รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดงานบางจากไฮดีเซล S B 10 ดีเซลแรงแห่งปี

วันนี้ (19 ก.พ. 63) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดงานบางจากไฮดีเซล S B 10 ดีเซลแรงแห่งปี และมีนายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยผู้บริหารของกระทรวงพลังงาน ผู้บริหารบางจากฯ ผู้บริหารค่ายรถยนต์ และนายณัฐวุฒิ สะกิดใจ (ป๋อ) นักแสดงชื่อดังร่วมในงาน

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวว่า กระทรวงพลังงานมีนโยบาย “Energy For All” พลังงานจะต้องเข้าถึงทุกคน ประชาชนฐานรากต้องได้ประโยชน์จากนโยบายพลังงาน โดยใช้กลไกด้านพลังงานไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากเพื่อแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตร สนับสนุนให้เกิดการใช้น้ำมันบนดินที่มาจากผลผลิตของเกษตรกร ได้แก่ น้ำมันดีเซล B 10 ที่ส่งเสริมการใช้ปาล์มน้ำมันมาผลิตไบโอดีเซล และแก๊สโซฮอล์ E 20 ที่ส่งเสริมการใช้อ้อย มัน มาผลิตเป็นเอทานอล โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล B 10 ที่กระทรวงพลังงานได้ผลักดันให้เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานของประเทศ โดยตั้งเป้าหมายให้สถานีบริการน้ำมันจำหน่ายน้ำมันดีเซล B 10 ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563

นโยบายส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล B 10 ได้ส่งผลเป็นรูปธรรมชัดเจน ช่วยสร้างเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมัน และยังเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมเพราะช่วยลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และยังช่วยให้ผู้บริโภคประหยัดค่าใช้จ่ายจากราคาที่ต่ำกว่าน้ำมันดีเซล B 7 ถึง ลิตรละ 2 บาท ตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน

​      กระทรวงพลังงานยืนยันว่า การใช้น้ำมันดีเซล B 10 กับเครื่องยนต์ที่สามารถรองรับการใช้งานจะไม่มีผลกระทบกับเครื่องยนต์ เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์ให้การรับรองการใช้งานไว้เรียบร้อยแล้ว โดยผู้ที่มีความสนใจจะใช้น้ำมันดีเซล B 10 สามารถตรวจสอบรุ่นรถ ได้จากประกาศกรมธุรกิจพลังงานค่ายรถให้การสนับสนุนนโยบายดังกล่าว รวมถึงจะกำกับดูแล ตรวจสอบคุณภาพน้ำมันตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการจำหน่ายที่สถานีบริการน้ำมัน ให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าจะได้ใช้น้ำมันดีเซล B 10 ที่มีคุณภาพ จึงอยากเชิญชวนให้ประชาชนเลือกใช้น้ำมันดีเซล B 10 ซึ่งนอกจากจะมีส่วนช่วยเกษตรกรสวนปาล์มแล้ว ยังช่วยลดมลพิษทางอากาศด้วย

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บางจากฯ ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีพัฒนาธุรกิจทุกด้านอย่างไม่หยุดนิ่ง เพื่อให้คนไทยได้ใช้พลังงานสะอาดที่ดีทั้งต่อการใช้งานและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพลังงานด้านชีวภาพ (Bio fuel)

ที่ผ่านมาบางจากฯ เป็นธุรกิจพลังงานรายแรกๆ ที่ผลิตและจำหน่ายพลังงานทางเลือกทั้งกลุ่มแก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซลด้วยแนวคิดที่จะช่วยรองรับผลผลิตทางการเกษตร สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้เกษตรกรไทย รวมทั้งพัฒนาน้ำมันคุณภาพ EURO 5 เพื่อช่วยลดมลภาวะฝุ่นควัน ให้คนไทยได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น ซึ่งล่าสุดนี้ บริษัทฯ ได้พัฒนา “บางจากไฮดีเซล S B 10” เปิดจำหน่ายแล้วกว่า 400 แห่งทั่วประเทศ และจะขยายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

บางจากไฮดีเซล S B 10 พัฒนาขึ้นด้วยเทคโนโลยี Green S ที่มีสมรรถนะโดดเด่นทั้งความแรงและความสะอาด พร้อมผสมสารเพิ่มคุณภาพ(Additive) ได้แก่ S Super Booster และ S Super Purifier ช่วยทำให้เครื่องสะอาด ป้องกันการอุดตันของหัวฉีด และเพิ่มค่าซีเทน จึงทำให้เครื่องยนต์เผาไหม้ได้สมบูรณ์ เครื่องยนต์ทำงานเต็มสมรรถนะ ตอบสนองการขับขี่ได้ดีทั้งทางเรียบและทางชันประหยัดเชื้อเพลิง ใช้ได้กับทั้งรถเล็กและรถใหญ่ ที่สำคัญช่วยลดมลภาวะฝุ่นควัน โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 นอกจากนั้นยังประหยัดค่าใช้จ่ายจากราคาที่ต่ำกว่าน้ำมันดีเซล B 7 ถึงลิตรละ 2บาท ตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน

นายชัยวัฒน์กล่าวต่อไปว่า เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้น้ำมันดีเซล B 10 นอกจากจะเร่งขยายการจำหน่ายอย่างรวดเร็วแล้ว บางจากฯ ยังมีแผนสื่อสารประชาสัมพันธ์โดยมีนักแสดงชื่อดัง คุณป๋อ ณัฐวุฒิ สกิดใจ ซึ่งเป็นผู้ใช้น้ำมันดีเซลอยู่แล้วและเข้าใจถึงความต้องการของเครื่องยนต์ดีเซลมาเป็นพรีเซนเตอร์ พร้อมกลยุทธ์การสื่อสารทุกรูปแบบ อาทิเช่น สื่อโทรทัศน์ วิทยุ สื่อออนไลน์ และจัดกิจกรรมการตลาดต่อเนื่องเพื่อสร้างการรับรู้ในคุณภาพน้ำมันพร้อมทั้งรณรงค์ผู้ใช้รถเครื่องยนต์ดีเซลมาทดลองใช้ ได้แก่ กิจกรรมเติมบางจากไฮดีเซล S B 10 เต็มถังลดครึ่งราคา ระหว่างวันที่ 25 – 28 กุมภาพันธ์ 2563 ณ สถานีบริการน้ำมันบางจาก 4 สาขา 4 มุมเมือง และกิจกรรมอื่นๆ เพื่อกระตุ้นการใช้อย่างต่อเนื่องตลอดปี 2563

ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว (TIEB) ฉบับใหม่

วันนี้ (18 กุมภาพันธ์ 2563) นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว (TIEB) ฉบับใหม่ พ.ศ. 2561-2580 ณ ห้องวอเตอร์เกทบอลรูม โรงแรมอมารี วอร์เตอร์เกท กรุงเทพฯ โดยมีวิทยากรในสังกัดกระทรวงพลังงานนำเสนอภาพรวมการขับเคลื่อนTIEB ฉบับใหม่ จำนวน 4 แผน จาก 5 แผนพลังงาน ได้แก่ แผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan: AEDP2018), แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 (Power Development Plan: PDP2018 Rev.1), แผนอนุรักษ์พลังงานของประเทศ (Energy Efficiency Plan: EEP2018) และแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan2018) พร้อมทั้งร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมสัมมนาที่มาจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ และภาคประชาชน

สาระสำคัญของแผน TIEB ฉบับใหม่ ที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกับสถานการณ์พลังงานในปัจจุบัน และมีความสอดคล้องกัน ได้แก่ แผน AEDP2018 ได้ปรับเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในภาคการผลิตไฟฟ้า และความร้อนให้สอดคล้องกับแผน PDP2018Rev.1 เพื่อสนับสนุนนโยบาย Energy For All ในการสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โดยในปี 2563 – 2567 จะมีพลังงานชีวมวล, ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย), ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) และ Solar hybrid กำลังผลิตรวม 1,933 เมกกะวัตต์ พร้อมทั้งปรับลดสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพตามทิศทางการใช้พลังงานในอนาคต เช่น การใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นส่งผลให้การใช้น้ำมันลดลง และการสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแล้วเสร็จ ยังรักษาระดับเป้าหมายสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ในปี 2580

สำหรับแผน PDP2018Rev.1 ได้มีการปรับเป้าหมายคือ (1) รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ใหม่) ในบางประเภทเชื้อเพลิง โดยยังคงเป้าหมายรวมไว้เท่าเดิมที่ 18,696 เมกกะวัตต์ ปรับลดเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ลง และปรับเพิ่มเป้าหมายโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กของ กฟผ. 69 เมกกะวัตต์ ปรับเพิ่มเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) (2) เพิ่มนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (ชีวมวล), ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย), ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) และ Solar hybrid เข้าระบบตั้งแต่ปี 2563–2567 มีกำลังผลิตรวม 1,933 เมกกะวัตต์ (3) ชะลอโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐภาคใต้ ปีละ 60 เมกกะวัตต์ จากปี 2564– 2565 ไปเป็นปี 2565–2566 (4) เร่งรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลม จากเดิมปี 2577 มาเป็นปี 2565 (5) สมมติฐานการรับซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (ที่ไม่ใช่โรงไฟฟ้าชุมชน) ภายหลังปี 2567 จะใช้ตามสมมติฐานเดิมในแผน PDP 2018

ในส่วนแผน EEP2018 โดยตั้งเป้าการลด (Energy Intensity: EI) ลงร้อยละ 30 ภายในปี 2580 เมื่อเทียบกับปี 2553 มีเป้าหมายลด Peak 4,000 เมกะวัตต์ หรือลดพลังงาน 49,064 ktoe ประกอบด้วย 3 กลยุทธ์/5 กลุ่มเป้าหมาย มุ่งเน้นมาตรการเชิงเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับการอนุรักษ์พลังงานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและรูปแบบการใช้พลังงาน (Disruptive Technology) มีมาตรการที่ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้พลังงานทุกสาขาเศรษฐกิจ และสร้างการมีส่วนร่วมของการอนุรักษ์พลังงานในทุกภาคส่วน

โดยแผน Gas Plan2018 มีความสอดคล้องกับ PDP2018Rev.1 โดยพบว่าความต้องการใช้ก๊าซในภาพรวมในปี 2580 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.7% ต่อปี หรืออยู่ที่ 5,348 MMSCFD โดยมีแนวโน้มการใช้ในภาคการผลิตไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการใช้ในโรงแยกก๊าซและภาคขนส่งลดลง ด้านการจัดหาก๊าซฯ สำหรับโรงไฟฟ้าขนอม โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี และโรงไฟฟ้าใหม่ตามแผน PDP2018 มีความจำเป็นต้องจัดหา LNG Terminal ในภาคใต้ (5 ล้านตันต่อปี ) ในปี 2570 และการจัดหาก๊าซธรรมชาติผ่านโครงข่ายท่อบนบกจะเพียงพอกับความต้องการใช้ถึงปี 2563 ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป ต้องมีการจัดหา LNG เพิ่มเติมให้เพียงพอกับความต้องการใช้ก๊าซฯ ซึ่งต้องมีการปรับปรุงระบบโครงข่ายก๊าซธรรมชาติให้เหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้ สนพ. เชื่อมั่นว่าการรับฟังความคิดเห็นต่อแผน TIEB ฉบับใหม่ ในครั้งนี้ จะเป็นแผนแม่บทที่สำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน
ของไทย ในการจัดหาพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ต้นทุนพลังงานไม่แพง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และทำให้ประเทศสามารถแข่งขันได้
ในระดับสากล โดยหลังจากนี้จะมีการนำแผน TIEB ฉบับใหม่ เสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อให้ความเห็นชอบภายในเดือนมีนาคมนี้

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานลงพื้นที่ จ.สกลนคร

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานลงพื้นที่ จ.สกลนคร แจงนโยบายด้านพลังงานชุมชนเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า และผู้ประกอบการธุรกิจปาล์มน้ำมัน ไบโอดีเซลในพื้นที่
วันนี้ (14 ก.พ.63) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงพลังงาน เดินทางตรวจราชการที่จังหวัดสกลนคร และพื้นที่ใกล้เคียงจังหวัดนครพนม มุกดาหาร หนองคาย และอุดรธานี เพื่อมอบนโยบายพลังงานชุมชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้แก่พลังงานจังหวัดและหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงพลังงาน และพลังงานจังหวัดในพื้นที่ดังกล่าวได้รายงานความก้าวหน้าของโครงการต่างๆ ด้านพลังงาน โดยมีนายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร สส.พรรคพลังประชารัฐ ผู้แทนจากส่วนราชการ และสื่อมวลชน เข้าร่วมรับฟัง
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีที่นโยบายส่งเสริมการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากของกระทรวงพลังงาน ได้รับความสนใจอย่างมากจากประชาชน เพราะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง เนื่องจากนำจุดแข็งในชุมชนเกษตรกรรมที่มีวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ซังข้าว ซังข้าวโพด ที่สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งในอดีตวัสดุเหลือใช้เหล่านี้ต้องถูกเผาทิ้งไป กลายเป็นส่วนหนึ่ง ของสาเหตุเกิดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งฝากให้พลังงานจังหวัดในพื้นทีช่วยคัดกรองโครงการให้ดี
ความสำคัญของการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน จะช่วยตอบโจทย์ประชาชนทุกพื้นที่ โดยเน้นให้ประชาชน ในพื้นที่ต้องได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง มีการทำเกษตรพันธสัญญา การทำงานร่วมกันแบบประชาคมที่จริงจังยั่งยืน มีความเกื้อกูลกัน สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง โดยมีโรงไฟฟ้าดังกล่าวช่วยประคับประครองดูแลชุมชน สร้างชุมชนให้มีความเข้มแข็ง อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ซึ่งอาจมีรูปแบบการสร้างกองทุนร่วมกันระหว่างโรงไฟฟ้ากับชุมชนเพื่อใช้ในการพัฒนาชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
สำหรับรายละเอียดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขคัดเลือกโครงการฯ จะมีคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากพิจารณาอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และคาดว่า โรงไฟฟ้าชุมชนล็อตแรกในกลุ่มควิกวิน(Quick win)จะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในสิ้นปี 2563 หลังจากนั้นโรงไฟฟ้าชุมชนในกลุ่มทั่วไป จะก่อสร้างและจ่ายไฟเข้าระบบได้ในสิ้นปี 2564
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังให้ความสำคัญโครงการพลังงานที่จะช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง โดยต้องมีหน่วยงานที่จะดูแลรักษาสิ่งปลูกสร้างอย่างเป็นระบบเพื่อความยั่งยืนของโครงการ ย้ำเตือนความพร้อมของการจัดทำโครงการที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จตามสัญญา เพื่อให้โครงการที่ได้รับงบประมาณไป มีประสิทธิภาพสามารถใช้ได้จริง เป็นประโยชน์กับชุมชนและท้องถิ่น
นอกจากนี้ ในด้านการส่งเสริมไบโอดีเซล ก็เป็นการใช้จุดแข็งของพืชพลังงานบนดิน คือปาล์มน้ำมัน ที่สามารถผลิตได้ในประเทศมาใช้ในการผลิตไบโอดีเซลเพื่อผลักดันการใช้ B10 เป็นน้ำมันดีเซลฐานของประเทศ และนโยบายนี้ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นเป็นรูปธรรมแล้วว่า ช่วยสร้างเสถียรภาพราคาให้ปาล์มน้ำมันจนราคาสูงสุด เป็นประวัติการณ์
“หัวใจของนโยบายพลังงานชุมชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก คือ ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงาน ได้สามารถใช้พลังงานไปหมุนเศรษฐกิจในชุมชน ผ่านโครงการต่างๆ ด้านพลังงาน เช่น โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน การส่งเสริมไบโอดีเซล ส่งเสริม B10 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานในภาคขนส่ง และเตรียมสนับสนุนใช้พืชพลังงานในกลุ่มเบนซิน ได้แก่ มันสำปะหลัง อ้อย เพื่อผลักดันให้เกิดการนำไปใช้ผสมในน้ำมันเบนซินเพื่อให้ E20 เป็นน้ำมันเบนซินฐานของประเทศเป็นลำดับต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว
#EnergyForAll

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในงานมอบฉลากประสิทธิภาพสูง

กระทรวงพลังงาน ส่งเสริมภาคเอกชนติด “ฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง” เผยมีส่วนสนับสนุนนโยบาย “Energy for all” ในการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของทุกคน

วันนี้ (12 ก.พ.) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในงานมอบฉลากประสิทธิภาพสูง โดยมีผู้ประกอบการจากภาคเอกชนที่ได้รับมอบฉลากฯ พร้อมด้วยสื่อมวลชนเข้าร่วม

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้ให้ความสำคัญกับ นโยบาย Energy For All ซึ่งจะผลักดันให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงแหล่งพลังงาน และมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการการใช้พลังงานในทุกมิติ โดยเป้าหมายหนึ่งที่เราต้องเร่งดำเนินการให้สำเร็จเป็นรูปธรรมภายใต้นโยบายนี้ คือ “การช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนโดยการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน” แนวทางขับเคลื่อนที่สำคัญในเรื่องนี้ ได้แก่ การส่งเสริมให้ผู้ผลิตสินค้ามีการผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานในการประหยัดพลังงาน ควบคู่ไปกับกระตุ้นและส่งเสริมให้ผู้บริโภคหันมาใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงานที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงพลังงาน กระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จึงได้เดินหน้าโครงการ “ฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง” ในปี 2562 นี้ โดยมีการติดฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูงใน 19 ผลิตภัณฑ์ รวม 5.3 ล้านใบ ครอบคลุมในอุปกรณ์ที่ใช้งานกลุ่มต่างๆ ทั้งในบ้านอยู่อาศัย โรงงาน อาคาร รวมถึงอุปกรณ์ทางการเกษตร ซึ่งโครงการนี้สร้างผลประหยัดพลังงานสูงกว่า 135 พันตันน้ำมันดิบ(Ktoe)ต่อปี คิดเป็นมูลค่าผลประหยัดกว่า 4,360 ล้านบาทต่อปี ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 0.65 ล้านตันต่อปี

