รองปลัดกระทรวงพลังงาน ร่วมบันทึกเทปรายการ เคลียร์ คัด ชัดเจน สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง NBT

วันนี้ (31 มีนาคม 2565) นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน ได้ร่วมบันทึกเทปรายการ เคลียร์ คัด ชัดเจน สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง NBT ในโอกาสสัมภาษณ์พิเศษเนื่องในวันข้าราชการพลเรือน ประจำปี 2565 ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงพลังงาน

ซึ่งในส่วนของกระทรวงพลังงาน ได้นำเสนอการทำงานของข้าราชการในการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนทั้งด้านองค์ความรู้และการใช้อุปกรณ์ด้านพลังงานในการผลิตสินค้าชุมชน ที่นอกจากจะทำให้วิสาหกิจชุมชนสามารถผลิตสินค้าชุมนที่สะอาด ลดของเสียที่เกิดจากการผลิต ลดระยะเวลาในการผลิต ที่สำคัญยังสามารถลดต้นทุนด้านพลังงานที่ใช้ในการสินค้าชุมชนได้อีกด้วย รวมทั้งยังนำเสนอมาตรการการประหยัดพลังงานทั้งในส่วนของภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป

ผู้สนใจสามารถรับชมรายการ เคลียร์ คัด ชัดเจน ได้ในวันศุกร์ที่ 1 เมษายน 2565 เวลา 15.05 – 16.00 น. ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง NBT

 

นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต เป็นประธานการจัดกิจกรรมให้ความรู้ KM เรื่อง การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงาน ( ITA )

วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม 2565 ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต  กระทรวงพลังงาน ( ศปท.พน. ) ได้จัดกิจกรรมให้ความรู้ KM เรื่อง  การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงาน ( ITA ) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ในตัวชี้วัด  การใช้งบประมาณ การใช้ทรัพย์สินราชการและการแก้ไขปัญหาการทุจริต ของหน่วยงาน ผ่านระบบ Video Conference โดยมีรองปลัดกระทรวงพลังงาน  ( นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว ) หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต เป็นประธาน   โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้   ความเข้าใจให้แก่บุคลากรภายในสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน ให้ตระหนักถึงการใช้ทรัพย์สินของทางราชการ การใช้จ่ายงบประมาณ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการทุจริตของหน่วยงาน  สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางและภูมิภาค  ประมาณ 70 คนเข้าร่วม  โดยมีเป้าหมายเพื่อให้บุคคลากรภายในหน่วยงานได้รับทราบและนำไปปฏิบัติ  นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้บุคลากรภายในหน่วยงานได้มีส่วนร่วมในการตอบข้อซักถามในประเด็นต่างๆ ของการนำเสนอ เพื่อนำไปปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพื่อสะท้อนการทำงานให้มีคุณธรรมและความโปร่งใสในภาพรวมต่อไป

กระทรวงพลังงาน พร้อมรับมือสถานการณ์ตึงเครียดรัสเซีย – ยูเครน ประเมินสถานการณ์รายวัน ยันเตรียมมาตรการรองรับทุกด้าน

      กระทรวงพลังงานชี้แจงความพร้อมรับมือหลังสถานการณ์รัสเซียและยูเครนเริ่มตึงเครียดมากขึ้น หากเกิดสถานการณ์รุนแรง อาจจะกระทบกับราคาพลังงาน ยืนยันว่าไม่กระทบกับการจัดหาน้ำมันและ LNG เนื่องจากไทยมีมาตรการรองรับอย่างเต็มที่
      วันนี้ (24 กุมภาพันธ์ 2565) นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่าจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งขณะนี้สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปได้เริ่มทยอยใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ เพื่อตอบโต้ความเคลื่อนไหวของรัสเซียต่อการปฏิบัติการในยูเครน ปัจจุบันรัสเซียและชาติตะวันตกพยายามหาทางออกทางการทูต แต่ยังไม่สามารถเจรจากันได้ และรัสเซียได้เริ่มมีการใช้กำลังทางทหารในพื้นที่ สร้างความวิตกกังวลให้กับนานาชาติ และส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการนำเข้าพลังงานทั้งน้ำมันและ LNG เนื่องจากประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากประเทศกลุ่มตะวันออกกลางประมาณร้อยละ 55 และนำเข้าจากรัสเซียเพื่อกลั่นเพียง 5.22 ล้านลิตร/วัน หรือคิดเป็นร้อยละ 3 ของปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบทั้งหมด และในส่วนของ LNG ประเทศไทยนำเข้าจากต่างประเทศประมาณร้อยละ 18 จากหลากหลายแหล่ง ซึ่งทางกระทรวงพลังงานก็ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินและเตรียมความพร้อมหากเกิดสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น โดยกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เตรียมความพร้อมด้านปริมาณสำรองพลังงาน โดย ณ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ไทยมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบประมาณ 3,200 ล้านลิตร ปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างขนส่งอีก 1,460 ล้านลิตร น้ำมันสำเร็จรูป 1,670 ล้านลิตร ทำให้มีน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองใช้ได้กว่า 2 เดือน แบ่งเป็น น้ำมันดิบ 27 วัน อยู่ระหว่างขนส่งอีก 13 วัน และน้ำมันสำเร็จรูป 12 วัน ส่วน LPG สำหรับในภาคครัวเรือนใช้ได้ 16 วัน
      “สิ่งที่น่ากังวลที่สุดจะเป็นเรื่องของราคาพลังงาน ซึ่งจากที่สำนักข่าวต่างประเทศได้รายงานว่าเริ่มมีการใช้กำลังทางทหารเกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว รวมถึงสถานการณ์ที่เป็นปัจจัยพื้นฐานด้านการผลิตน้ำมันของโลกที่ยังมีจำกัดทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น กระทรวงพลังงานได้ใช้มาตรการที่มีอย่างต่อเนื่องและยังคงเตรียมมาตรการที่จะสามารถช่วยเหลือประชาชนเพิ่มเติม และขอยืนยันว่า จากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ที่เกิดขึ้นนี้ แม้จะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นถึงระดับ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และเกิดผลกระทบวงกว้างทั่วโลก แต่กระทรวงพลังงานจะยังคงดำเนินการอย่างเต็มที่ในการบรรเทาให้เกิดผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด และขอให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์วิกฤตนี้และร่วมกันใช้พลังงานโดยเฉพาะน้ำมันอย่างประหยัดและคุ้มค่าที่สุด เพื่อผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน” นายกุลิศ กล่าว

กระทรวงพลังงาน เข้าร่วมการประชุมหารือเชิงนโยบายด้านพลังงานระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทย ครั้งที่ 2

คณะผู้แทนประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา ได้เข้าร่วมการประชุมหารือเชิงนโยบายด้านพลังงานระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทย ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ 2565 ณ กรุงเทพมหานคร โดยนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานของไทย และนายแฮร์รี คาเมียน รักษาการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้านทรัพยากรพลังงาน สำนักทรัพยากรพลังงาน กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นหัวหน้าคณะร่วมกับข้าราชการและผู้แทนจากภาคเอกชน องค์กร และสถาบันที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความร่วมมือทวิภาคีด้านพลังงานของทั้งสองประเทศ

การประชุมหารือเชิงนโยบายฯ ดังกล่าวนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทยในประเด็นสำคัญ ได้แก่ การส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน การพัฒนาภาคการผลิตไฟฟ้า การผลักดันการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในภาคน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน และการเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน ทั้งนี้ การหารือเชิงนโยบายได้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้เป็นอย่างดี โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือที่เป็นประโยชน์โดยเฉพาะระหว่างภาคเอกชน รวมถึงมีการหารือเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการลงทุนและการดำเนินธุรกิจภาคพลังงานระหว่างสองประเทศ

ในระหว่างการประชุม ผู้แทนไทยและสหรัฐอเมริกาต่างให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับแนวโน้มของการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าสำหรับอนาคต ตลอดจนเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์และการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าให้ทันสมัย และนวัตกรรมเทคโนโลยีพลังงานยุคใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายด้านพลังงานแห่งชาติ และสนับสนุนความพยายามในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศของทั้งสองประเทศ

ในระหว่างการประชุมฯ ประเทศไทยได้ประกาศความร่วมมือในหนังสือแสดงเจตจำนง (LOI) ที่ไม่มีผลผูกพันกับภาคเอกชนของสหรัฐอเมริกา ภายใต้ “ข้อริเริ่มความต้องการพลังงานสะอาด” (Clean Energy Demand Initiative) หรือ CEDI ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมช่องทางสำหรับกระตุ้นการลงทุนในโครงการด้านพลังงานสะอาดในประเทศไทยและช่วยให้ภาคเอกชนของสหรัฐฯ สามารถบรรลุเป้าหมายในการใช้พลังงานสะอาดในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งข้อริเริ่มนี้จะส่งเสริมให้เกิดการผลิตและการใช้พลังงานสะอาดในห่วงโซ่คุณค่าในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศที่ท้าทายตามที่ได้ประกาศไว้ในเวที COP26 ได้

ฝ่ายไทยและสหรัฐฯ เห็นพ้องร่วมกันที่จะส่งเสริมความร่วมมือและให้การสนับสนุนการพัฒนาภาคพลังงานระหว่างสองประเทศ รวมถึง ยืนยันที่จะต่อยอดการสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและความเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ในการพัฒนาภาคพลังงานร่วมกันต่อไป ทั้งนี้ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืนระหว่างทั้งสองประเทศในยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอันสำคัญยิ่งนี้

กระทรวงพลังงาน เร่งหาข้อสรุปช่วยเหลือประชาชน หลัง ครม. มีมติประกาศลดภาษีสรรพสามิต

พลังงาน เร่งหาข้อสรุปช่วยเหลือประชาชน หลัง ครม. มีมติประกาศลดภาษีสรรพสามิตพร้อมวอนปั๊มบริหารจัดการปริมาณน้ำมันให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน

กระทรวงพลังงาน เร่งจัดประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) โดยเร็วเพื่อหาข้อสรุปแนวทางการช่วยเหลือประชาชนหลังคณะรัฐมนตรีมีมติประกาศลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 3 บาทต่อลิตร พร้อมวอนให้สถานีบริการน้ำมันบริหารจัดการให้มีน้ำมันเพียงพอกับการให้บริการกับประชาชน ขอให้ยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก

วันนี้ (15 กุมภาพันธ์ 2565) นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่าหลังจากการหารือภายในกระทรวงพลังงานเพื่อการกำหนดแนวทางการบริหารราคาเพื่อช่วยเหลือประชาชน ภายหลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ได้มีมติประกาศลดการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 3 บาท/ลิตร โดยกระทรวงพลังงานจะเร่งจัดประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อหาแนวทางในการบริหารราคาให้มีความเหมาะสมและสามารถช่วยเหลือประชาชนในการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ให้ได้ถึง 31 พฤษภาคม 2565 เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีข้อเสนอแนะว่าการลดภาษี 3 บาทต่อลิตร จะมีส่วนหนึ่งที่จะนำมาลดภาระค่าน้ำมันให้กับประชาชนในทันที และอีกส่วนหนึ่งจะนำมาเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อให้สามารถดูแลราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร ได้ต่อเนื่องนานยิ่งขึ้น ซึ่งจำนวนของแต่ละส่วนนั้นทาง กบน. จะมีการพิจารณาต่อไป

ส่วนสถานะกองทุนน้ำมันเพลิง (ณ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565) ติดลบอยู่ที่กว่า 18,000 ล้านบาท ดังนั้น การบริหารจัดการส่วนลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันในครั้งนี้ กบน. จะพิจารณาดำเนินการอย่างรอบคอบและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อรองรับสถานการณ์หากราคาในตลาดโลกขยับขึ้นไปอีก ให้สามารถตรึงราคาที่ 30 บาท/ลิตรได้ถึง 31 พฤษภาคม 2565

ทั้งนี้ เนื่องจากมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 3 บาทต่อลิตรเพื่อช่วยเหลือประชาชนในครั้งนี้
จะไม่ได้มีผลทันทีหลังจากมีมติจากคณะรัฐมนตรี อาจจะทำให้เกิดส่วนต่างราคาน้ำมันในช่วงก่อนวันที่จะมีการปรับลดจริง ที่ประชุมได้มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงานขอความร่วมมือกับผู้ค้ามาตรา 7 บริหารจัดการให้มีปริมาณน้ำมันเพียงพอกับการให้บริการกับประชาชนผู้ใช้บริการ โดยขอให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนในยามเกิดสถานการณ์วิกฤตด้านพลังงานในช่วงนี้เป็นหลัก

“จากการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติประกาศลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 3 บาทต่อลิตรในวันนี้ กระทรวงพลังงานจะเร่งจัดประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อประชุมหาแนวทางในการบริหารจัดการราคาน้ำมันให้ลดภาระต่อประชาชนในทันที และสามารถตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาท/ลิตร ได้อย่างต่อเนื่อง และขอวอนให้สถานีบริการน้ำมันทุกแห่งทั่วประเทศบริหารจัดการปริมาณน้ำมันให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน รวมทั้งขอให้ประชาชนเข้าใจในสถานการณ์พลังงาน ณ ปัจจุบัน ซึ่งวิกฤตพลังงานนี้เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศเช่นกัน” นายสมภพ กล่าว

กระทรวงพลังงานติดตามสถานการณ์ราคา LPG อย่างใกล้ชิดยันการปรับขึ้นราคาจะคำนึงถึงบริบทแวดล้อมด้านค่าครองชีพ

กระทรวงพลังงานติดตามสถานการณ์ราคา LPG อย่างใกล้ชิดยันการปรับขึ้นราคาจะคำนึงถึงบริบทแวดล้อมด้านค่าครองชีพ และปรับขึ้นราคาเป็นทางเลือกสุดท้าย
      กระทรวงพลังงานมอบหมายให้หน่วยงานติดตามสถานการณ์ราคา LPG อย่างใกล้หลังราคาตลาดโลกยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมวางมาตรการช่วยเหลือให้เป็นไปตามสถานการณ์โดยจะยังคงมาตรการอุดหนุนไปจนถึง 31 มีนาคม 65 ยืนยัน การปรับราคาขึ้นแบบบันไดจะเป็นทางเลือกสุดท้ายในกรณีที่ราคายังคงสูงขึ้นไม่หยุด
      วันนี้ (8 กุมภาพันธ์ 2565) นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากการที่ราคาก๊าซหุงต้มหรือ LPG ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่กระทรวงพลังงานก็ได้ใช้กลไกเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปช่วยเหลือโดยการอุดหนุนราคาขายให้อยู่ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม (ไม่รวมค่าขนส่งและค่าบริการของแต่ละร้านค้า) โดยเริ่มอุดหนุนตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อต้นทุนร้านอาหารและค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งหากไม่มีการช่วยเหลือ ณ ปัจจุบัน ราคาขายที่แท้จริงจะสูงถึง 434 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ทั้งนี้ โครงสร้างราคา LPG ของไทยจะอ้างอิงตามการปรับขึ้นลงตามราคาตลาดโลกในส่วนของราคา
ณ โรงกลั่น โดยกำหนดให้เปลี่ยนแปลงทุก 2 สัปดาห์ เพื่อลดความผันผวน โดยมีสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
     “ด้วยสถานะเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เป็นกลไกสำคัญในการเข้าไปอุดหนุนราคาเพื่อลดผลกระทบให้กับประชาชนอยู่ในภาวะติดลบค่อนข้างมาก ทำให้มีแนวโน้มว่าต้องมีการปรับขึ้นราคา แต่อย่างไรก็ตาม ปลัดกระทรวงพลังงานก็ได้ชี้แจงในการแถลงข่าวเมื่อวานแล้วว่า ก่อนถึงช่วงเวลาดังกล่าว กระทรวงพลังงานจะต้องพิจารณาถึงบริบทแวดล้อมด้านค่าครองชีพในขณะนั้น หากมีสถานการณ์ที่ภาพรวมราคาสินค้าและบริการในช่วงดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้น ก็จะมีการพิจารณาความเหมาะสมต่อไป อย่างเช่นสถานการณ์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา กบง. ก็ได้มีมติขยายการตรึงราคาที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม (ไม่รวมค่าขนส่ง) ซึ่งเดิมสิ้น 31 มกราคม 2565 ก็ได้ขยายถึง 31 มีนาคม 2565 รวมทั้งได้ขอความอนุเคราะห์ทางบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ขยายระยะเวลาการช่วยเหลือกลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร โดยให้ส่วนลดค่าก๊าซ LPG ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไปจนถึง 31 มีนาคม 2565 เช่นกัน” โฆษกกระทรวงพลังงานกล่าว

