“อนันตพร” ลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ตรวจติดตามสถานการณ์พลังงานภาคตะวันออก และศักยภาพการดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังน้ำคิรีธาร-คลองทุ่งเพล

วันนี้ (16 ธันวาคม 2559) พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน นำคณะผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน และสื่อมวลชน ลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี เพื่อร่วมหารือข้อราชการกับพลังงานจังหวัดในพื้นที่และ ตรวจติดตามสถานการณ์พลังงาน 7 จังหวัดในกลุ่มภาคตะวันออก ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี และสระแก้ว และเยี่ยมชมศักยภาพการดำเนินงานโครงการไฟฟ้าพลังน้ำคิรีธาร และโครงการไฟฟ้าพลังน้ำคลองทุ่งเพล โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่กระทรวงพลังงานน้อมนำมาสืบสานพระราชปณิธานเพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ โดยมี นายวิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี พร้อมด้วยนายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และข้าราชการในพื้นที่ให้การต้อนรับ ณ อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี
พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ จังหวัดจันทบุรี เป็นการติดตามสถานการณ์พลังงานของภาคตะวันออก ซึ่งจากการพูดคุยกับพลังงานจังหวัดในกลุ่มภาคตะวันออกทั้ง 7 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี และสระแก้ว เบื้องต้นไม่พบว่าประสบปัญหาอะไร แต่ก็ได้กำชับพลังงานจังหวัด และเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน ในพื้นที่ ให้มุ่งเน้นการทำงานอย่างบูรณาการตามแผนยุทธศาสตร์กระทรวง ติดตามดูแลสถานการณ์พลังงาน อย่างใกล้ชิดไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนผู้บริโภค เนื่องจากภาคตะวันออกเป็นภาคที่มีธุรกิจที่หลากหลาย มีทั้งภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว อัญมณี และการเกษตร อีกทั้งบางพื้นที่ยังเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษอีกด้วย ซึ่งเรียกได้ว่าพื้นที่ภาคตะวันออกเป็นอีกหนึ่งกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยเช่นกัน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังได้ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการไฟฟ้าพลังน้ำคิรีธาร และโครงการไฟฟ้าพลังน้ำคลองทุ่งเพล ซึ่งทั้ง 2 โครงการมีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวจังหวัดจันทบุรี ในการจัดหาน้ำในช่วงหน้าแล้ง การป้องกันน้ำเค็มจากทะเล และป้องกันน้ำท่วมในช่วงหน้าฝนให้กับเกษตรกรสวนผลไม้ในจังหวัดจันทบุรี ตลอดจนช่วยลดปัญหาเรื่องปริมาณกระแสไฟฟ้าไม่เพียงพอในพื้นที่ด้วย ที่สำคัญโครงการไฟฟ้าพลังน้ำคิรีธาร เป็นโครงการที่ได้รับ พระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการเสด็จประกอบพิธีเปิด เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2531 และพระราชทานนามว่า “เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำคิรีธาร” ซึ่งโครงการดังกล่าวสามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 27 ล้านหน่วย สามารถช่วยเสริมกับระบบไฟฟ้าที่มีอยู่โดยเชื่อมโยงที่สถานีจ่ายไฟฟ้าจันทบุรี บ้านหนองหว้า อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี รวมถึงทดแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ได้ประมาณปีละ 6.95 ล้านลิตรต่อปี และลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศได้ปีละ 5.98 ktoe (พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านการเกษตรกรรมในเขตจังหวัดจันทบุรีเป็นพื้นที่ 35,000 ไร่

ทั้งนี้ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำคิรีธาร ได้เดินเครื่องผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2529 ในรูปแบบ Non-Firm ปัจจุบันได้ทำสัญญา ซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2554 ซึ่งมีผลการดำเนินงานตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบัน ในด้านกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 823 ล้านหน่วย มีการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบรวมอยู่ที่ 811 ล้านหน่วย มีรายได้รวมเป็นเงินกว่า 1,500 ล้านบาท
ส่วนโครงการไฟฟ้าพลังน้ำคลองทุ่งเพล เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสที่พระองค์ทรงเสด็จประกอบพิธีเปิดเขื่อนและโครงการไฟฟ้าพลังน้ำคิรีธาร เมื่อปี 2531 โดยทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับเรื่องการนำน้ำจากห้วยสะตอมายัง เขื่อนคิรีธาร และโครงการไฟฟ้าพลังน้ำคลองทุ่งเพล เพื่อประโยชน์ในการเกษตรและการผลิตไฟฟ้าให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งทางสำนักงานพลังงานแห่งชาติในขณะนั้น หรือ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานในปัจจุบัน ได้น้อมนำพระราชดำริมาศึกษาและจัดทำเป็นโครงการไฟฟ้าพลังน้ำคลองทุ่งเพล โดยสามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 28.16 ล้านหน่วย ช่วยลดการสูญเสียในระบบสายส่ง และส่งเสริมความมั่นคง ในระบบสายส่งของประเทศ รวมถึงได้ส่งน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ 58,822 ไร่ ครอบคลุม 4 ตำบล ในอำเภอเขาคิชฌกูฏ และอำเภอมะขาม คือ ตำบลพลวง ตำบลตะเคียนทอง (บางส่วน) อำเภอเขาคิชฌกูฏ และตำบลวังแซ้ม ตำบลฉมัน อำเภอมะขาม
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังได้กล่าวว่า กระทรวงพลังงานมีแนวทางที่จะพิจารณาให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กในชุมชน จำนวน 25 แห่ง ขนาดกำลังผลิตรวม 2.97 เมกะวัตต์ เข้าระบบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เพื่อให้เป็นไปตามแผน AEDP ที่มีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเป็น 30% ในปี 2579 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือในระดับนโยบายเพื่อหาข้อสรุปต่อไป
ในโอกาสเดียวกันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังได้ไปเยี่ยมชมสวนผลไม้ของนางสมปอง พร้อมพวก เกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการไฟฟ้าคลองทุ่งเพล พร้อมพบปะกับตัวแทนกลุ่มผู้ใช้น้ำจาก 4 ตำบล คือ ตำบลพลวง ตำบลตะเคียนทอง (บางส่วน) อำเภอเขาคิชฌกูฏ และตำบลวังแซ้ม ตำบลฉมัน อำเภอมะขาม อีกด้วย

 

พิธีมอบรางวัล Thailand Energy Awards ประจำปี 2559

วันนี้ (6 ธ.ค.59) พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิธีมอบรางวัล Thailand Energy Awards ประจำปี 2559 โดย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ซึ่งจัดขึ้น ณ ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

โดยในปีนี้มีผลงานที่ชนะการประกวดจำนวนทั้งสิ้น 64 โครงการ จากจำนวนผู้สนใจส่งเข้าประกวดรวมจำนวนทั้งสิ้น 260 โครงการ จากการประกวด 5 ด้าน ได้แก่ ด้านพลังงานทดแทน ด้านอนุรักษพลังงาน ด้านบุคลากร ด้านพลังงานสร้างสรรค์ และด้านผู้ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน คิดเป็นมูลค่าการประหยัดพลังงานได้มากกว่า 2,200 ล้านบาทต่อปี สามารถช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้กับโลกได้มากถึง 280,000 ตันต่อปี

พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ” Thailand Energy Awards นับเป็นรางวัลด้านพลังงานไทยระดับสากล ซึ่งเป็นโครงการของกระทรวงพลังงานที่มีความก้าวหน้าและประสบความสำเร็จอย่างมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับปรุงแผนอนุรักษ์พลังงาน และแผนพัฒนาพลังงานและพลังงานทางเลือ พ.ศ.2558-2579 ซึ่งอยู่ในแผนบูรณาการกระทรวงพลังงานระยะยาว หรือ Thailand Integtated Energy Blueprint ( TIEB) การจัดประกวด Thailand Energy Awards ถือเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้การดำเนินนโยบายด้านพลังงานในระยะยาวมีทิศทางที่ขัดเจนขึ้น ทั้งยังมีส่วนช่วยในการคิดค้นวิธีการประหยัดพลังงาน เกิดเทคโนโลยี และนวัตกรรมการประหยัดพลังงานที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถพิสูจน์ความสำเร็จได้จากการที่ประเทศไทยครองแชมป์ความเป็นผู้นำด้านพลังงานของภูมิภาคอาเซียนติดต่อกันเป็นปีที่ 12 แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าและศักยภาพด้านการอนุรักษ์พลังงาน ตอกย้ำภารกิจการดำเนินนโยบายด้านพลังงานไทยสู่ความมั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน ในทุกมิติ สอดรับกับถ้อยแถลงของรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนครั้งที่ 34 ที่จะขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนสู่ภูมิภาคพลังงานสะอาด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “นอกจากนี้ ยังได้คัดเลือกผู้แทนที่มีผลงานโดดเด่น ส่งเข้าประกวดในระดับอาเซียนจำนวน 24 ผลงาน และสามารถคว้ารางวัลมาครองได้ถึง 16 รางวัล จากเวที ASEAN Energy Awards2016 ทำให้ไทยยังครองแชมป์ที่ 1 ด้านพลังงานในอาเซียน”

กระทรวงพลังงาน มอบรางวัลประกวดภาพวาด “รักษ์น้ำ รักษ์ป่า รักษ์พลังงาน”

วันนี้ (2 ธันวาคม 2559) กระทรวงพลังงาน จัดพิธีมอบรางวัลประกวดวาดภาพเฉลิมพระเกียรติด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน ปีที่ 4 ในหัวข้อ “รักษ์น้ำ รักษ์ป่า รักษ์พลังงาน”เงินรางวัลกว่า 8 แสนบาทโดยมี พลเอก สุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงานมอบโล่ เงินรางวัล และศิลปินผู้ทรงคุณวุฒิ ดร. เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ เป็นคณะกรรมการในการตัดสิน ณ บริเวณลานอเนกประสงค์ ชั้น M ศูนย์การค้าเกตเวย์ เอกมัย
พลเอก สุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า โครงการประกวดวาดภาพเฉลิมพระเกียรติด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน กระทรวงพลังงานจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชนชาวไทยด้านการอนุรักษ์พลังงาน และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์ด้านพลังงานผ่านศิลปะภาพวาด โดยในปีนี้จัดประกวดในหัวข้อ “รักษ์น้ำ รักษ์ป่า รักษ์พลังงาน”ซึ่งได้รับความสนใจจากเยาวชนและประชาชนทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก ส่งผลงานเข้าร่วมกว่า 498 ผลงาน โดยรูปภาพที่ส่งเข้าประกวดล้วนถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์ด้านพลังงานผ่านทางศิลปะภาพวาด เพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และน้อมนำแนวพระราชดำริ รวมทั้งพระราชกรณียกิจต่างๆ ด้านการอนุรักษ์พลังงานและการพัฒนาพลังงานทดแทนมาถ่ายทอด ผสมผสานกับจินตนาการออกมาเป็นงานศิลปะที่ทรงคุณค่า และสามารถเล่าเรื่องราวได้อย่างครบถ้วน
สำหรับผลการประกวดกิจกรรมประกวดวาดภาพเฉลิมพระเกียรติด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน ปีที่ 4 ในหัวข้อ “รักษ์น้ำ รักษ์ป่า รักษ์พลังงาน”แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
ประเภทมัธยมศึกษาตอนต้น
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ด.ญ.จันทกานต์ จันทรโกมล
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ด.ญ.ลักษ์คณา มีพารา
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ด.ญ.ไอริณ เหลืองอ่อน
และรางวัลชมเชยอีก 13 รางวัล
1.ด.ญ.ศิริญากร นิลลออ
2.ด.ช.ศักรินทร์ ดาราสม
3.นายโสภณัฐ สังพาลี
4.ด.ญ.ธัญลักษณ์ โอษธีศ
5.นางสาวปาณิสรา สุวรรณธาดา
6.ด.ญ.วลัยลักษณ์ ปิ่นทอง
7.ด.ช.อนันท์ วงษ์ศิลป์
8.ด.ช.พิเชษฐ์ เชื้อสายดวง
9.นางสาวปิยาภรณ์ จันทร์ไทรรอด

10.ด.ญ.สุดารัตน์ ปานพูล
11.นางสาวภัทรวรรณ พลซา
12.นางสาวพรนภา หารโงน
13.นายพุฒิพงศ์ คำภาพล
ประเภทมัธยมศึกษาตอนปลาย / ปวช.
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายวรุฒม์ ผ่องภักต์
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ นางสาวพิสชา พ่วงลาภ
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ นางสาวรุจิรา อุบลชัย
และรางวัลชมเชยอีก 13 รางวัล
1.นางสาวจุฑามาศ รัตนะพิบูลย์กุล
2.นายเกริกเกียรติ ตรีเนตร์
3.นายภาณุพงศ์ อินทะชาติ
4.นายพรดนัย วัฒนาประดิษฐชัย
5.นางสาวศศิธร เข็มศิริ
6.นางสาวปิยาภรณ์ ปานแป้น
7.นางสาวภัทรวรรณ เหลืองสะอาด
8.นายทรัพย์สถิตย์ อภิบาลศรี
9.นายพลวัฒน์ สามิดี
10.นายศิริโรจน์ โคตรรวงษา
11.นายภาณุวัฒน์ ไชยรถ
12.นายธนโชติ พิลา
13.นายธนากร ขวัญปาก

ประเภทอุดมศึกษา
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นางสาวจันทร์ทิมา สุทธิประภา
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ นายปรัชญา พลซา
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ นายเกรียงไกร แก้วสุวรรณ
และรางวัลชมเชยอีก 13 รางวัล
1.นายธันยธรณ์ อมราลักษณ์
2.นายวชิร รุจิพงษ์
3.นายภัทร บุญล้อม
4.นายสารัช ศรีบุรินทร์
5.นายสมบูรณ์ อุ่นประชา
6.นายอภิวัฒน์ มัชฌิมา
7.นายธาวินวิชญ์ เชาวน์ธนกิจ
8.นายชาญณรงค์ แดงประคำ
9.นางสาวอลิสา ผลาพล
10.นายชลวิทย์ อินทะวงษ์
11.นายไชยอนันต์ จันต๊ะนัน
12.นายอาณัติ สามัคคี
13.นายชัยชนะ ลือตระกูล

ประเภทประชาชนทั่วไป
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายธีรวัฒน์ จันทร์แสตมป์
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ นายธวัชชัย สาริสุทธิ์
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ นายสุกิจ เชื้อสายดวง
และรางวัลชมเชยอีก 13 รางวัล
1.นายรังษี เลาหสูต
2.นายอภิเดช ศิริบุรี
3.นายจักรกฤษณ์ ศรีสงคราม
4.นายณัฐวุฒิ ชุ่มพรมราช
5.นางสาวนุตศุภางค์ ภู่ทัยกุล
6.นายเอกภาพ วรชินา
7.นายสมบัติ น้อยโนนทอง
8.นายกฤษตฌาพนธ์ วัชระไชยสกุล
9.นายอรรณพ รัตตมณี
10.นายรัตน ไวยะราบุตร
11.นายจรัญ บุญประเดิม
12.นายสรพงษ์ สีชมพู
13.นายศุภณัฐ ลาดศิลป์
ทั้งนี้ กิจกรรมจัดประกวดวาดภาพเฉลิมพระเกียรติด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน ปีที่ 4 หัวข้อ “รักษ์น้ำ รักษ์ป่า รักษ์พลังงาน” แบ่งการประกวดเป็น 4 ประเภท คือ ประเภทมัธยมศึกษาตอนต้น ประเภทมัธยมศึกษาตอนปลาย และ ปวช. ประเภทอุดมศึกษา และ ปวส. และประเภทประชาชนทั่วไป รวม 64 รางวัล โดยมีเงินรางวัลสำหรับผู้ชนะทั้งหมด จำนวนกว่า 8 แสนบาท พร้อมการจัดนิทรรศการวาดภาพที่ได้รับรางวัล และภาพวาดที่ได้รับการคัดเลือกรวม 100 ผลงาน ระหว่างวันที่ 2-5 ธันวาคม 2559 ณ ศูนย์การค้าเกตเวย์ เอกมัย
โดยผลงานทั้งหมดผ่านการพิจารณาคัดเลือกแบ่งเป็นสองรอบ รอบแรกคณะกรรมการจะพิจารณาจากผลงานที่ส่งเข้าร่วมประกวดทั้งหมด 498 ผลงาน ซึ่งจะต้องตรงตามหัวข้อที่กำหนดไว้ และต้องเป็นภาพที่มีความคิดสร้างสรรค์ที่สื่อถึงพระราชกรณียกิจในกิจการด้านการอนุรักษ์พลังงานหรือการส่งเสริมพลังงาน
ทดแทน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยคัดเลือกผลงานจำนวน 100 ผลงาน แบ่งเป็นผลงานที่เข้ารอบเพื่อร่วมกิจกรรมต่างๆของการประกวด อาทิ การศึกษาดูงานศิลปะ ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (โมกา) การอบรมและสร้างสรรค์ผลงานวาดภาพ โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด ส่วนการตัดสินในรอบที่สองจะเป็นการตัดสินผลงานรอบสุดท้ายในแต่ละประเภทเพื่อคัดเลือกผู้ชนะเลิศ รองชนะเลิศอันดับ1 รองชนะเลิศอันดับ 2 และรางวัลชมเชยประเภทละ 13 รางวัล




ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธี ในพิธี kick off friendly design พลังงานไทย ในเวทีโลก

วันนี้ (2 ธันวาคม 2559) พลเอก สุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้เกียรติมาเป็นประธาน ในพิธี kick off friendly design พลังงานไทย ในเวทีโลก ซึ่งเป็นหนึ่งกิจกรรมในงาน Thailand Friendly Design Expo 2016 มหกรรมอารยสถาปัตย์ และนวัตกรรมสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 1 พร้อมกันนี้ประธานในพิธีได้มอบป้าย อารยสถาปัตย์ ให้กับองค์กร ที่ส่งเสริมการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆให้กับประชาชน และยังได้ร่วมเดินชม บูธสินค้า ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยี นวัตกรรม อุตสาหกรรม รวมถึงธุรกิจบริการ และการออกแบบที่เกี่ยวกับอารยสถาปัตย์ ณ ฮอลล์ 6 อิมแพ็ค เมืองทองธานี



รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีเปิด Bangchak Greenovative Experience

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559 พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีเปิด Bangchak  Greenovative Experience พร้อมด้วยนายวินิจฉัย  แจ่มแจ้ง  ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์  นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายกิโยม เทียลิง อุปทูตประจำสถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย นายโทไบอัส วาสต์มุต กรรมการผู้จัดการ SPAR International นายพิชัย ชุณหวชิร ประธานกรรมการ และนายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ณ สถานีบริการน้ำมันบางจาก ถนนราชพฤกษ์

ภายหลังพิธีเปิด นายชัยวัฒน์เปิดเผยว่า บริษัท บางจากฯ (มหาชน)   มีวิสัยทัศน์การเป็นบริษัทนวัตกรรมสีเขียวชั้นนำในเอเชีย จึงพัฒนาการดำเนินงานทุกด้านเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าว ซึ่งจะรองรับวิถีชีวิตยุคใหม่   ที่ทุกคนสามารถใช้ชีวิตอย่างมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน    ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้พัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองการใช้งานและดีต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการพัฒนาพลังงานสะอาด และพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น ล่าสุดนี้ บริษัทฯ ได้สร้างสรรค์ประสบการณ์และนวัตกรรมสีเขียวรูปโฉมใหม่ Bangchak  Greenovative Experience เพื่อรองรับวิถีชีวิตคนไทยยุคใหม่  ด้วยกระบวนการ 4 R คือ Renewable Recycle Reuse และ Reduce ได้แก่ การติดตั้ง Solar Roof Top เพื่อผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ สถานี EV Charger สำหรับรถยนต์ระบบไฟฟ้า  เครื่องเก็บขวดพลาสติกอัตโนมัติเพื่อรีไซเคิลเป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์ ระบบการนำน้ำฝนและน้ำใช้แล้วมาใช้รดน้ำต้นไม้ ร้านกาแฟเพื่อสุขภาพที่ใช้แก้วกาแฟย่อยสลายได้ และใช้เมล็ดกาแฟออแกนิกส์ที่ปลูกด้วยวิธีการรักษาป่าและไม่ใช้สารเคมี การใช้วัสดุอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน  และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวร่มรื่น   เป็นต้น ทั้งหมดนี้ นอกจากจะสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนไปกับสิ่งแวดล้อมและสังคมของบริษัทฯ ยังสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ในการพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

นายชัยวัฒน์กล่าวต่อไปว่า ในวันนี้ยังเป็นการเปิดตัว SPAR ซูเปอร์มาร์เกตจากเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งรายใหญ่ระดับนานาชาติ มีสาขากว่า 12,100 แห่ง ใน 43 ประเทศ และไทยเป็นประเทศที่ 44 โดยให้สิทธิ์กับบางจากฯ ผู้เดียวในประเทศไทย ภายใต้แนวคิด  SPAR ‘FRESH & EASY FOOD MARKET’ ที่ให้บริการลูกค้าด้วยจุดเด่นที่แตกต่าง คือ ความเป็นเลิศด้านอาหารสด ใส่ใจคุณภาพและบริการ  และมีมุมจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากชุมชนตามนโยบายของบางจากฯ  ทั้งยังจะพัฒนาผลิตภัณฑ์จากชุมชนในแบรนด์ SPAR เพื่อจำหน่ายในไทยและมีแผนส่งออกไปต่างประเทศด้วย   ทั้งนี้จะใช้เงินลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท  ขยายสาขา SPAR  ทุกรูปแบบปีละ 50 – 80 สาขา โดยตั้งเป้าเปิด 300 สาขาภายในปี 2563

กระทรวงพลังงาน ประกาศผลรางวัลต้นกล้านักประดิษฐ์ระดับประเทศ

วันนี้ (25 พฤศจิกายน 2559) พลเอก ณัฐติพล กนกโชติ ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานมอบรางวัลและโล่เกียรติคุณ ผู้ชนะการประกวดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ด้านพลังงานระดับประเทศ โครงการต้นกล้าพลังงาน รุ่นที่ 10 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และอาชีวศึกษา ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร จังหวัดปทุมธานี พลเอก ณัฐติพล กนกโชติ ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประกวดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ด้านพลังงานระดับประเทศ เป็นหนึ่งในกิจกรรมของโครงการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้และขยายเครือข่ายการสื่อสารด้านพลังงานในกลุ่มเยาวชนและครู ปีที่ 6 (ต้นกล้าพลังงาน รุ่นที่ 10) ซึ่งครบรอบ“1 ทศวรรษ ต้นกล้าพลังงาน” สำหรับในปีนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อการประกวด “นวัตกรรมพลังงานเพื่อโลกสีเขียว 2559 (Innovation for Green Globe 2016)” และให้เยาวชนได้แสดงผลงานต่อคณะกรรมการตัดสินการประกวด ซึ่งเป็นผู้บริหารจากกระทรวงพลังงาน สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สถาบันวิจัยและพัฒนาอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน และคณะอาจารย์จาก 5 มหาวิทยาลัยของรัฐ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในระหว่างวันที่ 20-24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยมีทีมเยาวชนที่ชนะการประกวดจากระดับภาคทั้ง 5 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคใต้ เข้าสู่รอบชิงแชมป์ระดับประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 60 ทีม แบ่งเป็นระดับ มัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 20 ทีม มัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 20 ทีม และอาชีวศึกษา จำนวน 20 ทีม ในรอบตัดสินมีทีมที่ชนะการประกวดและได้รับรางวัลตามลำดับ ดังนี้ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงานเชื้อเพลิงจากซังข้าวโพดหลังจากการกำจัดคราบน้ำมันจากน้ำทิ้ง โรงเรียนหนองฉางวิทยา จังหวัดอุทัยธานี รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ ผลงานอุปกรณ์ช่วยนึ่งข้าวเหนียวสำหรับมวยนึ่งข้าว โรงเรียนปิยะมหาราชาลัย จังหวัดนครพนม รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ ผลงานกล่องลดอุณหภูมิแบบประหยัดพลังงาน โรงเรียนสงวนหญิง จังหวัดสุพรรณบุรี รางวัลรองชนะเลิศอันดับสาม ได้แก่ ผลงานกล่องมหัศจรรย์พลังงานคลื่นสู่อนาคต โรงเรียนดาราสมุทรภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงานเตาเผาข้าวหลามประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง โรงเรียนร่มเกล้า กาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ ผลงานการศึกษาประสิทธิภาพถ่านอัดแท่งจากธูปฤาษี โรงเรียนสารคามพิทยาคม จังหวัดมหาสารคาม รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ ผลงาน Ethanol จาก Bacteria celluiose ที่ย่อยด้วยแบคทีเรียจากมูลวัว โรงเรียนสุราษฏร์พิทยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี รางวัลรองชนะเลิศอันดับสาม ได้แก่ ผลงานชุดอุปกรณ์บำบัดน้ำทิ้งจากการย้อมผ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ โรงเรียนพนมสารคาม พนมอดุลวิทยา จากจังหวัดฉะเชิงเทรา ระดับอาชีวศึกษา รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงานทุ่นเตือนภัยร่องน้ำพลังงานคลื่นทะเล วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ ผลงานเครื่องฆ่าเชื้อโรคบนช้อนและตะเกียบ วิทยาลัยอาชีวศึกษาพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ ผลงานเครื่องควบคุมอุณหภูมิและความชื้นในโรงเห็ดระบบปิด วิทยาลัยเทคนิคสระบุรี จังหวัดสระบุรี รางวัลรองชนะเลิศอันดับสาม ได้แก่ ผลงานเครื่องกำเหนิดไฟฟ้าพลังงานร่วม (Combined Power Generator) วิทยาลัยเทคนิคร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด พลเอก ณัฐติพล กนกโชติ กล่าวต่อว่า ผู้ที่ชนะการประกวดในระดับประเทศทั้ง 3 ระดับ จะได้รับเงินรางวัลสนับสนุนโครงงานพร้อมโล่เกียรติคุณ ประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศ ได้รับทุนพัฒนาโครงงาน จำนวน 40,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้รับทุนพัฒนาโครงงาน จำนวน 30,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้รับทุนพัฒนาโครงงาน จำนวน 20,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศอันดับสาม ได้รับทุนพัฒนาโครงงาน จำนวน 15,000 บาท นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่ชนะการประกวดทั้งในระดับภาคและระดับประเทศที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมปลายจะได้สิทธิ์เข้ารับการคัดเลือกศึกษาต่อระดับปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์ จาก 5 มหาวิทยาลัยของรัฐ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อีกด้วย “การประกวดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ด้านพลังงาน และกิจกรรมค่ายต้นกล้าพลังงาน เป็นโครงการที่ กระทรวงพลังงานเปิดเวทีให้เยาวชนได้คิดค้น วิจัย และทดลองนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ด้านพลังงานเพื่อโลกสีเขียว ซึ่งผลงานของเยาวชนที่ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมา เชื่อว่าสามารถนำไปต่อยอดและพัฒนาสู่การใช้งานในชีวิตประจำวันและ เชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งโครงการนี้ได้จัดขึ้นมานับเป็นเวลา 1 ทศวรรษแล้ว และกระทรวงพลังงานจะยังคงสานต่อโครงการเพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงความสามารถและร่วมเป็นกำลังสำคัญที่จะร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาภาคพลังงานของประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยังยืน ในอนาคตต่อไป”ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว ทั้งนี้ ผลงานที่ชนะการประกวดระดับประเทศในครั้งนี้ จะนำมาจัดแสดงให้ชมในนิทรรศการ “1 ทศวรรษ ต้นกล้าพลังงาน” พร้อมเปิดให้ นักเรียน นักศึกษา คณะครู อาจารย์ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ สามารถเข้าร่วมชมได้ในวันที่ 26-27 พฤศจิกายน ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิริธร จังหวัดปทุมธานี นอกจากนี้สามารถติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวโครงการต้นกล้าพลังงานได้ที่ http://goo.gl/Zx8Uun

ผู้แทนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมแสดงความยินดีและร่วมเปิดงานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต่อท่านเอกอัครราชทูตรัฐสุลต่านโอมานประจำประเทศไทย

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2559 เวลา 18.30 น. พลเอก ณัฐติพล กนกโชติ เป็นผู้แทนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมแสดงความยินดีและร่วมเปิดงานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์) ต่อท่านเอกอัครราชทูตรัฐสุลต่านโอมานประจำประเทศไทย นายอับดุลเลาะห์ เศาะลาฮ์ อะห์มัด อัล-ไมมานีย์ (H.E. Mr. Abdullah Saleh Ahmed Al-Maimani) ในโอกาสเฉลิมฉลองงานวันชาติของรัฐสุลต่านโอมาน ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมอินเตอร์คอนติเนลทัล กรุงเทพฯ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยกับโอมานให้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2559 ความสัมพันธ์ไทยและโอมานได้ครบรอบ 36 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน

อนึ่ง ความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างไทยกับโอมานนั้น ที่ผ่านมาไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากโอมานเป็นอันดับ 4 และถือว่าโอมานเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางปิโตรเลียมสูง โดยปัจจุบัน ปตท.สผ. ได้มีการลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในโครงการโอมาน 44 ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และคอนเดนเสท นอกจากนี้ ปตท.สผ. ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกับ Oman Oil Company Exploration and Production LLC (OOCEP) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางธุรกิจและโอกาสในการลงทุนในแหล่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ทั้งสองบริษัทมีความสนใจต่อไป

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานมอบฉลากแบบอาคารอนุรักษ์พลังงาน 2559

วันนี้ (21พ.ย.59) พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานมอบฉลากแบบอาคารอนุรักษ์พลังงาน 2559 BEC Awards 2016 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้จัดพิธีนี้ขึ้น เพื่อมอบ “ฉลากรับรองมาตรฐานการออกแบบอาคารที่มีประสิทธิภาพพลังงานสำหรับอาคารใหม่” แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีผ่านเกณฑ์มาตรฐาน

สำหรับ ฉลากรับรองมาตรฐานอาคารฯ ดังกล่าว พพ. ได้พิจารณาจากแบบอาคารภาครัฐและเอกชนที่ส่งแบบอาคารมาตรฐานมาตรวจประเมิณ ตั้งแต่ปี 2552-2558 ซึ่งผลการตัดสินจาก 115 อาคารที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน แบ่งเป็นจากหน่วยงานภาครัฐ 76 แห่ง (105อาคาร) และภาคเอกชน 8 แห่ง (10อาคาร) โดยมีผู้ได้รับรางวัลฉลากแบบอาคารระดับ ดี 30 หน่วยงาน ระดับดีมาก 24 หน่วยงาน และระดับดีเด่น 9 หน่วยงาน

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดี พพ. ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า “การติดฉลากรับรองมาตรฐานการออกแบบเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ในปี 2559 เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมและกระตุ้นให้ภาครัฐ เอกชน เห็นความสำคัญและดำเนินการออกแบบอาคารให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานการออกแบบอาคาร BEC หรือ Building Energy Code โดยการบังคับใช้เกณฑ์ดังกล่าว จะสามารถเสนอคณะกรรมการควบคุมอาคารได้ภายในเดือน พ.ย. 2559 นี้ ซึ้งเบื้องต้นจะกำหนดให้อาคารที่จะขออนุญาติสร้างใหม่หรือดัดแปลงอาคารเพิ่มเติมที่มีขนาดตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป”



รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานพิธีเปิดโครงการโซลาร์รูฟท็อป ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขนาดใหญ่อันดับหนึ่งของมหาวิทยาลัยในเอเชีย และที่ 4 ของมหาวิทยาลัยโลก

