รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้เกียรติกล่าวเปิดการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยพลังงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 10 ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้เกียรติกล่าวเปิดการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยพลังงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 10 (The 10th International Forum on Energy for Sustainable Development) ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ โดยการประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมประจำปีเพื่อหารือด้านพลังงานระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขจัดความยากจนผ่านการส่งเสริมการเข้าถึงพลังงานสะอาด และสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้หลายเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพลังงาน ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวถึงนโยบายพลังงาน 4.0 ของไทยที่ช่วยสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 7 (Sustainable Development Goals: SDG) ที่มุ่งเน้นถึงความมั่นคงทางพลังงาน ความมั่งคั่ง และยั่งยืน รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานอัจฉริยะ นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอนโยบายพลังงานเพื่อทุกคน “Energy for All” ผ่านกลยุทธ์ “Prosumerization” โดยการให้ผู้บริโภคเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้จำหน่ายพลังงาน เพื่อสนับสนุนภาคประชาชน และสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน เช่น การติดตั้งเซลส์แสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านเรือน เป็นต้น ทั้งนี้ ประเทศไทยมีเป้าหมายในการสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ผ่านนโยบาย “4D1E” ได้แก่ Digitalization, Decentralization, Deregulation, Decarbonization และ Electrification นอกจากนี้ จากการที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพอาเซียนปี 2562 ไทยได้มีการหารือด้านความมั่นคงทางพลังงานโดยการส่งเสริมระบบเชื่อมโยงไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid) โดยประเทศไทยมุ่งหวังจะเป็นผู้เชื่อมต่อด้านพลังงานในภูมิภาค (regional energy connector) กับประเทศสมาชิกอาเซียนต่อไป สุดท้ายนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้กล่าวว่า ประเทศไทยได้ร่วมมือกับ UNESCAP อย่างใกล้ชิดในการเสริมสร้างนโยบายพลังงานของไทยเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีสและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อเตรียมความพร้อมประเทศไทยในยุคของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานต่อไป

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชี้โอกาสไทยเป็นบิ๊กพลังงานทางเลือกภูมิภาค SEA พร้อมโชว์ศักยภาพระบบ ‘โซลาร์เซลล์-พลังงานลม-ชีวมวล’ บนเวทีโลก

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังการเข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์และแลกเปลี่ยนกับประเทศชั้นนำในระดับนโยบายในเวทีการประชุมรัฐมนตรีระดับโลกในการบูรณาการระบบพลังงานหมุนเวียน (Global Ministerial Conference on System Integration of Renewables) ที่ประเทศเยอรมนี (1 ต.ค.62) ว่า เวทีนี้มีความสำคัญเพราะเป็นการแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ในเชิงนโยบายกับประเทศชั้นนำหลายประเทศถึงทิศทางการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทางเลือกที่กำลังกลายเป็นกระแสหลักแทนพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลดั้งเดิม เป้าหมายของทุกประเทศชั้นนำด้านพลังงานจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานทางเลือกสูงขึ้น ซึ่งไทยก็มีเป้าหมายตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกว่า ในปี 2580 สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียนจะอยู่ที่ระดับ 20% หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปัจจุบัน ซึ่งสอดล้องกับนโยบายพลังงาน Energy for All พลังงานเพื่อทุกคน ที่จะเกิดโรงไฟฟ้าชุมชนซึ่งใช้เชื้อเพลิงจากพลังงานหมุนเวียนเกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านของพลังงานทางเลือกในประเทศไทย

“สำหรับประเทศไทย พลังงานทางเลือกไม่ได้เป็นแค่ทิศทาง แต่เราได้ดำเนินการไปมากกว่านั้นด้วยการวางนโยบายให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชนขึ้นด้วยการอาศัยจุดแข็งด้านวัสดุทางการเกษตรของแต่ละชุมชนที่นำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนให้ชุมชนและสามารถขายส่วนเกินเข้าระบบได้อีกด้วย และในอนาคตคาดว่าไทยจะสามารถนำโมเดลการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคนี้นำเสนอบนเวทีโลกในโอกาสต่อไป เพื่อแสดงให้เห็นว่าโมเดลนี้เป็นการพัฒนาพลังงานทางเลือกที่สามารถสร้างให้ระบบเศรษฐกิจในภาพรวมเข้มแข็งขึ้นได้จริง” นายสนธิรัตน์กล่าวในการแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ด้านนโยบายของไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้กล่าวถึงเรื่องราวความสำเร็จในการเกิดพลังงานทางเลือกว่า ประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำด้านปฏิบัติที่เป็นเลิศในระดับภูมิภาคด้านพลังงาน โดยทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุไทยมีการใช้พลังงานหมุนเวียนสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) ไม่รวมโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ และไทยกำลังก้าวสู่ประเทศที่มีกำลังผลิตติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานชีวมวลที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ ไทยเป็นประเทศกลุ่มแรกๆ ที่ก่อตั้งกองทุนเฉพาะด้านสำหรับการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพของภาครัฐและภาคเอกชน ธนาคารพาณิชย์ของไทยมีประสบการณ์ในการจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการด้านพลังงานหมุนเวียน โครงการด้านพลังงานต่างๆ ของไทยถูกพัฒนาจริงจังทั่วทุกภูมิภาค

ในด้านการดำเนินนโยบายและโครงการต่างๆ ไทยมีนโยบายที่หลากหลายเพื่อกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมและการเปลี่ยนไปสู่แหล่งพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ที่มีความหลากหลาย(Diversified) มีการส่งเสริมในระบบกระจายไปยังหลายพื้นที่ (Decentralized) และการใช้ต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ(Cost-effective) ซึ่งจะนำประโยชน์ทางเศรษฐกิจมาสู่ชุมชนท้องถิ่น ภายใต้คอนเซ็ปต์ Energy for All

ปัจจุบันนโยบายในการพัฒนาระบบพลังงานหมุนเวียนมีทั้งการรวมพลังงานหมุนเวียนหลายๆ ประเภทเข้าด้วยกัน หรือรวมพลังงานหมุนเวียนเข้ากับระบบการกักเก็บพลังงาน หรือที่เรียกว่าเป็นระบบพลังงานหมุนเวียนแบบผสมผสาน (Renewable Energy Hybrid System) ตัวอย่างเช่น การติดตั้งและรวมโซลาร์เซลล์ลอยน้ำเข้าด้วยกันกับพลังงานน้ำ (Hydro-Floating Solar Hybrid) จำนวน 2,725 เมกะวัตต์ ที่ดำเนินการโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)บริเวณด้านบนอ่างกักเก็บน้ำที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ

ไทยมีศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียนทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล ชีวภาพ ที่มีจุดแข็งด้านวัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิงชั้นดี ทั้งซังข้าวโพด ฟางข้าว แกลบ หญ้าเนเปียร์ รวมถึงพลังงานลมซึ่งเดิมไทยมีจุดอ่อนเรื่องความแรงลมไม่สูงมากนัก แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยน สามารถใช้ลมที่มีอยู่ในประเทศไทยสามารถผลิตพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

“ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นด้านพลังงานของประเทศ เราพร้อมจะสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนที่มีความหลากหลายโดยการพัฒนาระบบไฟฟ้าผ่านระบบผสมผสานของการบริหารจัดการด้านพลังงานหมุนเวียน และผมเชื่อว่าการประชุมครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้เราได้แบ่งปันแนวคิดเกี่ยวกับวิธีการจัดการกับโอกาสและความท้าทายที่สำคัญ เพื่อจัดการกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่การบูรณาการระบบพลังงานหมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวในท้ายที่สุด

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมสถานีบริการน้ำมันดีเซล B10

วันนี้ (1 ต.ค. 62) นายสุรพร ดนัยตั้งตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน นายอนุรุทธิ์ นาคาศัย เลขานุการ รมว.พลังงาน และนางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานลงพื้นที่ตรวจความพร้อมสถานีบริการน้ำมันดีเซล B10 ซึ่งทางกระทรวงพลังงานผลักดันให้เกิดการใช้ B10 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 โดยขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันเพิ่มปริมาณการจำหน่ายน้ำมันดีเซล B10 เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ และเพิ่มความมั่นใจให้กับประชาชนผู้ใช้รถดีเซล ณ สถานีบริการน้ำมัน ปตท. เลียบทางด่วนทาวน์อินทาวน์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สั่งการหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้อง ช่วยรณรงค์ลดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในภาคพลังงาน

วันนี้ (1 ต.ค.62) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งอยู่ระหว่างการเข้าร่วมประชุม “Global Ministerial Conference on System Integration of Renewables” ที่ประเทศเยอรมนี เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานมีความกังวลต่อปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ จึงมอบนโยบายเกี่ยวกับการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5
ในภาคพลังงานสั่งการเร่งด่วนให้หน่วยงานภายใต้กำกับดูแลของกระทรวงพลังงานเตรียมการลดปัญหาฝุ่นละออง โดยผลักดันให้มีการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B10เพื่อกำหนดให้เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานสำหรับรถดีเซลทั่วไป เริ่มตั้งแต่วันนี้ 1 ตุลาคม 2562 ผู้ค้าน้ำมันจะเพิ่มปริมาณจำหน่าย B10 ในสถานีบริการพร้อมเร่งสร้างแรงจูงใจให้เกิดการใช้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันราคา B10 มีราคาถูกกว่า B7 ลิตรละ 2 บาท ราคาวันนี้  B10 อยู่ที่ 23.99 บาท/ลิตร ส่วน B7 ราคา 25.99 บาท/ลิตร พร้อมกับมอบหมายให้ปลัดกระทรวงพลังงาน และกรมธุรกิจพลังงานตรวจติดตามเร่งรัดการจำหน่ายน้ำมัน B 10 ในสถานีบริการในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอย่างเร่งด่วน โดยจะเพิ่มสถานีบริการที่จำหน่าย B 10 ภายในเดือนตุลาคมนี้ให้ได้มากที่สุด

นอกจากนี้กระทรวงพลังงานจะรณรงค์ให้ประชาชนเข้มงวดเรื่องการตรวจสภาพรถยนต์ และการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกำชับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตรวจสอบการใช้งานอุปกรณ์ดักจับอนุภาคต่างๆ จากโรงไฟฟ้าที่ได้ทำเป็นประจำตามเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ทำได้ดีอยู่แล้ว และบำรุงรักษาอุปกรณ์ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดเวลาเพื่อเป็นการช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองอีกทางหนึ่งรวมถึงเร่งส่งเสริมยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle) อย่างเป็นระบบ เป็นแผนรองรับพลังงานสะอาดไว้ในอนาคต อีกด้วย

“ถึงเวลาที่เราต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย เพราะเรื่องพลังงานสะอาดเป็นนโยบายที่ผมให้ความสำคัญ นาทีนี้เราต้องเร่งลงมือทำจริงทั้งในภาคขนส่งสาธารณะและรถยนต์ส่วนบุคคล รวมถึงภาคอุตสาหกรรมด้วย อยากขอให้ทุกคนมองสุขภาพประชาชน เป็นเรื่องสำคัญที่รอไม่ได้” นายสนธิรัตน์ กล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมการประชุม LNG Producer-Consumer Conference ครั้งที่ 8 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

วันนี้ (26 ก.ย.62) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เข้าร่วมและรับเชิญเป็นหนึ่งในผู้กล่าวนำในการประชุม LNG Producer-Consumer Conference ครั้งที่ 8 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น    โดยได้กล่าวถึงสถานการณ์ก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ แนวโน้มของเชื้อเพลิง LNG จะมีบทบาทสำคัญ มีการคาดการณ์ว่า ความต้องการใช้ทั้งก๊าซธรรมชาติและก๊าซธรรมชาติเหลวจะเพิ่มสูงขึ้น สำหรับไทยในฐานะที่เป็นประเทศผู้ใช้และผู้นำเข้า LNG ได้วางกลยุทธ์ภายใต้แผนบูรณาการพลังงานระยะยาว (TIEB) และแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) ในการสร้างความมั่นคงในการจัดหาก๊าซของประเทศ คาดว่าความต้องการก๊าซธรรมชาติของไทยจะเพิ่มขึ้น 7.4% หรือ 5.1 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในปี 2579 ซึ่งการเติบโตด้านความต้องการนี้ ไทยจึงมีแผนจะขยายการนำเข้า LNG เพิ่มการแข่งขันในตลาด LNG และการปรับโครงสร้างพื้นฐานใหม่รองรับ

“ไทยได้สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจก๊าซธรรมชาติแบบเสรีเพื่อจัดหาก๊าซสำหรับการบริโภคอย่างเพียงพอ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มการแข่งขันและความมั่นคงด้านพลังงาน อีกทั้งยังขยายเขตอุตสาหกรรมพิเศษ เช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เพื่อตอบสนองความต้องการ ซึ่งในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ ไทยยังได้นำเสนอให้ประเทศสมาชิกร่วมพัฒนาแหล่งพลังงานที่หลากหลายยิ่งขึ้น และใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้าผ่านโครงการท่อส่งก๊าซข้ามพรมแดนอาเซียน รวมทั้งสนับสนุนอาเซียนใช้โครงสร้างพื้นฐาน LNG ขนาดเล็กและการสร้างคลังสำหรับจัดเก็บ LNG” นายสนธิรัตน์กล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคาดหวังว่า การประชุมครั้งนี้จะช่วยวางทิศทางเชิงกลยุทธ์เกี่ยวกับความมั่นคงด้านก๊าซธรรมชาติผ่านการจัดตั้งตลาด LNG ที่ยืดหยุ่นและโปร่งใส ทิศทางความต้องการ LNG และวิธีการจัดหา LNG ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสภาพตลาด รวมทั้งวิสัยทัศน์สู่การปฏิบัติสำหรับรัฐบาลและผู้ประกอบการธุรกิจของทั้งประเทศผู้ผลิตและประเทศผู้ใช้ LNG ทั้งนี้ เพื่อปูทางสำหรับความร่วมมือด้าน LNG ที่แข็งแกร่งมากขึ้นในอนาคต

สำหรับการจัดประชุมระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ LNG ครั้งที่ 8 จัดขึ้นโดยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) ร่วมกับศูนย์วิจัยพลังงานแห่งเอเชียแปซิฟิก (APERC) เพื่อเป็นเวทีหารือสำหรับประเทศผู้ผลิตและประเทศผู้ใช้ LNG รวมถึงผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทั้งในด้านอุปสงค์ อุปทาน และโครงสร้างตลาด LNG โดยมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 1,000 คนจากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวเพิ่มเติมภายหลังได้แสดงวิสัยทัศน์เรื่องของ LNGบนเวทีโลกวันนี้ว่า ได้มีโอกาสหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI)ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดงานในครั้งนี้ โดยได้กระชับความร่วมมือที่เรามีอย่างแนบแน่นอยู่แล้วให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องของ LNG ซึ่งญี่ปุ่นถือเป็นเทรดเดอร์รายใหญ่ของโลก ได้หารือถึงความร่วมมือด้านยานยนต์ไฟฟ้า การนำเทคโนโลยีด้านไฮโดรเจนไปพัฒนาต่อในประเทศไทย ซึ่งประเทศญี่ปุ่นมีความเข้มแข็งในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก รวมทั้งหารือถึง Smart Energy เรื่อง Smart City ซึ่งทั้งสองประเทศจะตั้งคณะทำงานร่วมกันพัฒนาเรื่องนี้ คาดว่าประมาณปลายปีนี้จะมีการประชุมระดับ Policy Dialog พูดคุยเชิงนโยบายระหว่างกันเพื่อให้เกิดแนวทางในการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยต่อไป

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมประชุมเวที LNG ระดับโลกที่ญี่ปุ่น หารือพัฒนาศักยภาพรองรับความต้องการ LNG เอเชีย

วันนี้ (25 กันยายน 2562) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานนำคณะเดินทาง เตรียมร่วมประชุม LNG Producer-Consumer Conference ครั้งที่ 8 ณ ประเทศญี่ปุ่น เวทีความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ LNG โลกจาก 30 ประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนและสร้างความร่วมมือระหว่างกันเพื่อพัฒนาศักยภาพรองรับความต้องการใช้ LNG ของภูมิภาคเอเชียในอนาคต และวันนี้ได้เยี่ยมชมกิจการบริษัทโตเกียว แก๊สผู้นำเข้า LNG รายใหญ่โลก และชมนวัตกรรมรถ EV มิตซูบิชิที่ทั้งชาร์จไฟจากบ้าน และจ่ายไฟเข้าสู่เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านได้สองทาง

โดยมีกำหนดการเข้าร่วมการประชุม LNG Producer-Consumer Conference ครั้งที่ 8 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 26 กันยายน 2562 ซึ่งการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นทุกปีเป็นเวทีความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ในตลาดก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas : LNG)โดยมีผู้บริหารระดับสูงทั้งจากภาครัฐบาล องค์กรระหว่างประเทศและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ LNG จากทั่วโลกประมาณ 30 ประเทศ รวมกว่า 1,000 คน เข้าร่วมหารือเกี่ยวกับสถานการณ์และทิศทางตลาด LNGเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ประสบการณ์ และการบริหารจัดการ LNG ในอนาคต รวมทั้งหารือความเป็นไปได้ในการสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้LNG เพื่อพัฒนาศักยภาพสำหรับรองรับความต้องการ LNG ที่เพิ่มขึ้นของภูมิภาคเอเชียในอนาคต

