ASTANA Expo 2017

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2560 พลเอกสุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะเข้าเยี่ยมชม และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ในบูธ THAILAND PAVILION พร้อมเข้าเยี่ยมชมส่วนการจัดแสดงของประเทศสิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ และรัสเซีย ซึ่งได้รับฟังคำอธิบาย และการต้อนรับ เป็นอย่างดี”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และคณะ เข้าเยี่ยมชมและรับฟังการบรรยาย ผลการดำเนินงานและแผนงานของบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)

วันนี้ (21 มิถุนายน 2560) พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และคณะ เข้าเยี่ยมชมและรับฟังการบรรยาย ผลการดำเนินงานและแผนงานของบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) พร้อมทั้งได้หารือร่วมกับนายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ถึงนโยบายด้านพลังงาน และแผนการดำเนินงานในอนาคต

 

ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดการปฐมนิเทศหลักสูตรตามTraining Roadmap สำหรับบุคลากรกระทรวงพลังงาน

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2560 ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดการปฐมนิเทศหลักสูตรตามTraining Roadmap สำหรับบุคลากรกระทรวงพลังงาน (จำนวน 4 หลักสูตร หลักสูตรละ  60 คน รวม 240 คน) พร้อมทั้งให้โอวาทแก่ผู้เข้ารับการอบรมเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาบุคลากรตาม Training Roadmap ซึ่งการปฐมนิเทศจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 – 18 มิถุนายน 2560 ณ โรงแรม
มิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร

โครงการออกแบบและพัฒนาหลักสูตรตาม Training Roadmap สำหรับบุคลากรกระทรวงพลังงาน จัดขึ้นตามนโยบายของผู้บริหารกระทรวงพลังงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นแนวทางพัฒนาข้าราชการให้มีความพร้อมทางด้านความรู้ ความสามารถ ทักษะและสมรรถนะที่เหมาะสมต่อการปฏิบัติงานเพื่อขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวงพลังงาน โดยมีการพัฒนาข้าราชการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงทดลองราชการ จนถึงระดับผู้บริหาร ซึ่งสอดคล้องกับอายุงานและตำแหน่งที่สูงขึ้น และในปี 2560 ได้มีการจัดฝึกอบรม จำนวน 4 หลักสูตร ดังนี้

  1. หลักสูตร Young Energy Program (YP) ระหว่างวันที่ 24 – 29 มิถุนายน 2560
    ณ โรงแรมราวินทรา บีช รีสอร์ท แอนด์ สปา (พัทยา) จังหวัดชลบุรี
  2. หลักสูตร Energy Professional 1 (EP1) ระหว่างวันที่ 2 – 5 กรกฎาคม 2560
    ณ โรงแรมราวินทรา บีช รีสอร์ท แอนด์ สปา (พัทยา) จังหวัดชลบุรี
  3. หลักสูตร Energy Professional 2 (EP2) ระหว่างวันที่ 12 – 16 กรกฎาคม 2560
    ณ โรงแรมราวินทรา บีช รีสอร์ท แอนด์ สปา (พัทยา) จังหวัดชลบุรี

หลักสูตร Managerial Energy Management (MEM) ระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม – 11 สิงหาคม 2560 ณ โรงแรมราวินทรา บีช รีสอร์ท แอนด์ สปา (พัทยา) จังหวัดชลบุรี

ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดการบรรยายพิเศษเรื่อง Scenario in Shell – Mapping the Geopolitical Contex and the Global Energy Landscape – Implication for Thailand

วันที่ 19 มิถุนายน 2560 ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดการบรรยายพิเศษเรื่อง Scenario in Shell – Mapping the Geopolitical Contex and the Global Energy Landscape – Implication for Thailand โดยมี ดร.โช คง หัวหน้าส่วนงานวิเคราะห์การเมือง บริษัท เชลล์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นวิทยากรบรรยาย ณ กระทรวงพลังงาน ถ.วิภาวดีรังสิต

การบรรยายพิเศษครั้งนี้เป็นการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับแผนจำลองสถานการณ์ด้านพลังงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจของ สนพ. ในฐานะหน่วยงานในการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนแนวนโยบายด้านพลังงานของรัฐภายใต้แผน Energy 4.0 ซึ่งการบรรยายดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้บริหารของกระทรวงพลังงาน เจ้าหน้าที่ และหน่วยงานภาคเอกชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

กระทรวงพลังงานเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น “ร่างพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ….

วันนี้ (1 มิถุนายน 2560 ) ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)

และโฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวแสดงความขอบคุณผู้เข้าร่วมการสัมมนาภายหลังจาก สนพ.

ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

ที่ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว

และเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่กำหนดให้ ก่อนการตรากฎหมาย

ทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง

ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นใน 3 ช่องทาง คือ 1) ผ่านเว็บไซต์

www.eppo.go.th ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2560 และ www.lawamendment.go.th 2)

การแสดงความคิดเห็นเป็นเอกสาร ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2560

ส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนมาที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) หรือ โทรสาร 02-612 1391 และ

3) การจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมสัมมนาจากหน่วยงานภาครัฐ ผู้ค้าน้ำมัน โรงกลั่นน้ำมัน สมาคม

มูลนิธิ ภาควิชาการ รวมถึงประชาชนทั่วไป รวมกว่า 300 คน

โดยขั้นตอนต่อจากนี้ไปภายหลังรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องแล้ว สนพ.

จะจัดทำรายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นประเด็นที่มีการแสดงความคิดเห็น

ประกอบการจัดทำคำชี้แจงตามหลักเกณฑ์การตรวจสอบความจำเป็นใน การตราพระราชบัญญัติ (Checklist)

โดยเมื่อดำเนินการดังกล่าวแล้วเสร็จจะได้นำเสนอต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ตามลำดับต่อไป ดร.ทวารัฐ กล่าวในท้ายที่สุด

กระทรวงพลังงานส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดงาน “พีทีที กรุ๊ป อีวี บัส รถโดยสารพลังงานไฟฟ้า” พร้อมผู้บริหารกระทรวงพลังงาน โดยมี นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริษัทและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้การต้อนรับ ซึ่งถือเป็นโครงการนำร่องการใช้พลังงานเชื้อเพลิงไฟฟ้าในกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ ตามแผนการขับเคลื่อนภารกิจด้านพลังงาน เพื่อส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย

กระทรวงพลังงานเนรมิต “อาคารศาลาไทย” พร้อมโชว์ “พลังงานชีวภาพ เพื่อมนุษยชาติ” ใน Astana Expo 2017

กระทรวงพลังงาน เตรียมโชว์ศักยภาพการพัฒนาพลังงานชีวภาพของประเทศไทย ดินแดนแห่งพืชผลพลังงาน ในงาน Astana Expo2017 ณ กรุงอัสตานา สาธารณรัฐคาซัคสถาน พร้อมเนรมิตอาคารศาลาไทย ภายใต้แนวคิด “Bioenergy for All” ดึงนานาชาติพัฒนาพลังงานชีวภาพเพื่อมนุษยชาติ ตั้งเป้าอาคารศาลาไทยติดอันดับพาวิลเลียนที่มีผู้เข้าชมสูงสุด

(22 พ.ค.60) พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่าขณะนี้ประเทศไทยมีความพร้อมในการเข้าร่วมงาน International Exposition 2017 หรือ Astana Expo 2017 ซึ่งจัดขึ้นภายใต้หัวข้อหลัก “พลังงานแห่งอนาคต (Future Energy)” ณ กรุงอัสตานา สาธารณรัฐคาซัคสถาน ระหว่างวันที่ 10 มิถุนายนถึงวันที่ 10 กันยายน 2560 โดย “อาคารศาลาไทย” (Thailand pavilion) พร้อมเปิดให้ผู้เข้าร่วมงานจากประเทศต่างๆ กว่า 115 ประเทศ ทั่วโลก เข้าชมเต็มรูปแบบ มั่นใจว่าอาคารศาลาไทยจะเป็นหนึ่งในพาวิลเลียนยอดนิยมที่มีจำนวนผู้เยี่ยมชมกว่า 5 แสนคน

“ประเทศไทยเรามีศักยภาพในด้านพลังงานชีวภาพอย่างมาก เพราะเราเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ทางด้านเกษตรกรรม การไปโชว์ศักยภาพในงานระดับโลกครั้งนี้ กระทรวงพลังงานจึงได้นำข้อมูล ความรู้ ความเข้าใจด้านพลังงานชีวภาพของไทย รวมทั้งข้อมูลด้านการเกษตรที่เชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาพลังงาน ซึ่งประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากในการพัฒนาพลังงานชีวภาพ (Bioenergy) จากการน้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทยมาเป็นแนวทางในการพัฒนาโครงการด้านพลังงาน และปัจจุบันกระทรวงพลังงานก็มีนโยบายในการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมด้านพลังงานใหม่ๆ การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับด้านพลังงาน เพื่อต่อยอดธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานของประเทศให้เติบโตและก้าวหน้า อีกทั้งยังได้แสดงศักยภาพการท่องเที่ยว การผลิตอาหารในฐานะครัวของโลกของประเทศไทย รวมทั้งยังกระชับความสัมพันธ์กับหลากหลายประเทศ โดยเฉพาะสาธารณรัฐคาซัคสถาน และกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS)”

ปัจจุบัน เศรษฐกิจของคาซัคสถานยังไม่หลากหลาย ส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพารายได้การส่งออกจากภาคพลังงานเป็นหลัก ในขณะที่เศรษฐกิจภาคการเกษตรของคาซัคสถานยังมีขนาดเล็ก ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรที่ผลิตได้ไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ จึงต้องนำเข้าสินค้าอาหาร และเกษตรจากต่างประเทศจำนวนมาก ในขณะเดียวกันประเทศไทยมีศักยภาพทางการผลิตสินค้าเกษตร จึงเป็นโอกาสของไทยที่จะขยายการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังคาซัคสถาน รวมถึงสินค้าฮาลาล เนื่องจากคาซัคสถานมีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนประชากรทั้งหมด การจัดงานครั้งนี้ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นในการ เปิดตลาดทางด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกันอีกด้วย

 

ด้านนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สำหรับ“อาคารศาลาไทย” (Thailand Pavilion) จัดขึ้นภายใต้แนวคิด“การพัฒนาด้านพลังงานชีวภาพเพื่อมนุษยชาติ (Bioenergy for All)”ต้องการสื่อถึงพลังงานเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน และศักยภาพของประเทศไทยในด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนและความก้าวหน้าในการพัฒนาพลังงานชีวภาพ (Bioenergy)จากการน้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงเป็นพระบิดาแห่งพลังงานไทย และเป็นต้นแบบในเรื่องปรัชญา“ความพอเพียง”มาใช้เป็นแนวทางในการใช้ทรัพยากรในประเทศที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า บนขนาดพื้นที่ 974.67 ตารางเมตร แบ่งเป็น 2 ชั้นการจัดแสดงผ่านการนำเสนอในรูปแบบ “EDUTAINMENT” หรือการเรียนรู้ ควบคู่ความสนุกผ่าน 3 ห้องนิทรรศการหลัก ได้แก่นิทรรศการห้องที่1: Our Ways, Our Thai สัมผัสวิถีความเป็นไทย เอกลักษณ์ความงดงามของธรรมชาติ และวัฒนธรรม ควบคู่กับการพัฒนาด้านพลังงานทดแทนในรูปแบบ Live Exhibition, นิทรรศการห้องที่ 2 : Farming the Future Energy ห้องสรุปเรื่องราวแนวคิดของ Thailand Pavilion ในรูปแบบ 3D Theater และถือเป็นไฮไลท์สำคัญบอกเล่าเรื่องราวในห้องทดลองสุดมหัศจรรย์ และการกำเนิดของพลังงานแห่งอนาคต‘พลัง’ข้าวโพดน้อยในรูปแบบหุ่นยนต์ Animatronic เคลื่อนไหวเสมือนจริงและนิทรรศการห้องที่ 3 : Energy Creation Lab พบกับพลังงานชีวภาพ และชีวมวลจากพืชพลังงานทั้งหมด 9 ชนิด ประกอบด้วย อ้อย ยูคาลิปตัส ยางพารา หญ้าเนเปียร์ ข้าว ข้าวโพด มูลสัตว์ ของเสีย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ในรูปแบบ Interactive Exhibition

ส่วนการจัดแสดงชั้นที่ 2 เป็นพื้นที่รับรองแขกพิเศษ ร้านค้าอาหารไทย กาแฟ และพื้นที่สำหรับการจัด Business Matching และ Investment Clinic และการสาธิตการนวดแผนไทย ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ยังได้คัดเลือกตัวแทนอาสาสมัครโครงการ Thailand Pavilion Ambassador 2017 จำนวน 10 คน เพื่อเป็นเสมือนทูตเยาวชนที่จะประสานความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้ง 2 ประเทศอีกด้วย

สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้าง “อาคารศาลาไทย” ขณะนี้อาคารศาลาไทยเสร็จสมบูรณ์ไปกว่า 90% โดยเฉพาะงานโครงสร้างเหลือเพียงงานตกแต่งเท่านั้น มั่นใจว่าประเทศไทยจะเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่สามารถเข้าพื้นที่และดำเนินการก่อสร้างเสร็จก่อนกำหนด โดยอาคารศาลาไทยจะเปิดทดลองระบบทั้งหมดได้ภายในต้นเดือนมิถุนายนนี้ และพร้อมที่จะประกาศศักยภาพบนเวทีระดับโลกอย่างเป็นทางการในวันที่ 10 มิถุนายน 2560