สินค้าที่ติดฉลาก จะผ่านการรับรองจากกระทรวงพลังงานว่าเป็นสินค้าประหยัดพลังงาน คือใช้พลังงานน้อยกว่าสินค้ารุ่นทั่วไปในตลาด ตั้งแต่ 10 ถึง 30% ขึ้นกับประเภทสินค้า การเลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน จะช่วยลดรายจ่ายค่าพลังงานในระยะยาว ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับนโยบาย Energy For All ในส่วนการดูแลค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของทุกคน อย่างในครัวเรือน

ส่วนแผนติดฉลากเพิ่มในอนาคต มุ่งเน้นภาคขนส่ง และภาคเกษตร อาทิ ยางรถยนต์ เครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า เครื่องจักรการเกษตร เป็นต้น ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีผลิตภัณฑ์ติดฉลากน้อย ต่อไปเราคงเห็นผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในทุกภาคเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อให้การติดฉลากเป็นไปอย่างแพร่หลายในอนาคต

สุดท้ายนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ได้กล่าวขอบคุณผู้ประกอบการที่มารับฉลากในครั้งนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในปีถัดๆ ไป จะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เพื่อช่วยกัน ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานได้ และทุกคนก็สามารถมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พลังงานได้เช่นกัน ตามนโยบาย
#Energy for all

ปลัดกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมงานนิทรรศการและงานประชุม ฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี่ เอเชีย 2020

วันนี้ (12 ก.พ. 63) นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมงานนิทรรศการและงานประชุม ฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี่ เอเชีย 2020 โดยงานได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากกระทรวงพลังงาน และความร่วมมือจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) งานนี้มุ่งหวังในการสร้างการรับรู้ทั่วโลกเกี่ยวกับความต้องการพลังงานอย่างยั่งยืนที่เพิ่มขึ้น และกลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานของรัฐบาลและผู้ให้บริการด้านพลังงานเพื่อตอบรับกับศักยภาพของเทคโนโลยีพลังงานสะอาดและเศรษฐกิจดิจิทัลที่เชื่อมต่อถึงกัน

โดยภายในงาน ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวว่า ในวาระการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของโลก ประเทศไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ในการเดินหน้าสู่พลังงานแห่งอนาคต การเข้าถึงบริการพลังงานที่ปลอดภัย ราคาสมเหตุสมผล และยั่งยืนถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับประเทศของเรา ในขณะที่พลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน และพลังงานที่ไม่ใช่ฟอสซิลนั้น ถือเป็นแนวโน้มการปฏิวัติที่เรากำลังดำเนินการในช่วงยุคเปลี่ยนผ่านนี้ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านพลังงานที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก หนึ่งในนโยบายสำคัญที่กระทรวงพลังงานยึดมั่นและเร่งขับเคลื่อนนั่นก็คือ “Energy for all พลังงานเพื่อทุกคน” ผ่านกลยุทธ์ “Prosumerization” ซึ่งจะสนับสนุนชุมชนและภาคเอกชนในการทำงานร่วมกันเพื่อแบ่งปัน ผลประโยชน์จากการลงทุนในโครงการพลังงานชุมชน ซึ่งสิ่งนี้เองจะช่วยผลักดันความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการเพิ่มขีดความสามารถด้านพลังงานหมุนเวียน และส่งเสริมเทคโนโลยีพลังงานผ่านนโยบาย 4D1E (Decentralization, Digitalization, Decarbonization, Deregulation and Electrification) ผมมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่างาน ฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี่ เอเชีย ในครั้งนี้ จะมอบโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องด้านพลังงานได้พบปะเพื่อปรึกษา หารือและทำงานร่วมกันเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานและนวัฒกรรมใหม่ๆ ให้ก่อเกิดพันธมิตรที่แข็งแกร่งระหว่างภาคธุรกิจและรัฐบาล

งานนิทรรศการและการประชุม ฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี่ เอเชีย 2020 จัดขึ้น ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมนานาชาติไบเทค (BITEC) ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 14 ก.พ. 63 ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถชมได้ที่เว็บไซด์ www.futureenergyasia.com

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์คลังน้ำมัน ของบริษัท ไทย ไปป์ไลน์ เน็ตเวิร์ค จำกัด(ทีพีเอ็น) ณ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น

วันนี้ (5 กุมภาพันธ์ 2563) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์คลังน้ำมัน ของบริษัท ไทย ไปป์ไลน์ เน็ตเวิร์ค จำกัด(ทีพีเอ็น) ณ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น โดยมีนายกัมพล ตติยกวี ประธานกรรมการ บริษัท ไทย ไปป์ไลน์ เน็ตเวิร์ค จำกัด (ทีพีเอ็น – TPN) ให้การต้อนรับ  ทั้งนี้โครงการดังกล่าว ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ให้ดำเนินการขยายท่อขนส่งน้ำมันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อ พ.ศ. 2559 โดยได้คัดเลือกให้บริษัท ไชน่า ปิโตรเลียม ไปป์ไลน์ บูโร (ประเทศไทย) จำกัด (ซีพีพี – CPP) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทั้งทีพีเอ็นและซีพีพีได้ทำงานร่วมกันตลอดระยะเวลาหนึ่งปีเพื่อทำการเตรียมพร้อมในเรื่องของระบบวิศวกรรมและวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าการก่อสร้างจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งบัดนี้มีความพร้อมที่จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างทั้งระบบท่อขนส่งน้ำมันและคลังน้ำมันตามแผนงานที่ตั้งไว้ จึงได้จัดพิธีวางศิลาฤกษ์คลังน้ำมันบ้านไผ่แห่งนี้ขึ้นเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของภารกิจสำคัญของทีพีเอ็นและซีพีพีนับจากนี้เป็นต้นไป

โดยระบบท่อขนส่งน้ำมันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมทั้งคลังน้ำมันแห่งนี้จะตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลในการสร้างความมั่นคงด้านการจัดหาพลังงาน และยังเอื้อต่อนโยบายการเก็บสำรองน้ำมันสำเร็จรูปในคลังส่วนภูมิภาค ส่งผลให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่เชื่อถือได้ (Reliable) ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ด้านเศรษฐศาสตร์ต่อประเทศ รวมถึงยังเป็นการรองรับการขยายตัวด้านการใช้น้ำมันในภูมิภาคอาเซียน ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางพลังงานของภูมิภาคอีกด้วย

“บริษัทฯ ตระหนักดีถึงภารกิจอันสำคัญยิ่งของเราต่ออนาคตและความมั่นคงของพลังงานในประเทศ และได้กำหนดเป็นนโยบายสำคัญในการดำเนินงานโดยคำนึงถึงหลักมาตรฐานสากลด้านความปลอดภัย ระบบวิศวกรรม กระบวนการตรวจสอบ ขั้นตอนการทำงาน ฯลฯ จึงมั่นใจได้ว่าการดำเนินโครงการขยายระบบท่อขนส่งน้ำมันภาคพื้นดินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเป็นไปด้วยความรอบคอบและมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ความมั่นคงทางพลังงานของประเทศในอนาคต รวมทั้งประโยชน์แก่ชุมชนและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง” นายกัมพล กล่าว

โครงการขยายระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือของบริษัท ไทยไปป์ไลน์ เน็ตเวิร์ค จำกัด มีระยะทางทั้งสิ้น 342 กิโลเมตร ผ่าน 70 ตำบล 22 อำเภอ 5 จังหวัด เริ่มจากอำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี มาสิ้นสุดที่อำเภอบ้านไผ่จังหวัดขอนแก่น และมีการก่อสร้างคลังน้ำมันปลายทางที่อำเภอบ้านไผ่ขนาด 140 ล้านลิตร ซึ่งเมื่อระบบแล้วเสร็จจะสามารถลดปริมาณการขนส่งน้ำมันทางรถบรรทุกลงไปจำนวนประมาณ 200,000 เที่ยวต่อปี คิดเป็นการประหยัดเชื้อเพลิงในการขนส่งลงไปได้กว่า 21 ล้านลิตรต่อปี ที่สำคัญ คลังน้ำมันแห่งนี้จะเกิดประโยชน์ต่อชุมชนโดยรอบและประชาชนในท้องถิ่นจากการสร้างงานให้แก่พี่น้องที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งนอกเหนือไปจากการสร้างงานจากบริษัทฯ โดยตรงแล้ว ยังจะเพิ่มโอกาสของการสร้างงานสร้างรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องอื่นๆอีกมาก จึงนับเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นโดยตรงและยังส่งผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งน้ำมันของประเทศ ลดความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงในการขนส่ง ลดปัญหาด้านอุบัติเหตุรวมถึงแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งยังเป็นโครงการฯ สำคัญที่มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานลงพื้นที่จ.ขอนแก่น รับฟังความคืบหน้าแนวทางดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนผลักดันนโยบายด้านพลังงาน

วันที่ 4 ก.พ. 63 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงพลังงานลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น”เพื่อมอบนโยบายพลังงานชุมชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยมีการรายงานแนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน และนโยบายด้านพลังงานอื่นๆจากพลังงานจังหวัดขอนแก่น รัอยเอ็ด กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม และรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการพลังงาน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น สส.พรรคพลังประชารัฐ ผู้แทนจากส่วนราชการและสื่อมวลชนให้การต้อนรับ และเข้าร่วมรับฟัง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ประชาชนและผู้ประกอบการ ให้การตอบรับนโยบายพลังงานดังกล่าวเป็นอย่างดี เนื่องจากนโยบายของกระทรวงพลังงานได้ส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ถือเป็นการพลิกมิติด้านพลังงานครั้งสำคัญ ตอบโจทย์ประชาชนทุกพื้นที่ทั่วประเทศสามารถเป็นเข้าถึงพลังงานได้ โดยนอกจากจะมีส่วนช่วยยกระดับให้ชุมชนได้เป็นผู้ผลิต ผู้ใช้ และผู้จำหน่ายไฟได้เองแล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาปากท้อง สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ลดการย้ายถิ่นฐาน สามารถเพิ่มการลงทุนในพื้นที่ได้อีก เช่น การปลูกพืชพลังงานเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง รวมทั้ง ลดปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 จากการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในที่โล่งแจ้ง ซึ่งในท้ายที่สุดทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจ และด้านสุขภาพ

“เรื่องโรงไฟฟ้าชุมชนนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญและอยากเห็นผลสำเร็จร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าและชุมชน คาดว่ารายละเอียดหลักเกณฑ์การจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนจะแล้วเสร็จประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ และคาดว่าจะมีคำขอเกินเป้าหมายที่กระทรวงพลังงานวางไว้ ซึ่งโจทย์หลักคือประโยชน์ชุมชน สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง มีชีวิตที่ดีขึ้น สามารถขายวัตถุดิบทางการเกษตรต่างๆ เป็นรายได้ ลดการเผา ลดปัญหา PM 2.5 ได้ด้วย อีกทั้งยังทำเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่งได้อีก เชื่อว่าพืชพลังงานที่จะทำมาใช้ในโรงไฟฟ้าจะต้องสร้างรายได้ต่อไร่ต่อปีที่มากกว่าเดิมอย่างแน่นอน เป็นเกษตรพันธสัญญากับโรงไฟฟ้า ปลูกแล้วรับซื้อกันไปได้ถึง 20 ปีเป็นอย่างน้อย ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถมีรายได้ที่ดีอย่างยั่งยืนยาวนาน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว
ทั้งนี้ จะมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาดำเนินงานร่วมกันกับชุนชน พร้อมย้ำว่า “หากมีเจ้าหน้าที่หรือผู้เกี่ยวข้องเรียกรับผลประโยชน์จากโครงการดังกล่าว จะลงโทษสถานหนัก และขอให้ผู้สนใจร่วมเป็นหูเป็นตาแจ้งข่าวให้กับผมด้วย”

“ขอให้มั่นใจได้ว่า กระทรวงพลังงานมีแนวทางในการดำเนินการที่ชัดเจนทั้งเรื่องโรงไฟฟ้าชุมชนและพร้อมจะให้การสนับสนุนให้กับผู้ประกอบการ และชุมชนที่มีความพร้อมเข้าลงทุนเพื่อจะได้มีส่วนช่วยในการสร้างให้การลงทุนใหม่เกิดขึ้นได้ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ สร้างประโยชน์สูงสุดให้กับชุมชน ซึ่งกระทรวงพลังงานถือว่าเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของนโยบายและโครงการนี้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าว

#EnergyForAll

ปลัดกระทรวงพลังงานนำผู้แทนกระทรวงพลังงานเข้าร่วมการประชุมหารือเชิงนโยบายความร่วมมือด้านพลังงานไทย-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 4

วันที่ 30 มกราคม 2563 นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นหัวหน้าคณะนำผู้แทนจากหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงพลังงานเข้าร่วมการประชุมหารือเชิงนโยบายความร่วมมือด้านพลังงานไทย-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 4 หรือ The 4th Japan-Thailand Energy Policy Dialogue (4th JTEPD) ณ เมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น

การประชุม 4th JTEPD ในครั้งนี้ได้มีการหารือเชิงนโยบายระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล นโยบายและความก้าวหน้าของการพัฒนาด้านพลังงานทั้งสองประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านนโยบายพลังงาน ด้านไฟฟ้า ด้านน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน รวมทั้งด้านเทคโนโลยีพลังงานสมัยใหม่ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของระบบพลังงานของประเทศที่จะก้าวไปสู่ยุคของพลังงานสะอาดแห่งอนาคต อาทิ โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ รถ EV ระบบกักเก็บพลังงาน เป็นต้น ทั้งนี้ ทั้งสองประเทศจะได้นำเสนอแนวทางการพัฒนากิจกรรมความร่วมมือระหว่างกันในสาขาต่างๆ ให้เกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น อาทิ การร่วมทุนในโครงการด้านพลังงานและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการส่งเสริมโอกาสการซื้อขาย LNG รายย่อยในกลุ่มประเทศอาเซียนในฐานะที่ไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็น LNG Trading Hub ของอาเซียน การร่วมลงทุนในการขยายสายส่งไฟฟ้าในกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อให้เกิดการซื้อขายไฟฟ้าข้ามพรมแดนมากขึ้น การเชิญชวนนักลงทุนจากญี่ปุ่นเข้ามาร่วมลงทุนและถ่ายทอดเทคโนโลยี เช่น AI IoT Big data กับ กฟผ.ในโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของไทย และการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับ Disruptive Technology เพื่อช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านและความยั่งยืนด้านพลังงาน รวมทั้งส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีของทั้งสองประเทศต่อไป

รองนายกรัฐมนตรี พร้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่ จ.กระบี่ ขับเคลื่อนนโยบาย B10 ครบวงจร

รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานสร้างความเชื่อมั่นนโยบายพลังงานเพื่อทุกคน Energy For All สู่จังหวัดกระบี่ ขับเคลื่อนนโยบาย B10 ทั้งระบบ หลังจากสร้างสมดุลให้ปาล์มน้ำมันมาแล้วในสเต็ปแรก โดยก้าวต่อไปเตรียมนำเทคโนโลยีตรวจสกัดลักลอบนำเข้า CPO พร้อมเตรียมขึ้นทะเบียนเกษตรกรสวนปาล์มควบคุมพื้นที่ปลูก เพื่อยกระดับคุณภาพปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน

วันนี้ (29 ม.ค.63) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงพลังงานลงพื้นที่จังหวัดกระบี่ มอบนโยบายพลังงานชุมชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก พร้อมเข้าร่วมปาฐกถาพิเศษ “B10 สร้างสมดุลปาล์มน้ำมันสู่ความยั่งยืน” โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ให้การต้อนรับ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า นโยบายดังกล่าวจะสร้างรายได้ชาวสวนปาล์มไม่ต่ำกว่า 5 – 6 พันล้านบาท/เดือน หลังราคาปาล์มสูงกว่า 7 บาท/กก. โดยกระทรวงพลังงานมีนโยบาย “Energy For All” พลังงานที่ทุกคนเข้าถึงได้ประชาชนต้องได้ประโยชน์จากนโยบายพลังงาน โดยใช้กลไกด้านพลังงานไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากเพื่อแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตร สนับสนุนให้เกิดการใช้น้ำมันบนดินที่มาจากผลผลิตทางการเกษตรที่มีอยู่ในประเทศไทย ผ่านนโยบาย B10 ส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล และนโยบาย E20 ส่งเสริมการใช้เอทานอล

โดยเฉพาะ B10 ที่ได้ดำเนินการผลักดันให้เกิดการใช้เป็นน้ำมันดีเซลฐาน และจะจำหน่ายได้ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 เป็นต้นไปนั้น ได้ส่งผลเป็นรูปธรรมชัดเจนช่วยสร้างเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมันให้เกิดขึ้นจนราคาสูงเป็นประวัติการณ์จากราคาเริ่มต้นนโยบาย 3 บาท/กก. เป็นมากกว่า 7 บาท/กก.ในปัจจุบัน ซึ่งทำให้ราคาสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านนำมาซึ่งอาจมีปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) กระทรวงพลังงานจึงได้วางมาตรการป้องกันโดยนำเทคโนโลยีมาใช้ตรวจวิเคราะห์เพื่อบ่งชี้แหล่งที่มาของ CPO เพราะแต่ละประเทศมีโครงสร้างทางเคมีที่ไม่เหมือนกัน เช่น พื้นดิน แร่ธาตุต่างๆ ซึ่งสามารถใช้เป็นข้อมูลดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้ลักลอบนำเข้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งจะเร่งติดมิเตอร์ตรวจวัดปริมาณไบโอดีเซลทุกถังเก็บในคลังผู้ผลิตเพื่อติดตามแบบเรียลไทม์ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ไตรมาส 2 ของปีนี้

​นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานได้วางมาตรการรักษาสมดุลปาล์มน้ำมันทั้งการร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์บริหารจัดการผลผลิตปาล์มน้ำมันเพื่อใช้ผลิตไบโอดีเซลไม่ให้กระทบการใช้เพื่อบริโภคในประเทศ รวมถึงเสนอแนวคิดขึ้นทะเบียนเกษตรกร เพื่อควบคุมพื้นที่ปลูก ผลผลิตต่อไร่ให้มีคุณภาพ ซึ่งการรับซื้อปาล์มต่อไปจะรับซื้อจากเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนก่อน ส่วนที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนจะพิจารณาลำดับถัดไป ทั้งนี้เกษตรกรต้องยกระดับการปลูกปาล์มให้มีคุณภาพ พัฒนาสายพันธุ์ที่สามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เป็นการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้มากขึ้น ช่วยให้ราคามีเสถียรภาพ และอาจประกาศรับซื้อปาล์มล่วงหน้า 3 เดือน ซึ่งอยู่ระหว่างหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“เหล่านี้เป็นกระบวนการที่ผ่านการคิดล่วงหน้ามาแล้วว่า จะต้องวางมาตรการแก้ไขแบบครบวงจรทุกมิติ วันนี้เราสร้างสมดุลปาล์มโดยช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตชาวสวนปาล์มดีขึ้นเป็นขั้นแรก และขั้นต่อไปคือการป้องกันลักลอบนำเข้า CPO ด้วยการใช้เทคโนโลยีมาช่วยตรวจจับ และหลังจากนั้นก็จะมีมาตรการต่อเนื่องอีกเพื่อแก้ไขได้ครบทั้งวงจร เกิดเสถียรภาพราคาแบบยั่งยืน ซึ่งถือเป็นการดำเนินการตามนโยบายที่มากกว่าแค่เรื่อง B10 เพราะได้แก้ไขปัญหาทั้งระบบของพืชพลังงานปาล์มน้ำมัน สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เกษตรกรชาวสวนปาล์ม มีรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและคณะยังได้เข้าร่วมประชุมรับฟังและเยี่ยมชมกิจการโรงสกัดน้ำมันปาล์มของบริษัท ป.พานิชรุ่งเรืองปาล์มออยล์ 2 จำกัด ที่จ.กระบี่ ซึ่งบริษัทฯ มีกำลังการผลิต 75/90 ตัน FFB (ทะลายปาล์มสด) ต่อชั่วโมง โดยบริษัทฯ มีแนวทางการพัฒนาพลังงานทดแทนผลิตชีวมวลที่เกิดจากการสกัดน้ำมันปาล์มมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า จากหม้อไอน้ำ ทำให้ปัจจุบันสามารถผลิตไฟฟ้าในโรงงานได้เอง 100% และยังมีการนำน้ำเสียจากกระบวนการสกัดน้ำมันปาล์มเข้าสู่ระบบไบโอแก๊สเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันบริษัทยังไม่ได้ขายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ
#EnergyForAll

กระทรวงพลังงานเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายพลังงานบนดิน ประกาศ E20 เป็นน้ำมันเบนซินฐาน และยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 กลางปี 2563

กระทรวงพลังงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เดินหน้าส่งเสริมพลังงานบนดินด้วยการผลักดันการใช้แก๊สโซฮอล์ E20 ให้เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานของประเทศ ตามรอยต่อจาก B10 ในกลุ่มดีเซล เพื่อยกระดับราคาพืชผลทางการเกษตร มันสำปะหลัง-อ้อย ที่เป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอลผสมในเบนซิน คาดเริ่มประกาศใช้ E20 เป็นน้ำมันเบนซินฐาน และเตรียมยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 ประมาณกลางปี 2563 หวังลดชนิดน้ำมัน     ในกลุ่มเบนซินลงเพื่อไม่ให้ประชาชนสับสน

          วันนี้ (24 ม.ค.63) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ภายหลังจากกระทรวงพลังงานได้ผลักดันนโยบายการส่งเสริมพลังงานบนดินส่งเสริมให้ B10 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานของประเทศไปแล้วและเกิดผลสัมฤทธิ์ทำให้เกิดเสถียรภาพด้านราคาปาล์มน้ำมันในประเทศ มาตรการต่อไปกระทรวงพลังงานได้เตรียมความพร้อมสำหรับการส่งเสริมน้ำมันบนดินในกลุ่มเบนซิน โดยจะผลักดันให้เกิดการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 หรือน้ำมันเบนซินที่มีสัดส่วนเอทานอลผสมอยู่ประมาณ 20% ให้เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานของประเทศ ทั้งนี้เพื่อสร้างสมดุลให้กับพืชเกษตร เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ที่เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเอทานอล และลดชนิดน้ำมันเบนซินในสถานีบริการโดยยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91

กระทรวงพลังงานจะประกาศให้ E20 เป็นน้ำมันเบนซินฐานของประเทศ คาดว่าเริ่มดำเนินการได้ประมาณกลางปี 2563 โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยสร้างเสถียรภาพราคาพืชพลังงานในกลุ่มมันสำปะหลังและอ้อย โดยเฉพาะมันสำปะหลังที่ปัจจุบันมีการนำมาใช้ผลิตเป็นเอทานอลคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 27 ของการผลิตเอทานอลทั้งหมด ซึ่งหากสามารถผลักดันการใช้  มันสำปะหลังในการผลิตเอทานอลให้สูงขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร และเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรอย่างยั่งยืนอีกด้วย

#EnergyForAll

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานขับเคลื่อนมิติพลังงานสู่ชุมชนหนองจอก

“สนธิรัตน์” ขับเคลื่อนมิติพลังงานสู่ชุมชนหนองจอก

เมื่อวันที่ 17 ม.ค.63 ที่ผ่านมา นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่ชุมชนคอยรุดดีน เขตหนองจอก กรุงเทพฯ ศึกษาดูงานร้านอาหารร่มไม้ปลายนา ซึ่งเป็นร้านอาหารที่ดำเนินงานในรูปแบบ Social Enterprise สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และประกอบอาชีพเกษตรกรรม เน้นสร้างรายได้และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้เดินทาง มาที่เขตหนองจอกและได้รับการต้อนรับจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ท่านศิริพงษ์ รัสมี และผู้อำนวยการเขตหนองจอก ซึ่งเขตหนองจอกนี้เป็นพื้นที่พิเศษของกรุงเทพฯที่เป็นทั้งเมืองและชนบท การพัฒนาจึงต้องใช้รูปแบบ ที่พิเศษกว่าที่อื่น ซึ่งผมดีใจมากที่ได้พบกับผู้นำชุมชนที่ให้ความใส่ใจในชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน และต้องการที่จะพัฒนาพื้นที่ในชุมชน โดยเฉพาะในเรื่องของการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและการบริหาร จัดการขยะ ซึ่งกระทรวงพลังงานก็ยินดีให้การสนับสนุนโดยเฉพาะเรื่องการนำขยะมาทำเป็นเชื้อเพลิง การนำพลังงานกลับมาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเป็นการลดภาระงบประมาณในการกำจัดขยะของส่วนกลาง การพัฒนาพลังงานในรูปแบบอื่นๆ รวมทั้งการสร้างศูนย์การเรียนรู้ด้านพลังงาน

“ผมเชื่อมั่นว่าที่นี่สามารถดำเนินการบริหารจัดการขยะของชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะชุมชนมีความเข้มแข็ง กระทรวงพลังงานจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยยกระดับให้การบริหารจัดการด้านพลังงาน เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งข้อเสนอแนะต่างๆ ของทางชุมชน ก็สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมผ่านกลไกของการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยมีกระทรวงพลังงานเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุน องค์ความรู้ด้านพลังงาน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวในท้ายที่สุด

ทั้งนี้ ชุมชนคอยรุดดีน เขตหนองจอกมีประชากรประมาณ 532 คน 135 ครัวเรือน ซึ่งต้องการขอรับการสนับสนุนจากกระทรวงพลังงานขับเคลื่อนให้ชุมชนเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการด้านพลังงาน เช่น การบริหารจัดการขยะในชุมชนด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยอาจผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะอัดก้อน (Refuse-Derived Fuel : RDF) การผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ที่มีอยู่จำนวนมากในชุมชน ทั้งโค กระบือ และแพะ หรือการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์เพื่อป้อนให้กับศูนย์กีฬาของชุมชนที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ เป็นต้น

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยังได้เป็นประธานเปิดงาน “มหกรรมของดี ที่หนองจอก” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชาวชุมชนหนองจอก ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-18 มกราคม 2563 ที่บริวเณสนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร กรุงเทพฯ #EnergyForAll

สมาพันธ์ปาล์มน้ำมันฯ ปลื้มนโยบาย B10 ขอบคุณกระทรวงพลังงาน

สมาพันธ์ปาล์มน้ำมันฯ ปลื้มนโยบาย B10 ขอบคุณกระทรวงพลังงาน
รมว.พลังงานแจงเป้าหมายหลักยกระดับเกษตรกรปลูก‘ปาล์มคุณภาพ’

วันนี้ (13 ม.ค. 63) กลุ่มสมาพันธ์ปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทยและสมาคมปาล์มน้ำมันจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สระบุรี สกลนคร ปทุมธานี ตรัง กระบี่ กว่า 20 คน ได้เข้าพบ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อขอบคุณกระทรวงพลังงานที่ได้ผลักดันโยบายการบังคับใช้ B10 เป็นน้ำมันดีเซลฐานของประเทศ ซึ่งถือเป็นนโยบายที่ถูกต้องและเข้าถึงเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ช่วยยกระดับราคาปาล์มน้ำมันกระเตื้องขึ้น สร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกรชาวสวนปาล์มทั่วประเทศ

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังพบปะตัวแทนกลุ่มสมาพันธ์ปาล์มน้ำมันฯ ว่า ตัวแทนเกษตรกรสวนปาล์มได้มาเยี่ยมและขอบคุณการผลักดันนโยบายน้ำมัน B10 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานของประเทศ ซึ่งในเดือนมีนาคม 2563 นี้ จะสามารถจำหน่าย B10 ได้ทุกสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ ขณะนี้ยอดการใช้ B10 ถือว่าเติบโตเร็วมากซึ่งเป็นเพราะความเชื่อมั่นจากนโยบายที่กำหนดไว้จะไม่เปลี่ยนสัดส่วนของ B10 ไม่ว่าสต็อกของปาล์มจะเป็นอย่างไรก็ตาม ทำให้ตลาดเกิดความเชื่อมั่นทั้งค่ายรถยนต์ ทั้งผู้ประกอบการโรงกลั่น

“ต้องถือว่านโยบาย B10 เป็นกลไกสำคัญ มีส่วนแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมันได้เหมือนดังที่พี่น้องเกษตรกรมาแลกเปลี่ยนในวันนี้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะต้องเดินหน้าต่อจากนี้ไปคือ การบริหารกลไกตลาด ซึ่งสำหรับกลไกที่มีอยู่ของทางกระทรวงพลังงานเชื่อมั่นว่า จะรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมันได้ในระดับที่น่าพึงพอใจ แต่คงต้องทำงานใกล้ชิดกับกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำงานร่วมกับพี่น้องเกษตรกร รวมทั้งกลไกด้านผู้ค้าด้วย ซึ่งในส่วนของไบโอดีเซล(B100) ได้เตรียมการรองรับไว้ระดับหนึ่งแล้ว เร็วๆนี้จะเตรียมติดตั้งมิเตอร์ในถัง B100 เพื่อติดตามตรวจสอบได้แบบเรียลไทม์ และสามารถบูรณาการร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ที่เตรียมติดมิเตอร์ในส่วนของ CPO อีกด้วย”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว
นอกจากนี้ ในอนาคตมีความเป็นไปได้ในเรื่องของตลาดซื้อขายล่วงหน้า โดยอาจจะนำสต็อก B100 มาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อช่วยลดผลกระทบเรื่องฤดูกาล และช่วยบริหารสต็อก ช่วยรักษาเสถียรภาพราคาได้ระดับหนึ่ง

“ผมไม่ได้หวังผลเรื่องราคาปาล์มน้ำมันอย่างเดียว เพราะเป้าหมายที่แท้จริงคือ ต้องการให้เกิดมาตรฐานปาล์มน้ำมันที่มีคุณภาพ หวังจะยกระดับเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน สร้างการเติบโตแบบยั่งยืนให้กับชาวสวนปาล์ม” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวในระหว่างพบปะกับกลุ่มเกษตรกรจากสมาพันธ์ปาล์มน้ำมันฯ

ทั้งนี้ ในการพบปะหารือ ทางตัวแทนกลุ่มเกษตรกรชาวสวนปาล์มฯ มีข้อห่วงกังวลเรื่องต่างๆ อาทิ เรื่องการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) เรื่องฤดูกาลช่วงก.พ.-เม.ย.ที่ผลผลิตปาล์มน้ำมันจะออกสู่ตลาดมาก เรื่องกลไกตลาดที่มีผลกระทบต่อราคา เป็นต้น

นายชโยดม สุวรรณรัตนะ ประธานกลุ่มคนปลูกปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย ตัวแทนสมาพันธ์สวนปาล์มภาคใต้ กล่าวว่า นอกจากมาขอบคุณรัฐมนตรีสนธิรัตน์เรื่องนโยบาย B10 แล้ว ยังมาส่งสัญญาณให้ทราบว่า ขณะนี้จะเริ่มใกล้สู่ฤดูกาลที่ปาล์มจะล้นตลาดแล้วคือช่วงเดือนก.พ.-เม.ย. และยังกังวลเรื่องการปั่นราคาปาล์มสูงเกินจริงเพื่อให้เกิดการนำเข้า จึงอยากให้ทางการเตรียมมาตรการรองรับ #EnergyForAll

*********************************

แผนเตรียมพร้อม ด้านเชื้อเพลิงและพลังงาน

ข้อมูลทรัพยากรด้านเชื้อเพลิงและพลังงานที่เชื่อมโยงกับกรมการสรรพกำลังกลาโหม

1. ข้อมูลโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า  คลิกที่นี่

2. ข้อมูลเขื่อนผลิตไฟฟ้า  คลิกที่นี่

3. ข้อมูลคลังน้ำมัน/ก๊าซ  คลิกที่นี่

4. ข้อมูลสถานีบริการน้ำมัน/LPG/NGV  คลิกที่นี่

5. ข้อมูลด้านปิโตรเลียม

5.1 การสำรวจปิโตรเลียม  คลิกที่นี่  

5.2 การผลิตปิโตรเลียม  คลิกที่นี่  

5.3 การขาย มูลค่า และค่าภาคหลวง  คลิกที่นี่  

5.4 ปริมาณสำรองปิโตรเลียม  คลิกที่นี่ 

5.5 โรงงานผลิตเอทานอล  คลิกที่นี่ 

5.6 ไบโอดีเซล  คลิกที่นี่ 

ก.พลังงาน ชี้แจงยังหนุนช่วยราคาน้ำมัน 1 บาท/ลิตร ถึง 10 ม.ค.นี้

ก.พลังงาน ชี้แจงยังหนุนช่วยราคาน้ำมัน 1 บาท/ลิตร ถึง 10 ม.ค.นี้

นายวัชระ กรรณิการ์ โฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ กบน. ได้มีมติลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดลดลง 1 บาท/ลิตร ตั้งแต่ 26 ธันวาคม 2562 ถึง 10 มกราคม 2563 นั้น จนถึงขณะนี้ (7 มกราคม 2563) ยังคงอัตราการลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ตามที่ได้มีมติข้างต้น ส่วนการเปลี่ยนแปลงราคาขายปลีกของสถานีน้ำมันในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงในส่วนของราคาหน้าโรงกลั่น มิใช่การเปลี่ยนแปลงอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ โดยหากไม่มีลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนฯ มาช่วยพยุงราคาไว้ จะทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นลิตรละ 1 บาทจากราคาขายในปัจจุบัน
ยกตัวอย่างเช่น หากกระทรวงพลังงานไม่ลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนฯ 1 บาท/ลิตร สำหรับแก๊สโซฮอล์ 95 ที่ราคา 26.45 บาท/ลิตร จะเพิ่มเป็น 27.45 บาท/ลิตร หรือแก๊สโซฮอล E20 จาก 23.44 บาท/ลิตรจะเป็น 24.44 บาท/ลิตร (ราคา ณ วันที่ 7 ม.ค. 2563)

“กระทรวงพลังงาน จึงขอชี้แจงประชาชนเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนต่อเรื่องนี้ว่า การเปลี่ยนแปลงราคาในช่วงนี้ เป็นเรื่องของกลไกตลาด ซึ่งถ้าไม่มีมาตรการลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ 1 บาทต่อลิตร ราคาก็จะสูงขึ้นอีก 1 บาทจากราคาปัจจุบัน ณ สถานีบริการ” โฆษกกระทรวงพลังงานกล่าวชี้แจง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แถลงชี้แจงความพร้อมรับมือสถานการณ์ตะวันออกกลางกรณีความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่าน ทั้งด้านปริมาณสำรอง และการดูแลเรื่องราคาพลังงาน

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดแถลงข่าวชี้แจงกรณีสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างประเทศสหรัฐฯและอิหร่านที่ส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกว่า ทางกระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินและเตรียมการหากเกิดสถานการณ์ที่วิกฤตเพิ่มขึ้น โดยในวันนี้ได้มีการประชุมหารือและได้เตรียมการที่สำคัญ ดังนี้
ด้านปริมาณสำรอง ปัจจุบัน ณ วันที่ 5 มกราคม 2563 ไทยมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบประมาณ 2,988 ล้านลิตร ปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างขนส่งอีก 1,144 ล้านลิตร น้ำมันสำเร็จรูป 1,468 ล้านลิตร รวมจำนวนวันที่สามารถใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้ทั้งหมด 50 วัน ส่วนปริมาณสำรองก๊าซ LPG ทั้งหมดประมาณ 101 ล้านกิโลกรัม สำรองได้ 17 วันสำหรับใช้ในภาคครัวเรือน
ทั้งนี้ ได้มีการบริหารจัดการเพื่อกระจายความเสี่ยงระยะยาว โดยกลุ่ม ปตท. ได้ปรับลดสัดส่วนการนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลางที่เคยสูงถึงกว่า 74% และล่าสุดปรับลดเหลือประมาณ 50%
ด้านการผลิตปิโตรเลียมในประเทศ ปัจจุบันผลิตน้ำมันดิบได้ประมาณ 1.3 แสนบาร์เรล/วัน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะขอความร่วมมือในการงดส่งออกน้ำมันดิบซึ่งจะได้ปริมาณน้ำมันดิบเพิ่มมากขึ้นประมาณ 25,000 บาร์เรล/วัน และหากมีเหตุฉุกเฉิน สามารถเพิ่มการผลิตภายในประเทศให้มากขึ้นอีก 36,000 บาร์เรล/วัน โดยจะขอความร่วมมือกับโรงกลั่นน้ำมันให้หาทางออกด้านเทคนิคเพื่อใช้น้ำมันดิบในประเทศทั้งหมด
ในด้านบริหารราคาน้ำมันเชื้อเพลิง กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีเกณฑ์สำหรับการบริหารจัดการราคาน้ำมันในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งได้มีการจัดทำเป็น Scenario ในช่วงระดับราคาต่างๆ ในการบริหารจัดการราคาน้ำมันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งจะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในเรื่องดังกล่าว ขณะนี้สถานะกองทุนน้ำมันฯ อยู่ที่ประมาณ 37,000 ล้านบาท
“ขอให้ประชาชนมีความมั่นใจว่า กระทรวงพลังงานจะสามารถบริหารจัดการสถานการณ์ด้านความมั่นคงของการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีใช้อย่างต่อเนื่อง และด้านราคาไม่ให้เกิดความผันผวนจนส่งผลกระทบต่อประชาชน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นำคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน ทำบุญตักบาตรรับพรปีใหม่ 2563