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน         เป็นประธานในพิธีเปิด “การจ่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จาก Solar Rooftop เข้าสู่ระบบใน                อาคารราชการขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย” ซึ่งเป็นโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในอาคารราชการ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นที่หนึ่งของมหาวิทยาลัยในเอเชีย และเป็นที่ 4 มหาวิทยาลัยของโลก                  ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) โดยมีเป้าหมายผลิตไฟฟ้าให้ได้ 15 เมกะวัตต์ ภายในปี 2560 ซึ่งโครงการดังกล่าวนับเป็นต้นแบบที่ดีในด้านการพึ่งพาตนเอง          ในด้านพลังงาน ซึ่งสอดรับกับนโยบายของกระทรวงพลังงานที่รณรงค์ให้ภาครัฐ เอกชน ชุมชน มีการพัฒนาพลังงานทดแทน เพื่อลดรายจ่าย และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานได้ด้วยตัวเอง โดยมี ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  พร้อมด้วย รศ.นพ.จิตตินัดด์ หะวานนท์  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาล                      นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ประธานกรรมการ  บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน)   ให้การต้อนรับ ณ บริเวณโถง ชั้น 1 อาคาร ม.ร.ว.สุวพรรณ สนิทวงศ์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์              ศูนย์รังสิต

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังได้เยี่ยมชมนิทรรศการ การออกบูธ ให้ความรู้เกี่ยวกับการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป และเยี่ยมชมระบบติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา บริเวณดาดฟ้า                          อาคารดุลโสภาคย์อีกด้วย












 

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน ในพิธีเปิดงานเทคโนโลยีปิโตรเลียมนานาชาติ (IPTC) ครั้งที่ 10

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงาน The 10th Edition of the International Petroleum Technology Conference (IPTC) หรือการประชุมเทคโนโลยีปิโตรเลียมนานาชาติ ครั้งที่ 10 ซึ่งบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

ในพิธีพลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นายปรัชญา ภิญญาวัธน์ ประธานกรรมการ ปตท.สผ. นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของคณะกรรมการบริหาร IPTC นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สผ. ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารการประชุม IPTC นายเดวิด แบลนชาร์ด ประธานกรรมการ IPTC พร้อมคณะกรรมการจัดงาน IPTC และคณะผู้บริหาร ปตท.สผ. เฝ้ารับเสด็จ จากนั้นได้เสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการต่าง ๆ ภายในงานด้วยความสนพระทัย

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เยี่ยมชมการเปิดจำหน่ายข้าว ที่อาคาร ปตท. สำนักงานใหญ่

ปตท. สำนักงานใหญ่เปิดจำหน่ายข้าวจากโครงการรวมพลังซื้อข้าวจากชาวนา
เปิดจำหน่ายข้าวสาร ตรงจากมือชาวนา ระหว่างวันที่ 7-11 พ.ย. 59 ณ บริเวณด้านข้างร้านคาเฟ่อเมซอน อาคาร ปตท. สำนักงานใหญ่ และอาคารเอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ ถ.วิภาวดี
พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เยี่ยมชมการเปิดจำหน่ายข้าว ที่อาคาร ปตท. สำนักงานใหญ่ ถ.วิภาวดี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการรวมพลังซื้อข้าวจากชาวนา โดยมี นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และคณะผู้บริหาร ปตท. ให้การต้อนรับ
นายเทวินทร์ เปิดเผยว่า ปตท. ได้เพิ่มช่องทางการบรรเทาความเดือดร้อนของชาวนาโดยประสานงานกับเครือข่ายทางเกษตรกรจากภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือกลุ่มต่างๆ หมุนเวียนนำข้าวสารคุณภาพมาจำหน่ายที่อาคาร ปตท. สำนักงานใหญ่ และอาคารเอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ ถ.วิภาวดี ระหว่างวันที่ 7-11 พฤศจิกายน 2559 โดยเป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการรวมพลังซื้อข้าวจากชาวนา” ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกร ตัวแทนกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ชุมชน โรงสีข้าวชุมชน หรือโรงสีข้าวสหกรณ์ นำข้าวสารมาจำหน่ายแก่ผู้บริโภคได้โดยตรงที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท. ที่ร่วมโครงการทั่วประเทศโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และได้รับการตอบรับอย่างดียิ่ง
สำหรับข้าวสารที่นำมาจำหน่ายในครั้งนี้ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ 105 ข้าวหอมมะลิ 105 ทุ่งกุลา ข้าวหอมมะลินิล ข้าวหอมมะลิกุหลาบ ข้าวดำลืมผัว รวมถึงข้าวอินทรีย์ และข้าวปลอดสารซึ่งขัดสีโดยชุมชน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ ปตท. ยังจัดให้สถานีบริการน้ำมัน ปตท. ในกรุงเทพมหานครเป็นจุดจำหน่ายข้าวสารจากจังหวัดต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคที่อยู่ในกรุงเทพมหานครสามารถหาซื้อข้าวจากเกษตรกรโดยตรงได้สะดวกยิ่งขึ้น
นายเทวินทร์ เพิ่มเติมว่า นอกจากทำหน้าที่สร้างความมั่นคงทางพลังงานแล้ว ปตท. ยังดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำเพื่อให้ชาวนาซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม และขอขอบคุณผู้บริโภคทุกคนที่ร่วมอุดหนุนข้าว ช่วยแบ่งเบาความเดือดร้อนของชาวนา รวมไปถึงเจ้าของสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ทั่วประเทศที่ช่วยเป็นช่องทางให้ชาวนานำข้าวสารมาจำหน่าย ทั้งนี้ ขณะนี้มีสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 688 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งผู้สนใจสามารถตรวจสอบข้อมูลและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ PTT Contact Center 1365 และ www.pttplc.com

กระทรวงพลังงาน ร่วมสืบสานราชประเพณี ถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2559 ที่จังหวัดลพบุรี

วันนี้ (4 พฤศจิกายน 59) พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย ดร. อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน นำคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ เดินทางไปถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2559 ณ วัดกวิศรารามราชวรวิหาร ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี
พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตามราชประเพณีที่ สืบต่อกันมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน ผ้าพระกฐินให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กร สมาคม มูลนิธิ บริษัทห้างร้าน และประชาชนทั่วไป ที่มีจิตศรัทธานำไปถวายพระสงฆ์ที่จำพรรษาในพระอารามหลวงทั่วประเทศ ซึ่งกรมการศาสนาในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้ออกประกาศเชิญชวนให้รับทราบทุกปี และที่ผ่านมากระทรวงพลังงาน ได้ขอรับพระราชทานผ้าพระกฐิน เป็นประจำต่อเนื่องทุกปี โดยในปีนี้ได้นำผ้ากฐินพระราชทานมาถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษา ที่วัดกวิศราราม ราชวรวิหาร ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน ยังได้ถวายจตุปัจจัยเพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งร่วมทำบุญด้วยการถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย
ในโอกาสเดียวกันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและปลัดกระทรวงพลังงาน ยังได้ร่วม มอบทุนการศึกษาและเงินบำรุงเรียนให้กับ 2 โรงเรียนในเขตเทศบาลเมืองลพบุรี คือ โรงเรียนวินิตศึกษาใน พระราชูปถัมภ์ จำนวน 50,000 บาท และโรงเรียนเทศบาล 2 จำนวน 50,000 บาท

รมว.พลังงานให้กำลังใจเจ้าหน้าที่จุดบริการประชาชนที่สนามหลวง

วันนี้ (25 ตุลาคม 2559) พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายสำนึก บำรุงสาลี รองปลัดกระทรวงพลังงาน ผู้บริหารกระทรวงพลังงาน และนายกฤษณ์ อิ่มแสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ทรัพยากรบุคลและศักยภาพองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และนายวรพจน์ มานะพันธุ์พงศ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการบริการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่คอยให้บริการประชาชนที่เดินทางมาร่วมลงนามถวายอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย ณ บริเวณท้องสนามหลวง จุดบริการประชาชน เต็นท์ที่ 29-30

          พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่ากระทรวงพลังงาน ได้ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ให้บริการและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่เดินทางมาร่วมลงนามถวายอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยได้จัดอาหารและเครื่องดื่มบริการฟรี อาทิ ข้าวกล้องไข่เจียว น้ำดื่ม โดนัทแด๊ดดี้โด กาแฟอเมซอน และการให้บริการชาร์จแบตเตอรี่มือถือพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย ที่เป็นศูนย์รวมใจของคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งประชาชนสามารถมารับบริการได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 10.00 น.ถึงเวลาประมาณ 14.00 น.ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังได้ลงมือทอดไข่เจียวแจกประชาชน ที่มาเข้าแถวรับบริการอีกด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะ เข้าร่วมพิธีถวายน้ำสรงพระบรมศพฯ

เช้าวันนี้ (14 ตุลาคม 2559) พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมพิธีถวายน้ำสรงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งประดิษฐาน ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเปิดโครงการปะการังสร้างอาชีพ ระยะที่2

“มูลนิธิกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและผู้ประโครงการกอบการด้านปิโตรเลียม” จับมือสานต่อโครงการ “ปะการัง สร้างอาชีพ” ระยะที่ 2 หวังฟื้นฟูความสมบูรณ์ของทะเลไทย ประเดิมวางปะการังเทียม 1,000 ก้อน ในพื้นที่แหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช และอีก 2 จุด ในจังหวัดสงขลาต่อไป
พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังพิธีเปิดโครงการ “ปะการัง สร้างอาชีพ” ระยะที่ 2 ในวันจันทร์ ที่ 10 ตุลาคม 2559 ว่าโครงการที่มีการดำเนินการครั้งนี้ เป็นการสานต่อความสำเร็จจาก “โครงการปะการัง สร้างอาชีพ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554” ที่มูลนิธิกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและผู้ประกอบการด้านปิโตรเลียม จัดทำขึ้น และมีการวางปะการังเทียมใน 3 พื้นที่ คือ อำเภอสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอละแม และอำเภอสวี-ทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร จุดละ 1,000 ก้อน รวม 3,000 ก้อน ซึ่งภายหลังโครงการเสร็จสิ้นและมีการติดตามตรวจสอบความสำเร็จพบว่า โครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในด้านการฟื้นฟูความสมบูรณ์ของท้องทะเลไทยภายหลังจากการวางปะการังเทียม ได้ประมาณ 1 ปี ซึ่งทางมูลนิธิกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและผู้ประกอบการปิโตรเลียมได้มอบหมายให้ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและการสำรวจธรรมชาติ จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาเขตจังหวัดชุมพร ดำเนินการสำรวจ ใต้ทะเลเพื่อศึกษาความสมบูรณ์และความหลากหลายของชนิดสัตว์น้ำในพื้นที่โครงการปะการัง สร้างอาชีพฯ พบว่า มีความสมบูรณ์ของท้องทะเลมากขึ้น และมีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร พบสิ่งมีชีวิตมากถึง 38 ชนิด
นอกจากนี้ “โครงสร้างปะการัง สร้างอาชีพฯ” ยังมีส่วนช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวประมงพื้นบ้านให้ดีขึ้น โดยจากความอุดมสมบูรณ์ที่เพิ่มขึ้นทำให้สามารถจับปลา และสัตว์ทะเลได้มากขึ้น ปลาบางชนิดที่เคยหายไปจากพื้นที่ก็กลับมาอยู่ในบริเวณกองปะการังเทียม ส่งผลให้ชาวประมงมีรายได้มากขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก เนื่องจากไม่ต้องเดินเรือไปหาปลาในระยะทางที่ไกลเหมือนก่อน
พลเอก อนันตพร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับก้อนปะการังเทียมที่จะจัดวางในครั้งนี้ จะมีขนาด 1.5 x 1.5 x 1.5 เมตร ซึ่งเป็นขนาดมาตรฐานของกรมประมง และวัสดุที่นำมาใช้ผ่านการตรวจสอบแล้วว่า ไม่เป็นพิษ หรือปลดปล่อยสารพิษลงในทะเล มีอายุการใช้งานไม่น้อยกว่า 10 ปี และด้วยน้ำหนักประมาณ 1 ตัน จึงไม่ถูกพัดพาด้วยคลื่น หรือกระแสน้ำ หรือพายุ โดยที่วัตถุประสงค์ในการดำเนินโครงการยังคงมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูความสมบูรณ์ ความสมดุลของทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เพิ่มความหลากหลายของสัตว์ทะเลเพื่อส่งเสริมอาชีพของชาวประมงชายฝั่งแล้ว โครงการนี้ยังมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อขยาย และเสริมสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มประมงพื้นบ้านในพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียม ในทะเลอีกด้วย
สำหรับพื้นที่ดำเนินโครงการ ระยะที่ 2 นอกจากจะวางปะการังเทียมในพื้นที่ตำบลแหลมตะลุมพุกแล้ว ยังกำหนดพื้นที่วางปะการังเทียมในอีก 2 จุด คือ อำเภอสทิงพระ และอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา พื้นที่ละ 500 ก้อน ที่จะมีการวางปะการังเทียมในระยะต่อไป
“ทั้งนี้ ในการกำหนดพื้นที่แต่ละแห่งประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ในการร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านการประชุมร่วมกันในลักษณะของคณะทำงานไตรภาคี ประกอบด้วย กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ บริษัทผู้รับสัมปทานปิโตรเลียม และกลุ่มประมงพื้นบ้าน ซึ่งเป็นภาคประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและรับรู้ผลประโยชน์ทางอาชีพและรายได้ รวมถึงแนวทางการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล เพื่อให้ปะการังเทียม ที่จัดสร้างขึ้นได้คงอยู่ไปจนรุ่นลูกรุ่นหลาน และเป็นแหล่งทำกินอย่างยั่งยืน

 

กระทรวงพลังงาน โดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามความร่วมมือโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ใหม่

กระทรวงพลังงาน โดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามความร่วมมือโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ใหม่ กับผู้ประกอบการตู้น้ำร้อนน้ำเย็นบริโภค และตู้น้ำเย็นบริโภค พร้อมมอบโล่แก่ผู้ประกอบการที่ติดฉลากเบอร์ 5 ในปี 2559 จำนวน 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ โคมไฟ LED ชนิด High bay – Low Bay, กระทะไฟฟ้า และเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ
วันนี้ (6 ตุลาคม 2559) พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดงาน “Saving Together Happy Together” พร้อมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือและมอบโล่แก่ผู้ประกอบการโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ประจำปี 2559 โดยได้รับเกียรติจากผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน กฟผ. และผู้ประกอบการอุปกรณ์ไฟฟ้าเบอร์ 5 เข้าร่วมงานฯ ณ ห้องกมลทิพย์ 2 – 3 โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การใช้พลังงานไฟฟ้าของประเทศในปัจจุบันมีอัตราเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี ในขณะที่การจัดหาแหล่งผลิตพลังงานภายในประเทศดำเนินการได้ยากขึ้น เนื่องจากข้อจำกัดทั้งด้านทรัพยากร พื้นที่ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ รวมถึงการยอมรับของชุมชน ดังนั้น กระทรวงพลังงาน จึงมีนโยบายในการบริหารจัดการพลังงานของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการส่งเสริมและผลักดันการอนุรักษ์พลังงานอย่างเต็มรูปแบบ อาทิ พลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน และพัฒนาพลังงานที่สะอาด พร้อมส่งเสริมการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพพลังงานสูง เพื่อลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าและลดภาวะโลกร้อน รวมถึงสร้างจิตสำนึกของผู้บริโภคในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ที่ กฟผ. ดำเนินการ ถือว่าสอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว ที่มุ่งเน้นการพัฒนาประสิทธิภาพพลังงานของอุปกรณ์ไฟฟ้า และติดฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 เป็นสัญลักษณ์ ตลอดจนให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ ในการเลือกซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและมีส่วนร่วมในการประหยัดพลังงาน ส่งผลดีต่อการลดใช้พลังงานของประเทศในอนาคต และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศอย่างเห็นได้ชัด