ขณะที่การประชาสัมพันธ์อาคารศาลาไทยในสาธารณรัฐคาซัคสถานถือว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยใช้กลยุทธ์การนำเสนอที่ผสมผสานเน้นสร้างการรับรู้และความประทับใจในอาคารศาลาไทยอาทิ การโรดโชว์และประชาสัมพันธ์การจัดงานด้วยเทคนิค VR 360 Thailand Pavilion พร้อมด้วยมาสคอต“น้องพลัง” เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับชาวคาซัคสถานไปยังสถานที่สำคัญต่างๆ ตั้งแต่ก่อนเริ่มงานในเมืองอัสมาตี และเมืองอัสตานาอย่างต่อเนื่อง

ประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์ “ผลิตภัณฑ์ชุมชน ลดใช้พลังงาน”

สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนชน สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน ขอเรียนเชิญนักเรียน นิสิต และประชาชนทั่วไป ส่งผลงานประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์ “ผลิตภัณฑ์ชุมชน ลดใช้พลังงาน

ตราสัญลักษณ์ดังกล่าว จะถูกนำไปใช้งานบนบรรจุภัณฑ์ ที่มีการลดใช้พลังงานจากการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตหรือการแปรรูป เพื่อให้เกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของผลิตภัณฑ์ และเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบในวงกว้าง

สามารถส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 28 พฤษภาคม 2560

Click !!! ดาวน์โหลดใบสมัครและกติกา

Click !!! ดาวน์โหลดโปสเตอร์โครงการ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมตักบาตรพระสงฆ์และเยี่ยมชมโครงการเศรษฐกิจพอเพียงของชุมชน

วันนี้ (25 มี.ค.60) เมื่อเวลา 07.15 น. พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และคณะผู้บริหารกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมตักบาตรพระสงฆ์จำนวน 10 รูป ณ บริเวณหน้าหน้าร้านอาหารเรือนน้ำพรม เขื่อนจุฬาภรณ์

จากนั้นได้เดินทางไปสักการะพระพุทธสิริรัตตราช หรือหลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์ ที่ประดิษฐานอยู่ในบริเวณสวนเขื่อนจุฬาภรณ์ และร่วมปลูกต้นประดู่แดง ณ บริเวณดังกล่าวด้วย

ต่อมาในเวลา 09.30 น. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้เดินทางไปพบปะชาวบ้านชุมชนทุ่งลุยลาย เพื่อเยี่ยมชมโครงการเศรษฐกิจพอเพียงของชุมชน โดยมี นายสุขสันต์ ชาติทหาร นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลทุ่งลุยลาย และชาวบ้านขุมชนทุ่งลุยลายให้การต้อนรับ ณ โรงเรียนทุ่งลาย

ในโอกาสที่เดินทางมาตรวจติดตามการดำเนินงานโครงการเขื่อนจุฬาภรณ์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ณ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ

 







รมว.พลังงาน ตรวจเยี่ยมงาน กฟผ. ติดตามความก้าวหน้า โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนจุฬาภรณ์

รมว.พลังงาน ตรวจเยี่ยมงาน กฟผ. ติดตามความก้าวหน้า
โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนจุฬาภรณ์ และโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนจุฬาภรณ์แบบสูบกลับ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงพลังงาน ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของเขื่อนจุฬาภรณ์ กฟผ. ติดตามความก้าวหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนจุฬาภรณ์ และโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนจุฬาภรณ์แบบสูบกลับ เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน ขับเคลื่อนสู่ยุคพลังงาน 4.0 มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
วันนี้ (25 มีนาคม 2560) พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และคณะผู้บริหารกระทรวงพลังงาน เดินทางเข้าตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของเขื่อนจุฬาภรณ์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวมทั้งติดตามความก้าวหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนจุฬาภรณ์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนจุฬาภรณ์แบบสูบกลับ โดยมี นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ กฟผ. นำชม ณ เขื่อนจุฬาภรณ์ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ
พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในการบริหารจัดการภาคพลังงานของประเทศนั้น กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการตามแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว เพื่อให้ภาคพลังงานมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยังยืน โดยในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้านั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงพลังงาน และเป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินภารกิจสอดรับกับนโยบายของกระทรวงพลังงานในการสร้างความมั่นคงให้กับภาคพลังงานไฟฟ้าของประเทศมาโดยตลอด ที่ผ่านมา กฟผ. ได้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองนโยบายพลังงาน 4.0 ของกระทรวงพลังงาน ที่ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้า สอดคล้องตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2015) และแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2015) สำหรับเขื่อนจุฬาภรณ์ มีจำนวน 2 โครงการ คือโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนจุฬาภรณ์ กำลังผลิตติดตั้งรวม 1.25 เมกะวัตต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2562 ซึ่งสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ปีละประมาณ 4 ล้านหน่วย และโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนจุฬาภรณ์แบบสูบกลับ กำลังผลิตติดตั้งรวม 800 เมกะวัตต์ มีแผนจะเริ่มก่อสร้างภายในปี 2564 คาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2569 ซึ่งสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ปีละประมาณ 1,900 ล้านหน่วย ถือเป็นโรงไฟฟ้าใต้ดินแห่งที่ 2 ถัดจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองชลภาวัฒนาแบบสูบกลับ จังหวัดนครราชสีมา โดยยึดแนวทางการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดอย่างยั่งยืน และช่วยเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกด้วย
นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวเสริมว่า ตลอดระยะเวลา 43 ปีที่ผ่านมา เขื่อนจุฬาภรณ์ได้อยู่คู่กับชุมชนและสร้างประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนในจังหวัดชัยภูมิและจังหวัดขอนแก่น โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนทุ่งลุยลาย อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ครอบคลุมพื้นที่ 7 หมู่บ้าน 30,000 กว่าครัวเรือน ทั้งในด้านชลประทาน อุปโภคบริโภค เกษตรกรรม อุตสาหกรรม บรรเทาอุทกภัย การประมง และผลพลอยได้จากการระบายน้ำที่นำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยรอบผ่านโครงการต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการ “เยี่ยมยามถามข่าว ชุมชนลุ่มน้ำพรม-เชิญ” โครงการฝึกอบรมส่งเสริมอาชีพให้แก่ราษฎร และการจัดตั้งศูนย์สาธิตโครงการชีววิถีเขื่อนจุฬาภรณ์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นต้น
สำหรับการตรวจเยี่ยมในครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและคณะ ได้เดินทางไปพบปะกับผู้นำชุมชน
ทุ่งลุยลาย อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ และตรวจเยี่ยมโครงการเศรษฐกิจพอเพียงของชุมชนดังกล่าวด้วย

 

กระทรวงพลังงาน เชิญร่วมงาน SETA 2017

โครงการพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2560 หรือ SETA 2017

ภายใต้ธีม “Towards A Low-Carbon Society” ชูเทรนด์พลังงานไฮบริด รถพลังงานไฟฟ้า

 

กระทรวงพลังงาน ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมด้วย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงคมนาคม และ กระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศความพร้อมเดินหน้าการจัดประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติ “โครงการพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2560” หรือ “SETA 2017” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ภายใต้ธีม “Towards A Low-Carbon Society” ใน 4 หัวข้อหลัก ได้แก่ นโยบายและการวางแผนด้านพลังงาน เทคโนโลยีระบบผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อปล่อยคาร์บอนต่ำ พลังงานเพื่อการคมนาคมขนส่งเพื่อปล่อยคาร์บอนต่ำ และ เมืองอัจฉริยะและอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อผลักดันและพัฒนาองค์ความรู้ด้านพลังงานและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้เน้นเทรนด์อุตสาหกรรมไฮบริด และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า

งานประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติ “โครงการพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2560” หรือ “SETA 2017” เปิดโอกาสให้ผู้บริหารภาครัฐและภาคเอกชน ผู้ผลิต บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้า นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ บริษัทผู้ผลิตพลังงานทดแทน ธนาคาร นักลงทุน จากทุกภาคส่วนและผู้สนใจทั่วไป ทั้งในและต่างประเทศ ได้รู้จักเทคโนโลยีด้านพลังงานล้ำหน้า พร้อมรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านวิชาการ และด้านธุรกิจ

ดร. อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า “ภาครัฐมีเป้าหมายและนโยบายส่งเสริมและผลักดันให้อุตสาหกรรมพลังงานสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศ ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ เพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจพลังงานของภูมิภาค โดยแสวงหาและพัฒนาแหล่งพลังงานและเทคโนโลยีเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจากทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งให้มีการกระจายแหล่งและประเภทพลังงานให้มีความหลากหลาย เหมาะสม และยั่งยืน ส่งเสริมให้มีการใช้แหล่งพลังงานเพื่อปล่อยคาร์บอนต่ำมากขึ้นในภาคขนส่ง การใช้พลังงานไฟฟ้าในภาคคมนาคม และส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซลในภาคครัวเรือน ส่งเสริมการผลิต การใช้ ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ทั้งนี้ ให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร ส่งเสริมและผลักดันการอนุรักษ์พลังงานอย่างเต็มรูปแบบ กระทรวงพลังงานมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ในการสนับสนุนและร่วมจัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติ “โครงการพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2560” หรือ “SETA 2017” ซึ่งเป็นงานแสดงนิทรรศการพลังงานที่นำเสนอองค์ความรู้ นวัตกรรม ประสบการณ์ที่หลากหลายและครบถ้วน

ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางชั้นนำในการดำเนินการพัฒนาประสิทธิภาพของการใช้พลังงานและการพัฒนาพลังงานทางเลือก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องการลดผลกระทบที่เกิดจากคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศจากภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การคมนาคม การขนส่ง พลังงานไฟฟ้า อุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัย เป็นต้น ในครั้งนี้ การจัดงานจะเน้นอภิปรายเรื่อง “พลังงานคาร์บอนต่ำ ” ซึ่งการจัดการให้ประสบความสำเร็จ จะต้องอาศัยทั้งเทคโนโลยีและโซลูชั่น หาทางออกร่วมกันเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและความยั่งยืนของทั้งการผลิตพลังงานและการใช้พลังงาน ที่เป็นความท้าทายของประเทศไทยและทุกประเทศทั่วโลก การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่จะทำให้มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ แนวทางการลดใช้พลังงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ นโยบายการแก้ปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะเน้นย้ำในงานครั้งนี้ เป็นโอกาสอันดี ที่จะทำให้ประชาชนไทย ทั้งผู้ที่มีบทบาทในเชิงนโยบาย การบริหาร ตลอดจนประชาชนทั่วไป ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญทั้งจากในและต่างประเทศ เปิดมุมมอง และมิติแห่งการพัฒนาด้านพลังงานอย่างเต็มรูปแบบ”

รศ.ดร.ธัชชัย สุมิตร ประธานคณะกรรมการดำเนินงานโครงการพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2560 กล่าวว่า “งาน SETA 2017 เป็นการจัดงานระดับนานาชาติ โดยในปีนี้จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2  จากการประสบความสำเร็จในการจัดงานในปีแรกที่ผ่านมา ถือเป็นอีกก้าวที่สำคัญในความร่วมมือของหน่วยงานหลักของประเทศ โดยกระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้งองค์กรรัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ผู้มีส่วนร่วมต่อการสร้างบทบาทและความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการผลักดันประเทศไทยให้ก้าวสู่ความเป็นผู้นำด้านพลังงานในภูมิภาคอาเซียนอย่างแท้จริง โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างเวทีพูดคุย และร่วมหาคำตอบตั้งแต่การหาแหล่งพลังงาน ตลอดจนการใช้ ระบบผลิตกระแสไฟฟ้า ภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือน โดยในงานประชุมครั้งนี้จะมุ่งเน้นไปในประเด็นที่ทั้งเอเชียและทั่วโลกล้วนให้ความสำคัญ โดยเฉพาะประเด็นด้านแหล่งพลังงานคาร์บอนต่ำ ในปีนี้มีการเพิ่มพื้นที่แสดงนิทรรศการอีกเท่าตัว โดยมีความเป็นพิเศษ มุ่งเน้นถึงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีไฮบริด และรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า และกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจ กว่า 200บริษัท เพื่อส่งเสริมการลงทุนและการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านพลังงานให้กับประเทศ โดยตั้งเป้าผู้เข้าชมและร่วมงานตลอดทั้ง 3 วัน จำนวนกว่า 10,000 คน จาก 50 ประเทศทั่วโลก”

ด้านกิจกรรมในงานประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติ “โครงการพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2560” หรือ “SETA 2017” ได้รับเกียรติจากวิทยากรปาฐกถาหลัก ได้แก่ พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  นาย อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ดอกเตอร์แมกซิมัส จอนนิตี้ อองกิลิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน น้ำ และเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม ประเทศมาเลเซีย (Dr. Maximus Johnity Ongkili,  Minister of Energy, Green Technology and Water, Malaysia) ฯพณฯ เฆซุส มิเกล ซันส์  เอกอัครราชทูตแห่งสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (H.E. Jesús Miguel Sanz, Ambassador and Head of Delegation of the European Union in Thailand) แอคเนตา ไรซิ่ง ผู้อำนวยการใหญ่สมาคมนิวเคลียร์โลก (Ms. Agneta Rising, Director General of World Nuclear Association) และฯพณฯ  ชิโร ซะโดะชิมะ เอกอัคราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย (H.E. Mr.Shiro Sadoshima, Ambassador of Japan in Thailand)

นอกจากนี้ ยังมีการจัดให้มีการบรรยาย ประชุมสัมมนา และเวิร์คช็อปจากองค์กรระดับนานาชาติ และบริษัทที่เป็นผู้นำในหัวข้อต่างๆ อาทิ “CEO Energy Forum” “CLMVT Energy Forum“ Financing in Energy โดย มูดีส์ (Moodys)” “Hybrid & EV Technology” เป็นต้น ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติม และลงทะเบียนร่วมงานได้ในเว็บไซต์ www.SETA.Asia

งานประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติ “โครงการพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2560” หรือ “SETA 2017” จะมีผู้เข้าร่วมงานเป็นผู้บริหาร ภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ผู้ผลิต บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้า นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ บริษัทผู้ผลิตพลังงานทดแทน ธนาคาร นักลงทุน จากทุกภาคส่วนและผู้สนใจทั่วไป ทั้งในและต่างประเทศ กว่า 10,000 คน พื้นที่จัดงาน 9,600 ตารางเมตร บูธจัดงาน กว่า 200 บูธ โดยมีโซนไฮบริดและเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า โซนโซล่าเซลส์ และโซนระบบเมืองอัฉริยะ จากเมืองโตเกียวและกรุงเทพมหานคร รวมไปถึงพาวิเลียนจากต่างประเทศ อีก 11 ประเทศ พร้อมกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจ  อาทิ ประเทศแคนาดา เยอรมัน ไต้หวัน เกาหลี จีน ญี่ปุ่น อินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-10  มีนาคม 2560 เวลา 8.30-18.00 น. ณ ฮอลล์ 103-104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

กระทรวงพลังงาน ขอเชิญเข้าเยี่ยมชมงานนิทรรศการโลก “อัสตานา เอ็กซ์โป 2017”

กระทรวงพลังงาน ขอเชิญเข้าเยี่ยมชมงานนิทรรศการโลก “อัสตานา เอ็กซ์โป 2017” (Astana Expo 2017) และเยี่ยมชมอาคารศาลาไทย ภายใต้แนวคิด “Bioenergy for All” ณ กรุงอัสตานา สาธารณรัฐคาซัคสถาน ระหว่างวันที่ 10 มิถุนายน 2560 ถึง 10 กันยายน 2560

กระทรวงพลังงานได้รับเกียรติให้เป็นตัวแทนประเทศไทยในการเข้าร่วมงาน International Recognized Exhibition Expo 2017 Astana หรือ Astana Expo 2017 ณ กรุงอัสตานา สาธารณรัฐคาซัคสถาน ระหว่างวันที่ 10 มิถุนายนถึง 10 กันยายน 2560 เพื่อแสดงศักยภาพด้านพลังงานประเทศไทยให้ทั่วโลกได้รับรู้
สำหรับงาน Astana Expo 2017 จัดขึ้นภายใต้หัวข้อหลัก “พลังงานแห่งอนาคต (Future Energy)” มีประเทศเข้าร่วมงานกว่า 100 ประเทศ และองค์กรระดับโลกกว่า 10 หน่วยงาน รวมมากกว่า 110 พาวิลเลียน บนพื้นที่การจัดงานทั้งหมด 1,740,000 ตร.ม. (1,087.5 ไร่) และในส่วนของพื้นที่จัดงานนิทรรศการ 250,000 ตร.ม. (156.25 ไร่) ซึ่งประเทศไทยได้รับการจัดสรรพื้นที่จำนวน 934.05 ตารางเมตร ซึ่งถือเป็นการร่วมงานใหญ่ระดับโลกอีกครั้งของประเทศไทย เนื่องจากงานเวิลด์เอ็กซ์โปถือเป็น 1 ใน 3 งานใหญ่ของโลก เช่นเดียวกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค และฟุตบอลโลก โดยประเทศเจ้าภาพคาดว่า จะมีผู้ร่วมเข้าชมงานมากกว่า 5 ล้านคน
การเข้าร่วมงาน Astana Expo 2017 ครั้งนี้ ถือเป็นการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ประเทศไทยเกี่ยวกับโยบายการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน การสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ของประเทศให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทย นอกจากนั้นยังเป็นประโยชน์กับประเทศไทย ทั้งในเรื่องของการวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานของไทย โดยเฉพาะเทคโนโลยีพลังงานชีวภาพ การท่องเที่ยว การส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ และยังกระชับความสัมพันธ์กับหลากหลายประเทศ โดยเฉพาะกับสาธารณรัฐคาซัคสถาน

กระทรวงพลังงานได้สร้างสรรค์อาคารศาลาไทย (Thailand Pavilion) ภายในอาคารที่ประเทศเจ้าภาพจัดไว้ให้บนพื้นที่ 934.05 ตารางเมตร ประกอบด้วยส่วนแสดงนิทรรศการ ชั้น 1 ขนาด 734.05 ตารางเมตร และพื้นที่เชิงพาณิชย์ ชั้น 2 ขนาด 200 เมตรโดยในส่วนของอาคารนิทรรศการไทย ชั้น 1 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด“การพัฒนาด้านพลังงานชีวภาพเพื่อมนุษยชาติ (Bioenergy for All)” ที่ต้องการสื่อถึงพลังงานเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน เพื่อแสดงศักยภาพของประเทศไทยในด้านการพัฒนาพลังงานทดแทน และความก้าวหน้าในการพัฒนาพลังงานชีวภาพ (Bioenergy) จากการน้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดชที่ทรงเป็นพระบิดาแห่งพลังงานไทย และเป็นต้นแบบในเรื่องปรัชญา“ความพอเพียง”มาใช้เป็นแนวทางในการใช้ทรัพยากรในประเทศที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า โดยมุ่งหวังให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนในอนาคต โดยนำเสนอในรูปแบบ “EDUTAINMENT” หรือ การเรียนรู้ควบคู่ความสนุกประกอบ ด้วย 3 ห้องนิทรรศการหลัก ได้แก่

นิทรรศการห้องที่ 1: นำเสนอเรื่องราวและภาพของประเทศไทยโดยรวมผ่าน Live Exhibition หรือนิทรรศการสร้างประสบการณ์เสมือนจริง ภายใต้เนื้อหา Our Ways, Our Thai หรือ วิถีเรา วิถีไทย เพื่อนำเสนอเรื่องราววิถีของประเทศไทย ภาพรวมของประเทศให้ผู้เยี่ยมชมได้ทำความรู้จักประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ความเป็นอยู่ ลักษณะบ้านเมือง สิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ทรัพยากรธรรมชาติที่งดงาม รวมไปถึงแสดงศักยภาพด้านการเกษตร และการท่องเที่ยวที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ของประเทศ ควบคู่กับการพัฒนาด้านพลังงาน เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ได้คุ้มค่ามีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งการพัฒนาด้านพลังงานนี้เป็นอีกหนึ่งหัวใจหลักสำคัญในการดำรงชีวิต และผลักดันวิถีไทย ให้ยั่งยืน

นิทรรศการห้องที่ 2 : นำเสนอในรูปแบบของห้องฉายหนังภาพยนตร์ (Theater) แบบ 3D พร้อมด้วยหุ่นยนต์มาสคอต “พลัง” เป็นตัวเล่าเรื่องภายใต้เนื้อหา Farming the Future Energy หรือ ปลูกพลังงาน ปลูกอนาคต นำเสนอเรื่องรางผ่านการเล่าเรื่องแบบสนุกสนาน เกี่ยวกับพลังงานแห่งอนาคตที่ถูกพัฒนาจากทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ในประเทศไทยการน้อมนำแนวคิดของพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการพัฒนาเป็นโครงการด้านพลังงาน อาทิ มาตรการสนับสนุนการ

พัฒนาพลังงานชีวภาพ การพัฒนาพลังงานในชุมชนโครงการสถานีผลิตพลังงานสีเขียว (Distributed Green Generation) การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities Clean Energy) การพัฒนาโครงข่าย การใช้ก๊าซชีวภาพ (Biogas Network) เป็นต้น

นิทรรศการห้องที่ 3 : นำเสนอในรูปแบบนิทรรศการที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ หรือ Interactive Exhibition ภายใต้แนวคิด “Energy Creation Lab” สร้างพลังงาน สร้างพลังไทย ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับพลังงานชีวมวล และชีวภาพทั้งหมด 9 ชนิด ได้แก่ อ้อย ยูคาลิปตัส ยางพารา หญ้าโตเร็ว ข้าว ข้าวโพด มูลสัตว์ หรือของเสีย มันสำปะหลัง และปาล์ม รวมถึงเรื่องของการส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนา ด้านพลังงานทดแทน พลังงานชีวมวล พลังงานก๊าซชีวภาพ และพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biomass, Biogas, Biofuel) เพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทย และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ในการเข้าร่วมการ จัดงาน อาทิ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมการพัฒนาชุมชน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยกระทรวงพลังงาน มั่นใจว่าอาคารศาลาไทยในครั้งนี้ จะได้รับการตอบรับอย่างดี และคาดว่าจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมศาลาไทย คิดเป็น 10% จากจำนวนผู้เข้าชมทั้งหมดที่ทางประเทศเจ้าภาพคาดการณ์ โดยประมาณ 5 แสนคน ตลอดระยะการจัดงาน ตั้งเป้าว่าจะเป็น 1 ใน 10 พาวิลเลียนที่มีผู้สนใจเข้าชมมากที่สุด

ทั้งนี้ สามารถติดตามรายละเอียดความเคลื่อนไหวของอาคารศาลาไทย และการจัดงานนิทรรศการโลกได้ทางช่องทางต่างๆ

http://www.thailandpavilion2017.com/ หรือ Facebook: thailandpavilion2017

รับสมัครตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมงาน ASTANA EXPO 2017

กระทรวงพลังงานเปิดรับสมัครบุคคลทั่วไป
นิสิต นักศึกษาเป็นตัวแทนประเทศไทย
ที่มีความสามารถด้านภาษา
รัสเซีย หรือ คาซัค หรือ อังกฤษ
ผู้มีใจรักความเป็นไทย ไปเผยแพร่วัฒนธรรม และนวัตกรรมพลังงานไทย
ในบทบาทเจ้าหน้าที่ส่วนนิทรรศการ 

ระหว่างวันที่ 10 มิถุนายน – 10 กันยายน 2560
ณ กรุงอัสตานา สาธารณรัฐคาซัคสถาน
พร้อมค่าตอบแทน และประสบการณ์สุดล้ำค่า

ตรวจสอบคุณสมบัติดาวน์โหลดใบสมัครได้แล้วที่นี่ http://www.thailandpavilion2017.com/th/volunteer

หมดเขต 21 กุมภาพันธ์ 2560 นี้นะครับ….

อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ โครงการ DMF Networking

วันที่ 21 ธันวาคม 2559 นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ โครงการ DMF Networking และบรรยายพิเศษ การสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ร่วมกับ สำนักงานพลังงานจังหวัด 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี อุดรธานี กาฬสินธุ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด สกลนคร และมหาสารคาม เพื่อสร้างเครือข่ายด้านปิโตรเลียม ณ ห้องประชุม 5 ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์

“อนันตพร” ลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ตรวจติดตามสถานการณ์พลังงานภาคตะวันออก และศักยภาพการดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังน้ำคิรีธาร-คลองทุ่งเพล

วันนี้ (16 ธันวาคม 2559) พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน นำคณะผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน และสื่อมวลชน ลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี เพื่อร่วมหารือข้อราชการกับพลังงานจังหวัดในพื้นที่และ ตรวจติดตามสถานการณ์พลังงาน 7 จังหวัดในกลุ่มภาคตะวันออก ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี และสระแก้ว และเยี่ยมชมศักยภาพการดำเนินงานโครงการไฟฟ้าพลังน้ำคิรีธาร และโครงการไฟฟ้าพลังน้ำคลองทุ่งเพล โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่กระทรวงพลังงานน้อมนำมาสืบสานพระราชปณิธานเพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ โดยมี นายวิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี พร้อมด้วยนายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และข้าราชการในพื้นที่ให้การต้อนรับ ณ อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี
พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ จังหวัดจันทบุรี เป็นการติดตามสถานการณ์พลังงานของภาคตะวันออก ซึ่งจากการพูดคุยกับพลังงานจังหวัดในกลุ่มภาคตะวันออกทั้ง 7 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี และสระแก้ว เบื้องต้นไม่พบว่าประสบปัญหาอะไร แต่ก็ได้กำชับพลังงานจังหวัด และเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน ในพื้นที่ ให้มุ่งเน้นการทำงานอย่างบูรณาการตามแผนยุทธศาสตร์กระทรวง ติดตามดูแลสถานการณ์พลังงาน อย่างใกล้ชิดไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนผู้บริโภค เนื่องจากภาคตะวันออกเป็นภาคที่มีธุรกิจที่หลากหลาย มีทั้งภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว อัญมณี และการเกษตร อีกทั้งบางพื้นที่ยังเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษอีกด้วย ซึ่งเรียกได้ว่าพื้นที่ภาคตะวันออกเป็นอีกหนึ่งกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยเช่นกัน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังได้ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการไฟฟ้าพลังน้ำคิรีธาร และโครงการไฟฟ้าพลังน้ำคลองทุ่งเพล ซึ่งทั้ง 2 โครงการมีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวจังหวัดจันทบุรี ในการจัดหาน้ำในช่วงหน้าแล้ง การป้องกันน้ำเค็มจากทะเล และป้องกันน้ำท่วมในช่วงหน้าฝนให้กับเกษตรกรสวนผลไม้ในจังหวัดจันทบุรี ตลอดจนช่วยลดปัญหาเรื่องปริมาณกระแสไฟฟ้าไม่เพียงพอในพื้นที่ด้วย ที่สำคัญโครงการไฟฟ้าพลังน้ำคิรีธาร เป็นโครงการที่ได้รับ พระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการเสด็จประกอบพิธีเปิด เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2531 และพระราชทานนามว่า “เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำคิรีธาร” ซึ่งโครงการดังกล่าวสามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 27 ล้านหน่วย สามารถช่วยเสริมกับระบบไฟฟ้าที่มีอยู่โดยเชื่อมโยงที่สถานีจ่ายไฟฟ้าจันทบุรี บ้านหนองหว้า อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี รวมถึงทดแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ได้ประมาณปีละ 6.95 ล้านลิตรต่อปี และลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศได้ปีละ 5.98 ktoe (พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านการเกษตรกรรมในเขตจังหวัดจันทบุรีเป็นพื้นที่ 35,000 ไร่