วันนี้ (3 มกราคม 63) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน ร่วมทำบุญตักบาตร เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2563

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เป็นประธานในพิธีสักการะพระพรหม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงพลังงาน โดยถวายพวงมาลัยสักการะทั้ง 4 ทิศ พร้อมทั้งถวายเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์ จากนั้นจึงได้นำคณะผู้บริหาผู้บริหารข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน ใส่บาตรข้าวสารอาหารแห้งพระสงฆ์ จำนวน 63 รูป ณ บริเวณลานพระพรหม ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ กระทรวงพลังงาน

ปลัดกระทรวงพลังงาน “เคาะ” แผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี ของกระทรวงพลังงาน

วันที่ 19 ธันวาคม 2562 ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานการประชุมคณะทำงานพิเศษประสานเชื่อมโยงคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ กระทรวงพลังงาน ครั้งที่ 1/2563 (ครั้งที่ 5)

โดยคณะทำงานประกอบด้วยผู้บริหารหน่วยงานสังกัดกระทรวงพลังงาน พร้อมที่ปรึกษาจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมพิจารณา (ร่าง) แผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2563-2565) ของกระทรวงพลังงาน รวมถึงรับทราบความก้าวหน้าการขับเคลื่อนงานตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ในการกำหนดยุทธศาสตร์ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ Regional LNG Hub

ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี ของกระทรวงพลังงาน ซึ่งแผนระยะต้นจัดทำเป็นแผน 3 ปี ให้สอดคล้องกับช่วงเวลาของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ มีเนื้อหาประกอบด้วย 4 ส่วน ได้แก่ 1) ลักษณะที่สำคัญของกระทรวงพลังงาน  2) ภาพรวมสถานการณ์พลังงานในปัจจุบันและอนาคต 3) แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนลำดับรองในประเด็นด้านพลังงาน และ 4) แผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2563-2565) ของกระทรวงพลังงาน โดยได้บรรจุแผนงานโครงการสำคัญเร่งด่วน (Big Rock) ตาม นโยบาย Policy Quick Start ที่รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานเร่งผลักดัน รวมถึงบรรจุแผนงานโครงการตามแผนปฏิบัติราชการด้านต่าง ๆ ของกระทรวงพลังงาน ได้แก่ แผนบูรณาการพลังงานระยะยาว (TIEB) ทั้ง 5 แผน ทั้งนี้ แผนดังกล่าวจะเป็นกรอบในการปฏิบัติราชการของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน โดยจะมีส่วนขับเคลื่อนเป้าหมายของกระทรวงพลังงานให้สัมฤทธิ์ผล ต่อไป

รายละเอียดแผนฯ ดาวน์โหลดได้ที่ : https://old.energy.go.th/energy-strategy/

ู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชู 4 มาตรการ แก้ปัญหา PM 2.5

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานแก้ปัญหา PM 2.5 ว่า กระทรวงพลังงานได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานแก้ปัญหา PM 2.5 ซึ่งเป็นความตั้งใจของกระทรวงพลังงานที่จะระดมสมองในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ โดยคณะทำงานดังกล่าว ประกอบด้วย หน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน บริษัท ปตท. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และหน่วยอื่นที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหา PM 2.5 เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้ามาร่วมบูรณาการในการแก้ปัญหาดังกล่าวให้กับประเทศ
ทั้งนี้ มาตรการที่กระทรวงพลังงานได้นำมาขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหา PM 2.5 นั้น แบ่งเป็น 3 ระยะ ภายใต้ 4 มาตรการ ได้แก่ ระยะสั้น ช่วงปี 2562-2563 คือ การส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล B10 และ B20 เพื่อลดการปล่อย PM 2.5 จากการปล่อยควันจากท่อไอเสียรถยนต์ ระยะกลาง ช่วงปี 2563-2565 คือ การสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อลดการเผาทิ้งวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และระยะยาว ช่วงปี 2565-2567 คือ การปรับเปลี่ยนมาตรฐานน้ำมันเป็นยูโร 5 และการส่งเสริมการใช้รถยนต์ EV
สำหรับผลที่จะได้รับจากมาตรการแก้ปัญหา PM 2.5 ในช่วงระยะแรก คือ การส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล B10 และ B20 นั้น ในส่วนของ B10 จะสามารถลด PM 2.5 ได้ 3.5-13% สำหรับ B20 จะสามารถลดได้ 21-23% ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนสถานีบริการน้ำมันดีเซล B10 มีจำนวน 411 สถานี และสถานีบริการน้ำมันดีเซล B20 มีจำนวน 2,743 สถานี

เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้กว่า 150 คน เข้าขอบคุณและให้กำลังใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

วันนี้ (20 ธันวาคม 2562) ตัวแทนเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้ทั่วประเทศ จากจังหวัด พะเยา เพชรบูรณ์ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ นครราชสีมา มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ตราด ราชบุรี เพชรบุรี ชุมพร พัทลุง สตูล และปัตตานี กว่า 150 คน นำโดย นายนฤพล วันทูล ผู้จัดการเครือข่ายฯ ยื่นหนังสือขอบคุณ รัฐบาล นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ที่ผลักดันนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก แก้ปัญหาความยากจนเกษตรกรประชาชนทั่วประเทศ
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวกับตัวแทนเครือข่ายฯ ว่า ขอขอบคุณตัวแทนเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้ทั่วประเทศที่มาในวันนี้ ถือเป็นกำลังใจอย่างยิ่งให้กับกระทรวงพลังงาน โดยนโยบายพลังงานเพื่อชุมชนเป็นนโยบายแรกที่ตั้งใจจะทำเมื่อเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ด้วยความตั้งใจที่จะนำพลังงานไปสร้างเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ซึ่งโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนได้พยายามเร่งรัดมาตลอด 4 เดือน และได้ผ่านมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. ที่มีนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน เมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา
“นายกรัฐมนตรีไม่ใช่แค่เห็นชอบให้ดำเนินโครงการ แต่ได้สั่งการว่าให้ทำให้ได้ ทำให้สำเร็จ ให้ภาคพลังงานไปเปลี่ยนคุณภาพชีวิตประชาชนทั้งประเทศให้ได้ ส่วนรองนายกฯสมคิด ก็ได้สั่งการให้เร่งทำให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว และโรงไฟฟ้าชุมชนที่เอกชนจะเข้าไปลงทุนในพื้นที่ใดชุมชนก็จะได้รับหุ้น 10% เมื่อมีการปันผล มีกำไร ชุมชนก็นำรายได้ส่วนนั้นส่งคืนเป็นทุนให้กับโรงไฟฟ้า ชุมชนจะสามารถเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า โดยที่ไม่ต้องควักเงินลงทุนก่อนเลย” นายสนธิรัตน์ กล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังพบเครือข่ายฯ ว่ากระแสตื่นตัวเรื่องโรงไฟฟ้าชุมชนมีจำนวนมากทั้งในส่วนประชาชน และผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าซึ่งต่อไปจะเริ่มเดินสายทำความเข้าใจพี่น้องประชาชนให้ครอบคลุมทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการโรงไฟฟ้าชุมชน ทั้งในเรื่องของพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าจะต้องอยู่ในบริเวณที่ตั้งของสายส่ง สมาชิกที่เข้าร่วม ปริมาณการผลิตพืชพลังงานที่เป็นวัตถุดิบ รวมไปถึงความเข้มแข็งของชุมชนที่จะมีการขยายกำลังการผลิตต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ ยังจะนำเรื่องเกษตรพอเพียง อย่างเช่น โคกหนองนาโมเดล และป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง มาผสมผสานขับเคลื่อนโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในเรื่องอาชีพและรายได้ของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง
ด้านนายนฤพล วันทูล ผู้จัดการเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้ กล่าวว่า การเข้าพบนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในวันนี้ เพื่อขอบคุณและให้กำลังใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในการผลักดันให้เกิดโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้เกษตรกรมีโอกาสปรับเปลี่ยนอาชีพ แก้ไขผลผลิตทางการเกษตร และทำให้ชุมชนเข้มแข็งในโอกาสเดียวกันนี้ ทางพี่น้องตัวแทนเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้ยังได้ร่วมอวยพรปีใหม่ให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอีกด้วย
#EnergyForAll

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่นครสวรรค์ ลุย 2 ภารกิจ เชื่อมโยง Energy for All

“สนธิรัตน์”ชูนโยบาย B20 – EV หนุนภาคขนส่ง บนเวทีอินเตอร์เนชันแนล ทรัคโชว์ 2019 พร้อมตรวจเยี่ยมโรงไฟฟ้าชีวมวล VSPP ที่จ.นครสวรรค์

“สนธิรัตน์” ลงพื้นที่นครสวรรค์ ลุย 2 ภารกิจ เชื่อมโยง Energy for All เปิดงานอินเตอร์เนชันแนล ทรัคโชว์-ตรวจเยี่ยมโรงไฟฟ้าชีวมวล เชื้อเพลิงชานอ้อย เพื่อผลักดันให้ภาคพลังงานเป็นพื้นฐานที่สร้างความแข็งแรงให้เศรษฐกิจฐานรากของประเทศ

วันนี้ (14 ธ.ค.62) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2562 ของสมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย และงานอินเตอร์เนชันแนล ทรัคโชว์ 2019 ที่จ.นครสวรรค์ พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ทิศทางพลังงานภาคการขนส่งจะไปทางไหน B20 หรือรถไฟฟ้า” ในประเด็นสำคัญว่า สมาคมฯ เป็นกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางถนนที่ใช้รถบรรทุกเป็นหลัก ซึ่งนับว่ามีความสำคัญในการสนับสนุนการกระจายการค้าภายในประเทศและในกลุ่มอาเซียน เชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค เกิดการหมุนเวียนสินค้า สร้างความเจริญให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ และการจัดงานอินเตอร์เนชั่นแนล ทรัคโชว์ 2019 แสดงนวัตกรรมยานยนต์และเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้เกิดระบบจัดการขนส่งที่ดีขึ้นมีคุณภาพได้มาตรฐาน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึง นโยบายพลังงานกับภาคขนส่งว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาภาคขนส่งเป็นกลุ่มที่ใช้พลังงานสูงสุด ในสัดส่วน 40% ของการใช้พลังงานทั้งหมดของประเทศ ซึ่งรถภาคขนส่ง  ส่วนใหญ่จะเป็นรถดีเซลที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานมีหน้าที่ในการจัดหาพลังงานและส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้มีการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในภาคขนส่งทั้งไบโอดีเซลและเอทานอล ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพที่สะอาดมีส่วนช่วยลด PM2.5 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้

ที่ผ่านมา สิ่งที่กระทรวงพลังงานได้ทำไปแล้วคือการยกระดับการใช้น้ำมันไบโอดีเซลจากปาล์มที่ B7 ไปเพิ่มส่วนผสมน้ำมันปาล์มดิบสัดส่วนสูงขึ้นเป็น B10 ใช้สำหรับรถยนต์ดีเซลทั่วไป และมี B20 สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ เพื่อลดต้นทุนผู้ประกอบการและค่าครองชีพของประชาชน มีส่วนช่วยแก้ปัญหาน้ำมันปาล์ม สร้างเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมันให้เกษตรกรได้มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดี

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พยายามเร่งขับเคลื่อนมาตรฐานยูโร 5 ซึ่งคาดว่าจะบังคับใช้กับเครื่องยนต์และคุณภาพน้ำมันตามมาตรฐานใหม่ได้ภายใน ปี 2567
สำหรับการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) นั้น ก็เป็นมาตรการหนึ่งของการอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่ง ตามแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2558 – 2579 (EEP 2015) ตั้งเป้าหมายส่งเสริมรถ EV ในปี 2579 รวม 1.2 ล้านคัน ซึ่งล่าสุดก็ได้เปิดตัวมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าติดฉลากเบอร์ 5 ของ กฟผ. ไปแล้ว นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของรถ EV ในประเทศไทย

โดยแผนส่งเสริม EV จะร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เพื่อพัฒนาแผนส่งเสริมการใช้ การสนับสนุนด้านภาษี และทำให้เกิดการสร้างฐานการผลิตในประเทศ ซึ่งยานยนต์ไฟฟ้าสามารถช่วยลดมลพิษในเขตเมือง ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมให้เมืองน่าอยู่ อีกทั้งยังมีส่วนช่วยส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพเพื่อสร้างระบบแบตเตอรี่สำรองที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไฟฟ้าเพื่อรองรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับ EV และโครงการระบบรางต่างๆ เช่น รถไฟความเร็วสูง รถไฟชานเมืองรอบกรุงเทพฯ ที่เป็นสถานีหลัก โดยจะถูกบรรจุอยู่ในโครงการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าต่าง ๆที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP)


ในวันเดียวกันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน นายยงยุทธ จันทรโรทัย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน และผู้บริหารกระทรวงพลังงาน ยังได้เดินทางตรวจเยี่ยมโรงไฟฟ้าชีวมวลเชื้อเพลิงชานอ้อย ของบริษัทเกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าของผู้ผลิตขนาดเล็กมาก (VSPP) ที่ ต.หนองโพ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ มีกำลังผลิตติดตั้ง 50 เมกะวัตต์ ปริมาณซื้อขายไฟฟ้าตามสัญญา 8 เมกะวัตต์ โดยใช้เชื้อเพลิงจากชานอ้อยในการผลิต 10,000 ตัน/วัน และใช้ใบอ้อย 2,000 ตัน/วัน มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ปัจจุบันโรงไฟฟ้ายังมีอุปสรรคสำคัญในการบริหารจัดการเชื้อเพลิง เพราะปริมาณเชื้อเพลิงไม่เพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้าได้เต็มกำลัง

โดยการตรวจเยี่ยมโรงไฟฟ้าดังกล่าว ถือเป็นการศึกษาโครงสร้างและระบบบริหารจัดการโรงไฟฟ้าชีวมวล เพื่อนำข้อมูลทั้งข้อดีหรือข้อจำกัดต่างๆ ไปเป็นฐานข้อมูลเพื่อต่อยอดไปสู่การบูรณาการพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชนเชื้อเพลิงชีวมวล ตามนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อเศรษฐกิจฐานรากของกระทรวงพลังงานที่กำลังอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนในขณะนี้ ให้เกิดผลสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม #สนธิรัตน์ #พลังงานเพื่อทุกคน #EnergyForAll

รมว.พน. จัดทัพพลังงาน ปี 2563 ขับเคลื่อน Energy For All

“สนธิรัตน์”จัดทัพพลังงาน ปี 2563
ขับเคลื่อน Energy For All เพื่อเศรษฐกิจฐานราก
เร่งไฟฟ้าเข้าถึงทุกพื้นที่ –เกิดโรงไฟฟ้าชุมชน 1,000 MW – ผุดโมเดลสถานีพลังงานชุมชน

“สนธิรัตน์”มอบนโยบายข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน เพื่อซักซ้อมความเข้าใจทิศทางการใช้ภาคพลังงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก Energy For All เปิดเป้าหมายระยะสั้นที่เร่งทำก่อนทั้งด้านไฟฟ้า เน้นให้ทุกพื้นที่ทั่วไทยมีไฟฟ้าใช้ เร่งผลิตไฟจากโรงไฟฟ้าชุมชนกว่า 1,000 MW ใน 3 ปี และแจ้งเกิดสถานีพลังงานชุมชนทั่วประเทศ ส่วนด้านก๊าซและน้ำมัน เตรียมผลักดันมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพด้านพลังงาน เร่งการใช้ B10 เป็นน้ำมันดีเซลมาตรฐานทั่วประเทศ พร้อมหนุนให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นรูปธรรม


วันนี้ (9 ธ.ค.62) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนา “การสื่อสารนโยบายพลังงานสู่การปฏิบัติ ปี 2563”ว่า การสัมมนานี้มีขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นเวทีมอบนโยบายให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงพลังงานทั้งจากส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อรับทราบทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายด้านพลังงานไปพร้อมๆ กัน ผ่านนโยบาย “Energy For All พลังงานเพื่อทุกคน” ซึ่งได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้วตั้งแต่ที่เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2562 และยังคงเป็นนโยบายหลักที่จะผลักดันต่อไปในปี 2563 ที่จะมาถึง“ในช่วงไม่กี่เดือนที่ได้เข้ามาบริหารที่กระทรวงพลังงาน ผมพบว่าเป็นหน่วยงานที่มีบุคลากร มีทีมงานที่มีความสามารถและเชี่ยวชาญ รวมถึงมีรัฐวิสาหกิจที่มีความเข้มแข็ง แต่ภาพลักษณ์เดิมของกระทรวงฯ ถูกมองว่าให้ความสำคัญกับการลงทุนขนาดใหญ่ ประชาชนยังไม่สามารถเข้าถึงพลังงาน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วกระทรวงฯ ก็มีการทำงานที่ลงไปในระดับประชาชน ในระดับชุมชนอยู่ด้วยแล้ว เพียงแต่ขาดพลังที่จะบริหารจัดการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายไปสู่เศรษฐกิจระดับฐานราก วันนี้จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะได้มาทำความเข้าใจร่วมกัน เพื่อทำให้นโยบายถูกแปรไปสู่ทางปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว
ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำจะเร่งดำเนินการให้สำเร็จเป็นรูปธรรมภายใต้นโยบาย Energy For All อาทิ

1) ช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนด้านพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม โดยอยู่ระหว่างปรับปรุงโครงสร้างราคาพลังงานทั้งน้ำมันและค่าไฟฟ้า