ด้าน นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวถึงการดำเนินงานว่า ตลอดระยะเวลากว่า 23 ปีที่ผ่านมา กฟผ. ได้ร่วมมือกับบริษัทผู้ประกอบการ พัฒนาประสิทธิภาพพลังงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าและติดฉลากเบอร์ 5 ภายใต้ “โครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์รับรองความประหยัดและประสิทธิภาพพลังงานขั้นสูง จนได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค และเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งจากการดำเนินงานดังกล่าวจนถึงปี 2559 มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการติดฉลากเบอร์ 5 แล้วรวม 28 ผลิตภัณฑ์ จ่ายฉลากไปแล้วกว่า 300 ล้านดวง ซึ่งนับรวมอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้มีการลงนามความร่วมมือที่ผ่านมา และเริ่มติดฉลากเบอร์ 5 ในปีนี้จำนวน 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ โคมไฟ LED ชนิด High Bay – Low Bay , กระทะไฟฟ้า และเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ พร้อมวางจำหน่ายตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป
ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2559 กฟผ. ยังได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ตู้น้ำร้อนน้ำเย็นบริโภคและตู้น้ำเย็นบริโภค ในการพัฒนาประสิทธิภาพพลังงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้น เพื่อติดฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพในปี 2560 ต่อไป โดยมีบริษัทที่เข้าร่วมลงนามความร่วมมือโครงการฯ จำนวน 8 ราย ได้แก่ บริษัท อิมาร์เฟล็กซ์ อินดัสเตรียล จำกัด, บริษัท แสงเอกซัพพลายส์ จำกัด, บริษัท มาซูม่า (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เพียวละมุน จำกัด, บริษัท ซันเด้น อินเตอร์คูล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท เฟดเดอรัล อีเลคตริค จำกัด , บริษัท ไทยเสรีเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และบริษัท ศิริธนาเครื่องเย็น จำกัด
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่ได้รับโล่จากการเข้าร่วมโครงการโคมไฟ LED เบอร์ 5 ชนิด High bay – Low Bay จำนวน 7 ราย ได้แก่ บริษัท จั๊มเวย์ จำกัด, บริษัท ไลท์ติ้ง แอนด์ อีควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ลี้ กิจเจริญแสง จำกัด, บริษัท ออสแรม (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ฟิลิปส์ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท สยาม แอลอีดี จำกัด และบริษัท ตาดีเทคโนโลยี (998) จำกัด
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ได้รับโล่จากการเข้าร่วมโครงการกระทะไฟฟ้าเบอร์ 5 จำนวน 8 ราย ได้แก่ บริษัท แอคคอร์ด พรีเวล อิเล็คทริค 1999 จำกัด, บริษัท ฮานาบิชิ อิเลคทริค คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท อิมาร์เฟล็กซ์ อินดัสเตรียล จำกัด, บริษัท ที.เอ.ที. (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท สแกนเนอร์อิเลคทริค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัท ออตโต้ คิงส์กลาส จำกัด, บริษัท เอกชัยโลหะภัณฑ์ อิเลคทริค จำกัด และบริษัท นพัช อินเตอร์ จำกัด
สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับโล่จากการเข้าร่วมโครงการเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติเบอร์ 5 จำนวน 6 ราย ได้แก่ บริษัท กรุนด์ฟอส (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ฮิตาชิ คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ทองไทย (1956) จำกัด, บริษัท ไฮโซะเทค จำกัด, บริษัท ลัคกี้สตาร์อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท กันยงอีเลคทริก จำกัด (มหาชน)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานกล่าวเปิดการบรรยายเรื่อง “รัฐธรรมนูญกับการปฏิรูปประเทศไทย”

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2559 พลเอก อนันตพร  กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานกล่าวเปิดการบรรยายเรื่อง “รัฐธรรมนูญกับการปฏิรูปประเทศไทย” โดยมีปลัดกระทรวงพลังงาน ผู้บริหารระดับสูง และบุคลากรกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมรับฟังการบรรยาย ซึ่งกระทรวงพลังงานได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร. ชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้แก่ผู้บริหารและบุคลากรกระทรวงพลังงานทุกท่าน ทั้งในประเด็นที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ และประเด็นที่อาจมีผลต่อการทำงานในอนาคต

ก้าวสู่ปีที่ 15 กระทรวงพลังงาน “อนันตพร” เดินหน้าขับเคลื่อน “พลังงาน” สู่ Energy 4.0

วันนี้ (3 ตุลาคม 2559) พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  พร้อมด้วย ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน และผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่จาก ทุกหน่วยงานในสังกัดร่วมแสดงสัญลักษณ์การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบในโอกาสครบรอบ 14  ปี วันคล้ายวันสถาปนากระทรวงพลังงาน และก้าวสู่ปีที่ 15 กระทรวงพลังงาน  เพื่อย้ำเตือนให้ทุกคนยึดถือการทำงานด้วยความโปร่งใส และเป็นธรรม พร้อมร่วมกันขับเคลื่อนภาคพลังงานของประเทศตามแนวนโยบาย Energy 4.0 สอดรับนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล ภายใต้กรอบแผน 5 เสาหลัก มุ่งสร้างรายได้ให้กับประชาชนและประเทศชาติ ยกระดับพ้นกรอบประเทศรายได้ปานกลาง และสร้างประสิทธิภาพพลังงานอย่างสมดุล ก้าวสู่สังคมสีเขียวด้วยพลังงานสะอาด ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า  ในปี 2560 การขับเคลื่อนด้านพลังงานจะยังอยู่ในกรอบแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว โดยในแผนพัฒนากำลัง การผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP ในด้านการสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าจะมุ่งเน้นการกระจายเชื้อเพลิงและกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองในระดับที่เหมาะสม โดยจะลดการใช้ก๊าซธรรมชาติลงเหลือ 59.4% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด จากเดิมในปี 2559 ใช้อยู่ที่ 64.5% และเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนเป็น 9.6% ซึ่งเดิมในปี 2559 ใช้เพียง 6.4% รวมถึงลดการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินลงเหลือ 16.8% ซึ่งเดิมในปี 2559 ใช้อยู่ที่ 18.6%

แผนอนุรักษ์พลังงาน หรือ EEP  จะลดความเข้มการใช้พลังงานลง 8.20 ktoe ต่อพันล้านบาท หรือ   คิดเป็น 3.98% โดยจะเร่งดำเนินการในมาตรการกำกับดูแลการอนุรักษ์พลังงานตามกฎหมายสำหรับโรงงานและอาคารควบคุม และมาตรการอุดหนุนผลการประหยัดพลังงานในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ ประกอบด้วย โรงงานอุตสาหกรรม 5,500 แห่ง อาคาร 2,000 แห่ง และอาคารภาครัฐ 850 แห่ง โดยมีเป้าหมายการลดใช้พลังงาน จำนวน 314 ktoe (พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) พร้อมทั้งการผลักดันและส่งเสริมมาตรฐาน Building Code สำหรับอาคารใหม่ เพื่อผลักดันการบังคับใช้ในอาคารขนาดหญ่ขนาดพื้นที่มากกว่า 10,000 ตารางกิโลเมตร ในปี 2560 ซึ่งจะมีการตรวจประเมินและรับรองแบบอาคารใหม่ จำนวน 150 อาคาร และการศึกษามาตรฐานพลังงานสำหรับบ้านอยู่อาศัย (Residential Energy Code : REC) โดยจะสำรวจข้อมูลบ้านอยู่อาศัยขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ จำนวน 1,500 ตัวอย่าง และจัดทำต้นแบบบ้านประหยัดพลังงาน 12 แบบ

แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ AEDP จะดำเนินการรวบรวมศักยภาพของพลังงานทดแทนในรายภาคเพื่อให้ได้ฐานข้อมูล ที่เป็นปัจจุบันและสอดคล้องกับความเป็นจริง เร่งรัดให้มีการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) สำหรับโรงไฟฟ้าที่มีใบอนุญาตแล้ว(PPA) จำนวน 9,327.15  เมกะวัตต์ ในปี 2560 การส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาลงทุนในด้านผลิตพลังงานความร้อน โดยพิจารณาแนวทางสนับสนุน (Heat Incentive) ในเป้าหมายจำนวน 7,115.10 ktoe (พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) ส่งเสริมให้มี   การผลิตและการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น อาทิ เอทานอล 3.84 ล้านลิตร/วัน และไบโอดีเซล 3.67 ล้านลิตร/วัน ในปี 2560

แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ หรือ Gas Plan จะเดินหน้าเรื่องบริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุ การเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่  การส่งเสริมการแข่งขันจัดหาแอลเอ็นจีแบบเสรีและศึกษาแนวการกำกับดูแลด้านแอลเอ็นจี การติดตามแผนโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติและการสร้าง LNG Terminal ให้เหมาะสมและเพียงพอกับความต้องการ รวมถึงการลงพื้นที่สร้างเครือข่าย และทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจและการมีส่วน

แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ Oil Plan จะดำเนินโครงการขนส่งน้ำมันทางท่อซึ่งจะเริ่มสร้างท่อส่งน้ำมันสายเหนือในปี 2559 และสายอีสานในปี 2561 การลดชนิดน้ำมันในกลุ่มเบนซินให้เหลือ 4 ชนิดในปี 2561 การศึกษาการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ ซึ่งจะสรุปผลการศึกษาเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในช่วงเดือนกันยายน 2560 การผลักดันเรื่องการเปิดเสรีนำเข้าแอลเอ็นจีให้เป็นรูปธรรม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ในปี 2560 กระทรวงพลังงานยัง            จะขับเคลื่อนภาคพลังงานของประเทศตามแนวนโยบาย Energy 4.0 ซึ่งมีเป้าหมายคือการสร้างรายได้ให้กับประชาชนและประเทศ เพื่อให้ประเทศชาติในภาพรวมหลุดพ้นจากการเป็นประเทศรายได้ระดับปานกลาง สอดรับกับนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล ซึ่งแบ่งการขับเคลื่อนออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับประเทศ และ                ระดับชุมชน/ประชาชน โดยในระดับประเทศ จะมุ่งเน้นการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมด้านพลังงานใหม่ๆ เพื่อให้ภาคธุรกิจมีความทันสมัย แข่งขันในตลาดโลกได้ และการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับด้านพลังงาน เพื่อ         ต่อยอดธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานของประเทศให้เติบโต และก้าวหน้า ซึ่งสิ่งที่ภาคพลังงานของประเทศไทยจะต้องเตรียมพร้อมในการกำหนดนโยบายและการกำกับดูแลในอนาคต อาทิ การบริหารจัดการพลังงานทดแทนให้มีความเสถียร (Firm Renewable Energy) จากการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน(Energy Storage)                      การเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) การพัฒนาในรูปแบบของ “Smart” ต่างๆ ทั้งในส่วนของ Smart Grid ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของ Smart City ซึ่งทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้พลังงานสามารถมีปฏิสัมพันธ์กันได้ผ่านระบบสารสนเทศ การเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าระหว่างประเทศและมีการส่งไฟฟ้าขายข้ามประเทศ ยกตัวอย่างกรณี ของ LTM ที่มีแผนการส่งไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ผ่านไทยไปยังมาเลเซีย การเปิดให้มีการแข่งขัน          ในกิจการก๊าซธรรมชาติ ทั้งในส่วนของการใช้ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และท่ารับ LNG รวมถึงการผลิตไฟฟ้าประเภทผสมผสานระหว่างพลังงานธรรมชาติ (PV Wind Hydro) และพลังงานชีวภาพ (Biomass Biogas MSW)

ส่วนในระดับชุมชน/ประชาชน จะมุ่งเน้นการสร้างรายได้ และลดรายจ่ายให้กับประชาชนและชุมชน        ผ่านโครงการประชารัฐ การสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคม การดำเนินโครงการพลังงานชุมชน และการส่งเสริมด้านพลังงานในธุรกิจSMEs ซึ่งปัจจุบันมีการขับเคลื่อนอยู่แล้วหลายโครงการ อาทิ  การส่งเสริมธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในชุมชน เช่น การสนับสนุนให้ชุมชนผลิตและจำหน่ายก๊าซไบโอมีเทนเพื่อทดแทนก๊าซหุงต้มในครัวเรือน โครงการช่วยเหลือเกษตรกร เช่น โครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้ง 900 ระบบ ทั่วประเทศ เพื่อช่วยบรรเทาการขาดแคลนน้ำในการอุปโภคแก่เกษตรกร เป็นต้น

 

“นอกเหนือจากการขับเคลื่อนเรื่อง Energy 4.0 แล้ว เป้าหมายด้านพลังงานในอนาคต กระทรวงพลังงานจะผลักดันให้เกิดมิติที่ผู้บริโภคสามารถผลิตพลังงานใช้เองได้และมีความหลากหลายทางเชื้อเพลิง พร้อมทั้งผลักดันให้เกิดการลงทุนการแข่งขันในธุรกิจพลังงานอย่างเสรีและเป็นธรรม รวมถึงสร้างชุมชนเมือง  ให้เป็น Smart City Smart Home มุ่งสู่สังคมสีเขียวด้วยพลังงานสะอาด ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกลง 20-25% ในปี 2573 และในปี 2560 นี้ กระทรวงพลังงานยังมุ่งเน้นการบริหารจัดการด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม พร้อมตรวจสอบได้เป็นหัวใจสำคัญ ในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงพลังงานในวันนี้            คณะผู้บริหารกระทรวงพลังงาน รวมถึงข้าราชการทุกคนยังได้ตอกย้ำด้วยการร่วมแสดงสัญญลักษ์การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อยึดถือเป็นข้อปฏิบัติในการทำงานต่อไป ” พลเอกอนันตพร กล่าว

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 34

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

“รมว.พลังงานไทย” ร่วมขับเคลื่อนภูมิภาคอาเซียน“มุ่งสู่ประชาคมพลังงานสะอาด

และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ในการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 34 ที่เมียนมา

วันที่ 21-22 กันยายน 2559 พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 34 (34th ASEAN Ministers on Energy Meetings : 34th AMEM)  โดยมีรัฐมนตรีด้านพลังงานจากประเทศสมาชิก 10 ประเทศ เข้าร่วมการประชุม ภายใต้หัวข้อ Towards Greener Community with Cleaner Energy โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนสู่ภูมิภาคพลังงานสะอาด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ณ กรุงเนปยีดอ ประเทศเมียนมา

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 34 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นการประชุมภายใต้หัวข้อ Towards Greener Community with Cleaner Energy โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน             สู่ภูมิภาคพลังงานสะอาด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในครั้งนี้ได้มีแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานจำนวน 4 ฉบับ ประกอบด้วย แถลงการณ์ของรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน 10 ประเทศ ครั้งที่ 34 แถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน+3 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ครั้งที่ 13 แถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานเอเชียตะวันออกครั้งที่ 10 และแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานและทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ ครั้งที่ 6

ทั้งนี้ ในส่วนของถ้อยแถลงของรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน 10 ประเทศ มีสาระสำคัญ คือ การมุ่งเน้นการขับเคลื่อนเรื่องพลังงานทดแทน และเป้าหมายการลดความเข้มการใช้พลังงานของอาเซียน ตามแผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียน (ASEAN Plan of Action on Energy Cooperation 2016-2025  : APAEC) ที่เน้นเรื่องการส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน การเชื่อมโยงโครงข่าย รวมถึงการร่วมกันเรื่องการพัฒนาพลังงานสะอาดในภูมิภาค การใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ และการใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ตลอดจนการร่วมมือกันในการบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานและตลาดพลังงานเพื่อประโยชน์ในการแบ่งปันทรัพยากรทดแทนและทรัพยากรภายในภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานและด้านเทคนิค เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในระบบพลังงาน เกิดการแบ่งปันได้จริงอย่างเต็มที่

