/2515/9  โดยจะสิ้นอายุสัมปทาน วันที่ 23 เมษายน 2565 และสัญญาสัมปทาน เลขที่ 3/2515/7 และจะสิ้นอายุสัมปทาน วันที่ 7 มีนาคม 2566

รายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)

รายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)
วันศุกร์ที่ 20 เมษายน 2561

*****************************

การปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณ ราคา ณ โรงกลั่น สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิง

วันนี้ (20 เมษายน 2561) ที่กระทรวงพลังงาน ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
ได้กล่าวถึงการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณ ราคา ณ โรงกลั่น สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิง ว่า

“จากรายงานการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปรียบเทียบการคำนวณราคา ณ โรงกลั่น สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิง (ดีเซล เบนซิน และ แก๊สโซฮอล) ระหว่างเกณฑ์ที่ใช้ในปัจจุบัน ซึ่งใช้ราคา FOB สิงคโปร์ สำหรับเกรดน้ำมัน Euro III เป็นฐาน แล้วบวกด้วยค่าปรับปรุงคุณภาพให้เป็นเกรดน้ำมัน Euro IV ที่ใช้ในเมืองไทย และบวกด้วยค่าใช้จ่าย (เทียบเท่า) การขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงจากสิงคโปร์ กับการอ้างอิงราคา FOB สิงคโปร์ สำหรับเกรดน้ำมัน Euro IV เป็นฐาน แล้วบวกเฉพาะค่าใช้จ่าย (เทียบเท่า) การขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงจากสิงคโปร์ ซึ่งที่ประชุม กบง. ได้มีมติเห็นชอบให้ใช้เกณฑ์ราคา Euro IV เป็นฐาน เนื่องจากสามารถสะท้อนสภาวะการแข่งขันในตลาดสากลได้ใกล้เคียงตามความเป็นจริงได้มากกว่า และหากเปรียบเทียบราคา ณ โรงกลั่น ของวันนี้
(20 เมษายน 2561) ที่คำนวณตามวิธีเดิม (ใช้ Euro III เป็นฐาน) กับ ตามวิธีใหม่ (ใช้ Euro IV เป็นฐาน) แล้ว
จะส่งผลให้ราคา ณ โรงกลั่น สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิง ลดลง 41 สตางค์ต่อลิตร สำหรับน้ำมันดีเซล และ 61 สตางค์ต่อลิตร สำหรับแก๊สโซฮอล 91 (E10)

ประกอบกับการที่ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันนี้ ถึงมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่อนุมัติให้ปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำหรับน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล และดีเซล ลง 15 สตางค์ต่อลิตร เป็นระยะเวลา 2 ปี จะส่งผลให้ราคาขายส่ง (ก่อนรวมค่าการตลาดและ
จัดจำหน่ายตามสถานีบริการ) สามารถลดลงได้ 60 – 80 สตางค์ต่อลิตร

ทั้งนี้ ดร. ศิริ ได้กล่าวเสริมว่า การปรับโครงสร้างเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่น และการปรับลดอัตราเงิน
ส่งเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในวันนี้ จะช่วยลดผลกระทบของการที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก
ได้เพิ่มขึ้นมากในช่วง 2-3 สัปดาห์ ที่ผ่านมา ต่อผู้บริโภค เทียบเท่ากับราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น/ลดลง 3.00 – 4.00 เหรียญต่อบาเรล”

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมงานสืบสานวัฒนธรรมประเพณีสงกรานต์ ประจำปี 2561

วันนี้ (10 เม.ย. 61) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีงานสืบสานวัฒนธรรมประเพณีสงกรานต์ ประจำปี 2561 ซึ่งในงานประกอบด้วยพิธีสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ พิธีทำบุญตักบาตร พิธีสรงน้ำพระ และพิธีรดน้ำดำหัว เพื่อเป็นการแสดงความเคารพ ความกตัญญูต่อผู้ใหญ่และผู้มีพระคุณ โดยนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมงาน ณ ทำเนียบรัฐบาล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดตัวโครงการตรวจเช็คเครื่องยนต์เพื่อประหยัดพลังงาน PTT Engine Tune Up