การประชุม LNG Producer-Consumer Conference ครั้งที่ 8 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจะได้ร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายและแนวทางในการพัฒนาด้านพลังงานของไทย โดยเฉพาะด้าน LNG ร่วมกับรัฐมนตรีพลังงานและผู้บริหารองค์กรด้านพลังงานที่สำคัญจากประเทศผู้ผลิตและผู้ใช้LNG รายใหญ่ของโลกที่เข้าร่วมประชุม ซึ่งเป็นโอกาสดีในการสร้างเครือข่ายด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน และนำไปสู่ความร่วมมือด้าน LNG ในอนาคต รวมทั้งยังเป็นประโยชน์กับประเทศไทยในฐานะผู้รับซื้อ LNG จะได้รับทราบถึงสถานการณ์ นโยบาย และแนวทางในการพัฒนาของตลาด LNG จากหน่วยงานด้านพลังงานระหว่างประเทศ เพื่อนำมาปรับใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับไทยต่อไป

ก่อนการเข้าร่วมประชุมดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้เยี่ยมชมกิจการของบริษัท โตเกียว แก๊ส ซึ่งเป็น LNG Terminal แห่งแรกในเอเชียและเป็นสถานี LNG ที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก มีความจุ LNG ได้มากถึง 1.18 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทางโตเกียว แก๊ส  ทั้งเรื่องระบบบริหารจัดการ การปรับตัวของธุรกิจ การขยายสู่ธุรกิจต่อเนื่องกับ LNG ซึ่งในประเทศญี่ปุ่น LNG ทวีความสำคัญ มีการใช้ในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นนอกจากการใช้ในครัวเรือนและเพื่อผลิตไฟฟ้า อีกทั้งยังได้มีการขยายไปสู่ธุรกิจต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมห้องเย็น การผลิตน้ำแข็งแห้ง เป็นต้น

“ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้นำประสบการณ์จากผู้นำเข้าก๊าซ LNG รายใหญ่ของโลกที่มีประสบการณ์มากกว่า 50 ปีมาพัฒนาและปรับใช้กับประเทศไทยเพื่อนำไปดำเนินการที่เหมาะสมกับนโยบายของไทยซึ่งมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางด้านก๊าซ LNG ของภูมิภาคต่อไป”นายสนธิรัตน์กล่าว

นอกจากนี้ ยังได้เข้าชมศูนย์จัดแสดงเทคโนโลยีและยานยนต์ MI-Garden ของบริษัท มิตซูบิชิมอเตอร์ ซึ่งมีนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่สามารถเชื่อมโยงกับบ้าน คือด้านหนึ่งสามารถใช้ไฟบ้านชาร์จรถไฟฟ้า ขณะเดียวกันรถยนต์ไฟฟ้าก็สามารถจ่ายไฟเข้าตัวบ้านได้โดยตรงสู่เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านต่าง ๆเช่น หม้อหุงข้าว ตู้เย็น พัดลม เป็นต้น เรียกว่าเป็นระบบ V2H หรือVehicle to Home ซึ่งเป็นทิศทางนวัตกรรมสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้า

“สำหรับการผลักดันส่งเสริม EV ของไทยกำลังพิจารณาหลายๆ ด้านไปพร้อมกัน ทั้งแบตเตอรี่ Energy Storage และการผลิตรถ EV ซึ่งไทยมีผู้ประกอบการทั้งมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้าอยู่แล้ว แต่ปริมาณยังไม่มากพอ ขณะนี้อยู่ในช่วงเทคโนโลยีเปลี่ยนผ่าน ซึ่งนโยบายกระทรวงพลังงานจะเร่งสนับสนุนให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปได้เร็วยิ่งขึ้น”นายสนธิรัตน์กล่าว

รัฐมนตรีว่ากระทรวงพลังงานพร้อมผู้บริหารกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องทั้ง กลุ่ม ปตท. และกฟผ. ลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี

วันนี้(22 ก.ย.62) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นำคณะผู้บริหารกระทรวงพลังงานและหน่วยงานในสังกัด พร้อมด้วยข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชานี มอบถุงยังชีพที่ประกอบด้วยเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน จำนวน 2,000 ชุดให้กับประชาชนในพื้นที่อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้ความช่วยเหลือและเป็นกำลังใจให้ประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วม

นายสนธิรัตน์กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน ในฐานะหนึ่งในหน่วยงานภาครัฐ พร้อมกับหน่วยงานในสังกัด ได้แก่ กลุ่มบริษัทปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงพื้นที่อำเภอวารินชำราบซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักจากเหตุการณ์น้ำท่วม โดยนอกเหนือจากความช่วยเหลือเบื้องต้นผ่านถุงยังชีพแล้ว ยังถือเป็นโอกาสมารับฟังปัญหารวมถึงความต้องการความช่วยเหลือด้านต่างๆ ของพี่น้องประชาชนด้วย เพื่อจะได้นำประเด็นที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเร่งประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาต่อไป

“อยากให้คนอุบลฯ เชื่อมั่นว่า รัฐบาลจะเร่งบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้อย่างเต็มสรรพกำลัง บูรณาการทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน ซึ่งหลังจากสถานการณ์คลี่คลายก็จะเร่งประเมินความเสียหาย และเข้าช่วยเหลือทั้งการเยียวยาและฟื้นฟู ทั้งด้านการประกอบอาชีพต่างๆ การซ่อมสร้างที่อยู่อาศัย เพื่อให้พี่น้องประชาชนกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติตามเดิมโดยเร็ว”นายสนธิรัตน์กล่าว

สำหรับจุดมอบถุงยังชีพของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและคณะ จุดที่ 1 อยู่ที่หอประชุมโรงเรียนวารินชำราบ ต.คำน้ำแซบ อ.วารินชำราบ จำนวน 500 ชุด และจุดที่ 2 ที่หอประชุมประชาวาริน เทศบาลเมืองวารินชำราบ อ.วารินชำราบ จำนวน 1,500 ชุด

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แถลงชี้แจงความพร้อมรับสถานการณ์ทั้งด้านการนำเข้า ปริมาณสำรอง และการดูแลเรื่องราคาพลังงาน

สถานการณ์พลังงานโลกร้อนระอุ กระทรวงพลังงานแถลงชี้แจงความพร้อมรับสถานการณ์ทั้งด้านการนำเข้า ปริมาณสำรอง และการดูแลเรื่องราคาพลังงาน พร้อมเตรียมนัดประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) นัดพิเศษเพื่อเร่งวางมาตรการป้องกันล่วงหน้าหากกระทบราคาในประเทศรุนแรง
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดแถลงข่าวชี้แจงกรณีซาอุดิอาระเบียถูกโจมตีโรงกลั่นน้ำมันว่า ในความเป็นจริงแล้วจุดที่ถูกโจมตีไม่ได้เป็นที่ตั้งโรงกลั่นน้ำมัน แต่เป็น Crude Oil Processing Facility หรือ โรงงานที่ทำหน้าที่กำจัดสารต่างๆ ที่ไม่ต้องการ เป็นเหมือนกระบวนการทำความสะอาด ออกจากน้ำมันดิบ ก่อนส่งต่อไปยังผู้ซื้อของบริษัท Aramco (อารามโค) และถึงแม้ว่าสถานการณ์จะอยู่ในความควบคุมได้แล้วก็ตาม แต่กระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง และเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนไม่ให้เกิดความวิตกกังวล กระทรวงพลังงานขอสรุปภาพรวมการเตรียมการดังนี้
ด้าน Supply โดยการบริหารจัดการด้าน Supply หรือการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิง ประเทศไทยพึ่งพาการนำเข้าจากประเทศซาอุดิอาระเบียประมาณ 170,000 บาเรลล์/วัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่น่ากังวล เพราะหากไม่สามารถนำเข้าจากซาอุดิอาระเบียได้ตามปริมาณดังกล่าวก็สามารถกระจายการนำเข้าจากแหล่งอื่นได้
ด้านปริมาณสำรอง ปัจจุบัน ณ วันที่ 16 กันยายน 2562 ไทยมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบประมาณ 3,366 ล้านลิตร ปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างขนส่งอีก 1,193 ล้านลิตร น้ำมันสำเร็จรูป 1,848 ล้านลิตร รวมจำนวนวันที่สามารถใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้ทั้งหมด 54 วัน ส่วนปริมาณสำรองก๊าซ LPG ภาคครัวเรือนมีประมาณ 131 ล้านกิโลกรัม สำรองได้ 23 วัน แต่หากรวมการใช้ LPG ของภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่งแล้วจะทำให้จำนวนวันสำรองที่ใช้ LPG ได้อยู่ที่ 12 วัน
ด้านราคา ได้มีการประเมินเบื้องต้นโดยทำแบบจำลองสถานการณ์ไว้ว่า หากสถานการณ์ยืดเยื้ออยู่ประมาณ 1 สัปดาห์ จะทำให้อัตราราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น 5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หากยืดเยื้อราว 2 – 6 สัปดาห์ ราคาจะปรับขึ้น 5-15 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
“ในส่วนของการบริหารจัดการด้านราคาซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือการควบคุมนั้น ทางกระทรวงพลังงานได้ตั้งวอร์รูมติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งผลกระทบด้านราคาน้ำมันดังกล่าวเป็นการประเมินในเบื้องต้น โดยพรุ่งนี้ (17 ก.ย.) จะนัดประชุม กบง.เป็นวาระพิเศษ เพื่อร่วมหารือมาตรการป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อค่าครองชีพของประชาชนต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเสนอโมเดล “Energy for All” บนเวที AMER ครั้งที่ 8 รับมือยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน

“สนธิรัตน์”เปิดยุทธศาสตร์การเข้าถึงบริการด้านพลังงานที่มั่นคง ราคาเข้าถึงได้ และยั่งยืน ผ่านนโยบาย Energy for All พลังงานเพื่อทุกคน ย้ำการรับมือนวัตกรรมพลังงานในอนาคต ผู้กำหนดนโยบายต้องพัฒนาความเข้าใจในโอกาสและความท้าทายต่าง ๆที่เกิดจากเทคโนโลยี Disruptive ในภาคพลังงานให้ดียิ่งขึ้น

วันนี้ (10 ก.ย.62) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้รับเชิญกล่าวบรรยายในหัวข้อ Advancing Inclusive Access to Secure, Affordable and Sustainable Energy Service การเข้าถึงบริการด้านพลังงานที่มั่นคง ราคาเข้าถึงได้ และยั่งยืน ในระหว่างการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีพลังงานเอเชีย ครั้งที่ 8 (Asian Ministerial Energy Roundtable : AMER 8th) ที่จะมีขึ้นวันที่ 10 กันยายน 2562 ที่กรุงอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE)

นายสนธิรัตน์กล่าวตอนหนึ่งว่า เรากำลังอยู่ในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เปลี่ยนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่โลกพลังงานสะอาด โลกของพลังงานหมุนเวียน เป็นยุคที่ผู้บริโภคกลายเป็นศูนย์กลาง สามารถควบคุมการใช้ไฟฟ้า การผลิต การขาย และทางเลือกแหล่งพลังงานของตนเองได้ ในฐานะที่เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ (Prosumer)

“เรากำลังเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนที่สำคัญและการเปลี่ยนแปลงในตลาดพลังงาน เช่น ความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลาง มาตรการแทรกแซง สงครามการค้า โดยเฉพาะการปฏิวัติของเชลออยล์ ส่งผลต่อตลาดก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เกิดการเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซอย่างมาก ซึ่งการรับมือความท้าทายเหล่านี้ จำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องพิจารณานโยบายและกลยุทธ์ที่นำมาใช้ได้จริงในการเพิ่มความมั่นคงทางพลังงาน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การสนับสนุนพลังงานสะอาด การพัฒนาพลังงานทางเลือกและพลังงานหมุนเวียน รวมถึงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมด้านพลังงาน”
ในการรับมือนวัตกรรมพลังงานในอนาคตนั้น ผู้กำหนดนโยบายต้องพัฒนาความเข้าใจในโอกาสและความท้าทายต่าง ๆที่เกิดจากเทคโนโลยีที่สร้างความพลักผัน (Disruptive Technology) ในภาคพลังงานให้ดียิ่งขึ้น รัฐบาลควรพัฒนาวิสัยทัศน์สำหรับอนาคตพลังงานที่ยั่งยืนที่จัดการกับความท้าทายเชิงนโยบายพลังงานหลายประการและติดตามความก้าวหน้าเพื่อบรรจุเป้าหมายระดับชาติ

สำหรับประเทศไทยมองเรื่องความมั่นคง ความยั่งยืน และการเข้าถึงพลังงานขึ้นอยู่กับการบูรณาการเชื้อเพลิงที่สะอาดขึ้น และเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน การกระจายการผลิต การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ระบบพลังงานอัจฉริยะและระบบดิจิทัล
ปัจจุบันไทยกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่ Thailand 4.0 ผ่าน BCG Model(Bio-Circular-Green Economy) ที่มีเชื้อเพลิงสะอาดและเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนเป็นกระแสหลัก ไทยได้วางยุทธศาสตร์ “พลังงานเพื่อทุกคน”(Energy for All) ซึ่งจะสนับสนุนการเพิ่มรายได้ให้ประชาชน พร้อมกับยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เราต้องปรับปรุงโครงข่ายพลังงานชุมชนโดยใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ก๊าซชีวมวล และเชื้อเพลิงชีวภาพผ่านโรงไฟฟ้าชุมชน พร้อมกับเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานผ่านการใช้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
“ท่ามกลางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจปัจจุบันที่มีความซับซ้อน ผมต้องขอบคุณบทบาทที่แข็งขันของ International Energy Forum หรือ IEF ซึ่งทำให้การประชุม AMER ยังคงทำหน้าที่เป็นหนึ่งในเวทีระดับนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดสำหรับบรรดารัฐมนตรีที่จะนำเสนอและเน้นย้ำโอกาสอันดีสำหรับทุกคนที่จะหารือในประเด็นสำคัญเกี่ยวกับภาคพลังงานในปัจจุบันและมีอิทธิพลต่อแนวโน้มการเติบโตทั่วโลก”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวในตอนท้าย

นอกจากการเข้าร่วมบรรยายในเวทีดังกล่าวแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยังได้มีโอกาสเยี่ยมชมโครงการMasdar City ซึ่งเป็นเมืองต้นแบบด้านพลังงานสะอาด โดยนำเทคโนโลยี Clean Energy มาผสมผสานกับความเป็นชุมชนเมือง นายสนธิรัตน์กล่าวว่า หัวใจของโครงการคือการนำ Clean Energy มาเป็นตัวผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งโครงการ Masdar City ถือเป็นศูนย์กลางของพลังงานทางเลือก หรือพลังงานทดแทนที่สำคัญของ UAE ผสมผสานเทคโนโลยีต่างๆ ทั้งโซลาร์เซลล์ พลังงานลม รวมทั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ กลไกเหล่านี้ทำให้เกิดการผลิตระดับที่เป็นเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ของโลก อย่างเช่น โซลาร์ฟาร์มที่ขนาดใหญ่ 800 MW เป็นต้น จะเห็นได้ว่า การดีไซน์ทั้งหมดได้ผสมผสานพัฒนาโดยดึงเทคโนโลยีนวัตกรรมระดับโลกเข้ามาปรับใช้ ถือเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ เพราะ UAE เป็นผู้ส่งออกน้ำมันและก๊าซระดับโลก แต่ด้วยวิสัยทัศน์ได้มองถึงอนาคตพลังงาน จึงได้พัฒนาเรื่องนี้ล่วงหน้าเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมาจนปัจจุบันเกิดรูปธรรม จึงเป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้และเลือกนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับบ้านเรา

รัฐมนตรีว่ากระทรวงพลังงานนำคณะผู้บริหารกระทรวงฯ กลุ่มปตท. และกฟผ. ลงพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด

รัฐมนตรีว่ากระทรวงพลังงานนำคณะผู้บริหารกระทรวงฯ กลุ่มปตท. และกฟผ. ลงพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพช่วยเหลือชาวบ้านประสบภัยน้ำท่วม
วันนี้ (7 ก.ย. 62) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการพลังงาน นำคณะผู้บริหารกระทรวงพลังงานและหน่วยงานในสังกัด ประกอบด้วย นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน นายสุรพร ดนัยตั้งตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอนุรุทธิ์ นาคาศัย เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายวัชระ กรรณิการ์ โฆษกกระทรวงพลังงาน นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน นายยงยุทธ จันทรโรทัย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน นางมีนา ศุภวิวรรธน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่นโยบายและบริหารผู้มีส่วนได้เสีย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นายจรรยง วงศ์จันทร์พงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการปฏิบัติการควบคุมระบบการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
พร้อมด้วยข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด มอบถุงยังชีพจำนวน 2,250 ชุดเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น พร้อมให้กำลังใจ และรับฟังปัญหาความเดือดร้อนผู้ประสบภัยน้ำท่วม ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์พายุโซนร้อน “โพดุล” ในช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ณ วัดสระโบสถ์ขวาว ตำบลขวาว อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลตระหนักถึงความเดือดร้อนและมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์พายุโซนร้อน “โพดุล” ขณะเดียวกันยังต้องเตรียมรับมือกับพายุลูกใหม่ “คาจิกิ” ที่อาจซ้ำเติมสถานการณ์มากขึ้น พร้อมสั่งการให้ทุกหน่วยงานเข้าไปให้ความช่วยเหลือเยียวยาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นอย่างเร่งด่วน
ในส่วนของกระทรวงพลังงานได้ดำเนินการนำถุงยังชีพให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมไปแล้วจำนวน 2,250 ชุด กระจายในพื้นที่ 5 อำเภอของจังหวัดร้อยเอ็ด ได้แก่ อำเภอโพนทอง เสลภูมิ ธวัชบุรี เชียงขวัญ และจังหาร
“การลงพื้นที่ในวันนี้ นอกจากจะนำถุงยังชีพ จำนวน 2,250 ชุด มามอบเพื่อเป็นการช่วยเบื้องต้นเพิ่มเติมแล้ว ยังมาให้กำลังใจและรับฟังปัญหารวมถึงความต้องความช่วยเหลือของพี่น้องประชาชน เพื่อจะนำปัญหาจากชาวบ้านที่เดือดร้อนมาประสานกับทุกหน่วยงานเร่งแก้ปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด และอยากให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่าหลังจากสถานการณ์คลี่คลายจะเร่งประเมินภาพรวมความเสียหายเพื่อนำไปสู่การให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู ทั้งที่อยู่อาศัย การประกอบอาชีพ ประชาชนในทุกพื้นที่ เพื่อให้พี่น้องประชาชนกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติสุขต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าว
#พลังงานไทย ห่วงใยผู้ประสบภัยน้ำท่วม
#รวมน้ำใจ สู้ภัยน้ำท่วม

นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด “การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานครั้งที่ 37

วันที่ 4 ก.ย. 62 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด “การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานครั้งที่ 37 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง และงาน ASEAN Energy Business Forum” ภายใต้แนวคิดหลัก “Advancing Energy Transition Through Partnership and Innovation” ร่วมมือ ร่วมใจ เพื่อพัฒนานวัตกรรมพลังงานอาเซียน ในยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานให้เข้าสู่ยุคพลังงานที่มีความยั่งยืน โดยมี นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน 10 ประเทศ เข้าร่วม ณ คริสตัลฮอลล์ โรงแรม ดิแอทธินี โฮเทล ถนนวิทยุ กรุงเทพฯ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมจัดเตรียมถุงยังชีพ จำนวน 3,000 ถุง เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ประสบอุทกภัยพายุโพดุล

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต  ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมกับผู้บริหาร และพนักงาน กลุ่ม ปตท. รวมใจกันจัดเตรียมถุงยังชีพ จำนวน 3,000 ถุง เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ประสบอุทกภัยพายุโพดุล ณ อาคาร ปตท. สำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดีรังสิต

วันนี้ (3 กันยายน 2562) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า “จากสถานการณ์เหตุอุทกภัย พายุโซนร้อนโพดุล ประกอบกับอิทธิพลมรสุมดีเปรสชั่น บริเวณจีนใต้ตอนบน ส่งผลกระทบทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และดินถล่มในพื้นที่หลายจังหวัด กระทรวงพลังงาน และกลุ่ม ปตท. มีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นดังกล่าว จึงได้เร่งส่งมอบความช่วยเหลือเบื้องต้น พร้อมระดมพลจิตอาสา ข้าราชการกระทรวงพลังงาน คณะผู้บริหาร และพนักงานกลุ่ม ปตท. รวมทั้ง อาสาสมัครชมรมพลังไทยใจอาสา ร่วมใจกันบรรจุถุงยังชีพ จำนวน 3,000 ถุง  ซึ่งประกอบด้วยข้าวสวยหอมมะลิ อาหาร และเครื่องดื่มที่สามารถพร้อมรับประทานได้ทันทีทั้งครอบครัว รวมถึงผลิตภัณฑ์โครงการไทยเด็ด จากบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นสินค้าวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่น อาทิ กล้วยตาก น้ำพริก อาหารสำเร็จรูป ฯลฯ และยังมีไฟฉายสำหรับเป็นอุปกรณ์ใช้งานยามฉุกเฉิน จากบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท. โดยจะทยอยจัดส่งถุงยังชีพให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด และขอนแก่นต่อไป”

นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า ในภาพรวม กลุ่ม ปตท. ได้ดำเนินการจัดส่งถุงยังชีพ จำนวน 3,400 ชุด และส่งมอบน้ำดื่ม จำนวน 2,520 ขวด เพื่อให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยเป็นการเร่งด่วนแล้ว โดยบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ (OR) นำโดยพนักงานจิตอาสาและชุมชนโดยรอบคลังน้ำมันพิษณุโลก ได้ส่งมอบน้ำดื่ม จำนวน 1,920 ขวด  พร้อมทั้งร่วมบรรจุและกระจายถุงยังชีพ จำนวน 200 ถุง เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ อ. เนินมะปราง จ.พิษณุโลก นอกจากนี้คลังปิโตรเลียมขอนแก่น  ยังได้จัดส่งน้ำดื่ม จำนวน 600 ขวด ให้แก่ผู้ประสบภัยในพื้นที่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น อีกทั้ง แหล่งน้ำมันสิริกิติ์ โดยบริษัท ปตท.สผ. สยาม จำกัด ได้เตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยส่งมอบ  ถุงยังชีพจำนวน 3,200 ถุง ให้กับกองทัพภาคที่ 3 แล้วเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ โออาร์ ได้เตรียมพร้อมสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงในทุกสถานีบริการน้ำมัน รวมถึงบริหารเส้นทางการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงในพื้นที่ประสบภัย เพื่อป้องกันการขาดแคลน และพร้อมให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง

“กลุ่ม ปตท. ขอส่งกำลังใจให้ผู้ประสบภัยทุกคนปลอดภัย และขอร่วมเป็นอีกหนึ่งพลังในการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและพร้อมฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปได้จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ” นายวิทวัส กล่าวในตอนท้าย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แถลงข่าวความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานครังที่ 37

ไทยประกาศความพร้อมการเป็นเจ้าภาพ AMEM ครั้งที่ 37
‘สนธิรัตน์’ ผลักดันประเทศสู่การเป็น “ศูนย์เชื่อมโยงไฟฟ้าอาเซียน”
กระทรวงพลังงาน เตรียมพร้อมจัดงาน AMEM ครั้งที่ 37 ระหว่างวันที่ 2 – 6 กันยายน 2562 ที่กรุงเทพฯ โดยนายกรัฐมนตรีของไทยจะเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการวันที่ 4 กันยายน คาดว่าจะเป็นเวทีครั้งสำคัญเพื่อร่วมหาแนวทางบริหารจัดการพลังงานอย่างประสิทธิภาพ เสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ภูมิภาคอาเซียน พัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานสู่ความยั่งยืน และยังเป็นการแสดงศักยภาพของไทยในด้านการเป็น “ศูนย์กลางพลังงานอาเซียน”

วันนี้ (22 ส.ค. 62) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานแถลงข่าว ความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานครังที่ 37 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง (ASEAN Ministers on Energy Meeting and Associated Meeting : 37th AMEM) โดยกล่าวว่า การประชุม AMEM จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 6 กันยายน 2562 โดยประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนปี พ.ศ. 2562 จะเป็นเจ้าภาพจัดเวทีประชุมสร้างความร่วมมือ 3 กลุ่มผู้เล่นด้านพลังงานคือ เวทีระหว่างประเทศอาเซียน 10 ประเทศ เวทีระหว่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา และเวทีระหว่างประเทศอาเซียนกับองค์กรระหว่างประเทศในประเด็นพลังงานต่างๆ ซึ่งในปีนี้มีแนวคิดหลัก (Theme) ของการประชุม AMEM คือ “Advancing Energy Transition Through Partnership and Innovation” คือมุ่งเน้นความร่วมมือของกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศคู่เจรจา รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ ในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงาน เพื่อให้ภูมิภาคอาเซียนสามารถก้าวเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่พลังงานที่มีความยั่งยืนในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของอาเซียนที่จะสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เพิ่มการเข้าถึงพลังงาน และสร้างพลังงานที่มีความยั่งยืนให้กับประชาชนในภูมิภาคอาเซียน

เวทีการประชุมในช่วงแรกวันที่ 2 – 3 กันยายน จะเป็นการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ส่วนการประชุมระดับรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน จะมีขึ้นในวันที่ 4 – 5 กันยายน โดยจะมีนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานเปิดการประชุม ซึ่งประเด็นหารือจะเป็นการสรุปกิจกรรมและผลงานรวมทั้งข้อเสนอต่างๆ ภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียนด้านพลังงานนำเสนอต่อรัฐมนตรีพลังงานของ 10 ประเทศ เพื่อรับทราบและเห็นชอบแผนดำเนินการในขั้นตอนต่อไป ส่วนการจัดประชุม ทวิภาคีระหว่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา กระทรวงพลังงานจะเปิดโอกาสให้ผู้นำระดับรัฐมนตรีพลังงานและเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนได้พบปะเจรจาระหว่างการประชุม
นายสนธิรัตน์กล่าวว่า “การประชุม AMEM ครั้งนี้เป็นเวทีที่ไทยจะได้แสดงบทบาทในการขับเคลื่อนความมั่นคง และความยั่งยืนทางพลังงานร่วมกับประเทศในภูมิภาค และยังเป็นโอกาสที่ไทยจะได้แสดงศักยภาพให้นานาชาติประจักษ์ถึงความพร้อมในการเป็นศูนย์เชื่อมโยงไฟฟ้าอาเซียน โดยอาศัยจุดแข็งที่มีอยู่เช่น ภาคการเกษตรของไทยที่สามารถพัฒนาผลิตเป็นพลังงานชีวภาพรูปแบบต่างๆ รวมทั้งจุดแข็งด้านภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศที่จะเชื่อมโยงการลงทุนจากทุกภูมิภาคได้ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้่จะมีความร่วมมือที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ การขยายปริมาณการซื้อขายไฟฟ้่าเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าพหุภาคีในโครงการลาว – ไทย – มาเลเซีย (LTM – PIP) จากเดิม 100 เมกะวัตต์เป็น 300 เมกะวัตต์ ซึ่งไทยเป็นประเทศทางผ่านของการเชื่อมโยงระบบสายส่งที่มีเสถียรภาพและความมั่นคงเพียงพอ”
นอกเหนือจากเวทีประชุมความร่วมมือดังกล่าว ยังมีการจัดกิจกรรม ASEAN Energy Business Forum (AEBF) คู่ขนานไปกับการประชุมหลัก โดยจะเป็นงานนิทรรศการ และการแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานจากผู้ประกอบการ รวมทั้งการจัดสัมมนาภายใต้หัวข้อหลัก “Renewable Energy Innovation Week” เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอาเซียนและประเทศต่าง ๆ อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ภาครัฐและภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในการบูรณาการเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมด้านพลังงานหมุนเวียนและดึงดูดนักลงทุน รวมทั้งจะมีการจัดพิธีมอบรางวัล ASEAN Energy Awards ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีควบคู่กับการประชุม AMEM เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันผลักดันให้เกิดการขยายการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน และผลักดันให้เกิดการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน

37th AMEM ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
การประชุม AMEM ครั้งที่ 37 จะมีส่วนช่วยผลักดันและสนับสนุนให้การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน แผนบูรณาการพลังงานระยะยาว 2559 – 2579 บรรลุเป้าหมายในการเสริมสร้างความมั่นคง มีความยั่งยืนทางด้านพลังงาน เกิดการค้า การลงทุน และการพัฒนาด้านพลังงาน สอดคล้องเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านพลังงาน (ASEAN Plan of Action on Energy Cooperation: APAEC) พ.ศ. 2559 – 2568 ระยะที่ 1 พ.ศ. 2559 – 2563 อาทิ การขยายปริมาณรับซื้อไฟฟ้าโครงการ LTM-PIP จำนวน 300 เมกะวัตต์ การปรับมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในอาเซียน อาทิ อุปกรณ์ส่องสว่างและเครื่องปรับอากาศ การลดความเข้มการใช้พลังงานให้ได้ร้อยละ 20 ภายในปี พ.ศ. 2563 การผลักดันให้อาเซียนมีการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้นเป็นร้อยละ 23 ภายในปี 2568 การปรับปรุงฐานข้อมูลอาเซียนด้านพลังงานให้เป็นมาตรฐานสากลภายในปี พ.ศ. 2563 การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดเพื่อภาพลักษณ์ที่ดี การเสริมสร้างศักยภาพด้านพลังงานนิวเคลียร์ในด้านการกำกับดูแลเทคนิคและความปลอดภัย เป็นต้น
สำหรับกรอบความร่วมมืออาเซียนด้านพลังงานมี 7 สาขา และ 1 เครือข่ายความร่วมมือที่สำคัญ ประกอบด้วย 1) ความเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน 2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับขนส่งก๊าซธรรมชาติ 3) การส่งเสริมเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด 4) การส่งเสริมพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ 5) การส่งเสริมพลังงานทดแทน 6) การส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและอนุรักษ์พลังงาน 7) การจัดทำนโยบายและแผนอาเซียนด้านพลังงาน รวมถึงเครือข่ายความร่วมมือด้านการกำกับกิจการพลังงาน

รองนายกฯ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” มอบนโยบายกระทรวงพลังงาน

รองนายกฯ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” มอบนโยบายกระทรวงพลังงาน เน้นสร้างความมั่นคงด้านการจัดหาพลังงานเพื่อสู่การเป็นฮับพลังงานอาเซียน ใช้ความแข็งแกร่งของ ปตท. เป็นหัวหอกช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกร การสนับสนุน Start Up ด้านพลังงาน และการใช้ Big Data อย่างจริงจังมาบริหารจัดการวางนโยบายพลังงานให้สอดคล้องกับพฤติกรรมประชาชนที่ปรับเปลี่ยนไปในยุคปัจจุบัน 

วันนี้ (15 ส.ค.62) ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมและมอบนโยบายด้านพลังงานแก่กระทรวงพลังงาน โดยมีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงานให้การต้อนรับและร่วมรับมอบนโยบาย โดยรองนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญโดยสรุป ดังนี้

-เรื่องการจัดหาพลังงานมีความสำคัญ เพราะไม่ใช่เพียงการบริหารพลังงานแหล่งปิโตรเลียมในประเทศเท่านั้น ในเชิงยุทธศาสตร์ต้องมองระดับภูมิภาคด้วย เพราะไทยอยู่ในตำแหน่งภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญ สามารถเป็นศูนย์กลางเป็นผู้นำด้านพลังงานอาเซียนได้

-กองทุนด้านพลังงานที่มีอยู่ เช่น กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งอดีตเคยแบกหนี้นับแสนล้านบาท ปัจจุบันราคาน้ำมันอยู่ในช่วงขาลง มีเงินสะสมอยู่ในกองทุนน้ำมันฯ ซึ่งรวมถึงกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ก็น่าจะใช้เวลาช่วงนี้เป็นโอกาสนำงบที่มีอยู่ตามกองทุนพลังงานต่างๆ ไปพัฒนานโยบายด้านพลังงานทางเลือกเพื่อให้เกิดความยั่งยืน เพราะการพึ่งพาฟอสซิลคงอยู่ไม่ได้นานถึง 20 ปี

-เรื่องการดูแลค่าครองชีพด้านพลังงาน เป็นมิติด้านเศรษฐกิจที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน มอบเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะเรื่องค่าพลังงาน หรือแม้แต่ระบบภาษีจะใช้มาตรฐานเดียวกันระหว่างคนมีรายได้น้อย กับคนรวยเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เราจะใช้มาตรฐานแบบต่างชาติกำหนดไม่ได้ ควรดูให้เหมาะกับทางปฏิบัติกับสังคมไทยมากกว่า พร้อมมอบภารกิจ ให้ ปตท. และรัฐวิสาหกิจในเครือเป็นหัวหอกด้านการจัดทำโมเดลธุรกิจให้ชาวบ้านหรือชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เช่น ผ่านช่องทางปั๊มน้ำมันของปตท. โดยเปิดให้เป็นสถานที่กลางในการซื้อขายสินค้าของชาวบ้าน ซึ่งรวมถึงเรื่องปุ๋ยที่เป็นต้นทุนหลักของเกษตรกรด้วย หรือโมเดลการทำธุรกิจห้องเย็นสำหรับเก็บรักษาผลไม้ในแหล่งที่เป็นศูนย์กลาง เช่น ที่จ.ระยอง และชุมพร โดยมองว่า ปตท.และรัฐวิสาหกิจในเครือ จะต้องมีบทบาทเป็นหน่วยงานที่จรรโลงสังคมด้วย ไม่ใช่องค์กรเพื่อแสวงกำไรอย่างเดียว ซึ่งหากได้ดำเนินการในเรื่องเหล่านี้คืนกลับสู่สังคม ปตท.ก็จะถูกโจมตีน้อยลงแน่นอน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมพิธีถวายพระพรชัยมงคลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

วันนี้ (7 ส.ค. 62) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นำคณะผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานในสังกัด เข้าร่วมพิธีถวายพระพรชัยมงคลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2562 ณ บริเวณ LOBBY อาคารบี ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์

#พลังงานเพื่อทุกคน
#พลังงานขับเคลื่อนชีวิต

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมพิธีจุดเทียนชัยถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

วันนี้ (28 ก.ค. 62) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานในสังกัด เข้าร่วมพิธีจุดเทียนชัยถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง

รมว.พลังงาน เร่งมาตรการพัฒนาโซล่าร์เซลล์สูบน้ำบาดาล ช่วยบรรเทาวิกฤตภัยแล้ง

รมว.พลังงาน เร่งมาตรการพัฒนาโซล่าร์เซลล์สูบน้ำบาดาล ช่วยบรรเทาวิกฤตภัยแล้งทั้งจังหวัดภาคเหนือและอีสาน มุ่งสู่เป้าหมาย 1,450 ระบบทั่วประเทศ