โดยในด้านการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ยุทธศาสตร์หลักของอาเซียน     คือ การตั้งเป้าหมายในการลดความเข้มของการใช้พลังงานในภูมิภาคลง 20% ภายในปี พ.ศ. 2563 และ 30%  ในปีพ.ศ. 2573 ส่วนด้านพลังงานทดแทน ยุทธศาสตร์หลักของอาเซียนคือการเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนเป็น 23% ของพลังงานผสมผสานอาเซียนในปีพ.ศ. 2568 สำหรับด้านโครงสร้างพื้นฐานมีการขับเคลื่อนร่วมกันในการเชื่อมต่อท่อส่งก๊าซแบบทวิภาคีจำนวน 6 ประเทศ รวมความยาว 3,673 กิโลเมตร และการดำเนินการสถานีเปลี่ยนก๊าซธรรมชาติเหลวให้กลับเป็นก๊าซจำนวน 6 สถานี กำลังผลิต 22.5 เมตริกตันต่อปี นอกเหนือจากนี้ยังมีการขยายการเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid : APG) กว่า 1,700 เมกะวัตต์ รวม 8 โครงการ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวต่อว่า ในการประชุมครั้งนี้ ประเทศไทยได้ประโยชน์ในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และการพัฒนาขีดความสามารถบุคลากรจากประเทศคู่เจรจา ในเรื่องการอนุรักษ์พลังงาน พลังงานทดแทน นิวเคลียร์ พลังงานสะอาด  เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด และการสนับสนุนข้อวิเคราะห์แนวโน้มพลังงานทดแทนในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Renewable Energy Outlook) นอกจากนี้ ประเทศไทยยังจะได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจในโครงการ LTM on Power Integration Project                        ในการศึกษาการซื้อขายไฟฟ้าข้ามแดนบนพื้นฐานความเท่าเทียมและผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบสายส่งไฟฟ้าอาเซียนให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าร่วมกันระหว่างประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไทย และมาเลเซีย โดยจะนำร่อง ไม่เกิน 100  เมกะวัตต์  ตามแผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียน ปี 2016-2025 ในระยะที่ 1 ระหว่างปี 2016-2020 รวมถึงยังจะมีโอกาสร่วมหารือแบบทวิภาคี ในประเด็นด้านความร่วมมือด้านพลังงาน             กับประเทศและหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กัมพูชา จีน สถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก(Economic Research Institute for ASEAN and East Asia : ERIA)  และทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency : IEA) เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานร่วมกัน สำหรับการประชุมครั้งต่อไป ที่ประชุมได้ตกลงให้มีการจัดการประชุม AMEM ครั้งที่ 35 ในช่วงปลายปี 2560 ที่ประเทศฟิลิปปินส์

การบริหารและกำกับกิจการพลังงานของสหภาพยุโรปในสังคมโลกยุคใหม่

การบริหารและกำกับกิจการพลังงานของสหภาพยุโรปในสังคมโลกยุคใหม่

วันที่ 19 กันยายน 2559 พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เป็นประธานกล่าวเปิดการบรรยายพิเศษของสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ในโอกาสครบรอบ 30 ปี ของการก่อตั้งสถาบันปิโตรเลียมฯ

ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว ในเรื่องเกี่ยวกับการเสริมสร้างประสิทธิภาพและความมั่นคงด้านพลังงานของสหภาพยุโรป โดยนายวอลเทอร์ โบ้วส์ (DI Walter Boltz) อดีตผู้อำนวยการ Energie Control Austria (E-Control) ได้กล่าวในการบรรยายว่า “การบริหารจัดการและการกำกับกิจการพลังงานของสหภาพยุโรป ซึ่งครอบคลุมทั้งภาคไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ ที่มีการดำเนินการตลอดช่วงเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้บรรลุถึงเป้าหมายการเปิดเสรีระบบพลังงานให้มีการแข่งขันโดยผู้ประกอบการมากราย ทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อจากผู้จำหน่ายที่มีหลายรายแข่งขันกันในราคาพลังงานที่สะท้อนการแข่งขัน รวมทั้งการเชื่อมโยงโครงข่ายพลังงานให้สามารถรับส่งพลังงานข้ามพรมแดนระหว่างประเทศในสหภาพยุโรปได้อย่างเสรี ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแล้ว ยังช่วยทำให้ตลาดพลังงานมีการแข่งขันกันอย่างมีประสิทธิภาพทั้งภูมิภาค และเมื่อดำเนินการไปพร้อมกับการมีระบบการกำกับกิจการพลังงานที่ดี ก็จะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภคและสังคม” ทั้งนี้ นายวอลเทอร์ โบ้วส์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “อย่าถอดใจโดยง่าย การเปิดเสรีระบบพลังงานต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะสัมฤทธิ์ผล และหวังว่าประสบการณ์ในการบริหารและกำกับกิจการพลังงานของสหภาพยุโรปที่ได้นำเสนอในวันนี้ จะเป็นประโยชน์ในการพิจารณาการปรับโครงสร้างการบริหารและกำกับกิจการพลังงานของประเทศไทย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและสังคมในอนาคตได้เช่นกัน”
ทั้งนี้ ในระหว่างการกล่าวเปิดการบรรยาย พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวถึงนโยบายของกระทรวงพลังงานว่า “กระทรวงพลังงานได้มีการทบทวนยุทธศาสตร์ในการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง เพราะการเปลี่ยนแปลงในภาคพลังงานเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา หากการกำหนดนโยบายและการกำกับดูแลไม่สามารถพัฒนาได้ทันกับความเปลี่ยนแปลงก็ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคพลังงาน ซึ่งในด้านนโยบายก็ได้กำหนดทิศทางใหม่ๆ ที่จะสร้างภาคพลังงานให้มีความมั่นคง มีประสิทธิภาพ และมีความยั่งยืน อาทิ การเพิ่มการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ การปฏิรูปการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ที่ปัจจุบันมีการผลิตอย่างกว้างขวาง ซึ่งในอนาคตไฟฟ้าที่จะส่งเข้าระบบต้องมีลักษณะ Firm การพัฒนาด้าน Smart City และ Smart Grid การพัฒนาเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในภาค
พลังงานของไทย จึงมีความจำเป็นที่การกำกับดูแลจะต้องมีความทันสมัยรองรับสิ่งใหม่ๆ เหล่านี้ด้วย การบรรยายในวันนี้จึงเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญด้านการกำกับดูแลในระดับสากล ซึ่งกระทรวงพลังงานสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้”
ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมฯ กล่าวในตอนท้ายว่า “การบรรยายพิเศษครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดการบรรยายพิเศษภายใต้หัวข้อ “อนาคตโลกที่สัมผัสได้ด้านพลังงาน – ยานยนต์ – วัสดุ – สังคม” หรือ “The Smart Future in Energy – Transport – Materials –Society: A Far Away Reality?” ที่จัดขึ้นในวาระการครบรอบ 30 ปี ของการก่อตั้งสถาบันปิโตรเลียมฯ โดยเป็นการเสนอมุมมองเกี่ยวกับวิวัฒนาการด้านการกำกับกิจการพลังงานในสหภาพยุโรปในสังคมโลกยุคใหม่ ที่นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดหาพลังงาน และความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งการบรรยายในวันนี้ เป็นการบรรยายต่อเนื่องจากการบรรยายของนายโทนี่ เซบา (Mr. Tony Seba) ในหัวข้อเรื่อง “Clean Disruption: Why Current Energy and Transport System Will Be Obsolete by 2030” ที่จะผลักดันประเทศไทยให้เป็นเมืองอัจฉริยะด้านพลังงานและยานยนต์ในอนาคต และการบรรยายของ ดร. คริสเตียน ฮัสเลอร์ (Dr. Christian Haessler) จากบริษัท โคเวสโตร จำกัด ในหัวข้อเรื่อง “Materials from CO2: How Will CO2 Replace Petroleum in Polymers” ซึ่งนำเสนอนวัตกรรมการรักษ์โลกด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตวัสดุพอลิเมอร์เชิงพาณิชย์ แทนการใช้น้ำมันและก๊าซฯ เป็นวัตถุดิบ”

เปิดบทบาทรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในรายการกฤษนะเวิลด์ วันที่ 17 กันยายน 2559 (ตอนที่ 2 )

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

เปิดบทบาทรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในรายการกฤษนะเวิลด์ วันที่ 17 กันยายน 2559 (ตอนที่ 2 )


 

ช่วงที่ 1

 

ช่วงที่ 2

 

ช่วงที่ 3

รมว.พน. ลงพื้นที่ ตรวจติดตามสถานการณ์พลังงานอีสานเหนือ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

วันนี้ (16 กันยายน 2559) พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
นำคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อตรวจติดตามสถานการณ์พลังงานครอบคลุมพื้นที่ 12 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และศักยภาพการดำเนินงานสถานีผลิตก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อม ของบริษัท พีทีทีอีพี เอสพี ลิมิเต็ด จำกัด เพื่อสร้างความมั่นใจด้านพลังงานให้กับประชาชนในพื้นที่ พร้อมเยี่ยมชมอาคารต้นแบบที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ และระบบน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่นในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการติดตามภาพรวมการขับเคลื่อน 5 แผนบูรณาการพลังงานระยะยาว
ในพื้นที่ปฏิบัติจริง และติดตามสถานการณ์พลังงานในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เพื่อสร้างความมั่นใจในด้านพลังงานให้กับประเทศและประชาชนในพื้นที่ โดยในวันนี้ได้เยี่ยมชมอาคารกองสื่อสารองค์กร
ซึ่งถูกก่อสร้างและพัฒนาให้เป็นอาคารต้นแบบที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Energy Building) และระบบน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งถือเป็นต้นแบบด้านการอนุรักษ์พลังงานในหน่วยงานราชการ โดยอาคารต้นแบบที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Energy Building) เป็นโครงการที่กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ให้การสนับสนุนทุนวิจัยด้านการพัฒนาเทคโนโลยีให้สามารถใช้พลังงานสุทธิภายในอาคารเป็นศูนย์ (Net Zero Energy Building) เพื่อเป็นอาคารต้นแบบและเป็นแหล่งเรียนรู้เทคโนโลยีด้านการอนุรักษ์พลังงานที่เหมาะสมสำหรับอาคารในประเทศไทย

สำหรับโครงการระบบน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ เป็นอีกโครงการที่กระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานสนับสนุนในการติดตั้งระบบผลิต
น้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ ทดแทนการใช้น้ำมันเตาในกระบวนการผลิตน้ำร้อนเพื่อใช้สำหรับอุปโภคและบริโภคในโรงพยาบาล ซึ่งได้ดำเนินการติดตั้งระบบใหม่ จำนวน 2 ระบบ ได้แก่ ระบบผลิตน้ำร้อนสำหรับป้อนหม้อไอน้ำ สำหรับอาคารหม้อไอน้ำ และระบบผลิตน้ำร้อนเพื่อการอุปโภคของหอพักผู้ป่วย ซึ่งภายหลังจากการปรับเปลี่ยนระบบดังกล่าวสามารถลดค่าใช้จ่ายรวมกันทั้ง 2 ระบบ คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.4 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ โครงการอนุรักษ์พลังงานของทั้ง 2 หน่วยงาน เป็นมาตรการหนึ่งตามกรอบแผนอนุรักษ์พลังงานหรือ EEP 2015 ที่ขับเคลื่อนสู่เป้าหมายสำคัญในการลดความเข้มการใช้พลังงานของประเทศลง 30% ภายในปี 2579

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวต่อว่า สำหรับการลงพื้นที่ติดตามศักยภาพของแหล่งก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อม เป็นการติดตามในส่วนของแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติในด้านภาพรวมศักยภาพการผลิต เนื่องจากแหล่งก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เป็นสถานีการผลิตที่รองรับก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากแหล่งก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อม ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสำคัญในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ปัจจุบันแหล่งก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อม มีปริมาณการผลิตแบ่งเป็นก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยประมาณ 108-135 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และก๊าซธรรมชาติเหลว (Condensate) ประมาณ 400-500บาร์เรล/วัน และคาดว่ามีปริมาณสำรองในส่วนของก๊าซธรรมชาติ ณ สิ้นปี 2558 อยู่ที่ 623.32 พันล้านลูกบาศก์ฟุต และก๊าซธรรมชาติเหลวปริมาณ 1.69 ล้านบาร์เรล คาดว่าจะใช้ได้อีก 10-14 ปี

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ สามารถจัดเก็บค่าภาคหลวงปิโตรเลียมจากแหล่งก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อม ตั้งแต่ปี 2550 – 2558 จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 9,481 ล้านบาท โดยจัดสรรไปพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ทั้งเป็นรายได้แผ่นดิน สัดส่วน 40% หรือประมาณ 3,792.4 ล้านบาท อีก 60% จัดสรรไปยังองค์กรส่วนท้องถิ่น โดยจัดสรรให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่มีการผลิต 2 แห่ง สัดส่วน 20% หรือประมาณ 1,896.2 ล้านบาท จัดสรรให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือเทศบาลในพื้นที่ที่มีการผลิต 11 แห่ง สัดส่วน 20% ประมาณ 1,896.2 ล้านบาท จัดสรรให้องค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาลในจังหวัดที่มีการผลิตสัดส่วน 10% ประมาณ 948.1 ล้านบาท และที่เหลืออีก 10% หรือประมาณ 948.1 ล้านบาท จัดสรรกระจายไปยัง อบต. และเทศบาลอื่นๆ อีกทั่วประเทศ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สำคัญ 2 แหล่ง คือ แหล่งก๊าซธรรมชาติน้ำพอง และแหล่งก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อม โดยที่แหล่งก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อมมีการผลิตก๊าซธรรมชาติ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 4.1% ของอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติของทั้งประเทศ ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากแหล่งก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อมจะนำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด โดยนำไปผลิตไฟฟ้าและผลิตเป็นก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV)

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังได้ติดตามเรื่องการเตรียมความพร้อม กรณีการปิดซ่อมโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 17 – 26 กันยายน 2559 ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า กฟผ. ได้มีการเตรียมการรองรับไว้เรียบร้อยแล้ว จึงไม่มีผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่แต่อย่างใด

สำหรับกรณีการปิดซ่อมบำรุงประจำปีของแหล่งก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อม ระหว่างวันที่ 25-26 กันยายน 2559 จะส่งผลกระทบต่อการผลิตก๊าซ NGV ประมาณ 450 ตัน/วัน (มาจากแหล่งสินภูฮ่อมประมาณ 10-15 ล้านลูกบาศก์ฟุต) ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว คือ จะนำเข้าก๊าซ NGV จากสระบุรี และภาคกลางเข้ามาทดแทนทั้งหมด โดยยืนยันว่าในช่วงเวลาที่มีการปิดซ่อมจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ก๊าซ NGV ในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างแน่นอน