ตรวจสภาพรถยนต์ฟรีกับ ปตท. เพิ่มความปลอดภัยพร้อมรับสงกรานต์ ด้วยบริการตรวจเช็คเครื่องยนต์ฟรี 25 รายการ 138 แห่งทั่วประเทศ ณ สถานีบริการ ปตท. 57 แห่ง ศูนย์บริการ  Pro Check 47 แห่ง และศูนย์บริการ FIT Auto 34 แห่งทั่วประเทศที่ร่วมโครงการ ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 5 เมษายน 61 เตรียมพร้อมรับการเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์

ดร.ศิริ  จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีเปิดตัวโครงการตรวจเช็คเครื่องยนต์เพื่อประหยัดพลังงาน PTT Engine Tune Up พร้อมด้วย นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์  ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อร่วมรณรงค์สร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยด้วยการตรวจเช็คเครื่องยนต์ตามมาตรฐานก่อนการเดินทาง ลดใช้พลังงาน ลดผลกระทบจากมลภาวะทางอากาศ และเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 5 เมษายน 2561

ดร.ศิริ เปิดเผยว่า รัฐบาลมีความตระหนักถึงปัญหาด้านความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนซึ่งสาเหตุประการหนึ่งเกิดขึ้นจากสภาพเครื่องยนต์ที่ไม่มีความพร้อมสำหรับการเดินทางไกลในช่วงเทศกาลวันหยุดสงกรานต์นี้ จึงสนับสนุนในการดำเนิน โครงการ “PTT ENGINE TUNE UP” ขึ้น โดย ปตท. จัดโครงการอย่างต่อเนื่อง นับเป็นตัวอย่างอันดีที่จะช่วยขับเคลื่อนให้สังคมไทยเกิดการตื่นตัวเรื่องความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน โดยหันมาใส่ใจตรวจเช็คเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ให้มีความพร้อม สร้างจิตสำนึกแก่ผู้ใช้รถให้เห็นความสำคัญของการดูแลรักษาสภาพเครื่องยนต์ ช่วยเพิ่มความปลอดภัยและช่วยประหยัดพลังงาน เตรียมพร้อมให้ช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของครอบครัวที่จะได้เดินทางพบปะ ท่องเที่ยวอยู่อย่างพร้อมหน้าพร้อมตากัน

นายอรรถพล เปิดเผยว่า ปตท. จัดกิจกรรมให้บริการตรวจสภาพรถยนต์ฟรีแก่ประชาชน ภายใต้ โครงการ PTT Engine Tune Up ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา เกิดขึ้นด้วยเจตนารมณ์ในการลดอุบัติเหตุจากการขับขี่ซึ่งมีสาเหตุจากสภาพเครื่องยนต์รถที่ไม่มีความพร้อมในการเดินทาง และเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเพราะรถที่เข้ารับการตรวจสภาพจะช่วยประหยัดน้ำมันได้ถึงร้อยละ 5 อีกทั้งยังช่วยลดปัญหามลภาวะทางอากาศเนื่องจากรถยนต์ที่ผ่านการตรวจสภาพแล้ว จะมีการปล่อยไอเสียลดลง ช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อน รวมถึงเป็นการสนับสนุนให้อาจารย์และนักศึกษาอาชีวศึกษาทั่วประเทศ จำนวน 399 คน ใช้เวลาว่างจากการปิดภาคเรียนให้เกิดประโยชน์แก่สังคม ตลอดจนมีรายได้เสริม โดยผู้สนใจสามารถตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.pttplc.com และ PTT Contact Center โทร. 1365

รมว.พลังงาน ร่วมคณะนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ จ.หนองบัวลำภู ขับเคลื่อนระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์

รมว.พลังงาน ร่วมคณะนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ จ.หนองบัวลำภู ขับเคลื่อนระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ช่วยชุมชนในพื้นที่เกษตรกรรมรวมกว่า 3,000 ไร่ เกิดรายได้ที่มั่นคงคุณภาพชีวิตดีขึ้น ตามแนวทางไทยนิยมยั่งยืน