ทั้งนี้ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำคิรีธาร ได้เดินเครื่องผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2529 ในรูปแบบ Non-Firm ปัจจุบันได้ทำสัญญา ซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2554 ซึ่งมีผลการดำเนินงานตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบัน ในด้านกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 823 ล้านหน่วย มีการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบรวมอยู่ที่ 811 ล้านหน่วย มีรายได้รวมเป็นเงินกว่า 1,500 ล้านบาท
ส่วนโครงการไฟฟ้าพลังน้ำคลองทุ่งเพล เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสที่พระองค์ทรงเสด็จประกอบพิธีเปิดเขื่อนและโครงการไฟฟ้าพลังน้ำคิรีธาร เมื่อปี 2531 โดยทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับเรื่องการนำน้ำจากห้วยสะตอมายัง เขื่อนคิรีธาร และโครงการไฟฟ้าพลังน้ำคลองทุ่งเพล เพื่อประโยชน์ในการเกษตรและการผลิตไฟฟ้าให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งทางสำนักงานพลังงานแห่งชาติในขณะนั้น หรือ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานในปัจจุบัน ได้น้อมนำพระราชดำริมาศึกษาและจัดทำเป็นโครงการไฟฟ้าพลังน้ำคลองทุ่งเพล โดยสามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 28.16 ล้านหน่วย ช่วยลดการสูญเสียในระบบสายส่ง และส่งเสริมความมั่นคง ในระบบสายส่งของประเทศ รวมถึงได้ส่งน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ 58,822 ไร่ ครอบคลุม 4 ตำบล ในอำเภอเขาคิชฌกูฏ และอำเภอมะขาม คือ ตำบลพลวง ตำบลตะเคียนทอง (บางส่วน) อำเภอเขาคิชฌกูฏ และตำบลวังแซ้ม ตำบลฉมัน อำเภอมะขาม
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังได้กล่าวว่า กระทรวงพลังงานมีแนวทางที่จะพิจารณาให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กในชุมชน จำนวน 25 แห่ง ขนาดกำลังผลิตรวม 2.97 เมกะวัตต์ เข้าระบบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เพื่อให้เป็นไปตามแผน AEDP ที่มีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเป็น 30% ในปี 2579 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือในระดับนโยบายเพื่อหาข้อสรุปต่อไป
ในโอกาสเดียวกันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังได้ไปเยี่ยมชมสวนผลไม้ของนางสมปอง พร้อมพวก เกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการไฟฟ้าคลองทุ่งเพล พร้อมพบปะกับตัวแทนกลุ่มผู้ใช้น้ำจาก 4 ตำบล คือ ตำบลพลวง ตำบลตะเคียนทอง (บางส่วน) อำเภอเขาคิชฌกูฏ และตำบลวังแซ้ม ตำบลฉมัน อำเภอมะขาม อีกด้วย

 

กระทรวงพลังงาน มอบรางวัลประกวดภาพวาด “รักษ์น้ำ รักษ์ป่า รักษ์พลังงาน”

วันนี้ (2 ธันวาคม 2559) กระทรวงพลังงาน จัดพิธีมอบรางวัลประกวดวาดภาพเฉลิมพระเกียรติด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน ปีที่ 4 ในหัวข้อ “รักษ์น้ำ รักษ์ป่า รักษ์พลังงาน”เงินรางวัลกว่า 8 แสนบาทโดยมี พลเอก สุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงานมอบโล่ เงินรางวัล และศิลปินผู้ทรงคุณวุฒิ ดร. เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ เป็นคณะกรรมการในการตัดสิน ณ บริเวณลานอเนกประสงค์ ชั้น M ศูนย์การค้าเกตเวย์ เอกมัย
พลเอก สุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า โครงการประกวดวาดภาพเฉลิมพระเกียรติด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน กระทรวงพลังงานจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชนชาวไทยด้านการอนุรักษ์พลังงาน และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์ด้านพลังงานผ่านศิลปะภาพวาด โดยในปีนี้จัดประกวดในหัวข้อ “รักษ์น้ำ รักษ์ป่า รักษ์พลังงาน”ซึ่งได้รับความสนใจจากเยาวชนและประชาชนทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก ส่งผลงานเข้าร่วมกว่า 498 ผลงาน โดยรูปภาพที่ส่งเข้าประกวดล้วนถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์ด้านพลังงานผ่านทางศิลปะภาพวาด เพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และน้อมนำแนวพระราชดำริ รวมทั้งพระราชกรณียกิจต่างๆ ด้านการอนุรักษ์พลังงานและการพัฒนาพลังงานทดแทนมาถ่ายทอด ผสมผสานกับจินตนาการออกมาเป็นงานศิลปะที่ทรงคุณค่า และสามารถเล่าเรื่องราวได้อย่างครบถ้วน
สำหรับผลการประกวดกิจกรรมประกวดวาดภาพเฉลิมพระเกียรติด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน ปีที่ 4 ในหัวข้อ “รักษ์น้ำ รักษ์ป่า รักษ์พลังงาน”แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
ประเภทมัธยมศึกษาตอนต้น
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ด.ญ.จันทกานต์ จันทรโกมล
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ด.ญ.ลักษ์คณา มีพารา
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ด.ญ.ไอริณ เหลืองอ่อน
และรางวัลชมเชยอีก 13 รางวัล
1.ด.ญ.ศิริญากร นิลลออ
2.ด.ช.ศักรินทร์ ดาราสม
3.นายโสภณัฐ สังพาลี
4.ด.ญ.ธัญลักษณ์ โอษธีศ
5.นางสาวปาณิสรา สุวรรณธาดา
6.ด.ญ.วลัยลักษณ์ ปิ่นทอง
7.ด.ช.อนันท์ วงษ์ศิลป์
8.ด.ช.พิเชษฐ์ เชื้อสายดวง
9.นางสาวปิยาภรณ์ จันทร์ไทรรอด

10.ด.ญ.สุดารัตน์ ปานพูล
11.นางสาวภัทรวรรณ พลซา
12.นางสาวพรนภา หารโงน
13.นายพุฒิพงศ์ คำภาพล
ประเภทมัธยมศึกษาตอนปลาย / ปวช.
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายวรุฒม์ ผ่องภักต์
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ นางสาวพิสชา พ่วงลาภ
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ นางสาวรุจิรา อุบลชัย
และรางวัลชมเชยอีก 13 รางวัล
1.นางสาวจุฑามาศ รัตนะพิบูลย์กุล
2.นายเกริกเกียรติ ตรีเนตร์
3.นายภาณุพงศ์ อินทะชาติ
4.นายพรดนัย วัฒนาประดิษฐชัย
5.นางสาวศศิธร เข็มศิริ
6.นางสาวปิยาภรณ์ ปานแป้น
7.นางสาวภัทรวรรณ เหลืองสะอาด
8.นายทรัพย์สถิตย์ อภิบาลศรี
9.นายพลวัฒน์ สามิดี
10.นายศิริโรจน์ โคตรรวงษา
11.นายภาณุวัฒน์ ไชยรถ
12.นายธนโชติ พิลา
13.นายธนากร ขวัญปาก

ประเภทอุดมศึกษา
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นางสาวจันทร์ทิมา สุทธิประภา
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ นายปรัชญา พลซา
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ นายเกรียงไกร แก้วสุวรรณ
และรางวัลชมเชยอีก 13 รางวัล
1.นายธันยธรณ์ อมราลักษณ์
2.นายวชิร รุจิพงษ์
3.นายภัทร บุญล้อม
4.นายสารัช ศรีบุรินทร์
5.นายสมบูรณ์ อุ่นประชา
6.นายอภิวัฒน์ มัชฌิมา
7.นายธาวินวิชญ์ เชาวน์ธนกิจ
8.นายชาญณรงค์ แดงประคำ
9.นางสาวอลิสา ผลาพล
10.นายชลวิทย์ อินทะวงษ์
11.นายไชยอนันต์ จันต๊ะนัน
12.นายอาณัติ สามัคคี
13.นายชัยชนะ ลือตระกูล

ประเภทประชาชนทั่วไป
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายธีรวัฒน์ จันทร์แสตมป์
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ นายธวัชชัย สาริสุทธิ์
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ นายสุกิจ เชื้อสายดวง
และรางวัลชมเชยอีก 13 รางวัล
1.นายรังษี เลาหสูต
2.นายอภิเดช ศิริบุรี
3.นายจักรกฤษณ์ ศรีสงคราม
4.นายณัฐวุฒิ ชุ่มพรมราช
5.นางสาวนุตศุภางค์ ภู่ทัยกุล
6.นายเอกภาพ วรชินา
7.นายสมบัติ น้อยโนนทอง
8.นายกฤษตฌาพนธ์ วัชระไชยสกุล
9.นายอรรณพ รัตตมณี
10.นายรัตน ไวยะราบุตร
11.นายจรัญ บุญประเดิม
12.นายสรพงษ์ สีชมพู
13.นายศุภณัฐ ลาดศิลป์
ทั้งนี้ กิจกรรมจัดประกวดวาดภาพเฉลิมพระเกียรติด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน ปีที่ 4 หัวข้อ “รักษ์น้ำ รักษ์ป่า รักษ์พลังงาน” แบ่งการประกวดเป็น 4 ประเภท คือ ประเภทมัธยมศึกษาตอนต้น ประเภทมัธยมศึกษาตอนปลาย และ ปวช. ประเภทอุดมศึกษา และ ปวส. และประเภทประชาชนทั่วไป รวม 64 รางวัล โดยมีเงินรางวัลสำหรับผู้ชนะทั้งหมด จำนวนกว่า 8 แสนบาท พร้อมการจัดนิทรรศการวาดภาพที่ได้รับรางวัล และภาพวาดที่ได้รับการคัดเลือกรวม 100 ผลงาน ระหว่างวันที่ 2-5 ธันวาคม 2559 ณ ศูนย์การค้าเกตเวย์ เอกมัย
โดยผลงานทั้งหมดผ่านการพิจารณาคัดเลือกแบ่งเป็นสองรอบ รอบแรกคณะกรรมการจะพิจารณาจากผลงานที่ส่งเข้าร่วมประกวดทั้งหมด 498 ผลงาน ซึ่งจะต้องตรงตามหัวข้อที่กำหนดไว้ และต้องเป็นภาพที่มีความคิดสร้างสรรค์ที่สื่อถึงพระราชกรณียกิจในกิจการด้านการอนุรักษ์พลังงานหรือการส่งเสริมพลังงาน
ทดแทน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยคัดเลือกผลงานจำนวน 100 ผลงาน แบ่งเป็นผลงานที่เข้ารอบเพื่อร่วมกิจกรรมต่างๆของการประกวด อาทิ การศึกษาดูงานศิลปะ ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (โมกา) การอบรมและสร้างสรรค์ผลงานวาดภาพ โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด ส่วนการตัดสินในรอบที่สองจะเป็นการตัดสินผลงานรอบสุดท้ายในแต่ละประเภทเพื่อคัดเลือกผู้ชนะเลิศ รองชนะเลิศอันดับ1 รองชนะเลิศอันดับ 2 และรางวัลชมเชยประเภทละ 13 รางวัล




ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธี ในพิธี kick off friendly design พลังงานไทย ในเวทีโลก

วันนี้ (2 ธันวาคม 2559) พลเอก สุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้เกียรติมาเป็นประธาน ในพิธี kick off friendly design พลังงานไทย ในเวทีโลก ซึ่งเป็นหนึ่งกิจกรรมในงาน Thailand Friendly Design Expo 2016 มหกรรมอารยสถาปัตย์ และนวัตกรรมสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 1 พร้อมกันนี้ประธานในพิธีได้มอบป้าย อารยสถาปัตย์ ให้กับองค์กร ที่ส่งเสริมการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆให้กับประชาชน และยังได้ร่วมเดินชม บูธสินค้า ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยี นวัตกรรม อุตสาหกรรม รวมถึงธุรกิจบริการ และการออกแบบที่เกี่ยวกับอารยสถาปัตย์ ณ ฮอลล์ 6 อิมแพ็ค เมืองทองธานี



รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานพิธีเปิดโครงการโซลาร์รูฟท็อป ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขนาดใหญ่อันดับหนึ่งของมหาวิทยาลัยในเอเชีย และที่ 4 ของมหาวิทยาลัยโลก

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน         เป็นประธานในพิธีเปิด “การจ่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จาก Solar Rooftop เข้าสู่ระบบใน                อาคารราชการขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย” ซึ่งเป็นโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในอาคารราชการ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นที่หนึ่งของมหาวิทยาลัยในเอเชีย และเป็นที่ 4 มหาวิทยาลัยของโลก                  ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) โดยมีเป้าหมายผลิตไฟฟ้าให้ได้ 15 เมกะวัตต์ ภายในปี 2560 ซึ่งโครงการดังกล่าวนับเป็นต้นแบบที่ดีในด้านการพึ่งพาตนเอง          ในด้านพลังงาน ซึ่งสอดรับกับนโยบายของกระทรวงพลังงานที่รณรงค์ให้ภาครัฐ เอกชน ชุมชน มีการพัฒนาพลังงานทดแทน เพื่อลดรายจ่าย และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานได้ด้วยตัวเอง โดยมี ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  พร้อมด้วย รศ.นพ.จิตตินัดด์ หะวานนท์  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาล                      นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ประธานกรรมการ  บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน)   ให้การต้อนรับ ณ บริเวณโถง ชั้น 1 อาคาร ม.ร.ว.สุวพรรณ สนิทวงศ์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์              ศูนย์รังสิต