2) ทุกพื้นที่ของประเทศไทยที่มีเอกสารสิทธิ์ที่ถูกต้องจะต้องมีไฟฟ้าใช้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตทั้งพื้นที่บริเวณชายขอบ ชายแดน ซึ่งเป็นพื้นที่ปลายสายส่งที่เกิดไฟตกไฟดับ จำเป็นต้องแก้ปัญหาอีกจำนวนมาก ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างเร่งจัดทำแผนงานสนับสนุนงบประมาณผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ทุกพื้นที่ได้มีไฟฟ้าใช้อย่างทั่วถึง

3) เกิดโรงไฟฟ้าชุมชนกว่า 1,000 เมกะวัตต์(MW) ในช่วง 3 ปีข้างหน้า คาดว่าจะมีเงินลงทุน 7-8 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะมีการนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กลางเดือนธันวาคมนี้ รวมถึงการส่งเสริมใช้ชีวมวลช่วยลดการเผาในที่โล่ง และยังทำให้มีการปล่อย PM 2.5 น้อยลงอีกด้วย

4) เกิดสถานีพลังงานชุมชนในพื้นที่ที่มีศักยภาพทั่วประเทศ โดยใช้โมเดลการพัฒนาชุมชนของ จ.กาญจนบุรีเป็นแนวทางในการทำสถานีพลังงานชุมชนแบบครบวงจรที่สามารถนำพลังงานจากแสงอาทิตย์ ชีวมวล ขยะ และเชื้อเพลิงฟอสซิลมาบริหารจัดการในกิจกรรมต่างๆ เพื่อลดรายจ่ายด้านพลังงานและสร้างรายได้ต่อยอดอาชีพของชุมชน โดยจะพิจารณานำเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานมาสนับสนุน

5)เกิดการใช้ B10 ทั่วประเทศเป็นน้ำมันดีเซลเกรดมาตรฐาน และมี B20 ที่ใช้สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ ซึ่งจะช่วยให้ตลาดน้ำมันปาล์มมีความสมดุลมากขึ้น สร้างเสถียรภาพราคาไม่ให้ได้รับผลกระทบจากความผันผวนราคาในตลาดโลก รวมทั้ง B10 ยังช่วยลดฝุ่น PM 2.5 รวมทั้งในปีหน้าก็จะส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพในกลุ่มน้ำมันเบนซินต่อเนื่อง เพื่อให้การใช้แก๊สโซฮอล E20 ในกลุ่มเบนซินมีมากขึ้น

6)เกิดการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อย่างเป็นรูปธรรม จะร่วมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมภาพรวมให้เกิดการใช้ EV อย่างเป็นรูปธรรม

“หัวใจของนโยบาย Energy For All คือ การนำพลังงานเข้าไปหมุนระบบเศรษฐกิจของประเทศจากฐานราก ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจฐานรากได้ถูกขับเคลื่อนแล้ว ก็จะเป็นการยกฐานของประเทศขึ้นไปทั้งระบบ จะช่วยหนุนให้ภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเดินหน้าต่อไปได้ แม้ว่าจะมีปัจจัยจากภายนอกที่ผันผวนไม่แน่นอนมากระทบก็ตาม” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว

สำหรับการสัมมนาในปีนี้ ยังได้มีการแบ่งกลุ่มย่อย (Workshop) ระดมสมองการนำนโยบายพลังงานเพื่อทุกคน Energy For All สู่การปฏิบัติในประเด็น โรงไฟฟ้าชุมชนพื้นที่ห่างไกล สถานีพลังงานชุมชน พลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานรากอีกด้วย #EnergyForAll
___________________________

 

 

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมการประชุม The International Energy Agency Ministerial Meeting 2019 ณ ศูนย์ประชุม CCM กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

วันที่ 6 ธันวาคม 2562 นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้เข้าร่วมการประชุม The International Energy Agency Ministerial Meeting 2019 ณ ศูนย์ประชุม CCM กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ได้มีการหารือร่วมกันระหว่างผู้นำด้านพลังงานระดับสูงในประเด็นสำคัญระดับโลกด้านพลังงาน อาทิ แนวทางการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งรวมไปถึงการขยายตัวของตลาด LNG ในอนาคต แนวทางการส่งเสริมให้เกิดระบบพลังงานที่ทันสมัย เป็นธรรมและยั่งยืน รวมทั้ง มีการหารือแนวทางการกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก IEA และการขยายความร่วมมือกับประเทศพันธมิตรต่างๆ อย่างกว้างขวาง

ทั้งนี้ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวในที่ประชุมเกี่ยวกับประเด็นนโยบายด้านการสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานของไทย ซึ่งมุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดในอนาคต โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม อาทิ เทคโนโลยีโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ การส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงพลังงานโดยสนับสนุนให้เกิดการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนในระดับชุมชน นอกจากนี้ ในฐานะประธานอาเซียนปี 2562 ไทยได้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันเป้าหมายด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานในอาเซียน ผ่านกิจกรรม/โครงการต่างๆ อาทิ การศึกษาการควบรวมพลังงานทดแทนเข้าสู่โครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน การพัฒนามาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของเครื่องปรับอากาศในอาเซียน เป็นต้น ซึ่งโครงการเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจาก IEA เป็นอย่างดี

ในที่ประชุม ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้เน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจกรรมด้านการพัฒนาภาคพลังงานร่วมกับ IEA และการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับ IEA ในอนาคต โดยไทยมีความพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในโครงการต่างๆ ร่วมกับ IEA เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและพลังงานเพื่อความยั่งยืนร่วมกันในอนาคต

นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงพลังงาน และ Dr. Fatih Birol ผู้อำนวยการทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ ยังได้มีการลงนามร่วมกันในแผนการดำเนินงานระหว่างกระทรวงพลังงานกับทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ ประจำปีพ.ศ. 2563-2564 (Joint Work Programme between the Ministry of Energy of the Kingdom of Thailand and the International Energy Agency 2020-2021) ซึ่งแผนการดำเนินงานดังกล่าวเป็นกรอบและแนวทางความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างกระทรวงพลังงานกับทบวงการพลังงานระหว่างประเทศระหว่างปี พ.ศ. 2563-2564 โดยแผนการดำเนินงานจะประกอบไปด้วยความร่วมมือในประเด็น 8 ด้าน ดังนี้ 1) ข้อมูลและสถิติพลังงาน 2) ความมั่นคงทางพลังงานและการรองรับสภาวะฉุกเฉินทางพลังงาน 3) การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ 4) พลังงานไฟฟ้่าและพลังงานหมุนเวียน 5) เทคโนโลยีพลังงานสะอาด 6) ก​ารทบทวนนโยบายพลังงานและการเสริมสร้างศักยภาพบุคลากร 7) การเยือนระดับสูง และ 8) การมีส่วนร่วมในโครงการต่างๆ ของทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ ทั้งนี้ กิจกรรมภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในการพัฒนาด้านพลังงานและการบริหารจัดการด้านพลังงานของประเทศให้มีความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

ประมวลภาพพิธีรับของพระราชทาน หมวกฟ้า ผ้าพันคอเหลือง จิตอาสาพระราชทาน

ประมวลภาพพิธีรับของพระราชทาน หมวกฟ้า ผ้าพันคอเหลือง จิตอาสาพระราชทาน กระทรวงพลังงาน จำนวน 683 คน
เมื่อวันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ณ หอประชุม เกษม จาติกวณิช อาคาร ท.102 สำนักงานกลาง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จ.นนทบุรี

การประชุมเตรียมการสัมมนา “สื่อสารนโยบายพลังงานสู่การปฏิบัติ ปี 2563”

ระเบียบวาระการประชุมเตรียมการสัมมนา “สื่อสารนโยบายพลังงานสู่การปฏิบัติ ปี 2563”

วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2562 เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป

ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 15 ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ อาคารบี

******************************

วาระการประชุม คลิกที่นี่

เอกสารประกอบวาระ 2.1 คลิกที่นี่

เอกสารประกอบวาระ 2.2 คลิกที่นี่

เกณฑ์การเข้าร่วมสัมมนาวันที่ 9 ธ.ค. 62 คลิกที่นี่

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานลงพื้นที่ภาคใต้ ที่ จ.สุราษฎร์ธานี มอบนโยบาย “B10 นโยบายน้ำมันบนดินเพื่อเศรษฐกิจฐานราก”

วันที่  24 พ.ย.62  นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะเดินทางปฏิบัติภารกิจในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเดินหน้าส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลB10 น้ำมันบนดินเพื่อเศรษฐกิจฐานราก  ซึ่งกระทรวงพลังงานดีเดย์ประกาศเป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานสำหรับประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไปซึ่งมาตรการส่งเสริมน้ำมันดีเซลB10 เป็นหนึ่งในกลไกด้านพลังงานที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้ประชาชนให้กับชุมชนเพราะเป็นการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพจากไบโอดีเซลที่ผลิตจากปาล์มน้ำมันมาผสมในเนื้อน้ำมันดีเซลเป็นการนำจุดแข็งด้านผลผลิตทางการเกษตรของไทยมาช่วยสร้างเสถียรภาพราคาให้กับเกษตรกรทำให้ปาล์มน้ำมันไม่ติดกับปัญหาด้านราคาเหมือนที่ผ่านมา

“หากผลักดันการใช้B10สำเร็จจะทำให้การใช้ไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นราว 2.1 ล้านลิตรต่อวันหรือเพิ่มประมาณ 40% จากปัจจุบันซึ่งขณะนี้มีปริมาณการใช้ไบโอดีเซล 5.15 ล้านลิตรต่อวันก็จะเพิ่มเป็นประมาณ 7 ล้านลิตรต่อวันในปี 2563 โดยภาคพลังงานจะช่วยดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ได้ประมาณ 2 – 2.2 ล้านตันต่อปีและยังเกิดผลพลอยได้ช่วยลดมลภาวะทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)  อีกด้วย”
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว

ในการลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานครั้งนี้ได้สร้างความเชื่อมั่นและมั่นใจเรื่องเสถียรภาพของราคาปาล์มน้ำมันให้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันมากยิ่งขึ้นซึ่งปัจจุบันจากการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลB10 ได้มีส่วนช่วยให้ราคาปาล์มน้ำมันในตลาดได้ขยับขึ้นมากกว่า 4 บาท/กิโลกรัมแล้ว

ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้เข้าเยี่ยมชมกระบวนการผลิตไบโอดีเซล (B100) ของบริษัทนิวไบโอดีเซล จำกัด จ.สุราษฎร์ธานีโดยโรงงานดังกล่าวมีพันธกิจที่สอดคล้องกับนโยบายด้านพลังงานเพราะมุ่งผลิตไบโอดีเซลเป็นพลังงานทดแทนลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศช่วยเพิ่มเสถียรภาพด้านราคาให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันและสร้างความเชื่อมั่นว่าจะสามารถปลูกและขายผลผลิตในราคาที่เหมาะสมคุ้มค่าต่อการลงทุนอีกทั้งยังมีส่วนช่วยลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

บริษัทฯ มีการผลิต 4 ส่วนคือส่วนผลิตไอน้ำส่วนการกลั่นน้ำมันปาล์มดิบส่วนการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลและส่วนการผลิตน้ำมันปาล์มเพื่อบริโภคซึ่งในส่วนการผลิตน้ำมันปาล์มดิบนั้นสามารถผลิตได้รวมวันละ 1,800 ตันโดยสามารถผลิตน้ำมันไบโอดีเซลได้รวมวันละ 1,000 ตันหรือ 1.15 ล้านลิตรต่อวันขณะที่การผลิตน้ำมันปาล์มเพื่อบริโภคสามารถผลิตน้ำมันปาล์มโอเลอีนได้วันละ 300 ตัน

สำหรับกระบวนการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลนั้นใช้กระบวนการแบบ Tranesterification เป็นระบบปิดแบบต่อเนื่อง 24 ชั่วโมงใช้เทคโนโลยีในการผลิตไบโอดีเซลจาก Malaysia Palm Oil Board  ประเทศมาเลเซียซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการนำน้ำมันปาล์มมาผ่านกระบวนการเพื่อเพิ่มมูลค่าโดยสามารถผลิตได้น้ำมันไบโอดีเซลเกรดตรงตามมาตรฐานของกรมธุรกิจพลังงานและมีสินค้าพลอยได้คือกลีเซอรีนซึ่งจะจัดจำหน่ายให้โรงกลั่นกลีเซอรีนเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยาและเครื่องสำอางต่อไปสำหรับกลุ่มลูกค้าปัจจุบันของบริษัทฯคือผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7  ซึ่งจะมีคลังน้ำมันอยู่ทั่วประเทศเพื่อกระจายสินค้าให้กับผู้ค้าน้ำมันรายย่อยในแต่ละเขตพื้นที่ซึ่งลูกค้ากลุ่มหลักอยู่ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้และใกล้เคียง

นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และคณะยังได้เดินทางทำพิธีเปิดระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียยางพาราขนาด 500 ลูกบาศก์เมตร ที่สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินท่าแซะจำกัดจ.สุราษฎร์ธานีซึ่งสหกรณ์ดังกล่าวมีผลผลิตส่วนใหญ่เกี่ยวกับยางพาราอาทิการรวบรวมผลผลิตยางพาราแผ่นดิบการแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควันการจัดจำหน่ายการแปรรูปยางแท่งเป็นต้นโดยโรงงานของสหกรณ์มีกำลังการผลิตยางแผ่นรมควันชั้น3  ประมาณ 10 ตันต่อวันยางแท่งSTR 20 ประมาณ 2 ตันต่อชั่วโมงสำหรับระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียที่ได้จากยางพาราดังกล่าวได้รับงบประมาณปี2562  ในส่วนของโครงการลดต้นทุนพลังงานในการจัดหาน้ำเพื่อการเกษตรและการอบแห้งผลผลิตทางการเกษตรภาคใต้ในการก่อสร้างบ่อแก๊สชีวภาพจากน้ำเสียยางพาราขนาด 500 ลูกบาศก์เมตรงบประมาณก่อสร้าง 1.5 ล้านบาทซึ่งจะมีส่วนช่วยประหยัดเชื้อเพลิงไม้ฟืนที่ใช้ในการผลิตได้ประมาณ 125 ตันต่อปีจากเดิมที่มีการใช้เชื้อเพลิงดังกล่าวที่ 600 ตันต่อปี

 

 

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะทำงานเพื่อพลังงานที่เป็นธรรม ครั้งที่ 1

วันนี้ (21 พฤศจิกายน 62) นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะทำงานเพื่อพลังงานที่เป็นธรรม เป็นประธานการประชุมคณะทำงานเพื่อพลังงานที่เป็นธรรม ครั้งที่ 1 เพื่อร่วมหารือถึงแนวทางการพิจารณาโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ ณ ห้องประชุม 9 ชั้น 15 ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ อาคารบี

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะทำงานเพื่อพลังงานที่เป็นธรรม เปิดเผยหลังการประชุมฯ ว่า การประชุมในวันนี้ ถือเป็นการประชุมครั้งแรกของคณะทำงานเพื่อพลังงานที่เป็นธรรม ภายหลังจากที่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ลงนามแต่งตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งคณะทำงานฯ ดังกล่าว มีเป้าหมายร่วมกันในการก้าวข้ามปัญหาข้อโต้แย้งและความเห็นต่างเรื่องพลังงานที่สะสมมาเป็นระยะเวลานานให้เกิดความเข้าใจที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อลดข้อขัดแย้งทางสังคม และให้เกิดประโยชน์และความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายอย่างสูงสุด

โดยที่ประชุมได้มีข้อสรุปในการหารือให้มีการแบ่งคณะการทำงานจากชุดใหญ่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแต่งตั้งจำนวน 39 คน เป็นคณะย่อยเพื่อแยกหารือในแต่ละประเด็น เพื่อให้การหารือมีความกระชับ และได้ข้อยุติร่วมกันได้เร็วขึ้น ซึ่งได้มีการตกลงกำหนดสัดส่วนคณะย่อยแบ่งเป็น ภาคประชาชน จำนวน 10 คน ได้แก่ ผู้เข้าร่วมประชุม 5 คน และผู้สังเกตการณ์ 5 คน ภาครัฐ จำนวน 10 คน ได้แก่ ผู้เข้าร่วมประชุม 5 คน และผู้ติดตาม 5 คน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หรือ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน พร้อมทั้งมีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมให้ข้อมูลในแต่ละประเด็นโดยจะนำข้อสรุปการหารือในคณะย่อยเข้าสู่การประชุมในคณะใหญ่ เพื่อให้ได้ข้อยุติที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่ายและเกิดผลที่เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง

ด้านนายวัชระ กรรณิการ์ โฆษกกระทรวงพลังงาน  ในฐานะคณะทำงานฯ เปิดเผยถึงประเด็นที่จะมีการหารือร่วมกันว่า สำหรับประเด็นการหารือแบ่งเป็น 2 เรื่องหลัก คือ 1. โครงสร้างราคาน้ำมัน และ 2. โครงสร้างราคาก๊าซ ซึ่งมีองค์ประกอบในการหารือ ประกอบด้วย ราคาหน้าโรงกลั่น ภาษี การเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกองทุนอนุรักษ์พลังงาน และค่าการตลาด โดยเรื่องแรกที่จะมีการหารือร่วมกันคือ ประเด็นราคาหน้าโรงกลั่น ซึ่งจะประชุมในวันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน 2562 เวลา 09.00 น.