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานห่วงใยวิกฤตภัยแล้งในขณะนี้ และได้สั่งการให้พลังงานจังหวัดตรวจสอบสถานการณ์ในพื้นที่ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อใช้เครื่องมือด้านพลังงานเข้าไปช่วยเหลือ แบ่งเบาความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านและชุมชน โดยล่าสุดได้เร่งรัดมาตรการ “โครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร” ให้เข้าไปช่วยดึงน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ประโยชน์ต่อการอุปโภคบริโภค ให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่วิกฤตได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

“ผมได้ขอให้พลังงานจังหวัด เร่งนำระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร ใช้แผงโซล่าร์เซลล์ซึ่งติดตั้งเสร็จแล้วในพื้นที่ต่างๆ มาใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ โดยเฉพาะในช่วงที่มีแสงแดดแรงและฝนยังไม่ตกต้องตามฤดูกาล ช่วยสูบน้ำบาดาลขึ้นมาบรรเทาปัญหาพี่น้อง ชาวสวน ชาวไร่ ชาวนา และชาวบ้าน ซึ่งกำลังเผชิญภัยแล้งอย่างหนัก”

ทั้งนี้ สำนักงานกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานผู้ดำเนินโครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร มาตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน ณ วันที่ 26 กรกฎาคม 2562 ได้อนุมัติโครงการฯ ไปแล้วให้กับ 160 หน่วยงาน รวมทั้งสิ้น 1,450 ระบบ ทั่วประเทศ อาทิ พื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดพิจิตร จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดอุบลราชธานี ฯลฯ

 

ปัจจุบัน ได้มีการก่อสร้างและติดตั้งระบบสูบน้ำที่สำคัญ เช่น แผงพลังงานแสงอาทิตย์หรือแผงโซล่าเซลล์ พร้อมอุปกรณ์สนับสนุนต่างๆ แล้วเสร็จเป็นจำนวน 119 ระบบ และในเดือนสิงหาคม 2562 นี้ จะดำเนินการแล้วเสร็จเพิ่มเติมอีก 509 ระบบ ส่วนเดือนกันยายน 2562 จะแล้วเสร็จอีก 529 ระบบ ทั้งนี้ ทางสำนักงานกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จะเร่งรัดดำเนินการติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ตามเป้าหมายภายให้ได้ในสิ้นปีนี้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมพิธีทำบุญตักบาตรเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

วันนี้ (28 ก.ค. 62) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมพิธีทำบุญตักบาตรถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ประจำปีพุทธศักราช 2562 ณ ท้องสนามหลวง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมพิธีถวายพระพรชัยมงคล  ถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเป็นข้าราชการที่ดีของแผ่นดิน และทำบุญตักบาตร

กระทรวงพลังงาน จัดพิธีถวายพระพรชัยมงคล
ถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเป็นข้าราชการที่ดีของแผ่นดิน และทำบุญตักบาตร

วันนี้ (26 ก.ค.62) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
นำคณะผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานในสังกัด 
ถวายพระพรชัยมงคล และถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเป็นข้าราชการที่ดีของแผ่นดิน พร้อมทำบุญตักบาตรพระสงฆ์รวมจำนวน 68 รูป
เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 67 พรรษา 28 กรกฎาคม 2562
ณ บริเวณ LOBBY อาคารบี ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เดินหน้าโครงการ “จิตอาสาพลังงาน เราทำความดีด้วยหัวใจ”

รมว.สนธิรัตน์ เดินหน้าโครงการ “จิตอาสาพลังงาน เราทำความดีด้วยหัวใจ” ผนึกกระทรวงศึกษาฯ ดึงเครือข่ายพลังงาน พพ.-ปตท.-กฟผ. ร่วมเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้ รร. ทีปังกรวิทยาพัฒน์ฯ 6 แห่ง ทั่วประเทศ

กระทรวงพลังงาน โดย พพ. ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ ปตท. และกฟผ. ระดมเครือข่ายพลังงานร่วมประกาศเจตนารมณ์เดินหน้า โครงการ “จิตอาสาพลังงาน เราทำความดีด้วยหัวใจ” นำระบบเทคโนโลยี IoT บริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าพร้อมติดตั้งโซลาร์เซลล์ ในอาคารสถานศึกษาของโรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ในพระราชูปถัมภ์ฯ จำนวน 6 แห่งทั่วประเทศ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตั้งเป้าลดการใช้พลังงานให้ได้ไม่น้อยกว่า 30 %

วันนี้ (25 ก.ค. 2562) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการดำเนินโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานในโรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ในพระราชูปถัมภ์ฯ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก “จิตอาสาพลังงาน เราทำความดีด้วยหัวใจ”ระหว่างกระทรวงพลังงาน กระทรวงศึกษาธิการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ในการส่งเสริมและสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานด้วยการติดตั้งเทคโนโลยีและนวัตกรรมในอาคารเรียน และอาคารสถานศึกษาของโรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ในพระราชูปถัมภ์ฯ จำนวน 6 แห่ง ในรูปแบบการสนับสนุนโรงเรียนสำหรับการติดตั้งอุปกรณ์หรือเปลี่ยนอุปกรณ์ด้านการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานทดแทน โดยเฉพาะการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ และ การติดตั้งระบบ IoT (Internet of Thing) เพื่อช่วยติดตามควบคุมหรือบริหารจัดการด้านพลังงานที่จะเป็นการช่วยให้เกิดการประหยัดพลังงานและลดค่าใช้จ่ายได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีกิจกรรมจิตอาสา เช่น กรมธุรกิจพลังงาน กับกิจกรรม “การใช้ก๊าซหุงต้มปลอดภัย (LPG SAFETY)” ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ สำหรับก๊าซหุงต้มในร้านค้าที่โรงเรียน และชุมชนในโครงการจำนวน 24 ชุด และกิจกรรมของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับการสำรวจตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในชุมชน และการนำร่องเปลี่ยนหลอดไฟประหยัดพลังงาน
นายยงยุทธ จันทรโรทัย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน โดย พพ.ได้ร่วมลงนามพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ดังกล่าว โดยจะเข้าไปดำเนินการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพด้านพลังงานมาทดแทนอุปกรณ์เดิมที่มีสภาพการใช้งานมาอย่างยาวนานที่ขาดการบำรุงรักษา เช่น การติดตั้ง หรือเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศแยกส่วนประเภท อินเวอร์เตอร์ การติดตั้งหรือเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศระบบแปรผันน้ำยา (VRF) การเปลี่ยนหลอดไฟฟ้า LED เป็นต้น โดยที่ผ่านมาพบว่าโรงเรียนทั้ง 6 แห่ง มีปริมาณการใช้พลังงานและมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าต่อปีเฉลี่ยอยู่ที่ 630,777 หน่วย/แห่ง/ปี คิดเป็นเงิน 2,172,720 บาท/แห่ง/ปี ดังนั้น ความร่วมมือกันในครั้งนี้จึงถือเป็นการดำเนินการโดยเครือข่ายจิตอาสาพลังงาน จากกระทรวงพลังงาน โดยมีเป้าหมายที่จะลดการใช้พลังงานให้ได้ไม่น้อยกว่า 30 % เมื่อเทียบกับการใช้พลังงานจากปี 2561 “นอกเหนือจากการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ให้กับสถาบันการศึกษา ยังถือเป็นการรณรงค์เพื่อให้ตระหนักรู้เรื่องการประหยัดพลังงานผ่าน ครู นักเรียน ที่จะเป็นเครือข่ายด้านพลังงาน เพื่อนำไปถ่ายทอดและขยายผลไปสู่ครอบครัวและชุมชนโดยรอบต่อไป” นายยงยุทธกล่าว สำหรับโรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ในพระราชูปถัมภ์ฯ เป็นกลุ่มโรงเรียนทั้ง 6 แห่ง ประกอบด้วย

1. โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดโบสถ์) ในพระราชูปถัมภ์ฯ เขตดุสิต กรุงเทพ

2. โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดน้อยใน) ในพระราชูปถัมภ์ฯ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพ

3. โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (ทวีวัฒนา)ในพระราชูปถัมภ์ฯ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพ

4. โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดประดู่) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จังหวัดสมุทรสงคราม

5.โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (มัธยมวัดหัตถสารเกษตร) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จังหวัดปทุมธานี และ

6. โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดสุนทรสถิต) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จังหวัดสมุทรสาคร

ซึ่งเป็นกลุ่มโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนรวมกันจำนวนกว่า 5,800 คน ในโรงเรียนได้ดำเนินการอนุรักษ์พลังงานในด้านต่างๆ ได้แก่ รณรงค์สร้างความตระหนักรู้การประหยัดพลังงานให้แก่นักเรียน, รณรงค์การปิดน้ำ-ไฟตามเวลาที่กำหนด, การติดสติ๊กเกอร์ให้ปิดไฟเมื่อไม่ใช้งานและการปิดเครื่องปรับอากาศก่อนเวลาเลิกเรียนประมาณ 15 นาที เป็นต้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูง ร่วมบันทึกเทปโทรทัศน์ถวายพระพร

วันที่ 22 กรกฎาคม 2562 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูง ร่วมบันทึกเทปโทรทัศน์ถวายพระพร พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา (28 กรกฎาคม 2562) ณ สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 MCOT HD

กระทรวงพลังงาน เดินหน้า 3 มาตรการเร่งด่วน เน้นลดภาระให้ประชาชน

กระทรวงพลังงาน เดินหน้า 3 มาตรการเร่งด่วน เน้นลดภาระให้ประชาชน ขยายเวลาอุดหนุนราคา LPG อีก 2 เดือน ห่วงวิกฤติภัยแล้ง สั่งพลังงานจังหวัดทั่วประเทศ สำรวจและเตรียมใช้ระบบโซลาร์เซลล์ ช่วยดึงน้ำบาดาล บรรเทาความเดือดร้อนประชาชน

วันนี้ (22 ก.ค. 62) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือร่วมกับผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพลังงานเรื่องการขับเคลื่อนประเด็นเร่งด่วนด้านพลังงาน ว่า เรื่องเร่งด่วนที่กระทรวงพลังงานจะขับเคลื่อนนั้น จะมุ่งเน้นมาตรการให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นลำดับแรก โดยเรื่องแรกได้มีการพิจารณามาตรการช่วยเหลือเรื่องราคาก๊าซหุงต้มผู้มีรายได้น้อย และหาบเร่แผงลอย โดยประสานให้ ปตท. ขยายเวลาการช่วยเหลือออกไปอีก 2 เดือน คือไปจนถึงเดือนกันยายนนี้ เพื่อให้สามารถนำนโยบายการช่วยเหลือประชาชนของกระทรวงพลังงานไปเชื่อมโยงกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของกระทรวงการคลัง

เรื่องที่สอง จะดำเนินมาตรการช่วยเหลือประชาชนเรื่องภัยแล้ง ซึ่งได้มอบหมายให้พลังงานจังหวัดไปสำรวจพื้นที่ที่รับผิดชอบว่า ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างไรบ้าง เพื่อให้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือในเรื่องระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์บ่อบาดาลเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งกระทรวงพลังงานได้มีการดำเนินการไว้อยู่แล้ว

เรื่องที่สาม แนวทางแก้ปัญหาเรื่องราคาปาล์มน้ำมันเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร กระทรวงพลังงานได้มีการเสนอแผนระยะสั้น และระยะกลางให้กับคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติถึงแนวทางที่เหมาะสม โดยแผนระยะสั้นได้มอบหมายให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยดำเนินการช่วยเหลือตามแนวทางที่เคยดำเนินการไว้ ส่วนแผนระยะกลาง จะมีการขับเคลื่อนการใช้ B10 และ B20 ให้ชัดเจน ซึ่งได้มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงานจัดทำรายละเอียดให้ชัดเจนและเหมาะสม

ส่วนกรณีการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต ที่ยังไม่ได้ข้อยุติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เบื้องต้นได้รับฟังรายละเอียดและมอบแนวทางการดำเนินงานให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติไปจัดทำรายละเอียด เพื่อนำรายละเอียดทั้งหมดมาพิจารณาเพื่อนำไปสู่การเจรจาที่ได้ข้อยุติที่เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย

ก.พลังงานระดมสมองกำหนดทิศทางพลังงานไทย

วันนี้ (20 ก.ค.62) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อกำหนดทิศทางและนโยบายของกระทรวงพลังงานขึ้น โดยมีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่หน่วยงานสังกัดกระทรวงพลังงาน เข้าร่วม

นายสนธิรัตน์ กล่าวภายหลังการประชุมว่า ได้เชิญผู้บริหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องของหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงานมาร่วมระดมความคิดเห็นเพื่อจะได้ใช้เป็นแนวทาง  ในการกำหนดทิศทางและนโยบายของกระทรวงพลังงานต่อไป โดยการประชุมครั้งนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นพลังงานทั้งด้านไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันเชื้อเพลิง พลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน โดยได้หารือถึงนโยบายสำคัญที่จะต้องเร่งผลักดัน รวมถึงข้อจำกัด และอุปสรรคต่างๆ ในการดำเนินการ เพื่อให้การดำเนินการด้านพลังงานเดินหน้าต่อไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์ต่อประชาชน และภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศอย่างสูงสุด

สำหรับในวันนี้ ได้มีการมอบหมายให้แต่ละหน่วยงาน ดำเนินงานทุกอย่างโดยยึดถือประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง คำนึงถึงจุดแข็งของประเทศไทยเป็นหลัก ส่งเสริมการแข่งขันของภาคเอกชนตั้งแต่ระดับชุมชนที่เป็นเศรษฐกิจฐานราก โดยเน้นการเชื่อมโยงช่วยเหลือชุมชนให้มีการพัฒนาศักยภาพในการผลิตและต่อยอดสินค้าไปในตลาดที่ใหญ่ขึ้น มุ่งเน้นสนับสนุนให้ชุมชนต่อยอดอาชีพ สร้างความเข้มแข็ง และพัฒนาศักยภาพชุมชนได้อย่างยั่งยืน

ส่วนประเด็นข้อขัดแย้งทางความคิด อาจจะมีปัญหาเรื่องข้อมูลที่ไม่ตรงกัน จะต้องมีการศึกษาอย่างจริงจังเพื่อให้สร้างความเชื่อถือในข้อมูลร่วมกัน และเดินไปในทิศทางเดียวกัน

รมว. พลังงาน เป็นประธานเปิด “โครงการไทยเด็ด” ส่งเสริมการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน

รมว. พลังงาน เป็นประธานเปิด “โครงการไทยเด็ด” ส่งเสริมการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนภายในสถานีบริการน้ำมัน ปตท.

วันนี้ (19 ก.ค. 62) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิด “โครงการไทยเด็ด” ณ สถานีบริการน้ำมัน บริษัท คุณเท่ง (ชะอำ) ปิโตรเลียม จำกัด ณ จังหวัดเพชรบุรี โดยมี นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วม โดย “โครงการไทยเด็ด” เป็นความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด หรือ PTTOR กระทรวงพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME Bank) และสมาคมการค้าผู้แทนจำหน่ายสถานีบริการน้ำมันพลังไทย โดยได้เชิญวิสาหกิจชุมชนนำสินค้าและผลิตภัณฑ์แปรรูปมาจำหน่ายภายในสถานีบริการน้ำมันของ ปตท. ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดการจ้างงาน เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรแล้ว การคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพจะทำให้เกิดการพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง และทำให้ประชาชนสามารถซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ ตรงความต้องการได้อย่างสะดวกอีกด้วย

รมว. พลังงาน เข้าสักการะพระพรหม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประจำกระทรวงพลังงาน

รมว. พลังงาน เข้าสักการะพระพรหม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประจำกระทรวงพลังงานเพื่อเป็นสิริมงคลในโอกาสเข้าทำงานวันแรก

วันนี้ (18 ก.ค.62) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เข้าสักการะ พระพรหม ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงพลังงาน ณ ศาลพระพรหม ภายในศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์
โดยมี นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ ในสังกัดกระทรวงพลังงานให้การต้อนรับ

รมว.พน. ร่วมพิธีเปิดตัวผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซล B20

รายแรกในไทย “บางจากไฮดีเซล B20 S” ยกระดับคุณภาพ B20 ไปอีกขั้น
บางจากฯ ตอกย้ำผู้นำนวัตกรรมสีเขียว เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ “บางจากไฮดีเซล B20 S (บี 20 เอส)” ที่ยกระดับคุณภาพน้ำมันดีเซล B20 ขึ้นไปอีกขั้น ด้วยเทคโนโลยี Green S เติมสารเพิ่มคุณภาพทำความสะอาดปกป้องเครื่องยนต์ ป้องกันหัวฉีดอุดตัน และเพิ่มค่าซีเทนช่วยให้เครื่องยนต์ทำงานแรงขึ้น เต็มสมรรถนะ เป็นรายแรกและรายเดียวในขณะนี้ หวังช่วยกระตุ้นรถที่ใช้น้ำมันดีเซล B20 ได้มาทดลองใช้มากขึ้น เพื่อช่วยพยุงราคาผลปาล์มดิบ

เมื่อวันพุธ 26 มิถุนายน 2562 ได้มีพิธีเปิดตัวผลิตภัณฑ์ “บางจากไฮดีเซล B20 S” ณ สถานีบริการน้ำมันบางจาก สาขาเทพารักษ์ กม.11 โดย ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน และมีนายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยผู้บริหารของกระทรวงพลังงาน ผู้บริหารบางจากฯ ผู้บริหารค่ายรถขนส่งและรถกระบะ และนายณัฐวุฒิ สะกิดใจ (ป๋อ) นักแสดงชื่อดังร่วมในงาน

ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวขอบคุณ บริษัท บางจากฯ (มหาชน) ที่มีส่วนร่วมสนับสนุนส่งเสริมการจำหน่ายน้ำมันดีเซล B20 มาตั้งแต่ต้น โดยจำหน่ายให้กับกลุ่มอุตสาหกรรม เรือและรถขนส่งขนาดใหญ่ และได้เปิดจำหน่ายที่สถานีบริการน้ำมันบางจากครอบคลุมทุกภูมิภาค ทำให้มียอดการใช้งานน้ำมันดีเซล B20 รวมทั้งประเทศมากกว่า 70 ล้านลิตร ในเดือนพฤษภาคม 2562 มีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาราคาผลปาล์มตกต่ำและบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม โดยราคาผลปาล์มดิบจากเดิมกิโลกรัมละ 1.8 บาท เพิ่มสูงขึ้นเป็นมากกว่า 3 บาท ในขณะนี้

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)เปิดเผยว่า บางจากฯ ไม่หยุดนิ่งในการนำนวัตกรรมสีเขียวมาใช้ในการพัฒนาธุรกิจ เพื่อให้คนไทยได้ใช้พลังงานที่ดีทั้งต่อการใช้งานและสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับเทคโนโลยีของเครื่องยนต์รุ่นใหม่ๆ และสภาพการใช้งานในเมืองไทย ล่าสุดนี้ บริษัทฯ ได้พัฒนา “บางจากไฮดีเซล B20 S” ใหม่ เป็นการยกระดับคุณภาพน้ำมันดีเซล B20 ขึ้นไปอีกขั้น ด้วยเทคโนโลยี Green S ที่เติมสารเพิ่มคุณภาพเป็นรายแรกและรายเดียวในตลาดน้ำมันเมืองไทยขณะนี้ จำหน่ายผ่านสถานีบริการน้ำมันบางจากในราคาเดิมเท่าน้ำมันดีเซล B20 ทั่วไป เพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้น้ำมันแรงในราคาประหยัด และกระตุ้นการใช้น้ำมันดีเซล B20 ให้มากขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม

นายชัยวัฒน์กล่าวว่า “บางจากไฮดีเซล B20 S” เติมสารเพิ่มคุณภาพ (Additive) S Super Booster (เอส ซูเปอร์ บูสเตอร์) และ S Super Purifier (เอส ซูเปอร์ เพียวริไฟเออร์) ที่ช่วยเพิ่มค่าซีเทนและทำความสะอาดเครื่องยนต์ได้ดียิ่งขึ้น ผ่านการทดสอบในห้องทดลองและใช้งานจริงแล้วพบว่าช่วยทำความสะอาดหัวฉีดกำลังและแรงบิดเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เครื่องยนต์แรงขึ้น ช่วยให้เผาไหม้สมบูรณ์ เครื่องเดินเรียบ ตอบสนองการขับขี่ได้เต็มสมรรถนะ
ประหยัดเชื้อเพลิงได้มากขึ้นกว่าเดิม ใช้ได้กับทั้งรถเล็ก รถใหญ่ ที่ใช้น้ำมัน B20 ได้ และใช้ได้ดีทุกสภาพภูมิประเทศ ทั้งทางราบและทางชัน นอกจากนั้นยังประหยัดค่าใช้จ่ายจากราคาที่ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลทั่วไปถึงลิตรละ 5 บาท จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ตามนโยบายส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล B20 ของกระทรวงพลังงาน ปัจจุบัน บางจากฯ มีจำนวนสถานีบริการที่จำหน่ายน้ำมันดีเซล B20 แล้วกว่า 330 แห่งทั่วประเทศ

นายชัยวัฒน์กล่าวถึง แผนการตลาด “บางจากไฮดีเซล B20 S” ว่า ได้รับเกียรติจากนักแสดงชื่อดัง ป๋อ ณัฐวุฒิ สกิดใจ ซึ่งเป็นผู้ใช้รถยนต์ดีเซลในชีวิตประจำวันและเลือกใช้น้ำมันเชื้อเพลิงคุณภาพสูง มาเป็น Presenter พร้อมกลยุทธ์สื่อสารการตลาดทุกรูปแบบ เพื่อสร้างการรับรู้ในคุณภาพและทดลองใช้ พิสูจน์สมรรถนะความแรงได้แล้ววันนี้ที่สถานีบริการน้ำมันบางจากทั่วประเทศที่จำหน่าย “บางจากไฮดีเซล B20 S”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมในพิธีเปิดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านพลังงานและการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 37

วันนี้ (24 มิ.ย.62) ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมในพิธีเปิดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านพลังงานและการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 37 (37th Senior Official Meeting on Energy and associated meetings: The 37th SOME) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 – 28 มิถุนายน 2562 ที่กรุงเทพฯ โดยนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานไทย ในฐานะประธานการประชุมครั้งนี้กล่าวเปิดการประชุมว่า ประเทศไทยมีความยินดีอย่างยิ่งในการเป็นประธานอาเซียนและเป็นเจ้าภาพการจัดการประชุมในครั้งนี้ โดยเชื่อมั่นว่าการประชุมครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมและผลักดันให้อาเซียนสามารถบรรลุเป้าหมายด้านพลังงานที่ได้กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการด้านพลังงานอาเซียนระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2558 – 2568) นั่นคือ การขยายการเชื่อมโยงและการซื้อขายพลังงานในอาเซียน เพื่อสร้างความมั่นคง การเข้าถึงพลังงาน และพลังงานที่ยั่งยืนของภูมิภาค ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยกิจกรรมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่วางไว้
การประชุม SOME ครั้งที่ 37 จะหารือถึงประเด็นเชิงนโยบายที่สำคัญในระดับภูมิภาคที่จะต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้น รวมทั้งประเด็นด้านพลังงานที่ประเทศไทยให้ความสำคัญและผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในปี 2562 (Priority Deliverables) รวม 4 ด้าน ทั้งด้านไฟฟ้า ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน ด้านพลังงานทดแทน และด้านก๊าซธรรมชาติ ที่ผ่านมา อาเซียนประสบความสำเร็จอย่างมากในการผลักดันกิจกรรมภายใต้สาขาความร่วมมือด้านการอนุรักษ์พลังงาน โดยในปี 2559 ผลการดำเนินงานของอาเซียนสามารถลดความเข้มของการใช้พลังงานได้เกินเป้าหมาย โดยสามารถทำได้ร้อยละ 21.9 จากเป้าหมายร้อยละ 20 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความความร่วมมืออย่างจริงจัง รวมทั้งความร่วมมือของประเทศคู่เจรจาและองค์กรระหว่างประเทศที่ให้การสนับสนุน
สำหรับการเป็นเจ้าภาพในปีนี้ ประเทศไทยมีแนวทางหลัก (Theme) คือ “Advancing Energy Transition through Partnership and Innovation” มุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่แน่นแฟ้น การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้ภูมิภาคอาเซียนสามารถก้าวเข้าช่วงเวลาของยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ที่เปลี่ยนจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่การผลิตและการใช้พลังงานสะอาดในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นสำคัญที่ไทยผลักดันภายใต้แนวคิดหลัก “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” รวมถึงการสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และก้าวไปสู่อนาคต ที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวไว้ในช่วงของการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2562 ณ โรงแรมดิ แอทธินี กรุงเทพฯ ที่ผ่านมา “ประเทศไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านพลังงานอาเซียนในครั้งนี้จะสามารถสร้างผลงานความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม และสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียนให้มีความแน่นแฟ้นและยั่งยืนต่อไป” ปลัดกระทรวงพลังงานของไทยกล่าวในท้ายที่สุด
ทั้งนี้ การหารือในเวที SOME ครั้งที่ 37 เพื่อจัดเตรียมประเด็นเนื้อหาทั้งเชิงนโยบายที่สำคัญในระดับภูมิภาค รวมถึงแนวทางการพัฒนากิจกรรมความร่วมมือด้านพลังงานภายใต้กรอบของอาเซียน เพื่อรายงานต่อที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน (ASEAN Ministers on Energy Meeting : AMEM) ซึ่งจะมีการประชุมในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ต่อไป

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้การต้อนรับผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศด้านทรัพยากรพลังงาน หัวหน้าคณะผู้แทนจากสหรัฐอเมริกา

วันที่ 20 มิถุนายน 2562 นายฟรานซิส อาร์ แฟนนอน ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศด้านทรัพยากรพลังงาน หัวหน้าคณะผู้แทนจากสหรัฐอเมริกา ได้เข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ ณ กระทรวงพลังงาน ในโอกาสที่ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ แฟนนอนเดินทางมาเยือนเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานผ่านการหารือร่วมในระดับนโยบายทั้งสองฝ่ายได้ตระหนักถึงความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนานระหว่างสองประเทศ โดยเฉพาะความร่วมมือด้านพลังงาน และเห็นพ้องว่า ที่ผ่านมา ภาคเอกชนของสหรัฐอเมริกา มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนความก้าวหน้าในภาคพลังงานของไทย สำหรับระยะต่อไป ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ แฟนนอน เสนอว่า นโยบาย Asia EDGE (Enhancing Development and Growth through Energy) ซึ่งเป็นข้อริเริ่มของสหรัฐอเมริกา จะสามารถเป็นกรอบความร่วมมือเพื่อสานต่อความร่วมมือระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทย รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรพลังงานของไทยต่อไป รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่า ไทยยังคงส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงานจากภาคธุรกิจสหรัฐอเมริกาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในโครงการที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor :EEC) และชื่นชมวัตถุประสงค์ของนโยบาย Asia EDGE ที่จะช่วยกระตุ้นการลงทุนเพิ่มเติมของภาคธุรกิจสหรัฐอเมริกาในอนาคต ทั้งนี้ ยินดีที่จะส่งต่อข้อเสนอของสหรัฐอเมริกาในประเด็นนโยบาย Asia EDGE ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่พิจารณาต่อไป

กระทรวงพลังงาน เตรียมพร้อมรับมือ สถานการณ์ราคาน้ำมับดิบในตลาดโลกผันผวน

กระทรวงพลังงาน เตรียมพร้อมรับมือ สถานการณ์ราคาน้ำมับดิบในตลาดโลกผันผวน
หลังเหตุการณ์เรือบรรทุกน้ำมัน/เคมี 2 ลำ ถูกลอบโจมตีแถบอ่าวโอมาน เมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา

จากกรณีที่เรือบรรทุกน้ำมัน/เคมี 2 ลำ (เป็นเรือบรรทุกแนฟทา และเมทานอล) ได้รับความเสียหายจากการถูกลอบโจมตีบริเวณอ่าวโอมาน เมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา กรณีที่เรือบรรทุกน้ำมันที่ถูกโจมตี
ห่างจากชายฝั่งอิหร่านประมาณ 14 ไมล์ระหว่างขนส่งสินค้าจากตะวันออกกลางไปยังสิงคโปร์และไต้หวัน นั้น
กระทรวงพลังงานได้มีการประชุมสอบทานปริมาณสต๊อกน้ำมันสำรองในประเทศแบ่งเป็นชนิดต่างๆดังนี้ เตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว ดังนี้
ซึ่งสรุปได้ว่า
1.มีปริมาณเชื้อเพลิงสำเร็จรูป (เบนซิน -ดีเซล) เพียงพอต่อความต้องการใช้  13 วัน

2.มีปริมาณน้ำมันดิบเพียงพอต่อการใช้ เพื่อผลิตป้อนตามความต้องการใช้ในประเทศได้ 24 วัน และอยู่ระหว่างขนส่งทางเรือได้อีก 13 วัน

3.รวมปริมาณสำรองน้ำมัน ทั้งหมด ใช้ได้ 50 วัน

4.สามารถผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสทจากแหล่งในประเทศ ป้อนความต้องการใช้ได้ประมาณ 35%

5.มีสต๊อก LPG พร้อมใช้สำหรับครัวเรือน 20 วัน

ทั้งนี้ โรงแยกแก๊ส ปตท.สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในภาคครัวเรือนโดยไม่ขาดแคลน

สำหรับเหตุการณ์ในครั้งนี้ ซึ่งผลจากการซ้อมเตรียมความพร้อมกระทรวงพลังงานมีความมั่นใจว่าประเทศไทยมีปริมาณสำรองน้ำมันที่พร้อมนำมาใช้ได้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ กระทรวงพลังงานมีมาตรการในการกำกับ บริหารปริมาณสำรองให้มีผลกระทบต่อผู้บริโภคน้อยที่สุด

ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธี เปิดจำหน่ายน้ำมันคาลเท็กซ์ดีเซล B20

วันนี้ ( 12 มิถุนายน 2562 ) ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธี เปิดจำหน่ายน้ำมันคาลเท็กซ์ดีเซล B20 ณ สถานีบริการน้ำมันคาลเท็กซ์ กระบี่ บี.พี. 1999 อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่

นายซาลมาน ซาดัต ประธานกรรมการและผู้จัดการใหญ่ บริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด ผู้ให้บริการสถานีบริการน้ำมันคุณภาพระดับโลกภายใต้ แบรนด์ “คาลเท็กซ์” กล่าวเพิ่มเติมว่า การเปิดจำหน่ายน้ำมันคาลเท็กซ์ดีเซล B20 เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์น้ำมันปาล์มดิบของไทยล้นตลาดมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันอย่างมาก ทางบริษัทฯ จึงร่วมตอบรับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล B20 เพื่อสร้างสมดุลให้ราคาปาล์มน้ำมันมีเสถียรภาพที่ดี ช่วยสร้างคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้นตามไปด้วย นอกจากนั้นยังเป็นการบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ เนื่องจากน้ำมันดีเซล B20 เป็นน้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซล B100 พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นายซาลมานฯ กล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม “เยี่ยมชมโครงการพัฒนาอุปกรณ์กักเก็บพลังงานต้นแบบสำหรับรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า”

วันนี้ ( 10 มิถุนายน 2562 ) ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน เยี่ยมชมโครงการพัฒนาอุปกรณ์กักเก็บพลังงานต้นแบบสำหรับรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า
ณ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน  สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง

รัฐมนตรีว่าการกระทรรงพลังงาน เป็นประธานเปิดงาน ASEAN Sustainable Energy Week (ASE) 2019

ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรรงพลังงาน เป็นประธานเปิดงาน ASEAN Sustainable Energy Week (ASE) 2019
ASEAN Sustainable Energy Week (ASE) งานแสดงเทคโนโลยีและการประชุมนานาชาติด้านพลังงานทดแทน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ใหญ่และครบวงจรที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมพิธีทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี

วันนี้ (3 มิ.ย. 62) ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมพิธีทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ประจำปีพุทธศักราช 2562 ณ ท้องสนามหลวง

ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดจำหน่ายน้ำมันดีเซล บี10 เป็นครั้งแรกในประเทศไทยในสถานีบริการน้ำมัน”

วันที่ 29 พฤษภาคม 2562  ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน และนางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่  บริษัท  ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)   ร่วม “พิธีเปิดจำหน่ายน้ำมันดีเซล บี10 เป็นครั้งแรกในประเทศไทยในสถานีบริการน้ำมัน” ณ สถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น อีสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดชลบุรี

ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานมีแผนงานให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 เป็นน้ำมันประเภทหลักของประเทศไทยทดแทนน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 ในปี 2564 โดย กระทรวงการคลังลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B10 และ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้อุดหนุนราคา
ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 ถูกกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา 1 บาทต่อลิตร ซึ่งหากเป็นไปตามที่วางแผนไว้ จะทำให้มีการใช้น้ำมันปาล์มดิบรวม 2 ล้านตันต่อปี เป็นไปตามยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมันของประเทศ จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานมั่นใจว่าจากคุณภาพมาตรฐานของน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 ความพร้อมของสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น รวมถึงความพร้อมของค่ายรถยนต์ที่ปัจจุบันให้การรับรองว่ารถยนต์ของตนสามารถใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 ซึ่งมีถึง 12 ยี่ห้อ รวม 944 รุ่น นั้น จะช่วยให้ผู้ใช้รถดีเซลมั่นใจในคุณภาพของน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 มากยิ่งขึ้น

นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ พีทีที โออาร์ กล่าวว่า พีทีที โออาร์ พร้อมจำหน่ายน้ำมัน พีทีที อัลตร้าฟอร์ซ ดีเซล บี10 ในสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยจะเริ่มจำหน่ายในภาคตะวันออกและภาคใต้ และมีแผนงานขยายการจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 ให้เป็นน้ำมันดีเซลประเภทหลักของประเทศตามแผนของกระทรวงพลังงานให้ได้เร็วที่สุด ทั้งนี้ พีทีที โออาร์  เชื่อมั่นว่า ด้วยคุณภาพของน้ำมัน พีทีที อัลตร้าฟอร์ซ ดีเซล บี10 ที่ทั้งกระทรวงพลังงานและค่ายรถยนต์ต่างก็ให้การรับรองนั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อเครื่องยนต์ และการใส่สารเพิ่มค่าซีเทน ทำให้เครื่องยนต์มีกำลังแรงเพิ่มขึ้น อีกทั้งคุณสมบัติของน้ำมัน พีทีที อัลตร้าฟอร์ซ ดีเซล บี10 ที่เผาไหม้สมบูรณ์ ลดควันดำได้ร้อยละ 42 เมื่อเทียบกับน้ำมันดีเซลปกติ จึงช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 ยังมีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา 1 บาทต่อลิตร ถือเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายน้ำมันของผู้ใช้รถอีกด้วย การสนับสนุนการใช้น้ำมันปาล์มดิบมาผลิตเป็นไบโอดีเซล บี100 และนำมาผสมเป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 10 นี้ นับเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรไทยผู้ปลูกปาล์มได้โดยตรง “พีทีที อัลตร้าฟอร์ซ ดีเซล บี10 แรง คุ้มค่า รักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมดูแลเกษตรกรไทย”

ก.พลังงาน ร่วมบันทึกเทปถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี

วันที่ 23 พฤษภาคม 2562 ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมบันทึกเทปถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ในวันที่ 3 มิถุนายน 2562 ณ สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี ถนนพระราม 9

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมปลูกต้นรวงผึ้งเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

วันที่ 26 พฤษภาคม 2562 ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายกุลิศ สมบัติศิริ (ปลัดกระทรวงพลังงาน) นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว (รองปลัดกระทรวงพลังงาน) นายยงยุทธ จันทรโรทัย (อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน)  นายวัฒนพงษ์  คุโรวาท (ผู้อำนวยการสำนักงานสำนักนโยบายและแผนพลังงาน )นางอุษา ผ่องลักษณา (รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน) นายภูมี ศรีสุวรรณ (รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ) นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย (ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) และนายวุฒิกร สติฐิต (รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)) และผู้บริหารกระทรวงพลังงานเข้าร่วมกิจกรรม “ปลูกต้นรวงผึ้งเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ อาคารอนุรักษ์พลังงานเฉลิมพระเกียรติ ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี พร้อมเยี่ยมชมภายในอาคารอนุรักษ์พลังงานเฉลิมพระเกียรติ

กระทรวงพลังงาน จัดนิทรรศการ “พลังสายธารแห่งพระบารมี”

กระทรวงพลังงาน จัดนิทรรศการ “พลังสายธารแห่งพระบารมี” เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

วันนี้ (22 พฤษภาคม 2562) ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดงานนิทรรศการ “พลังสายธารแห่งพระบารมี” เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาส
มหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ณ บริเวณหน้าอาคารซี ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์

สำหรับนิทรรศการ “พลังสายธารแห่งพระบารมี” จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 – 24 พฤษภาคม 2562 ณ บริเวณหน้าอาคารซี ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ ภายในงานประกอบด้วย นิทรรศการภายใต้แนวคิด “พลังสายธารแห่งพระบารมี” ซึ่งเป็นนิทรรศการที่แสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงประกอบพระราชกรณียกิจด้านพลังงาน และนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562” รวมทั้งโครงการ “จิตอาสา เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” กิจกรรม “อุ่นไอรัก คลายความหนาว” กิจกรรมการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย การขับร้องบทเพลงพระราชนิพนธ์

ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน จัดนิทรรศการ “พลังสายธารแห่งพระบารมี” ขึ้น เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ได้เป็นที่ประจักษ์ชัด และทรงประกอบพระราชกรณียกิจตามเสด็จพระราชดำเนินพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ในด้านพลังงานต่างๆ เช่น ทรงวางศิลาฤกษ์เขื่อนวชิราลงกรณ จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อปีพุทธศักราช 2510 ทรงเปิดโรงไฟฟ้าพลังน้ำห้วยประทาว จังหวัดชัยภูมิ เมื่อปีพุทธศักราช 2536 และทรงเปิดโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อปีพุทธศักราช 2541 นอกจากนั้น ยังทรงประกอบพระราชกรณียกิจด้านต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง อันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศนานัปการ ทั้งในด้านการสาธารณสุข การทหาร การบิน การศาสนา และด้านสังคม และเนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 หน่วยงานของกระทรวงพลังงาน ได้ร่วมเฉลิมพระเกียรติด้วยกิจกรรมต่างๆ ได้แก่

1. โครงการของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ร่วมกับสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ที่จัดให้มีการใช้อากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน จำนวน 235 ลำ แปรอักษรถวายราชสดุดีจักรีวงศ์ Light & Sound ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2562 โดยจะมีการดำเนินการในส่วนกลางอีก 2 ครั้ง และในส่วนภูมิภาคอีก 5 ครั้ง

2. โครงการของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานที่ได้ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานในโรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ในพระราชูปถัมภ์ฯ

3. โครงการ “พลังงานไทยร้อยดวงใจ ถวายองค์ราชัน” ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ที่จะติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ประกอบด้วย โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตในด้านการศึกษาให้กับประชาชน และเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คณะผู้บริหาร ข้าราชการ ถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม 2562 ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ร่วมพิธีถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว   ณ บริเวณอาคาร ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ อาคารบี กระทรวงพลังงาน

 

ก.พลังงาน ขับเคลื่อนนโยบายปรับสมดุลน้ำมันปาล์ม เร่งแผน CPO ในโรงไฟฟ้าอีก 2 แสนตัน ขยายเวลาอุดหนุน B20 หวังช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้มากที่สุด

“ก.พลังงาน ขับเคลื่อนนโยบายปรับสมดุลน้ำมันปาล์ม เร่งแผน CPO ในโรงไฟฟ้าอีก 2 แสนตัน ขยายเวลาอุดหนุน B20 หวังช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้มากที่สุด”

(วันนี้ 7 พฤษภาคม 2562 ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ) ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แถลงว่า คณะรัฐมนตรีมีมติมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการจัดซื้อน้ำมันปาล์มดิบต่อเนื่องจำนวน 2 แสนตันเพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ณ โรงไฟฟ้าบางปะกง จากที่โครงการดังกล่าวเคยรับซื้อไปแล้วจำนวน 1.6 แสนตัน และส่งมอบงวดสุดท้ายเมื่อวันที่ 20 เมษายน ที่ผ่านมา โดยการรับซื้อในครั้งนี้ จะมีการส่งมอบ ณ คลังน้ำมันปาล์มดิบ จังหวัดสุราษฏร์ธานี ปริมาณ หนึ่งแสนตันแรกภายในเดือนพฤษภาคมนี้
ทั้งนี้ ดร. ศิริ เปิดเผยว่า การประชุม กบง. เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 ได้เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการให้ส่วนลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลฯ บี20 ให้ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลฯ ธรรมดา 5 บาทต่อลิตร ต่อไปอีก 2 เดือน (ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2562) เพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้น้ำมันดีเซลฯ บี20 ในรถบรรทุกขนาดใหญ่และรถกระบะที่ค่ายรถยนต์ให้การรับรองอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน และลดค่าใช้จ่ายภาคขนส่ง
คาดว่า ภายในต้นเดือนมิถุนายนนี้ ระดับสต๊อกปาล์มน้ำมันทั้งระบบจะกลับเข้าสู่สมดุล และเกษตรกรชาวสวนปาล์ม จะสามารถขายผลปาล์มได้ในระดับใกล้เคียง 3 บาทต่อกิโลกรัม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผลักดันแผนการบริหารจัดการน้ำมันปาล์มด้านพลังงาน

การนำน้ำมันปาล์มดิบเพื่อการผลิตไฟฟ้า

– กฟผ.ใช้น้ำมันปาล์มดิบผลิตไฟฟ้า ณ โรงไฟฟ้าบางปะกงโดยเพิ่มปริมาณการผลิตไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันปาล์มจากวันละ 1000 ตัน เป็น วันละ 1500 ตัน ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มเพิ่มสูงขึ้น และสามารถลดปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มในระบบได้เร็วขึ้นซึ่งปัจจุบันใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกงไปแล้วกว่า 50,000 ตัน และคาดว่าจะสามารถรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ ตามมติ กนป เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2562 ได้ครบตามเป้า 160,000 ตัน ภายในวันที่
20 เมษายน 2562  และ กฟผ จะใช้น้ำมันปาล์มทั้งหมดในการผลิตไฟฟ้าได้ภายในเดือนปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนมิถุนายนนี้

 

          การส่งออกน้ำมันไบโอดีเซล B100

– ปตท. ได้รับมอบหมาย ให้พิจารณาการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ( CPO) จำนวน 100,000 ตัน มาเก็บสต๊อกไว้เพื่อนำมาผลิตเป็น B100 ส่งออก  โดยให้หารือแนวทางการดำเนินการร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ในเรื่องแนวทางการชดเชยค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในกระบวนการดังกล่าว ซึ่งจะมีการรายงานแนวทางการดำเนินการต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อนำเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี เป็นการต่อไป

 

          นโยบายการส่งเสริมน้ำมันดีเซล B20

          -กรมธุรกิจพลังงาน คาดว่าในเดือนมีนาคมนี้จะมีปริมาณการใช้น้ำมัน B20 ปริมาณ 25 ล้านลิตร โดยตั้งเป้าจะขยายกลุ่มผู้ใช้ไปยังกลุ่มรถยนต์ดีเซลขนาดเล็กให้สามารถใช้น้ำมัน B20 ได้ โดยจะทราบผลการหารือกับผู้จำหน่ายรถยนต์ได้ภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งปัจจุบันมีสถานีที่จำหน่ายน้ำมัน B20 จำนวน 116 สถานี และ Fleet ที่ใช้ 173 แห่ง  ในอนาคตกระทรวงพลังงานจะมีการผลักดันให้ใช้ B20 ปริมาณ 15 ล้านลิตร/วัน และ B7 ที่50 ล้านลิตร/วัน ซึ่งจะสามารถดูดซับ CPO ได้ 2 ล้านตัน/ปี

ก.พลังงาน จับมือ World Economic Forum ชูบทบาทอาเซียนพร้อมเป็นผู้นำระดับภูมิภาค ด้านระบบพลังงานต่อการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคต

ก.พลังงาน จับมือ World Economic Forum ชูบทบาทอาเซียนพร้อมเป็นผู้นำระดับภูมิภาคด้านระบบพลังงานต่อการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคต
แจงข่าวดี ไทยได้เลื่อนลำดับประเทศที่มีความพร้อมสู่ระบบพลังงานในอนาคตเกินค่ามาตรฐานโลก

วันนี้ (25 มี.ค. 2562) ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ Mr.Roberto Bocca, Head of Future of Energy and Materials, Member of the Executive Committee, World Economic Forum (นายโรแบรโต้ บาคคา ประธานด้านพลังงานและผลิตภัณฑ์แห่งอนาคตและกรรมการบริหารสภาเศรษฐกิจโลก) ร่วมกันแถลงข่าว “อาเซียนกับการเป็นผู้นำระดับภูมิภาคด้านระบบพลังงานต่อการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคต” ณ ศูนย์เอ็นเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ ชั้น 6 อาคารซี ถนนวิภาวดี กรุงเทพฯ

ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากผลการสรุปภาพรวมรายงานประจำปี  (Global Energy Transitions Index 2019) ของ World Economic Forum (WEF) หรือสภาเศรษฐกิจโลก เรื่องการสนับสนุนระบบพลังงานต่อการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ  โดยผลสรุปรายงานฯ นี้ จะเป็นการวัดความพร้อมของระบบพลังงานต่อการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคต โดยในปี 2562 มีการจัดลำดับทั้งหมด 115 ประเทศทั่วโลก และเป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งว่า ประเทศไทยได้รับการจัดลำดับที่ดีเพิ่มขึ้นถึง 3 ลำดับ โดยมาอยู่ที่ลำดับที่ 51 จากเดิมลำดับที่ 54 ในปี 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งการเลื่อนลำดับดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงและการเข้าถึงพลังงาน และความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม โดยประเทศไทย ยังมีคะแนนด้านประสิทธิภาพของระบบพลังงาน และความพร้อมสู่ระบบพลังงานในอนาคตเกินกว่าค่ามาตรฐานโลกอีกด้วย

ทั้งนี้ การจัดลำดับในรายงานของ WEF ครั้งนี้ ถือเป็นการวัดด้านประสิทธิภาพของระบบพลังงาน มีผลวิเคราะห์ข้อมูลที่ตรวจสอบอ้างอิงได้ โดยที่ผู้กำหนดนโยบายสามารถนำข้อมูลไปเพิ่มประสิทธิภาพของระบบพลังงานของประเทศได้ โดยลำดับ 1 – 5 ของประเทศที่มีความพร้อมของระบบพลังงานต่อการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคต ได้แก่ ประเทศสวีเดน รองลงมาได้แก่ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ฟินแลนด์ และเดนมาร์ก ตามลำดับ

Mr.Roberto Bocca  กล่าวว่า  World Economic Forum เชื่อมั่นว่า ชาติในอาเซียนจะมีบทบาทสำคัญต่อการเป็นผู้นำระดับภูมิภาคด้านระบบพลังงานต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และจะเป็นชาติที่มีความพร้อมในการปฏิบัติการดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการริเริ่มแนวทางการกำหนดนโยบายพลังงานในรูปแบบใหม่ๆ  และการหาพันธมิตรความร่วมมือทางพลังงาน จะเป็นแก่นสำคัญของการรับมือความท้าทายทางพลังงานของอาเซียน เนื่องจากจะไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่งที่ระบบพลังงานจะพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตได้เพียงประเทศเดียว และถือได้ว่าชาติในอาเซียน อยู่ในตำแหน่งที่ดีที่แสดงความเป็นผู้นำในการผลักดันกลยุทธ์ระดับประเทศและระดับภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของประเทศไทย ในปี 2562 นี้  World Economic Forum พร้อมจะให้การสนับสนุนแผนพัฒนาความพร้อมสู่ระบบพลังงานในอนาคตของอาเซียน โดยจะได้ใช้ประโยชน์จากดัชนีวัดความพร้อมของระบบพลังงานของประเทศต่อการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคต  ควบคู่ไปกับความร่วมมือด้าน

ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รมว.พลังงาน (ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์) ร่วมกับ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดตัวโครงการ “โซลาร์ภาคประชาชน”

ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รมว.พลังงาน (ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์) ร่วมกับ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดตัวโครงการ “โซลาร์ภาคประชาชน” ให้เจ้าของบ้านและอาคารที่อยู่อาศัยที่ต้องการติดตั้งแผงเซลล์ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้เอง สามารถเชื่อมกับระบบไฟฟ้าของประเทศ และขายผลผลิตไฟฟ้าส่วนที่เหลือใช้เข้าสู่ระบบได้

รมว.พลังงาน (ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์) ได้กล่าวเปิดการแถลงข่าว เปิดตัวโครงการ “โซลาร์ภาคประชาชน” ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562 ได้มีมติเห็นชอบแผนการพัฒนาระบบไฟฟ้าฉบับใหม่ PDP2018 ในการเสริมสร้างระบบพลังงานไฟฟ้าของประเทศที่มั่นคง ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ในราคาที่ส่งเสริมให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศสามารถแข่งขันได้ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ด้วยการใช้วิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีตามแนวพัฒนาประเทศสู่ Thailand 4.0 ให้เป็นระบบไฟฟ้าทันสมัยให้สามารถรองรับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและมาตรการอนุรักษ์พลังงานได้สูงถึง 35% ในปี 2580 ซึ่งการใช้ แผงเซลล์ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (Photo Voltaic Solar Cell) ถือเป็นส่วนสำคัญของแผนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนดังกล่าว ในสัดส่วนมากกว่า 50% ด้วยกำลังผลิตติดตั้งรวม 12,725 MW และจากนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนให้ประชาชนที่ต้องการมีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง ให้สามารถเชื่อมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบไฟฟ้าของประเทศ และขายผลผลิตไฟฟ้าส่วนที่เหลือใช้ในบางเวลาเข้าสู่ระบบได้   ซึ่งนอกจากจะประหยัดค่าไฟฟ้าแล้ว ยังมีรายได้เสริมจากการขายไฟฟ้าส่วนที่เหลืออีกด้วย

โครงการ “โซลาร์ภาคประชาชน” ที่ กกพ. เปิดตัวในวันนี้ เป็นการดำเนินการตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่ได้กำหนดหลักการโครงการนำร่องการรับจดทะเบียนเจ้าของบ้านและอาคาร  ที่เป็นเจ้าของมิเตอร์ ประเภทบ้านอยู่อาศัย ที่ต้องการติดตั้งแผงเซลล์ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้เอง สามารถเชื่อมกับระบบไฟฟ้าของประเทศ และขายผลผลิตไฟฟ้าส่วนเกินความต้องการใช้ เข้าสู่ระบบได้ ในขนาดการติดตั้งประมาณ 100 MW ต่อปี เป็นระยะเวลา 10 ปี โดยคาดว่าจะเริ่มรับจดทะเบียนได้ตั้งแต่ เดือนพฤษภาคมนี้ เป็นต้นไป และในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็จะได้ออกมาตรการสนับสนุนให้ผู้ผลิตแผงโซล่าเซลล์และผู้ประกอบการติดตั้งระบบในประเทศ และสถาบันอาชีวะศึกษา ให้มีส่วนร่วมในธุรกิจการติดตั้งและบำรุงรักษาระบบ ที่ในแต่ละปีคาดว่าจะมีการติดตั้งประมาณ 10,000 – 20,000 ระบบ เป็นมูลค่าประมาณ 4,000 ล้านบาท/ปี หรือประมาณ 40,000 ล้านบาท ตลอดระยะเวลาโครงการ 10 ปี ทั้งนี้หลักการของโครงการจะได้มีการนำเสนอ  โดย กกพ. ในลำดับต่อไป