วันที่ 22 มี.ค. 61 นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมคณะตรวจราชการของนายกรัฐมนตรี ติดตามความคืบหน้า การใช้ระบบสูบน้ำบาดาลด้วยพลังงานจากแสงอาทิตย์ เพื่อใช้ในการปลูกผักอินทรีย์ สร้างความมั่นคงด้านรายได้และผลกำไรให้กับชุมชนอย่างมั่นคง โดยชุมชนไม่ต้องเสียงค่าใช้จ่ายในการจัดหาน้ำ เพื่อขับเคลื่อนชุมชนโพธิ์ศรีสำราญ เป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ ตามแนวทางไทยนิยมยั่งยืน และเป็นต้นแบบการขยายผล การใช้พลังงานแสงอาทิตย์สูบน้ำ สู้ภัยแล้ง ในพื้นที่เกษตรกรรม กว่า 3,000 ไร่ ทั่วจังหวัดหนองบัวลำภู

โดยระบบสูบน้ำบาดาลด้วยพลังงานจากแสงอาทิตย์ ใช้เงินลงทุน 1.267 ล้านบาท และประกอบด้วย บ่อน้ำบาดาล (ขนาด 5 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง) แผงแปลงพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นไฟฟ้า (ขนาด 2,000 วัตต์) ปั้มน้ำ (ขนาด 1.8 แรงม้า) และระบบถังพักน้ำใหญ่เล็ก (รวม 60 ลูกบาศก์เมตร) กระจายพื้นที่กว่า 8 ไร่ ของโครงการเกษตรอินทรีย์โพธิ์ศรีสำราญ สำหรับผู้ร่วมโครงการ 38 ราย และเมื่อขยายโครงการครบ 3,478 ไร่ จะสามารถช่วยเหลือเกษตรได้ถึง 1,868 คน

 

รมว.พน. เป็นประธานเปิดโครงการอบรมให้ความรู้การป้องกันการทุจริต และผลประโยชน์ทับซ้อน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้โอวาทในการเปิดการอบรมให้ความรู้การป้องกันการทุจริต และผลประโยชน์ทับซ้อนแก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน ย้ำให้เจ้าหน้าที่รัฐยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส สร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน

วันนี้ (15 มี.ค. 61) ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เป็นประธานในการกล่าวเปิดโครงการอบรมให้ความรู้การป้องกันการทุจริต และผลประโยชน์ทับซ้อน เรื่อง “ส่องกล้อง มองไกล กฎหมายคอร์รัปชั่น” โดยมีผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน จำนวนกว่า 200 คน เข้าร่วมการอบรม ณ ห้องประชุมชั้น 15 ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ อาคารบี ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มอบนโยบายในการปฏิบัติงานให้ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงานยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล โปร่งใสตรวจสอบได้ และรับฟังความเห็นของประชาชน เพื่อให้การผลักดันนโยบายด้านพลังงานได้รับการยอมรับและสามารถขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม ในโอกาสนี้ได้ร่วมแสดงสัญลักษณ์ การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น พร้อมกับผู้บริหารกระทรวงพลังงาน เพื่อแสดงพลังในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

สำหรับโครงการอบรมในครั้งนี้ จัดโดยศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) กระทรวงพลังงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้การป้องกันการทุจริต และผลประโยชน์ทับซ้อนแก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ.2560-2564) โดยได้เชิญ พลอากาศเอกวีรวิท คงศักดิ์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน เป็นวิทยากรบรรยายถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ รวมถึงกระตุ้นจิตสำนึกและสร้างค่านิยมแก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน เพื่อผลักดันให้เกิดสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริตสมตามเจตนารมณ์ของยุทธศาสตร์ชาติ

พิธีทำบุญตักบาตร อุทิศถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ พระที่นั่งทรงธรรม มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

วันนี้ (11 ม.ค. 61) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีทำบุญตักบาตร อุทิศถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระสงฆ์ จำนวน 89 รูป ออกรับบิณฑบาต รอบพระเมรุมาศ โดย ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายธรรมยศ ศรีช่วย ปลัดกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมพิธี ณ พระที่นั่งทรงธรรม มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

กระทรวงพลังงานจับมือ ปตท. แจกข้าวใหม่เมื่อเติมน้ำมันที่ปั๊ม ปตท.ทั่วประเทศรับปีใหม่