ทั้งนี้ คณะทำงานเพื่อพลังงานที่เป็นธรรมถูกตั้งขึ้นตามคำสั่งกระทรวงพลังงาน ที่ 43/2562 ตามเจตนารมย์ของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญในการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนในการกำหนดนโยบายและแผนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระดับต่างๆ และตามที่กลุ่มประชาชนได้ขอให้กระทรวงพลังงานพิจารณาทบทวนโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติให้เป็นธรรม โดยมีองค์ประกอบของคณะทำงานประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวมจำนวน 39 คน ซึ่งมีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานคณะทำงานฯ ภายใต้อำนาจหน้าที่หลักๆ ในการศึกษาวิเคราะห์พร้อมจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางการกำหนดโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ ให้มีความเหมาะสม เป็นธรรม สอดคล้องกับภาวะตลาดน้ำมันของประเทศในปัจจุบันและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

การสัมมนา “สื่อสารนโยบายพลังงานสู่การปฏิบัติ ปี 2563”

เอกสารประกอบการสัมมนา “สื่อสารนโยบายพลังงานสู่การปฏิบัติ ปี 2563”

ในวันจันทรืที่ 9 ธันวาคม 2562 ณ ห้องจูปิเตอร์ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวชั่น กรุงเทพมหานคร

กำหนดการ คลิกที่นี่

ปาฐกถาพิเศษ “นโยบายพลังงานเพื่อทุกคน” โดย รมว.พน. คลิกที่นี่

เอกสารบรรยาย “แนวทางการขอรับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน” คลิกที่นี่

เอกสารบรรยาย “เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อบริหารจัดการพลังงานเชิงพื้นที่ ” คลิกที่นี่

เอกสารบรรยาย “การตรวจราชการกับการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ” โดย ผตร. ทวารัฐ สูตะบุตร คลิกที่นี่

 

 

การประชุมคณะทำงานพิเศษฯ กระทรวงพลังงาน ครั้งที่ 1/2563

การประชุมคณะทำงานพิเศษประสานเชื่อมโยงคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ กระทรวงพลังงาน
ครั้งที่ 1/2563 วันที่ 19 ธันวาคม 2562  เวลา 15.00 น.  ณ ห้องประชุม 9 ชั้น 15 ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ อาคารบี กระทรวงพลังงาน

 

PPT ประกอบการประชุม คลิกที่นี่

วาระประกอบการประชุม คลิกที่นี่

 ร่างแผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2563 – 2565) ของกระทรวงพลังงาน คลิกที่นี่

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย Energy For All พลังงานเพื่อประชาชนทุกคนทุกระดับ

วันที่ 17 พ.ย. 62  นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานกล่าวปาฐกถาเรื่อง “B10 น้ำมันบนดิน เพื่อเศรษฐกิจฐานราก”  ภายในงานสัมมนา B10 ราคาปาล์มจะรุ่ง หรือร่วง ซึ่งจัดขึ้นที่จ.นครศรีธรรมราชว่า กระทรวงพลังงานให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมนโยบายพลังงานเพื่อประชาชนทุกระดับตามนโยบาย Energy For All เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงพลังงานและสามารถใช้พลังงานในการเพิ่มรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งในระดับภาพรวมและเศรษฐกิจฐานรากที่สามารถพึ่งพาตนเองได้

“ในฐานะที่กระทรวงพลังงานเป็นหนึ่งในกระทรวงที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ ผมตั้งใจทำ 2 เรื่องหลักคือ ลดความเหลื่อมล้ำ และใช้กลไกด้านพลังงานไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้ประชาชน ให้กับชุมชน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงฯ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้าให้มีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 30% ในปี 2579 จึงมีโครงการต่างๆ เกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์นโยบายนี้ ทั้งการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชน การส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพจากไบโอดีเซลและเอทานอลผสมในเนื้อน้ำมัน ซึ่งถือเป็นน้ำมันบนดินที่มาจากผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นจุดแข็งของไทย ช่วยสร้างเสถียรภาพราคาผลผลิตทางการเกษตรให้กับเกษตรกร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลผสมในน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นเป็น B10 นั้น ขณะนี้ได้ประกาศให้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 น้ำมัน B10 จะเป็นดีเซลพื้นฐานของประเทศแทน B7 โดยที่น้ำมันดีเซล B7 เป็นทางเลือกสำหรับรถเก่า และรถยุโรปที่ยังรองรับไม่ได้ และมี B20 เป็นทางเลือกสำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ ซึ่งหากผลักดันการใช้ B10 สำเร็จจะทำให้การใช้ไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นราว 2.1 ล้านลิตรต่อวัน หรือเพิ่มประมาณ 40%จากปัจจุบัน  ซึ่งขณะนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 13 พ.ย.62)  มีปริมาณการใช้ไบโอดีเซล 5.15 ล้านลิตรต่อวัน ก็จะเพิ่มเป็นประมาณ 7 ล้านลิตรต่อวันในปี 2563

เพื่อสำหรับราคา B10 ถูกกว่า B7 ถึง 2 บาทต่อลิตรเพื่อเป็นการจูงใจให้เกิดการใช้เพิ่มขึ้น โดยกระทรวงฯตั้งเป้าหมายให้สถานีบริการน้ำมันมี B10 จำหน่ายทั่วประเทศตั้งแต่ 1 มี.ค. 2563 ซึ่งปัจจุบันมีสถานีบริการ B10ทั่วประเทศแล้ว 120สถานี เฉพาะที่จ.นครศรีธรรมราช มี 5 สถานีผลจากการผลักดันนโยบาย B10 เกิดประโยชน์ขึ้นหลายต่อทีเดียว ทั้งการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มดิบจากการใช้ไบโอดีเซลในภาคพลังงานมากขึ้น โดยดำเนินการร่วมกับกระทรวงพาณิชย์บริหารจัดการผลผลิตปาล์มน้ำมันเพื่อใช้ผลิตไบโอดีเซลและเพื่อใช้บริโภค และร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องป้องกันการลักลอบการนำเข้าปาล์มดิบจากต่างประเทศด้วย อันจะมีส่วนช่วยยกระดับราคาผลปาล์มน้ำมัน และทั้งยังช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ลดการพึ่งพานำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลจากต่างประเทศ ที่สำคัญลดปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านมลภาวะทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5

นอกจากนี้ น้ำมันบนดินชนิดต่อไปที่กระทรวงฯจะผลักดันคือ การส่งเสริมเอทานอลที่ผลิตจาก อ้อย มันสำปะหลัง เพื่อผสมในน้ำมันเบนซิน โดยมีแผนยกระดับการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอลE20 เป็นน้ำมันพื้นฐานกลุ่มเบนซิน และมีแผนจะลดจำนวนชนิดน้ำมันแก๊สโซฮอลที่จำหน่ายที่สถานีบริการน้ำมันลง โดยใช้กลไกส่วนต่างราคาปลีกจูงใจประชาชนหันมาใช้ E20 เพิ่มขึ้น

“ผมขอให้เชื่อมั่นว่านโยบายของกระทรวงพลังงานจะเป็นเครื่องมือสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนทุกระดับ สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมสร้างคน สร้างงาน สร้างอาชีพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา และขอให้มั่นใจว่ากระทรวงพลังงานจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ขับเคลื่อนชีวิตของคนไทยทุกคนในปัจจุบันไปสู่อนาคตอย่างยั่งยืนตามนโยบาย พลังงานเพื่อทุกคน พลังงานเพื่อชุมชน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก”

เอกสารประกอบ รมว.พน. ตรวจราชการ สป.พน.

กำหนดการตรวจราชการสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน 2562 เวลา 13.30 – 14.30 น.  ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 15 ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ อาคารบี

กำหนดการ คลิกที่นี่

PPT ประกอบการประชุมฯ คลิกที่นี่

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมพูดคุยกับกลุ่มผีเสื้อกระพือปีกในประเด็นด้านราคาน้ำมัน

วันนี้ (13 พฤศจิกายน 2562) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยปลัดกระทรวงพลังงาน และผู้บริหารระดับสูง เข้าร่วมพูดคุยกับกลุ่มผีเสื้อกระพือปีกเกี่ยวกับประเด็นข้อเรียกร้องด้านราคาน้ำมัน ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้รับฟังความคิดเห็นพร้อมให้แนวทางในการตั้งคณะทำงานเพื่อหารือ และพูดคุยแก้ปัญหาด้านพลังงานร่วมกัน และยืนยันว่าจะพิจารณาเรื่องต่างๆ โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ
#Energy for all

สิ่งที่ส่งมาด้วย การปรับปรุงแผนปฏิบัติราชการสำนักงานพลังงานจังหวัด (พ.ศ. 2563-2565)

หนังสือการปรับปรุงแผนฯ คลิกที่นี่

แนบ1-หนังสือสภาพัฒน์      คลิกที่นี่

แนบ2-เค้าโครงร่างแผน      คลิกที่นี่

แนบ3-ตัวชี้วัดพลังงานจังหวัด 76     คลิกที่นี่

เอกสารประกอบการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2562 และตรวจราชการ

การประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่
ครั้งที่ 1/2562 และตรวจราชการ
ระหว่างวันที่ 11 – 12 พฤศจิกายน 2562
ในพื้นที่กลุ่มภาคกลางตอนล่าง 1
(จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี)

1.กำหนดการ คลิกที่นี่

2.ผลงานสำคัญ คลิกที่นี่

3.สรุปผลการลงพื้นที่ คลิกที่นี่

4.ข้อมูลประกอบ Factsheet ภาคกลาง คลิกที่นี่

5.Factsheet ภาคกลาง คลิกที่นี่

6.Factsheet กาญจนบุรี คลิกที่นี่

7.Factsheet ราชบุรี คลิกที่นี่

8.Factsheet สุพรรณบุรี คลิกที่นี่

 

 

รองปลัดกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมรับรางวัลภายในงาน “Digital Government Awards 2019”

วันนี้ (30 ต.ค. 62) นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเจ้าหน้าที่ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมรับรางวัลสนับสนุนโยบายรัฐบาลตามโครงการยกเลิกสำเนาเอกสารราชการ ภายในงาน “Digital Government Awards 2019” โดยได้รับเกียรติจาก พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานและมอบรางวัล ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

ทั้งนี้ Digital Government Award 2019 จัดขึ้นโดย สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นรางวัลที่มอบให้แก่หน่วยงานที่มีความพร้อมเป็นรัฐบาลดิจิทัลและหน่วยงานที่สนับสนุนนโยบายรัฐบาลตามโครงการยกเลิกสำเนาเอกสารราชการอย่างเป็นรูปธรรม โดยดำเนินการสำรวจระดับความพร้อมรัฐบาลดิจิทัลหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย ประจำปี 2562 จำนวนทั้งสิ้น 1,858 หน่วยงาน ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐส่วนกลาง จำนวน 323 หน่วยงาน หน่วยงานภาครัฐส่วนภูมิภาค จำนวน 1,533 หน่วยงาน ครอบคลุมทั้งหมด 76 จังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ จำนวน 2 หน่วยงาน เพื่อเป็นฐานข้อมูลด้านการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศ และใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำแผน และนโยบายในการยกระดับการพัฒนาหน่วยงานภาครัฐสู่รัฐบาลดิจิทัลทั้งในระดับหน่วยงานและระดับประเทศ รางวัลดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความร่วมมืออย่างจริงจังของสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงานในการสนับสนุนโยบายรัฐบาลตามโครงการยกเลิกสำเนาเอกสารราชการของรัฐบาลอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม ซึ่งถือเป็นการสะท้อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของหน่วยงานให้ดำเนินการสนองตอบต่อนโยบายรัฐบาลด้านดิจิทัลอย่างเต็มที่ และพร้อมเดินหน้าพัฒนางานด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่องต่อไป

 

กระทรวงพลังงานร่วมมือค่ายรถยนต์ โรงกลั่น ผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 ผู้ผลิตไบโอดีเซล และตัวแทนชาวสวนปาล์ม เปิดตัวกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการใช้ B10 ประกาศเป็นน้ำมันดีเซลฐานของประเทศ

กระทรวงพลังงานร่วมมือค่ายรถยนต์ โรงกลั่น ผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 ผู้ผลิตไบโอดีเซล และตัวแทนชาวสวนปาล์ม เปิดตัวกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการใช้ B10 ประกาศเป็นน้ำมันดีเซลฐานของประเทศ วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป และพร้อมจำหน่ายที่ปั๊มน้ำมันทั่วประเทศมีนาคม 2563 เพื่อช่วยยกระดับราคาปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ช่วยลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 และประหยัดลดการนำเข้าน้ำมันได้เกือบ 2 ล้านลิตร/วัน

วันนี้ (28 ต.ค.62) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล B10 โดยมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย สมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย รวมทั้งสมาพันธ์สมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้เพื่อยืนยันถึงความพร้อมของทุกฝ่ายในการสนับสนุนการใช้น้ำมันดีเซล B10 เป็นดีเซลฐานแทน B7 เดิม โดยกำหนดให้ B10 เป็นดีเซลฐานสำหรับรถดีเซลทั่วไป ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 และให้ B7 เป็นดีเซลทางเลือกสำหรับรถรุ่นเก่าและรถยุโรป และ B20 เป็นดีเซลทางเลือกสำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ตั้งเป้าหมายจะสามารถจำหน่าย B10 ได้ทุกสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศวันที่ 1 มีนาคม 2563

การส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล B10 ซึ่งมีสัดส่วนไบโอดีเซลผสมในเนื้อน้ำมันดีเซลประมาณ 10% เป็นมาตรการของกระทรวงพลังงานในการเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันไบโอดีเซล (B100)ในภาคพลังงานเพิ่มมากขึ้นเพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน เป้าหมายสร้างสมดุลปาล์มน้ำมันทั้งระบบของประเทศ สามารถดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ(CPO) ได้ประมาณ 2 ใน 3 ของปริมาณการผลิตทั้งหมดของประเทศปัจจุบันหรือประมาณ 2.2 ล้านตัน/ปี ซึ่งการสร้างสมดุลนี้เองช่วยสร้างเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมันทำให้ราคาสูงขึ้น รวมทั้งยังช่วยลดปริมาณฝุ่นพิษ PM 2.5 และยังประหยัดการนำเข้าน้ำมันได้ถึงประมาณ 1.8 ล้านลิตร/วัน

“สำหรับข้อกังวลที่มีต่อเครื่องยนต์ทางค่ายรถยนต์ที่ได้เข้ามาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ต่างร่วมยืนยันว่า ดีเซล B10 สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยกับรถเครื่องยนต์ดีเซลหลายๆ รุ่น อาทิ โตโยต้า อีซูซุ นิสสัน ฟอร์ด เอ็มจี เชฟโรเล็ต เป็นต้น ส่วนรถรุ่นเก่า และรถค่ายยุโรปก็ยังมีน้ำมันทางเลือก B7ไว้รองรับโดยกระทรวงพลังงานจะกำกับดูแล ตรวจสอบคุณภาพน้ำมันตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการจำหน่ายที่สถานีบริการน้ำมัน มั่นใจได้ในคุณภาพของ B10 จึงอยากเชิญชวนให้ประชาชนเลือกใช้ B10 ซึ่งนอกจากจะมีส่วนช่วยเกษตรกรสวนปาล์มแล้ว

ยังช่วยลดฝุ่นพิษ PM 2.5 ช่วยลดการนำเข้าน้ำมัน และยังช่วยลดเงินในกระเป๋าท่านอีกด้วย เพราะ B10 มีราคาถูกกว่า B7 ถึงลิตรละ 2 บาท ปัจจุบัน จำนวนรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซลของไทยมีประมาณ 10.5ล้านคัน (ก.ค.62) เป็นรถที่ใช้  B10 ได้ประมาณ 5.3 ล้านคันหรือประมาณ 50% ที่เหลือเป็นรถดีเซลรุ่นเก่ามากๆ และรถยุโรปราคาแพง ซึ่งก็มีทางเลือกในการใช้ B7 ได้ และยังมีน้ำมัน B20 เป็นน้ำมันดีเซลทางเลือกสำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่อีกด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าว

อย่างไรก็ดี ผู้ใช้รถยนต์ตรวจสอบว่ารถรุ่นไหนสามารถใช้น้ำมันดีเซล B10 ได้หรือไม่จากเว็บไซต์ของกรมธุรกิจพลังงานwww.doeb.go.thหรือที่ศูนย์บริการหรือศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ของผู้ผลิตรถยนต์แต่ละยี่ห้อ#สนธิรัตน์#B10 #ลดฝุ่นPM2.5 #พลังงานเพื่อทุกคน #EnergyForAll

 

ฺB10 ดีเซลพื้นฐานใหม่ ช่วยเกษตรกรไทย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม


1. หลักการ หรือที่มาของการสนับสนุนใช้ B 10

กระทรวงพลังงานมีมาตรการในการเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันไบโอดีเซล (ฺB 100) ในภาคพลังงานให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน โดยมีเป้าหมายในการสร้างสมดุลปาล์มน้ำมันทั้งระบบของประเทศ และได้กำหนดเป้าหมายการใช้ไบโอดีเซล (B 100) ให้ได้ประมาณ 7.0 ล้านลิตร /วัน  ซึ่งจะสามารถดูดซับ CPO ได้ประมาณ 2 ใน 3 ของปริมาณการผลิตทั้งหมดของประเทศในปัจจุบัน (หรือประมาณ 2.2 ล้านตัน/ปี)

กรมธุรกิจพลังงาน จึงได้ดำเนินการเพื่อสนับสนุนนโยบาย โดยได้ออกประกาศกำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 10 และประกาศกำหนดลักษณะและคุณภาพของไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมัน (B 100) และจะกำหนดให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 10 เป็นน้ำมันดีเซลฐานสำหรับรถดีเซลทั่วไป  โดยมีน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 7 เป็นน้ำมันทางเลือกสำหรับรถเก่าและรถยุโรป และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 20 เป็นน้ำมันทางเลือกสำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป

2. ปัจจุบันน้ำมันดีเซลมีกี่ประเภท ต่างกันอย่างไร / คุณภาพต่างกันหรือไม่

น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 10 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 20 โดยน้ำมันดีเซลทั้ง 3 ประเภท มีคุณภาพเหมือนกันทุกประการ แต่มีความแตกต่างกันที่สัดส่วนผสมไบโอดีเซล คือ น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดามีสัดส่วนไบโอดีเซล 6.6 – 7% น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 10 มีสัดส่วนไบโอดีเซล 9 – 10% และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 20 มีสัดส่วนไบโอดีเซล 19 – 20%

3. การใช้ B 10 จะกระทบเครื่องยนต์หรือไม่ /รถรุ่นไหน ยี่ห้อไหน ปีไหน ที่สามารถใช้ได้บ้าง

การใช้น้ำมันดีเซล B 10 กับเครื่องยนต์ที่สามารถรองรับการใช้งานจะไม่มีผลกระทบกับเครื่องยนต์ เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์ให้การรับรองการใช้งานไว้เรียบร้อยแล้ว โดยผู้ที่มีความสนใจจะใช้น้ำมันดีเซล B 10 สามารถตรวจสอบรุ่นรถ ได้จากประกาศกรมธุรกิจพลังงานเรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562 หรือที่เว็บไซต์กรมธุรกิจพลังงาน คลิกที่นี่ 