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)  เปิดเผยว่า ภายใต้นโยบายของ กกพ.  ได้แก่ การเปิดเผยข้อมูล การสร้างความเข้าใจ และการสร้างความโปร่งใส ในกระบวนการพิจารณาทุกขั้นตอน ให้กับประชาชนที่ต้องการเข้าร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้โครงการฯประสบความสำเร็จและเกิดประโยชน์สูงสุดเป็นไปตามเป้าหมาย และนโยบายของรัฐบาล

“การประกาศรับซื้อไฟฟ้าภายใต้โครงการโซลาร์ภาคประชาชนครั้งนี้ จะเป็นมิติใหม่ในการกำกับดูแลภาคพลังงานของ กกพ. เพราะนอกเหนือจากการที่ กกพ. ออกระเบียบและหลักเกณฑ์ในการจัดหาไฟฟ้า และออกประกาศเชิญชวนตามปกติแล้ว กกพ. ยังจะอำนวยความสะดวกด้านการให้ข้อมูล และการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลครบถ้วนในการตัดสินใจ และยืนยันทุกคนจะได้รับการพิจารณาอย่างโปร่งใส และเป็นธรรม” นายเสมอใจกล่าว

สำหรับขั้นตอนในการดำเนินการ ประกอบด้วย

  1. สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) จะเริ่มกระบวนการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โครงการฯ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562 โดยประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถติดต่อเพื่อสอบถามข้อมูลได้ที่ 02-207-3599 หรือติดตามจากเว็บไซต์ สำนักงาน กกพ. ที่ www.erc.or.th และเว็บไซต์ของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายทั้ง 2 แห่ง
  2. เปิดรับลงทะเบียนสำหรับผู้สนใจเข้าร่วมโครงการผ่านเว็บไซต์ของการไฟฟ้านครหลวงและเว็บไซต์ ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และหมดเขตรับลงทะเบียนภายในปี 2562
  3. ทยอยประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาโดยการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562
  4. กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ภายในปี 2562

นายเสมอใจ กล่าวว่า อยากให้ประชาชนได้มีการศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดถี่ถ้วนด้วย โดยเฉพาะการพิจารณาผลประโยชน์ที่จะได้รับ ซึ่งโครงการฯ ดังกล่าวประชาชน จะต้องมีการลงทุนเพื่อติดตั้งระบบ ดังนั้น ควรต้องคำนึงถึงความคุ้มทุนที่จะเกิดขึ้นกับการลงทุนด้วย ซึ่งความคุ้มค่าการลงทุนจะขึ้นกับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนเป็นหลัก และอยากให้มีการเปรียบเทียบ กับปริมาณความต้องการ และช่วงเวลา ในการใช้ไฟฟ้า เช่น หากมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวันมากอยู่แล้ว ระยะเวลาในการคุ้มทุนย่อมเร็วกว่า เป็นต้น

นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงาน กกพ. เปิดเผยถึงหลักเกณฑ์การประกาศรับซื้อไฟฟ้าภายใต้โครงการฯ ประกอบด้วย

  1. คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ :

1.1 บุคคลหรือนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า

1.2 เป็นผู้ที่มีเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าประเภทที่ 1 ตามประกาศอัตราค่าไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย

ไม่เกิน 10 KW ต่อครัวเรือน

  1. เป้าหมาย และปริมาณการรับซื้อรวม 100 เมกะวัตต์ :

2.1. พื้นที่การไฟฟ้านครหลวงรวม 30 เมกะวัตต์

2.2. พื้นที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาครวม 70 เมกะวัตต์

  1. เงื่อนไขในการพิจารณา และข้อยกเว้น :

การพิจารณาแบบเรียงลำดับก่อนหลังตามความพร้อม (First come First served) โดยจะยึดถือวันและเวลาที่ได้รับแบบคำขอที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์ของเอกสารหลักฐานที่กำหนดเป็นสำคัญ

  1. ราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในอัตราไม่เกิน 1.68 บาท/หน่วย ระยะเวลารับซื้อ 10 ปี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แถลงข่าวติดตามความคืบหน้าโครงการพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำในพื้นที่เขื่อน กฟผ.

วันนี้ (18 มีนาคม 2562) ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (รมว.พน.) แถลงข่าวติดตามความคืบหน้าโครงการพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำในพื้นที่เขื่อน กฟผ. โดยมี นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายธวัชชัย จักรไพศาล รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กฟผ. และนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ. ร่วมให้ข้อมูล ณ ห้องประชุม 201 อาคาร ท.100 สำนักงานใหญ่ กฟผ. อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พน. กล่าวว่า ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2018) ในสัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ได้มอบหมายให้ กฟผ. ดำเนินงานโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ บนทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ หรือ Hydro-Floating Solar Hybrid รวมกำลังการผลิต 2,725 เมกะวัตต์ ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 10 ปี โดยให้นำร่องโครงการแรกที่เขื่อนสิรินธร ขนาด 45 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการไฮบริดแห่งแรกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่จะช่วยให้เกิดความมั่นคงของระบบไฟฟ้าและบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ด้าน นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวถึงแผนนำร่องโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ บนทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำโครงการแรกที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี กำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์ ใช้พื้นที่ผิวน้ำในการติดตั้ง 450 ไร่ ซึ่งเชื่อมโยงระบบพลังน้ำ โดยใช้ทรัพยากรร่วมกับเขื่อน ได้แก่ หม้อแปลง สายส่ง และสถานีไฟฟ้าแรงสูง เป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการระเหยของน้ำ ช่วยเสริมความมั่นคงในระบบไฟฟ้า ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการน้ำ เสริมความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในระบบช่วงกลางคืนเพื่อลดการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ลดการใช้พื้นที่ทางการเกษตร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าของแผงโซล่าเซลล์เนื่องจากมีอุณหภูมิต่ำที่ผิวน้ำ และเป็นจุดแลนมาร์คใหม่สำหรับการท่องเที่ยว
โดยรายละเอียดโครงการเป็นการออกแบบติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมดบนทุ่นลอยน้ำ และใช้แผงโซลาร์เซลล์ชนิด Double glass เนื่องจากมีความเหมาะสมกับสภาพการใช้งานที่วางแผงโซลาร์เซลล์ใกล้ผิวน้ำ ซึ่งมีความชื้นสูงและยังมีการเคลื่อนไหวของผิวน้ำตลอดเวลา ทั้งนี้ กฟผ. จะออกประกาศเชิญชวนในวันที่ 15พฤษภาคม 2562และยื่นซองประมูลภายในสิ้นเดือนกรกฎาคม 2562 และจะประกาศผู้ชนะภายในสิ้นเดือนตุลาคม 2562คาดว่าจะเริ่มดำเนินการโครงการเดือนมกราคม 2563 เพื่อให้สามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ทันตามแผนในเดือนธันวาคม 2563

 

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แถลงข่าวเพิ่มการใช้น้ำมันปาล์มผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง

วันนี้ (18 มีนาคม 2562) ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (รมว.พน.) แถลงข่าวเพิ่มการใช้น้ำมันปาล์มผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา และพิจารณาเพิ่มจุดรับซื้อน้ำมันปาล์มเพิ่มเติม โดยมี นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายธวัชชัย จักรไพศาล รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กฟผ. และนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ. ร่วมให้ข้อมูล ณ ห้องประชุม 201 อาคาร ท.100 สำนักงานใหญ่ กฟผ. อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี

ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พน. กล่าวว่า จากมาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศของรัฐบาล
ที่กระทรวงพลังงานได้มอบหมายให้ กฟผ. ดำเนินการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มมาผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2562 มอบหมายให้ กระทรวงพลังงาน โดย กฟผ. เพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า จากวันละ 1,000 ตัน เพิ่มกำลังการผลิตเป็นวันละ 1,500 ตัน เพื่อเร่งดูดซับปริมาณน้ำมันปาล์มดิบออกจากระบบได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นราคาผลปาล์มให้มีราคาสูงขึ้น และขอให้ กฟผ. ดำเนินการเพิ่มจุดรับน้ำมันปาล์มดิบที่ จ.สุราษฎร์ธานี อย่างเร่งด่วน คาดว่าจะทำให้เกษตรกรสามารถขายปาล์มดิบได้ในราคากิโลกรัมละ 3 บาท – 3.2 บาท อย่างต่อเนื่อง

ด้าน นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยถึงความคืบหน้าแนวทางการเพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบ ในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนบางปะกง หน่วยที่ 3 ว่า ขณะนี้ กฟผ. อยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตเพื่อให้สามารถรองรับการเดินเครื่องที่เพิ่มขึ้นจาก คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โดย กฟผ. ได้ดำเนินการทดสอบระบบการเดินเครื่องทางเทคนิครองรับการเพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นวันละ 1,500 ตัน เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะใช้น้ำมันปาล์มดิบได้หมดภายในต้นเดือนมิถุนายน 2562 ซึ่งเร็วขึ้นประมาณ 2 เดือน จากเดิมที่กำหนดไว้ปลายเดือนกรกฎาคม 2562

ในส่วนการรับซื้อน้ำมันปาล์มมีผู้จำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบให้ กฟผ. จำนวนทั้งสิ้น 31 ราย รวมปริมาณ 155,000 ตัน โดย กฟผ. ได้ดำเนินการจัดทำสัญญาร่วมกับผู้จำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบเรียบร้อยแล้ว ปริมาณ 126,000 ตัน คงเหลือปริมาณที่อยู่ระหว่างการจัดทำสัญญา 29,000 ตัน และอยู่ระหว่างกรมการค้าภายในจะแจ้งมาอีก 5,000 ตัน ซึ่งจะทำให้ครบ 160,000 ตัน ทั้งนี้ กฟผ. ได้รับมอบน้ำมันปาล์มดิบแล้วจำนวน 42,000 ตัน โดยใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าประมาณ วันละ 1,000 ตัน รวมปริมาณที่ใช้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว 34,000 ตัน (ข้อมูล ณ วันที่ 16 มี.ค.62) และอยู่ระหว่างการส่งมอบ 118,000 ตัน นอกจากนั้น กฟผ. กำลังดำเนินการพิจารณาเพิ่มจุดรับซื้อเพิ่มเติมที่คลัง จ.สุราษฎร์ธานี โดยจะเร่งดำเนินการชำระเงินให้แก่โรงสกัดที่จัดทำเอกสารเรียกเก็บเงินครบถ้วนให้แล้วเสร็จภายใน 7 วันทำการ (จากเดิม 15 วันทำการ) เพื่อให้โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มมีความสามารถในการรับซื้อผลปาล์มทะลายจากเกษตรกรได้มากขึ้น

ด้าน นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้ประสานงานกับกระทรวงพาณิชย์ในการดำเนินงานรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม เพื่อใช้น้ำมันปาล์มดิบในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนบางปะกง หน่วยที่ 3 อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ให้ราคาผลปาล์มไม่ต่ำกว่า 3 บาทต่อกิโลกรัม ตามนโยบายรัฐบาล และขอบคุณ กฟผ. ที่สนองตอบการดำเนินงานตามแนวทางของกระทรวงพลังงาน

 

กระทรวงพลังงาน หารือร่วมกับผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายแผงโซล่าเซลล์ ส่งเสริมนโยบายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์

วันนี้ (13 มีค.2562) ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ประชุมร่วมกับผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายแผงโซล่าเซลล์ มากกว่า 50 ราย ในประเด็นเรื่อง “นโยบายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์” ซึ่งการประชุม ฯ ในวันนี้ เป็นการให้ข้อมูลสถานการณ์ปัจจุบันที่เกี่ยวกับแผนงานของรัฐบาลในเรื่องของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ให้ผู้ประกอบการรับทราบข้อมูล เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการนำไปพัฒนา และวางแผนการลงทุนในอนาคต

ดร.ศิริ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ไปแล้วทั้งสิ้น 3,449 MW (ข้อมูล ธ.ค.2561) ประกอบด้วย solar farm, solar PV rooftop และโครงการต่างๆ ของภาครัฐ ซึ่งกระทรวงพลังงานได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ติดตั้งไปแล้ว 3,250 MW จากเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 6,000 MW ตามแผน PDP 2015 ทำให้ยังคงเหลืออีก 2,750 MW ต่อมาได้จัดทำแผน PDP 2018 โดยมีเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นอีก 12,725 MW ในอีก 18 ปี ข้างหน้า โดยแบ่งแยกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ โซลาร์ภาคประชาชน 10,000 MW และจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในโครงการผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ 2,725 MW ทั้งมีการมอบหมายให้ กกพ. พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ในกรณีการไฟฟ้ารับซื้อไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากที่ใช้เองจากครัวเรือนต่างๆ ด้วย เพื่อให้สร้างความเข้าใจที่ตรงกันทุกฝ่าย นำมาซึ่งการบรรลุเป้าหมายที่วางไว้
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน ยังได้มีการดำเนินการส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อชุมชน เช่น โครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ โดยติดตั้งแล้วเสร็จ 1,087 แห่ง กำลังจะติดตั้งเพิ่มเติมอีก 1,446 แห่งในปี 2562 นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมโครงการระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในโรงเรียนห่างไกล 439 แห่ง, และโครงการระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่ห่างไกล 239 แห่ง

ดร.วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักนโยบายไฟฟ้า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กล่าวว่า ครม. เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2562 รับทราบมติ กพช. ที่เห็นชอบ PDP 2018 ซึ่งตาม PDP 2018 พบว่า ตั้งแต่ปี 2568 มีความจำเป็นต้องลงทุนโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ โดยมีการพิจารณาการลงทุนเพิ่มนั้นจะพิจารณาเป็นรายภาค สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนนั้นจะมีการพิจารณาศักยภาพเชื้อเพลิงรายพื้นที่นั้นๆ โดยตาม PDP 2018 ในระยะยาวมีเป้าหมายกำลังการผลิตติดตั้งรวม 18,175 MW โดยเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์รวมประมาณ 12,275 MW แบ่งเป็น โซลาร์ภาคประชาชน 10,000 MW และ Floating Solar อีกประมาณ 2,725 MW

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ในระยะแรก กกพ. จักมีโครงการทดลอง โซล่าร์ภาคประชาชน สำหรับภาคครัวเรือน ไม่เกิน 100 MW ภายในปี 2562 ด้วยราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในอัตราไม่เกิน 1.68 บาท/หน่วยในระยะเวลารับซื้อส่วนเกิน 10 ปี โดยผู้เข้าร่วมโครงการต้องมีการเปลี่ยนมิเตอร์เป็นแบบสองทางด้วย ทั้งนี้ กกพ.จะมีการจัดรับฟังความเห็นร่างระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าฯตั้งแต่ 16 มีนาคม 2562 – 1 เมษายน 2562 หลังจากนั้นการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจะเปิดลงทะเบียนและรับข้อเสนอโครงการข่วงเดือน พฤษภาคม – กรกฎาคม 2562 และจะมีการประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการพิจารณา รวมทั้งลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้แล้วเสร็จภายในตุลาคม 2562

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามแผน PDP2015 กฟผ. จะเริ่มโครงการนำร่อง Hydro Floating Solar Hybrid ที่เขื่อนสิริธร ขนาดกำลังการผลิต 45 MW โดยมีแผนเปิดดำเนินงาน (COD) ภายในธันวาคม 2563 ในพื้นที่โครงการวม 760 ไร่ เป็นพื้นที่ผิวน้ำประมาณ 45 ไร่สำหรับติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ ไม่รวมส่วนยึดโยงต่างๆ โดยปัจจุบัน กฟผ. อยู่ระหว่างการออกแบบโครงการเบื้องต้น ซึ่งส่วนประกอบสำคัญได้แก่ (1) Double Glass Type PV Panel (2) HDPE Pontoon (3) ระบบยึดโยงที่รองรับระดับน้ำที่มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงอย่างมา โดยใช้แบบ Bottom Anchoring ที้งนี้ กฟผ. มีแผนการเปิดประมูลจัดซื้อจัดจ้างในเดือนพฤษภาคม 2562

นายวิรัช มณีขาว ผู้อำนวยการกลุ่มออกแบบมาตรฐานและทดสอบ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานมีโครงการหลัก 2 โครงการได้แก่
(1) โครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ในเขตพื้นที่ชนบทตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 – 2558 รวม 100 แห่ง ระบบละไม่น้อยกว่า 2 kW
(2) โครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้งตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 ซึ่งรวมดำเนินการแล้ว 846 แห่ง ระบบละไม่น้อยกว่า 2.5 kW ครอบคลุม 56 จังหวัด

และนายธนธัช จังพานิช ผู้จัดการสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า กิจกรรมส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพขีวิตของประชาชนและลดความเหลื่อมล้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (สนับสนุนโครงการไทยนิยมยั่งยืน) มีวัตถุประสงค์ (1) ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดต้นทุนและขยายโอกาสทางการเกษตร (2) ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ทางไกลและนวัตกรรมทางการศึกษา (3) ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบท โดยมีกำลังการผลิตรวมของทั้ง 3 ระบบเป็น 7,709 kW และ 13,407 kW สำหรับผลการดำเนินงานปีงบประมาณ 2561 (เพิ่มเติม) และปีงบประมาณ 2562 ตามลำดับ

ก.พลังงาน จับมือ ก.พาณิชย์ เดินหน้าดูดซับสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ สร้างสมดุลย์ราคาช่วยเหลือเกษตรกรปาล์มน้ำมันต่อเนื่อง

ในวันนี้ (1 มี.ค. 2562) ณ ห้องประชุมชั้น 15 กระทรวงพลังงาน  ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ร่วมกับ นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประชุมกับหน่วยราชการของทั้ง     2 กระทรวง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 เพื่อติดตามผลการดำเนินงานตามมาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มของรัฐบาลในการกระตุ้นให้ราคาทลายปาล์มสดอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 3 บาท/กก อย่างต่อเนื่อง โดยมีผลการประชุมสรุปได้ดังนี้