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังได้เยี่ยมชมนิทรรศการ การออกบูธ ให้ความรู้เกี่ยวกับการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป และเยี่ยมชมระบบติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา บริเวณดาดฟ้า                          อาคารดุลโสภาคย์อีกด้วย












 

เตือนประชาชน อย่าหลงเชื่อธุรกิจขายตรง แผ่นการ์ดประหยัดพลังงาน

 

 

 

กระทรวงพลังงาน เตือนประชาชน อย่าหลงเชื่อธุรกิจขายตรง แผ่นการ์ดประหยัดพลังงาน ที่อ้างลดใช้ไฟฟ้า น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม ได้ 10-30% ชี้ยังไม่มีหน่วยงานใดรับรอง ยันไม่สามารถลดใช้พลังงานได้จริง เตรียมให้พลังงานจังหวัดแจ้งประชาชนในพื้นที่ หากพบอย่าหลงเชื่อ แนะให้ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีฉลากเบอร์ 5 และวิธีประหยัดพลังงาน

ดร.สมภพ พัฒนอริยางกูล นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันได้เกิดธุรกิจขายตรงสินค้า แผ่นการ์ดประหยัดพลังงาน ที่แอบอ้างว่า จะช่วยให้เกิดการลดใช้ไฟฟ้า น้ำมัน และก๊าซหุงต้ม ได้สูง 10-30% ซึ่งประชาชนได้หลงเชื่อและซื้อสินค้าดังกล่าวพบว่าไม่สามารถใช้งานได้จริง และเกิดความเสียหายแล้วหลายแสนบาท โดยกระทรวงพลังงาน ขอเตือนว่า อย่าหลงเชื่อธุรกิจแผ่นการ์ดประหยัดพลังงานนี้ เนื่องจากยังไม่มีหน่วยงานใด ออกมาตรวจสอบและยืนยันว่าใช้ได้จริง จึงไม่แนะนำให้ประชาชนนำไปใช้ และหากพบการกระทำดังกล่าว สามารถแจ้งมายังศูนย์บริการร่วมกระทรวงพลังงาน หรือที่พลังงานจังหวัดได้
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน จะได้เร่งทำความเข้าใจกับประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งได้หลงเชื่อธุรกิจแผ่นการ์ดประหยัดพลังงาน และพบผู้เสียหายแล้วหลายราย ซึ่งเบื้องต้นกระทรวงพลังงาน จะได้ประสานไปยังพลังงานจังหวัด ให้ลงพื้นที่ให้ข้อเท็จจริงกับประชาชน รวมทั้งจะได้แนะนำถึงวิธีการประหยัดพลังงานที่เห็นผลได้จริง อาทิ การเลือกซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดพลังงานเบอร์ 5 การปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้น การลดใช้น้ำมัน เช่น การขับรถไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การเติมลมยางให้พอดี การตรวจเช็คเครื่องยนต์อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง การตรวจสอบเส้นทางสภาพจราจรก่อนเดินทาง เป็นต้น

“กระทรวงพลังงาน ได้มีการติดฉลากประหยัดพลังงาน เบอร์ 5 ในอุปกรณ์ไฟฟ้า ที่มีการตรวจสอบด้วยมาตรฐานสากล ยืนยันว่าประหยัดพลังงานได้จริง แต่แผ่นการ์ดพลังงานดังกล่าว ไม่สามารถช่วยลดใช้พลังงานได้ตามคำกล่าวอ้าง และมักยกทฤษฎีให้คนเชื่อถือ กระทรวงพลังงานจึงขอให้ประชาชนพิจารณาอย่างรอบคอบโดยไม่ควรหลงเชื่อการโฆษณาเกินจริง” ดร. สมภพกล่าว

กระทรวงพลังงาน ร่วมสืบสานราชประเพณี ถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2559 ที่จังหวัดลพบุรี

วันนี้ (4 พฤศจิกายน 59) พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย ดร. อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน นำคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ เดินทางไปถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2559 ณ วัดกวิศรารามราชวรวิหาร ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี
พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตามราชประเพณีที่ สืบต่อกันมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน ผ้าพระกฐินให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กร สมาคม มูลนิธิ บริษัทห้างร้าน และประชาชนทั่วไป ที่มีจิตศรัทธานำไปถวายพระสงฆ์ที่จำพรรษาในพระอารามหลวงทั่วประเทศ ซึ่งกรมการศาสนาในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้ออกประกาศเชิญชวนให้รับทราบทุกปี และที่ผ่านมากระทรวงพลังงาน ได้ขอรับพระราชทานผ้าพระกฐิน เป็นประจำต่อเนื่องทุกปี โดยในปีนี้ได้นำผ้ากฐินพระราชทานมาถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษา ที่วัดกวิศราราม ราชวรวิหาร ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน ยังได้ถวายจตุปัจจัยเพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งร่วมทำบุญด้วยการถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย
ในโอกาสเดียวกันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและปลัดกระทรวงพลังงาน ยังได้ร่วม มอบทุนการศึกษาและเงินบำรุงเรียนให้กับ 2 โรงเรียนในเขตเทศบาลเมืองลพบุรี คือ โรงเรียนวินิตศึกษาใน พระราชูปถัมภ์ จำนวน 50,000 บาท และโรงเรียนเทศบาล 2 จำนวน 50,000 บาท

รมว.พลังงานให้กำลังใจเจ้าหน้าที่จุดบริการประชาชนที่สนามหลวง

วันนี้ (25 ตุลาคม 2559) พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายสำนึก บำรุงสาลี รองปลัดกระทรวงพลังงาน ผู้บริหารกระทรวงพลังงาน และนายกฤษณ์ อิ่มแสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ทรัพยากรบุคลและศักยภาพองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และนายวรพจน์ มานะพันธุ์พงศ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการบริการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่คอยให้บริการประชาชนที่เดินทางมาร่วมลงนามถวายอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย ณ บริเวณท้องสนามหลวง จุดบริการประชาชน เต็นท์ที่ 29-30

          พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่ากระทรวงพลังงาน ได้ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ให้บริการและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่เดินทางมาร่วมลงนามถวายอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยได้จัดอาหารและเครื่องดื่มบริการฟรี อาทิ ข้าวกล้องไข่เจียว น้ำดื่ม โดนัทแด๊ดดี้โด กาแฟอเมซอน และการให้บริการชาร์จแบตเตอรี่มือถือพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย ที่เป็นศูนย์รวมใจของคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งประชาชนสามารถมารับบริการได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 10.00 น.ถึงเวลาประมาณ 14.00 น.ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังได้ลงมือทอดไข่เจียวแจกประชาชน ที่มาเข้าแถวรับบริการอีกด้วย

กระทรวงพลังงานเปิดบูธให้บริการประชาชนที่จะไปร่วมสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

 

กระทรวงพลังงาน ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และ บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) เปิดบูธให้บริการประชาชนที่จะไปร่วมสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระบรมมหาราชวัง สามารถรับอาหารและเครื่องดื่ม อาทิ กาแฟอเมซอน น้ำดื่ม ข้าวไข่เจียว ที่จุดรับรองประชาชน บริเวณสนามหลวง ฝั่งสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า (ดังตำแหน่งที่แสดงในแผนที่) โดยจะให้บริการเวลา 9.00 – 20.00 น. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนครบกำหนด 100 วัน (ครบกำหนด 100 วัน 20 ม.ค.2560)

ปลัดกระทรวงพลังงาน เข้าเยี่ยมชมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการประชาชนในบูธกระทรวงพลังงาน

ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เข้าเยี่ยมชมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการประชาชนในบูธกระทรวงพลังงาน ทั้งนี้ ประชาชนที่จะไปร่วมสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระบรมมหาราชวัง สามารถรับอาหารและเครื่องดื่ม อาทิ กาแฟอเมซอน น้ำดื่ม ข้าวไข่เจียว ได้ที่จุดรับรองประชาชนของกระทรวงพลังงาน (ร่วมกับ กฟผ. และ ปตท.) บริเวณสนามหลวง ฝั่งสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า โดยจะให้บริการเวลา 9.00 – 20.00 น. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะ เข้าร่วมพิธีถวายน้ำสรงพระบรมศพฯ

เช้าวันนี้ (14 ตุลาคม 2559) พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมพิธีถวายน้ำสรงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งประดิษฐาน ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง

ขอเชิญข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และประชาชนทั่วไป เข้าถวายน้ำสรงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

ขอเชิญข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และประชาชนทั่วไป เข้าถวายน้ำสรงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งประดิษฐาน ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง วันนี้ (14 ตุลาคม 2559) ตั้งแต่เวลา 8.30 น. ถึง 12.00 น.

แถลงการณ์จาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

พี่น้องประชาชนชาวไทย ที่อยู่ในราชอาณาจักร และในต่างประเทศ ทั่วโลกทุกท่าน วันที่ชาวไทยทั้งปวงไม่ต้องการแม้แต่จะนึกคิด และไม่ปรารถนาแม้แต่จะได้ยิน ก็มาถึง เมื่อสำนักพระราชวังได้ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคตแล้วในวันนี้ ณ โรงพยาบาลศิริราช

ถือว่าเป็นการสูญเสียและความวิปโยคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ นับตั้งแต่การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๘ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙

พี่น้องประชาชนชาวไทยทุกคนได้ติดตามข่าวสารและรับทราบมาเป็นลำดับว่า ในห้วงหลายปีที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวร และได้เสด็จฯ ไปประทับที่โรงพยาบาลศิริราช เป็นระยะ เมื่อพระอาการบรรเทาลง ก็จะทรงปฏิบัติพระราชภารกิจตามปกติ ด้วยพระวิริยะอุตสาหะ เพื่อความผาสุกของพสกนิกร

ตลอดเวลาที่ผ่านมา คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาอย่างใกล้ชิด จนพระอาการดีขึ้นเป็นลำดับ ยังความปลาบปลื้มแก่ประชาชนคนไทยทั้งชาติ แต่ในที่สุดพระอาการประชวรหาคลายไม่ ประกอบกับพระชนมพรรษามาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต พระชนมพรรษาปีที่ ๘๙ เสด็จดำรงสิริราชสมบัติ ๗๐ พรรษา ในวันที่ ๑๓ ตุลาคม ซึ่งจะเป็นวันที่อยู่ในความทรงจำของประชาชนชาวไทยตลอดไปนานแสนนาน ดุจวันปิยมหาราช ๒๓ ตุลาคม

พี่น้องที่เคารพทั้งหลาย ระยะเวลา ๗๐ ปี ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เริ่มต้นขึ้นภายหลังจากที่มหาสงครามโลกเพิ่งสิ้นสุดลง ประเทศชาติกำลังฟื้นตัวจากภัยสงคราม ประชาชนเปี่ยมด้วยความหวัง เมื่อประเทศไทยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ใหม่ครองราชย์ เป็นผู้นำ เปลี่ยนความท้อแท้ของผู้คน กลายเป็นความแน่วแน่ มั่นคง องอาจ ที่จะยืนหยัดต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ ตลอดรัชสมัย เป็นช่วงเวลาที่มีการพัฒนาประเทศในทุกด้าน ทรงเป็นกษัตริย์ผู้เป็นที่รัก เทิดทูน ทรงเป็นศูนย์รวมใจของคนไทยทั้งชาติ นับเป็น ๗๐ ปี ที่ทรงครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม โดยแท้

บัดนี้ ๗๐ ปี ในรัชสมัยของสมเด็จพระภัทรมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้ประเสริฐยิ่ง ของปวงชนชาวไทย ได้สิ้นสุดลงแล้ว พระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย มากมาย ล้นพ้น หาที่สุดมิได้ มากเพียงใด ความวิปโยคอาลัยของพสกนิกรชาวไทยก็มากมาย ท่วมท้น หาที่สุดมิได้เพียงนั้น

รัฐบาลขอเชิญชวนให้พวกเราทุกคนร่วมกันตั้งจิตภาวนาตามศาสนาที่ทุกท่านนับถือ ดังที่เราเคยร่วมกันภาวนาถวายพระพร และอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกท่านเคารพนับถือ ให้อภิบาลคุ้มครองตลอดเวลาที่ทรงพระประชวร เพื่ออธิษฐาน ภาวนา ขอให้ดวงพระวิญญาณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระบรมโกศ สถิตในสรวงสวรรค์ และทรงอภิบาลคุ้มครองราชอาณาจักรไทย ประชาชนชาวไทย ผู้เป็นพสกนิกรของพระองค์ ให้มีความสงบสุขและความสันติสุข ดุจดังที่ประเทศไทยและประชาชนชาวไทยมีมาโดยตลอด ภายใต้ร่มพระบารมียาวนาน ๗๐ ปี

พี่น้องประชาชนที่เคารพ ถึงแม้ว่าเราจะอยู่ในยามทุกข์โศก น้ำตานองหน้าทั่วกันเพียงใด ประเทศไทยอันเป็นที่รักของพวกเรา และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระบรมโกศ ต้องดำรงต่อไป อย่าให้การเสด็จสวรรคตครั้งนี้ทำให้พระราชปณิธานที่จะเห็นราชอาณาจักรของพระองค์มีความเจริญรุ่งเรือง พสกนิกรมีความผาสุกสวัสดี มีเมตตาและไมตรีต่อกัน ต้องหยุดชะงักลง