4. ปัจจุบันมีรถใช้ดีเซลกี่คัน และใช้ B10 ได้กี่คัน

ณ เดือนกรกฎาคม 2562 มีรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซล ประมาณ 10.5 ล้านคัน เป็นรถที่ใช้น้ำมันดีเซล B 10 ได้ ประมาณ 5.3 ล้านคัน หรือ 50% ที่เหลือจะเป็นรถยนต์ดีเซลราคาแพง เช่น Benz Hyundai Tata BMW Honda Mazda Audi Peugeot Volvo(เล็ก) และรถเก่ามากๆ

5. รถที่เติม B10 ไม่ได้จะทำอย่างไร

รถยนต์ที่ไม่สามารถเติม น้ำมันดีเซล B 10 ได้ เช่น รถที่มีอายุการใช้งานมานานแล้ว รถยุโรป ได้แก่ Benz Hyundai Tata BMW Honda Mazda Audi Peugeot  Volvo (เล็ก) ยังสามารถเติมน้ำมันดีเซล B 7 ได้ ซึ่งยังมีจำหน่ายตามสถานีบริการน้ำมัน

6. หากผู้บริโภคไม่รู้รุ่นรถ จะหาหรือติดต่อข้อมูลได้จากที่ไหนอย่างไร มีคู่มือหรือไม่

ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบรุ่นรถได้ที่เว็บไซด์ กรมธุรกิจพลังงาน www.doeb.go.th  ศูนย์บริการหรือศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ของผู้ผลิตรถยนต์แต่ละยี่ห้อ

7. มี Call Center ให้ข้อมูลหรือไม่ หรือเบอร์ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ ศูนย์บริการ หรือ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ ของผู้ผลิตรถยนต์แต่ละยี่ห้อ เพื่อรับคำแนะนำก่อนใช้

8. หากเป็นรถรุ่นเก่าที่เติมไม่ได้ แต่เข้าใจผิดคิดว่าเติมได้จะส่งผลต่อเครื่องยนต์หรือไม่อย่างไร จะต้องติดต่อเคลมความเสียหายได้อย่างไร

ข้อแนะนำสำหรับรถรุ่นเก่าที่ต้องการเติมน้ำมันดีเซล B 10 ก่อนเติมควรติดต่อศูนย์บริการ/ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ ของผู้ผลิตรถยนต์แต่ละยี่ห้อ เพื่อรับคำแนะนำและทำการตั้งค่าเครื่องยนต์ให้เหมาะสม ก่อนเริ่มใช้งานเชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 10

9. ข้อแนะนำปรับแต่งเครื่องยนต์ที่ชิ้นส่วนอะไหล่ใดบ้างสำหรับรถเก่า

ผู้บริโภคที่ต้องการใช้เชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 10 ติดต่อศูนย์บริการ หรือศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ของผู้ผลิตรถแต่ละยี่ห้อ เพื่อรับคำแนะนำและทำการตั้งค่าเครื่องยนต์ให้เหมาะสม ก่อนเริ่มใช้งานเชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 10

10. ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการรณรงค์ให้ใช้ B10 มีอะไรบ้าง

1. สร้างสมดุลปาล์มน้ำมันทั้งระบบในประเทศ ปริมาณการใช้ (ภาคพลังงาน และเพื่อการบริโภค)
2. สร้างเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมัน (ทำให้ราคาสูงขึ้น)
3. ช่วยลดมลพิษ (ปริมาณฝุ่น PM 2.5) (เนื่องจากการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในสัดส่วนที่สูงขึ้น)

11. ในแง่ของการประหยัดนำเข้าพลังงาน ตัวเลขที่ประหยัดได้ / ตัวเลขนำเข้าดีเซลปัจจุบัน และคาดว่าเมื่อใช้ B 10 จะลดการนำเข้าได้เท่าไหร่ /เป็นมูลค่าเงินเท่าไหร่

เนื่องจากประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมันดิบมาผลิตเป็นน้ำมันสำเร็จรูป ดังนั้น นโยบายการเพิ่มสัดส่วนการผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพในสัดส่วนที่สูงขึ้น จะทำให้สามารถประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงที่มาจากการนำเข้าได้มากขึ้นตามสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของเชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น ปกติการใช้ B 7 วันละประมาณ 60 ล้านลิตร

ดังนั้น หากดีเซล B 10 เป็นดีเซลฐาน ทำให้สามารถประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3 ของปริมาณการใช้ดีเซล (หรือประมาณวันละ 1.8 ล้านลิตร)

12. ตามแผน Time Line ของกระทรวงพลังงานในการจำหน่าย B 10 วางไว้อย่างไร

– วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันให้เพิ่มปริมาณการจำหน่ายและเพิ่มจำนวนสถานีบริการน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 10
– วันที่ 1 ธันวาคม 2562 ประกาศกำหนดลักษณะและคุณภาพไบโอดีเซล (B 100) เหลือชนิดเดียว
– วันที่ 1 มกราคม 2563 ทุกคลังน้ำมันของผู้ค้าน้ำมันมีการผลิตน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 10

– วันที่ 1 มีนาคม 2563 น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 10 มีจำหน่ายในทุกสถานี

13. ผู้เกี่ยวข้องพร้อมอย่างไร ขอข้อมูลทั้งโรงกลั่น ผู้ผลิต B 100 ปั๊มน้ำมันทั่วประเทศ ปตท.นำร่องอย่างไร /ปั๊มอื่นๆ คืบหน้าอย่างไร

กรมธุรกิจพลังงาน มีการประชุมหารือร่วมกันกับผู้ที่มี่ส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ได้แก่ โรงกลั่นน้ำมัน ผู้ผลิต B 100 ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ที่จำหน่ายน้ำมันดีเซล รวมทั้งผู้ผลิตรถยนต์ ทุกฝ่ายมีความพร้อมในการสนับสนุนนโยบายและผลักดันให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 10 เป็นน้ำมันดีเซลฐานของประเทศ โดยมีระยะเวลาในการดำเนินการ (ตามข้อ 12)

14. ตรวจสอบสถานีบริการน้ำมันที่จำหน่าย น้ำมันดีเซล B 10 ได้ที่ไหน

สามารถตรวจสอบสถานีบริการน้ำมันที่จำหน่าย น้ำมันดีเซล B 10 ได้ที่ เว็บไซต์กรมธุรกิจพลังงาน ในแบนเนอร์ “B 10 น้ำมันดีเซลฐานของประเทศไทย” ทั้งนี้ ณ เดือนกันยายน 2562 มีจำนวนสถานีบริการน้ำมันดีเซล B 10 รวม 47 แห่ง

15. มาตรการจูงใจจากการลดราคาต่ำกว่า 2 บาทจะอยู่นานไปถึงเมื่อไหร่

มติ กบง. วันที่ 30 สิงหาคม 2562  เห็นชอบให้ส่วนต่างราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 10 ต่ำกว่าราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 7 ที่ 2 บาท/ลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป (ไม่ได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุด)

16. จะสร้างความมั่นใจผู้บริโภคได้อย่างไร

กรมธุรกิจพลังงานได้กำหนดมาตรฐานคุณภาพของน้ำมันดีเซล B 10 ซึ่งเป็นที่ยอมรับของผู้ผลิตรถยนต์ อีกทั้ง กรมธุรกิจพลังงานได้มีการกำกับดูแลและตรวจสอบคุณภาพน้ำมันตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการจำหน่ายที่สถานีบริการ ดังนั้น ประชาชนจึงสามารถมั่นใจในคุณภาพของน้ำมันดีเซล B 10 ได้

17. รายชื่อค่ายรถที่พร้อมเข้าร่วม

TOYOTA,  ISUZU, NISSAN, FORD, FUSO, Chevrolet,  MITSUBISHI,  Volvo Trucks, Hino, MAN, SCANIA, UD Trucks, Mercedes-Benz

18. List รุ่นรถที่สามารถใช้ได้

สามารถตรวจสอบรุ่นรถ ได้จากประกาศกรมธุรกิจพลังงานเรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562 หรือที่เว็บไซต์กรมธุรกิจพลังงาน ตามลิงก์  คลิกที่นี่

19. เชื่อมโยงถึงการสนับสนุน B 20 ว่าขณะนี้ สนับสนุนอย่างไร /ให้รถประเภทใดบ้าง

ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นมา น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 20 ราคายังคงต่ำกว่าราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 7 อยู่ที่ 3 บาท/ลิตร และต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 10 ที่ 1 บาท/ลิตร โดยกลุ่มรถที่ใช้ได้ ตามรายละเอียดแนบท้ายประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล พ.ศ. 2562

โครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซปิโตรเลียมเหลวของประเทศไทยกับมาเลเซีย

โครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซปิโตรเลียมเหลวของประเทศไทยกับมาเลเซีย

โครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ของประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย มีความแตกต่างกัน มีรายละเอียด ดังนี้

ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง

  • ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศไทยถูกกำหนดโดยกลไกการค้าเสรีที่เปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลก ซึ่งกระทรวงพลังงานมีการติดตามดูแลราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
  • ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยสูงกว่ามาเลเซียหรือบางประเทศในภูมิภาคอาเซียน คือ โครงสร้างราคาน้ำมัน ซึ่งมีความแตกต่างกันตามนโยบายและบริบทของแต่ละประเทศ โดยโครงสร้างราคาน้ำมันของประเทศไทย ประกอบด้วย (1) ราคาเนื้อน้ำมัน ได้แก่ ค่าการกลั่น และค่าเนื้อน้ำมันดิบ ที่อ้างอิงตามราคาตลาดกลางของภูมิภาค โดยประเทศในภูมิภาคอาเซียนอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาค (2) ภาษีต่างๆ ได้แก่ ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล และภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจัดเก็บเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศและท้องถิ่นด้านต่างๆ (3) กองทุนต่างๆ ได้แก่ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จัดเก็บเพื่อเป็นกลไกในการรักษาเสถียรภาพระดับราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศหากเกิดการผันผวนของราคาน้ำมัน
    ในตลาดโลก และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งจัดเก็บเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน การเพิ่มประสิทธิภาพ และลดใช้พลังงานของประเทศ (4) ค่าการตลาด ได้แก่ ส่วนที่เป็นต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันทั้งระบบ ซึ่งรวมถึงคลังน้ำมัน ระบบขนส่ง และสถานีบริการ
  • ปัจจัยตามโครงสร้างราคาน้ำมันที่ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยสูงกว่ามาเลเซีย สามารถอธิบายได้ดังนี้
  • ด้านต้นทุนเนื้อน้ำมัน
    • ราคาน้ำมันของประเทศไทย มาเลเซีย และประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอ้างอิงตลาดสิงคโปร์เช่นเดียวกัน แต่ต้นทุนค่าขนส่งจากตลาดสิงคโปร์มายังประเทศไทยสูงกว่ามาเลเซียเนื่องจากมีระยะทางมากกว่า ทำให้ต้นทุนเนื้อน้ำมันของไทยสูงกว่ามาเลเซีย
    • คุณภาพน้ำมันของไทย (ปัจจุบันใช้ ยูโร 4) สูงกว่าคุณภาพน้ำมันของประเทศเพื่อนบ้าน
      บางประเทศ ทำให้มีต้นทุนในการผลิตที่สูงกว่า
    • นโยบายสนับสนุนพลังงานทดแทนในประเทศไทยที่มีเชื้อเพลิงชีวภาพ (เอทานอล และไบโอดีเซล) เป็นส่วนผสมของน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 E10, E20, E85, 91 E10 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี7 บี10 และบี20 ซึ่งมีราคาสูงกว่าราคาน้ำมันปกติ ทำให้ต้นทุนเนื้อน้ำมันสูงกว่าน้ำมันของมาเลเซีย
  • ด้านภาษีและกองทุน
  • โครงสร้างราคาน้ำมันของประเทศไทยมีการเก็บภาษีและเงินกองทุน ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทยสูงขึ้นจากต้นทุนเนื้อน้ำมัน
  • ในภูมิภาคอาเซียนแต่ละประเทศมีนโยบายการจัดเก็บภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันบางประเทศ อาทิ มาเลเซีย ไม่มีการจัดเก็บภาษีและกองทุน เนื่องจากมีรายได้จากการผลิตและส่งออกน้ำมันดังกล่าวในการบริหารประเทศโดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณจากการจัดเก็บภาษีน้ำมัน ในขณะที่ประเทศไทย
    เป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิซึ่งจำเป็นต้องจัดเก็บภาษีน้ำมันเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ
  • อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยกับประเทศ
    ในภูมิภาคอาเซียน พบว่าราคาของประเทศไทยไม่ได้มีราคาสูงหรือต่ำไปกว่ามากตามที่มัมีการกล่าวอ้าง ดังเช่นข้อมูลราคาขายปลีกราคาน้ำมันเชื้อเพลิงดังภาพที่ 1 ต่อไปนี้

ภาพที่ 1 เปรียบเทียบราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินและดีเซลของประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคอาเซียน

 

ด้านก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)

  • การจัดหาก๊าซ LPG ที่สำคัญของประเทศไทยมาจาก 3 แหล่ง ได้แก่ การผลิตจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ สัดส่วนร้อยละ 57 ของการจัดหาก๊าซทั้งหมด การผลิตจากโรงกลั่นน้ำมัน สัดส่วนร้อยละ 34และการนำเข้าก๊าซ LPG จากต่างประเทศ สัดส่วนร้อยละ 9
  • ในอดีตก่อนปี 2558 ราคาก๊าซ LPG ณ โรงกลั่น (ราคาเนื้อก๊าซ LPG ก่อนรวมภาษี กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอื่นๆ) ถูกกำหนดไว้ที่ 333 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน โดยกำหนดให้โรงแยกก๊าซธรรมชาติขายก๊าซ LPG ในราคาดังกล่าวซึ่งต่ำกว่าราคาตลาดโลก (ช่วงปี 2549 -2557 ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลกอยู่ที่ประมาณ 400-1,000 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน) ในส่วนการนำเข้าก๊าซ LPG รัฐต้องชดเชยส่วนต่างระหว่างราคานำเข้าจริงเทียบกับราคา 333 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ซึ่งการกำหนดราคาดังกล่าวเป็นการกำหนดราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตจริง แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนในภาคครัวเรือนซึ่งเป็นผู้ใช้ก๊าซส่วนใหญ่ของประเทศ
  • อย่างไรก็ดี การตรึงราคาก๊าซ LPG ไว้ในระดับที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตและจัดหาต่อเนื่องเป็นเวลานาน ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการใช้ก๊าซ LPG ในภาคส่วนต่างๆ เกิดการบิดเบือนโครงสร้างตลาดจากความเป็นจริง จนนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น ภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรมเปลี่ยนมาใช้ก๊าซ LPG แทนน้ำมันเบนซินและน้ำมันเตา เนื่องจากราคาขายปลีกก๊าซ LPG อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงประเภทอื่น เกิดปัญหาการลักลอบส่งออก LPG ตามแนวชายแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องด้วยการกำหนดราคาขายปลีกก๊าซ LPG ในประเทศที่ต่ำกว่ามาก นอกจากนี้ การตรึงราคาผ่านการอุดหนุนก่อให้เกิดภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และความต้องการที่เพิ่มขึ้นทำให้ประเทศไทยจากเดิมที่ผลิตก๊าซ LPG เหลือจนส่งออกเปลี่ยนเป็นต้องนำเข้าตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา
  • ปัจจุบันรัฐจึงพยายามปรับโครงสร้างราคาให้ราคาสะท้อนต้นทุนการผลิตและจัดหามากยิ่งขึ้น ลดการบิดเบือนโครงสร้างตลาดที่นำไปสู่ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในอดีต แต่ยังคงมีการใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกก๊าซ LPG ในประเทศให้อยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและภาคเศรษฐกิจน้อยที่สุด ที่ราคา 363 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม
  • ทั้งนี้ หากพิจารณราคาขายปลีกก๊าซ LPG ในภูมิภาคอาเซียน พบว่ามีเพียงประเทศมาเลเซีย และกัมพูชา ที่มีราคาขายปลีกก๊าซ LPG ภาคครัวเรือนต่ำกว่าประเทศไทย เนื่องจากมีการอุดหนุนราคาโดยภาครัฐมากกว่า ในขณะที่ประเทศอื่นๆ มีราคาสูงกว่าประเทศไทย ดังแสดงในภาพที่ 2

ภาพที่ 2 เปรียบเทียบราคาขายปลีกก๊าซ LPG ภาคครัวเรือนของประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคอาเซียน

ทั้งนี้ ข้อร้องเรียนให้พิจารณาปรับโครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซ LPG ให้เท่ากับประเทศมาเลเซีย และราคา ณ ปี พ.ศ. 2520 ดังกล่าวข้างต้น จึงต้องพิจารณาถึงบริบทสถานการณ์ตลาดน้ำมันและก๊าซ LPG
ในปัจจุบันซึ่งเป็นการค้าเสรีที่ราคาเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามตลาดโลก ตลอดจนคำนึงถึงความจำเป็นของการจัดเก็บภาษีและกองทุนต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศและท้องถิ่น รวมทั้งความจำเป็นในการรักษาเสถียรภาพระดับราคาขายปลีกน้ำมันและก๊าซ LPG ในประเทศกรณีเกิดภาวะวิกฤติ ทั้งนี้ ด้วยบริบทของ ปัจจัยในอดีตที่แตกต่างจากปัจจุบัน โดยในปี พ.ศ. 2520 ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับประมาณ 25 -27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ต่ำกว่าราคาน้ำมันดิบในปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ระดับ 60 – 65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ถึง 2 – 3 เท่า ประกอบกับปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยนที่ส่งผลต่อต้นทุนสินค้าและบริการ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 30.59 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ สูงกว่าปี 2520 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 20.34 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ถึงร้อยละ 50 ตลอดจนปัจจัยด้านภาวะเงินเฟ้อที่ทำให้มูลค่าเงินในปัจจุบันถูกกว่าเมื่อปี 2520 โดยในปี 2520 ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลอยู่ที่ประมาณ 2.50 – 2.60 บาทต่อลิตร ขณะที่ราคาก๋วยเตี๋ยวอยู่ที่ประมาณชามละ 5 บาท เปรียบเทียบได้กับปัจจุบันปี 2562 ซึ่งราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลอยู่ที่ประมาณ 22 – 25 บาทต่อลิตร และราคาก๋วยเตี๋ยวอยู่ที่ประมาณชามละ 40 – 50 บาท เช่นกัน สถานการณ์ราคาน้ำมันในประเทศของปี 2520 และปัจจุบัน จึงอยู่ในภาวะใกล้เคียงกัน ดังนั้น ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันและก๊าซ LPG ในปัจจุบันปรับตัวเพิ่มขึ้นตามปัจจัยพื้นฐานที่เปลี่ยนแปลงไป