………………







กระทรวงพลังงาน สรุปผลงานรอบ 2 ปี ลดค่าครองชีพคนไทย

กระทรวงพลังงาน สรุปผลงานรอบ 2 ปี ลดค่าครองชีพคนไทย


ก.พลังงาน สรุปผลงานรอบ 2 ปี ลดค่าครองชีพคนไทย ประหยัดค่าน้ำมัน 306,000 ล้านบาทต่อปี ค่าไฟฟ้าลด 92,103 ล้านบาท ผลักดันการลงทุนด้านพลังงานสูงสุดในประวัติศาสตร์กว่า 1 ล้านล้านบาท สร้างงาน-อาชีพแก่วิศวกรยันเกษตรกร พร้อมเปิดมิติประชารัฐร่วมกับชุมชนเปลี่ยนพลังงานทดแทนเป็นรายได้เพิ่ม ยันวางรากฐานบูรณาการแผนพลังงานระยะยาว 5 ด้าน ไทยมีพลังงานอย่างมั่นคงพร้อมก้าวสู่เมืองอัจฉริยะ คู่ดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงผลงานในรอบ 2 ปีของกระทรวงพลังงานภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีผลงานที่สำคัญๆ ได้แก่
1. การลดค่าครองชีพให้แก่ประชาชน กระทรวงพลังงานได้เร่งแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาพลังงาน โดยยกเลิกการอุดหนุนราคาพลังงาน ปลดภาระหนี้สินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเป็นปัญหาค้างคามายาวนานกว่า 7,000 ล้านบาท โดยได้บริหารจัดการให้ราคาน้ำมันปรับลดลงทุกประเภท ส่งผลให้ประชาชนลดค่าน้ำมันได้ 306,000 ล้านบาท นอกจากนี้ในส่วนของค่าไฟฟ้า ได้ปรับราคาลดลงต่อเนื่องเช่นกันสูงถึง 52.68 สตางค์ต่อหน่วย ช่วยให้ประชาชนลดค่าไฟฟ้าลงได้ 92,103 ล้านบาท
2. เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพให้คนไทยเพิ่มขึ้น โดยถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ภาคพลังงานเกิดการลงทุนสูงสุดถึง 1 ล้านล้านบาท จากการพัฒนาโรงไฟฟ้าควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้า การสำรวจและผลิตปิโตรเลียม การพัฒนาระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อ การขยายโครงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และการลงทุนขยายท่าเรือรับส่งก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือ LNG Receiving Terminal รวมทั้งการปลดล็อกกฎระเบียบ ใบอนุญาต การแก้ไขปัญหาผังเมือง ส่งผลให้เกิดการลงทุนพลังงานต่อเนื่อง โดยมีการจ่ายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเข้าระบบสูงถึง 2,213 เมกะวัตต์ คิดเป็นมูลค่า 139,739 ล้านบาท ซึ่งภาพรวมการลงทุนทั้งหมดที่เกิดขึ้น ได้ช่วยให้เกิดการสร้างงานตั้งแต่ระดับวิศวกรไปจนถึงภาคการเกษตร เกิดการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศต่อเนื่อง
3. กระทรวงพลังงานได้เปิดมิติด้านประชารัฐ โดยส่งเสริมการลงทุนพลังงานทดแทนในระดับชุมชน เพื่อลดรายจ่ายและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าการเกษตร ซึ่งได้ช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ภาคการเกษตร ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ดำเนินการ อาทิ โครงการสนับสนุนระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ที่อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก จนเกิดสินค้าประชารัฐที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนเพิ่มขึ้น รวมทั้งการทำให้สินค้าเกษตรอื่นๆ เช่น เยื่อไผ่ ลำไย มะม่วง มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเช่นกัน การส่งเสริมนำมูลสัตว์ น้ำเสีย ขยะ มาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ เพื่อทดแทนการใช้ก๊าซหุงต้มในครัวเรือน ก็ได้ช่วยให้ชุมชนหลายแห่งทั่วประเทศ สามารถลดรายจ่ายด้านพลังงานและมีรายได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน
4. เกิดการวางรากฐานด้านพลังงานในระยะยาว จากการริเริ่มจัดทำแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว (พ.ศ.2558-2579) ขึ้นเป็นครั้งแรก และได้เชี่อมโยงข้อมูลแผนทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ ไฟฟ้า พลังงานทดแทน อนุรักษ์พลังงาน ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคงด้านพลังงาน โดยภายใต้แผนฯ ดังกล่าวนอกจากจะตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยมีการใช้พลังงานทดแทนทั้งจากไฟฟ้า ความร้อน และภาคขนส่งเพิ่มขึ้น 30 % เกิดการลดใช้พลังงานลง 30% ในปี 2579 เกิดการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงอย่างสมดุลย์ในการผลิตไฟฟ้าแล้ว ในอนาคตจะเกิดโครงการสำคัญที่พาประเทศไทยไปสู่ เมืองอัจฉริยะ (Smart Cities – Clean Energy) ซึ่งจะเกิดการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนควบคู่ไปด้วย อาทิ โครงการไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) โครงการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และโครงการส่งเสริมระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) เป็นต้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานพิธีมอบรางวัล SHE Award

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

กระทรวงพลังงาน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จัดพิธีมอบรางวัลโครงการบริหารจัดการด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม สำหรับสถานประกอบกิจการปิโตรเลียมดีเด่น (SHE Award) ประจำปี 2559 มุ่งหวังสร้างแรงจูงใจยกระดับมาตรฐานแก่วงการปิโตรเลียมอย่างต่อเนื่อง

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลโครงการบริหารจัดการด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม สำหรับสถานประกอบกิจการปิโตรเลียมดีเด่น (SHE Award) ประจำปี 2559 จัดโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในวันพุธที่ 14 กันยายน 2559 ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม C โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพฯ โดยในวันนี้ได้จัด การบรรยายทางวิชาการด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและบริษัทผู้ประกอบกิจการปิโตรเลียมอีกด้วย
​พลเอก อนันตพร กล่าวว่า โครงการบริหารจัดการด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม สำหรับสถานประกอบกิจการปิโตรเลียมดีเด่น หรือ SHE Award โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน จัดทำขึ้นเพื่อกระตุ้นและเสริมสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการมุ่งเน้นการพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านอาชีว-อนามัยและสิ่งแวดล้อมในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกิจกรรมเชิงป้องกัน
​การดำเนินโครงการใช้ระยะเวลาทั้งสิ้นประมาณ 1 ปี (ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 – กันยายน 2559) โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการพิจารณาหลักเกณฑ์การประเมิน การตรวจประเมินอย่างจริงจัง และเข้มงวด โดยได้พิจารณาข้อมูลจากทั้งรูปแบบเอกสารและหลักฐานเชิงประจักษ์ในสถานประกอบการจริงตามมาตรฐานในระดับสากล ซึ่งผ่านการคัดกรองโดย นักวิชาการกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ผู้ตรวจประเมินระดับอาชีพ และได้รับ การรับรองจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ นางพรศรี ครอบบัวบาน อดีตผู้อำนวยการกลุ่มวิศวกรรม ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิรวัฒน์ ชีวรุ่งโรจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนาวาเอกนเรศ วงศ์ตระกูล ผู้เชี่ยวชาญประจำกรมข่าวทหารเรือ กรมยุทธการทหารเรือ กองทัพเรือ
​รางวัลการบริหารจัดการด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม สำหรับสถานประกอบกิจการปิโตรเลียมดีเด่น (SHE Award) ประจำปี 2559 มีบริษัทแสดงความจำนงเข้าร่วมทั้งสิ้น 11 บริษัท โดยการพิจารณารางวัลครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับยอดเยี่ยม ระดับดีเด่น และระดับดี โดยที่ระดับยอดเยี่ยมจะต้องมีระดับคะแนน 90% ขึ้นไป ระดับดีเด่นจะต้องมีระดับคะแนน 80% ขึ้นไป และระดับดีจะต้องมีระดับคะแนน 70% ขึ้นไป
สำหรับรายชื่อบริษัทผู้รับสัมปทานที่ได้รับรางวัลครั้งนี้ 11 บริษัท ได้แก่
รางวัลระดับยอดเยี่ยม
1. บริษัท ปตท.สผ.สยาม จำกัด​​แหล่ง S1
2. บริษัท สยามโมเอโกะ จำกัด​​แหล่ง บูรพา เอ
3. บริษัท เอ็กซอนโมบิล เอ็กซ์โพลเรชั่น แอนด์ โพรดักชั่น โคราช อิงค์​แหล่ง น้ำพอง
4. บริษัท พีทีทีอีพี เอสพี ลิมิเต็ด​​แหล่ง สินภูฮ่อม
5. บริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด​พื้นที่ผลิตบ่อรังเหนือ
6. บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด​แหล่ง ฟูนาน
7. บริษัท โอเฟียร์ ไทยแลนด์ (บัวหลวง) ลิมิเต็ด​แหล่ง บัวหลวง
8. บริษัท เอ็มพี จี11 (ประเทศไทย) จำกัด​แหล่ง นงเยาว์
9. บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)​แหล่ง บงกชใต้
รางวัลระดับดีเด่น
1. บริษัท แพนโอเรียนท์ เอ็นเนอร์ยี่ (สยาม) ลิมิเต็ด​พื้นที่ผลิต L53A
รางวัลระดับดี
1. บริษัท ซิโน-ยู.เอส.ปิโตรเลียม อิงค์​แหล่ง ผลิตบึงหญ้า1
​“กระทรวงพลังงาน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ขอยืนยันว่า บริษัทผู้ประกอบการด้านปิโตรเลียม ทุกบริษัทต้องดำเนินการตามมาตรฐานทางด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย ข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องทุกประการ แต่การจัดโครงการครั้งนี้ กระทรวงพลังงานหวังว่าจะเป็นแรงจูงใจ และมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ผู้ประกอบการด้านปิโตรเลียมเต็มใจ มุ่งมั่นสร้างมาตรฐานสูงสุดในการบริหารจัดการ ด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม ในสถานประกอบกิจการปิโตรเลียมในประเทศไทย ซึ่งจะนำไปสู่การมีส่วนร่วมสร้างความเข้มแข็งทางด้านภาพลักษณ์ที่ดีแก่วงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวเพิ่มเติม

 

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิด การสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อทบทวนยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ที่โรงแรมทรีซิกตี้ไฟว์ จังหวัดชลบุรี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

วันที่ 10 กันยายน 2559 กระทรวงพลังงาน  จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อทบทวนยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน ประจำปีงบประมาณ 2560 ณ โรงแรมT six 5 อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี โดยมี พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธานเปิดการประชุมฯ พร้อมด้วย ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน บรรยายในเรื่อง การขับเคลื่อนกระทรวงพลังงานเพื่อตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ประเทศ

นอกจากนี้ยังมี การบรรยาย ในหัวข้อ ภาพรวมการขับเคลื่อนแผนบูรณาการพลังงานระยะยาวในปี 2560 ประกอบด้วย แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ โดย ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน โดย นายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ โดย นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ แผนการบริหารจัดการน้ำมัน โดย นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน และแผนปฏิบัติงานของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน โดย นางปัจฉิมา ธนสันติ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน

ซึ่งการประชุมครั้งนี้มีผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยพลังงานจังหวัดทั่วประเทศเข้าร่วมประชุม

      

      

             

      

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดการสัมมนาวิชาการประจำปี Energy Symposium 2016

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดการสัมมนาวิชาการประจำปี Energy Symposium 2016 พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “พลังงานไทยในกระแสพลังงานโลก” การสัมมนาฯ ครั้งนี้ จัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพ โดยมีผู้เข้าร่วมงานจากผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม และผู้ที่เกี่ยวข้องกว่า 200 คน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแถลงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

วันนี้ (7 กันยายน 2559) พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า ที่ประชุม กบง. ได้มีการพิจารณาวาระสำคัญ และรับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานด้านพลังงาน ดังนี้

โครงสร้างราคาก๊าซ LPG เดือนกันยายน 2559
สถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลก (CP) เดือนกันยายน 2559 อยู่ที่ระดับ 305 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 18 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน และอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเดือนสิงหาคม 2559 แข็งค่าขึ้นจากเดือนก่อน 0.3515 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ 34.8938 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคาต้นทุนเฉลี่ยการจัดหาก๊าซ LPG ทั้งระบบ ซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นของก๊าซ LPG (LPG Pool) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.2341 บาท/กก. จาก 12.9282 บาท/กก. เป็น 13.1623 บาท/กก. แต่เพื่อไม่ให้การผันผวนของราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลก ส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกก๊าซ LPG ในประเทศ ประกอบกับฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของก๊าซ LPG ยังคงมีเสถียรภาพ ดังนั้น ที่ประชุม กบง. จึงเห็นควรให้คงราคาขายปลีกก๊าซ LPG เดือนกันยายน 2559 ไว้ที่ 20.29 บาท/กก. โดยปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ลง 0.2341 บาท/กก. จากเดิมเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ 0.3908 บาท/กก. เป็นเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ที่ 0.1567บาท/กก. ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2559 เป็นต้นไป
จากการปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าว ส่งผลทำให้กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของก๊าซ LPG มีรายรับลดลง 82 ล้านบาท/เดือน จาก 137 ล้านบาท/เดือน คงเหลือรายรับประมาณ 55 ล้านบาท/เดือน โดยฐานะสุทธิของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 4 กันยายน 2559 อยู่ที่ 41,707 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) ในส่วนของบัญชีก๊าซ LPG อยู่ที่ 7,411 ล้านบาท และ 2) ในส่วนของบัญชีน้ำมันสำเร็จรูป อยู่ที่ 34,296 ล้านบาท

การเตรียมความพร้อมภายใต้ร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ….
เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการปฏิบัติงานภายใต้ร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. …. ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 ได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันฯ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยคาดว่าร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าว จะสามารถประกาศในราชกิจจานุเบกษา ประมาณเดือนเมษายน 2560 ที่ประชุม กบง. จึงเห็นชอบการเตรียมความพร้อมภายใต้ร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. …. ระหว่างเดือนกันยายน 2559 – เมษายน 2560 สรุปได้ดังนี้
1. การบริหารกองทุน และการปฏิบัติงาน ประกอบด้วย การจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์การบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ร่างแผนรองรับกรณีเกิดวิกฤติน้ำมันเชื้อเพลิง และร่างแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานน้ำมันเชื้อเพลิง การศึกษา ทบทวนกฎหมายลำดับรอง ระเบียบ ประกาศ และข้อบังคับต่างๆ เกี่ยวกับการบริหารจัดการกองทุนฯ
2. การจัดตั้งสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบด้วย การกำหนดโครงสร้างการบริหารสำนักงาน อัตรากำลัง และสถานที่ตั้ง นโยบายการบริหารงานของสำนักงาน การออกกฎหมายรองและระเบียบข้อบังคับต่างๆ ในการบริหารสำนักงาน รวมทั้งการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ปฏิบัติงานของสำนักงาน
3. การสร้างความรู้ความเข้าใจระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการการทำงานให้ไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

พร้อมกันนี้ ที่ประชุม กบง. ยังได้เห็นชอบให้แต่งตั้ง “อนุกรรมการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการปฏิบัติงานภายใต้ร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. …. ” โดยมีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่ในการพิจารณาจัดเตรียมการดำเนินงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการเตรียมความพร้อมรองรับการปฏิบัติงานภายใต้ร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. …. ดังกล่าวข้างต้น และรายงานผลการปฏิบัติงานให้ กบง. ทราบเป็นระยะ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงนามในบันทึกความเข้าใจด้านพลังงานไฟฟ้ากับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

วันนี้ (6 กันยายน 2559) พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ ดร.คำมะนี อินทิราด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและราชอาณาจักรไทย ซึ่งสาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจฉบับดังกล่าวประกอบด้วย
1. ขยายกรอบการซื้อไฟฟ้าเป็น 9,000 MW
2. ตั้งคณะทำงานร่วมด้านน้ำ
3. ต่อยอดวิสัยทัศน์ ASEAN Power Grid
ทั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ให้เกียรติเข้าร่วมเป็นสักขีพยานด้วยการลงนามในบันทึกความเข้าใจครั้งนี้ด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การบริหารจัดการกองทุน เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (Encon FUND)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

2 กันยายน 2559 พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การบริหารจัดการกองทุน เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (Encon FUND) แบบบูรณาการ และมุ่งผลสัมฤทธิ์” จัดโดย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ณ. โรงแรมโนโวเทลกรุงเทพ แพลทินัม

กระทรวงพลังงานลงนาม MOUกับกลุ่มเอสซี เดินหน้าโครงการขยายระบบขนส่งน้ำมันทางท่อภาคอีสาน

กระทรวงพลังงาน เดินหน้าโครงการขยายระบบขนส่งน้ำมันทางท่อ ล่าสุดลงนามเอ็มโอยูกับกลุ่มเอสซี หนุนก่อสร้างท่อไปยังภาคอีสาน เงินลงทุน 1 หมื่นล้านบาท คาดแล้วเสร็จ ก.ค.2563 ขณะที่เอฟพีทีรุกคืบวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างคลังน้ำมันที่พิจิตรนำร่อง รับการก่อสร้างท่อส่งน้ำมันไปภาคเหนือแล้ว ชี้ทั้ง 2 เส้นทางจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งน้ำมันของประเทศ  

            พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 เห็นชอบให้กระทรวงพลังงานดำเนินโครงการ ขยายระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งน้ำมันของประเทศ โดยมอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เป็นผู้ดำเนินการพิจารณาสนับสนุนผู้ลงทุนที่จะมาพัฒนาโครงการฯ เพื่อให้เกิดการแข่งขันเสรี เพื่อให้ระบบการขนส่งน้ำมันของประเทศมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