  1. เพื่อรณรงค์เพิ่มการใช้น้ำมัน B20 ให้มากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ในการประชุมเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 ได้มีมติขยายระยะเวลาการใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสร้างส่วนลดราคาน้ำมันดีเซล B20 ให้ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลเกรดทั่วไป ลิตรละ 5 บาท ต่อไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 62 ถึง 31 พฤษภาคม 62
  2. ให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 เร่งขยายเครือข่ายสถานีบริการ (ปั๊มน้ำมัน) ที่มีหัวจ่ายน้ำมันดีเซล B20 เพิ่มเติม จากปัจจุบันที่มีจำหน่ายแล้ว รวม 42 แห่ง (ประกอบด้วย บมจ. ปตท.น้ำมันและค้าปลีก 5 แห่ง บมจ.บางจาก 21 แห่ง บจ.ซัสโก้ ดิลเลอร์ 1 แห่ง และบมจ.ซัสโก้ 15 แห่ง) นอกจากนี้ ยังได้รับแจ้งจาก บจ.เชลล์แห่งประเทศไทย และ บมจ.พีทีจี เอ็นเนอร์ยี่ ที่มีแผนงานจะเริ่มจำหน่ายน้ำมัน B20 ในสถานีบริการ ภายในเดือนมีนาคม 62 นี้
  3. รับทราบรายงานสถิติยอดจำหน่ายน้ำมันดีเซล B20 ในเดือนกุมภาพันธ์ 62 ที่กว่า 15 ล้านลิตร ซึ่งเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากยอดจำหน่ายประมาณ 8 ล้านลิตรในเดือนมกราคม โดยกระทรวงพลังงานได้ตั้งเป้าหมายการจำหน่ายน้ำมัน B20 ในเดือนมีนาคมที่ 30 ล้านลิตร และจะเพิ่มเป็น 90 ล้านลิตร/เดือน ภายในเดือนพฤษภาคม 2562 นี้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มการดูดซับน้ำมันปาล์มดิบได้สูงถึงประมาณ 1.6 ล้านตัน/ปี
  4. รับทราบความคืบหน้าในการจัดหาน้ำมันปาล์มดิบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง ซึ่งปัจจุบันได้ทำสัญญาซื้อน้ำมันปาล์มดิบกับโรงสกัดน้ำมันปาล์มผู้ขาย 23 ราย รวมปริมาณน้ำมันปาล์มดิบตามสัญญาเท่ากับ 118,000 ตัน โดยมีกำหนดการจัดส่งอย่างต่อเนื่องในอัตรา 30,000 ตัน/เดือน และได้จัดส่งจากโรงสกัดน้ำมันปาล์มผู้ขายถึงโรงไฟฟ้าบางปะกงแล้ว 24,000 ตัน และใช้เป็นเชื้อเพลิงแล้ว 16,000 ตัน ทั้งนี้ได้ร่วมมือกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จัดหาน้ำมันปาล์มดิบครบ แล้ว 160,000 ตัน ในวันที่ 1 มีนาคม 62 รวมทั้งติดตามให้มั่นใจว่าโรงสกัดน้ำมันปาล์มผู้ขายจะรับซื้อทลายปาล์มสดจากเกษตรกรสวนปาล์ม ในราคา 20-3.24 บาท/กก ตามสัญญา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาซื้อขายน้ำมันปาล์มดิบระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับผู้จำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบ

ก.พลังงาน ชูความร่วมมือกฟผ. กรมการค้าภายใน และผู้จำหน่าย 22 ราย ลงนามซื้อขายน้ำมันปาล์มดิบ 83,000 ตัน เพื่อเร่งปรับสมดุลและพยุงราคาน้ำมันปาล์มช่วยเหลือเกษตรกรต่อเนื่อง

ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาซื้อขายน้ำมันปาล์มดิบระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับผู้จำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบ จำนวน 22 ราย ในปริมาณรวม 83,000 ตัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามมาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศของรัฐบาล โดยมีนางจินตนา ชัยวรรณาการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงพาณิชย์ นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน นายยงยุทธ จันทรโรทัย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. และผู้บริหาร กฟผ. เข้าร่วมในพิธี ณ สำนักงานใหญ่ กฟผ.

โดยความร่วมมือกฟผ. กับกรมการค้าภายในครั้งนี้ สามารถดำเนินการได้ตามที่รัฐบาลมีมาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรแก้ไขปัญหาราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ ซึ่งให้กฟผ.รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 160,000 ตัน ในราคากิโลกรัมละ 18 บาท เพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนบางปะกง หน่วยที่ 3 เป็นไปได้ตามแผนด้วยดี และการนำน้ำมันปาล์มดิบมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า จะไม่กระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชนแต่อย่างใด เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจะไม่นำไปคิดรวมกับค่าเอฟที

สำหรับผู้จำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบทั้ง 22 ราย เป็นผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจากกรมการค้าภายในว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่คณะอนุกรรมการบริหารและกำกับดูแลมาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศกำหนด คือ ต้องมีสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบขั้นต่ำไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของปริมาณที่เสนอจำหน่าย และเป็นผู้มีความสามารถในการขนส่ง เก็บรักษา และส่งมอบน้ำมันปาล์มดิบให้กับ กฟผ. โดยผู้ที่มีสิทธิ์เสนอจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบได้เสนอราคารับซื้อผลปาล์มน้ำมันจากเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร ตั้งแต่กิโลกรัมละ 3.10-3.25 บาท ซึ่งสามารถช่วยพยุงราคาผลปาล์มน้ำมันให้สูงกว่า 3 บาทต่อกิโลกรัมตามแผนที่วางไว้

ก.พลังงาน ยืนยันใช้น้ำมันดีเซล คุณภาพยูโร 5 ลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 อย่างยั่งยืน

เพื่อเร่งรัดมาตรการลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐานหรือ PM 2.5 โดยเร็วและยั่งยืน กระทรวงพลังงานโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์)  จึงได้จัดการประชุมร่วมกับผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิง และผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมัน ในการพิจารณามาตรการร่วมมือกันลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จากรถยนต์ ซึ่งได้ข้อสรุปยืนยันว่า ผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันในประเทศทั้ง 6 ราย พร้อมที่จะผลิตน้ำมันดีเซลคุณภาพยูโร 5 ได้ทั้งหมดภายในปี 2566 โดยในระหว่างที่ยังไม่สามารถผลิตน้ำมันดีเซลคุณภาพยูโร 5 ได้เพียงพอ ก็จะร่วมมือกันในมาตรการเร่งด่วน ดังนี้

  • พิจารณาหามาตรการสร้างแรงจูงใจ เพื่อให้ผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันในประเทศ เกิดการจำหน่ายน้ำมันดีเซลคุณภาพยูโร 5 ให้แพร่หลายยิ่งขึ้น
  • ศึกษาแนวทางการปรับลดสัดส่วนกำมะถันในน้ำมันดีเซล มาตรฐานยูโร 4 โดยให้ลดในระดับต่ำสุดเท่าที่จะดำเนินการได้ เพื่อให้มาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น ลดการปล่อยมลพิษในอากาศ โดยคาดว่าจะมีผลการศึกษาภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 นี้ ซึ่งเบื้องต้น จะศึกษาถึงแนวทางการลด จากค่ามาตรฐานเดิม 50 พีพีเอ็มซัลเฟอร์ ลดลงเหลือประมาณ 30 พีพีเอ็มซัลเฟอร์ ซึ่งจะช่วยรักษาคุณภาพอากาศให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
  • เร่งรณรงค์เพิ่มการใช้น้ำมันดีเซลเกรดพิเศษ B20 ให้มากยิ่งขึ้น โดยเตรียมความพร้อมถึงการทดสอบในกลุ่มรถยนต์ทั่วไป จากปัจจุบันที่มีการใช้เฉพาะในกลุ่มรถบรรทุก รถโดยสารขนาดใหญ่ และเรือโดยสารสาธารณะ ว่าผลการทดสอบ B20 ไม่มีผลต่อเครื่องยนต์ และค่ายรถยนต์ให้การยอมรับมาตรฐาน โดยขณะนี้จากผลทดสอบการใช้ B20 ในรถของขสมก. จำนวน 2,075 คัน พบว่าสามารถลดปัญหาการปล่อยควันดำไอเสีย ได้สูงถึงร้อยละ 50 ซึ่งนอกจากจะช่วยบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 5 ดังกล่าวแล้ว ยังเป็นการช่วยรักษาสมดุลย์ราคาปาล์มน้ำมัน และช่วยเหลือเกษตรกรได้อีกทางหนึ่งด้วย

กระทรวงพลังงาน พาชุมชนรวย ช่วยชาติ ช่วยประชาชนด้วย “พาราโบล่าโดม”

ต้อนรับเทศกาลวันตรุษจีน (4 กพ.) ด้วยเรื่องราวดีๆ จากดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ได้เป็นประธานเปิดสัมมนาโครงการเผยแพร่ผลการดำเนินงานโครงการสนับสนุนการลงทุนติดตั้งใช้งานระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ และการจัดตลาดนัดสินค้าอบแห้งจากพาราโบล่าโดม เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของการใช้พลังงานทางเลือกในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และร่วมกันขยายผล และส่งเสริมการใช้งานระบบอบแห้งฯ ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
โดยโครงการฯ (เริ่มตั้งแต่ปี 2554 – 2561) ได้ให้การสนับสนุนส่งเสริมการใช้งานระบบอบแห้งฯ รวม 256 ระบบ คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 30,417.9 ตารางเมตร เป็นจำนวนเงินสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ประมาณ 102 ล้านบาท เกิดการเงินลงทุนรวม 340 ล้านบาท ก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการใช้งานอบแห้งผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายชนิด อาทิ กล้วยตาก ข้าวแต๋น ผัก ผลไม้อบแห้ง ถั่วลิสงอบแห้ง แมคคาเดเมีย ลูกเดือย งา เครื่องเทศ สมุนไพร ชา กาแฟ เนื้อสัตว์ ปลา อาหารทะเล อาหารเสริมสุขภาพจากมังคุด และผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ไม่ใช่อาหารเช่น ลูกประคบ อาหารสุนัข หมอนยางพารา และกากของเสียที่ได้ภายหลังจากการผลิตก๊าซชีวภาพ เป็นต้น
ผลที่ได้รับจากโครงการ ฯ เกิดผลประโยชน์รวม 66 ล้านบาทต่อปี จากการประหยัดเชื้อเพลิง 4 ล้านบาทต่อปี ลดความเสียหายผลิตภัณฑ์ 22 ล้านบาทต่อปี เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ 40 ล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 4,942 ตัน/ปี รวมทั้งก่อให้เกิดประโยชน์หลายด้าน เช่น การลดการสูญเสียผลิตผลทางการเกษตร การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยลดระยะเวลาในการอบแห้ง สามารถอบแห้งได้ในฤดูฝน ลดต้นทุนด้านพลังงาน เพิ่มคุณภาพสินค้า ตลอดจนเกิดแหล่งเรียนรู้การใช้พลังงานแสงอาทิตย์แปรรูปสินค้าเกษตรหลายแห่ง
สำหรับผู้สนใจรายละเอียด สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.solardryerdede.com

ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดการจำหน่ายน้ำมันดีเซล บี20 ภายในสถานีบริการน้ำมัน เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้เกียรติร่วมเป็นประธานใน พิธีเปิดการจำหน่ายน้ำมันดีเซล บี20 ภายในสถานีบริการน้ำมัน เป็นครั้งแรกในประเทศไทย   ณ สถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น สาขาวงแหวนตะวันตก (ขาเข้า) จังหวัดปทุมธานี  โดยมี นายกุลิศ  สมบัติศิริ  ปลัดกระทรวงพลังงานนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  และ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ พีทีที โออาร์ ร่วมพิธีเปิดการจำหน่ายฯ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึง สถานการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เกินมาตรฐาน ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพและสร้างความกังวลใจให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก กระทรวงพลังงานจึงเร่งสนองนโยบายรัฐบาล ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในด้านพลังงาน เพื่อร่วมกันช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน ผ่านพ้นวิกฤตการณ์นี้ไปได้โดยปลอดภัยโดยเร็วที่สุด  อีกทั้งยังได้ มีการปรับราคาจำหน่ายน้ำมันดีเซล บี20 ระหว่างเดือน ธันวาคม 2561 – กุมภาพันธ์ 2562 ให้ต่ำกว่าน้ำมันดีเซล บี7 อยู่ 5 บาทต่อลิตร และหลังจากนั้นจะต่ำกว่า 3 บาทต่อลิตร โดยเป็นผลจากการลดอัตราการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และการลดภาษีสรรพสามิต ซึ่งคาดว่าราคาจำหน่ายน้ำมันดีเซล บี20 นี้ จะสามารถช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการรถขนส่งอันจะทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อราคาค่าโดยสาร และค่าครองชีพด้านอื่น ๆ ของประชาชน   และในการนี้ ยังได้แสดงความขอบคุณ กลุ่ม ปตท. และพีทีที โออาร์ ที่ให้ความร่วมมือส่งเสริมการจำหน่ายน้ำมันดีเซล บี20 ในทุกช่องทาง  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใน สถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น  และคาดว่าการเปิดจำหน่ายน้ำมันดีเซล บี20 ในสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น ในครั้งนี้จะประสบความสำเร็จ สามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนด้านสภาพอากาศที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐานในพื้นที่ต่างๆ  รวมถึงช่วยส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมโดยรวมให้ดีขึ้นได้เป็นอย่างดี

ประธานกรรมการ  บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) กล่าว รายงานถึง การสนับสนุนนโยบายภาครัฐ  โดยได้ เปิดจำหน่ายน้ำมันดีเซล บี20  ภายในสถานีบริการน้ำมัน เป็นครั้งแรกในประเทศไทย   นำร่อง   ณ สถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น ทั่วประเทศ  จำนวน 5 แห่ง เพื่อช่วยบรรเทาลดฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐาน  ได้แก่  สถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น สาขา วงแหวนตะวันตก (ขาเข้า) ปทุมธานี   พีทีที สเตชั่น สาขา พระราม 2  (ขาออก) กรุงเทพมหานคร   พีทีที สเตชั่น สาขาปากช่อง นครราชสีมา   พีทีที สเตชั่น สาขา เขาคันทรง ศรีราชา ชลบุรี    และ พีทีที สเตชั่น สาขา สวี ชุมพร  ให้กับประชาชนรายย่อยที่ใช้รถขนาดใหญ่ ทั้งนี้ พีทีที โออาร์ ในฐานะ บริษัทเรือธง ของกลุ่ม ปตท. ในด้านการค้าน้ำมันและการค้าปลีก   ได้เริ่มจำหน่ายน้ำมันดีเซล บี20  โดยเตรียมความพร้อมอย่างครบวงจรทั้งด้าน คลังผลิต ถังเก็บ การขนส่ง รวมถึงตู้จ่าย  เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการในการใช้น้ำมันดีเซล บี20 จากทั่วประเทศได้อย่างเพียงพอ โดยเฉพาะลูกค้าเฉพาะกลุ่ม อาทิ กลุ่มรถบรรทุก และเรือขนส่ง ซึ่งได้เริ่มจำหน่ายแล้วตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2561 เป็นต้นมา รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการจำหน่ายให้   องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ หรือ ขสมก. และ บริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ  บขส.  โดยปัจจุบัน พีทีที โออาร์ มีความพร้อมสามารถจำหน่ายน้ำมันดีเซล บี 20 ให้กับกลุ่มลูกค้าดังกล่าวข้างต้นได้ทันที  โดยที่ผ่านมา พีทีที โออาร์ ได้ตอบสนองเรื่องการผลักดันการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ บี20   มาโดยตลอด เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรจากภาวะปาล์มล้นตลาดอีกด้วย  โดยในปี 2561 ได้ช่วยซื้อน้ำมันไบโอดีเซล บี100 เข้ามาเก็บสำรอง เพิ่มขึ้น 40 ล้านลิตร รวมเป็นน้ำมันไบโอดีเซล บี100 ที่ได้ช่วยซื้อเพิ่มเติมจากความต้องการปกติแล้วกว่า 63 ล้านลิตร นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินโครงการทดสอบการใช้น้ำมันดีเซล บี10 และน้ำมันดีเซล บี20 ในเครื่องจักรรถไฟอีกด้วย

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในตอนท้าย  ถึง ความพร้อมของกลุ่ม ปตท. ในการเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยป้องกัน แก้ไขปัญหา ผ่านผลิตภัณฑ์และบริการ ที่  ปตท. ได้พัฒนามาโดยตลอด  รวมถึงกิจกรรมเชิญชวนให้ประชาชนตรวจเช็กสภาพรถฟรี 30 รายการ พร้อมด้วยการมอบส่วนลดพิเศษแก่ประชาชน จาก ศูนย์บริการยานยนต์  ฟิต ออโต้ ในพื้นที่กรุงเทพฯและเขตปริมณฑล  พร้อมขอบคุณ กระทรวงพลังงาน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ช่วยกันสนับสนุน ผลักดันจนทำให้วันนี้ น้ำมันดีเซล บี20 ได้มีช่องทางการจำหน่ายสามารถเข้าถึงผู้บริโภคทุกกลุ่มได้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

 

Page 3 of 7
1 2 3 4 5 7