อย่างไรก็ดี กระทรวงพลังงานได้มีการติดตามดูแลราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ LPG ให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยตระหนักถึงผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนเป็นสำคัญยิ่ง

—————————————————-

 

เอกสารประชุมรับทราบผลการศึกษาการลงทุน การสร้างงาน และการพัฒนาอุตสาหกรรมในภาคพลังงานไทย

เอกสารผลการศึกษาการลงทุน การสร้างงาน และการพัฒนาอุตสาหกรรมในภาคพลังงานไทย คลิกที่นี่

เอกสารตรวจทานและยืนยัน ข้อมูลตัวชี้วัด และข้อมูลแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิตติกส์ของประเทศไทย

รายงานการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการการพัฒนาระบบข้อมูลโลจิสติกส์ฯ คลิกที่นี่

รายชื่อผู้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาระบบข้อมูลโลจิสติกส์ฯ คลิกที่นี่

เอกสารแนบ 1 คลิกที่นี่

เอกสารแนบ 2 .docx คลิกที่นี่

เอกสารแนบ 2 .pdf คลิกที่นี่

ก.พลังงานพร้อมรับมือสถานการณ์“เรือน้ำมันอิหร่านระเบิด”

ก.พลังงานพร้อมรับมือสถานการณ์“เรือน้ำมันอิหร่านระเบิด”  แจงปริมาณน้ำมันมีใช้เพียงพอสถานการณ์ พร้อมใช้กองทุนน้ำมันพยุงราคาขายปลีก

กระทรวงพลังงานชี้แจงเตรียมพร้อมรับมือกรณีเกิดเหตุการณ์เรือบรรทุกน้ำมันของอิหร่านระเบิด ทั้งปริมาณน้ำมันยังเพียงพอต่อการใช้ได้ 51 วัน และให้ความมั่นกับประชาชนว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันเพราะสามารถใช้กลไกบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาช่วยพยุงราคาไม่ให้กระทบค่าครองชีพ

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า กรณีเกิดเหตุเรือบรรทุกน้ำมันของประเทศอิหร่านระเบิดและไฟลุกนอกเมืองเจดดาห์ เมืองท่าของซาอุดิอาระเบียนั้น กระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และขอให้ประชาชนมั่นใจอย่าวิตกกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าว เพราะกระทรวงพลังงานมีการเตรียมความพร้อมอยู่ตลอดเวลา โดยภาพรวมไทยยังมีปริมาณสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงใช้ได้ประมาณ 51วันโดย ณ วันที่ 10 ตุลาคม2562 ไทยมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบประมาณ 2,964 ล้านลิตร ปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างขนส่งอีกประมาณ1,319 ล้านลิตร น้ำมันสำเร็จรูปประมาณ1,752 ล้านลิตร รวมจำนวนวันที่สามารถใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้ทั้งหมด 51 วัน ส่วนปริมาณสำรองก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม มีประมาณ 103 ล้านกิโลกรัม สำรองใช้ได้รวม 10 วัน โดยหากใช้เฉพาะในภาคครัวเรือนอย่างเดียวก็จะสามารถใช้ได้ 18 วัน

“ในด้านราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ หากมีความผันผวนที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนก็สามารถนำกลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาเป็นเครื่องมือช่วยลดผลกระทบจากราคาน้ำมันในตลาดโลก จึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่ากระทรวงพลังงานจะดูแลไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพของพี่น้องประชาชนทั้งนี้กระทรวงพลังงานจะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเพื่อสื่อสารสร้างความมั่นใจต่อประชาชนต่อไป”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว

ก.พลังงานพร้อมรับมือสถานการณ์“เรือน้ำมันอิหร่านระเบิด” แจงปริมาณน้ำมันมีใช้เพียงพอ พร้อมใช้กองทุนน้ำมันพยุงราคาขายปลีก

กระทรวงพลังงานชี้แจงเตรียมพร้อมรับมือกรณีเกิดเหตุการณ์เรือบรรทุกน้ำมันของอิหร่านระเบิด ทั้งปริมาณน้ำมันยังเพียงพอต่อการใช้ได้ 51 วัน และให้ความมั่นกับประชาชนว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันเพราะสามารถใช้กลไกบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาช่วยพยุงราคาไม่ให้กระทบค่าครองชีพ

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กรณีเกิดเหตุเรือบรรทุกน้ำมันของประเทศอิหร่านระเบิดและไฟลุกนอกเมืองเจดดาห์ เมืองท่าของซาอุดิอาระเบียนั้น กระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และขอให้ประชาชนมั่นใจอย่าวิตกกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าว เพราะกระทรวงพลังงานมีการเตรียมความพร้อมอยู่ตลอดเวลา โดยภาพรวมไทยยังมีปริมาณสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงใช้ได้ประมาณ 51วันโดย ณ วันที่ 10 ตุลาคม2562 ไทยมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบประมาณ 2,964 ล้านลิตร ปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างขนส่งอีกประมาณ1,319 ล้านลิตร น้ำมันสำเร็จรูปประมาณ1,752 ล้านลิตร รวมจำนวนวันที่สามารถใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้ทั้งหมด 51 วัน ส่วนปริมาณสำรองก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม มีประมาณ 103 ล้านกิโลกรัม สำรองใช้ได้รวม 10 วัน โดยหากใช้เฉพาะในภาคครัวเรือนอย่างเดียวก็จะสามารถใช้ได้ 18 วัน

“ในด้านราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ หากมีความผันผวนที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนก็สามารถนำกลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาเป็นเครื่องมือช่วยลดผลกระทบจากราคาน้ำมันในตลาดโลก จึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่ากระทรวงพลังงานจะดูแลไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพของพี่น้องประชาชนทั้งนี้กระทรวงพลังงานจะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเพื่อสื่อสารสร้างความมั่นใจต่อประชาชนต่อไป”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เยี่ยมชมการดำเนินงานธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และผู้บริหารกระทรวงพลังงาน ร่วมเยี่ยมชมและรับฟังการบรรยายสรุปการดำเนินงานธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) โดยมี นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ และนายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ปตท. ให้การต้อนรับ ระหว่างวันที่ 11 – 12 ตุลาคม 2562

ในโอกาสนี้ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ พร้อมคณะ ได้เข้าเยี่ยมชมพื้นที่ปฏิบัติงานของ ปตท. ในหลายพื้นที่ เริ่มจากการเข้าเยี่ยมชมสถานีบริการน้ำมัน PTT Station และเอ็นจีวี สาขาสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม (ทางด่วนบางนาขาออก) รับฟังการบรรยายในประเด็นธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก ก๊าซเอ็นจีวี และธุรกิจเสริมในสถานีบริการต่างๆ จากนั้นได้เข้าเยี่ยมชมศูนย์ปฏิบัติการชลบุรี ประกอบด้วย PTT Natural Gas Pipeline Knowledge Hall ซึ่งเป็นนิทรรศการภาพรวมของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ พร้อมรับฟังการบรรยายประกอบกิจการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อส่งก๊าซฯ และเข้าเยี่ยมชมศูนย์ควบคุมรับส่งก๊าซฯ อัตโนมัติ (Supervisory Control and Data Acquisition: SCADA) ในงานควบคุมการรับส่งก๊าซระยะทางไกลแบบเรียลไทม์ (Real time) เพื่อให้การขนส่งก๊าซไปให้ลูกค้าตรงเวลา มีคุณภาพก๊าซตรงตามความต้องการด้วยความปลอดภัยและต่อเนื่อง จากนั้นได้เดินทางไปยังสวนสมุนไพรสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จ.ระยอง เพื่อรับฟังการบรรยายกิจการแยกก๊าซธรรมชาติ และเยี่ยมชมโรงเรือนเพาะปลูกพันธุ์ไม้และผลไม้เมืองหนาวซึ่งเป็นการต่อยอดนวัตกรรมที่นำพลังงานความเย็นมาใช้ประโยชน์

วันที่ 12 ตุลาคม 2562 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ พร้อมคณะ จะเดินทางไปยัง บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด รับฟังการบรรยายประกอบกิจการการเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว และเยี่ยมชมสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal)

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เปิดเผยว่า วันนี้ถือเป็นโอกาสอันดียิ่งที่ ปตท. โดยเฉพาะสายงานธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ได้ให้การต้อนรับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะ ซึ่งก๊าซธรรมชาติถือเป็นพลังงานที่สำคัญยิ่งของประเทศ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยทุกคน ทำให้ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ เป็นธุรกิจต้นน้ำที่เป็นหัวใจสำคัญ เป็นรากฐานของกลุ่ม ปตท. และอยู่คู่กับ ปตท. มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตลอด 40 ปี จนปัจจุบันได้ขยายการจัดหา จัดจำหน่ายก๊าซฯ ทั้งจากประเทศเพื่อนบ้าน และนำเข้า LNG จากต่างประเทศ ซึ่งการดำเนินงานทั้งหมดก็เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทย และปัจจุบันได้มุ่งไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานของภูมิภาค ตามนโยบายจากภาครัฐต่อไป

 

แบบฟอร์มรายงานข้อมูลระบบติดตามประเมินผลของกระทรวงพลังงาน

แบบฟอร์มรายงานข้อมูลระบบติดตามประเมินผลของกระทรวงพลังงาน (pdf.) คลิกที่นี่

แบบฟอร์มรายงานข้อมูลระบบติดตามประเมินผลของกระทรวงพลังงาน (docx.) คลิกที่นี่

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น “การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก”

วันที่ 9 ตุลาคม 2562 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น “การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก”
และเปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)  ได้จัดให้มีการระดมสมองผุดแผนโรงไฟฟ้าชุมชน ส่งเสริมพืชพลังงานเพิ่มรายได้ ศก.ฐานราก เปิดเวทีระดมความคิดเห็น ดึงทุกภาคส่วนร่วมแชร์ไอเดียเดินหน้า สร้างโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อเศรษฐกิจฐานรากมุ่งส่งเสริมพืชพลังงานสร้างรายได้เกษตรกร วางเกณฑ์ร่วมลงทุนให้ชุมชนมีส่วนถือหุ้นโดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้าง เพื่อเสริมระบบความมั่นคงพลังงานของประเทศ  ซึ่งมีหลายหน่วยงานเข้าร่วม อาทิ  สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ เป็นต้น โดยทั้งหมดได้ร่วมกันประชุมรับฟังความคิดเห็น “การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” ที่จะนำไปสู่การจัดทำกรอบการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและกองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน

ทั้งนี้เป้าหมายโรงไฟฟ้าชุมชนเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า โดยการผลิต ใช้และจัดจำหน่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญต่อการเสริมสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในประเทศและเพิ่มรายได้เข้าสู่ชุมชนตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ไม่ว่าจะเป็น การประกันรายได้จากการปลูกพืชพลังงาน การเข้าไปถือหุ้นในประกอบการกิจการโรงไฟฟ้า รวมถึงผลประโยชน์ของชุมชนที่จะได้รับรายได้จากการขายไฟฟ้า “ผลจากการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในครั้งนี้ กระทรวงพลังงาน จะนำข้อเสนอแนะ และข้อคิดเห็น ไปประกอบการพิจารณารูปแบบการพัฒนาโครงการที่เหมาะสม เพื่อเป็นแนวทางในการเปิดรับ ภาคเอกชนที่สนใจเข้าร่วมลงทุนกับชุมชน ในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนโดยกรอบดังกล่าวจะนำเสนอสู่การพิจารณา ขอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. อีกครั้ง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาโรงไฟฟ้าในปี 2563” นายสนธิรัตน์ กล่าว

สำหรับกรอบนโยบายการพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชน จะมีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายที่ตั้งโรงไฟฟ้า ซึ่งต้องเป็นพื้นที่มีศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่นฟางข้าว ซังข้าวโพด รวมถึงพืชพลังงานอย่างหญ้าเนเปียร์ และมีระบบโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ไม่ว่าจะเป็นระบบส่ง ระบบจัดจำหน่ายที่สามารถรองรับไฟฟ้าที่ผลิตได้จากชุมชน โดยแนวทางการจัดตั้งโรงไฟฟ้าดังกล่าว จะเป็นการร่วมลงทุนระหว่าง เอกชนและชุมชน ซึ่งมีเงื่อนไขที่ให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนในการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ และเปิดให้ชุมชนเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วนที่เหมาะสมในขั้นตอนของการดำเนินการผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้การต้อนรับคณะกรรมาธิการการพลังงาน

วันนี้ (9 ต.ค.62) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงพลังงาน ให้การต้อนรับคณะกรรมาธิการการพลังงาน นำโดยนายกิตติกร โล่ห์สุนทร ประธานคณะกรรมาธิการ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินโยบายด้านพลังงานของประเทศ โดยเฉพาะการกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายพลังงานสู่ภาคประชาชน ซึ่งบรรยากาศการหารือเป็นไปด้วยดี โดยทางคณะกรรมาธิการการพลังงานพร้อมจะให้คำแนะนำเป็นที่ปรึกษาอิสระให้กระทรวงพลังงาน เพื่อสร้างบรรยากาศการทำงานร่วมกันระหว่างสภาผู้แทนราษฎร และกระทรวงพลังงาน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยินดีที่จะทำงานร่วมกันโดยคาดว่าจะมีการพบปะหารือกันเป็นระยะๆ ในโอกาสต่อไป
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการหารือว่า มีประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ทางคณะกรรมาธิการฯ สอบถามความคืบหน้าการดำเนินการของกระทรวงพลังงานซึ่งน่าจะมีบทบาทหลักในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ กระทรวงพลังงานได้ชี้แจงว่า ได้วางแผนเรื่องปรับเปลี่ยนการใช้น้ำมันดีเซล B10 เป็นน้ำมันดีเซลฐานของประเทศเพื่อส่งเสริมปาล์มน้ำมัน และลดค่าฝุ่น PM 2.5 ตั้งเป้าหมายส่งเสริมให้เกิดการใช้ประมาณ 57 ล้านลิตรต่อวันภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 และส่งเสริมการใช้ B20 สำหรับรถบรรทุก โดยกระทรวงฯจะยืนยันสัดส่วน B10 นี้เป็นดีเซลฐานต่อไปไม่มีการปรับลดเปลี่ยนแปลงหากสถานการณ์เกิดการขาดแคลนน้ำมันปาล์มดิบก็จะต้องพิจารณาเรื่องของการนำเข้าแทน ทั้งนี้เพื่อจะได้สามารถควบคุมการใช้ไบโอดีเซลมาเป็นส่วนผสมน้ำมันดีเซลได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการผลิต B10 นี้สามารถดูดซับส่วนเกินน้ำมันปาล์มดิบได้ถึงปริมาณ 2 ใน 3 และต่อไปก็จะพิจารณาในกลุ่มเบนซินที่นำพืชพลังงานอ้อย มันสำปะหลัง มาเป็นส่วนผสมเพิ่มขึ้น
ประเด็นเรื่องส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) กระทรวงพลังงานจะเป็นหลักในการส่งเสริมแบตเตอรี่ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) และจะประกาศเป็นนโยบายร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมในการขับเคลื่อนสู่การเป็นผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า กระตุ้นการใช้รถ EV ให้เกิดการลงทุนจากประเทศต่างๆ ซึ่งกรรมาธิการฯ มีความกังวลเรื่องนี้ว่า EV เป็นเรื่อง Disruptive ด้านพลังงานที่กำลังมาเร็ว จึงอยากให้กระตุ้นเกิดการปฏิบัติเป็นรูปธรรมทั้งในรูปของการขนส่งสาธารณะ รถโดยสารสาธารณะ เรือสาธารณะ ให้มีการใช้เชื้อเพลิงไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งทางกรรมาธิการฯพร้อมให้ความร่วมมือ ให้คำปรึกษาแนะนำทำงานร่วมกันได้
โรงไฟฟ้าชุมชน ทำอย่างไรให้โรงไฟฟ้าชุมชนกระจายรายได้สู่ชุมชน กลุ่มฐานรากได้ประโยชน์อย่างแท้จริงไม่ใช่ประโยชน์ตกแก่ภาคเอกชน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้แจ้งแก่คณะกรรมาธิการฯว่า ในวันเดียวกันนี้จะมีได้มีการจัดระดมสมองเกี่ยวกับการจัดตั้งโมเดลโรงไฟฟ้าชุมชนจากผู้เกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน
เรื่องน้ำมันปาล์ม คณะกรรมาธิการให้พิจารณาเรื่องการนำน้ำมันปาล์มดิบมาเผาผลิตไฟฟ้าว่าทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ขณะที่ กฟผ.ควรทยอยซื้อเป็นล็อตย่อยเพื่อกระตุ้นราคาปาล์มอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเด็นนี้ ทางรัฐมนตรได้ชี้แจงว่าเป็นนโยบายต่อเนื่องมา แต่ต่อจากนี้ไปกระทรวงพลังงานจะสนับสนุนในเชิงนำน้ำมันปาล์มาผลิตเป็นดีเซลเป็นหลักไม่สนับสนุนการนำไปผลิตเป็นไฟฟ้า
นอกจากนี้ ทางกรรมธิการฯยังเสนอให้สนับสนุนงบประมาณ 100% ให้กับโรงพยาบาลชุมชนติดโซลาร์เซลล์เพื่อช่วยประชาชนซึ่งทางกระทรวงพลังงานได้สนับสนุนให้โรงพยาบาลชุมชนอยู่แล้วผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานแต่อาจจะยังไม่แพร่หลายและครอบคลุมทุกพื้นที่ในปัจจุบัน

Page 8 of 15
1 6 7 8 9 10 15