กระทรวงพลังงานจับมือ ปตท. แจกข้าวใหม่เมื่อเติมน้ำมันที่ปั๊ม ปตท.ทั่วประเทศรับปีใหม่
สนับสนุนข้าวสารจากชาวนาไทยมอบความสุขช่วงปีใหม่แจกข้าวใหม่ 1 ล้านกิโลกรัมผ่านโครงการ
“ปีใหม่ ข้าวใหม่… อิ่มท้อง อิ่มใจ ช่วยชาวนา”
วันนี้ (24 ธันวาคม 2560) นายศิริ จิระพงษ์พันธ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ“ปีใหม่ ข้าวใหม่… อิ่มท้อง อิ่มใจ ช่วยชาวนา”โดยมี นายธรรมยศ ศรีช่วยปลัดกระทรวงพลังงาน นายนิมิต วันไชยธนวงศ์ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี และนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมในพิธีเปิดโครงการฯ ณ สถานีบริการน้ำมันปตท.บจก.หลักเมืองถาวรพาณิชย์ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

นายศิริเปิดเผยว่า โครงการ “ปีใหม่ ข้าวใหม่…อิ่มท้อง อิ่มใจ ช่วยชาวนา” เป็นโครงการที่กระทรวงพลังงาน โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)จัดขึ้นเพื่อมอบข้าวใหม่ 1 ถุง ขนาดบรรจุ 500กรัมเป็นของขวัญปีใหม่สำหรับประชาชนที่เข้ามาใช้บริการ ณ สถานีบริการน้ำมัน ปตท. โดยเริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561 เป็นต้นไป ซึ่งนอกจากจะเป็นการมอบความสุขให้กับประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่แล้ว ยังเป็นการช่วยสนับสนุนข้าวจากชาวนาไทยอีกด้วย ซึ่งคาดว่าการแจกข้าว1 ล้านกิโลกรัมหรือประมาณ 2 ล้านถุง จะช่วยเกษตรกรชาวนาไทยให้มีรายได้และมีช่องทางกระจายข้าวให้ถึงมือผู้บริโภคโดยตรง

ด้าน นายเทวินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่าปตท. จะมอบข้าวใหม่ให้แก่ประชาชนผู้ใช้บริการในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. 1,500 แห่งทั่วประเทศในโครงการ “ปีใหม่ ข้าวใหม่…อิ่มท้อง อิ่มใจ ช่วยชาวนา” โดยข้าวที่นำมาแจกในโครงการนี้เป็นข้าวที่ ปตท. จัดซื้อมาจากเกษตรกร หรือกลุ่มเกษตรกรโดยตรง ซึ่งแต่ละสถานีบริการจะรับซื้อข้าวจากเกษตรกรสถานีละ 650กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละประมาณ 35บาทซึ่งนอกจากการมอบข้าวใหม่เป็นของขวัญปีใหม่แล้ว ปตท. ยังเปิดพื้นที่ภายในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ให้เกษตรกรชาวนาทั่วประเทศมาจำหน่ายข้าวสารส่งตรงถึงมือผู้บริโภคในช่วงปีใหม่นี้อีกด้วย
“ปตท. ภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเกษตรกรชาวนาไทย ให้มีช่องทางการจำหน่ายข้าว มีรายได้ และมีองค์ความรู้ด้านการจัดการสินค้า อีกทั้ง ยังมีส่วนในการสืบสานประเพณี วัฒนธรรม “ข้าว” ซึ่งผูกพันกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยมาช้านาน นอกจากนี้ ปตท. พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมทำความดี เพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน และมุ่งมั่นที่จะร่วมดูแลชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศตลอดไป”นายเทวินทร์ กล่าวในตอนท้าย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พบปะสื่อมวลชนประจำสัปดาห์