รองปลัดกระทรวงพลังงาน รับหนังสือจากประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ที่ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้กระทรวงพลังงานลดราคาน้ำมันดีเซล

กระทรวงพลังงานเข้าใจความเดือดร้อนทุกฝ่าย ใช้มาตรการช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่อง วอนเข้าใจสถานการณ์ราคาตลาดโลก
กระทรวงพลังงานเข้าใจความเดือดร้อนของกลุ่มผู้ใช้รถบรรทุก คนขับแท๊กซี่ และประชาชนผู้ใช้รถยนต์ที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ย้ำ ตั้งแต่ปลายปี 2564 ที่ผ่านมา ได้มีการอุดหนุนราคาน้ำมันมาโดยตลอด โดยใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจนปัจจุบันติดลบกว่า 3 หมื่นล้านบาทแล้ว วอนขอให้เข้าใจสถานการณ์ ซึ่งกระทรวงพลังงานจะใช้ทุกมาตรการที่มีช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับผลกระทบให้น้อยที่สุด
วันนี้ (8 กุมภาพันธ์ 2565) นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน ได้รับหนังสือจากนายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ที่ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้กระทรวงพลังงานลดราคาน้ำมันดีเซลให้เหลือลิตรละ 25 บาทเป็นเวลา 1 ปี เนื่องจากที่ผ่านมาได้รับความเดือดร้อนจากราคาน้ำมันดีเซลที่เพิ่มสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อต้นทุนในการขนส่ง โดยทางสหพันธ์ฯ ขอให้ลดการเก็บภาษีสรรพสามิต ลดค่าการตลาด และหยุดผสมไบโอดีเซลในน้ำม้นดีเซลชั่วคราวเนื่องจากราคาไบโอดีเซลมีราคาสูง ส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลมีราคาสูงตามไปด้วย
​ ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานขอชี้แจงว่า ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดจากเศรษฐกิจในหลายประเทศเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด ทำให้ในหลายๆ ประเทศ มีการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจาก supply มีไม่เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น นอกจากนั้น เกิดความตึงเครียดทางการเมืองในหลายพื้นที่ในโลกที่หนุนให้ราคาน้ำมันขยับขึ้นอีก รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนที่ค่าเงินบาทอ่อนตัวลง ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา และอีกสาเหตุสำคัญคือ ประเทศไทยเป็นประเทศนำเข้าน้ำมันดิบกว่า 80-90 % ของความต้องการ ทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในไทยจึงขึ้นลงสอดคลัองกับราคาตลาดโลก
​ “ต้องยอมรับว่า ขณะนี้ ประเทศไทยเจอหลายสถานการณ์เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน จึงทำให้การแก้ไขสถานการณ์เป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงาน ก็ได้ดำเนินหลายมาตรการในการช่วยเหลือประชาชน ทั้งลดค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว กระทรวงพลังงาน ก็ได้ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร มีการขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันให้ลดค่าการตลาด มีการปรับลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบัน
มีการปรับสัดส่วนผสมไบโอดีเซลในน้ำมัน B7 B10 และ B20 ให้เหลือขั้นต่ำร้อยละ 5 โดยปริมาตร หรือเหลือน้ำมันดีเซลเกรดเดียวคือ B5 และก็ยังได้เตรียมมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาวสำหรับการปรับสัดส่วนผสมไบโอดีเซลให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ดังนั้น ขอให้ประชาชนเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่กระทรวงพลังงานก็ขอยืนยันว่าจะดำเนินมาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง และจะยังคงเตรียมหามาตรการอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับผลกระทบให้น้อยที่สุด”รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าว

ปลัดกระทรวงพลังงานและผู้บริหารระดับสูง แถลงข่าวชี้แจงสถานการณ์พลังงาน

กระทรวงพลังงานจับตาสถานการณ์พลังงานโลก
เตรียมพร้อมทุกมาตรการลดผลกระทบ และสร้างความมั่นคงทางพลังงาน
กระทรวงพลังงานติดตามสถานการณ์พลังงานอย่างใกล้ชิด
หลังราคาพลังงานโลกทุกชนิดปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นต่อไปอีก พร้อมสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมพร้อมมาตรการเพื่อลดผลกระทบด้านราคาแก่ประชาชน รวมทั้งการวางแผนรับมือจัดหาเชื้อเพลิงในช่วงเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานแหล่งก๊าซธรรมชาติช่วงเดือนเมษายนนี้ให้ดีที่สุด มั่นใจว่าจะก้าวผ่านสถานการณ์นี้ได้
วันนี้ (7 กุมภาพันธ์ 2565) นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน ประกอบด้วย นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และนายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษก กระทรวงพลังงาน ได้ร่วมกันแถลงสถานการณ์พลังงานที่จะเกิดขึ้นในปี 2565 โดยเฉพาะสถานการณ์ด้านราคาที่มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2564 ที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน เพื่อเตรียมแผนรับมือ และกำหนดมาตรการลดผลกระทบต่างๆให้ดีที่สุด
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เผยว่า “ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์ในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะด้านราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรมธุรกิจพลังงาน และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในการร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนและเป็นรูปธรรม ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ใช้มาตรการต่างๆอย่างเต็มที่ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน และในปีนี้มีสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานของแหล่ง ก๊าซธรรมชาติ แปลง G1/61 หรือแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายนนี้ด้วย ทั้งนี้ กระทรวงได้ตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงานภายใต้ กบง. ติดตามและกำกับการดำเนินการ โดยยึดหลักการรักษาความมั่นคงในการจัดหาและคำนึงถึงผลกระทบค่าไฟฟ้าที่จะมีต่อประชาชนให้น้อยที่สุด คณะอนุกรรมการฯ ได้มอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เร่งจัดหาเชื้อเพลิงและบริหารจัดการตามแผนที่กำหนด โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมในการดำเนินการแต่ละมาตรการให้เป็นไปตาม Merit Order รวมถึงพิจารณาแผนการนำเข้า LNG และการจัดสรรตาม ความเหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบกับค่าไฟฟ้าและสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการและประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไปว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับอย่างแน่นอน”
ด้านนายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน เผยว่า “ราคาน้ำมันโลก ได้แรงหนุนจากหลายปัจจัย ทั้งการคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้นหลังจากโควิดคลี่คลาย และปริมาณการผลิตที่ยังคงออกสู่ตลาดอย่างจำกัด มีการคาดการณ์ว่าการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ Omicron จะคลี่คลายในครึ่งปีแรกของปีนี้ โดยรายงานฉบับเดือน ม.ค. 65 ของ OPEC คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันโลกปี 2564 เพิ่มขึ้น 5.65 ล้านบาร์เรลต่อวันจากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 96.63 ล้านบาร์เรลต่อวัน และปี 2565 เพิ่มขึ้น 4.16 ล้านบาร์เรลต่อวันจากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 100.79 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นตัวเลขความต้องการที่สูงขึ้นมาก และมีผลต่อราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก
ส่วนมาตรการปรับลดสัดส่วนผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ปรับเป็น B5 ที่มีผลมาตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมาไปจนถึง 31 มีนาคม 2565 นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เผยว่า “กรมธุรกิจพลังงานในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการพิจารณาสัดส่วนการผสม ไบโอดีเซล (บี100) ในภาวะวิกฤติด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ เสนอ กบง. พิจารณาให้ความเห็นชอบแนวทางการปรับสูตรการผสมเชื้อเพลิงชีวภาพในน้ำมันเชื้อเพลิงในภาวะปกติ เป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น (พ.ศ. 2565 ถึง 2566) ได้กำหนดให้มีน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว 2 เกรด คือ น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 7 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 สำหรับใช้กับรถบรรทุกขนาดใหญ่ และระยะยาว (พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป) ได้กำหนดเหลือน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 7 เพียงเกรดเดียว
ซึ่งมาตรการดังกล่าวกระทรวงพลังงานได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านราคาโดยคำนึงถึงทุกฝ่าย ไม่ว่าจะทั้งผู้ใช้รถยนต์ดีเซลและเกษตรกรชวนสวนปาล์ม นอกจากนั้น เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีเวลาในการบริหารจัดการและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงการใช้เชื้อเพลิงในรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV ซึ่งจะกระทบกับการใช้น้ำมัน คณะอนุกรรมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ภายใต้คณะกรรมการปาล์มน้ำมัน ได้เริ่มส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบ เช่น ผลิตภัณฑ์หล่อลื่น น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ ผงซักฟอกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม น้ำมันหล่อลื่นและจาระบีชีวภาพ รวมทั้งกรีนดีเซล และ BioJet ที่จะสามารถรองรับปริมาณน้ำมันปาล์มได้ในอนาคต
ด้านนายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยเกี่ยวกับการดำเนินงานช่วงเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานของแปลง G1/61 หรือแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตว่า “กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ประสานการเจรจาระหว่างบริษัทผู้รับสัมปทานรายเดิม (บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด) และผู้รับสัญญารายใหม่ (บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด หรือ ปตท.สผ. อีดี) ซึ่งที่ผ่านมา ทั้ง 2 บริษัท ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือต่างๆ ในช่วงเปลี่ยนผ่านของแหล่งก๊าซธรรมชาติกลุ่มเอราวัณ ซึ่งจะทำให้การดำเนินการตามสัญญาแบ่งปันผลผลิตในแปลง G1/61 เดินหน้าต่อไป โดยหลังจากนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะได้เร่งผลักดันให้บริษัท ปตท.สผ. อีดี วางแผนบริหารจัดการ และเตรียมการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง และได้ปริมาณตามเงื่อนไขในการประมูลโดยเร็วที่สุด ซึ่งมั่นใจได้ว่าการเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานในช่วงเดือนเมษายนนี้ กรมฯ จะสามารถบริหารจัดการเชื้อเพลิงด้วยการประสานกับผู้รับสัมปทานรายอื่น ๆ ให้เตรียมความพร้อมให้
ผลิตก๊าซธรรมชาติได้เต็มความสามารถตามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ และเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่นๆ มาทดแทน
สำหรับแผนการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนในปี 2565 นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดี
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เผยว่า “การดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากในระยะต่อไป กระทรวงพลังงาน ได้ร่วมมือกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อกำหนดปริมาณ และ Zoning ให้สอดคล้องกับศักยภาพ เป้าหมาย และนโยบายการจัดสรรพื้นที่ทางการเกษตร โดยกำหนดพื้นที่เหมาะสมเพื่อปลูกพืชพลังงาน และกำหนดพื้นที่ที่มีความต้องการไฟฟ้า(ไฟตก/ไฟดับ/เสริมความมั่นคง) เพื่อลดการสูญเสียในระบบส่ง และไม่เป็นภาระกับระบบโครงข่ายพลังงาน และ ได้ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการเพิ่มมูลค่าพืชพลังงาน โดยจะหาแนวทางการนำผลผลิตของการปลูกพืชพลังงานไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนแผนการดำเนินงานโรงไฟฟ้าชุมชนฯ ในเฟสที่สอง 400 เมกะวัตต์ ในปี 2565 ดังนี้ (1) วิเคราะห์ประเมินผลโครงการนำร่อง (2) วิเคราะห์ความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการขยายผลในระยะที่ 2 (3) กำหนดรูปแบบเป้าหมายการดำเนินโครงการ ได้แก่ กำหนดพื้นที่ จัดหาเทคโนโลยี ส่งเสริมการแปรรูปจัดเตรียมเชื้อเพลิง การสร้างรายได้จากการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ประเมินต้นทุน กำหนดราคารับซื้อเชื้อเพลิง (4) กำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าและโมเดลทางธุรกิจที่เหมาะสม”
“แม้ว่าสถานการณ์ด้านราคาพลังงานจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ซึ่งสถานการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย ผมขอเน้นย้ำว่า ประเทศไทยเป็นประเทศนำเข้าน้ำมัน ไม่ได้มีแหล่งน้ำมันมากมายตามมี
ปรากฎหรือมีการส่งต่อในสื่อโซเชียล ซึ่งการที่ประเทศไทยเป็นประเทศนำเข้าน้ำมัน ทำให้การขึ้นลงของราคา
จะเป็นไปตามราคาตลาดโลกจริงๆ ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานมีการประชุมติดตามสถานการณ์ทุกสัปดาห์
เพื่อเตรียมมาตรการต่างๆ มารองรับและบรรเทาผลกระทบ ซึ่งที่ผ่านมา ก็ได้อาศัยกลไกเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการชดเชยราคาน้ำมันดีเซล เพื่อไม่ให้กระทบกับประชาชนทุกภาคส่วนเนื่องจากน้ำมันดีเซลเป็น
องค์ประกอบหนึ่งในต้นทุนสินค้าและบริการ ส่วนประเด็นเรื่องการจัดหาก๊าซธรรมชาติและการนำเข้า LNG เพื่อนำมาทดแทนก๊าซธรรมชาติที่หายไปในช่วงเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทาน กระทรวงพลังงานให้ได้ความสำคัญในการจัดลำดับหรือ Merit order ในการเลือกใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้า LNG Spot การใช้น้ำมันทดแทน การรับซื้อไฟฟ้า หรือการเลื่อนแผนปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เพื่อให้เชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิต
ไฟฟ้ามีราคาที่ต่ำที่สุด เพื่อดูแลค่า Ft ให้ดีที่สุด อย่างไรก็ดี ในช่วงสถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นวิกฤตพลังงานของโลก ซึ่งราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นทุก 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลจะส่งผลต่อราคาน้ำมันขายปลีก 20 สตางค์ต่อลิตร ขอให้ทุกภาคส่วนใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ” ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าวในท้ายที่สุด

นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตเป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ ITA

วันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565  ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) จัดประชุมเตรียมความพร้อมในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ(Integrity and Transparency Assessment : ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ครั้งที่ 2/2565 ผ่านระบบ Video Conference

โดยมี รองปลัดกระทรวงพลังงาน นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตเป็นประธานการประชุม
เพื่อชี้แจงหลักการประเมิน ITAและพิจารณาตัวชี้วัดทั้ง 3 ประเภท คือ
แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน (Internal Intergrity and Tranparency Assessment : IIT)
แบบวัดการรับรู้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (External Integrity and Transparency Assessment : EIT)
และแบบวัดการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ (Open Data Integrity and Transparency Assessment : OIT)

รวมทั้งการพิจารณาองค์ประกอบของข้อมูลตัวชี้วัดเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประเมิน ITA ในปีงบประมาณพ.ศ. 2565
เพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุงพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน การให้บริการที่สามารถอำนวยความสะดวก
และตอบสนองต่อประชาชนให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการจริยธรรมประจำสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจริยธรรมประจำสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน ครั้งที่ 1/2565

เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการจริยธรรมประจำสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจริยธรรมประจำสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน ครั้งที่ 1/2565
ผ่านทางระบบ Video Conference ร่วมกับคณะกรรมการฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก

โดยการประชุมดังกล่าวได้หารือในเรื่องเกี่ยวกับแนวทางการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดําเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
การแต่งตั้งคณะกรรมการจริยธรรมประจำหน่วยงานในรูปแบบออนไลน์ตามระเบียบของสำนักงาน ก.พ. การดำเนินการบริหารจัดการความเสี่ยงเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมของหน่วยงาน
และการติดตามความคืบหน้าของคณะทำงานด้านจริยธรรมที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการฯ

 

ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน ถวายแจกันดอกไม้เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ และร่วมลงนามถวาย พระพร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2565

วันนี้ (1 ม.ค. 65) นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน ถวายแจกันดอกไม้เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ และร่วมลงนามถวาย พระพร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2565 ณ ศาลาสหทัยสมาคม ภายในพระบรมมหาราชวัง

“แนวทางการประเมินความเสี่ยงการทุจริตและแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมของหน่วยงาน”

วันที่ 3 ธันวาคม 2564 นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน/หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต ได้เป็นประธานการสัมมนา “แนวทางการประเมินความเสี่ยงการทุจริตและแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมของหน่วยงาน”

ผ่านทางระบบ Video Conference ร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความสำคัญของการประเมินความเสี่ยงการทุจริตและแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม

ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายศักดิ์ชัย จันทร์แสงวัฒนา ผู้อำนวยการสำนักการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ป.ป.ช. และ นางฉวีวรรณ นิลวงศ์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผน กลุ่มงานเชี่ยวชาญเฉพาะ ป.ป.ท. ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายในการสัมมนาครั้งนี้

กระทรวงพลังงาน ปรับสูตรน้ำมันดีเซลชนิดเดียว นาน 4 เดือน

1 ธ.ค. 64 “พลังงาน” ปรับสูตรน้ำมันดีเซลชนิดเดียว นาน 4 เดือน

กระทรวงพลังงาน เดินหน้าออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนลดผลกระทบช่วงราคาน้ำมันผันผวน ปรับสัดส่วนการผสมน้ำมันไบโอดีเซลเป็นร้อยละ 7 เป็นระยะเวลา 4 เดือน เริ่ม 1 ธ.ค. นี้เป็นต้นไป ชี้ จะทำให้ราคาช่วงนี้ลดลงเหลือประมาณ 28 บาทต่อลิตร ย้ำ ยังคงมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร พร้อมจับตาสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกอย่างใกล้ชิด หากยังมีการปรับตัวสูงขึ้นพร้อมเตรียมแผนรองรับทันที
นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน ได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอย่างใกล้ชิด ล่าสุดแม้แนวโน้มราคาเริ่มปรับตัวลดลง แต่ยังคงมีความผันผวนและทรงตัวในระดับสูง ดังนั้น เพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชน และการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง. เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ได้มีมติให้ปรับลดสัดส่วนการผสมน้ำมันไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ B20 B10 และ B7 ให้มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 7 เป็นระยะเวลา 4 เดือน (ส่วนดีเซลพรีเมียมยังคงมีจำหน่ายเช่นเดิม) โดยจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 64 เป็นต้นไป ซึ่งในการปรับลดสัดส่วนการผสมน้ำมันไบโอดีเซลดังกล่าว จะส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลสามารถปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 28 บาทต่อลิตร
“ขอย้ำเรื่องการเติมน้ำมันดีเซลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 ประชาชนสามารถใช้บริการที่ตู้หัวจ่ายได้ทั้งดีเซล B7 ดีเซลธรรมดา หรือ B10 และดีเซล B20 ซึ่งกระทรวงพลังงาน ได้พยายามอย่างต่อเนื่องที่จะทำให้ราคาอยู่ในระดับต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนในภาพรวม และพยุงเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าอย่าง ไม่สะดุด ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเติมน้ำมันดีเซลที่สถานีบริการสามารถสอบถามได้ที่ กรมธุรกิจพลังงาน โทร 08 6609 8154” นายสมภพ กล่าว

มติ กบน. เคาะกู้เงินเตรียมเสริมสภาพคล่องเงินกองทุนฯ ตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาท ลดผลกระทบประชาชน

     ที่ประชุม กบน. เห็นชอบ ร่างหลักเกณฑ์กู้ยืมเงินเสริมสภาพคล่องเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เดินหน้าตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร เตรียมพร้อมนำเสนอ ครม. เห็นชอบ พร้อมแจง กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ไม่เคยนำส่งเงินเข้ารัฐ กว่า 2 หมื่นล้านบาทตามที่เป็นข่าว ยืนยันการใช้เงินกองทุนฯ ที่ผ่านมาเป็นไปตามวัตถุประสงค์และข้อกฎหมาย นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ครั้งที่ 9/2564 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบเนื้อหาและสาระสำคัญร่างหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินตามที่สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนำเสนอ เพื่อเตรียมพร้อมสภาพคล่องในการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร เพื่อลดผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชนในช่วงที่สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มผันผวนต่อเนื่อง ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายพลังงานเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปจัดทำหลักเกณฑ์การกู้เงินตามกรอบของ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งหลังจากนี้จะมีการนำเสนอร่างหลักเกณฑ์การกู้เงินดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป
     นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงพลังงาน ยังได้กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าที่ผ่านมาได้มีการโอนเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ไปเป็นรายได้ให้กับรัฐบาลกว่า 20,000 ล้านบาทนั้น ได้ตรวจสอบกับสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว พบว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ตั้งแต่ตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมายังไม่เคยนำเงินกองทุนฯ เข้านำส่งเป็นรายได้กระทรวงการคลัง พร้อมยืนยันว่าการบริหารเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องเป็นไปตามกฎหมายและวัตถุประสงค์ของกองทุนฯอย่างเคร่งครัด โดยในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งการดำเนินงานให้อยู่ภายใต้กรอบนโยบายการบริหารกองทุนฯ ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติกำหนดเท่านั้น
     “ การเตรียมกู้เงินในครั้งนี้ ก็เพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 30 บาทเนื่องจากน้ำมันดีเซล เป็นพื้นฐานของการดำเนินธุรกิจหากปล่อยให้มีราคาสูงเกินไปจะกระทบต่อผู้ประกอบการ ค่าขนส่ง ค่าสินค้าและบริการต่างๆ ซึ่งกระทรวงพลังงานจะควบคุมการใช้เงินกู้อย่างเข้มงวด และเป็นไปตามข้อกฎหมาย ส่วนที่มีข่าวการโอนเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงส่งเป็นรายได้ให้รัฐบาลนั้น สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงขอยืนยันว่า ไม่มีการโอนเงินตามที่มีการนำเสนอข่าวแต่อย่างใด โดยการใช้เงินกองทุนฯ ที่ผ่านมาเป็นไปตามข้อกฎหมายและวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ และเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน บรรเทาภาระค่าครองชีพประชาชน อย่างเช่น การตรึงราคาน้ำมันดีเซล 30 บาทต่อลิตรในขณะนี้ และการอุดหนุนราคาก๊าซ LPG ครัวเรือนตลอดทั้งปี 2564 เพื่อบรรเทาผลกระทบประชาชนจากสถานการณ์โควิด-19” โฆษกกระทรวงพลังงานกล่าว

นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว เป็นประธานในการประชุมเตรียมความพร้อมในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ ITA

วันที่ 15 ตุลาคม 2564 นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (หน.ศปท.) เป็นประธานในการประชุมเตรียมความพร้อมในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

ผ่านระบบ Video Conference ร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงถึงผลการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ในประเด็นการวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้เสียภายใน (Internal Integrity and Transparency Assessment: IIT) การวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้เสียภายนอก (External Integrity and Transparency Assessment: EIT) และการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ (Open Data Integrity and Transparency Assessment: OIT) เพื่อให้หน่วยงานสามารถดำเนินการประเมินตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดได้อย่างถูกต้องครบถ้วน และสามารถพัฒนาคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ พร้อมหาแนวทางปรับปรุงพัฒนา รายละเอียดเนื้อหาและขั้นตอนการประเมิน ITA ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ปลัดกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมพิธีวางพวงมาลาเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร

วันนี้ (13 ต.ค. 64) นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมพิธีวางพวงมาลาและยืนสงบนิ่งเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นเวลา 89 วินาที เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร 13 ตุลาคม 2564 ณ บริเวณ lobby อาคารบี ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์

กระทรวงพลังงาน ดีเดย์ “ดีเซลตุลา ราคาเดียว ช่วยประชาชน”

“พลังงาน” ดีเดย์ “ดีเซลตุลา ราคาเดียว ช่วยประชาชน” เริ่ม 11 ต.ค. นี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบประชาชนช่วงราคาน้ำมันทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น

กระทรวงพลังงาน โดยกรมธุรกิจพลังงาน ประกาศปรับส่วนผสมขั้นต่ำของไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซล B7 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (B10) ทั้ง 2 ชนิดให้เหลือร้อยละ 6 และกำหนดให้เป็นน้ำมันดีเซลมาตรฐานชั่วคราว
พร้อมปรับลดให้เหลือราคาเดียวกัน เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบประชาชน มีผลตั้งแต่วันที่ 11 – 31 ตุลาคม 2564 เน้นย้ำประชาชนสามารถเติมดีเซลได้ทุกหัวจ่ายตามที่เคยเติม และพร้อมจับตาสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกอย่างใกล้ชิด หากยังมีการปรับตัวสูงขึ้นพร้อมเตรียมแผนรองรับทันที

นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตามที่ มติ กบง. เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 ได้ออกมาตรการชั่วคราวระยะสั้นปรับสัดส่วนผสมขั้นต่ำของไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซล B7 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (B10) ลดลงเหลือร้อยละ 6 และกำหนดให้เป็นน้ำมันดีเซลมาตรฐานชั่วคราว เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่ปรับตัวสูงขึ้นซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลก โดยมาตรการดังกล่าวจะช่วยให้ราคาน้ำมันดีเซลลดลงอยู่ในระดับไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยเบื้องต้นมาตรการดังกล่าว จะมีผลตั้งแต่วันที่ 11 – 31 ตุลาคม 2564 และประชาชนผู้ใช้น้ำมันดีเซล สามารถใช้บริการได้ทั้งจากหัวจ่ายน้ำมันดีเซล B7 และหัวจ่ายของน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (B10) ได้ตามปกติ และสามารถใช้ได้กับรถยนต์ดีเซลทุกรุ่นทุกยี่ห้อ

“ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกในขณะนี้ ยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากหลายปัจจัย
ทั้งเศรษฐกิจทั่วโลกที่เริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 การเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวของซีกโลกตะวันตก และผลกระทบต่อเนื่องจากพายุในสหรัฐอเมริกาที่ทำให้การผลิตน้ำมันต้องหยุดชะงัก รวมทั้งการจำกัดการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC ซึ่งทั้งหมดไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในประเทศไทยเท่านั้น ยังส่งผลให้ทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น แต่ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า กระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานอย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมมาตรการระยะยาวรับมืออย่างทันท่วงทีต่อสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนอย่างอย่างดีที่สุด และขอเน้นย้ำเรื่องการเติมน้ำมันดีเซล ประชาชนสามารถใช้บริการที่ตู้หัวจ่ายได้ทั้งดีเซล B7 และดีเซลธรรมดา (B10) เพราะทางสถานีบริการจะปรับเป็นน้ำมันดีเซล มาตรฐานเดียวกันชั่วคราว และสามารถใช้ได้กับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลทุกรุ่นทุกยี่ห้อ โดยจะเริ่มในวันที่ 11 – 31 ตุลาคม 2564 นี้ ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่กรมธุรกิจพลังงาน โทร 08 6609 8154” โฆษกกระทรวงพลังงานกล่าว

นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (หน.ศปท.) เป็นประธานในการประชุมสรุปผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ (ITA)

วันที่ 29 กันยายน 2564 นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (หน.ศปท.) เป็นประธานในการประชุมสรุปผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และเตรียมความพร้อมในการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ผ่านระบบ Video Conference (เพิ่มเติม…)

ปลัดกระทรวงพลังงาน นำคณะผู้บริหาร ร่วมเชิญธงชาติเนื่องในวันพระราชทานธงชาติไทย (Thai National Flag Day)

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน นำคณะผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน ร่วมเชิญธงชาติ ในวันอังคารที่ 28 กันยายน 64 เวลา 08:00น. ซึ่งเป็นวันพระราชทานธงชาติไทย (Thai National Flag Day) ณ บริเวณ ลานเสาธง กระทรวงพลังงาน
ด้วยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559 เห็นชอบกำหนดให้วันที่ 28 กันยายน ของทุกปีเป็นวันพระราชทานธงชาติไทย (Thai National Flag Day) เริ่มในวันที่ 28 กันยายน 2560 เป็นวันแรก โดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ รวมทั้งกำหนดให้มีการชักและประดับธงชาติไทยในวันดังกล่าว ในการนี้ ปลัดกระทรวงพลังงาน ผู้บริหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน จึงร่วมกันเคารพธงชาติและร้องเพลงชาติไทย เพื่อเป็นการสร้างความภาคภูมิใจของคนในชาติ และเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุญาธิคุณพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย
ทั้งนี้ ให้ดำเนินการตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

 กระทรวงพลังงาน คาดการณ์สถานการณ์การใช้และราคาพลังงาน แนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว

“พลังงาน” คาดการณ์สถานการณ์การใช้และราคาพลังงาน แนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว

กระทรวงพลังงาน เผย แนวโน้มการใช้และราคาพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้น สาเหตุมาจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว รวมทั้งภูมิภาคตะวันตกเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว ทำให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น พร้อมเตรียมใช้กลไกกองทุนน้ำมันรักษาเสถียรภาพหากกรณีราคาผันผวนหนัก เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชนผู้บริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ

นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ สถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดจาก 2 ปัจจัยสำคัญ คือ การคลี่คลายของสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัว กอปรกับประเทศในแถบภูมิภาคตะวันตกกำลังจะเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานมีการปรับตัวเพิ่มมากขึ้น​
โดยทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) และ กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 100 ล้านบาร์เรล/วัน ภายในไตรมาส 2 ของปีหน้า ซึ่งเป็นระดับเดียวกับปี 62 ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ หลังการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกจะเริ่มปรับตัวสูงขึ้น โดยคาดว่าความต้องการใช้จะเพิ่มขึ้นราว 1.6 ล้านบาร์เรล/วัน ในเดือน ตุลาคม 2564 และจะเติบโตอย่างต่อเนื่องหลังจากนี้ รวมถึงราคาพลังงานและเชื้อเพลิงในทวีปยุโรปที่พุ่งสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณก๊าซคงคลังอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งอุปทานจากรัสเซียที่ลดลงต่ำกว่าปกติ เนื่องจากอุปสงค์ทางฝั่งเอเชีย ที่เพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา การผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบจากพายุเฮอร์ริเคนไอดาและ นิโคลัส ทำให้การผลิตหายไปกว่าราว 26 ล้านบาร์เรล ซึ่งส่งผลให้ราคายืนในระดับสูงในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน ได้ติดตามสถานการณ์ราคาอย่างใกล้ชิด และมีการเตรียมพร้อมในการใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงใน การบริหารจัดการราคาพลังงานเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งที่ผ่านมา กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ได้ให้ การช่วยเหลือราคา LPG โดยตรึงราคาขายปลีกสำหรับถังขนาด 15 กิโลกรัมอยู่ที่ 318 บาทต่อถัง (ไม่รวมค่าขนส่ง) ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา และล่าสุดคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 20 กันยายน ที่ผ่านมาให้คงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มข้างต้นออกไปอีก 3 เดือน คือ ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2564 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2564 โฆษกกระทรวงพลังงาน ระบุต่อว่า ในส่วนของสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพโดยเฉพาะไบโอดีเซลราคาน้ำมัน B 100 ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยราคาอ้างอิงเฉลี่ย ระหว่างวันที่ 20 – 26 กันยายน 2564 อยู่ที่ 40.47 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.53 บาทต่อลิตร จากราคาวัตถุดิบในประเทศปรับตัวสูงขึ้น และผลผลิตปาล์มน้ำมันของประเทศไทยเริ่มน้อยลง โดยราคาผลปาล์มน้ำมัน ณ วันที่ 13 – 17 ก.ย. 64 เฉลี่ยอยู่ที่ 6.70 – 8.10 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