โดยปัจจุบันมีผู้สนใจลงทุนในการขยายระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อทั้ง 2 เส้นทางเรียบร้อยแล้ว              และในวันที่ 31 สิงหาคม 2559 ธพ.ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)  กับบริษัท ไทย ไปป์ไลน์ เน็ตเวิร์ค จำกัด (TPN) ภายใต้กลุ่มบริษัท เอส ซี กรุ๊ป (SC Group) เพื่อสนับสนุนโครงการขยายระบบขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในการประสานขอความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในการวางท่อขนส่งน้ำมัน การออกใบอนุญาตให้ผู้ลงทุน และให้ข้อเสนอแนะ แนะนำ รวมถึงข้อคิดเห็นต่อการดำเนินงาน ให้สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐ ในโครงการขยายระบบขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากที่ก่อนหน้านี้ทาง ธพ. ได้มีการลงนาม MOU กับทางบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด (FPT) เพื่อลงทุนก่อสร้างขยายระบบท่อน้ำมันไปยังภาคเหนือแล้ว

พล.อ.อนันตพร กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการขยายระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น จะทำการต่อขยายจากระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อที่มีอยู่เดิมของบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด (THAPPLINE) ที่คลังน้ำมันอำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ไปยังคลังน้ำมันปลายทางที่ จังหวัดขอนแก่น เป็นระยะทางประมาณ 350 กิโลเมตร ใช้งบประมาณในการลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งหลังจากที่ ธพ. ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) แล้ว ทางบริษัทฯ จะไปดำเนินการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อไป และคาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ต้นปี 2561และเปิดใช้งานได้ปลายปี 2563 ตามแผน   ที่ได้วางไว้

“โครงการขยายระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากจะเป็นโครงการที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งน้ำมันของประเทศ สร้างความมั่นคงด้านการจัดหาพลังงาน      เอื้อต่อนโยบายการเก็บสำรองน้ำมันสำเร็จรูปในคลังส่วนภูมิภาค ส่งผลให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน         ที่เชื่อถือได้ (Reliable) ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ด้านเศรษฐศาสตร์ต่อประเทศ รวมถึงยังเป็นการรองรับการขยายตัวด้านการใช้น้ำมันในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย      ในการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางพลังงานของภูมิภาค ลดความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงในการขนส่ง ลดปัญหาด้านอุบัติเหตุรวมถึงแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ยังเป็นโครงการฯ สำคัญที่มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วยมูลค่าการลงทุน 2 เส้นทาง รวมเกือบ 2 หมื่นล้านบาท” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์รายการมองรัฐสภา ชี้แจงเหตุผลรัฐบาลผลักดันร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์รายการมองรัฐสภา ชี้แจงเหตุผลรัฐบาลผลักดันร่างแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับ ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ยืนยันกระทรวงพลังงานมุ่งสร้างความต่อเนื่องในการผลิตปิโตรเลียม เพื่อความมั่นคงพลังงานและรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นสำคัญ


 

กระทรวงพลังงาน โดย กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ร่วมกับ มูลนิธิอาคารเขียวไทย เดินหน้าพัฒนาโครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะต้นแบบ เพื่อพัฒนาเมืองของชุมชน สู่เมืองอัจฉริยะ เชื่อมโยงการใช้พลังงานในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งสู่การเป็น Smart Cities – Clean Energy

พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการเปิดงานสัมมนาโครงการเมืองอัจฉริยะ ว่า สืบเนื่องจากการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (COP 21) ณ กรุงปารีส เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ที่มีเป้าหมายให้มีการรักษาระดับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส ด้วยการจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อลดความเสี่ยงจากผลกระทบรุนแรง จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำหรับประเทศไทย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตั้งเป้าไว้ว่า ไทยจะลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20 ถึงร้อยละ 25 ภายในปี 2573 โดยมุ่งเน้นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในแผนพลังงานของประเทศให้มากขึ้น ที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงพระราชทานมากว่า 50 ปีแล้ว ในรูปแบบประชารัฐ ด้วยความร่วมมือของประชารัฐ เอกชน ประชาสังคม เอ็นจีโอ และประชาชนอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของประเทศที่เหมาะสม และสอดคล้องกับการดำเนินการให้บรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2573 ของสหประชาชาติ

ดังนั้น เพื่อให้การปล่อยก๊าซลดลงตามเป้าหมาย และเพื่อเป็นการขับเคลื่อนตามเป้าหมายของแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558 – 2579 (EEP 2015) ที่ตั้งเป้าลดความเข้มข้นของการใช้พลังงานลง 30% ผ่านมาตรการสนับสนุนต่างๆ กระทรวงพลังงาน โดย กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ร่วมกับ มูลนิธิอาคารเขียวไทย จึงได้สนับสนุนโครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities – Clean Energy) เพื่อเป็นแนวทางหรือแบบรายละเอียดเบื้องต้น (Schematic Design) การพัฒนาเมืองของชุมชนสู่เมืองอัจฉริยะ โดยเชื่อมโยงกับการใช้พลังงานในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งสู่การเป็น Clean Energy และ Green City เพื่อบริหารจัดการทรัยากรของเมืองให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ระบบบริหารจัดการเครือข่ายพลังงานอัจฉริยะ (Smart Grid) ระบบการบริหารจัดการพลังงานระดับชุมชน (Community Energy Management Systems : CEMS) ระบบขนส่งอัจฉริยะ และยานยต์พลังงานทางเลือก เป็นต้น ทำให้ผู้อยู่อาศัยมีความสะดวกสบาย ลดการใช้พลังงาน เกิดการใช้พลังงานสะอาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยโครงการนี้จะสามารถเป็นต้นแบบลดการใช้พลังงาน และลดคาร์บอนไดออกไซด์ ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทย และยังเป็นการสร้างมิติใหม่ของการพัฒนาเมือง ให้สอดคล้องกับวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นำไปสู่เมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า โครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities – Clean Energy) จัดขึ้นเพื่อสนับสนุน หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัย องค์กรเอกชน ร่วมโครงการออกแบบและพัฒนาเมือง ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนารูปแบบและโครงสร้างของเมืองการส่งเสริม การอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน โดยจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการประเมินเกณฑ์ และจะประกาศให้ยื่นข้อเสนอเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณสำหรับการออกแบบ เมืองอัจฉริยะ ซึ่งให้ความสำคัญกับ 3 องค์ประกอบหลัก คือ การจัดรูปเมืองและโครงสร้างพื้นฐานหลักของเมือง เช่น โครงสร้างระบบขนส่ง ระบบราง การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมในทุกรูปแบบ และการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนให้เต็มศักยภาพ ประกอบกับการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและข้อมูล มาช่วยในการบริหารจัดการ เพื่อจะเป็นการช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังเป็นการร่วมส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์อีกด้วย โดยผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ จะได้แนวทางในการพัฒนาเมืองของชุมชนที่มีผลต่อการลดความต้องการพลังงาน และการใช้พลังงานสูงสุด ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อรองรับการเติบโตของเมือง และเกิดการเรียนรู้ด้านพลังงานสู่ชุมชนผ่านกระบวนการทางความคิดสร้างสรรค์

นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานสถาบันอาคารเขียวไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของเกณฑ์เบื้องต้นการประเมินเมืองอัจฉริยะ จะต้องมีพื้นที่ใช้สอยรวมไม่น้อยกว่า 1 ล้านตารางเมตร หรือ ความต้องการกำลังไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 15 เมกะวัตต์ หรือ มีจำนวนประชากรไม่น้อยกว่า 30,000 คน หรือสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่น้อยกว่า 30,000 ตันต่อปี โดยมีหลักเกณฑ์เบื้องต้น ดังนี้ 1) การส่งผลงานเพื่อประกวด ในขั้นตอนที่ 1 (Conceptual & Urban Planning) 2) ผังแม่บทการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City Development Master Plan) ผู้ผ่านการคัดเลือกหรือคัดสรร ในขั้นตอนที่ 1 จะได้รับการสนับสนุนในการจัดทำข้อเสนอในขั้นตอนนี้ โดยข้อเสนอที่เป็นแนวคิดที่ดีที่สุด 7 ลำดับแรก จะได้รับเงินสนับสนุนสำหรับใช้ในการดำเนินการขั้นต่อไป ไม่เกิน 10,000,000 บาทต่อแห่ง รวมเป็นเงิน 70,000,000 บาท ทั้งนี้การพิจารณาคัดเลือกหรือคัดสรรข้อเสนออาจให้การสนับสนุนไม่ครบ 7 แห่ง ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของข้อเสนอ และ 3) โมเดลธุรกิจ (Business Model) ผู้ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ ในขั้นตอนที่ 2 จะต้องดำเนินการจัดทำแบบรายละเอียดเบื้องต้น (Schematic design) ประเมินค่าก่อสร้างเบื้องต้น รายงานการวิเคราะห์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ เพื่อให้สามารถนำไปใช้เป็นโมเดลธุรกิจ และนำไปสู่การจัดหาผู้ร่วมทุนและการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่เป็นรูปธรรมต่อไป ข้อเสนอที่ได้รับคะแนนอันดับที่ 1 จะได้รับการสนับสนุนโอกาสในการจัดหาทุนเพื่อการพัฒนาสู่เมืองอัจฉริยะตามแบบที่พัฒนาขึ้นต่อไป

    

ก.พลังงาน น้อมนำรับพระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ชวนคนไทยดูแลสิ่งแวดล้อมปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ โครงการคุ้งบางกะเจ้าเฉลิมพระเกียรติ

กระทรวงพลังงาน ร่วมกับบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ภาคีเครือข่ายและหน่วยงานต่างๆ จัดพิธี “ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ โครงการคุ้งบางกะเจ้าเฉลิมพระเกียรติ” พร้อมชวนประชาชนคนไทยร่วมกันทำความดี รักษาสิ่งแวดล้อม และแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ

 

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่ากระทรวงพลังงานได้ร่วมกับบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ภาคีเครือข่ายและหน่วยงานต่างๆ รวมถึงประชาชนในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ ได้จัดพิธี “ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ โครงการคุ้งบางกะเจ้าเฉลิมพระเกียรติ” ขึ้น สำหรับต้นไม้ที่ใช้ปลูกในวันนี้ประกอบด้วยต้นโกงกาง ตะเคียนทองและต้นไม้ที่มีอยู่ในท้องถิ่น ซึ่งเป็นการพัฒนาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมพื้นที่สีเขียว ภายใต้โครงการคุ้งบางกะเจ้าเฉลิมพระเกียรติ

ซึ่งกระทรวงพลังงานได้จัดโครงการในครั้งนี้ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ครบ7 รอบ84 พรรษา 12 สิงหาคม 2559เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในโครงการบางกะเจ้าพระเกียรติฯ และเป็นการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ กระทรวงพลังงานจึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย รวมถึงประชาชนในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ ได้จัดพิธีปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ โครงการคุ้งบางกะเจ้าเฉลิมพระเกียรติฯ ขึ้น โดยต้นไม้ที่จะนำมาปลูกในวันนี้เป็นต้นไม้ที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น โกงกางโพทะเลตะเคียนทอง จำนวนประมาณ200 ต้น พื้นที่การปลูกประมาณ 3 ไร่ ณ ตำบลบางน้ำผึ้ง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ โดยหวังว่าต้นไม้ดังกล่าวจะกลายเป็นป่าอีกหนึ่งพื้นที่จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ให้ยั่งยืนยิ่งขึ้น

 

ในโอกาสนี้ กระทรวงพลังงานจึงขอเชิญชวนประชาชนคนไทยทุกคนช่วยกันทำความดีด้วยความมุ่งมั่น ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมวงศานุวงศ์ และสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักและเคารพยิ่งของปวงชนชาวไทยตลอดไป




 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เยี่ยมชมศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ

วันที่ 19 สิงหาคม 2559 พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะ เยี่ยมชมศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือกรมการพลังงานทหาร ณ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้เข้ารับฟังการการบรรยายการดำเนินงานการผลิตน้ำมัน และเยี่ยมชมโรงกลั่น และโครงการผลิตก๊าซมีเทนจากชั้นถ่านหิน ของกรมพลังงานทหาร

 






และต่อมาได้ พลเอกอนันตพร พร้อมคณะได้เข้าเยี่ยมชม โรงงานผลิตไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพฝาง ซึ้งเป็นโรงงานผลิตไฟฟ้า จากการนำน้ำร้อนไปถ่ายเทความร้อนให้กับของเหลวกระทั่งเดือดเป็นไอ แล้วนำไอนี้ไปหมุนกังหันเพื่อขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าผลิตไฟฟ้าออกมา






รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตรวจราชการจังหวัดเชียงใหม่

พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เดินทางตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้โครงการพลังงานชุมชนจัดการตนเองด้านพลังงาน เพื่อปลูกฝัง และสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนในพื้นที่ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ที่เป็นชุมชนต้นแบบเทคโนโลยีพลังงานเพื่อลดปัญหาหมอกควัน และลดโลกร้อน

“โครงการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีพลังงานเพื่อลดปัญหาหมอกควันและลดโลกร้อนจะช่วยลดปัญหาหมอกควันของจังหวัดเชียงใหม่ โดยนำซังข้าวโพดมาแปลงเป็นพลังงานชีวมวล และสามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืน อีกทั้ง ยังสามารถปลูกฝัง และสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนในพื้นที่ให้เกิดการยอมรับ สนับสนุนโครงการด้านพลังงานที่ถูกต้องเหมาะสม ตลอดจนสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในชุมชนอีกด้วย” พลเอกอนันตพร กล่าว

 

     

 

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานลงนาม สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (PTT EV Station)

วันนี้ (15 ส.ค. 59) พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือการให้บริการสถานีบริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (PTT EV Station) ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำ 6 ราย ได้แก่ บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด, ปอร์เช่ ประเทศไทย โดยบริษัท เอเอเอส ออโต้ เซอร์วิส จำกัด และ บริษัท วอลโว่ คาร์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยมี นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้การต้อนรับ
พลเอกอนันตพร เปิดเผยว่า “ความร่วมมือในการให้บริการ PTT EV Station ระหว่าง ปตท. และค่ายรถยนต์ชั้นนำทั้ง 6 ราย ในครั้งนี้ นับเป็นการตอบสนองนโยบายของกระทรวงพลังงานที่ได้วางกรอบแผนบูรณาการพลังงานแห่งชาติ ในเรื่องมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้ได้ 1,200,000 คัน ภายในปี 2579 เพื่อขับเคลื่อนให้แผนอนุรักษ์พลังงานสามารถลดการใช้พลังงานร้อยละ 30 ให้ได้ในปี 2579 เมื่อเทียบกับปี 2553
โดยภาครัฐได้ให้การสนับสนุนในเชิงนโยบาย อาทิ สิทธิประโยชน์ภาษีเงินได้และสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอื่นๆ ให้กับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ได้รับสิทธิ์การลดหย่อน หรือยกเว้นอากรขาเข้าในรุ่นรถยนต์ที่จะผลิต รวมถึงสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนหรือยกเว้นอากรขาเข้าชิ้นส่วนสำคัญซึ่งยังไม่สามารถมีการผลิตในประเทศ เป็นต้น”
นายเทวินทร์ เปิดเผยว่า “ปตท. ในฐานะหน่วยงานของรัฐ มีความยินดีและพร้อมที่จะสนองนโยบายของรัฐในเรื่องดังกล่าว โดยได้เริ่มศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2555 เพื่อสร้างองค์ความรู้และเตรียมความพร้อมรองรับธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบัน ปตท. มี PTT EV Station ที่มีเครื่องชาร์จไฟที่ได้มาตรฐานยุโรป (IEC) และมาตรฐานญี่ปุ่น (CHAdeMO) ทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่ อาคาร ปตท. สำนักงานใหญ่, สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา, สถานีบริการน้ำมัน ปตท. สาขาแหลมฉบังขาออก จ.ชลบุรี และ สถานีบริการน้ำมัน ปตท. สาขา The Crystal PTT ถ.ชัยพฤกษ์ โดยมีแผนที่จะขยายเพิ่ม 2 สถานีภายในสิ้นปีนี้ และเพิ่มเป็น 20 สถานี ภายในปี 2560
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการร่วมกันพัฒนาและทดลองระบบการใช้งาน PTT EV Station พร้อมศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาธุรกิจเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า โดย ปตท. จะเป็นผู้ก่อสร้างสถานีบริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าตามแผนธุรกิจของ ปตท. และ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ทั้ง 6 ราย จะเป็นผู้ศึกษาและพัฒนารถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าตามแผนธุรกิจของแต่ละบริษัทต่อไป ทั้งนี้ เพื่อสร้างการรับรู้และความมั่นใจสู่สาธารณะในการใช้ไฟฟ้าในรถยนต์ต่อไป”
นับเป็นอีกความมุ่งมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีในด้านต่างๆ ให้รองรับการปรับเปลี่ยนสู่ยานยนต์ไฟฟ้าในระยะยาว ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพน้ำมันและสถานีบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้เดินทางได้รับความสะดวกสบายและสร้างความมั่นใจในแบรนด์”ปตท. พลังที่ยั่งยืน” ตลอดไป