กระทรวงพลังงาน แถลงความคืบหน้าการเตรียมประมูลแหล่งปิโตรเลียม เอราวัณ-บงกช และแจงสถานการณ์ไฟฟ้าภาคใต้มอบของขวัญปีใหม่ พร้อมร่วม ปตท. แจกข้าวใหม่ 1 ถุง (0.5 กก.) ให้ผู้เติมน้ำมันชนิดใด ราคาเท่าไรก็ได้ เริ่ม 1 ม.ค. 2561 แจกรวม 2 ล้านถุง หรือ 1 ล้านกิโลกรัม ชี้ส่งสุขคนใช้น้ำมัน และได้ช่วยชาวนาโดยตรง
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายในการพบปะสื่อมวลชนประจำสัปดาห์ของกระทรวงพลังงาน โดยสรุปประเด็นสำคัญ ได้ดังนี้
1.) ความคืบหน้าของการเตรียมประมูลแหล่งปิโตรเลียม เอราวัณ-บงกช หลังจากกระทรวงพลังงาน ได้จัดทำ Workshop เมื่อวันที่ 16 ธค. 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งได้ทบทวนหลักการและเงื่อนไขขององค์ประกอบที่สำคัญของการประมูลปิโตรเลียมใน 2 แหล่งดังกล่าว เพื่อพัฒนาทรัพยากรทีเหลืออยู่ให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุด โดยเบื้องตน กระทรวงพลังงานจึงได้กำหนดให้การรักษาการผลิตก๊าซธรรมชาติขั้นต่ำจากแหล่งเอราวัณ และบงกช ในช่วงเวลาทั้งก่อนและหลังสิ้นอายุสัมปทานในปี 2565 -66 ให้เพียงพอต่อความต้องการของโรงแยกก๊าซ เป็นเงื่อนไขในการประมูล ซึ่งได้กำหนดไว้ประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
​ปัจจุบัน การผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณ และบงกช อยู่ในระดับวันละ 2,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งแนวโน้มจะเริ่มทยอยลดลง โดยการเปิดประมูลจากทั้ง 2 แหล่งดังกล่าว กระทรวงพลังงาน จึงมีความต้องการคุณสมบัติของผู้มาลงทุนที่ต้องมีความเชี่ยวชาญ และต้องสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติให้ได้เพียงพอ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันดังกล่าว และคาดว่าจะสามารถรักษาระดับการผลิตดังกล่าวไว้ได้ในระดับ 10 ปี ภายหลังที่จะเปิดให้มีการประมูลและได้ผู้ดำเนินการสำรวจและผลิตในแหล่งเอราวัณ และบงกชดังกล่าว
2.) ด้านสถานการณ์ไฟฟ้าในภาคใต้ของประเทศไทย จากรายงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคใต้ ปัจจุบัน การใช้ไฟฟ้าสูงสุดหรือ Peak อยู่ที่ระดับ 2,624 เมกะวัตต์ (เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2560) โดยความต้องการใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 3.4 % ต่อปี ทั้งนี้ การผลิตไฟฟ้ามาจาก 3 ส่วนที่สำคัญ คือ โรงไฟฟ้าหลัก (โรงไฟฟ้าขนอม – โรงไฟฟ้าจะนะ) กำลังผลิตรวม 2,024 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าส่งจากภาคกลาง จำนวน 460 เมกะวัตต์ และพลังงานทดแทน(พลังน้ำ – ชีวมวล และลม) กำลังผลิตรวม 140 เมกะวัตต์ โดยการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในภาคการท่องเที่ยว มีการใช้สูงถึง 36% ซึ่งถือเป็นภาคส่วนสำคัญที่สร้างรายได้หลักให้แก่พื้นที่ และประเทศไทย
​จากข้อสรุปในข้อมูลดังกล่าว กระทรวงพลังงานเห็นว่า ควรจะมีการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าที่เชื่อถือได้ (Firm) ในพื้นที่ภาคใต้ โดยต้องเป็นโรงไฟฟ้าหลักที่จะมาช่วยสร้างความมั่นคงให้แก่พื้นที่ภาคใต้ เพื่อสร้างคุณภาพให้แก่ภาคการท่องเที่ยว และคุณภาพชีวิตของประชาชนของชาวภาคใต้ เพราะจาก
ข้อมูลที่ปรากฎ หากเกิดเหตุไม่คาดฝันพร้อมกัน เช่น อุบัติเหตุเรือขนส่งลากไปโดยแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และเกิดเหตุฟ้าผ่าที่จุดเชื่อมต่อสายส่ง ภาคใต้ก็จะเกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ เป็นวงกว้าง ซึ่งคาดว่าจะสร้างความเสียหายต่อภาคการท่องเที่ยว และการใช้ชีวิตของประชาชน โดยกระทรวงพลังงาน จะศึกษาถึงผลดีผลเสียอย่างรอบด้าน ในการสร้างความมั่นคงภาคใต้ และคาดว่าจะได้รับความชัดเจนทั้งหมด ภายหลังการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ PDP ฉบับใหม่ ที่เบื้องต้นจะให้แล้วเสร็จในวันที่ 31 มีนาคม 2561 นี้
3.)กระทรวงพลังงาน ได้ร่วมกับ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) เตรียมมอบขวัญให้แก่ประชาชน เพื่อเป็น
การส่งความสุขในวันปีใหม่ 2561 นี้ ผ่านโครงการ “ปีใหม่ ข้าวใหม่… อิ่มท้อง อิ่มใจ ช่วยชาวนา” ซึ่งจะ
ดำเนินการแจกข้าวใหม่ 1 ถุง (0.5 กก.) ให้กับผู้ที่เข้ามาเติมน้ำมันชนิดใดก็ได้ จำนวนเท่าใดก็ได้ ณ สถานี
บริการน้ำมัน ปตท. ในวันที่ 1 มกราคม 2561 หรือจนกว่าของจะหมด (รวม 2 ล้านถุง หรือ 1ล้าน
กิโลกรัม) ซึ่งนอกจากจะเป็นของขวัญแห่งความสุขของประชาชนแล้ว ส่วนหนึ่งยังได้ช่วยเกษตรกรชาวนา
ได้ขายข้าวได้โดยตรงอีกด้วย
​หลักการในการจัดหาข้าวเพื่อนำมาแจกตามโครงการ ฯ ดังกล่าว คือต้องเป็นข้าวจากเกษตรกร หรือกลุ่มเกษตรกรโดยตรง ไม่เป็นการจัดหาจากคนกลางใดๆ โดยจะเปิดจุดรับซื้อข้าวจากเกษตรกร ณ สถานีบริการน้ำมัน ปตท. 1,500 แห่งทั่วประเทศ ให้แต่ละสถานีฯ รับซื้อข้าวจากเกษตรกรสถานีละ 650 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละประมาณ 35 บาท โดยแบ่งรับซื้อจากเกษตรกรรายละ 65 กิโลกรัม เป็นจำนวน 10 ราย การรับซื้อต้องมีการเก็บหลักฐานการรับเงินของเกษตรกรอย่างชัดเจน พิสูจน์ได้ว่าซื้อข้าวจากเกษตรกรจริงๆ เช่น เอกสารใบรับเงินพร้อมสำเนาบัตรประชาชน ภาพถ่ายการรับซื้อ เป็นต้น โดยรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ PTT Contact Center โทร. 1365