“ต้องยอมรับว่าราคาพลังงานอยู่ในช่วงขาขึ้น และยังมีความผันผวน ซึ่ง กระทรวงพลังงาน ได้มีการติดตามเฝ้าระวัง รวมถึงการดูแลสถานการณ์ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเตรียมพร้อมกลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการรักษาเสถียรภาพราคาพลังงานให้อยู่ในราคาที่เหมาะสม และในอีกบทบาทหนึ่งของกองทุนน้ำมันฯ คือ การสนับสนุนเชื้อเพลิงชีวภาพ จะช่วยสร้างเสถียรภาพราคาผลผลิตทางการเกษตร สร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ นอกจากนั้น การนำเอทานอลและไบโอดีเซลมาผสมในน้ำมันยังช่วยลดการนำเข้า สร้างอุตสาหกรรมต่อเนื่องให้เกิดขึ้นในประเทศ และยังสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ซึ่งปัจจุบัน ราคาน้ำมันดีเซล (B10) กระทรวงพลังงานก็มีมาตรการสนับสนุนทำให้ราคาถูกกว่าน้ำมัน B7 ถึงลิตรละ 3 บาทอีกด้วย ส่วนสถานการณ์โควิดขณะนี้ กระทรวงพลังงาน โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ยังคงให้การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของโรงพยาบาลสนาม การบริจาคอุปกรณ์หรือเครื่องมือแพทย์ที่จำเป็น รวมทั้งการสนับสนุนหาเตียงและส่งต่อผู้ติดเชื้อ ซึ่งหน่วยงานจะยังคงดำเนินการต่อไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย” โฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าว

หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน ร่วมเสวนาในงาน APEC Symposium on the Holistic Approach of Decarbonization towards Carbon Neutrality

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงานได้รับเชิญเข้าร่วมเสวนาในงาน APEC Symposium on the Holistic Approach of Decarbonization towards Carbon Neutrality ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 – 31 สิงหาคม 2564 โดยศูนย์วิจัยพลังงานเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Energy Research Center: APERC) และได้ร่วมเวทีเสวนาในประเด็น “การสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในยุคของการก้าวเข้าสู่เป้าหมายคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Carbon Neutrality” โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจสำหรับอาเซียนและเอเชียตะวันออกหรือ ERIA กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมประเทศญี่ปุ่น และผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานจากสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค

ผู้เข้าร่วมเสวนาได้แสดงทรรศนะเกี่ยวกับแนวทาง นโยบาย และมาตรการที่จะช่วยให้ประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (NET ZERO) โดยยังคงรักษาความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศมีพลังงานเพียงพอสำหรับความต้องการของทุกภาคส่วนไปพร้อมๆ กับการปรับเปลี่ยนตลาดพลังงานจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลให้เป็นเชื้อเพลิงสะอาดในอนาคต ทั้งนี้ ดร.ทวารัฐได้ให้ความเห็นต่อที่ประชุมโดยเน้นย้ำความพยายามของประเทศไทยในการลดการปล่อยคาร์บอนในภาคพลังงาน ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินนโยบายที่สร้างความสมดุลระหว่างความมั่นคงด้านพลังงานกับการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด ซึ่งสามารถทำได้หลายรูปแบบ อาทิ การนำเข้าพลังงานสะอาดจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงผลักดันการผลิตพลังงานสะอาดในประเทศ การมุ่งศึกษาพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ และการวางนโยบาย/มาตรการที่เหมาะสมในช่วงของการปรับรูปแบบตลาดพลังงานของประเทศให้สามารถพึ่งพิงเชื้อเพลิงสะอาดมากขึ้นในอนาคต นอกจากนั้นยัง ต้องให้ความสำคัญกับรูปแบบความต้องการใช้พลังงานที่จะเปลี่ยนแปลงไปโดยจะมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแทนรถที่ใช้น้ำมันในภาคขนส่ง มีการใช้พลังงานหมุนเวียนและเชื้อเพลิงไฮโดรเจนแทนการใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ซึ่งส่งผลให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องปรับเปลี่ยนการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าของประเทศรวมถึงวางแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าการใช้ก๊าซธรรมชาติและ LNG ยังคงมีความสำคัญในช่วงของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในปัจจุบันและอีกหลายสิบปีข้างหน้า ดังนั้น การปรับใช้เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน หรือ Carbon Capture and Storage ในอุตสาหกรรมต้นน้ำของการผลิตเชื้อเพลิงปิโตรเลียมยังคงเป็นทางออกที่ดีสำหรับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาในการที่จะลดการปล่อยคาร์บอนในภาคพลังงานและการบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ในอนาคต

ปลัดกระทรวงพลังงาน ชี้แจงความก้าวหน้าการจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติโดยเน้นพลังงานสะอาด สร้างชาติ สร้างเศรษฐกิจ

“กระทรวงพลังงาน เร่งเดินหน้าแผนพลังงานแห่งชาติเน้นพลังงานสะอาด สร้างชาติ สร้างเศรษฐกิจ”

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ชี้แจงความก้าวหน้าการจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติว่า ตามที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 ได้มีมติเห็นชอบกรอบแผนพลังงานแห่งชาติ (National Energy Plan) และให้ กระทรวงพลังงาน จัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอต่อ กบง. นั้น
ขณะนี้ กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อยู่ระหว่างเร่งยกร่างรายละเอียด แผนพลังงานแห่งชาติ ที่สอดคล้องกับแนวทางมุ่งไปสู่พลังงานสะอาดที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ซึ่งจะมีผลต่อทิศทางการพัฒนาพลังงานที่สำคัญ ประกอบด้วย
ด้านไฟฟ้า เน้นการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า พัฒนาและยกระดับเทคโนโลยีระบบไฟฟ้า (Grid Modernization) เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ ตลอดจนการผลิตเอง ใช้เอง (Prosumer) ที่มากขึ้น รวมถึงมุ่งปลดล็อคกฎระเบียบการซื้อขายไฟฟ้าเพื่อรองรับการผลิตเองใช้เองดังกล่าว
ด้านก๊าซธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิงสะอาดที่เป็นพลังงานสำคัญในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะเน้นการเปิดเสรีและการจัดหาเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบพลังงานประเทศ ซึ่ง กระทรวงพลังงาน จะต้องวางแผนสร้างสมดุลระหว่างการจัดหาในประเทศและการนำเข้า LNG
ด้านน้ำมัน ยังคงเป็นเชื้อเพลิงหลักของประเทศในปัจจุบัน แต่จะได้รับผลกระทบจากการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ที่ขยายตัวขึ้น ดังนั้น จะต้องมีการปรับแผนพลังงานภาคขนส่งและพิจารณาการบริหารการเปลี่ยนผ่านให้กระทบต่อ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้น้อยที่สุด
ด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จะมีการปรับเป้าหมายการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานจากทุกภาคส่วนให้เข้มข้นมากขึ้น
“หาก สนพ. จัดทำรายละเอียดการดำเนินการแล้วเสร็จ กระทรวงพลังงานจะเร่งนำเสนอ กบง. และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ให้ความเห็นชอบก่อนให้ สนพ. เปิดรับฟังความคิดเห็นถึงแนวทางการขับเคลื่อนกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเพื่อให้การขับเคลื่อนแผนพลังงานแห่งชาติได้รับข้อเสนอแนะอย่างรอบด้านและ เป็นทิศทางการพัฒนาร่วมกันของทุกฝ่ายในประเทศ” ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าว

ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานกิจกรรม “พลังงานร่วมใจ สู้ภัยโควิด-19” ส่งมอบชุด PPE และอุปกรณ์ป้องกันทางการแพทย์

วันนี้ (13 พฤษภาคม 2564) นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานใน กิจกรรม “พลังงานร่วมใจ สู้ภัยโควิด-19” ซึ่งกระทรวงพลังงาน ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(สำนักงาน กกพ.)และหน่วยงานราชการในสังกัดกระทรวงพลังงาน ซึ่งมีผู้บริหารระดับสูงของแต่ละหน่วยงานเข้าร่วมงาน เพื่อเป็นการส่งมอบชุด PPE และอุปกรณ์ป้องกันทางการแพทย์ ชุด PPE และอุปกรณ์อื่นๆ อาทิ น้ำยาฆ่าเชื้อ หน้ากาก Face shield และถุงมือยาง ให้กับทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานเชิงรุกเร่งช่วยเหลือและตรวจคัดกรองประชาชนในพื้นที่ชุมชนคลองเตย เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมร่วมส่งกำลังใจให้ทีมเจ้าหน้าที่และชุมชนชาวคลองเตยให้สามารถก้าวผ่านสถานการณ์ครั้งนี้ไปให้ได้
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 ในพื้นที่ชุมชนเขตคลองเตย ซึ่งขณะนี้พบผู้ติดเชื้อรายวันและมีผู้ที่มีความเสี่ยงสูงอีกเป็นจำนวนมาก ทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั้งทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ต่างๆ จำเป็นต้องเร่งปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือเชิงรุกในการตรวจคัดกรองประชาชนในพื้นที่ และส่งต่อการรักษาให้ทันเวลา เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ดังกล่าวอย่างเร่งด่วน กระทรวงพลังงานตระหนักถึงความปลอดภัยและมีความห่วงใยด้านความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน รวมถึงประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมากจึงได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และหน่วยงานราชการในสังกัดกระทรวงพลังงาน จัดหาชุด PPE และอุปกรณ์ป้องกันทางการแพทย์ ได้แก่ ชุด PPE จำนวน 1,660 ชุด น้ำยาฆ่าเชื้อ จำนวน 40 แกลลอน หน้ากาก Face shield จำนวน 1,005 ชิ้น และถุงมือยางจำนวน 609 กล่องและอุปกรณ์อื่นๆที่เกี่ยวข้องรวมมูลค่ากว่า 800,000 บาท เพื่อส่งมอบให้กับทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน ณ สำนักงานเขตคลองเตย ใช้ป้องกันความปลอดภัยในขณะปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ดังกล่าว พร้อมทั้งคาดหวังว่าสถานการณ์ครั้งนี้จะสามารถคลี่คลายไปได้ด้วยดีโดยเร็ว

“กระทรวงพลังงาน หน่วยงานในสังกัด รวมทั้งข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการปฏิบัติงานของทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทุกๆ ท่าน พร้อมทั้งขอส่งความห่วงใยและกำลังใจให้ประชาชนในชุมชนคลองเตยให้สามารถก้าวผ่านสถานการณ์ครั้งนี้ไปให้ได้ และขอฝากให้ประชาชนทุกท่าน เพิ่มความระมัดระวัง ใส่หน้ากากตลอดเวลา ล้างมือทุกครั้งที่สัมผัสหรือหยิบจับสิ่งของ การเว้นระยะห่างตามมาตรการสาธารณสุข และผมมีความเชื่อมั่นว่าด้วยความร่วมแรงร่วมใจของคนไทย เราจะข้ามผ่านวิกฤตโรคโควิด-19 นี้ ไปด้วยกัน” นายกุลิศ กล่าว

กระทรวงพลังงาน ดำเนินมาตรการลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 สั่งทุกหน่วยงานในสังกัด 95% Work from Home ตามมาตรการ ศบค.

“กระทรวงพลังงาน” ดำเนินมาตรการลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 สั่งทุกหน่วยงานในสังกัด ให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และพนักงาน 95% Work from Home ตามมาตรการ ศบค. ในระหว่างวันที่ 1-31 พฤษภาคมนี้ พร้อมยืนยันไม่กระทบงานบริการประชาชน เตรียมพร้อมบุคลากรให้บริการประชาชนต่อเนื่องทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ได้ขอความร่วมมือให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน พิจารณาดำเนินการมาตรการปฏิบัติงานที่บ้าน (Work from Home) ในมาตรการขั้นสูงสุดอย่างน้อย 14 วัน เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากการระบาดรอบใหม่มีการแพร่กระจายเชื้ออย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้ขณะนี้มีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ กระทรวงทรวงพลังงาน จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัด ดำเนินมาตรการให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และพนักงานราชการส่วนกลางในสังกัดไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ดำเนินการตามมาตรการปฏิบัติงานที่บ้าน (Work from Home) เพื่อลดความเสี่ยงการติดและแพร่กระจายของโรคโควิด -19 โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1–31 พฤษภาคม 2564 โดยมอบแนวทางปฏิบัติงานให้หน่วยงานต่างๆ นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ อาทิ การประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ การติดต่อสื่อสารผ่านระบบอีเมล์ หรือ แอปพลิเคชันต่างๆ มาเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงาน เพื่อให้การดำเนินงานทั้งในส่วนงานประจำของแต่ละหน่วยงานและงานบริการประชาชน สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องแม้ในช่วงสถานการณ์ดังกล่าว ทั้งนี้ หากประชาชนที่ต้องการจะติดต่อสอบถามกับทางกระทรวงฯ หรือหน่วยงานในสังกัด สามารถติดต่อได้ตามปกติทั้งทางช่องทางออนไลน์และออฟไลน์
“กระทรวงพลังงาน มีความห่วงใยประชาชน ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทุกคน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่นี้เป็นอย่างมาก จึงจะขอความร่วมมือให้ทั้งประชาชน ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ ปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ทั้งการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาหากจำเป็นต้องเข้ามาปฏิบัติงานหรือมาติดต่อในสถานที่ราชการ โดยให้มีการจัดตั้งจุดคัดกรองวัดอุณหภูมิร่างกายทุกคนก่อนเข้าอาคารทุกครั้ง เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสามารถก้าวผ่านสถานการณ์ครั้งนี้ไปด้วยกัน” ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าว

กระทรวงพลังงานและสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ร่วมกันจัดงาน Private Sector Engagement Event ผ่านระบบออนไลน์

กระทรวงพลังงานและสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ร่วมกันจัดงาน Private Sector Engagement Event ผ่านระบบออนไลน์ ขึ้นในวันที่ 27 เมษายน 2564 ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นสืบเนื่องจากมติที่ประชุม The 1st United States-Thailand Energy Policy Dialogue เมื่อวันอังคารที่ 27 ตุลาคม 2563 โดย Private Sector Engagement Event จัดขึ้นเพื่อกระชับและเสริมสร้างความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างสองประเทศ ด้วยการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนและภาครัฐของทั้งสองฝ่ายได้พบปะและหารือถึงความเป็นไปได้ที่จะร่วมมือกันในอนาคต โดยมี Mr. Michael G. Heath อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ให้เกียรติเป็นประธานร่วมทั้งสองฝ่ายเสนอที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานระดับทวิภาคี โดยกระชับความร่วมมือและข้อริเริ่มระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาด้านพลังงานของไทยอย่างยั่งยืนและคุ้มค่า จากแหล่งพลังงานที่มีศักยภาพ Mr. Michael G. Heath กล่าวว่า “ด้วยการผลักดันจากนโยบายของภาครัฐ ร่วมกับนวัตกรรมอันล้ำสมัยของภาคเอกชน ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นผู้นำของภูมิภาคและของโลก ในการกำหนดแนวทางความมั่นคงด้านพลังงาน สหรัฐอเมริกาขอชื่นชมความพยายามของบริษัททั้งฝ่ายสหรัฐฯ และฝ่ายไทยสำหรับการผลิตพลังงานจากแหล่งที่หลากหลาย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานให้ทันสมัย และช่วยสร้างตลาดแลกเปลี่ยนสินค้าพลังงานในภูมิภาค”
ทั้งนี้ นายกุลิศ ปลัดกระทรวงพลังงานได้กล่าวว่า “กระทรวงพลังงานไทยเล็งเห็นความสำคัญของความร่วมมือทวิภาคีด้านพลังงานระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทย โดยการประชุมหารือในวันนี้จะเป็นโอกาสสำคัญที่จะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวคิดจากภาคเอกชนด้านพลังงานของทั้งสองประเทศในการพัฒนาแนวทางการทำธุรกิจด้านพลังงานร่วมกันในอนาคต ซึ่งนับว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการผลักดันให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในด้านพลังงานเพื่อให้เกิดการฟื้นตัวทางภาคเศรษฐกิจ รวมถึงการร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นปัญหาสำคัญในระดับโลกซึ่งจะมีการหารือในประเด็นดังกล่าวนี้ในการประชุมครั้งนี้อีกด้วย”
ผู้แทนจากทั้งสองฝ่ายต่างตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญของภาคเอกชนในการขับเคลื่อนนวัตกรรม โดยได้เห็นพ้องที่จะแสวงหาโอกาสในการขยายความร่วมมือด้านการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการผลิตไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ พลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน และรัฐบาลสหรัฐฯ ได้เน้นย้ำบทบาทของบรรษัทการเงินเพื่อการพัฒนาของสหรัฐอเมริกา (the United States International Development Finance Corporation) ในการช่วยสนับสนุนด้านการค้าและการเงิน และบทบาทของสำนักงานส่งเสริมการค้าและการพัฒนาแห่งสหรัฐอเมริกา (the United States Trade and Development Agency) ในการช่วยสนับสนุนด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้องด้วย
ในโอกาสเดียวกันนี้ ผู้แทนจากกระทรวงพลังงานได้กล่าวถึงแผนพลังงานแห่งชาติ (National Energy Plan) ที่อยู่ระหว่างการจัดทำแผน โดยมีเป้าหมายหลักในการมุ่งเน้นการพัฒนาไปสู่การใช้พลังงานสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยผู้เข้าร่วมภาคเอกชนจากทั้งสองฝ่ายต่างให้ความสนใจในแนวทางนโยบายและกฎระเบียบด้านพลังงานของไทย และได้รับทราบถึงบทบาทสำคัญของไทยในการอำนวยความสะดวกด้านการพัฒนาและเชื่อมโยงภาคพลังงานในภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้ สหรัฐฯ และไทยมีแผนที่จะจัดการประชุม The 2nd United States-Thailand Energy Policy Dialogue ในช่วงปลายปี 2564 เพื่อต่อยอดความก้าวหน้าความร่วมมือด้านพลังงานจากการจัดประชุมเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา

รองปลัดกระทรวงพลังงาน ถวายแจกันดอกไม้และลงนามถวายพระพรสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

วันนี้ (2 เม.ย. 64) นางเปรมฤทัย วินัยแพทย์ และนายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้บริหารของกระทรวงพลังงาน  ถวายแจกันดอกไม้เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ และร่วมลงนามถวายพระพร สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ 2 เมษายน 2564 ณ ศาลาสหทัยสมาคม ภายในพระบรมมหาราชวัง

ปลัดกระทรวงพลังงาน บันทึกเทปรายการกะเทาะเปลือกคอร์รัปชัน

วันนี้ (1 เมษายน 2564) นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน บันทึกเทปสัมภาษณ์พิเศษในรายการกะเทาะเปลือกคอร์รัปชัน ประเด็น “พน. โปร่งใส ต้านทุจริตคอร์รัปชัน” ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) โดยนำเสนอถึงนโยบายและมาตรการด้านการป้องกันการทุจริตของหน่วยงาน และการสร้างความโปร่งใสในการดำเนินกิจการด้านพลังงาน เช่น กระบวนการอนุมัติ อนุญาต หรือการติดต่อกับหน่วยงานในกระทรวงพลังงานโดยสามารถติดต่อผ่านช่องทางระบบสารสนเทศ เช่น Website  (www.energy.go.th) Facebook (www.facebook.com/ministryofenergy) โทรศัพท์ 02-140-7000 และอีเมล์ inspector_g@energy.go.th อีกทั้ง กระทรวงพลังงานได้เพิ่มช่องทางการแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนทางออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแสหรือการที่ไม่ได้รับความสะดวกในการติดต่อกับหน่วยงานในกระทรวงพลังงาน ทั้งนี้ ท่านสามารถติดตามวันและเวลาออกอากาศได้ทาง Facebook กระทรวงพลังงาน

รองปลัดกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาโครงการโซลาร์เซลล์ของกองทุนอนุรักษ์

“ก.พลังงาน” ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาโครงการโซลาร์เซลล์ของกองทุนอนุรักษ์ ย้ำ ประชาชนต้องใช้ประโยชน์ได้เต็มประสิทธิภาพ

“สมบูรณ์ หน่อแก้ว” รองปลัดกระทรวงพลังงาน ประธานคณะทำงานกำกับติดตามผลการดำเนินโครงการเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ นำคณะทำงานฯ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน และสื่อมวลชน ลงพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตรวจติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาโครงการระบบสูบน้ำพลังงานพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เน้นย้ำว่า ทุกโครงการต้องแก้ไขให้แล้วเสร็จ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จริง

นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน ประธานคณะทำงานกำกับติดตามผลการดำเนินโครงการเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงพลังงานมีการตั้งคณะทำงานกำกับและติดตามผลการดำเนินโครงการเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อตรวจติดตามการดำเนินโครงการฯ ที่ได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานทั่วประเทศ ในช่วงปี 2557-2562 เพื่อให้ทุกโครงการฯ ดำเนินการให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ตามวัตถุประสงค์ของการจัดสรรงบประมาณอย่างแท้จริง

ในการลงพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนครั้งนี้ เป็นการติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาในส่วนโครงการของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 3 หรือ กอ.รมน.ภาค 3 ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ผ่านกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน หรือ พพ. ปี 2560 เพื่อติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ และระบบกรองน้ำสำหรับอุปโภคขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 10 กิโลวัตต์ และระบบกรองน้ำสำหรับบริโภคขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 2 กิโลวัตต์ ในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียง และอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และพื้นที่อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก จำนวนรวม 20 แห่ง

ทั้งนี้ ภายหลังจากการดำเนินโครงการของ กอ.รมน.ภาค 3 แล้วเสร็จ ทาง พพ. ได้ดำเนินการตรวจสอบและประเมินผลโครงการฯ ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2561-เดือนมิถุนายน 2562 จำนวน 3 ครั้ง พบว่าทั้ง 20 แห่ง สามารถใช้งานได้ตามปกติ และอยู่ภายใต้เงื่อนไขของการรับประกันของผู้รับจ้าง อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากหมดช่วงรับประกัน (กันยายน 2563)  ได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบอีกครั้งในช่วงกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา พบว่าแต่ละแห่งประสบปัญหาเรื่องประสิทธิภาพการใช้งานของระบบฯ ตามสภาพการใช้งานที่บางแห่งระบบกรองน้ำอุปโภคใช้ได้หรือบางแห่งระบบกรองน้ำบริโภคใช้ได้ ซึ่งขณะนี้ ได้มีการแก้ไขให้สามารถใช้งานได้ทั้ง 2 ระบบแล้วทั้ง 18 แห่ง และอยู่ระหว่างการเร่งแก้ไขอีก 2 แห่ง ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคมนี้ และหลังจากนั้น จะมีการส่งมอบให้กับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่ของโครงการเพื่อนำไปบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนในพื้นที่ ต่อไป โดยเจ้าของโครงการจะร่วมกับผู้รับจ้างและผู้เกี่ยวข้องจะดำเนินการฝึกอบรมการใช้งาน การดูแลบำรุงรักษาให้แก่ อบต.ผู้นำชุมชน และผู้ใช้งาน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการและใช้งานระบบฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป

“คณะทำงานฯ จะดำเนินการตรวจสอบและติดตามการแก้ไขปัญหาโครงการที่ไม่สามารถใช้งานได้ เมื่อทราบปัญหาแล้วจะได้ประสานหน่วยงานเจ้าของโครงการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนดำเนินการซ่อมบำรุงกลับสู่สภาพเดิมให้ประชาชนสามารถใช้โครงการต่างๆ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ พร้อมทั้งจะทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบโครงการทั้งหมดอีกกว่า 788 โครงการทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจว่างบประมาณจากกองทุนดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริง ส่วนโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น การพิจารณาอนุมัติงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจะมีความเข้มงวดมากขึ้น  โดยจะมีการตรวจสอบตั้งแต่คำขอโครงการที่จะต้องมีรายละเอียดงบประมาณ แผนงานการดำเนินงานและมีแผนงบประมาณการซ่อมบำรุงที่ชัดเจน คำนึงถึงความเหมาะสมของพื้นที่ มีความคุ้มค่า ตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่อีกด้วย”   รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าว

ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานกล่าวต้อนรับและเปิดการประชุม the 2nd Workshop on Smart Energy

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 ปลัดกระทรวงพลังงานได้ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวต้อนรับและเปิดการประชุม the 2nd Workshop on Smart Energy ในรูปแบบการประชุมออนไลน์ รวมถึงยังได้รับเกียรติจาก Mr. TAKETANI Atsushi (นายอัทสึชิ ทาเคทานิ) ประธาน JETRO กรุงเทพฯ ให้เกียรติกล่าวต้อนรับและเปิดการประชุมดังล่าวด้วย ในโอกาสนี้ ปลัดกระทรวงพลังงานได้ร่วมรับฟังการบรรยายแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการพัฒนาพลังงานอัจฉริยะหรือ Smart Energy ในประเทศไทย จากวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานของไทยและญี่ปุ่น

การประชุม the 2nd Workshop on Smart Energy จัดโดยองค์การส่งเสริมการค้าของประเทศญี่ปุ่น หรือ JETRO กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้บริษัทด้านการพัฒนาพลังงานอัจฉริยะของญี่ปุ่นได้รับทราบนโยบายและแนวทางในการดำเนินความร่วมมือในการพัฒนาพลังงานอัจฉริยะในประเทศไทย รวมถึงเป็นโอกาสให้บริษัทพลังงานของไทยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีพลังงานของประเทศญี่ปุ่นเพื่อเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศและส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างไทยและญี่ปุ่นให้เกิดผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมากจากการประชุม Workshop on Smart Energy เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา โดยจะช่วยต่อยอดการดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการความร่วมมือด้าน Smart Energy ของทั้งสองประเทศต่อไป

การประชุมได้มีการหารือแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี ผลการศึกษาวิจัย และการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานในด้านต่าง ๆ อาทิ การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles: EV) ระบบการกักเก็บพลังงาน การใช้ประโยชน์จากไฮโดรเจน การนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีต่าง ๆ มาช่วยในการเสริมสร้างประสิทธิภาพด้านพลังงาน รวมถึงการเชื่อมโยงด้านไฟฟ้าในระดับภูมิภาค เป็นต้น ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากบริษัทด้านการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานของทั้งสองประเทศ รวมถึงสถานศึกษาชั้นนำของไทย อาทิ การไฟฟ้าผ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สถาบันวิทยสิริเมธี สถาบันเทคโนโลยีพลังงาน สถาบันวิจัยแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ Mitsubishi Motors Corporation, JERA, Kansai Electric Power ฯลฯ ร่วมบรรยายในการประชุมดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ ยังมีแทนจากภาครัฐและเอกชน สถานศึกษา สถาบันการเงิน รวมถึงบริษัทด้านการพัฒนาพลังงานของทั้งสองประเทศ สนใจเข้าร่วมการประชุมมากกว่า 300 หน่วยงาน

รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุม ITA

วันที่ 3 มีนาคม 2564 นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) เป็นประธานในการประชุมเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจและรับทราบปัญหาอุปสรรคในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 “More Open, more transparent ยิ่งเปิดเผย ยิ่งโปร่งใส” ของหน่วยงานระดับภูมิภาค ผ่านระบบ Video Conference ร่วมกับพลังงานจังหวัด ผู้แทนจากสำนักงานพลังงานจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด รวมทั้งเจ้าหน้าที่ ศปท. และเจ้าหน้าที่ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ศทส.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงถึงที่มาและความสำคัญ รวมถึงหัวข้อของการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่จะต้องมีการดำเนินการประสานข้อมูลร่วมกันระหว่างส่วนกลางและส่วนภูมิภาคต่อไป

รองปลัดกระทรวงพลังงาน ร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านพลังงานสมัยพิเศษ และการประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์พลังงานอาเซียน ครั้งที่ 23

เมื่อวันที่ 21-22 มกราคม 2564 ปลัดกระทรวงพลังงานได้มอบหมายให้นางเปรมฤทัย วินัยแพทย์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยพร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านพลังงาน สมัยพิเศษ (Special Senior Officials Meeting on Energy: Special SOME) และการประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์พลังงานอาเซียน ครั้งที่ 23 (23rd ACE Governing Council) โดยมีวัตถุประสงค์ของการประชุมเพื่อร่วมให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินความร่วมมือด้านพลังงานภายใต้กรอบอาเซียน เพื่อนำไปสู่การเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนต่อไป

โดยในการประชุมครั้งนี้ เวียดนามในฐานะประธานการประชุม บรูไนในฐานะรองประธานฯ และประเทศสมาชิกได้ร่วมกันพิจารณาการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียน ระยะที่ 2 พ.ศ. 2564-2568 (APAEC Phase II: 2021-2025) ใน 7 สาขา ประกอบด้วย ความร่วมมือด้านแผนพลังงานภูมิภาค การเชื่อมโยงไฟฟ้าอาเซียน การเชื่อมโยงท่อก๊าซอาเซียน พลังงานทดแทน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด และความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายเพื่อความมั่นคงและยั่งยืนด้านพลังงานของอาเซียนต่อไป