 

ถวายพระพรสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 12 สิงหาคม 2559

วันนี้ (12สิงหาคม 2559) พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นำคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง ลงนามถวายพระพรสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 12 สิงหาคม 2559 ณ พระบรมมหาราชวัง
และต่อมา เมื่อเวลา 19.19 น. ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อม ภริยา เป็นประธานในพิธีถวายเครื่องราชสักการะ จุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล และถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา โดยมีผู้ร่วมงานประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ คณะกรรมการมูลนิธิ 5ธันวามหาราชคณะกรรมการจัดงานบำเพ็ญกุศลฯ ตลอดจนประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมพร้อมกันที่บริเวณพิธี

      

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมลงนามถวายพระพร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

วันนี้ (11สิงหาคม 2559) พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมทั้งคณะผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงานร่วมลงนามถวายพระพร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง ให้พระองค์ทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีต่อประเทศชาติและปวงชนชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้

 

กระทรวงพลังงาน เดินหน้าส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า

กระทรวงพลังงาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดแสดงโชว์ยานยนต์ไฟฟ้า หน้าตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ทั้งรถยนต์ รถตุ๊กตุ๊ก รถจักรยานยนต์  พร้อมหนุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า 100 สถานี

(10 สิงหาคม 2559 : ทำเนียบรัฐบาล) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เยี่ยมชมบูธการแสดงยานยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ ซึ่งกระทรวงพลังงาน ได้นำรถยนต์ BMW i3 (Fully EV) พร้อมแท่นประจุไฟฟ้ามาจัดแสดง นอกจากนี้ยังมีรถยนต์จากหน่วยงานต่างๆ มาจัดแสดงด้วย อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า Honda Jazz (ดัดแปลง) จาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รถยนต์ไฟฟ้า BYD จากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) รถยนต์ Toyota Prius จาก บมจ.ปตท. พร้อมกันนี้ยังมีรถยนต์ไฟฟ้า จากสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เช่น รถยนต์ BMW i8 รถยนต์ Tesla Model s รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า Limo จักรยานยนต์ไฟฟ้า รุ่น EV Neo, รุ่น EV Vino, รุ่น Big E-Bike

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการเยี่ยมชมยานยนต์ไฟฟ้าว่า กระทรวงพลังงานได้วางกรอบแผนบูรณาการพลังงานแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายที่จะลดความเข้มการใช้พลังงาน (Energy Intensity) ลง 30% ในปี 2579 เมื่อเทียบกับปี 2553 ซึ่งมาตรการหลักของแผน คือ การใช้ลดใช้พลังงานในภาคขนส่ง เนื่องจากเป็นภาคที่ใช้พลังงานมากที่สุด ซึ่งการนำรถยนต์ไฟฟ้ามาจัดแสดงในวันนี้ ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า ภาครัฐได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และในการประชุม กพช. วันนี้ กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เสนอโครงการสนับสนุนการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) เพื่อพิจารณาด้วย ทั้งนี้การสนับสนุนการลงทุนจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า จำนวน 100 สถานี โดยสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Quick Charge จะให้การสนับสนุน 1 ล้านบาท/สถานี และสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Normal Charge จะให้การสนับสนุน 1 แสนบาท/สถานี

พร้อมกันนี้ กระทรวงพลังงานยังได้มีการจัดตั้งคณะทำงานและจัดทำแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าเพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย โดยมีหน่วยงานภาครัฐและตัวแทนภาคเอกชนเป็นคณะทำงาน ซึ่งได้กำหนดแนวทางการจดทะเบียนผู้ให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า และการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าชั่วคราวเป็นเวลา 2 ปี โดยเน้นให้ราคาการอัดประจุไฟฟ้ากลางวันสูงกว่าการอัดประจุไฟฟ้าในช่วงเวลากลางคืน นอกจากนี้จะมีโครงการสนับสนุนการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับภาครัฐและเอกชนซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาหลักเกณฑ์การสนับสนุนและจะประกาศให้ทราบประมาณภายในเดือนสิงหาคมต่อไป

“กระทรวงพลังงานได้เตรียมความพร้อม ระบบไฟฟ้าพื้นฐานของประเทศ ให้สามารถรองรับจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ซึ่งหากมีการชาร์จไฟรถยนต์แบบควิกชาร์จพร้อมๆ กัน ระบบไฟฟ้าพื้นฐานต้องสามารถรองรับได้ ซึ่งในเรื่องนี้กระทรวงพลังงานประมาณการเบื้องต้นจากจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่คาดว่าจะมีถึง 1.2 ล้านคันในปี 2579 ณ ตอนนั้นประเทศไทยจะมีปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าตามแผนประมาณ 70,000 เมกะวัตต์ บวกกับกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่ 15-20% ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการอย่างแน่นอน” พลเอก อนันตพร กล่าวเพิ่มเติม

รมว.กระทรวงพลังงานและคณะผู้บริหารร่วมถวายพระพร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (เทปบันทึกถวายพระพร)

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์

เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

 

เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงนามถวายพระพร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

วันที่ 10 สิงหาคม 2559 พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นำคณะผู้บริหาร ข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่ของกระทรวงพลังงาน ลงนามถวายพระพร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 12 สิงหาคม 2559 ณ ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ อาคารบี กระทรวงพลังงาน



 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รวมโครงการไถ่ชีวิตโค-กระบือ

วันที่ 9 สิงหาคม 2559 พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง ได้รวมโครงการไถ่ชีวิตโค-กระบือ เพื่อถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี และเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 ทั้งนี้มีโค-กระบือ ที่ได้รับการไถ่ชีวิตจำนวน 79ตัว โดยโค-กระบือ เหล่านี้จะมีบัตรประจำตัวและจะส่งมอบให้กับอธิบดีกรมปศุสัตว์นำเข้าธนาคารโค-กระบือต่อไป

 

ประธานบริษัท J-Power ประจำสำนักงานใหญ่ เข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

เมื่อวานนี้ (3 สิงหาคม 2559) พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวต้อนรับประธานบริษัท J-Power ประจำสำนักงานใหญ่ นายโทชิฟุมิ วาตานาเบะ และคณะ รวมทั้งกล่าวขอบคุณที่เดินทางมาเยือนกระทรวงพลังงาน ทั้งนี้ ประธานบริษัท J-Power ได้กล่าวว่า บริษัท J-Power ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2495 และมีความสัมพันธ์อันดีกับกระทรวงพลังงานมาเป็นระยะเวลาเกือบ 60 ปี โดยในอดีตได้มีความร่วมมือในการให้คำปรึกษาในโครงการด้านพลังงานทดแทน อาทิ โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำ และระยะหลังก็มีการร่วมลงทุนกับ กฟผ. ในการสร้างโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะโรงไฟฟ้า Combine cycle gas ซึ่งขณะนี้ได้มีการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าร่วมกับ กฟผ. แล้วจำนวน 16 โรง และทุกโรงสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่นดี

ทั้งนี้ รมว.พน. ได้กล่าวถึงนโยบายของกระทรวงพลังงานที่มุ่งเน้นความโปร่งใสในการบริหารนโยบายพลังงาน รวมทั้งส่งเสริมให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม โดยหากภาคเอกชนพบสิ่งที่ไม่ถูกต้องเป็นธรรม สามารถแจ้งกระทรวงพลังงานได้โดยตรง นอกจากนั้น ได้เชิญชวนให้บริษัท J-Power พิจารณาลงทุนเพิ่มเติม ตามแผนการลงทุนของกระทรวงพลังงานทั้งในปีนี้และปีต่อไป ซึ่งบริษัท J-Power ได้แจ้งตอบรับว่ามีความสนใจเข้าร่วมลงทุนในโครงการต่างๆ ของประเทศไทยในอนาคต โดยปัจจุบันบริษัท J-Power ได้เข้าไปลงทุนเพิ่มเติมในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ในเทคโนโลยีถ่านหิน พลังงานลม พลังงานน้ำ รวมทั้งมีการลงทุนในระบบสายส่งเองอีกด้วย

ในโอกาสนี้ ประธานบริษัท J-Power ได้แจ้งเชิญ รมว.พน. เข้าร่วมงานฉลองครบรอบ 10 ปีการก่อตั้งบริษัท J-Power เป็นนิติบุคคลในประเทศไทย ในวันที่ 1 กันยายน 2559 เวลา 18.00 น. ณ โรงแรมพลาซาแอทธินี รวมทั้งเชิญ รมว.พน. เยือนเมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น พร้อมเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดที่มีการนำเทคโนโลยีล่าสุดมาใช้ ซึ่งมีประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าสูงและมีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมสูงมาก ซึ่ง รมว.พน. แสดงความยินดีในโอกาสครบรอบ 10 ปีการก่อตั้งบริษัท J-Power ในประเทศไทย และตอบรับเชิญการเยือนประเทศญี่ปุ่นในโอกาสต่อไป

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นำคณะผู้บริหาร ข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่ของกระทรวงพลังงาน ลงนามถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร

วันที่ 28 ก.ค. 59 พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นำคณะผู้บริหาร ข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่ของกระทรวงพลังงาน ลงนามถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ วันที่ 28 กรกฎาคม 2559 ณ ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ อาคารบี กระทรวงพลังงาน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูง บันทึกเทปถวายพระพรสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

วันที่ 26 กรกฎาคม 2559 พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นำคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพลังงาน บันทึกเทปโทรทัศน์ถวายพระพรชัยมงคลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหามหาราชินี ณ สถานีโทรทัศน์กองทัพบก (ช่อง 5)

พลเอก อนันตพร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะ เยี่ยมชม บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) จ.ระยอง

พลเอก อนันตพร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะ ได้เดินทางไปยัง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) จ.ระยอง เพื่อเยี่ยมชมกิจการภายในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ในเครือของกลุ่ม บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) โดยมีคุณประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการบริษัทฯ คุณสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าทึ่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ให้การต้อนรับ
ภายหลังจากการเยี่ยมชม พลเอก อนันตพร พร้อมคณะ ได้ร่วมถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกับคณะผู้บริหารของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูงเดินทางลงพื้นที่เยี่ยมชมศูนย์ปฏิบัติการ ปตท. จ.ชลบุรี

วันที่ 8 กรกฎาคม 2559 พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูงเดินทางลงพื้นที่เยี่ยมชมศูนย์ปฏิบัติการ ปตท. จ.ชลบุรี โดยมี นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง และนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้การต้อนรับ โอกาสนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้เดินชมห้องปฏิบัติการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ. ซึ่งสายงานท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ศูนย์ปฏิบัติการชลบุรี เป็นหน่วยงานหนึ่งของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทำหน้าที่เป็นศูนย์หลักในการควบคุมการขนส่งก๊าซธรรมชาติ เป็นศูนย์กลางในการประสานงานกับเขตปฏิบัติการระบบท่อส่งก๊าซที่กระจายตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไปยังลูกค้า โดยศูนย์ปฏิบัติการชลบุรีก่อตั้ง ตั้งแต่ปี 2524
หลังจากนั้น พลเอก อนันตพร พร้อมคณะ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมสถาบันวิทยสิริเมธี-โรงเรียนกำเนิดวิทย์ พร้อมไปพบปะพูดคุยกับนักเรียนและนักศึกษา โดยมี ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานกรรมการบริหารโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ดร.ธงชัย ชิวปรีชา ผู้อำนวยการโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ให้การต้อนรับ และพาเยี่ยมชมตามสถานที่ต่างๆ ภายในโรงเรียน

 

 

 

 

กระทรวงพลังงานเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ครั้งที่ 6 / 2559

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดการประชุมคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ครั้งที่ 6/2559 โดยมีผู้ช่วยรัฐมนตรี และตัวแทนกระทรวงต่างๆ เข้าร่วมการประชุมหารือในครั้งนี้ เมื่อวันพุธที่ 29 มิถุนายน 2559 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม 9 ชั้น 15 ศูนย์เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ อาคาร บี

โดยมี พลเอก ณัฐติพล กนกโชติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงาน และคณะผู้บริหารของกระทรวงพลังงานให้การต้อนรับ และเข้าร่วมประชุม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดงาน ” Fast Auto Show Thailand 2016 “

วันที่ 29 มิ.ย. 59 พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดงาน ” Fast Auto Show Thailand 2016 ” พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทรถยนต์ชั้นนำเข้าร่วมเปิดงานอย่างยิ่งใหญ่ พร้อมให้ผู้สนใจเข้าชมงานแสดงและจำหน่ายรถใหม่ และรถใช้แล้ว ภายใต้คอนเซปต์ “เลือกคันที่ชอบ ถอยคันที่ใช่” ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา ฮอลล์ 105 – 106 ระหว่างวันที่ 29 มิ.ย. 59 ถึง 3 ก.ค. 59

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นผู้แทนของสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน รับมอบเครื่องวัดความดันโลหิต จำนวน 1,000 เครื่อง จากบริษัท มหาจักร อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

วันที่ 28 มิ.ย. 59   พลเอก สุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เป็นผู้แทนของสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน ในการรับมอบเครื่องวัดความดันโลหิต รุ่น KP7520 จากประเทศไต้หวัน จำนวน 1,000 เครื่อง จาก นายสราวุธ พุทธิวุฒิกูล กรรมการผู้จัดการบริษัท มหาจักร อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยมี นายสมนึก บำรุงสาลี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ พร้อมด้วย คณะผู้บริหารบริษัท มหาจักร อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ร่วมในพิธีรับมอบ ณ ห้องประชุม 9 ชั้น 15 อาคารบี ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์

     พลเอก สุรศักดิ์ กล่าวว่า ถือเป็นวันดีอีกหนึ่งวันที่ภาคเอกชนได้เล็งเห็นความสำคัญของข้าราชการในเรื่องของสุขภาพ และมีจิตอันเป็นกุศล ซึ่งถือว่าเป็นความปรารถนาดีที่ทางบริษัท มหาจักร อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
ที่ต้องการจะนำเครื่องวัดความดันโลหิตมามอบให้กับข้าราชการ เพื่อนำไปได้ใช้ประโยชน์และดูแลสุขภาพ ทั้งนี้ ในนามของสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน ขอขอบคุณทาง บริษัท มหาจักร อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด อย่างมากที่มีความกรุณา มีใจเมตตา โดยส่วนหนึ่งทางสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงานจะนำไปมอบให้แก่สำนักงานพลังงานจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อนำไปให้ต่อกับประชาชนในพื้นที่ หรือ แจกจ่ายให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเพื่อนำไปดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึง

ด้าน นายสราวุธ กล่าวว่า สำหรับการมอบเครื่องวัดความดันโลหิตในครั้งนี้ บริษัท มหาจักร อินเตอร์เนชั่นแนลจำกัด ซึ่งเป็นผู้นำเข้าและผู้แทนจำหน่ายเครื่องวัดความดันโลหิต เล็งเห็นว่าเป็นประโยชน์สำหรับข้าราชการ โดยก่อนหน้านี้ได้แจกจ่ายไปยังกระทรวงกลาโหม และในขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการกับทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อที่จะแจกจ่ายเครื่องวัดความดันโลหิตในแก่หน่วยงานต่างๆ ของทางภาครัฐในอนาคตต่อไป

 

Page 6 of 7
1 4 5 6 7