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมพิธีทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา

วันที่ 5 ธ.ค. 60 ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายธรรมยศ ศรีช่วย ปลัดกระทรวงพลังงาน และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง เข้าร่วมพิธีทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ โดยในพิธีได้จัดทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ และสามเณร จำนวน 901 รูป ณ พระลานพระราชวังดุสิต

รมว. พลังงาน เข้าสักการะพระพรหม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประจำกระทรวงพลังงาน เพื่อเป็นสิริมงคลในโอกาสเข้ารับตำแหน่งวันแรก

รมว. พลังงาน เข้าสักการะพระพรหม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประจำกระทรวงพลังงาน เพื่อเป็นสิริมงคลในโอกาสเข้ารับตำแหน่งวันแรก พร้อม มอบนโยบายการขับเคลื่อนภารกิจสำคัญของกระทรวงพลังงานแก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน

วันนี้ (1 ธ.ค. 60) ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เข้าสักการะพระพรหม ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงพลังงาน ณ ศาลพระพรหม ภายในศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ โดยมี นายธรรมยศ ศรีช่วย ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงพลังงานให้การต้อนรับ

โดยภายหลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้สักการะพระพรหมเพื่อเป็นสิริมงคลแล้ว ได้เดินทางไปเข้าร่วมประชุมและมอบนโยบายการขับเคลื่อนภารกิจที่สำคัญของกระทรวงพลังงานให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน อาทิ การขับเคลื่อนบูรณาการพลังงานระยะยาว นโยบาย Energy 4.0 และการบริหารจัดการการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ และการบริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียมที่ใกล้จะหมดอายุ เป็นต้น