ปลัดกระทรวงพลังงาน สั่งตรวจสอบย้อนหลังโครงการโซลาร์เซลล์พื้นที่ห่างไกลทุกพื้นที่

ปลัดกระทรวงพลังงานสั่งตรวจสอบย้อนหลังโครงการโซลาร์เซลล์พื้นที่ห่างไกลทุกพื้นที่ ย้ำโครงการใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์ฯ จะต้องชัดเจน โปร่งใส สามารถดำเนินการเกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
     ​นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังการประชุมคณะอนุกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ 2564 (ครั้งที่ 2) ว่า ตามที่มีกระแสข่าวโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่ดำเนินโครงการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ห่างไกล หลายแห่งไม่สามารถดำเนินการได้จริงนั้น ขณะนี้ ได้มีการสั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบติดตามกับหน่วยงานที่ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ เร่งดำเนินการตรวจสอบย้อนหลังในทุกพื้นที่ ทุกโครงการ ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุน เพื่อเร่งหาสาเหตุที่เกิดขึ้นว่าเกิดจากปัญหาใด หรือ มีข้อจำกัดในการดำเนินงานอย่างไร และสาเหตุใดที่บางโครงการไม่สามารถใช้งานได้จริงเกิดจากอะไร ซึ่งเบื้องต้นบางพื้นที่ได้จัดส่งรายงานข้อมูลเข้ามาบ้างแล้ว และได้มีสั่งการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบ และประเมินผล ลงพื้นที่ตรวจสอบและติดตามในทันที เพื่อให้สามารถหาแนวทางแก้ไขให้ทุกโครงการสามารถดำเนินการให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนโดยเร็วที่สุด
​      “ในการประชุมคณะอนุกรรมการกองทุนฯ วันนี้ ผมได้เน้นย้ำว่าจะต้องหาเร่งหาสาเหตุที่เกิดขึ้น และดำเนินการแก้ไขอย่างเร็วที่สุด เพราะเป้าหมายของงบกองทุนฯ คือสนับสนุนโครงการและจะต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์สุงสุดต่อประชาชน ซึ่งจะเร่งให้มีความชัดเจน โดยเร็วที่สุด ส่วนโครงการใหม่ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนได้เน้นย้ำให้มีการตรวจสอบให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทุกโครงการ อย่างเข้มงวดเช่นกัน เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ มีการจ้างงาน สร้างอาชีพในพื้นที่ โดยคณะอนุกรรมการฯได้เห็นชอบร่วมกันว่าทุกโครงการที่ขอรับงบประมาณสนับสนุน จะต้องมีแผนงานที่ชัดเจน ตอบสนองความต้องการของชุมชน และเป็นโครงการที่ชาวบ้านได้รับประโยชน์เต็มที่ มีราคากลางที่ตรวจสอบได้ รวมถึงจะต้องมีความโปร่งใสในการอนุมัติโครงการโดยไม่ยึดติดกับหน่วยงานใด ที่สำคัญจะต้องมีระบบการตรวจสอบที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ และสำหรับโครงการเศรษฐกิจฐานราก ที่จะกระจายเงินให้จังหวัดทั่วประเทศ จะพิจารณาให้ความสำคัญในด้านความพร้อม การพัฒนาและการซ่อมแซมบำรุงรักษา เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและให้มีการรายงานผลต่อจังหวัดทุกปี จนกว่าจะหมดอายุการใช้งาน” ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าว

ปลัดกระทรวงพลังงาน สั่งเข้มระบบตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลทุกโครงการฯ ยื่นของบกองทุนฯ

“ปลัดพลังงาน” สั่งเข้มระบบตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลทุกโครงการฯ ยื่นของบกองทุนฯ ย้ำ ต้องให้ประชาชนได้ใช้จริง

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตามที่มีกระแสข่าวโครงการระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ในพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปี 2562 นั้น ขณะนี้ ทางกระทรวงพลังงาน ได้มีการสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบโครงการดังกล่าว และโครงการอื่นๆ ในลักษณะเดียวกัน ครอบคลุมตั้งแต่การดำเนินการตรวจรับและส่งมอบให้กับหน่วยงานที่รับผิดในการบริหารจัดการ เพื่อร่วมบูรณาการแก้ไขให้โครงการต่างๆ สามารถดำเนินการให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนตามเป้าหมายโดยเร็วที่สุด
กระทรวงพลังงานได้รับรายงานจาก สำนักงานกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ว่า ปัจจุบัน โครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ที่ดำเนินการโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 โครงการดังกล่าว ทาง กอ.รมน. ได้ส่งคำขอโครงการจำนวน 54,972,750 บาท ซึ่งสำนักงานกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้พิจารณามาตรฐานราคาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และราคากลางจากบัญชีราคามาตรฐานครุภัณฑ์ สำนักงบประมาณ ธันวาคม 2561 จึงได้อนุมัติงบประมาณที่ 45,205,000 บาท
ส่วนสถานะโครงการในปัจจุบันนี้ ส.กทอ แจ้งว่า อยู่ระหว่างการตรวจสอบรายงานจาก กอ.รมน. ว่าครบถ้วน ถูกต้องตามหนังสือยืนยันหรือไม่ และยังไม่มีการอนุมัติจ่ายงบประมาณงวดสุดท้ายจำนวน 18,082,000 บาท
“ นอกจากนี้ ผมยังได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สำนักงานกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และพลังงานจังหวัดทุกจังหวัด มีการตรวจสอบการดำเนินโครงการในพื้นที่จริงอย่างเข้มงวด และตั้งแต่ปี 2564 จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบทุกขั้นตอน หากมีการขอรับการสนับสนุนประเภทเดียวกันนี้ จะต้องมีแผนงานที่ชัดเจน มีความพร้อมในการบำรุงรักษา และประชาชนจะต้องใช้งานได้จริง พร้อมทั้งต้องดำเนินการอย่างเข้มงวดตั้งแต่ระบบตรวจสอบ ติดตาม ประเมินผลในทุก ๆ โครงการ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและประชาชนได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่” ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าว

ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงเข้าลงนามถวายพระพร กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

วันนี้ (13 ม.ค. 63) นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง เข้าถวายแจกันดอกไม้และลงนามถวายพระพร สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขอให้ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์หายจากพระอาการประชวรโดยเร็ววัน ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง

อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสสำหรับการปฏิบัติราชการและให้บริการด้านการอนุญาตการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง ครั้งที่ 1/2564

คณะกรรมการขับเคลื่อนบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสสำหรับการปฏิบัติราชการและให้บริการด้านการอนุญาตการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง จัดการประชุมครั้งที่ 1/2564
วันนี้ (7 มกราคม 2564) นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสสำหรับการปฏิบัติราชการและให้บริการด้านการอนุญาตการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง ครั้งที่ 1/2564 ผ่านระบบ VDO Conference ซึ่งการประชุมในวันนี้ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ของกระทรวงพลังงาน กรมธุรกิจพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) โดยที่ประชุมได้มีมติร่วมในเรื่องของการคัดเลือกกระบวนการนำร่องตามกฏหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง ในส่วนของกระบวนการที่เกี่ยวกับรถขนส่งน้ำมัน เพื่อนำมาจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงและพัฒนาให้สามารถให้บริการได้อย่างโปร่งใส เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการในการได้รับบริการที่ดีและโปร่งใสจากหน่วยงานภาครัฐ

ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงร่วมลงนามถวายพระพร เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่

วันนี้ (1 ม.ค. 64) นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงและรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมลงนามถวายพระพร เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง

กระทรวงพลังงาน กรมธุรกิจพลังงาน และสำนักงาน ป.ป.ท. ร่วมลงนาม “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสสำหรับการปฏิบัติราชการ และให้บริการด้านการอนุญาตการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง”

กระทรวงพลังงาน กรมธุรกิจพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) ร่วมลงนาม “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสสำหรับการปฏิบัติราชการ และให้บริการด้านการอนุญาตการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง” หวังยกระดับการให้บริการของหน่วยงาน ส่งเสริมข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ตามหลัก Good Governance  สอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เชื่อเป็นทิศทางการพัฒนาที่ทำให้ประเทศชาติได้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

วันนี้ (18 ธ.ค.63) เวลา 12.30 น. ณ ห้องประชุม 9 ชั้น 15 ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ อาคารบี นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมกับ นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน และ พันตำรวจโท วันนพ สมจินตนากุล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เข้าร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสสำหรับการปฏิบัติราชการ และให้บริการด้านการอนุญาตการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง ระหว่าง กระทรวงพลังงาน (พน.) กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริม สนับสนุน บูรณาการและประสานการปฏิบัติราชการร่วมกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสสำหรับการปฏิบัติราชการและให้บริการด้านการอนุญาตการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง ลดความเสี่ยงการทุจริต พัฒนาศักยภาพบุคลากร ยกระดับการให้บริการของหน่วยงาน รวมทั้งการส่งเสริมให้ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ โดยยึดหลักธรรมาภิบาล (Good Governance)  เพื่อตอบสนองกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แผนปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกภาคส่วน สำหรับแนวทางในการขับเคลื่อนการดำเนินการจะมีอธิบดีกรมธุรกิจพลังงานเป็นผู้รับผิดชอบหลัก โดยกรมธุรกิจพลังงาน และสำนักงานพลังงานจังหวัดจะเป็นหน่วยดำเนินงานมีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นผู้กำกับดูแล และสำนักงาน ป.ป.ท. เป็นหน่วยสนับสนุน

“วันนี้หลังจากลงนาม MOU แล้ว ผมได้ลงนามตั้งคำสั่งคณะทำงานทันที โดยมีองค์ประกอบจากหน่วยงานทั้ง 3 หน่วย เพื่อเร่งผลักดันการจัดทำแผนการศึกษา วิเคราะห์ คัดเลือกกระบวนงานด้านการอนุญาตการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง นำมาจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงและพัฒนาให้สามารถให้บริการได้อย่างโปร่งใส เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ สร้างความเชื่อมั่นในการทำงานของภาครัฐ โดยให้มีการติดตามและประเมินผลรายงานต่อผม อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน และเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐเป็นระยะด้วย

ซึ่งผมเชื่อว่าเมื่อมีการยกระดับพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน นอกจากจะเป็นการปิดช่องทางการทุจริตได้แล้ว ที่สำคัญคือจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนหรือผู้ประกอบการในการได้รับบริการที่ดีและโปร่งใสจากภาครัฐ   อันจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญก้าวหน้าให้ประเทศชาติต่อไป”ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าว

กระทรวงพลังงานจัดประชุมเวิร์กช็อปเปิดโอกาส “คนพลังงานร่วมใจ สู่ทิศทางไทยในอนาคต” ระดมแนวคิดและมุมมองกำหนดทิศทางนโยบาย และจัดทำแผนพัฒนาด้านพลังงาน

กระทรวงพลังงานจัดประชุมเวิร์กช็อปเปิดโอกาส “คนพลังงานร่วมใจ สู่ทิศทางไทยในอนาคต” ระดมแนวคิดและมุมมองกำหนดทิศทางนโยบาย และจัดทำแผนพัฒนาด้านพลังงานของประเทศแบบบูรณาการรับมือยุค New Normal และยุค Smart & Green Energy

วันนี้ (14 ธ.ค.63) นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 เห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 พร้อมด้วยแผนที่เกี่ยวข้อง และให้นำแผนทั้งหมดที่เสนอไปรวมให้เป็นแผนเดียวกันอย่างมีเอกภาพและนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในปี 2564 ประกอบกับการวางแผนพลังงานโดยเฉพาะแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าที่ผ่านมาใช้การประมาณการเศรษฐกิจระยะยาวเป็นสมมติฐาน ซึ่งมีความคลาดเคลื่อนอันมาจากผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 จำเป็นต้องมีการทบทวนให้สอดคล้องกับสถานะความเป็นจริง และแผนควรมีการกำหนดการดำเนินการให้มีความยืดหยุ่น มีเป้าหมายในระยะสั้น ระยะปานกลาง 5-10 ปี มากกว่าการวางแผนในระยะยาว 20 ปี นอกจากนี้ ปัจจุบันแผนพลังงานของไทยต้องมีการวางแผนเตรียมการรองรับการเปลี่ยนแปลงยุค Digital Disruption ทั้งในด้านสภาวะโลกร้อนและพลังงานสะอาดที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

เพื่อเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี และสถานการณ์ Digital Disruption ให้ทันท่วงที กระทรวงพลังงานจึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “คนพลังงานรุ่นใหม่ ร่วมใจสู่ทิศทางไทยในอนาคต” เป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งเดินหน้าจัดทำแผนพัฒนาด้านพลังงานของประเทศแบบบูรณาการในวันนี้ โดยมีเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานจากบริษัท แมคคินซี่ แอนด์ คอมพานี ประเทศไทย มาร่วมแบ่งปันข้อมูลสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน และการคาดการณ์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทิศทางการพัฒนาและความท้าทายด้านพลังงานโลกและของไทยในอนาคต เพื่อสร้างความเข้าใจและกำหนดกรอบภาพอนาคตของพลังงาน นอกจากนี้ การวางแผนและกำหนดเป้าหมายในแต่ละช่วงเวลา คือ เป้าหมาย 3 ปี 5 ปี 10 ปี และ 20 ปี จำเป็นต้องอาศัยบุคลากรคนรุ่นใหม่ซึ่งมีทักษะแห่งอนาคต เข้าใจในเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย แนวทางการดำเนินธุรกิจรองรับ Digital Disruption อย่างทันท่วงที อีกทั้งบุคลากรเหล่านี้จะก้าวขึ้นสู่ผู้บริหารเป็นผู้นำในเรื่องพลังงานในอนาคตอีกด้วย  การประชุมระดมสมองครั้งนี้จะเป็นการให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้ ทั้งส่วนราชการในสังกัดกระทรวงพลังงานทั้ง 4 แห่ง รวมถึงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกลุ่ม บริษัท ปตท. จำกัด มหาชน มาร่วมแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะกรอบแนวทางการเตรียมการรองรับการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจในยุค New Normal และด้านพลังงานในยุค Digital Disruption ได้อย่างมีศักยภาพ

“การจัดทำแผนพัฒนาด้านพลังงานของประเทศแบบบูรณการครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นการจัดทำแผนแบบบูรณาการครบวงจรทั้งด้านก๊าซธรรมชาติ ไฟฟ้า น้ำมัน พลังงานทดแทน และการอนุรักษ์พลังงานในลักษณะ Bottom Up เสนอจากผู้ปฏิบัติงานมาสู่ระดับนโยบาย ซึ่งจะได้นำผลจากการระดมความเห็นครั้งนี้มาร่วมกันกำหนดนโยบายและจัดทำแผนแล้วนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมต่อไป” ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าวในตอนท้าย

“Zero Tolerance คนไทยไม่ทนต่อการทุจริต”

วันนี้ (วันที่ 9 ธันวาคม 2563) ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต กระทรวงพลังงาน ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์เนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ภายใต้แนวคิด “Zero Tolerance คนไทยไม่ทนต่อการทุจริต” โดยมีนายกุลิศ  สมบัติศิริ  ปลัดกระทรวงพลังงาน และนายสมบูรณ์ หน่อแก้ว หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต  พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง ร่วมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ภายในหน่วยต่างๆ ในสังกัดกระทรวงพลังงาน  เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน รวมทั้งกระตุ้นจิตสำนึกให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงานไม่ยอมรับและไม่ทนต่อการทุจริต อันจะนำไปสู่การเป็นองค์กรที่มีความโปร่งใสและเป็นที่ยอมรับต่อไป

 

รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นตัวแทนมอบเงินให้แก่โรงพยาบาลสงฆ์

นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นตัวแทนมอบเงินจำนวน 50,000 บาท จากการจัดแข่งขันกอล์ฟการกุศลเพื่อสวัสดิการ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน ให้แก่โรงพยาบาลสงฆ์ เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป (วันนี้ 8 ธ.ค. 63)

ปลัดกระทรวงพลังงานเยี่ยมชมบูธนิทรรศการ “พลังงานที่พ่อให้”