การจะแสดงความจงรักภักดีและความอาลัยที่ดีที่สุด คือเจริญรอยตามพระยุคลบาท สืบสานพระราชปณิธานที่จะรักษาเอกราช อธิปไตย ความสมบูรณ์พูนสุข และความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง ตลอดจนการปฏิบัติตามพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส ที่เคยพระราชทานไว้

ภารกิจสำคัญที่จะต้องดำเนินการในวันนี้ มี ๒ ประการ คือ การดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และตามกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พุทธศักราช ๒๔๖๗ ตลอดจนตามพระราชประเพณี ในส่วนของการสืบราชสันตติวงศ์ ซึ่งสอดคล้องกับเพื่อให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลจะแจ้งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระบรมโกศ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม สถาปนาพระรัชทายาท ตามกฎมณเฑียรบาลไว้แล้ว เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๑๕ จากนั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

อีกประการหนึ่ง คือ การเตรียมงานพระบรมศพ ในส่วนของรัฐบาลและประชาชน ให้สมพระเกียรติยศ และสมกับความจงรักภักดีของประชาชนชาวไทยที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระบรมโกศ

ทั้งนี้ การดำเนินการทั้ง ๒ ประการนี้ รัฐบาลจะแจ้งให้พี่น้องประชาชนทราบเป็นระยะต่อไป

ในช่วงเวลาต่อจากนี้ เป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการเรื่องต่างๆ ให้เป็นไปตามกฎหมายและราชประเพณี รัฐบาลจึงขอให้พี่น้องประชาชนทั้งหลายรับฟังข่าวสารอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานราชการ อย่าเชื่อข่าวที่ลือ ที่ไม่ปรากฏแหล่งอ้างอิง พร้อมกันนี้ รัฐบาลขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนคนไทยที่รักทุกท่านแต่งกายถวายความอาลัยเป็นเวลา ๑ ปี สถานที่ราชการลดธงครึ่งเสา เป็นเวลา ๓๐ วัน และทุกภาคส่วนควรพิจารณางดการจัดงานรื่นเริงต่างๆ เป็นเวลา ๓๐ วัน

ทั้งนี้ ท่านทั้งหลายอาจเข้าร่วมพิธี หรือจัดกิจกรรมทางศาสนาของตน ถวายเป็นพระราชกุศล หรือจัดเป็นพระบรมราชานุสรณ์ อีกทั้งควรใช้โอกาสนี้ให้กำลังใจแก่กันและกัน เพราะทุกคนต่างก็มีหัวอกเดียวกัน เพราะมีพ่อของแผ่นดินร่วมกัน และโปรดช่วยกันรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง มิให้ผู้ใดฉวยโอกาสแทรกเข้ามาก่อความขัดแย้งจนกลายเป็นความวุ่นวาย

ขอพี่น้องประชาชนทุกคนร่วมส่งเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระบรมโกศ ด้วยการรักษาแผ่นดินของพ่อด้วยความรักและความสามัคคีตลอดไป

พี่น้องประชาชนชาวไทยทั้งหลาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ ๙ เสด็จสวรรคตแล้ว ขอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลใหม่ ทรงพระเจริญ

ปลัดกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมงาน World Energy Council ณ กรุงอิสตันบุล ประเทศตุรกี

วันนี้ (10 ตุลาคม 2559) นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายธรรมยศ ศรีช่วย รองปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะ เข้าร่วมงาน World Energy Council ณ กรุงอิสตันบุล ประเทศตุรกี ทั้งนี้ นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ Asia Regional Crossroads: Resilence and Regional Integration

 

 

กล้าลองกล้าลุย : กว่าจะเป็นคนบนแท่นขุดเจาะน้ำมัน

กล้าลองกล้าลุย : กว่าจะเป็นคนบนแท่นขุดเจาะน้ำมัน ตอน 1 โดย ต้นกล้า ชัยอนันต์ ปันชู
พาไปดูเบื้องหลังของอีกหนึ่งอาชีพ ที่ต้องออกไปทำงานอยู่กลางทะเลของ “คนบนแท่นขุดเจาะน้ำมัน” อีกหนึ่งอาชีพที่ต้องใช้ทั้งประสบการณ์และความชำนาญในหลายด้าน แต่กว่าจะไปทำงานบนแท่นขุดเจาะน้ำมันได้ ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ไปติดตามชม..   http://news.ch7.com/detail/195582?refid=line

การบริหารและกำกับกิจการพลังงานของสหภาพยุโรปในสังคมโลกยุคใหม่

การบริหารและกำกับกิจการพลังงานของสหภาพยุโรปในสังคมโลกยุคใหม่

วันที่ 19 กันยายน 2559 พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เป็นประธานกล่าวเปิดการบรรยายพิเศษของสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ในโอกาสครบรอบ 30 ปี ของการก่อตั้งสถาบันปิโตรเลียมฯ

ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว ในเรื่องเกี่ยวกับการเสริมสร้างประสิทธิภาพและความมั่นคงด้านพลังงานของสหภาพยุโรป โดยนายวอลเทอร์ โบ้วส์ (DI Walter Boltz) อดีตผู้อำนวยการ Energie Control Austria (E-Control) ได้กล่าวในการบรรยายว่า “การบริหารจัดการและการกำกับกิจการพลังงานของสหภาพยุโรป ซึ่งครอบคลุมทั้งภาคไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ ที่มีการดำเนินการตลอดช่วงเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้บรรลุถึงเป้าหมายการเปิดเสรีระบบพลังงานให้มีการแข่งขันโดยผู้ประกอบการมากราย ทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อจากผู้จำหน่ายที่มีหลายรายแข่งขันกันในราคาพลังงานที่สะท้อนการแข่งขัน รวมทั้งการเชื่อมโยงโครงข่ายพลังงานให้สามารถรับส่งพลังงานข้ามพรมแดนระหว่างประเทศในสหภาพยุโรปได้อย่างเสรี ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแล้ว ยังช่วยทำให้ตลาดพลังงานมีการแข่งขันกันอย่างมีประสิทธิภาพทั้งภูมิภาค และเมื่อดำเนินการไปพร้อมกับการมีระบบการกำกับกิจการพลังงานที่ดี ก็จะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภคและสังคม” ทั้งนี้ นายวอลเทอร์ โบ้วส์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “อย่าถอดใจโดยง่าย การเปิดเสรีระบบพลังงานต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะสัมฤทธิ์ผล และหวังว่าประสบการณ์ในการบริหารและกำกับกิจการพลังงานของสหภาพยุโรปที่ได้นำเสนอในวันนี้ จะเป็นประโยชน์ในการพิจารณาการปรับโครงสร้างการบริหารและกำกับกิจการพลังงานของประเทศไทย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและสังคมในอนาคตได้เช่นกัน”
ทั้งนี้ ในระหว่างการกล่าวเปิดการบรรยาย พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวถึงนโยบายของกระทรวงพลังงานว่า “กระทรวงพลังงานได้มีการทบทวนยุทธศาสตร์ในการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง เพราะการเปลี่ยนแปลงในภาคพลังงานเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา หากการกำหนดนโยบายและการกำกับดูแลไม่สามารถพัฒนาได้ทันกับความเปลี่ยนแปลงก็ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคพลังงาน ซึ่งในด้านนโยบายก็ได้กำหนดทิศทางใหม่ๆ ที่จะสร้างภาคพลังงานให้มีความมั่นคง มีประสิทธิภาพ และมีความยั่งยืน อาทิ การเพิ่มการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ การปฏิรูปการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ที่ปัจจุบันมีการผลิตอย่างกว้างขวาง ซึ่งในอนาคตไฟฟ้าที่จะส่งเข้าระบบต้องมีลักษณะ Firm การพัฒนาด้าน Smart City และ Smart Grid การพัฒนาเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในภาค
พลังงานของไทย จึงมีความจำเป็นที่การกำกับดูแลจะต้องมีความทันสมัยรองรับสิ่งใหม่ๆ เหล่านี้ด้วย การบรรยายในวันนี้จึงเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญด้านการกำกับดูแลในระดับสากล ซึ่งกระทรวงพลังงานสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้”
ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมฯ กล่าวในตอนท้ายว่า “การบรรยายพิเศษครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดการบรรยายพิเศษภายใต้หัวข้อ “อนาคตโลกที่สัมผัสได้ด้านพลังงาน – ยานยนต์ – วัสดุ – สังคม” หรือ “The Smart Future in Energy – Transport – Materials –Society: A Far Away Reality?” ที่จัดขึ้นในวาระการครบรอบ 30 ปี ของการก่อตั้งสถาบันปิโตรเลียมฯ โดยเป็นการเสนอมุมมองเกี่ยวกับวิวัฒนาการด้านการกำกับกิจการพลังงานในสหภาพยุโรปในสังคมโลกยุคใหม่ ที่นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดหาพลังงาน และความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งการบรรยายในวันนี้ เป็นการบรรยายต่อเนื่องจากการบรรยายของนายโทนี่ เซบา (Mr. Tony Seba) ในหัวข้อเรื่อง “Clean Disruption: Why Current Energy and Transport System Will Be Obsolete by 2030” ที่จะผลักดันประเทศไทยให้เป็นเมืองอัจฉริยะด้านพลังงานและยานยนต์ในอนาคต และการบรรยายของ ดร. คริสเตียน ฮัสเลอร์ (Dr. Christian Haessler) จากบริษัท โคเวสโตร จำกัด ในหัวข้อเรื่อง “Materials from CO2: How Will CO2 Replace Petroleum in Polymers” ซึ่งนำเสนอนวัตกรรมการรักษ์โลกด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตวัสดุพอลิเมอร์เชิงพาณิชย์ แทนการใช้น้ำมันและก๊าซฯ เป็นวัตถุดิบ”

รมว.พน. ลงพื้นที่ ตรวจติดตามสถานการณ์พลังงานอีสานเหนือ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

วันนี้ (16 กันยายน 2559) พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
นำคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อตรวจติดตามสถานการณ์พลังงานครอบคลุมพื้นที่ 12 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และศักยภาพการดำเนินงานสถานีผลิตก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อม ของบริษัท พีทีทีอีพี เอสพี ลิมิเต็ด จำกัด เพื่อสร้างความมั่นใจด้านพลังงานให้กับประชาชนในพื้นที่ พร้อมเยี่ยมชมอาคารต้นแบบที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ และระบบน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่นในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการติดตามภาพรวมการขับเคลื่อน 5 แผนบูรณาการพลังงานระยะยาว
ในพื้นที่ปฏิบัติจริง และติดตามสถานการณ์พลังงานในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เพื่อสร้างความมั่นใจในด้านพลังงานให้กับประเทศและประชาชนในพื้นที่ โดยในวันนี้ได้เยี่ยมชมอาคารกองสื่อสารองค์กร
ซึ่งถูกก่อสร้างและพัฒนาให้เป็นอาคารต้นแบบที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Energy Building) และระบบน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งถือเป็นต้นแบบด้านการอนุรักษ์พลังงานในหน่วยงานราชการ โดยอาคารต้นแบบที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Energy Building) เป็นโครงการที่กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ให้การสนับสนุนทุนวิจัยด้านการพัฒนาเทคโนโลยีให้สามารถใช้พลังงานสุทธิภายในอาคารเป็นศูนย์ (Net Zero Energy Building) เพื่อเป็นอาคารต้นแบบและเป็นแหล่งเรียนรู้เทคโนโลยีด้านการอนุรักษ์พลังงานที่เหมาะสมสำหรับอาคารในประเทศไทย

สำหรับโครงการระบบน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ เป็นอีกโครงการที่กระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานสนับสนุนในการติดตั้งระบบผลิต
น้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ ทดแทนการใช้น้ำมันเตาในกระบวนการผลิตน้ำร้อนเพื่อใช้สำหรับอุปโภคและบริโภคในโรงพยาบาล ซึ่งได้ดำเนินการติดตั้งระบบใหม่ จำนวน 2 ระบบ ได้แก่ ระบบผลิตน้ำร้อนสำหรับป้อนหม้อไอน้ำ สำหรับอาคารหม้อไอน้ำ และระบบผลิตน้ำร้อนเพื่อการอุปโภคของหอพักผู้ป่วย ซึ่งภายหลังจากการปรับเปลี่ยนระบบดังกล่าวสามารถลดค่าใช้จ่ายรวมกันทั้ง 2 ระบบ คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.4 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ โครงการอนุรักษ์พลังงานของทั้ง 2 หน่วยงาน เป็นมาตรการหนึ่งตามกรอบแผนอนุรักษ์พลังงานหรือ EEP 2015 ที่ขับเคลื่อนสู่เป้าหมายสำคัญในการลดความเข้มการใช้พลังงานของประเทศลง 30% ภายในปี 2579

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวต่อว่า สำหรับการลงพื้นที่ติดตามศักยภาพของแหล่งก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อม เป็นการติดตามในส่วนของแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติในด้านภาพรวมศักยภาพการผลิต เนื่องจากแหล่งก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เป็นสถานีการผลิตที่รองรับก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากแหล่งก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อม ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสำคัญในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ปัจจุบันแหล่งก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อม มีปริมาณการผลิตแบ่งเป็นก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยประมาณ 108-135 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และก๊าซธรรมชาติเหลว (Condensate) ประมาณ 400-500บาร์เรล/วัน และคาดว่ามีปริมาณสำรองในส่วนของก๊าซธรรมชาติ ณ สิ้นปี 2558 อยู่ที่ 623.32 พันล้านลูกบาศก์ฟุต และก๊าซธรรมชาติเหลวปริมาณ 1.69 ล้านบาร์เรล คาดว่าจะใช้ได้อีก 10-14 ปี