ทั้งนี้ ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 ถือเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คนที่ 12 เกิดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2497 จบการศึกษา Bachelor of Science (วิศวกรรมเคมี) เกียรตินิยม สถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกาและ Doctor of Science (วิศวกรรมเคมี) สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาซูเซ็ทส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจบการศึกษาเคยรับราชการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2523
สำหรับตำแหน่งการทำงานที่ผ่านมาก่อนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ เคยดำรงตำแหน่ง อาทิ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นต้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมงานเปิดตัวแอปพลิเคชัน “กระทรวงพลังงาน”

   

      กระทรวงพลังงาน เปิดประสบการณ์ใหม่ให้คนไทยได้รับรู้ข่าวสารและความรู้ด้านพลังงาน ได้รวดเร็วทันเหตุการณ์ ในยุค 4.0 กับการเปิดตัวแอปพลิเคชั่นใหม่ “กระทรวงพลังงาน”บนอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสารผ่านระบบปฏิบัติการ iOS – Android  ที่เข้าถึงข้อมูลการแจ้งเตือนการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมัน ปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศแบบ Real time สถานการณ์พลังงานไฟฟ้า สินค้าพลังงานต่างๆ ข่าวสารเรื่องเด่นประเด็นร้อน เพิ่มพื้นที่สนุกๆ ด้วยกิจกรรมตอบคำถามชิงรางวัลพิเศษทุกเดือน

      พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตามนโยบายรัฐบาลที่ประกาศแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศไทยสู่ Digital Thailand นั่นหมายถึงประเทศไทยสามารถสร้างสรรค์ และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ดังนั้นเพื่อให้สอดรับกับนโยบายดังกล่าว กระทรวงพลังงาน ได้เพิ่มช่องทางการสื่อสารด้านพลังงาน ใหม่ให้กับคนไทย ยุค 4.0 โดยรวบรวมข้อมูลต่างๆจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน เช่นหน้าที่ ภารกิจ ผลผลิตของแต่ละหน่วยงาน เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีช่องทางการติดต่อสื่อสารเพื่อรับข้อเสนอแนะคำแนะนำหรือร้องเรียน ทั้งผ่านทางแอปพลิเคชันโดยตรงหรือเบอร์โทรสายด่วนของแต่ละหน่วยงาน ได้อีกหนึ่งช่องทาง

นายธรรมยศ ศรีช่วย ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงความพร้อมของกระทรวงพลังงานในการขับเคลื่อน Energy  4.0 ว่า มีการปรับกลยุทธ์ เพื่อสร้างมิติใหม่ ให้สอดรับนโยบายรัฐบาลและแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการปฏิรูปประเทศสู่ Digital Thailand ด้วยการใช้เทคโนโลยีมาสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ เพื่อการพัฒนาให้เต็มศักยภาพในโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และการพัฒนาแอปพลิเคชันกระทรวงพลังงาน ช่วยให้ประชาชนได้รู้ถึงข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ถูกต้อง แม่นยำ และตระหนักในสภาวการณ์พลังงานที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศ และอัพเดทสถานการณ์ต่างประเทศด้วย  ดังนั้นแอปพลิเคชั่นใหม่กระทรวงพลังงานนี้จะเข้ามาตอบโจทย์การสื่อสารในวงกว้าง และเป็นอีกกลไกหนึ่งในการสร้างความยั่งยืนและโดดเด่นในการรวบรวมข้อมูลด้านการอนุรักษ์พลังงาน พลังงานทดแทน การกำกับดูแลความปลอดภัยมาตรฐานเชื้อเพลิง การพัฒนาแหล่งผลิตพลังงาน เป็นช่องทางส่งผ่านข้อความสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าเยี่ยมชมบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน)

วันนี้ (15 พ.ย. 60) พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยคณะ เดินทางเข้าเยี่ยมชม บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) โดยมีผู้บริหารของบริษัทให้การต้อนรับ และบรรยายภาพรวมการดำเนินงาน

Page 4 of 7
1 2 3 4 5 6 7