วันนี้ (5 ธ.ค. 63) นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน ได้ให้เกียรติเยี่ยมชมบูธกระทรวงพลังงาน ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จัดนิทรรศการภายใต้แนวความคิด “พลังงานที่พ่อให้” เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติและวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2563 นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้านพลังงานซึ่งยังประโยชน์ต่อประชาชนคนไทยทั่วประเทศ อาทิ เขื่อนพระราชา พลังแห่งสายน้ำสู่แสงสว่างของปวงประชา , พลังงานชีวภาพ…พลังแห่งพระปรีชาญาณ, พลังงานจากอ่าวไทย..สร้างเศรษฐกิจพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทย พร้อมทั้งจับฉลากมอบรางวัลให้กับผู้ที่ลงทะเบียน และผู้เล่นเกมตอบคำถามในบูธ โดยนิทรรศการ “พลังงานที่พ่อให้” จะมีตั้งแต่วันที่ 1-6 ธันวาคม 2563 เวลา 10.00 – 21.00 น. บริเวณถนนสนามไชย ฝั่งวัดโพธิ์

 

กระทรวงพลังงาน จัดกิจกรรมการบรรยายให้ความรู้สื่อมวลชน หัวข้อ “แนวทางการดำเนินการ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1

วันนี้ (6 พฤศจิกายน 2563) กระทรวงพลังงาน จัดกิจกรรมการบรรยายให้ความรู้สื่อมวลชน หัวข้อ “แนวทางการดำเนินการ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 โดยได้รับเกียรติจาก นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน นายกวิน ทังสุพานิช เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เป็นผู้บรรยาย ณ ห้องประชุม 9 ชั้น 15 ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ กระทรวงพลังงาน โดยมีสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังการบรรยายในครั้งนี้

 

มติบอร์ดกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เห็นชอบ 6,500 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนแผนและมาตรการ ปีงบประมาณ 2564

มติบอร์ดกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เห็นชอบ 6,500 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนแผนและมาตรการ ปีงบประมาณ 2564
     นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2563 ได้มีมติเห็นชอบการปรับปรุงแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ 2564 วงเงิน 6,500 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์ ในการนำไปใช้ส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือ อุดหนุนโครงการต่างๆ ที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์การใช้เงินกองทุนฯ ตามความในมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยในปีนี้ได้ให้ความสำคัญลำดับต้นกับการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานราก เพื่อสนับสนุนการสร้างงานและสร้างรายได้ รวมถึง ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานทดแทนในภาคส่วนต่างๆ อาทิ กลุ่มโรงงาน อุตสาหกรรม อาคาร บ้านอยู่อาศัย เป็นต้น ตลอดจนการสร้างงานวิจัย สร้างนวัตกรรมใหม่ และการสร้างบุคลากร
     ทั้งนี้ การจัดสรรเงินกองทุนฯ ในปีงบประมาณ 2564 ประกอบด้วย 2 แผน คือ แผนอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน มีกรอบวงเงินสนับสนุน จำนวน 6,305 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 7 กลุ่มงานย่อย ดังนี้
(1) กลุ่มงานตามกฎหมาย วงเงินสนับสนุน 200 ล้านบาท (2) กลุ่มงานสนับสนุนนโยบายอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน วงเงินสนับสนุน 500 ล้านบาท (3) กลุ่มงานศึกษา ค้นคว้าวิจัย นวัตกรรม และสาธิตต้นแบบ วงเงินสนับสนุน 355 ล้านบาท (4) กลุ่มงานสื่อสาร และข้อมูล ข่าวสาร วงเงินสนับสนุน 200 ล้านบาท (5) กลุ่มงานพัฒนาบุคลากร วงเงินสนับสนุน 450 ล้านบาท (6) กลุ่มงานส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนในกลุ่มโรงงาน อุตสาหกรรม อาคาร บ้านอยู่อาศัย ภาคขนส่ง ธุรกิจฟาร์มเกษตรสมัยใหม่ และพื้นที่พิเศษ วงเงินสนับสนุน 2,200 ล้านบาท และ (7) กลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานราก วงเงินสนับสนุน 2,400 ล้านบาท ส่วนอีกหนึ่งแผน คือ แผนบริหารจัดการ ส.กทอ. วงเงินสนับสนุน 195 ล้านบาท
สำหรับกลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานราก คณะกรรมการกองทุนฯ เห็นชอบแนวทางบริหารจัดการในหลักการ โดยให้คณะกรรมการบริหารจังหวัดแบบบูรณาการพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอโครงการระดับจังหวัดและจัดลำดับความสำคัญของกลุ่มเป้าหมายในระดับพื้นที่ โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงานหารือกับกระทรวงมหาดไทยในรายละเอียดและนำเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณา ต่อไปทั้งนี้ ในปีต่อไปคณะกรรมการกองทุนฯ มีมติเห็นควรให้ทบทวนแนวทางการสนับสนุนโครงการภายใต้กลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานราก โดยให้กำหนดเงื่อนไขด้านการร่วมสมทบทุนทั้งด้านตัวเงิน (in cash) และด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่ตัวเงิน (in kind) เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการส่งเสริม
     โดยหลังจากนี้ กระทรวงพลังงานจะนำแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไขฯ ที่คณะกรรมการกองทุนฯ มีมติเห็นชอบแล้วเสนอให้เสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมภายในเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งหลังจาก กพช. มีมติเห็นชอบก็จะเข้าสู่กระบวนการจัดสรรเงินกองทุนฯ โดยคาดว่าจะสามารถประกาศยุทธศาสตร์การจัดสรรฯ และประกาศเปิดรับข้อเสนอโครงการได้ประมาณเดือนธันวาคม 2563

ปลัดกระทรวงพลังงาน ประชุมหารือเชิงนโยบายด้านพลังงานระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทย ครั้งที่ 1

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2563 ได้มีการเปิดตัวการประชุมหารือเชิงนโยบายด้านพลังงานระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทย ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ โดยมีนายฟรานซิส อาร์ แฟนนอน ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศด้านทรัพยากรพลังงานของสหรัฐอเมริกา และนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ทำหน้าที่หัวหน้าคณะของทั้งสองฝ่าย พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากฝ่ายสหรัฐอเมริกาและผู้แทนจากกระทรวงพลังงานไทยเข้าร่วมการประชุม

การประชุมหารือเชิงนโยบายด้านพลังงานระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทย ครั้งที่ 1 เป็นเวทีที่มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนด้านพลังงานระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา โดยมุ่งเน้นความร่วมมือในการสร้างการเติบโตของตลาดพลังงาน เสริมสร้างโอกาสในการพัฒนาด้านพลังงานทดแทน และขยายการเชื่อมโยงไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียนและภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ตระหนักถึงความสำคัญของกรอบการหารือทวิภาคีระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาที่ได้มีการดำเนินกิจกรรมความร่วมมือมาอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมข้อตกลงเชิงการค้าด้านพลังงาน นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้นำเสนอความก้าวหน้าของโครงการความร่วมมือด้านพลังงานในประเทศไทย รวมทั้งได้มีการหารือแนวทางการจัดลำดับความสำคัญและความเร่งด่วนของกิจกรรมความร่วมมือและการสนับสนุนทางด้านเทคนิคที่สามารถดำเนินการต่อไปได้ในอนาคต

ในโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกันให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการประชุมหารือเชิงนโยบายด้านพลังงานระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทย ครั้งที่ 2 ณ ประเทศไทย ในกรณีที่ผู้เข้าร่วมการประชุมสามารถเดินทางระหว่างประเทศได้ตามปกติ และได้เห็นชอบที่จะขยายกิจกรรมความร่วมมือเพื่อพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของพลังงานสะอาด น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ การอนุรักษ์พลังงาน และการผลิตไฟฟ้าอีกด้วย

ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน เป็นตัวแทนรับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2563

วันนี้ 16 ก.ย. 63 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีรับมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2563 โดยมี นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน เป็นตัวแทนรับรางวัล ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ ชั้น 1 อิมแพค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี
โอกาสนี้ กระทรวงพลังงานได้รับรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม ระดับดี 3 โครงการได้แก่
1. โครงการส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการสูบน้ำเพื่อการเกษตร ภายใต้โครงการพลังงานชุมชนจัดการตนเองด้านพลังงาน ปี 2560 ของสำนักงานพลังงานจังหวัดกำแพงเพชร
2. โครงการก้อนเส้าเขย่ามูลสัตว์และแสงแดดเป็นอาหารและเงินตรา@คำแคน ของสำนักงานพลังงานจังหวัดขอนแก่น
3. โครงการร่วมคิดร่วมสร้างเส้นทางสู่ Krabi Goes Green ด้านพลังงานของสำนักงานพลังงานจังหวัดกระบี่

 

ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดงาน “ตลาดนัดพลังงานร่วมใจ”

กระทรวงพลังงานจัดงาน “ตลาดนัดพลังงานร่วมใจ” หนุนนำร่อง 4 ผลิตภัณฑ์แปรรูปของชุมชน กล้วยตาก-ข้าวแตน-ข้าวฮาง-กะปิ ที่กระจายทั่วประเทศกว่า 200 ชุมชนติดตราสัญลักษณ์ “ผลิตภัณฑ์ชุมชน ลดใช้พลังงาน” หวังโปรโมตสินค้าที่ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพให้รู้จักวงกว้าง พร้อมช่วยเพิ่มยอดขาย กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก

วันนี้ (14 ก.ย.63) นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังการเป็นประธานเปิดงาน “ตลาดนัดพลังงานร่วมใจ” ว่า กิจกรรมนี้อยู่ภายใต้โครงการสร้างมาตรฐานการตรวจวัดและรับรองคุณภาพการแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อลดการใช้พลังงาน ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจระดับชุมชนท้องถิ่นช่วยสร้างความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ สามารถสร้างศักยภาพการแข่งขัน ช่วยยกระดับมาตรฐานการครองชีพและความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชนต่างๆ ให้ดีขึ้น ตามเป้าหมายการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2561 -2580 ในด้านเศรษฐกิจฐานราก “การจัดงานวันนี้มีบทบาทช่วยผลักดัน และยกระดับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆของชุมชนที่ผ่านเกณฑ์รับรองและได้รับตราสัญลักษณ์ “ผลิตภัณฑ์ชุมชน ลดใช้พลังงาน” จากกระทรวงพลังงานให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะทำให้ชุมชนต่างๆ ได้เห็นความสำคัญของการจัดการพลังงานในกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชน ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังเป็นการลดตันทุนในการผลิต กระตุ้นยอดจำหน่ายสินค้า และทำให้มีช่องทางการจำหน่ายสินค้าของชุมชนที่มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัยไปสู่ผู้บริโภค ส่งผลให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจฐานรากของประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไป” นายกุลิศ กล่าว งาน “ตลาดนัดพลังงานร่วมใจ” นี้ จัดขึ้นภายใต้“โครงการสร้างมาตรฐานการตรวจวัดและรับรองคุณภาพการแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อลดการใช้พลังงาน” โดยสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กระทรวงพลังงาน ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เป้าหมายเพื่อสร้างมาตรฐานการตรวจวัดการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรภายในชุมชนต่างๆ พร้อมจัดทำเกณฑ์การมอบตราสัญลักษณ์ “ผลิตภัณฑ์ชุมชน ลดใช้พลังงาน” มอบให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มแม่บ้าน หรือ กลุ่มชุมชนอื่นๆที่สามารถลดการใช้พลังงานในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ลงได้ ซึ่งเป็นการช่วยลดต้นทุนด้านการผลิตและเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน โดยการนำเทคโนโลยีพลังงานมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตและแปรรูป
จากการดำเนินงานในปี 2562-2563 ที่ผ่านมา คณะทำงานได้ลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลการใช้พลังงานของกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์นำร่อง 4 ประเภท ที่มีการกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ คือ กล้วยตาก ข้าวแตน ข้าวฮาง และกะปิ จำนวนรวมทั้งสิ้น 206 ชุมชน เพื่อนำมาวิเคราะห์หาค่าดัชนีการใช้พลังงานต่อหน่วยผลิต และค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละผลิตภัณฑ์ สำหรับจัดทำเป็นเกณฑ์การรับรอง “ผลิตภัณฑ์ชุมชน ลดใช้พลังงาน” ซึ่งกระทรวงพลังงาน ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่มีหน้าที่ให้การรับรองและออกเครื่องหมายรับรองมาตราฐานผลิตภัณฑ์ เช่น กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม มาร่วมเป็นคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานตราสัญลักษณ์ “ผลิตภัณฑ์ชุมชน ลดใช้พลังงาน” โดยมีผู้ผ่านการรับรองผลิตภัณฑ์ฯและได้ตราสัญลักษณ์ฯ จำนวนทั้งสิ้น 141 แห่ง จาก 206 แห่ง
การจัดงาน “ตลาดนัดพลังงานร่วมใจ” ในวันนี้ มีกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชนจากทุกภาคทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 20 แห่ง มาร่วมการจำหน่ายสินค้าประกอบด้วย ตัวแทนของกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ผ่านเกณฑ์การรับรองและได้รับตราสัญลักษณ์ฯ จำนวน 8 แห่ง ส่วนอีก 12 แห่งนั้น เป็นกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ฯ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของโครงการที่จะดำเนินการขยายผลในปีต่อๆไป

ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการสัมมนา “สรุปผลการศึกษาโครงการศึกษาการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และออกแบบการพัฒนาศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ เพื่อรองรับการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ในการขับเคลื่อนแผนพลังงานของประเทศไทย”

ก.พลังงานเปิดโรดแมป “ศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ” เร่งรองรับยุค Big Data เชื่อมโยงข้อมูลพลังงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

กระทรวงพลังงาน พร้อมเดินหน้าจัดตั้งศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ หลังได้ข้อสรุปจากผลการศึกษา วางภารกิจหลักเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยน เชื่อมโยง บูรณาการและเผยแพร่ข้อมูลด้านพลังงานให้กับทุกภาคส่วน เพื่อนำไปใช้วิเคราะห์ คาดการณ์ด้านพลังงานได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ พร้อมเปิดโรดแมป 3 ระยะหนุนขับเคลื่อนแผนบูรณาการพลังงานระยะยาวของประเทศ

​     นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการสัมมนา “สรุปผลการศึกษาโครงการศึกษาการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และออกแบบการพัฒนาศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ เพื่อรองรับการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ในการขับเคลื่อนแผนพลังงานของประเทศไทย”ว่า แนวทางการจัดทำยุทธศาสตร์และการออกแบบในการจัดตั้ง “ศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ” (National Energy Information Center : NEIC) ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการศึกษาและขณะนี้มาถึงบทสรุปผลการศึกษาของโครงการฯ แล้ว โดยวันนี้ (9 ก.ย.63) ได้จัดสัมมนาขึ้นเพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาเกี่ยวกับการจัดตั้งศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ร่วมให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมก่อนที่จะนำผลสรุปที่ได้ดำเนินการต่อไป

​     สำหรับผลการศึกษาได้วางวิสัยทัศน์ของศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติให้เป็นผู้ให้บริการข้อมูลและสารสนเทศด้านพลังงานของประเทศที่ตรงตามความต้องการและเป็นที่เชื่อถือของผู้ใช้ทุกกลุ่ม ทุกประเด็น โดยวางพันธกิจสำคัญในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศได้มาตรฐานสากล ตามหลักธรรมาภิบาลและตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ข้อมูลทุกกลุ่ม โดยประสานความร่วมมือและสร้างเครือข่ายในการรับและเผยแพร่ข้อมูลพลังงาน สามารถให้บริการข้อมูล บทวิเคราะห์ การคาดการณ์ด้านพลังงานให้แก่ผู้สนใจนำไปใช้ประโยชน์ เสริมสร้างความเข้าใจ สร้างการเข้าถึงแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน