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ สามารถจัดเก็บค่าภาคหลวงปิโตรเลียมจากแหล่งก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อม ตั้งแต่ปี 2550 – 2558 จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 9,481 ล้านบาท โดยจัดสรรไปพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ทั้งเป็นรายได้แผ่นดิน สัดส่วน 40% หรือประมาณ 3,792.4 ล้านบาท อีก 60% จัดสรรไปยังองค์กรส่วนท้องถิ่น โดยจัดสรรให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่มีการผลิต 2 แห่ง สัดส่วน 20% หรือประมาณ 1,896.2 ล้านบาท จัดสรรให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือเทศบาลในพื้นที่ที่มีการผลิต 11 แห่ง สัดส่วน 20% ประมาณ 1,896.2 ล้านบาท จัดสรรให้องค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาลในจังหวัดที่มีการผลิตสัดส่วน 10% ประมาณ 948.1 ล้านบาท และที่เหลืออีก 10% หรือประมาณ 948.1 ล้านบาท จัดสรรกระจายไปยัง อบต. และเทศบาลอื่นๆ อีกทั่วประเทศ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สำคัญ 2 แหล่ง คือ แหล่งก๊าซธรรมชาติน้ำพอง และแหล่งก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อม โดยที่แหล่งก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อมมีการผลิตก๊าซธรรมชาติ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 4.1% ของอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติของทั้งประเทศ ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากแหล่งก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อมจะนำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด โดยนำไปผลิตไฟฟ้าและผลิตเป็นก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV)

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังได้ติดตามเรื่องการเตรียมความพร้อม กรณีการปิดซ่อมโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 17 – 26 กันยายน 2559 ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า กฟผ. ได้มีการเตรียมการรองรับไว้เรียบร้อยแล้ว จึงไม่มีผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่แต่อย่างใด

สำหรับกรณีการปิดซ่อมบำรุงประจำปีของแหล่งก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อม ระหว่างวันที่ 25-26 กันยายน 2559 จะส่งผลกระทบต่อการผลิตก๊าซ NGV ประมาณ 450 ตัน/วัน (มาจากแหล่งสินภูฮ่อมประมาณ 10-15 ล้านลูกบาศก์ฟุต) ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว คือ จะนำเข้าก๊าซ NGV จากสระบุรี และภาคกลางเข้ามาทดแทนทั้งหมด โดยยืนยันว่าในช่วงเวลาที่มีการปิดซ่อมจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ก๊าซ NGV ในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างแน่นอน

………………







กระทรวงพลังงาน สรุปผลงานรอบ 2 ปี ลดค่าครองชีพคนไทย

กระทรวงพลังงาน สรุปผลงานรอบ 2 ปี ลดค่าครองชีพคนไทย


ก.พลังงาน สรุปผลงานรอบ 2 ปี ลดค่าครองชีพคนไทย ประหยัดค่าน้ำมัน 306,000 ล้านบาทต่อปี ค่าไฟฟ้าลด 92,103 ล้านบาท ผลักดันการลงทุนด้านพลังงานสูงสุดในประวัติศาสตร์กว่า 1 ล้านล้านบาท สร้างงาน-อาชีพแก่วิศวกรยันเกษตรกร พร้อมเปิดมิติประชารัฐร่วมกับชุมชนเปลี่ยนพลังงานทดแทนเป็นรายได้เพิ่ม ยันวางรากฐานบูรณาการแผนพลังงานระยะยาว 5 ด้าน ไทยมีพลังงานอย่างมั่นคงพร้อมก้าวสู่เมืองอัจฉริยะ คู่ดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงผลงานในรอบ 2 ปีของกระทรวงพลังงานภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีผลงานที่สำคัญๆ ได้แก่
1. การลดค่าครองชีพให้แก่ประชาชน กระทรวงพลังงานได้เร่งแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาพลังงาน โดยยกเลิกการอุดหนุนราคาพลังงาน ปลดภาระหนี้สินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเป็นปัญหาค้างคามายาวนานกว่า 7,000 ล้านบาท โดยได้บริหารจัดการให้ราคาน้ำมันปรับลดลงทุกประเภท ส่งผลให้ประชาชนลดค่าน้ำมันได้ 306,000 ล้านบาท นอกจากนี้ในส่วนของค่าไฟฟ้า ได้ปรับราคาลดลงต่อเนื่องเช่นกันสูงถึง 52.68 สตางค์ต่อหน่วย ช่วยให้ประชาชนลดค่าไฟฟ้าลงได้ 92,103 ล้านบาท
2. เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพให้คนไทยเพิ่มขึ้น โดยถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ภาคพลังงานเกิดการลงทุนสูงสุดถึง 1 ล้านล้านบาท จากการพัฒนาโรงไฟฟ้าควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้า การสำรวจและผลิตปิโตรเลียม การพัฒนาระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อ การขยายโครงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และการลงทุนขยายท่าเรือรับส่งก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือ LNG Receiving Terminal รวมทั้งการปลดล็อกกฎระเบียบ ใบอนุญาต การแก้ไขปัญหาผังเมือง ส่งผลให้เกิดการลงทุนพลังงานต่อเนื่อง โดยมีการจ่ายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเข้าระบบสูงถึง 2,213 เมกะวัตต์ คิดเป็นมูลค่า 139,739 ล้านบาท ซึ่งภาพรวมการลงทุนทั้งหมดที่เกิดขึ้น ได้ช่วยให้เกิดการสร้างงานตั้งแต่ระดับวิศวกรไปจนถึงภาคการเกษตร เกิดการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศต่อเนื่อง
3. กระทรวงพลังงานได้เปิดมิติด้านประชารัฐ โดยส่งเสริมการลงทุนพลังงานทดแทนในระดับชุมชน เพื่อลดรายจ่ายและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าการเกษตร ซึ่งได้ช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ภาคการเกษตร ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ดำเนินการ อาทิ โครงการสนับสนุนระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ที่อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก จนเกิดสินค้าประชารัฐที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนเพิ่มขึ้น รวมทั้งการทำให้สินค้าเกษตรอื่นๆ เช่น เยื่อไผ่ ลำไย มะม่วง มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเช่นกัน การส่งเสริมนำมูลสัตว์ น้ำเสีย ขยะ มาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ เพื่อทดแทนการใช้ก๊าซหุงต้มในครัวเรือน ก็ได้ช่วยให้ชุมชนหลายแห่งทั่วประเทศ สามารถลดรายจ่ายด้านพลังงานและมีรายได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน
4. เกิดการวางรากฐานด้านพลังงานในระยะยาว จากการริเริ่มจัดทำแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว (พ.ศ.2558-2579) ขึ้นเป็นครั้งแรก และได้เชี่อมโยงข้อมูลแผนทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ ไฟฟ้า พลังงานทดแทน อนุรักษ์พลังงาน ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคงด้านพลังงาน โดยภายใต้แผนฯ ดังกล่าวนอกจากจะตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยมีการใช้พลังงานทดแทนทั้งจากไฟฟ้า ความร้อน และภาคขนส่งเพิ่มขึ้น 30 % เกิดการลดใช้พลังงานลง 30% ในปี 2579 เกิดการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงอย่างสมดุลย์ในการผลิตไฟฟ้าแล้ว ในอนาคตจะเกิดโครงการสำคัญที่พาประเทศไทยไปสู่ เมืองอัจฉริยะ (Smart Cities – Clean Energy) ซึ่งจะเกิดการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนควบคู่ไปด้วย อาทิ โครงการไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) โครงการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และโครงการส่งเสริมระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) เป็นต้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดการสัมมนาวิชาการประจำปี Energy Symposium 2016

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดการสัมมนาวิชาการประจำปี Energy Symposium 2016 พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “พลังงานไทยในกระแสพลังงานโลก” การสัมมนาฯ ครั้งนี้ จัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพ โดยมีผู้เข้าร่วมงานจากผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม และผู้ที่เกี่ยวข้องกว่า 200 คน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแถลงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

วันนี้ (7 กันยายน 2559) พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า ที่ประชุม กบง. ได้มีการพิจารณาวาระสำคัญ และรับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานด้านพลังงาน ดังนี้

โครงสร้างราคาก๊าซ LPG เดือนกันยายน 2559
สถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลก (CP) เดือนกันยายน 2559 อยู่ที่ระดับ 305 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 18 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน และอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเดือนสิงหาคม 2559 แข็งค่าขึ้นจากเดือนก่อน 0.3515 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ 34.8938 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคาต้นทุนเฉลี่ยการจัดหาก๊าซ LPG ทั้งระบบ ซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นของก๊าซ LPG (LPG Pool) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.2341 บาท/กก. จาก 12.9282 บาท/กก. เป็น 13.1623 บาท/กก. แต่เพื่อไม่ให้การผันผวนของราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลก ส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกก๊าซ LPG ในประเทศ ประกอบกับฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของก๊าซ LPG ยังคงมีเสถียรภาพ ดังนั้น ที่ประชุม กบง. จึงเห็นควรให้คงราคาขายปลีกก๊าซ LPG เดือนกันยายน 2559 ไว้ที่ 20.29 บาท/กก. โดยปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ลง 0.2341 บาท/กก. จากเดิมเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ 0.3908 บาท/กก. เป็นเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ที่ 0.1567บาท/กก. ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2559 เป็นต้นไป
จากการปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าว ส่งผลทำให้กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของก๊าซ LPG มีรายรับลดลง 82 ล้านบาท/เดือน จาก 137 ล้านบาท/เดือน คงเหลือรายรับประมาณ 55 ล้านบาท/เดือน โดยฐานะสุทธิของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 4 กันยายน 2559 อยู่ที่ 41,707 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) ในส่วนของบัญชีก๊าซ LPG อยู่ที่ 7,411 ล้านบาท และ 2) ในส่วนของบัญชีน้ำมันสำเร็จรูป อยู่ที่ 34,296 ล้านบาท

การเตรียมความพร้อมภายใต้ร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ….
เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการปฏิบัติงานภายใต้ร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. …. ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 ได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันฯ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยคาดว่าร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าว จะสามารถประกาศในราชกิจจานุเบกษา ประมาณเดือนเมษายน 2560 ที่ประชุม กบง. จึงเห็นชอบการเตรียมความพร้อมภายใต้ร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. …. ระหว่างเดือนกันยายน 2559 – เมษายน 2560 สรุปได้ดังนี้
1. การบริหารกองทุน และการปฏิบัติงาน ประกอบด้วย การจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์การบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ร่างแผนรองรับกรณีเกิดวิกฤติน้ำมันเชื้อเพลิง และร่างแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานน้ำมันเชื้อเพลิง การศึกษา ทบทวนกฎหมายลำดับรอง ระเบียบ ประกาศ และข้อบังคับต่างๆ เกี่ยวกับการบริหารจัดการกองทุนฯ
2. การจัดตั้งสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบด้วย การกำหนดโครงสร้างการบริหารสำนักงาน อัตรากำลัง และสถานที่ตั้ง นโยบายการบริหารงานของสำนักงาน การออกกฎหมายรองและระเบียบข้อบังคับต่างๆ ในการบริหารสำนักงาน รวมทั้งการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ปฏิบัติงานของสำนักงาน
3. การสร้างความรู้ความเข้าใจระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการการทำงานให้ไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

พร้อมกันนี้ ที่ประชุม กบง. ยังได้เห็นชอบให้แต่งตั้ง “อนุกรรมการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการปฏิบัติงานภายใต้ร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. …. ” โดยมีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่ในการพิจารณาจัดเตรียมการดำเนินงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการเตรียมความพร้อมรองรับการปฏิบัติงานภายใต้ร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. …. ดังกล่าวข้างต้น และรายงานผลการปฏิบัติงานให้ กบง. ทราบเป็นระยะ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงนามในบันทึกความเข้าใจด้านพลังงานไฟฟ้ากับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

วันนี้ (6 กันยายน 2559) พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ ดร.คำมะนี อินทิราด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและราชอาณาจักรไทย ซึ่งสาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจฉบับดังกล่าวประกอบด้วย
1. ขยายกรอบการซื้อไฟฟ้าเป็น 9,000 MW
2. ตั้งคณะทำงานร่วมด้านน้ำ
3. ต่อยอดวิสัยทัศน์ ASEAN Power Grid
ทั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ให้เกียรติเข้าร่วมเป็นสักขีพยานด้วยการลงนามในบันทึกความเข้าใจครั้งนี้ด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เยี่ยมชมศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ

วันที่ 19 สิงหาคม 2559 พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะ เยี่ยมชมศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือกรมการพลังงานทหาร ณ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้เข้ารับฟังการการบรรยายการดำเนินงานการผลิตน้ำมัน และเยี่ยมชมโรงกลั่น และโครงการผลิตก๊าซมีเทนจากชั้นถ่านหิน ของกรมพลังงานทหาร

 






และต่อมาได้ พลเอกอนันตพร พร้อมคณะได้เข้าเยี่ยมชม โรงงานผลิตไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพฝาง ซึ้งเป็นโรงงานผลิตไฟฟ้า จากการนำน้ำร้อนไปถ่ายเทความร้อนให้กับของเหลวกระทั่งเดือดเป็นไอ แล้วนำไอนี้ไปหมุนกังหันเพื่อขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าผลิตไฟฟ้าออกมา






รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตรวจราชการจังหวัดเชียงใหม่

พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เดินทางตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้โครงการพลังงานชุมชนจัดการตนเองด้านพลังงาน เพื่อปลูกฝัง และสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนในพื้นที่ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ที่เป็นชุมชนต้นแบบเทคโนโลยีพลังงานเพื่อลดปัญหาหมอกควัน และลดโลกร้อน

“โครงการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีพลังงานเพื่อลดปัญหาหมอกควันและลดโลกร้อนจะช่วยลดปัญหาหมอกควันของจังหวัดเชียงใหม่ โดยนำซังข้าวโพดมาแปลงเป็นพลังงานชีวมวล และสามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืน อีกทั้ง ยังสามารถปลูกฝัง และสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนในพื้นที่ให้เกิดการยอมรับ สนับสนุนโครงการด้านพลังงานที่ถูกต้องเหมาะสม ตลอดจนสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในชุมชนอีกด้วย” พลเอกอนันตพร กล่าว

 

     

 

 

ขอเชิญร่วมงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2559”

มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2559

กระทรวงพลังงาน ขอเชิญร่วมงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2559” พบกับกิจกรรมและนิทรรศการด้านพลังงาน บูธบ้านประหยัดพลังงาน การขับรถประหยัดพลังงาน แผนบูรณาด้านพลังงานระยะยาว (TIEB) นอกจากนั้น ยังมีบูธนิทรรศการจากหลากหลายหน่วยงาน โดยงานจะมีขึ้น ณ ฮอลล์ 2 – 8 เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 18 – 28 สิงหาคม 2559

ถวายพระพรสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 12 สิงหาคม 2559

วันนี้ (12สิงหาคม 2559) พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นำคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง ลงนามถวายพระพรสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 12 สิงหาคม 2559 ณ พระบรมมหาราชวัง
และต่อมา เมื่อเวลา 19.19 น. ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อม ภริยา เป็นประธานในพิธีถวายเครื่องราชสักการะ จุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล และถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา โดยมีผู้ร่วมงานประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ คณะกรรมการมูลนิธิ 5ธันวามหาราชคณะกรรมการจัดงานบำเพ็ญกุศลฯ ตลอดจนประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมพร้อมกันที่บริเวณพิธี

      

ประธานบริษัท J-Power ประจำสำนักงานใหญ่ เข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

เมื่อวานนี้ (3 สิงหาคม 2559) พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวต้อนรับประธานบริษัท J-Power ประจำสำนักงานใหญ่ นายโทชิฟุมิ วาตานาเบะ และคณะ รวมทั้งกล่าวขอบคุณที่เดินทางมาเยือนกระทรวงพลังงาน ทั้งนี้ ประธานบริษัท J-Power ได้กล่าวว่า บริษัท J-Power ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2495 และมีความสัมพันธ์อันดีกับกระทรวงพลังงานมาเป็นระยะเวลาเกือบ 60 ปี โดยในอดีตได้มีความร่วมมือในการให้คำปรึกษาในโครงการด้านพลังงานทดแทน อาทิ โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำ และระยะหลังก็มีการร่วมลงทุนกับ กฟผ. ในการสร้างโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะโรงไฟฟ้า Combine cycle gas ซึ่งขณะนี้ได้มีการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าร่วมกับ กฟผ. แล้วจำนวน 16 โรง และทุกโรงสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่นดี

ทั้งนี้ รมว.พน. ได้กล่าวถึงนโยบายของกระทรวงพลังงานที่มุ่งเน้นความโปร่งใสในการบริหารนโยบายพลังงาน รวมทั้งส่งเสริมให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม โดยหากภาคเอกชนพบสิ่งที่ไม่ถูกต้องเป็นธรรม สามารถแจ้งกระทรวงพลังงานได้โดยตรง นอกจากนั้น ได้เชิญชวนให้บริษัท J-Power พิจารณาลงทุนเพิ่มเติม ตามแผนการลงทุนของกระทรวงพลังงานทั้งในปีนี้และปีต่อไป ซึ่งบริษัท J-Power ได้แจ้งตอบรับว่ามีความสนใจเข้าร่วมลงทุนในโครงการต่างๆ ของประเทศไทยในอนาคต โดยปัจจุบันบริษัท J-Power ได้เข้าไปลงทุนเพิ่มเติมในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ในเทคโนโลยีถ่านหิน พลังงานลม พลังงานน้ำ รวมทั้งมีการลงทุนในระบบสายส่งเองอีกด้วย

ในโอกาสนี้ ประธานบริษัท J-Power ได้แจ้งเชิญ รมว.พน. เข้าร่วมงานฉลองครบรอบ 10 ปีการก่อตั้งบริษัท J-Power เป็นนิติบุคคลในประเทศไทย ในวันที่ 1 กันยายน 2559 เวลา 18.00 น. ณ โรงแรมพลาซาแอทธินี รวมทั้งเชิญ รมว.พน. เยือนเมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น พร้อมเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดที่มีการนำเทคโนโลยีล่าสุดมาใช้ ซึ่งมีประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าสูงและมีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมสูงมาก ซึ่ง รมว.พน. แสดงความยินดีในโอกาสครบรอบ 10 ปีการก่อตั้งบริษัท J-Power ในประเทศไทย และตอบรับเชิญการเยือนประเทศญี่ปุ่นในโอกาสต่อไป

พลเอก อนันตพร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะ เยี่ยมชม บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) จ.ระยอง

พลเอก อนันตพร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะ ได้เดินทางไปยัง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) จ.ระยอง เพื่อเยี่ยมชมกิจการภายในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ในเครือของกลุ่ม บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) โดยมีคุณประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการบริษัทฯ คุณสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าทึ่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ให้การต้อนรับ
ภายหลังจากการเยี่ยมชม พลเอก อนันตพร พร้อมคณะ ได้ร่วมถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกับคณะผู้บริหารของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูงเดินทางลงพื้นที่เยี่ยมชมศูนย์ปฏิบัติการ ปตท. จ.ชลบุรี

วันที่ 8 กรกฎาคม 2559 พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูงเดินทางลงพื้นที่เยี่ยมชมศูนย์ปฏิบัติการ ปตท. จ.ชลบุรี โดยมี นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง และนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้การต้อนรับ โอกาสนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้เดินชมห้องปฏิบัติการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ. ซึ่งสายงานท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ศูนย์ปฏิบัติการชลบุรี เป็นหน่วยงานหนึ่งของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทำหน้าที่เป็นศูนย์หลักในการควบคุมการขนส่งก๊าซธรรมชาติ เป็นศูนย์กลางในการประสานงานกับเขตปฏิบัติการระบบท่อส่งก๊าซที่กระจายตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไปยังลูกค้า โดยศูนย์ปฏิบัติการชลบุรีก่อตั้ง ตั้งแต่ปี 2524
หลังจากนั้น พลเอก อนันตพร พร้อมคณะ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมสถาบันวิทยสิริเมธี-โรงเรียนกำเนิดวิทย์ พร้อมไปพบปะพูดคุยกับนักเรียนและนักศึกษา โดยมี ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานกรรมการบริหารโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ดร.ธงชัย ชิวปรีชา ผู้อำนวยการโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ให้การต้อนรับ และพาเยี่ยมชมตามสถานที่ต่างๆ ภายในโรงเรียน

 

 

 

 

ผลการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)


วันนี้ (7 กรกฎาคม 2559) ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ซึ่งมี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ว่า ที่ประชุม กบง. ได้มีการพิจารณาวาระสำคัญต่างๆ ดังนี้

*** โครงสร้างราคาก๊าซ LPG เดือนกรกฎาคม 2559
สถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลก (CP) เดือนกรกฎาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 301 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน 43 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเดือนมิถุนายน 2559 แข็งค่าขึ้นจากเดือนก่อน 0.1418 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ 35.4733 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคาต้นทุนเฉลี่ยการจัดหาก๊าซ LPG ทั้งระบบ ซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นของก๊าซ LPG (LPG Pool) ปรับตัวลดลง 0.6607 บาท/กก. จาก 13.9150 บาท/กก. เป็น 13.2543 บาท/กก. แต่เนื่องจากในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา (ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – มิถุนายน 2559) ได้มีการใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ ชดเชยราคาเพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกก๊าซ LPG ในประเทศ ดังนั้น ที่ประชุม กบง. จึงเห็นควรให้คงราคาขายปลีกก๊าซ LPG เดือนกรกฎาคม 2559 ไว้ที่ 20.29 บาท/กก. โดยปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพิ่มขึ้น 0.6607 บาท/กก. จากเดิมกองทุนน้ำมันฯ ชดเชย 0.5960 บาท/กก. เป็นส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ที่ 0.0647 บาท/กก. ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป

จากการปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าว ส่งผลทำให้กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของก๊าซ LPG มีรายรับประมาณ 22 ล้านบาท/เดือน โดยฐานะสุทธิของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 3 กรกฎาคม 2559 อยู่ที่ 44,461 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) ในส่วนของบัญชีก๊าซ LPG อยู่ที่ 7,128 ล้านบาท และ 2) ในส่วนของบัญชีน้ำมันสำเร็จรูป อยู่ที่ 37,333 ล้านบาท

*** การปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
มติ ครม. เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 ได้เห็นชอบหลักการของร่างประกาศกระทรวงการคลังเรื่อง ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) เพื่อปรับอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซินและน้ำมันอื่นที่คล้ายกัน และน้ำมันดีเซลและน้ำมันอื่นที่คล้ายกัน โดยเป็นการดำเนินการให้มีผลบังคับสอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันและเสริมสร้างเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ ซึ่งมีรายละเอียดในการปรับอัตราภาษีสรรพสามิต ดังนี้
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องกับการปรับอัตราสรรพสามิตในข้างต้น และไม่กระทบกับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งจะเป็นการสร้างภาระให้แก่ผู้บริโภค ที่ประชุม กบง. จึงเห็นชอบให้ปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ดังนี้ (ตามรูปตาราง)


จากการปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าว จะส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ มีสภาพคล่องลดลงประมาณ 383 ล้านบาทต่อเดือน จากมีรายรับ 13 ล้านบาทต่อเดือน เป็นมีรายจ่าย 371 ล้านบาทต่อเดือน
ทั้งนี้ จากการโอนอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ เป็นอัตราภาษีสรรพสามิตจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น 800 ล้านบาทต่อเดือน จาก 15,252 ล้านบาทต่อเดือน เป็น 16,053 ล้านบาทต่อเดือน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รักษาสิ่งแวดล้อม ก่อสร้างและซ่อมบำรุงถนน และลดอุบัติเหตุจากการจราจร

*** รายงานการบริหารจัดการกรณีแหล่งก๊าซธรรมชาติ JDA – A18 ปิดซ่อมบำรุง ปี 2559
ที่ประชุม กบง. รับทราบแนวทางการบริหารจัดการและมาตรการรองรับกรณีแหล่งก๊าซธรรมชาติในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA – A18) หยุดซ่อมบำรุงประจำปี ระหว่างวันที่ 20 – 31 สิงหาคม 2559 รวม 12 วัน ซึ่งจะทำให้ปริมาณก๊าซหายไปจากระบบ ประมาณ 421 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และจะส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าในภาคใต้ ได้แก่ โรงไฟฟ้าจะนะ จังหวัดสงขลา ที่ต้องเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงอื่นทดแทน และบางส่วนจำเป็นต้องหยุดผลิต และผลกระทบต่อการจำหน่ายก๊าซฯ ของสถานีบริการก๊าซ NGV ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง (จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา) จำนวน 14 สถานี

เพื่อรองรับผลกระทบจากการหยุดซ่อมแหล่งก๊าซฯ ดังกล่าว กระทรวงพลังงานจึงได้เตรียมความพร้อม ดังนี้
– ด้านพลังงานไฟฟ้า –
—– ระบบผลิต ดำเนินการโดยให้โรงไฟฟ้าจะนะพร้อมเดินเครื่องด้วยดีเซล ตรวจสอบโรงไฟฟ้าภาคใต้ทั้งหมดให้พร้อมใช้งาน งดการหยุดเครื่องบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า และประสานการไฟฟ้ามาเลเซียขอซื้อไฟฟ้าในกรณีฉุกเฉิน
—– เชื้อเพลิงสำรอง เตรียมการโดยให้มีการสำรองน้ำมันให้เพียงพอและเต็มความสามารถในการจัดเก็บ พร้อมทั้งประสานงานให้ ปตท. จัดส่งน้ำมันระหว่างการดำเนินงานเพื่อให้สามารถรองรับความล่าช้า 3 วัน
—– ระบบส่ง เตรียมความพร้อมโดยให้มีการตรวจสอบสายส่งและอุปกรณ์สำคัญในภาคใต้ให้พร้อมใช้งาน และงดการทำงานบำรุงรักษาระบบส่งในช่วงเวลาหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ

– ด้านก๊าซ NGV –
—– การสำรอง NGV โดยให้มีการจัดส่งก๊าซ NGV จากสถานีหลักในเขตกรุงเทพ และปริมณฑล พร้อมสำรองก๊าซฯ ไว้ล่วงหน้าที่สถานีก๊าซฯ หลักจะนะ

– ด้านการประชาสัมพันธ์ –
เพื่อรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันประหยัดพลังงานในช่วงที่มีการหยุดจ่ายก๊าซฯโดยเฉพาะการลดใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลา 18.00 – 21.30 น. ซึ่งเป็นชั่วโมงที่ในพื้นที่ภาคใต้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของวัน ผ่านช่องทางการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ อาทิ การติดป้าย Banner โปสเตอร์ การแจกใบปลิว การเผยแพร่ข่าวผ่านสื่อวิทยุและโทรทัศน์ การจัดประชุม/สัมมนา การพบปะสื่อมวลชนท้องถิ่น และการส่งจดหมายแจ้งผู้ที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ

Page 14 of 15
1 12 13 14 15