​     ทั้งนี้ได้วางแนวทางที่เป็น Road Map ในการพัฒนาศูนย์ฯ เป็น 3 ระยะคือ ระยะที่ 1 ปี 2564-2566 เป็นการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภายในกระทรวงพลังงาน เพื่อจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐด้านพลังงานให้เป็นรากฐานที่สำคัญ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศเพื่อเชื่อมต่อระบบคลาวด์กลางภาครัฐ ระยะที่ 2 ปี 2567-2569 เป็นการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภายนอกกระทรวงพลังงาน เตรียมความพร้อมตามแนวทางของรัฐบาลในการมุ่งสู่แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ และระยะที่ 3 ปี 2570-2579 เป็นการเชื่อมโยงคลังข้อมูลแห่งชาติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการให้บริการข้อมูลสารสนเทศเชิงพาณิชย์แก่ผู้ที่สนใจ เพื่อผลักดันให้ศูนย์ฯ เป็นหน่วยงานที่มีความอิสระและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

​     “ในสถานการณ์ที่ประเทศต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 การบริหารจัดการกับข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data จึงมีความจำเป็นต้องเร่งประยุกต์นำ Big Data มาใช้กับเทคโนโลยี เพื่อช่วยบริหารจัดการ วางนโยบายและมาตรการด้านพลังงานให้สอดคล้องกับวิถีแบบใหม่หรือ New Normal เพื่อสามารถตอบสนองได้ทันท่วงทีต่อสถานการณ์ และพฤติกรรมของผู้คนที่จะปรับเปลี่ยนไปหลังผ่านวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ซึ่ง สนพ. เชื่อมั่นว่าการนำผลการศึกษาที่ได้เป็นข้อเสนอการพัฒนาศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงข้อมูลแผนบูรณาการพลังงานระยะยาวของประเทศต่อไป” ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวในท้ายที่สุด

ปิดฉาก SOME ครั้งที่ 38 ชูประเด็นฟื้นฟูเศรษฐกิจ เร่งจ้างงานในภูมิภาค เตรียมส่งต่อที่ประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนปลายปีนี้

การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านพลังงาน หรือ SOME ครั้งที่ 38 ในรูปแบบออนไลน์เสร็จสิ้นลงแล้ว เปิดผลการประชุมเน้นแนวทางความร่วมมือด้านการใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนสาขาพลังงานในยุคเปลี่ยนผ่าน ที่ประชุมหนุนนโยบาย “พลังงานร่วมใจ รวมไทยสร้างชาติ”ที่จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการลงทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจและเพิ่มอัตราการจ้างงานภายในภูมิภาค พร้อมเตรียมสรุปผลประชุมนำเสนอสู่การพิจารณาระดับรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน หรือ AMEM ครั้งที่ 38 ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 63 ต่อไป
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมออนไลน์เจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 38 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (The 38th Senior Officials Meeting on Energy and Associated Meetings : The 38th SOME) ที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 24 – 27 สิงหาคม 2563 ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว โดยการประชุมครั้งนี้มีประเด็นการประชุมที่สำคัญ ดังนี้
1. การกำหนดแนวทางการดำเนินงานในแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียนระยะที่ 2 (APAEC PHASE II) ซึ่งจะใช้ในปี 2021-2025 พร้อมทั้งสรุปผลการดำเนินงานโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียนระยะที่ 1 (APAEC PHASE I) และโครงการที่จะดำเนินการต่อเนื่องไปในอนาคต ที่อยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือ 7 สาขา คือ ความร่วมมือด้านไฟฟ้า ความร่วมมือด้านปิโตรเลียม ความร่วมมือด้านถ่านหิน ความร่วมมือด้านพลังงานทดแทน ความร่วมมือด้านการอนุรักษ์พลังงาน ความร่วมมือด้านนโยบายและแผนพลังงาน และความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์ โดยมุ่งเน้นการใช้นวัตกรรมทางพลังงานในการขับเคลื่อนสาขาพลังงานในยุคเปลี่ยนผ่าน (Energy transition)
2. การอภิปรายแนวโน้มและสถานการณ์พลังงานโลก ปัญหาที่เผชิญและแนวทางการฟื้นฟูทางด้านพลังงานภายหลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นประเด็นที่กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศคู่เจรจา รวมถึงองค์กรด้านพลังงานระหว่างประเทศให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากผลกระทบของโรคโควิด-19 ส่งผลในวงกว้างต่อเศรษฐกิจการจ้างงานและรูปแบบการใช้และจัดหาพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือแนวทางการรับมือในกรณีเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจมีผลกระทบต่อด้านพลังงานในอนาคตอีกด้วย
3. ประเทศไทยได้เสนอนโยบาย “พลังงานร่วมใจ รวมไทยสร้างชาติ” ซึ่งเป็นนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อเป็นแนวทางในการกระตุ้นการลงทุนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและเพิ่มอัตราการจ้างงานภายในภูมิภาค
“ประเทศผู้เข้าร่วมการประชุมให้ความสนใจเป็นอย่างมาก พร้อมทั้งให้การสนับสนุนโยบายดังกล่าว เพราะจะเป็นแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่สำคัญ และก่อให้เกิดการจ้างงานภายในภูมิภาค โดยจะเตรียมเสนอต่อที่ประชุมในระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานครั้งที่ 38 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 6 พฤศจิกายน 2563 นี้ต่อไป” ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าว
ทั้งนี้ กล่าวโดยสรุปการประชุมในครั้งนี้เน้นประเด็นที่การฟื้นฟูเศรษฐกิจและการจ้างงานภายในภูมิภาค การส่งเสริมการค้าขายพลังงานทั้งด้านไฟฟ้าและ LNG การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน การรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคพลังงานในอนาคต รวมถึงการกำหนดนโยบายและแนวทางการดำเนินงานเพื่อกระตุ้นการเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่ยุคพลังงานสะอาด เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน รวมทั้งให้มีความสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ขององค์การสหประชาชาติอีกด้วย

ปลัดกระทรวงพลังงาน เผยประชุมออนไลน์ SOME ครั้งที่ 38 สำเร็จ ชาติอาเซียนเร่งขยายความร่วมมือ 7 สาขาพลังงานกู้วิกฤตโควิด

วันนี้ (วันที่ 25 ส.ค.63) นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 24 – 27 สิงหาคม 2563 จะมีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 38 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (The 38th Senior Officials Meeting on Energy and Associated Meetings : The 38th SOME) โดยประเทศไทยได้ส่งมอบการเป็นประธานอาเซียนปี 2562 ให้ประเทศเวียดนามประธานอาเซียนปี 2563 ซึ่งประเทศเวียดนามเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียนในปี 2563 นี้ และการประชุมครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการจัดประชุม SOME รูปแบบออนไลน์ ที่ถือเป็น New Normal จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประเทศไทยได้นำนโยบาย “พลังงานร่วมใจ รวมไทยสร้างชาติ” ของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่เน้นการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ และรองรับนวัตกรรมด้านพลังงานอนาคต เสนอต่อที่ประชุมเพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนสนับสนุนและร่วมมือกันลงทุนด้านพลังงานในโครงสร้างพื้นฐาน (สายส่งและท่อก๊าซธรรมขาติ) รวมถึงธุรกิจพลังงานสะอาดและนวัตกรรมใหม่ด้านพลังงาน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 โดยได้ยกตัวอย่างนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนที่ใช้เชื้อเพลิงจากพลังงานทดแทน (RE) และการนำน้ำมันปาล์มดิบมาผสมน้ำมันดีเซลกับการนำเอทานอลมาผสมน้ำมันเบนซินที่ทำเป็นนโยบายหลักของประเทศ

การประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักที่จะผลักดันร่างแผนปฏิบัติการความร่วมมือพลังงานอาเซียน ระยะที่ 2 (ASEAN Plan of Action on Energy Cooperation : APAEC Phase 2) 2021 – 2025 ซึ่งแผนนี้เป็นแผนใหม่ที่ต่อเนื่องจากแผนระยะที่ 1 เพื่อที่ประเทศสมาชิกอาเซียนจะได้นำแผนปฏิบัติการนี้ไปดำเนินการให้เกิดผลสำเร็จเริ่มตั้งแต่ปี 2564 (2021) เป็นต้นไป ภายใต้ 7 สาขาความร่วมมือ ดังนี้

  1. ความร่วมมือการเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid: APG) การขยายการซื้อขายไฟฟ้าแบบพหุภาคีไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค รวมถึงการเพิ่มศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการดำเนินการเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานในอาเซียน
  2. ความร่วมมือด้านปิโตรเลียม (Trans ASEAN Gas Pipeline: TAGP) ที่ประชุมเห็นชอบการพัฒนาตลาดร่วมก๊าซธรรมชาติในภูมิภาค (Common Gas Market) และการเชื่อมโยงขยายการซื้อขายก๊าซธรรมชาติโดยใช้ Small Scale LNG พร้อมทั้งสนับสนุนการใช้ก๊าซ ในการเดินเรือ หรือ LNG Bunkering
  3. ความร่วมมือด้านถ่านหิน (Coal and Clean Coal Technology: CCT) ที่ประชุมเห็นชอบและพร้อมที่จะลงนามในบันทึกข้อตกลงจัดตั้งศูนย์ข้อมูลพลังงานถ่านหินสะอาดอาเซียน (ASEAN Coal Centre of Excellence) ณ ประเทศอินโดนีเซีย และระบบข้อมูลพลังงานถ่านหินอาเซียน (ASEAN Coal Data and Information System: ACDIS)
  4. ความร่วมมือในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน (Energy Efficiency & Conservation: EE&C) ที่ประชุมเห็นชอบการเพิ่มเป้าการลดความเข้มการใช้พลังงานจากที่กำหนดไว้เดิมร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 32 ภายในปี 2025 เนื่องจากในปัจจุบันประเทศสมาชิกได้ดำเนินการสำเร็จแล้วร้อยละ 24.4 ในปี 2019
  5. ความร่วมมือด้านพลังงานทดแทน (Renewable Energy: RE) ที่ประชุมเห็นชอบเป้าสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนร้อยละ 23 เทียบกับปริมาณพลังงานที่ผลิตได้ทั้งหมด (Total Primary Energy Supply) และร้อยละ 35 เทียบกับปริมาณกำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้าทั้งหมด (Installed Power Capacity) ในปี 2025 ซึ่งเป้าที่กำหนดเป็นเป้าหมายที่ท้าทายประเทศสมาชิกอาเซียนเนื่องจากในปัจจุบัน (2018) อาเซียนดำเนินการได้เพียงร้อยละ 13.3 เทียบกับปริมาณพลังงานที่ผลิตได้ทั้งหมด (Total Primary Energy Supply) และร้อยละ 27.1 เทียบกับปริมาณกำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้าทั้งหมด (Installed Power Capacity) ณ ปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตติดตั้งจากพลังงานทดแทน 11,890 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นร้อยละ 18 ของกำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนของทั้งอาเซียน และมีการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในภาคขนส่งมากที่สุดในอาเซียน และมีการใช้เอทานอลอยู่ที่ประมาณ 4 ล้านลิตรต่อวัน ในขณะที่การใช้ไบโอดีเซลอยู่ที่ 5.22 ล้านลิตรต่อวัน
  6. ความร่วมมือด้านนโยบายและแผนพลังงานอาเซียน (Regional Energy Policy & Planning: REPP) จัดทำ ASEAN Energy Outlook ฉบับที่ 7 เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาความมั่นคงด้านพลังงาน เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมและความร่วมมือระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบที่จะพิจารณาแนวทางการเพิ่มการค้าการลงทุนด้านพลังงาน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานเป็นการเพิ่มเติมด้วย
  7. ความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์ (Civilian Nuclear Energy: CNE) ที่ประชุมสนับสนุนการสร้างความร่วมมือด้านการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในภูมิภาคอาเซียนสำหรับประชาชนอย่างปลอดภัยและยั่งยืน แลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อสร้างขีดความสามารถและเครือข่ายความร่วมมือเชิงเทคนิคและเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์ มุ่งสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจแก่สาธารณชนเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์เพื่อการผลิตไฟฟ้าในภูมิภาค

นอกจากนี้ อาเซียนจะได้ประชุมหารือร่วมกับประเทศคู่เจรจา อาทิ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย เป็นต้น เกี่ยวกับความร่วมมือในการเชื่อมโยงทางพลังงานเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของอาเซียน รวมถึงการหารือกับองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ อาทิ ทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) และทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (IRENA) เกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานโลกและผลกระทบ พร้อมทั้งการรับมือจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในภาคพลังงาน

สำหรับการประชุม SOME ครั้งที่ 38 มีประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วม 10 ประเทศ และประเทศคู่เจรจา 8 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 2 องค์กร โดยผลการประชุมในครั้งนี้จะได้นำเสนอต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรีพลังงานอาซียนครั้งที่ 38 ที่ประเทศเวียดนาม ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งอาจจะต้องใช้รูปแบบการประชุมออนไลน์เช่นเดียวกัน หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดยังไม่คลี่คลายลง

ปลัดกระทรวงพลังงานเปิด “การประชุม SOME 38 “

วันที่ 24 สิงหาคม 2563 นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวเปิดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านพลังงานในวาระการส่งต่อการเป็นประธานการประชุมให้แก่เวียดนาม โดยสรุปสาระสำคัญดังนี้
– ปีนี้เป็นปีที่พิเศษสำหรับเหล่าประเทศอาเซียนเนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ทำให้ไม่สามารถจัดการประชุมประจำปีในรูปแบบปกติเหมือนทุกๆ ปีได้ แต่ด้วยความสามารถ และความมุ่งมั่นของทุกๆฝ่ายภายในภูมิภาคในการร่วมมือเพื่อที่จะพัฒนาภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นที่มาของการประชุมในรูปแบบ new normal ในวันนี้ ให้สามารถทำงานให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ปกติขณะนี้ได้อย่างต่อเนื่อง

– เป็นที่ทราบกันดีว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 นี้ส่งผลกระทบต่อเป้าหมาย ความมั่นคง ยั่งยืนและเข้าถึงได้ในด้านพลังงาน ดังนั้น นับเป็นโอกาสอันเหมาะสมในการหารือร่วมกันของประเทศในภูมิภาคร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อหารือเกี่ยวกับเเนวทางที่จะรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ และแนวทางการฟื้นฟูทางด้านพลังงาน โดยให้มีความยืดหยุ่น และสามารถดัดแปลงได้เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

– ทั้งนี้ ผมขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จของแผนปฏิบัติการความร่วมมืออาเซียนด้านพลังงานระยะที่ 1 APAEC Phase I 2016-2020 และขอขอบคุณประเทศสิงคโปร์ในฐานะประธานคณะกรรมการร่างแผนปฏิบัติการความร่วมมืออาเซียนด้านพลังงานระยะที่ 2 และทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมกันร่างแผนปฏิบัติการดังกล่าวให้สำเร็จพร้อมสำหรับนำมาใช้ในปี 2021 – 2025 ต่อไป

– ในฐานะ Outgoing chair ผมขอขอบคุณเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านพลังงานของอาเซียนทุกท่าน เลขาธิการอาเซียน และศูนย์ความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียน รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกๆท่าน ที่ได้ให้การสนับสนุน ความร่วมมือ และความช่วยเหลือในทุกๆด้าน ตลอดวาระการเป็นประธานอาเซียนของไทยในปีที่ผ่านมาเป็นอย่างดี

ในการนี้ เพื่อให้ความร่วมมือของภูมิภาคเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ผมขอส่งต่อการเป็นประธานให้แก่ประเทศเวียดนาม ให้เป็นผู้นำความร่วมมือของอาเซียนที่จะนำมาซึ่งความมั่นคงและยั่งยืนทางด้านพลังงานของภูมิภาคของเราในอนาคตสืบไป

Page 1 of 3
1 2 3